26/11/2021
Life

รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ: เลือกตั้ง อบต. ครั้งแรกในรอบ 8 ปี สะท้อนอะไรต่อการพัฒนาเมือง

ชยากรณ์ กำโชค ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ นายก อบต. ครั้งแรกในรอบ 8 ปี แน่นอนว่า 8 ปีก่อน กับ วันนี้ บ้านเมืองเรามีพลวัตและเปลี่ยนแปลงไปหลายมิติ The Urbanis ชวน รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมและธรรมาภิบาลท้องถิ่น ตอกย้ำถึงความสำคัญของ อบต. กับการพัฒนาประเทศในภาพรวม, การกระจายอำนาจ, อำนาจที่ยังไม่ได้ถูกปลดล็อค, ภาคพลเมืองเข้มแข็งกับการตรวจสอบ และ มายาคติว่าด้วยการเมืองท้องถิ่นกับคอร์รัปชัน

ความน่าสนใจของการเลือกตั้ง อบต. ครั้งแรกในรอบ 8 ปี 

ผมคิดว่ามีความแตกต่างที่น่าสนใจ 2-3 ประเด็น ประการที่หนึ่งแน่นอนเลยไม่พูดคงไม่ได้ คือโดยปกติ การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นจะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี แต่ด้วยเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสภาวะการสะดุดหรือว่าหยุดลงของการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเป็นเวลาหลายปี แล้วจึงเพิ่งมีการปลดล็อกเมื่อประมาณปีเศษๆ ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากอบจ. แล้วไล่ลงมาเป็นเทศบาล คราวนี้ก็ถึงคิวอบต. ฉะนั้นนัยยะจากตรงนี้คือมันบอกความหมายในทางการเมืองว่ามันกำลังจะเดินกลับเข้าสู่เส้นทางปกติของมัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็กำลังจะได้ใช้สิทธิอย่างที่ควรจะเป็น

ในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าแทบจะไม่ได้ใช้สิทธิตรงนี้เลย นัยยะทางการเมืองตรงนี้มันมีความหมายนะครับ ประเด็นก็คือว่า ผู้บริหารท้องถิ่นจำนวนมากอยู่ในตำแหน่งมาเป็นเวลานาน พอไม่มีการเลือกตั้ง มันก็เหมือนกับ เขาเรียกว่าเป็นระบบที่ขาดการกระตุ้นขาดแรงส่งเพื่อให้เกิดการพัฒนาเรื่องการบริการต่างๆ ที่บอกว่าขาดแรงกระตุ้นก็เพราะว่าโดยปกติในกลไกการเลือกตั้ง มันคือหนึ่งในแรงกระตุ้นให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องเร่งทำงาน เร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ พอครบวาระ ชาวบ้านก็จะได้ประเมินได้ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาผลการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร คราวนี้เพราะไม่มีการเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นจำนวนหนึ่งก็อาจจะคิดว่าอยู่ไปก่อนไม่เป็นไร ยังไงก็เรียกว่ามีเงินเดือนมีค่าตอบแทนยังอยู่ได้อีกหลายปี

ผลทางลบจากการที่ไม่มีเลือกตั้งคือทำให้เรียกเกิดแรงเฉื่อย ขาดแรงกระตุ้นแล้วส่งผลกลับมาที่ตัวบริการต่างๆ ที่มันอาจจะช้าอาจจะสะดุดหรืออาจจะไม่มีการริเริ่มโครงการการพัฒนาใหม่ๆ ฉะนั้นในแง่ที่หนึ่ง นัยยะที่สำคัญตรงนี้ก็คือ มันจะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้กับการเมืองท้องถิ่นที่จะต้องเร่งการจัดการ การจัดบริการสาธารณะ การแก้ไขปัญหาต่างๆ อันนี้ด้านที่หนึ่ง

อีกด้านหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะมีนัยยะสำคัญเชิงการเมืองและก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรพอสมควร ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือเป็นการเปลี่ยนผ่านของรุ่นประชากรหรือที่เรียกว่าเจเนเรชั่นรุ่นใหม่ บางคนอาจจะเรียกว่า new voter เหตุผลก็คือการเลือกตั้งที่มันลากออกมากว่า 7 ปี ฉะนั้นคนรุ่นเก่าก็หมดไปคนรุ่นใหม่ก็เข้ามาแทนที่ แล้วก็จะมีสัดส่วนเยอะขึ้นตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา นัยยะตรงนี้มันมีอะไรบ้าง จริงๆ เราเห็นกันมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปปี 62 จนมาถึงการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นระดับอบจ. ระดับเทศบาลก่อนหน้านี้

การเกิดขึ้นของ new voter  มันจะมาพร้อมกับแนวคิด มุมมอง อุดมการณ์หรือความคาดหวังเชิงการเมืองการปกครองที่แตกต่างไปจากเดิมพอสมควร ประเด็นที่จะไปกังวลว่าอาจจะต้องเลือกคนเดิมเพราะว่าเป็นกลุ่มเครือญาติกลุ่มสัมพันธ์ มันเริ่มมีบทบาทลดลงแล้ว ซึ่งเราเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างชัดเจนตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไป การเกิดขึ้นของกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ก็เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนอันหนึ่ง

ต่อเนื่องมาจนถึงเลือกตั้งอบจ. ปี 63 และเทศบาลต้นปี 64 มันชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบก้าวกระโดด ผมเข้าใจว่าเหตุผลหนึ่งก็คือเกิดขึ้นจาก new voter นี่แหละ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญตรงนี้ นักการเมืองเดิมๆ ผู้บริหารท้องถิ่นเดิมๆ ที่อยู่ในวาระมา 7-8 วาระ 20-30 ปี หลายคนก็มั่นใจว่าฐานเสียงเข้มแข็ง อยู่มานานมีผลงานให้คนเห็นมากมาย แต่ปรากฏว่าอย่างกรณีเทศบาลที่ล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่เดือน จาก 2,000 กว่าคนที่ลงรับสมัครที่เป็นคนเดิม เรียกว่าถ้าตีเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ กลับเข้ามาในตำแหน่งประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนวันนี้ที่อาจจะเป็นคนรุ่นผู้ใหญ่ คนผู้สูงอายุ รวมถึงมีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเติมเป็นสัดส่วนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มุมมองความคาดหวังที่มีต่อผู้บริหารท้องถิ่นมันเริ่มเปลี่ยนรูปร่าง ไม่ได้เลือกเพียงเพราะว่าคนนี้คนเดิมฉันคุ้นเคย ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว มันมีน้ำหนัก มันมีนัยยะมากกว่านั้น หลายคนอาจจะเริ่มรู้สึกว่าเบื่อกับการอยู่กับนักการเมืองคนเดิมๆ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ฉะนั้นคนก็ไม่กลัวแล้ว และเขากล้าที่จะทดลอง เลือกคนใหม่ๆ หน้าใหม่ๆ เข้ามา เพื่อที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างให้มันเกิดขึ้นในพื้นที่ตนเอง ฉะนั้น ในรอบนี้ผมก็คิดว่ามีนัยยะทำนองเดียวกัน ก็คือว่าผู้บริหารอบต. จะเป็นท่านเดิมหรือจะเป็นหน้าใหม่ที่ลงมาสมัคร มีโอกาสด้วยกันทั้งนั้นนะ แล้ววันนี้ผมเชื่อเลยว่าชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งเนี่ยจะเป็นคนรุ่นไหนก็ตาม จะเริ่มมองที่ตัวเนื้องาน ผลงาน หรือตัวนโยบายในการหาเสียงต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ฉะนั้น ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาโดยสรุปตรงนี้เลย ก็คืออาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในพลวัตหรือว่าความตื่นตัวของการเมืองท้องถิ่นที่ชูประเด็นด้วยผลงานหรือนโยบายต่างๆ มากขึ้น อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตเบื้องต้น

การเลือกตั้งผู้บริหาร อบต. สำคัญอย่างไรกับการพัฒนาประเทศ

อบต. เป็นหน่วยปกครองท้องถิ่นที่เล็กที่สุดของไทยในปัจจุบัน และอยู่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด พูดง่ายๆ ว่าถ้าตื่นเช้ามาแต่ละคนก็จะเห็นแล้วว่า อบต. ทำงานดีไม่ดี ผู้บริหารหรือสมาชิกเข้าถึงง่ายหรือไม่ง่าย หากถามว่า อบต. มีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาประเทศ ผมมอง 2 ระดับ ระดับที่หนึ่งเป็นระดับใกล้ตัวหรือระดับจุลภาพ เนื่องจาก อบต. เป็นหน่วยปกครองที่อยู่ใกล้ชาวบ้าน โครงสร้างที่ออกแบบไว้คือเป็นโครงสร้างแบบหมู่บ้าน ตำบล มันคือลักษณะของไทยเรามาเป็นร้อยๆ ปี ฉะนั้น ในเบื้องต้น คำว่าการพัฒนาในระดับจุลภาพก็คือช่วยทำให้ปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นรอบๆ บ้าน หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล ได้รับการแก้ไขหรือว่าผ่อนคลายลงไปในระดับหนึ่ง อบต.จะดูแลเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาระดับพื้นฐาน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมบางที่ก็มีการดูแลเรื่องสาธารณสุขมูลฐาน เช่นงานพวกการป้องกันไข้เลือดออกจากลูกน้ำยุงลาย หรือแม้กระทั่งเร็วๆ นี้ก็คือเรื่องการจัดการโควิด แบบนี้เขาเรียกว่าเป็นภารกิจระดับพื้นฐานเลยที่เราจะเห็นได้ว่าอบต. มีส่วนช่วยปลดล็อกหรือคลี่คลายปัญหาลงในเบื้องต้นก่อน ฉะนั้น มันส่งผลการพัฒนาอย่างไรในภาพรวม พูดง่ายๆ ก็คือมันทำให้ภาระบางอย่างที่จะต้องดูแลรับผิดชอบคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนได้รับการส่งเสริม ได้รับการแก้ไขเบื้องต้นอย่างรวดเร็วในระดับพื้นที่

ระดับที่สอง แล้วมันมีนัยยะอย่างไรต่อภาพรวมการพัฒนาประเทศ ก็ลองคิดง่ายๆ ถ้าหากว่าปัญหาเบื้องต้นของพี่น้องประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข ทุกเรื่องถูกส่งผ่านมาที่รัฐบาลทั้งหมด ง่ายๆ เลยก็คือทุกอย่างจะมารุมเร้าที่หน่วยงานกลาง หน่วยงานของรัฐบาลซึ่งมีแขนมีขาลงไปไม่ทั่วถึงมากเท่ากับ อบต. 

ปัจจุบัน อบต. ของไทยเราวันนี้มีประมาณ 5,300 แห่ง ดูแลครอบคลุมทุกๆ ตำบลในประเทศไทยทั้งในและนอกเขตเทศบาล ฉะนั้น อบต. จึงเป็นหน่วยงานแก้ปัญหาพื้นฐานด่านหน้า ภาระที่จะตกไปอยู่กับรัฐบาลก็จะลดน้อยลง เป็นลักษณะการทำงานแบบเกื้อหนุนกัน คือด่านหน้าท้องถิ่นไปจัดการ อบต.ไปจัดการ ฉะนั้นในโจทย์ที่มันใหญ่ขึ้น โจทย์ที่มันครอบคลุมหลายพื้นที่หรือโจทย์ที่เป็นการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น สวัสดิการโดยรวมของสังคม การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของของประเทศ อันนี้เป็นงานของรัฐบาลกลาง ฉะนั้นถ้าแบ่งกันได้ลงตัวมันก็จะเกื้อหนุนกัน คือรัฐบาลไม่ต้องมาเสียเวลานั่งคิดโจทย์พื้นฐาน ก็จะมีเวลาไปคิดเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นโจทย์หลักของประเทศ เป็นลักษณะของการทำงานที่เกื้อหนุนกัน

อบต. มีอำนาจพัฒนาท้องถิ่นขนาดไหน หรือยังติดอุปสรรคอะไร 

หลักการของคำว่าการปกครองท้องถิ่น มันต้องเริ่มต้นและจบได้ที่ท้องถิ่น แปลง่ายๆ ก็คือถ้าปัญหามันเกิดขึ้นในพื้นที่ หน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ควรจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการปัญหาได้อย่างลุล่วง ฉะนั้นทุกอย่างมันก็จะจบและเร็ว แล้วก็เรียกว่ามีแรงจูงใจที่จะทำให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นสนใจ ใส่ใจ ดูแลแก้ไขปัญหา เพราะนั่นคือบ้านของเขา พี่น้อง ประชาชน ญาติๆ ของเขา หลักการมันควรจะเป็นอย่างนั้น ในทางสากลก็เป็นอย่างนั้นหลายประเทศ 

คราวนี้กลับมามองประเทศไทย เรามี อบต. เทศบาล อบจ. ที่เป็นการปกครองท้องถิ่นแบบ 2 ระดับ ประเด็นคือว่าวันนี้โครงสร้างการปกครอง อำนาจตามกฎหมายลงไปถึงตัว อบต. หรือ หน่วยงานปกครองท้องถิ่นมากน้อยขนาดไหน เพื่อที่จะทำให้จัดการปัญหาต่างๆ ได้ลุล่วง ถ้าจะให้ผมประเมิน ผมเข้าใจว่าถ้าตีเป็นสเกล 100 เปอร์เซ็นต์ อำนาจที่ท้องถิ่นมีจริงๆ ในการจัดการปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วง เข้าใจว่าอาจจะอยู่ประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างมาก อีกส่วนหนึ่งอำนาจที่ยังไปไม่ถึงมันยังคงไปติดกรอบกฎหมาย ยังคงเป็นอำนาจของส่วนราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ยกตัวอย่างที่ดูเป็นรูปธรรมเช่น ถ้าเราพูดเรื่องการจัดการการศึกษาที่เป็นงานพื้นฐาน หลายเรื่องมันลงไปที่ อบต. พอสมควร ไล่ไปตั้งแต่เด็กเล็ก ก่อนวัยเรียนไปถึงโรงเรียนอนุบาล พวกนี้ อบต. มีอำนาจบริหารจัดการได้ ถ้าไปถึงระดับโรงเรียนประถมศึกษาก็พอจะทำได้ แต่มันทำได้ง่ายมากน้อยขนาดไหน  พบว่ามันไม่ง่าย เพราะ อบต. มีอำนาจ มีงบประมาณ มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับเด็กเล็กไปถึงประถม แต่การขอใบอนุญาตดูแลคุณภาพมาตรฐาน ไม่ใช่กระบวนการที่จบในตัวภาคชุมชนท้องถิ่น เพราะยังคงต้องผ่านการประเมินขอใบอนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนสถานศึกษาแล้วก็กำกับดูแลโดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อันนี้ก็เป็นเป็นกรณีที่ถ้าหากว่า อบต. ขยับตัวเร็วแต่ส่วนราชการส่วนกลางขยับตัวช้า มันก็จะดึงกันไปทำให้จัดการได้ไม่คล่องไม่เร็ว 

รวมถึงงบประมาณพวกอาหารกลางวันที่เราพูดกันบ่อยๆ จริงอยู่เราบอกว่าเป็นหน้าที่ที่ท้องถิ่นจัดการ แต่ท้ายที่สุดแล้วอำนาจที่จะบอกว่าอาหารกลางวันได้กี่บาทต่อหัวเด็กนักเรียนที่เราได้ยินบ่อยๆ ท้องถิ่นไม่สามารถมีอำนาจจัดการเองได้ หรือแม้กระทั่งกรณีที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เรื่องนมโรงเรียน นมเน่า นมเสีย นมบูดอะไรแบบนี้ ลึกๆ จริงๆ แล้วท้องถิ่นเป็นหน่วยจัดการ แต่คนที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะซื้อนมโรงเรียนที่ไหน ราคากี่บาทเป็นเรื่องของหน่วยงานกลาง หรือเป็นกรรมการส่วนกลางที่มาทำหน้าที่จัดสรรว่าพื้นที่นี้ไปซื้อนมจากสหกรณ์ไหน ก็จะมีประเด็นเรื่องข้ามพื้นที่ข้ามจังหวัด บางทีอยู่ภาคกลาง มีเลี้ยงโคนมในพื้นที่ แต่ซื้อนมจากสหกรณ์ของตัวเองในพื้นที่ไม่ได้ เพราะว่าโควตามันถูกจัดสรรจากส่วนกลาง ต้องเอาไปจากจังหวัดในภาคใต้บ้าง อีสานบ้าง ตะวันออกบ้าง มันก็เสียเวลาในการขนส่งเดินทางซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้นมเสีย

ตัวอย่างเรื่องการศึกษาที่ยกขึ้นมาจะเห็นภาพเลยว่าอำนาจต่างๆ ในการบริหารจัดการมันไม่จบเบ็ดเสร็จที่ตัวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออบต.โดยลำพัง ที่เหลือก็ยังอาจถูกกำหนดหรือถูกสั่งการหรือว่าถูกผูกขาดอยู่ที่ส่วนกลางอยู่เยอะ กรณีอย่างนี้ไม่ใช่แค่เรื่องภารกิจการศึกษา มีอีกหลายเรื่องที่เป็นงานเรื่องการจัดบริการสาธารณะ ฉะนั้นตรงนี้มันจะเห็นภาพเลยว่า แม้ว่าเราคาดหวังให้อบต. ให้เทศบาลมีบทบาทอะไรต่างๆ อย่างเต็มที่ แต่ท้ายที่สุดอำนาจเขามีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะจัดการภารกิจต่างๆ ให้ลุล่วง หลายเรื่องยังเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมสั่งการจากส่วนกลางพอสมควร ซึ่งตรงนี้ก็คงจะต้องแก้คงต้องปลดล็อคกันต่อไป

คนรุ่นใหม่ลงเลือกตั้ง อบต. จำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไร

เป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่สนใจเข้ามาสมัครมากขึ้น จริงๆ ถ้าย้อนไปต้องอธิบายก่อนว่าการเมืองระดับ อบต. มีพลวัตพอสมควร และเป็นเวทีการเมืองที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาลองตั้งแต่ยุคแรกๆ จริงอยู่อบต. ในยุคแรกๆ ตั้งแต่ปี 37-38 ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายในช่วงหลังจะกำหนดให้ผู้บริหารมาโดยตำแหน่ง ในยุคนั้นอาจจะเป็นกำนัน เป็นประธานสุขาภิบาลบ้างหรืออะไรแบบนี้ แต่พอหลังจากนั้น พอเริ่มเปิดให้มีการเลือกตั้ง ในยุคแรกๆ ก็มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจอยู่มากพอสมควร สิ่งนี้เกิดมาตั้งแต่ประมาณปี 40 มาแล้ว แต่เป็นกระแสปฏิรูปการเมืองการปกครองของไทยเรา ก็จะมีนายก อบต. หน้าใหม่ๆ เข้ามา ช่วงหลังก็จะมีเยอะขึ้น ผมเข้าใจว่ามันบ่งบอกอะไรหลายๆ อย่าง ดังนี้ 

หนึ่ง คนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกว่านี่คือเวทีการเมืองที่เปิดโอกาสให้เขา แล้วก็พอเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่เป็นรูปแบบอบต. มันอาจจะบริหารจัดการง่าย ไม่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะ ไม่ต้องใช้แรงเยอะในการบริหารจัดการ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่ๆ เข้ามาลงสมัครอาสาเข้ามารับใช้พี่น้องประชาชน ก็เป็นสัญญาณทางบวกว่าคนมีความตื่นตัวกับการเมืองการปกครองที่อยู่รอบตัวๆ ของเขามากขึ้น นี่ก็เป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งแน่นอนว่าจะอาจส่งผลต่อเนื่องถึงการเมืองระดับชาติ ความตื่นตัวในเรื่องต่างๆ ตามมา อันนี้ประเด็นที่หนึ่ง

อีกหนึ่งประเด็น มันก็อาจจะสะท้อนภาพอีกแบบหนึ่งก็ได้ ว่าคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งอาจจะเริ่มเบื่อกับการเมืองแบบเดิมๆ การเมืองแบบอบต. ลักษณะหนึ่งที่หนีไม่พ้นเลยคือเป็นการเมืองแบบเครือญาติ เป็นคนใกล้ชิดเกื้อหนุน การช่วยเหลือกันเกื้อกูลกัน คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งอาจจะบอกว่าไม่เอาแล้ว เราอยากทำการเมืองให้ตรงไปตรงมา โปร่งใส คำนึงถึงประสิทธิภาพคำนึงถึงคุณภาพของบริการสาธารณะที่จัดให้กับพี่น้องประชาชน ก็อาจจะเป็นแรงกดดันที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเดิมๆ ไม่เอาแล้วการเมืองแบบพรรคพวก การเมืองแบบมาจัดสรรผลประโยชน์ แต่ใช้นโยบายเป็นตัวนำเลยใช้แนวคิด ใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เข้ามาในการทำงานการเมืองท้องถิ่น เราก็จะเห็นกระแสตรงนี้ที่อาสาตัวเข้ามา ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปในระดับชุมชนท้องถิ่นอบต. อันนี้ก็เป็นภาพในเชิงบวกที่อาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน

ภาคพลเมืองเข้มแข็งส่งผลดีกับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร

เป็นเรื่องดีเลยครับ ต้องบอกว่าความตื่นตัวในแง่ของการเข้าไปมีส่วนร่วม เข้าไปทำการตรวจสอบการทำงานท้องถิ่น อันนี้เป็นเรื่องดีและก็ถูกต้องตามหลักการการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในปัจจุบันต้องบอกเลยว่าด้วยบริบทของกฎหมาย บริบททางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ทำให้การตรวจสอบการติดตามไปเร็วขึ้น มันก็มีภาพสองอย่างที่ตีความได้ 

ในทางบวกอันที่หนึ่งก็คือ พอมันเข้าถึง รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้เร็ว มันเกิดกระแสได้ง่ายในการตื่นตัวเรื่องการตรวจสอบ อย่างเช่นกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา เสาไฟกินรี เกิดขึ้นที่อบต. แห่งหนึ่งในสมุทรปราการ พอมันเกิดกระแสมันไม่จบอยู่แค่นั้น แต่มันเป็นกระแสที่ทำให้เกิดความสนใจกันโดยทั่วไปในบ้านเรา ถึงขั้นที่ว่าเป็นคำถามบนเวทีประกวดนางงามเลย ฉะนั้นมันทำให้เกิดผลในทางบวกว่า เอาล่ะ ผู้บริหารท้องถิ่นที่เข้ามาในยุคต่อจากนี้ ทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้นะ มีคนคอยเฝ้าระวัง มีคนคอยเฝ้าดู ถ้าคุณตัดสินใจใช้งบประมาณต่างๆ ไม่เหมาะสมก็จะเป็นปัญหากับตัวคุณเอง อันนี้เป็นภาพบวกที่เรียกว่าบริบททางกฎหมาย พัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ โซเชียลมีเดียต่างๆ มีผลทำให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะทำให้การปกครองท้องถิ่นมันเข้ารูปเข้ารอยต่อไป มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าธรรมาภิบาล ทำงานอย่างโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ เป็นทิศทางที่ดีขึ้นอันนี้เป็นเรื่องบวก

แต่ในทางกลับกัน มันก็มีสิ่งที่ต้องพึงระวัง ความโปร่งใสตรงนี้มันก็ต้องใช้อย่างรับผิดชอบ คนที่จะไปตรวจสอบ คนที่จะไปดูข้อมูลต่างๆ แล้วเอามาตีความ เอามาวิเคราะห์มาตรวจสอบติดตามการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่น ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าข้อมูลต่างๆ ที่ได้มามันถูกต้องตรงตามจริงหรือไม่อย่างไร มันมีความหมายอย่างไรในบริบทของการปกครองท้องถิ่น เราได้ตัวเลขอะไรซักอย่างบางทีเราอาจจะไปด่วนสรุปได้ อย่างเช่นกรณีหนึ่งที่มีการตีความกันคลาดเคลื่อนบ่อยครั้ง อย่างเช่น มีการทำถนนตัดถนนใหม่ ปรากฏว่ามีเสาไฟโผล่อยู่กลางถนน คนก็ไปตีโพยตีพายบอกทำไมทำถนนนั้น ทำไมสร้างทับเสาไฟฟ้า มันก็มีประเด็นที่ในทางปฏิบัติหรือว่าบริบทของพื้นที่ต้องเข้าใจว่าปกติเวลาทำงานของท้องถิ่นในลักษณะเช่นนี้ ทำถนน ทำโครงการต่างๆ มันต้องมีการออกแบบล่วงหน้า มีการขออนุญาตต่างๆ ให้เรียบร้อย ตรวจสอบเรื่องกรรมสิทธิ์ถนนเส้นนั้นเส้นนี้ของใคร ผ่านทางไหน

ฉะนั้นในทางปฏิบัติมันจะมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อย่างกรณีทำถนนไปพาดผ่านแนวเสาไฟฟ้าที่อาจจะเป็นแนวเดิม เขาก็ประสานงานไปกับพวกหน่วยงานการไฟฟ้าภูมิภาคแถบพื้นที่ต่างๆ ปรากฏว่าบางทีเรื่องการทำถนนมันรอไม่ได้ มันก็มีมาตรการหลายอย่างที่ไปกระตุ้นให้กับท้องถิ่นต้องเร่งทำงาน เร่งเบิกจ่ายงบประมาณมันจะได้เกิดประโยชน์อย่างรวดเร็ว แล้วปรากฏว่าบางทีหน่วยการไฟฟ้าก็ไม่ขยับก็มี แล้วก็เลยเป็นประเด็นเรื่องการประสานงาน แบบนี้ท้ายที่สุดก็คือต้องมีการขยับขยายเสาไฟฟ้าออกไป แต่ภาพที่เราเห็นจากภาพชั่วครู่เดียวที่มันออกไป เราเห็นภาพแล้วก็ไปตีโพยตีกว่าพ่าย ไปตีความทางลบว่าทำงานไม่ดียังไง จริงๆ มันอาจจะเป็นแต่ในแง่ของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนก็ได้ 

ตัวอย่างนี้ ในด้านบวกเราใช้เพื่อตรวจสอบท้องถิ่นเป็นเรื่องดี แต่ในทางกลับกันก็ต้องทำความเข้าใจด้วย เห็นภาพๆ หนึ่งอย่าเพิ่งไปตีความอะไรแบบเกินเลยกว่าความเป็นจริง ซึ่งมันอาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ภายใต้กระแสความรวดเร็วในการตรวจสอบท้องถิ่นในปัจจุบัน

มายาคติ การเมืองท้องถิ่นกับการทุจริตคอร์รัปชัน? 

ในความเป็นจริงแน่นอนมันปฏิเสธได้ยากว่า หน่วยการปกครองท้องถิ่นบริสุทธิ์ผุดผ่อง 100 เปอร์เซ็นต์ มันคงไม่จริง แล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร เพราะมันเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ถามว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น มันไม่ดีแน่นอน แต่สิ่งที่ผมจะตั้งข้อสังเกตได้ให้ข้อมูลท่านลองพิจารณานะครับ

ผมเคยทำวิจัยลองรวบรวมข้อมูลจากหน่วยตรวจสอบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) ก็ดี ไม่ว่าจะเป็น ปปช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก็ดี เอาข้อมูลสถิติการชี้มูลย้อนหลังของหน่วยงานตรวจสอบมาเทียบดูแล้วมองด้วยใจเป็นกลาง ก็คือเอาหน่วยงานในสาระบบของภาครัฐทั้งหมดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน ซึ่งถ้าเราแบ่งกลุ่มเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานประเภทอื่นๆ ของรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน แล้วอีกกลุ่มคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีประมาณ 8,000 แห่งทั่วประเทศ

ข้อมูลที่ผมทราบประการหนึ่งจาก ปปช. เก็บข้อมูลย้อนหลังระหว่างช่วงประมาณปี 54-59 ปรากฏว่าคดีความที่มีการชี้มูลว่ามีการทุจริต ประพฤติมิชอบ ใช้อำนาจหน้าที่ไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับหน่วยงานประเภทรัฐวิสาหกิจ ตามมาด้วยราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค แล้วค่อยเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นี่เป็นข้อมูลของ ปปช.นะครับ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และถ้าชี้มูลค่าความเสียหายต้องบอกเลยว่า มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีท้องถิ่นอยู่ที่ 100-200 ล้านบาท ในรอบ 5 ปีที่ที่มีการข้อมูลเปิดเผยออกมา

ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรประเภทอื่นๆ ของรัฐร่วม 200,000 ล้านบาท รวมไปถึงราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคอีกประมาณ 100,000 กว่าล้านบาท หนึ่งในนั้นเช่นคดีคลองด่าน (คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินและโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน) เราคงเคยได้ยินกัน ฉะนั้นที่หลายคนอาจจะเข้าใจว่าท้องถิ่นมีการทุจริต มีการใช้อำนาจหน้าที่ไม่เหมาะสม มันมี แต่ว่าโดยสถิติ โดยตัวเลข มันมีแต่ว่าเกิดขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าส่วนราชการกับรัฐวิสาหกิจ

หรืออีกข้อมูลหนึ่งของ สตง. ที่ผมวิจัยในอดีต พบว่า ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ง่ายๆ จากการสุ่มตัวอย่างท้องถิ่นขึ้นมา 100 แห่ง ที่ถูกชี้มูลว่าพบการใช้งบประมาณไม่เหมาะสม สุรุ่ยสุร่าย หรือผิดระเบียบอย่างรุนแรง สตง. พบว่าจะมีท้องถิ่นประมาณสัก 7 แห่งหรือคิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ ที่ถูกชี้มูลว่ามีการทุจริต ฉะนั้นมันไม่ได้หมายความว่าทุกท้องถิ่นจะมีข้อบกพร่องในแง่ของทุจริตกันทั้งหมด อันนี้จากข้อเท็จจริง ฉะนั้นมันอาจจะเป็นยุคหนึ่งในช่วงแรกๆ ก็เป็นไปได้ เพราะคนยังไม่รู้เรื่องกฎระเบียบ เรื่องกติกา เรื่องการเงินการคลัง การการเบิกจ่ายงบประมาณ จึงส่งผลให้เกิดการบกพร่อง แต่ผ่านมาประมาณ 20 กว่าปีเศษ หลายอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ซึ่งผมคิดว่าเป็นสัญญาณในทางบวกของท้องถิ่นในเรื่องเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ และมันก็อาจจะมีเกิดขึ้นบ้างอย่างกรณีเสาไฟกินรี แต่ต้องเรียนนะครับว่ากรณีเสาไฟกินรียังไม่จบ ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน ก็ต้องไปดูต่อว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ทำโครงการที่เกิดประโยชน์คุ้มค่าจริงหรือเปล่า ใช้งบประมาณทำหลักร้อยล้านก็ต้องว่ากันไป แต่กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกๆ อบต. 5,000 กว่าแห่ง มันเป็นสัก 1-2 แห่งอย่างที่เป็นข่าวที่เราทราบกัน

แต่สิ่งที่ผมอยากจะสะท้อนอีกประเด็นหนึ่งจากกรณีตรงนี้นะครับ พอยกสถิติเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น เราจะสังเกตนะครับ หลายคนอาจจะบอกว่าท้องถิ่นทุจริตคิดโกงที่เห็นข่าวอยู่เรื่อยๆ สิ่งที่ผมอยากจะชวนคิดอีกมุมหนึ่งก็คือนี่แหละเพราะว่าเป็นท้องถิ่น เป็นองค์กรขนาดเล็กหมั่นตรวจสอบได้ง่าย ชาวบ้านดูชาวบ้านเห็น ร้องเรียนเป็นข่าวและยิ่งโซเชียลมีเดียในปัจจุบันไปเร็ว หน่วยงานตรวจสอบดูนะครับ รวมถึงผู้กำกับดูแลจากกระทรวงมหาดไทยก็ลงไปดู คือบริบทปัจจุบันสิ่งที่ผมจะบอกก็คือ ท้องถิ่นถูกตรวจสอบตรวจสอบได้ง่ายมากแล้วก็ถูกตรวจสอบเรียกว่าแทบจะทุกวัน แทบทุกสัปดาห์ และสิ่งที่เราเห็นเป็นข่าว ลองดูในแง่บวกของมันก็คือ แสดงว่าท้องถิ่นเป็นองค์กรที่ตรวจสอบได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย ทำอะไรไม่เหมาะสมถูกตรวจสอบแล้วก็เร่งแก้ไขปรับปรุงได้ทันทีเลย

แต่กลับกันในราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคหรือองค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ๆ ก็ดี กว่าที่จะถูกตรวจสอบ ก่อนที่จะถูกขุดคุ้ย กว่าที่จะดำเนินคดีจบเรื่องราวนี้ไม่รู้กี่ปี อย่างที่เป็นข่าวล่าสุด กรณีฟุตซอล อันเกิดจากภูมิภาค เกิดจากนักการเมืองระดับชาติที่ไปแทรกแซงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 55 กว่าจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องกันยังไม่จบเส้นทางด้วย แค่เริ่มเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องใช้เวลา 9 ปีซึ่งจะจบอีกกี่ปีก็ยังไม่รู้ กว่าจะหาตัวคนผิด กว่าจะหาคนชดใช้

เห็นไหมครับสิ่งที่เราบอกว่าเงียบๆ ที่ส่วนกลางส่วนภูมิภาคมันไม่ได้หมายความว่าไม่มีการทุจริตและถ้ามีการทุจริต มูลค่าความเสียหายไม่ใช่หลักแสนสองแสน สามแสนในระดับท้องถิ่น แต่มันเป็นสี่พันล้านห้าพันล้าน อย่างกรณีฟุตซอล ฉะนั้น สิ่งที่ถ้าทุกท่านจะเปิดใจรับฟังข้อมูลตรงนี้ก็คือว่า ท้องถิ่นแม้ว่าจะมีกรณีทุจริตจริงแต่โดยสถิติมันมีไม่เยอะและด้วยบริบท ระบบปฏิบัติการต่างๆ มันทำให้เป็นองค์กรที่ถูกตรวจสอบได้ง่าย ซึ่งผมเชื่อว่าอย่างนี้แหละมันเป็นสัญญาณทางบวก สัญญาณในแง่ดีว่าการปกครองท้องถิ่นจะมีการพัฒนาต่อไปในทางที่ดีขึ้นในอนาคต


Contributor