25/08/2020
Life

ทรงจำในย่านกะดีจีน-คลองสานของวีรพร นิติประภา

กรกมล ศรีวัฒน์
 


ผมสีดอกเดา ชุดดำ และปากแดง

เอกลักษณ์ของวีรพร นิติประภา นักเขียนหญิงดับเบิ้ลซีไรต์ จากนิยาย ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ในปีพ.ศ. 2558 และเรื่อง ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ในปีพ.ศ. 2561

ในผลงานเรื่องหลังเธอบอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลบนแผ่นดินสยามที่ต้องดิ้นรน ขยับขยายสถานะผ่านความไม่แน่นอนทั้งทางการเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งกว่าจะทำคลอดผลงานชิ้นนี้ เธอเดินย่ำพื้นที่ชุมชนย่านเก่าที่มีประวัติอันยาวนานจนผูกพันและนำไปสู่บทบาทการเป็นที่ปรึกษาฝ่ายศิลปวัฒนธรรมให้กับเทศกาลศิลป์ในซอยครั้งที่ 6 ‘กะดีจีน-คลองสาน ย่านรมณีย์ วิถีเจ้าพระยาในพยับแสง-สี-ศิลป์’ หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ช่วยอนุรักษ์และคืนชีวิตชีวาแก่ชุมชน

แสงแดดเริ่มแยงตา เวลาเริ่มสาย เธอใช้เวลาวันอังคารวันหนึ่งในการบอกเล่า“ความงดงามของย่านกะดีจีนคลองสาน” ที่เคยพานพบ ในห้องเรียนวิชาสตูดิโอวางผังชุมชน (NEIGHBORHOOD PLANNING STUDIO) ของนิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และนี่คือ ทรงจำในย่านกะดีจีน-คลองสานของวีรพร นิติประภา

เมืองฉากหลังของนิยายสำคัญกับเนื้อเรื่องอย่างไร

“เวลาเราเขียนนิยายเราไม่ได้ทำอะไร เราแค่ visualize คอนเซปต์ขึ้นมา เพราฉะนั้นพี่ถึงบอกว่าเราต้องมาเดินตามย่าน ตอนที่ทำเรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตก็ต้องไปที่แม่น้ำนครชัยศรี

ตอนที่มาย่าน มาเพื่อที่เราจะ shape ตัวละครมากกว่า ถ้าคุณไม่ไปเดินคุณจะนึกไม่ออกเลยว่าเขาอยู่กันยังไง ห้าโมงเย็นบานเฟี้ยมไล่ปิด อันนี้คือซีนที่อยู่ในหนังสือ เรามีความรู้สึกว่าทุกอย่างมันสงบลง สี่ห้าโมงเย็นร้านใครร้านมันปิด ละแวกก็จะเงียบ ก็จะมีเด็กวิ่งเล่นนิดหน่อย เราก็ต้องจินตนาการเอา ซึ่งจินตนาการไม่มาหรอก ต้องเดินไปสองสามวัน เดินไปเดินมา”

ทำไมถึงเลือกใช้ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นฉากหลังของนิยาย

“เป็นย่านเก่าอีกแหละ จะเขียนเรื่องหลังสงครามโลก เรื่องประมาณ พ.ศ. 2488 เริ่มเขียนก็งงๆ เวลาเราเขียนย้อนยุค เราไม่มียุคนั้นอยู่ในตัวเอง เกิดไม่ทัน ย่านนี้ไม่เคยมาเลย เริ่มเขียนปุ๊ปก็สำรวจย่านเก่าในกรุงเทพชั้นในก็มาเจอตรงนี้ แต่ความเข้าใจแรกๆ ก็คือเอาความรู้เดิม มาตลาดน้อย วันหนึ่งไม่มีที่จอดรถ ไม่รู้หลงไปยังไง ไปหลงตรงวัดกัลยาณมิตรฯ ก็เดินต็อกแต็กๆ ตรงนั้นมีชุมชนกะดีจีนแล้วก็โผล่ไปเจอศาลเจ้าก็ตะลึงเลย ถ้าเกิดใครไม่เคยเจอเธอจะต้องตะลึง ศาลเจ้าเล็กๆ แล้วก็ complete มากๆ คือไม่ได้ผ่านการซ่อมแล้วมีสีสดๆ สวยงามมากแล้วก็เล็ก เข้าไปดูเห็นเจ้าแม่เล็ก อีก โบสถ์กาลหว่าร์ คือทุกอย่างก็เล็กๆ หมด

เดินต็อกแต็กๆ อยู่สักพักใหญ่ๆ เวลาเราเดินไปในพื้นที่ เราผ่านเข้าไปในวิถีด้วย วิถีริมน้ำ วิถีเดิมแบบไม่มีรถ ตรอกเล็กๆ หลังจากนั้นเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันไม่ได้เหมือนดินแดนทั่วไปในกรุงเทพในตัวเมือง ชั้นในคือมันเป็นดินแดนที่ค่อนข้างจะมีวัฒนธรรม(cultural) มันไม่ใช่แค่วัฒนธรรม(cultural) แต่วิถีชีวิตมันโรแมนติกด้วย แล้วก็เป็นวิถีที่หายไป เนื่องจากเดิมการสัญจร ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับในน้ำ เมืองนี้ก็จะเจอยิ่งติดน้ำเท่าไหร่ก็ยิ่งหรูหราเท่านั้น ก็ไล่เข้ามาๆ ที่มันยังอยู่ได้ เพราะมันถูกล้อมด้วยถนนใหญ่มีรถวิ่ง ก็จะล็อกเอาไว้เพราะฉะนั้นมันยังเหลือวิถีดั้งเดิมค่อนข้างเยอะ ในขณะที่ส่วนอื่นของเมือง ถนนก็พาลากไปหมดทุกอย่าง”

ช่วงหลังสงครามน่าสนใจอย่างไร

“คือจริงๆ พุทธศักราชฯ มันมีเลเยอร์เรื่องการเมืองอยู่ด้วย ถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะพบว่ากลุ่มการเมืองของเรามาจากตลาดน้อยนะ ปันยารชุน, หวั่งหลี ตระกูลเหล่านั้นคือตระกูลเก่าแก่ที่เริ่มมาพร้อมกับรัตนโกสินทร์เดิมอยู่แถวนี้

เริ่มมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หวั่งหลี พอตั้งกรุงเสร็จ เขาย้ายมาอยู่ตรงตลาดน้อย คือจริงๆ ตลาดน้อยเป็นตลาดใหญ่มาก เป็นเมืองท่า ตัวหวั่งหลีก็เป็นท่าที่รับคนที่มาจากจีน บรรพบุรุษของพวกท่านที่ตาชั้นเดียวก็ขึ้นท่านี้แล้วก็ข้ามไปตลาดน้อย หางานทำ ร้านข้าวสาร แล้วก็ถัดขึ้นไปสีลม สีลมคือพื้นที่ที่มีโรงสีที่ใช้พลังงานลมไม่ใช่พลังงานไฟฟ้า แต่ก่อนเรียกว่าโรงสีลมแล้วก็มาโรงสีไฟ ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่านโรงสีคือย่านแรงงาน ย่านจับกังจีนของจริงเลย

ยังเคยได้เห็นแผนที่ของตลาดน้อย รู้สึกว่าเขาจะล่าไปได้ที่ตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ไปล่าแผนที่เขียนมือ แล้วมันจะมีช่องสีเหมือนแปลนห้างสรรพสินค้า คือมีร้านอะไรอยู่ตรงไหน อันนี้ก็จะเป็นร้านที่เขียนด้วยแซ่ เช่น แซ่ตังค้าข้าว แซ่จูขายกระสอบ คือระบุเป็นแซ่ นั้นหมายความว่าถ้าคุณเดินทางมาจากซัวเถา คุณก็หาแซ่ของคุณก่อน ถ้าเจอแซ่ก็ไปถามเขาว่ามีงานให้ทำไหม ถ้าไม่มีเขาก็ส่งไปให้แซ่อื่น คือเป็นถิ่นตั้งหลักคนจีน”

คนจีนอพยพมาเป็นพลเมืองชั้นที่สามด้วยซ้ำ เมืองสะท้อนการกดทับของชาติพันธุ์หรือไม่

“คิดว่าไม่นะ จริงๆ ก็เหมือนสมัยนี้นะ มีเจ้าสัวทั้งหลาย และมีชนชั้นแรงงานที่เข้ามาเป็นจับกัง กุลี แบกข้าวสาร ชนชั้นลากรถ ชนชั้นแบกข้าวสาร ชนชั้นขุดคลองนี่น่าสนใจมาก คือเป็นชนชั้นที่ไปเรื่อยๆ ไปโผล่ราชบุรี ไปโผล่ฉะเชิงเทรา จะสร้างคลองที่ไหนไปกับคลอง คือเมืองไทยมันมีประชากรน้อยมากจนเราไม่สามารถที่พัฒนาเมืองได้ด้วยตัวเอง เราก็เลยต้องเอาคนจีนเข้ามา จ้างเข้ามา

บริบททางการเมือง เจ้าสัวก็คือเจ้าสัว คนจีนพวกที่เข้ามาเป็นแรงงานก็มาเป็นแรงงาน ไม่ใช่เสื่อผืนหมอนใบแล้วมาตั้งตัวได้ คือไม่ได้ทุกคน บางคนมีทุนมาแม้แต่เจียไต๋เอง รวยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย เขามีเครือข่าย เขามีญาติพี่น้องอยู่ฮ่องกง เขามีส่งออกค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องพวกนี้จะไม่ค่อยได้เล่า เขาต้องการให้เราลืมบริบท ‘เสื่อผืนหมอนใบ มาพึ่งโพธิสมภาร บลาๆ’ แต่จริงๆ แล้วเข้าไปรับราชการก็มี ปัน ยารชุนก็เข้าไปรับราชการ แล้วก็แต่งกับเจ้าก็จะย้ายนามสกุลไป นามสกุลมา เรื่องพวกนี้ถ้าอยากรู้ว่าใครเป็นใครก็ต้องไปดูเรื่องสาแหรก ใครแต่งงานกับใคร ตอนปลายรัตนโกสินทร์เจ๊กแต่งกับทหาร นี่คือรูปแบบทางการเมืองที่เรามีจนถึงทุกวันนี้ เดี๋ยวไปอยู่ฝ่ายนั้นบ้างฝ่ายนี้บ้าง”

มีจุดไหนที่สนใจเป็นพิเศษไหม

“มันจะมีอยู่สองจุดที่น่าสนใจ เดิมมันเป็นชุมชนค้าขาย เป็นตลาดค่อนข้างใหญ่ ตลาดของคนจีนจีนแคระ แต้จิ๋ว คนไหหลำนะคะ ทีนี้นึกถึงพื้นที่อย่างนี้ทุกอย่างมันขึ้นมาจากแม่น้ำ ขึ้นเสร็จถนนมันล็อกเอาไว้ หลังสงครามโลกสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเชียงกง เอารถที่ใช้ในสงครามมาขาย ขอโทษ หลังสงครามโลกเราเอารถของญี่ปุ่นมาขายคือเราเป็นเจ้าใหญ่ส่งออกไปสิงคโปร์ คือขายอะไหล่ ชิ้นส่วนเล็กน้อยไปจนถึงของใหญ่ๆ เสร็จแล้วก็ตรงนี้ยิ่งล้อมตัวตลาด คนก็เลยไม่เข้าตลาด ตลาดก็เลยเริ่มทรุดลงไปเรื่อยๆ การสัญจรทางน้ำคนก็ไม่ค่อยใช้ เพราะว่าใช้ถนน มีสะพานข้ามอีกต่างหาก สะพานข้ามค่อยๆ สร้างเพิ่มขึ้นมา ซึ่งทำให้การสัญจรทางน้ำหายไป

มีอยู่อันหนึ่งที่สนใจตอนที่ไปเที่ยวคลองบางหลวงด้านใน คุณจะเห็นว่ามันเป็นสี่แยกข้างในสุขุมวิทก็มีบ้านเก๋ๆ บ้านหลังใหญ่เบิ้มๆ ซึ่งไม่มีทางออกไปถนนเลย คือจะต้องนั่งเรือขึ้นไปอย่างเดียวก็จะเป็นสวนของพวกคหบดี ข้าหลวงต่างๆ ที่อยู่ในสมัยนั้นอันนี้ก็น่าสนใจเพราะเราจะเห็นวิถีที่ขนานกับบนพื้น บนพื้นมันถูกจับจองโดยพ่อค้า ซึ่งคหบดีก็จะไม่อยู่ตึกแถวแบบเจ๊ก เขาจะอยู่บ้านริมน้ำ

ในชุมชนแถวตลาดน้อยมีอีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือศาลเจ้า มีศาลเจ้าประมาณ 23 แห่ง ศาลเจ้าประจำครอบครัว ทำมาค้าขึ้น ค้าไม่ขึ้นก็ไหว้ศาลเจ้าไว้ก่อน”

เสน่ห์ของกะดีจีน-คลองสานคืออะไร

“คือจริงๆ สมัยพระเจ้าตาก หลังกรุงแตกเขาอพยพกันมาย่านคลองสาน มันเป็นจุดค้าขายอยู่แล้ว มีมุสลิมห้าเชื้อชาติ เช่น อินเดีย จาม เปอร์เซีย ฯลฯ มีฝรั่งมังค่า มีคนจีนที่ทำค้าขาย จีนมีสามจีน จีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนแคระ ส่วนไทยก็จะมีทหารเรือ

ย่านนี้มีเสน่ห์ตรงที่มันไม่ใช่แค่ความสวยงามแต่เป็นเรื่องความลื่นไหล ถ่ายเท แล้วก็อีกนัยยะหนึ่งมันมีความโมเดิร์นมาก สภาพการลื่นไหลมันหายไปในช่วงสงครามโลก ลัทธิชาตินิยม ที่ทำให้ความเป็นไทยมัน solid แล้วหนึ่งเดียว ในแง่วรรณกรรม มันพูดเยอะมาก มันไม่ได้พูดเฉพาะแค่ความหลากหลาย แต่มันพูดถึงการซ้อนทับ การคลี่คลาย การผสม การสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่อยู่ในทุกส่วน วิธีคิดของผู้คน”

ยกตัวอย่างความลื่นไหลให้ฟังหน่อย

“อาหารหลายๆ อย่างเป็นอาหารมุสลิม อาหารเขมร โปรตุเกส ลาว เวียดนาม อย่างพวกอบขนมจีนน่าจะไม่ใช่ของจีนแต่เป็นของญวณ แล้วก็คนจีนก็เอามาสานต่อ เพราะเป็นแป้งที่เป็นแบบบะหมี่ คนจีนก็ชอบกินเส้นก็รับต่อ  คนไทยก็ขยายต่อ ที่นี่เขาจะใช้ขนมจีนโปรตุเกส ถ้าตอนกินเจ มันมีกิจกรรมใหญ่มากอันที่น่าสนใจคือพวกวัฒนธรรมที่มันคลี่คลาย ยกตัวอย่างเช่นในเทศกาลกินเจจะมีบะหมี่หวาน บะหมี่เหมือนบะหมี่ลูกชิ้นนี่แหละ แล้วใส่กับน้ำเชื่อมราดน้ำแข็ง เป็นอาหารที่ค่อนข้างจะแน่ใจว่ามันมีที่นี่ที่เดียว น่าจะเป็นวัฒนธรรมที่สร้างใหม่จากคนที่มาอยู่รวมกัน อาหารหลังฤดูเก็บเกี่ยว

พวกเวิ้งนครเกษมเขาจะมีข้าวเหนียวหรือบัวลอยที่ไม่มีไส้ซึ่งเป็นอาหารเฉพาะที่คลี่คลายมาจากเทศกาลฉลองหลังเก็บเกี่ยว มันมีสูตรของตัวเอง เวิ้งนครเกษมรื้อไปแล้วนะ นายทุนเอาไปแล้ว เมื่อคุณขยับพื้นที่ไป ไล่คนออก วัฒนธรรมที่เป็นเฉพาะของพื้นที่หายไปด้วยก็น่าเสียดาย เวลาที่เข้ามาหากะดีจีน เราก็จะมองมาสิ่งวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดจากการเชื่อมโยงกลุ่มคนที่อยู่ตรงนี้”

อาหารมันยังสะท้อนประวัติศาสตร์

“อาหารมันถูกยึดโยงระหว่างคนกับพื้นที่ ที่กะดีจีนมีคนแก่ ทำอาหารสมัยอยุธยา เนื้อสัพแหยกพอจะเดาออกไหมว่ามาจากอะไร subject แต่มันออกเสียงไม่ได้ subject (เป็นคน) ไปทำงานให้กับฝรั่งก็จะมีสูตรพวกนี้เนื้อสตูว์ แบบโปรตุเกสที่กะดีจีนทำ

เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าสมัยก่อนไม่มีร้านอาหาร กินข้าวบ้านใครบ้านมัน สูตรนี้เลยตกทอดอยู่ในครอบครัว ครอบครัวนี้ทำงาน subject ได้สูตรนี้มาก็มาทำกินกันก็เป็นสูตรเฉพาะตัว ถ้าเกิดครอบครัวนี้ไม่เปิดร้านอาหารก็จะไม่มีใครรู้”

 ชุมชนกะดีจีน เขาอยู่กันอย่างไร

“ค้าเล็กค้าน้อย ลูกหลานก็ย้ายออกไป พ่อแม่ก็ติดที่ ไม่ไปไหนเลย ขึ้นบนลงล่าง ตกเย็นก็ขึ้นไปนอนข้างบน เช้ามาก็ลงมาค้าขายข้างล่าง ซื้อของก็ซื้อในละแวก อยู่ใกล้เยาวราชแค่นี้ไม่ไปจ่าย รอตรุษจีนก่อน ไหนจะค่ารถ ไหนจะเดินไกล ขึ้นบนลงล่างๆ ซื้อผ้าก็ถัดไปอีกสี่ร้าน เขาไม่ได้เหมือนเรา คนรุ่นใหม่มีอะไรก็จะไป อะไรเปิดใหม่ๆ ก็ดูนั้นคือวิถีสมัยใหม่

มันเป็นย่านใครย่านมัน แต่ว่าอย่างที่บอกพอถึงตรุษจีนปุ๊ป คนจากตลาดน้อย คลองสานก็ต้องเข้าไปเยาวราช มันมีร้านที่ขายเป็ดหรือว่ากระดาษเงินกระดาษทอง เทศกาลเป็นตัวเชื่อมโยงย่าน เทศกาลที่เรากลับบ้านต่างจังหวัด เทศกาลที่พาเราไปเยาวราช เทศกาลที่พาเราออกจากชีวิตขึ้นบนลงล่าง พาเราไปเที่ยว ตรุษจีนก็มีวันที่ต้องไปเที่ยว”

สมดุลการพัฒนา ชุมชนจะเป็นยังไงในอนาคต

“จะเต็มไปด้วยคาเฟ่ อำนาจการจ่ายมันขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ คนเริ่มทำงาน first jobber เรื่องการทำงานฟรีแลนซ์คนพวกนี้ต้องการพื้นที่นั่ง พื้นที่หนีแม่ เริ่มมีโฮสเทล co-working space มาแน่นอนอยู่แล้ว ตอนนี้มีห้างไอคอนสยามเราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะพัฒนายังไง มันก็เป็นห้างไม่ได้อดอยากปากกัดตีนถีบ เขาก็อาจจะไม่รุกพื้นที่ด้านข้าง แล้วแต่ทีมพัฒนาด้วย ขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวด้วย แต่ว่าตลาดคลองสานด้านข้างก็เป็นวิถีดั้งเดิมมาหลายสิบปีตอนนี้ก็ใกล้เจ๊งแล้ว

ถ้าเป็น co-working space อะดีสุดแล้ว ทำลายย่านน้อยสุดแล้ว นอกเหนือจากนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงได้อีกก็ไม่เช่นนั้นย่านก็เริ่มจะเป็นย่านคนแก่ ก็ไม่มีกิจการอะไร เท่าที่มันผ่านมาพอคนเริ่มอายุ 50 ก็จะเป็นย่านคนแก่ ช่วง 20 ปีนี้ย่านไม่ขยับเลยแหละ มี walker อยู่หน้าบ้าน คือเถียงไงเขาบอกย่านนี้คนอยู่ไม่ดูแลสถานที่เต็มไปด้วยขยะ เห็นมีที่นอนเก่าๆ ตั้งอยู่ เราก็บอกไปดูดิ หน้าบ้านมี walker มันเป็นหน้าที่กทม.ที่จะต้องขนขยะออกมา เจ้าบ้านหมดปัญญาแล้ว ไม่มีแรง”

ความท้าทายของการพัฒนาเมืองในย่านนี้คืออะไร

“การพัฒนาย่านต่อไปที่ห่วงก็คือมันเป็นเมืองที่ไม่เหลืออะไรแล้วมันจะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคนข้างนอกเข้ามาแล้วก็ออกไป ในกรณีนี้มันรวมถึงทุนด้วย ทุนมันจะเริ่มแพงจนคนดั้งเดิมอยู่ไม่ไหว คือเดิมกาแฟโอยั๊วะ 15 บาทตอนนี้กลายเป็นกาแฟสด 45 บาท ถ้านักท่องเที่ยวบูมมันสามารถขึ้นไปถึง 150 บาท เท่าสตาร์บัคส์ ถึงตอนนั้นสตาร์บัคส์ก็มา พอมันมีราคาขนาดนี้ ทุกอย่างมันขึ้นหมดเลย ราดหน้า  ข้าวผัดกะเพรา ทีนี้ก็จะเป็นย่านที่คนดั้งเดิมอยู่ไม่ไหว นอกจากคุณจะมีธุรกิจดีๆ ซึ่งก็อาจจะไม่มีแล้ว เดิมก็คือมีธุรกิจแหละแล้วก็เจ๊งแล้วก็อยู่ไป”

ถ้าต้องการทำงานในพื้นที่จะศึกษาย่านนี้อย่างไร

“พี่อยากให้เดินเข้ามู้ด เดินเอาฟิล เดินไปหลง ก็มั่วๆ ไป พอเริ่มมาบ่อยขึ้นเขาก็เริ่มคุย ย่านเมืองแต่ละย่านมันคือไลฟ์ของคน คือเราไม่สามารถเข้าใจทุกอย่างได้ผ่านแปลน เวลาเรามองอย่างนี้มันคือแปลน แต่การเดินเข้าไปมันคืออีกเรื่องนึง

บานเฟี้ยมมันต่างกับบานปิดมาก บานเลื่อนต่างกันมาก บานเฟี้ยมคือบานเฟี้ยมมันมีอารมณ์ของการเปิดครึ่งปิดครึ่ง มันมี feeling ของบ้านที่มีกลิ่นกะปิ พวกบ้านไม้มันจะเก็บกิน หรือว่าแมวนั่ง มันเป็นเมืองแมวมาก เวลาเราดูสารคดีตุรกีที่มีแมว ย่านนี้ก็มีแมวเยอะ ถ้าเป็นทาสแมวจะกินเวลามากกว่าคนอื่น 3 เท่า เพราะมันจะเข้ามาทัก แล้วก็จะเห็นว่าไม่ค่อยมีหมา

 เดินก็เข้าใจว่าแต่ละย่านมันขึ้นมาจากอะไร แล้วมันขึ้นเท่าที่จำเป็น คือมันไม่เหมือนเมืองสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยสิ่งไม่จำเป็น มันจะมีเท่าที่จำเป็นซึ่งน่ารักมาก”

เวลาศึกษาวัฒนธรรมของย่าน มันจะมีประวัติศาสตร์บอกเล่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเรื่องจริง

“ปกติเราทำนิยายเราทำประวัติศาสตร์เรื่องเล่า คุณจะเชื่อก็เชื่อ ไม่เชื่อก็เรื่องของคุณ เพราะประวัติศาสตร์กระแสหลักเชื่อไม่ค่อยได้อีก การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์มันเกิดขึ้นจากหลายอย่าง คือประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประวัติศาสตร์เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ทางความรู้สึก พี่ทำนิยายก็มุ่งไปตรงนี้ประวัติศาสตร์ทางความรู้สึก สิ่งที่ขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ชุดเหตุการณ์แต่เป็นชุดความรู้สึกตอนนั้น สมมติคุณไปถามคุณยายหรือย่ารู้สึกอย่างไรตอนฮิโรชิมาถูกบอม ไม่รู้สึกอะไรเลยอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ขณะที่เราถูกปลุกเร้าโดยฮิโรชิมาถูกบอมโดยบลาๆ  วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2488 มันเต็มไปด้วยข้อมูลแล้วการเข้าใจเรื่องสงครามเมื่อมันผ่านไปแล้ว”

ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีมิติเดียว แล้วแต่ใครเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์?

“ในยุคของพวกคุณ คุณจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า Post-Truth ซึ่งน่าสนใจมาก เช่น สมมติว่าพี่บอกว่าพี่เห็นรถชน ถ้าเคยเห็นรถชนดังปั๊กก็แล้วไป แต่ถ้าเกิดคุณไม่เคยเห็นสิ่งที่คุณเห็นก็คือ ตุ๊ป คุวคุว แคว้ก จาก fast 7 แน่นอนว่ารถชนของคุณไม่เหมือนรถชนของพี่ มันไม่มีรถยนต์ที่ไม่ CG แล้วในหนัง คือ CG เรียบ การมองเห็นก็จะต่างกันด้วย เวลาคุณเข้ามาย่านเมืองก่อนที่คุณจะเข้าไปเดิน ภาพของคุณก็อาจจะเป็นแม่พลอย นั่งสวยๆ ออเจ้าที่คุณเคยดูในละครทีวี ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นก็เป็นอีกแบบนึงของมันก็ขึ้นอยู่ว่าคุณต้องการความจริงชุดไหน ต้องการเสนอภาพของอะไร”

อนึ่งเป็นการเก็บความจากการเรียนการสอนสตูดิโอวางผังชุมชน ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2563 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก IMAGINE DISTRICT KK2030 ร่วมจัดกิจกรรมโดยภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (CUURP) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) มูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร และ THE URBANIS


Contributor