25/05/2020
Life
การอยู่อาศัยแนวตั้งในเมืองชั่วคราว เมื่อ Covid-19 ทำให้เห็นภาพปัญหาชัดขึ้น
อธิวัฒน์ อุต้น

2020 ถือเป็นปีที่ทำให้ใครหลายคนได้หยุดการทำงานและกลับไปอยู่บ้านนานกว่าปีไหนๆ เพราะการเข้ามาของโรคระบาดอย่างไวรัส Covid-19 ทำให้โลกทั้งโลกที่เคยหมุนปกติ สะดุดเสียจังหวะ วิถีชีวิตที่เคยดำเนินมานั้นต้องพลิกผันยากควบคุม
จากวิกฤตนี้ทำให้คนต่างจังหวัดที่ต้องมาทำงานและอาศัยในเมืองกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดได้นานขึ้น ใกล้ชิดกับครอบครัว มีเวลาทำอย่างอื่น อาจได้มองเห็นเส้นทางตัวเลือกใหม่ที่จะต่อยอดให้ชีวิตได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่ยังมีอีกหลายคนที่กลับบ้านไม่ได้ และยังต้อง work from home ผ่านหน้าจออยู่ในห้องพักอาศัยสี่เหลี่ยมอย่างคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ สถานที่ที่เป็นดั่งที่อยู่อาศัยของชีวิต แม้จะเป็นการเช่าอยู่ก็ตาม
กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่มีผู้คนมากมายทั้งไทยและต่างชาติ เข้ามาทำงาน ท่องเที่ยว ใช้ชีวิต วนเวียนและจากไป ในช่วงที่เกิดการระบาดของ Covid-19 ก็ทำให้ได้เห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองชั่วคราวมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ในวันที่กรุงเทพฯ เพิ่งปลดล็อกดาวน์ อยากชวนทุกคนไปคุยกับ อาจารย์ภัณฑิรา จูละยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยในโครงการวิจัย ‘คนเมือง 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย’ ด้วยความสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยงานในส่วนที่อาจารย์เป็นผู้วิจัยคือโครงการย่อยที่ 2 พูดถึงเรื่อง ‘การอยู่อาศัย’
ชวนไปคุยกันถึงบ้านอาจารย์ แต่ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ปรับเปลี่ยนไปกับวิถีชีวิตใหม่ที่เราทุกคนกำลังเผชิญ
มีการคาดเดามากมายว่าหลัง Covid-19 ผ่านพ้นไป ผู้คนจะย้ายออกจากเมืองมากขึ้น จะเป็นไปเช่นนั้นหรือไม่
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนเลือกว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในเมือง น่าจะขึ้นอยู่กับเรื่องของวิถีการทำงานที่ต้องดูว่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน การปรับตัวในแต่ละองค์กรจะมีการวางแผนให้ทำงานจากบ้านได้มากน้อยแค่ไหนหลังจากนี้ ซึ่งแน่นอนว่าความสามารถในการปรับตัวของแต่ละอาชีพย่อมแตกต่างกัน กลุ่มคนที่ทำงานในออฟฟิศที่ปกตินั่งทำงานด้วยคอมพิวเตอร์เป็นหลักก็จะปรับตัวได้ง่ายกว่า
คนกลุ่มนี้ก็อาจจะได้กลับไปทำงานที่บ้านแถบชานเมืองและเดินทางเข้ามาทำงานในออฟฟิศบ้างในบางวัน หรือถ้าสุดโต่งมากก็อาจจะย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วทำงานออนไลน์ 100% อย่างที่หลายบริษัทในโลกเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมพร้อมให้เกิดการทำงานลักษณะนี้ได้
แต่ท้ายที่สุดคนจะย้ายไปอยู่ไกลจากที่ทำงานมากขึ้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับองค์กรแต่ละองค์กรว่าจะเห็นประโยชน์จากการทำงานร่วมกันในออฟฟิศหรือประโยชน์จากการให้พนักงานทำงานจากที่บ้านมากกว่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไปทั้งในระดับองค์กรและในภาพรวมของการบริหารจัดการเมือง
แต่ในเมืองยังมีกลุ่มคนทำงานอีกกลุ่ม ที่งานของเขาจะยึดติดอยู่กับสถานที่และไม่สามารถทำงานออนไลน์ได้ เช่น แม่บ้านที่ทำความสะอาด ช่างตัดผม หรือว่าคนที่ทำงานบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ กลุ่มนี้จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานจึงต้องอาศัยอยู่ใกล้แหล่งงานให้มากที่สุด ตราบใดก็ตามที่เมืองยังต้องพึ่งพาอาชีพเหล่านี้อยู่ และการอยู่ในเมืองยังเป็นโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงงานได้มากกว่าในต่างจังหวัด โอกาสที่เขาจะย้ายออกไปจากเมืองกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัดก็คงจะเป็นไปได้น้อย นอกเสียจากว่าในเมืองไม่มีงานเหล่านี้ให้ทำอีกแล้วและการอยู่ในเมืองต่อไปก็จะก่อภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามที่เราเห็นคนกลับต่างจังหวัดพร้อมกันจำนวนมากหลังประกาศล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนตัวคิดว่า หลังจากเราแก้ปัญหาโควิดได้แล้ว สุดท้ายคนส่วนหนึ่งก็จะค่อยๆ กลับเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ อยู่ดี เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เมืองลงทุนไปแล้วมีความหลากหลายกว่าในต่างจังหวัดและมีระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ยังทำให้กรุงเทพฯ มีโอกาสในการหางานและสร้างรายได้ได้มากกว่า แต่หากในแต่ละจังหวัดเริ่มมีการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ มีสิ่งอำนวยความสะดวก ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทางอาชีพมากขึ้นคนส่วนหนึ่งก็อาจจะเลือกใช้ชีวิตในจังหวัดบ้านเกิดมากขึ้น อัตราเร่งในการเพิ่มจำนวนประชากรของกรุงเทพฯ ก็อาจจะลดลง
ก่อน Covid-19 มาเยือน คอนโดคือที่อยู่อาศัยอันดับแรกๆ ที่คนเมืองนิยม ช่วงเวลาต่อจากนี้ไป ทิศทางของคอนโดในเมืองจะเป็นเช่นใด
ถ้ามองในมุมมองของคนที่เป็นผู้อยู่อาศัย ว่าทำไมคนเมืองในปัจจุบันถึงมาอาศัยอยู่ในคอนโด อย่างแรกที่รู้ๆ กันก็เพราะว่าการอยู่คอนโดช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง สามารถใช้รถไฟฟ้าได้ ทำให้เดินทางสะดวก ซึ่งข้อนี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนส่วนมากเลือกมาอยู่คอนโด ไม่ว่าจะอยู่แบบซื้อหรือแบบเช่าก็ตาม อันดับต่อมาก็อาจจะเป็นเรื่องของการมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลายทั้ง ห้องฟิตเนส สระว่ายน้ำ หรือบางที่ก็มีห้องดูหนังขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นบ้านเดี่ยวคงจะยากที่จะมีสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดอยู่ในบ้านได้
อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของความปลอดภัยที่รัดกุม ทำให้อยู่อย่างสบายใจได้ ในคอนโดส่วนมากมีกล้องวงจรปิด มีพนักงานรักษาความปลอดภัย มีการคัดกรองคนเข้าออกที่ค่อนข้างดี และสุดท้ายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดคือเรื่องของราคา ถ้าเปรียบเทียบกับการซื้อบ้านเดี่ยวติดสถานีรถไฟฟ้า ก็คงมีราคาสูงกว่าซื้อคอนโดติดสถานีรถไฟฟ้าหลายเท่า ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คอนโดเป็นที่นิยมของคนเมือง
คราวนี้ลองมองดูว่าหลังจากโควิดผ่านพ้นไป ปัจจัยพวกนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร มีผลต่อการเลือกที่อยู่อาศัยของคนอย่างไรบ้าง อย่างแรกคือเรื่องของการเดินทาง ตราบใดที่ผู้คนยังทำงานในเมือง พวกเขาก็ยังต้องการการเดินทางที่สะดวกอยู่ คนส่วนมากอยู่คอนโดเพราะต้องการใช้รถไฟฟ้า หากรถไฟฟ้ามีมาตรการด้านการควบคุมการแพร่ระบาดที่ดี บริษัทต่างๆ มีการเหลื่อมเวลาเข้าทำงาน การเดินทางด้วยรถไฟฟ้ายังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของคนเมืองอยู่ สุดท้ายเมื่อผ่านพ้นช่วงนี้ไปแล้ว คนก็จะยังนิยมอยู่คอนโดอยู่ดี แต่ในทางกลับกัน ถ้ารถไฟฟ้าไม่ใช่การเดินทางที่ดีที่สุดอีกต่อไป ทั้งด้านเวลา ความปลอดภัย ความครอบคลุม คนที่มีกำลังซื้อรถยนต์ได้ก็คงเลือกไม่เลือกใช้รถไฟฟ้าแล้ว การอยู่คอนโดก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาอีกต่อไป คนกลุ่มนี้อาจเลือกไปซื้อบ้านชานเมืองแล้วขับรถเข้ามาทำงานแทน

ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องที่คนที่อยู่คอนโดกังวลและพูดถึงกันมาก ก็คือการใช้พื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องใช้ร่วมกับคนอื่นในคอนโด ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าทั้งเราและเขามีความเสี่ยงที่จะมีโรคมากน้อยแค่ไหน ถ้าคอนโดมีนิติบุคคลที่ดี สามารถวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ชัดเจน รัดกุม และสามารถบริหารให้ผู้อาศัยปฏิบัติตามได้อย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้คนรู้สึกว่าเข้าไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องกลัวติดเชื้อ ก็จะเป็นปัจจัยที่จะส่งเสริมให้คนเลือกอยู่คอนโดต่อไป
ในทางกลับกัน หากระบบการดูแลการใช้พื้นที่ส่วนกลางเหล่านี้หละหลวม คนก็จะไม่กล้าไปใช้งาน ซึ่งก็จะลดเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้คนตัดสินใจใช้ชีวิตในคอนโดไป มีคอนโดหลายที่ที่ประสบปัญหานี้ ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่าพื้นที่ส่วนกลางไม่ค่อยปลอดภัย โดยเฉพาะในคอนโดที่มีการปล่อยเช่าระยะสั้น มีคนมากหน้าหลายตาเข้าออกอยู่ประจำ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเช่าอยู่เหมือนเป็นโรงแรม ซึ่งหากคอนโดไม่มีวิธีการจัดการเรื่องการเช่าระยะสั้นที่รัดกุมโดยเฉพาะในช่วงโรคระบาด ไม่มีระบบคัดกรองคนที่จะมาเช่า ปล่อยให้คนแปลกหน้าเข้าออกได้อย่างอิสระ ก็จะทำให้ผู้อยู่อาศัยคนอื่นกังวลและอาจนำไปสู่การเลือกย้ายไปอยู่ในที่ที่รู้สึกปลอดภัยกว่าในที่สุด
เรื่องนี้เชื่อมโยงไปกับอีกประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญ คนที่อยู่คอนโดมีหลายกลุ่ม มีทั้งคนที่ซื้อและอยู่เองกับกลุ่มคนที่ซื้อเพื่อลงทุน แล้วปล่อยให้คนเช่าระยะยาวหรือปล่อยให้นักท่องเที่ยวเช่าระยะสั้น ในกลุ่มนี้เรามองว่าแนวโน้มที่จะมาซื้อคอนโดเพื่อปล่อยให้นักท่องเที่ยวเช่าในระยะสั้นแบบเป็น passive income น่าจะลดลงไป เพราะคิดว่าวิกฤตนี้มันเชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ความจริงแล้วการมาเช่าคอนโดอยู่เป็นแบบ airbnb ตอนนี้ก็ยังถือเป็นเรื่องที่มีความกำกวมด้านกฎหมายอยู่ อีกอย่างหนึ่งก็คือ มันไม่สามารถจัดการให้เป็นระบบปิดเหมือนโรงแรมที่มีระบบจัดการค่อนข้างเรียบร้อยได้ คอนโดมันมีความยืดหยุ่นของมันอยู่ ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ความนิยมเช่าคอนโดของนักท่องเที่ยวลดลงไป
อย่างสุดท้ายที่ทำให้คอนโดเป็นที่นิยม ก็คือเรื่องของราคาที่สามารถเข้าถึงได้เมื่อเทียบกับบ้านเดี่ยวในเมือง เรื่องราคาหลังจาก Covid-19 คอนโดก็อาจจะเป็นที่นิยมมากขึ้นไปอีก เพราะช่วงนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มลดลง อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้คนกลุ่มใหญ่ๆ อีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาซื้อ หรือย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในคอนโดได้ คิดว่าหากดูจากปัจจัยเรื่องราคาแล้ว น่าจะเป็นทิศทางที่ทำให้คนที่มีกำลังซื้อเลือกซื้อคอนโดเพิ่มขึ้น แต่แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ที่เป็นคนไทยและตั้งใจจะซื้อเพื่ออยู่เองจริงๆ ก็มีจำนวนจำกัดและการตัดสินใจก็ย่อมมีเหตุผลอื่นที่บอกไปก่อนหน้านี้รวมอยู่ด้วย
คอนโดเป็นที่อยู่อาศัยที่ผู้คนเข้ามาอยู่แค่ชั่วคราว ไม่ได้สามารถเรียกว่า ‘บ้าน’ ได้ พูดแบบนั้นได้หรือเปล่า
จะบอกว่าได้ก็ได้นะ คือส่วนตัวยังมองว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความฝันที่ว่า สักวันหนึ่งฉันจะมีบ้านเป็นของตัวเอง ถึงแม้อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบความอิสระ ชอบความคล่องตัว ไม่ต้องการดูแลสวน ดูแลบ้าน คนกลุ่มนี้ก็อาจจะอยู่คอนโดต่อไป แต่เชื่อว่าคนโดยมากมองคอนโดเป็นอะไรที่ค่อนข้างชั่วคราว คือมาอยู่สักพักหนึ่ง เก็บเงินได้ก็จะขายแล้วก็ไปซื้อคอนโดที่ใหญ่ขึ้นหรือซื้อบ้านที่ใช้ชีวิตได้อิสระกว่า ซึ่งบางกรณีก็อาจจะกินเวลาหลายปีจนกลายเป็นอยู่ยาวเพราะรอความพร้อม
แต่ในกรุงเทพฯ ก็เริ่มเห็นคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ขายบ้านในต่างจังหวัดแล้วย้ายมาอยู่คอนโดทั้งครอบครัวเพราะว่าลูกต้องมาเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็อาจจะไม่ได้มองว่าคอนโดเป็นอะไรที่ชั่วคราวเหมือนกับคนที่ยังมีบ้านอีกหลังหนึ่งที่ไม่ใช่คอนโด กลุ่มนี้น่าจะอยู่ระยะยาวและเห็นคอนโดเป็นที่อยู่อาศัยกึ่งถาวร อย่างน้อยก็จนกว่าลูกจะเรียนจบ แต่อย่างไรก็ตามเรายังมองว่า คนส่วนใหญ่ก็คงหวังว่าถ้ามีโอกาส มีรายได้มากพอจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินอยู่ในที่ที่เดินทางเข้าเมืองได้สะดวก เขาก็น่าจะเลือกบ้านมากกว่า
คอนโดจะกลายเป็นบ้าน เป็นสิ่งที่ตอบรับความเป็นชุมชน มีคนรู้จัก มีเพื่อนบ้าน ได้หรือไม่
เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญมากในการออกแบบที่อยู่อาศัยที่เป็น mass housing แบบคอนโด และเป็นโจทย์ทางสังคมที่ท้าทายสถาปนิกผู้ออกแบบเมืองและที่อยู่อาศัยประเภทนี้มาเป็นร้อยปีแล้ว เราคิดว่าคอนโดกลายเป็นบ้านได้ แต่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนมุมมองว่าคอนโดไม่ใช่ที่อยู่อาศัยชั่วคราวแต่เป็นที่ที่คนเมืองสามารถอยู่ได้ในระยะยาวอย่างมั่นคง สบายกายและสบายใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและท้าทายมากเพราะต้องเปลี่ยนปัจจัยเชิงลึก ซึ่งก็คือการให้คุณค่าและทัศนคติที่มีต่อคอนโดในฐานะที่อยู่อาศัยทั้งของคนอยู่ คนออกแบบ ไปจนถึงคนที่มีอำนาจในการบริหารจัดการนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยในเมือง
ถ้าคนมองว่าคอนโดคือบ้านที่สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขและเพียงพอในการใช้ชีวิตระยะยาว มีแผนว่าจะอยู่ในคอนโดนานๆ ความรู้สึกของการอยากทำความรู้จักกับห้องข้างๆ หรือเพื่อนบ้าน แม่บ้านหรือพี่ยาม ก็น่าจะมากกว่าคนที่คิดว่าจะอยู่เพียงเพื่อทำงานแค่สองสามปีแล้วก็ย้ายไปที่อื่น ในกรณีนี้ความเป็นชุมชนก็จะค่อยๆ ขยับตัวขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ความเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจะนำมาสู่ความรู้สึกปลอดภัย มีคนใกล้ๆ ให้พึ่งพาได้
การออกแบบอาคารอยู่อาศัยที่ดี เป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญที่จะมาช่วยให้วงจรเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ศาสตร์ของการออกแบบอาคารที่จะกลายเป็นบ้านของคนคนหนึ่งมีความลึก ซับซ้อนและน่าสนใจ ต้องเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ทั้งเรื่องความต้องการพื้นที่ส่วนตัว ความต้องการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การครอบครองเป็นเจ้าของพื้นที่เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัย การแสดงอัตลักษณ์ผ่านลักษณะของบ้าน ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละครอบครัวและในมนุษย์แต่ละคน การตอบโจทย์ที่เฉพาะตัวเหล่านี้ให้ตรงตามความต้องการของคนเมืองแต่ละคนให้ได้ 100%
คอนโดเป็นเรื่องยาก เพราะห้องคอนโดถูกออกแบบมาให้เหมือนกันสำหรับทุกคน การออกแบบคอนโดที่ตอบความต้องการเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ได้ใกล้เคียง 100% และเอื้อต่อพฤติกรรมที่หลากหลายของคนเมืองมากที่สุด จะนำคอนโดเข้าใกล้ความเป็นบ้านให้กับคนเมืองได้มากขึ้น
แต่จากงานวิจัยเรื่องอนาคตการอยู่อาศัยที่ทำอยู่ ทำให้เห็นว่า คอนโดในประเทศไทยตอนนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ไปนานๆ สักเท่าไรนัก ผังห้องที่มีอยู่ไม่กี่แบบ ปรับอะไรแทบไม่ได้ ฟังก์ชันการใช้งานที่มีเพียงที่นอน ห้องน้ำ และครัวเล็กๆ

คอนโดในปัจจุบันจึงไม่ตอบรับการใช้ชีวิตที่เหมือนอยู่บ้านหรือเป็นสิ่งที่เรียกว่า home ได้ขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มครอบครัวที่มีเด็ก มีผู้สูงวัย ยิ่งช่วงหลังมานี้คอนโดเริ่มเน้นการโฆษณาให้คนมาซื้อไว้ลงทุนปล่อยเช่าอย่างตรงไปตรงมา การขายลักษณะนี้บ่งบอกว่าสังคมของเราทั้งระบบไม่ได้มองว่าคอนโดเป็นบ้านมาตั้งแต่ต้น ก็ไม่แปลกที่การออกแบบอาคารจะไม่ได้ส่งเสริมให้คอนโดกลายเป็นบ้านสักเท่าไหร่ เราว่ามันน่าจะถึงเวลาที่จะต้องเริ่มมองตึกเหล่านี้เป็นคลังที่อยู่อาศัยของเมืองมากขึ้น ผลักดันให้มีความเป็นบ้านมากขึ้น เพราะจากที่วิจัยมาทำให้เราเห็นว่ามันจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนเมืองและการพัฒนาเมืองในภาพรวมได้ดีกว่า ทั้งด้านการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความยั่งยืน
เราว่าความรู้สึกของการอยากให้ลูกมีบ้านเป็นคอนโดก็คงไม่ใช่สิ่งที่หลายๆ คนต้องการสักเท่าไร แต่ในอนาคตถ้าเกิดว่า คอนโดเริ่มมีการออกแบบที่เอื้อให้ครอบครัวอยู่ได้อย่างมีคุณภาพขึ้น ก็จะทำให้มีคนที่มองว่าคอนโดคือที่อยู่อาศัยในระยะยาวมากขึ้น คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ค่อยๆ สร้างความเป็นชุมชน ผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน จนเกิดชุมชนแนวตั้งขึ้นมาได้ แต่ยังไงก็ตาม สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับศาสตร์ของการออกแบบที่สัมพันธ์กับการทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วย ซึ่งเรามองว่าตอนนี้คอนโดในประเทศไทยหลายที่อาจจะยังไม่ได้นำศาสตร์นี้มาใช้เท่าที่ควร การออกแบบมวลอาคาร ช่องเปิด ทิศทางการวางอาคารส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมเชิงสังคมของมนุษย์ หลายที่อาจจะโฆษณาเรื่องมีความเป็นส่วนตัวสูงมากกว่าจะโฆษณาว่าเราสามารถทำความรู้จักเพื่อนบ้านได้ อยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจ
ตัวอย่างหนึ่งที่บอกเราว่าการมีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในสังคมที่อยู่อาศัยแนวตั้งมีความจำเป็นต่อสุขภาพจิต คือ ภาพที่เห็นในประเทศอิตาลีที่มีผู้คนมายืนตรงระเบียง แล้วก็ออกมาร้องเพลงกับเพื่อนบ้านในช่วงกักตัว ในภาพเป็นการอยู่อาศัยในตึกสูงเหมือนกัน แต่ด้วยการออกแบบอาคาร การออกแบบช่องเปิดที่เหมาะสม ทำให้คนสามารถมี connection อะไรบางอย่างกับเพื่อนบ้านได้ แต่เราจะนึกภาพนั้นไม่ค่อยออกกับคอนโดในประเทศไทย เพราะว่าระเบียงหน้าต่างของประเทศไทยจะหันหน้าออกหมดไม่ไปประชันกับใคร เน้นไม่ให้มีใครมองเห็นอีกห้อง ซึ่งเราว่าถ้าเกิดมีการปรับเรื่องการออกแบบตรงนี้ไปพร้อมกันกับการทำให้คนอยากอาศัยอยู่ในระยะยาวมากขึ้น ก็น่าจะทำให้คอนโดกลายเป็นที่อยู่อาศัยที่ค่อยๆ กลายเป็นบ้านของใครหลายคนได้
แม้คอนโดจะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นส่วนตัวก็จริง แต่มนุษย์ก็ต้องการการมีสังคม หลังจากนี้คอนโดก็อาจจะพัฒนาให้มีความเป็นส่วนตัวแต่ก็มีชุมชนอยู่ในนั้นได้ด้วย?
ใช่ๆ เรามองว่าเป็นแบบนั้นนะ คือความเป็นส่วนตัวกับความเป็นชุมชนจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน คือ อย่างคำพูดที่เขาใช้ตอนนี้เยอะๆ คือคำว่า social distancing กับอีกกลุ่มหนึ่งก็บอกว่าควรใช้คำว่า physical distancing เรามองว่า คำว่า physical distancing มันจำเป็น แล้วคอนโดก็ตอบโจทย์นี้อยู่แล้ว คือเข้าห้องไปก็ไม่ต้องไปเจอใครอยู่แล้ว แต่ว่า social distancing มันไม่ต้องมี distancing ในเชิง Social ก็ได้ คือทุกคนยังมีปฏิสัมพันธ์กันได้ โดยที่ไม่ต้องอยู่ใกล้กันก็ได้
เราคิดว่าแค่เรื่องการออกแบบอาคารตอนนี้ยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญในเรื่องนั้นมาก แต่เราว่าอีกหน่อยหลังจากผ่านโควิดไปแล้ว คนอยู่คอนโดหลายๆ คนอาจจะเริ่มมองว่า การอยู่ในห้องอย่างเดียวทำให้รู้สึกเหงา เกิดความเครียด เกิดความ depress ที่ไม่ได้เจอใครจนต้องจัดปาร์ตี้ผ่าน zoom กับเพื่อน เราว่าพอมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คนที่ออกแบบอสังหาริมทรัพย์ ในอนาคตก็อาจจะมีแนวโน้มต้องออกแบบให้มีความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนบ้านอยู่ใกล้ๆ เราได้ด้วย เพื่อลดความเครียด ความเหงาของคนที่ต้องอยู่ในห้องคนเดียวตลอดเวลาลงไป โดยที่เขาไม่ต้องออกไปไหนก็ได้
คอนโดมีขนาดห้องเล็กมากและเหมาะกับการอยู่คนเดียวหรือเป็นคู่ ในอนาคตคิดว่า การมีครอบครัวเล็กๆ อาศัยอยู่ในคอนโดเพิ่มมากขึ้นจะเป็นไปได้ไหม
ขึ้นอยู่กับฝั่งที่สร้างคอนโดด้วย ตามกฎหมาย คอนโดจะไม่เล็กไปกว่า 20 ตารางเมตรแน่นอนตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนกฎหมาย ซึ่งถ้าจะบอกว่าอยู่กันสามคนก็สามารถอยู่ได้ แต่คงไม่สะดวกสบายขนาดนั้น ความต้องการอาจมี แต่ถ้าฝั่งอุปสงค์ไม่สร้างให้มันอาจส่งผลไปถึงการตัดสินใจว่าเราจะมีครอบครัวแบบไหนดีที่จะทำให้พอหาที่อยู่อาศัยที่มีในตลาดได้
จากที่ศึกษาในงานวิจัย แนวโน้มของจำนวนครอบครัวเดี่ยวมีลดลง แต่ครอบครัวขยายมีเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึง เราอาจจะต้องการห้องที่ใหญ่ขึ้นสำหรับครอบครัวขยาย แต่ว่าการที่ห้องเล็กลง ตัวห้องเองไม่ตอบโจทย์ ไม่เอื้อให้คนมาอยู่เพิ่ม ถ้าอุปสงค์มันบอกว่ามีครอบครัวจำนวนมากที่ยังไงก็ต้องการคอนโดที่ครอบครัวอยู่ได้ แล้วส่งเสียงไปถึงฝั่งอุปทานที่เป็น developer ได้ อาจทำให้เกิดการพัฒนาคอนโดสำหรับครอบครัวในราคาที่เข้าถึงได้ออกสู่ตลาดมากขึ้น ในกรณีนี้ก็จะมีครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในคอนโดมากขึ้น แต่ส่วนตัวมองว่าคอนโดไม่ใช่อะไรที่อยู่แล้วสะดวกสบายสำหรับครอบครัว เพราะขนาดห้อง 20 – 35 ตารางเมตร อยู่ได้อย่างมาก 3 คนก็ค่อนข้างอึดอัดแล้ว
อยากให้อาจารย์ลองอธิบาย ถึงการมีคอนโดผุดขึ้นมากมายในเมือง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
การมีคอนโดมากมายในเมือง จริงๆ แล้วคือปรากฏการณ์ที่มาพร้อมกับ urbanization ของทั่วโลก พอเริ่มมีการวางแผนเมือง แล้วเทคโนโลยีเอื้อให้มนุษย์สร้างอาคารสูงขึ้นมาได้ เราก็พยายามสร้างให้มันสูงขึ้น เพื่อที่จะใช้ที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า อันนี้เป็นสิ่งแรกที่สะท้อน
นอกจากนี้ปรากฏการณ์นี้ยังบอกเราว่า เมืองมีการใช้ประโยชน์ที่ดินคุ้มค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการสะท้อนผลในเชิงบวก เราลงทุนไปกับการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน สร้างรถไฟฟ้าขึ้นมา การมีคอนโดเกิดขึ้น ตามรถไฟฟ้าก็แสดงว่าเงินที่เราลงทุนสร้างรถไฟฟ้าไปถือว่าคุ้มค่า เพราะมีคนมาใช้งานเยอะ
แต่สิ่งที่ส่วนตัวมองว่าควรคิดเกี่ยวกับปรากฏการณ์คอนโดผุดในเมืองไทย คือ ถ้าเปรียบเทียบกับในต่างประเทศบริเวณรอบๆ สถานีรถไฟฟ้า ส่วนใหญ่มักจะเป็นอาคารสำนักงาน ศูนย์กลางธุรกิจ ย่านการค้า ร้านอาหารหรือเป็นพาณิชยกรรมต่างๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เป็นการใช้งานอาคารที่สร้างมูลค่าได้ค่อนข้างสูงซึ่งเป็นเรื่องปกติตามหลักการการวางแผนและออกแบบเมือง แต่น่าสงสัยที่ว่า ทำไมบริเวณรอบๆ สถานีรถไฟฟ้าของไทยถึงเต็มไปด้วยคอนโดที่เป็นที่อยู่อาศัยแทนที่จะเป็นตึกออฟฟิศหรือพาณิชยกรรม

เราคิดว่ามันสะท้อนออกมาให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว demand ของออฟฟิศไม่ได้มาก แต่ demand ของคอนโดมีมากกว่า แต่ว่ามันเป็น demand ของการที่เรามองว่าคอนโดเป็นทรัพย์สินหรือการลงทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องแยกกับการมองว่าเป็น demand ของที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมืองจริงๆ ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดคอนโดขึ้นจำนวนมากบริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้า แล้วเหตุที่ถูกมองว่าเป็นทรัพย์สินที่สามารถสร้างมูลค่าสูงได้ของคนกลุ่มที่เลือกลงทุนในคอนโด ก็เพราะว่ามันเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์โลกาภิวัฒน์ของอสังหาริมทรัพย์
หมายความว่า คนชาติไหนก็สามารถเป็นเจ้าของคอนโดในเมืองไทยได้ ตามกฎหมายต่างชาติเป็นเจ้าของได้สูงถึง 49% ของแต่ละโครงการ แต่ในความเป็นจริงบางคอนโดอาจจะมีคนจีนเป็นเจ้าของเกินครึ่งหนึ่งไปแล้ว สิ่งนี้บอกเราต่อไปอีกว่าคอนโดมันมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ ไม่สามารถเข้ามาอยู่อาศัยในนี้ได้
เราว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างเด่นชัดและเป็นปัญหาของกรุงเทพฯ ตอนนี้ มันเห็นชัดเจนเลยว่าความต้องการซื้อหรือสต๊อกของคอนโดในฐานะเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่คนซื้อขายเพื่อเก็งราคากันไปเรื่อยๆ กับสต๊อกของที่อยู่อาศัยที่คนเมืองต้องการซื้อเพื่ออยู่และใช้ชีวิตทำงานในเมือง มันถูกแยกขาดจากกัน จำนวนคอนโดกับจำนวนความต้องการที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้ยังไม่มีความสมดุลย์ และปรากฏการณ์นี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขมันจะทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ในโครงการวิจัย ‘คนเมือง 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย’ หัวข้อ ‘การอยู่อาศัย’ มีพูดถึงเรื่องการเช่าที่อยู่อาศัยว่า จะเป็นเรื่องปกติของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น
เชื่อมโยงมาจากคำถามที่แล้ว คือ พอที่ดินในเมืองมีจำกัด แล้วเกิดโลกาภิวัฒน์ของอสังหาริมทรัพย์ ราคาที่ดินก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นวงจรอย่างนี้ ดันให้ราคาคอนโดสูงขึ้นตาม การเช่าเลยเกิดขึ้นเพราะว่าเราซื้อไม่ได้ก็เลยต้องเช่า อันนี้เป็นเหตุผลใหญ่ๆ ที่ทำให้คนทำงานในเมืองหลายคนเลือกที่จะเช่า
ข้อดีของการเช่าคือถูกกว่าซื้อ บางคนคำนวนแล้วว่า สมมติว่าต้องอยู่ในเมือง 20 ปี จ่ายค่าเช่าเดือนละ 12,000 คุ้มกว่าการซื้อคอนโดราคาหลายๆ ล้านแน่นอน และอีกอย่างหนึ่ง ด้วยความที่สภาพเมืองมันอาจจะไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยระยะยาว หรือ ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกว่าอยากอยู่ อยู่ในแบบที่ต่อให้เกษียณแล้วก็ยังอยากอยู่ต่อ การเช่าจึงถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่อิสระคล่องตัวกว่า เพราะสามารถย้ายไปเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ เมื่อคอนโดที่เช่าอยู่เริ่มเสื่อมสภาพและเก่าลง เราสามารถย้ายไปที่ที่เพิ่งสร้างเสร็จเพื่ออยู่กับความใหม่กว่าได้ หรือสมมติว่าห้องที่อยู่เดิมนั้นเล็ก แล้วเราเริ่มมีรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ย้ายไปอยู่ห้องที่ใหญ่กว่าได้สะดวก แต่หากเราซื้อก็จะต้องมาคิดว่าจะขายต่อยังไงดี การตัดสินใจทุกอย่างมันหนักกว่า
ข้อเสียของการเช่าก็ คือ การที่คนเช่าไปเรื่อยๆ ในราคาที่สูงจะทำให้ไม่มีหลักทรัพย์เป็นของตัวเอง ความมั่นคงอาจน้อย และอาจส่งผลเชิงลบต่อการพัฒนาเมืองในภาพรวม
หลัง Covid-19 ผ่านพ้นไป การเช่าก็ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ แน่นอนอยู่แล้ว?
จากงานวิจัยทำให้เราเห็นว่า แนวโน้มการเช่าที่อยู่อาศัยในเมืองจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ถึงแม้ในช่วงโควิดราคาอสังหาริมทรัพย์อาจจะตกลงมาบ้างหรืออาจจะตกเยอะ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นราคาที่มนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานในเมืองทั่วไปจะมีกำลังซื้อได้ คนกลุ่มนี้ก็ยังคงต้องเช่าต่อไป
ไม่แน่ว่าโควิดก็อาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่ทำให้แนวโน้มการเช่าลดลงก็ได้ แต่อย่างที่ตอบไปในคำถามแรกๆ ว่า พอมีโควิดเข้ามาและหลังโควิดผ่านไป การอยู่ในคอนโดจะเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับการจัดการกับเรื่องการเดินทางและเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้คนนิยมอยู่คอนโด ถ้าแนวโน้มคนจะยังอยู่คอนโดต่อ การเช่าก็คงยังเพิ่มขึ้นเหมือนเดิม
แสดงว่ากรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองชั่วคราว ที่ใครจะมาเช่าทำอะไรก็ได้และเมื่อถึงเวลาก็จากไป?
ขึ้นอยู่กับนโยบาย มาตรการต่างๆ จากภาครัฐ ว่าจะทำให้เมืองนี้น่าอยู่และโอบรับผู้คนได้มากขนาดไหน ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากเอกชนด้วย จริงๆ การเป็นเมืองชั่วคราวก็ดูดีนะ มันมี dynamic มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนของคนที่หลากหลาย แต่ส่วนตัวมองว่าการเป็นเมืองชั่วคราวแบบสุดโต่งไม่น่าจะมีความยั่งยืนขนาดนั้น การสร้างสมดุลระหว่างความเป็นเมืองชั่วคราวกับความเป็นเมืองที่น่าอยู่ไปยาวๆ ให้กรุงเทพฯ น่าจะเป็นโจทย์สำคัญ
กรุงเทพฯ ตอนนี้น่าจะเป็นเมืองชั่วคราวมากพอสมควร อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า เป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ว่าความน่าอยู่ก็สวนทางไปเลยเพราะรั้งอันดับท้ายๆ ของโลก แสดงว่าถ้ามาแป๊บเดียว ชั่วครั้งชั่วคราว เราจะเอ็นจอยไปกับเมืองนี้ได้ แต่ว่าถ้าจะให้อยู่ยาวๆ มันดูต้องดิ้นรนกันพอสมควร กรุงเทพฯ ควรมีนโยบายที่จะทำให้เมืองเป็นเมืองถาวร มีความเป็นบ้านของคนมากยิ่งขึ้น เพราะว่าการเป็นเมืองชั่วคราวสะท้อนว่า นั่นไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่ขนาดนั้น ไม่ได้ทำให้คนที่เข้ามาอยู่เกิด sense of belonging หรือรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมือง รู้สึกว่าเป็นเจ้าของเมืองนี้ ย่านนี้ ซอยนี้ และไม่ต้องรู้สึกว่าต้องดูแลอะไรให้ดีขึ้น เพราะว่าวันหนึ่งที่เลือกได้ก็พร้อมจะย้ายออกไป

พฤติกรรมการดูแลสภาพแวดล้อมรอบตัวอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คนเมืองคนนั้นมองว่าตัวเองจะอยู่ในเมืองนั้นยาวๆ ธรรมชาติของคนเราอย่างหนึ่งคือ ถ้าเราจะตั้งรกรากที่ไหนยาวๆ เราจะเริ่มทำให้สภาพแวดล้อมตรงนั้นน่าอยู่ขึ้นเรื่อยๆ เราจะลงทุนกับมันมากขึ้น แต่ถ้าตราบใดเรายังคิดว่า ถ้าฉันมีเงินซื้อบ้านเมื่อไรฉันก็จะออกจากเมืองนี้ไปให้ได้ มันก็จะทำให้เราไม่ได้สนใจที่จะดูแลข้างบ้าน ไม่ได้สนใจจะรู้จัก ผูกมิตรกับเพื่อนบ้านมากมายขนาดนั้น ยิ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองชั่วคราวเท่าไหร่ ผู้คนก็จะยิ่งปล่อยปละละเลยสิ่งที่เป็นสภาพแวดล้อมของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น
มันคล้ายๆ กับในช่วงโควิดที่พอคนใช้เวลาอยู่บ้านนานขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนจะเริ่มทำให้บ้านสวย เริ่มซื้อต้นไม้ เริ่มแต่งบ้าน จากที่แทบไม่เคยจะสนใจบ้านมาก่อน แต่พอเราต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้าน เกือบจะ 24 ชั่วโมงต่อวัน เราก็จะเริ่มทำให้สภาพแวดล้อมมันดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นพฤติกรรมทั่วไปของมนุษย์
เมืองกรุงเทพฯ ก็เหมือนกันเลย แค่ขยายไปในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ถ้าเราต้องอยู่ตรงไหนนานๆ เราก็จะพยายามอยากทำให้ตรงนั้นดีขึ้น แต่ถ้าเราไม่คิดจะอยู่นาน เราก็จะไม่คิดลงทุนอะไรมาก แล้วการที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองชั่วคราว ก็คือการที่เราไม่ได้คิดจะลงทุนอะไรตรงนั้นมาก ไม่ใช่แค่ระดับปัจเจกแต่มันเป็นทั้งระบบที่ทำให้เมืองเป็นแบบนี้ กรุงเทพฯ จึงถูกปล่อยปละละเลยไปเรื่อยๆ คนไม่คิดว่าจะต้องทำให้รถหายติด ทำให้คลองหายเหม็น ทำให้ซอยในบ้านมีต้นไม้สีเขียวเยอะขึ้น เพราะทุกคนมองว่าอยู่แป๊บเดียวเดี๋ยวก็ไป หนีได้ก็จะหนี มันก็จะไม่เกิดการผลักดันเมืองให้ไปสู่ทางที่ดีขึ้น
ในโครงการวิจัย ‘คนเมือง 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย’ หัวข้อ ‘การอยู่อาศัย’ มีเนื้อหาที่บอกว่า ‘การทบทวนนโยบายและกฏหมายจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการเช่าและการมีบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น’ เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้นในเมื่อเมืองที่อยู่ไม่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เราว่าการที่เมืองไม่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตดีที่ ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการเช่าหรือการมีบ้าน แต่ว่าการสนับสนุนการเช่าหรือการมีบ้านเป็นต้นตอของการนำไปสู่ sense of belonging ที่จะส่งต่อให้เกิดความพยายามทำให้เมืองนี้มันดีขึ้นต่อไป น่าจะเป็นลักษณะนั้นมากกว่า
เพราะฉะนั้นเราว่าสิ่งที่ต้องมาก่อนคือ กฏหมายและนโยบายที่สามารถสนับสนุนให้คนสามารถเช่าที่อยู่อาศัยได้ในระยะยาวอย่างมั่นคงหรือว่ามีบ้านได้ เป็นการบ่งบอกว่ารัฐใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของคนที่เป็นแรงขับเคลื่อนเมืองมากน้อยขนาดไหน ถ้าเขาใส่ใจมาก คนก็จะเช่าได้ ไม่โดนเอาเปรียบ มีบ้าน มีที่อยู่อาศัย มีหลักแหล่งที่มั่นคง ไม่ได้ต้องดิ้นรนกันเองมากเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
ซึ่งเป็นพื้นฐานของคุณภาพชีวิตโดยทั่วไป ทำให้เขามีแรงไปทำงานอย่างอื่น โดยที่ไม่ต้องมาพะวงว่าจะไม่มีบ้านอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ก็จะค่อนข้างทำให้คนเมืองมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นไปเรื่อยๆ และจะนำไปสู่การค่อยๆ พยายามทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นต่อไป
อีกเรื่องหนึ่งในโครงการวิจัย ‘คนเมือง 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย’ ในหัวข้อ ‘การอยู่อาศัย’ ที่บอกว่า ‘นโยบายที่รัฐควรทำเพื่อส่งเสริมการอยู่อาศัยแนวตั้งของคนทุกกลุ่ม เพื่อหาแนวทางลดความเหลื่อมล้ำในการอยู่อาศัยแนวตั้งของผู้มีรายได้น้อย’ นโยบายรัฐดังกล่าวควรมีรูปแบบเป็นอย่างไร
จากงานวิจัย จะมีเทรนด์หนึ่งที่เราทำ คือ พบว่าการอยู่อาศัยแนวตั้งของคนที่มีรายได้น้อยนั้นมีแนวโน้มที่จะอยู่ไกลจากสาธารณูปการออกไปเรื่อยๆ เพราะว่าที่ดินที่รัฐสามารถหาได้มันจะไกลออกไป โยบายที่จะเป็นไปได้ เราจึงมองว่ามันมีสี่ทาง
ทางแรกก็คือ ถ้าเขาอยู่ไกลสาธารณูปการ ก็ไปสร้างสาธารณูปการตรงนั้น เขาอยู่ไกลโรงพยาบาล ก็ไปสร้างโรงพยาบาลตรงนั้น อันนี้เป็นนโยบายที่ตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ จะเกิดความไม่คุ้มค่าในการลงทุนของรัฐแน่ๆ ถ้าจะไปสร้างโรงพยาบาลที่ชานเมือง ทั้งๆ ที่ในเมืองมีโรงพยาบาลอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ก็ต้องไปชั่งน้ำหนักเรื่องความคุ้มทุนต่างๆ แน่นอนว่าถ้าตรงไหนมีชุมชนที่โตมาก มีความต้องการสูงและคุ้มค่าต่อการลงทุนของสาธารณูปการก็ควรจะทำ
ส่วนทางเลือกที่สองก็คือ จะทำยังไงให้คนกลุ่มที่อยู่ไกลจากสาธารณูปการ สามารถไปใช้บริการพวกนี้ได้อย่างสะดวกและประหยัด เรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับการจัดการระบบขนส่งมวลชน ว่าจะทำยังไงให้คนชานเมืองเดินทางเข้ามาในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รถไฟฟ้าก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ เพราะในหลายๆ ประเทศเขาก็แก้ปัญหาตรงจุดนี้ ในเมื่อผู้มีรายได้น้อยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ชานเมืองแล้ว จะทำยังไงได้บ้าง ก็ต้องจัดการด้วยระบบคมนาคมที่ทำให้คนเดินทางเข้ามาในเมืองได้ง่ายๆ
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเรามองว่าการเข้าถึงสาธารณูปการด้วยวิธีที่สองที่จะทำให้คนเดินทางเข้ามาใช้สาธารณูปการสะดวก พวกนี้เชื่อมโยงถึงเรื่องการทำงานด้วย คล้ายๆ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะผู้คนที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ งานเขาจะอยู่ในเมือง ยังไงก็ต้องเดินทางเข้าเมืองอยู่แล้ว ถ้าเข้าถึงเมืองได้สะดวก ก็หมายถึงเข้าถึงสาธารณูปการได้สะดวก เข้าถึงแหล่งงานได้สะดวกไปพร้อมๆ กัน

อีกวิธีหนึ่งที่เป็นนโยบายที่จะสามารถทำได้ ก็คือ ทำให้เขาอยู่ในเมืองต่อไปได้ ไม่ต้องไปชานเมือง วิธีนี้ค่อนข้างสำคัญเมื่อต้องมีการย้ายชุมชนออกจากที่เดิมเพื่อการพัฒนาใหม่ สมมติว่ามีชุมชนที่ไปตั้งอยู่ในที่ที่ไม่มีเจ้าของ แต่ว่าอยู่กลางเมือง ไม่รู้จะจัดการยังไงดี สิ่งที่น่าจะเป็นนโยบายที่เราว่าเวิร์กกับคนกลุ่มนี้ก็คือทำให้เขายังอยู่กลางเมืองได้ อาจจะพัฒนาตรงนั้นใหม่ให้เป็นอาคารที่สูงขึ้นและมีส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนเดิม แต่อย่างไรก็ตาม อาคารสูงก็ต้องออกแบบให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มนั้น คือถ้าเขามีครอบครัว ห้องใหม่ก็ไม่ควรจะเล็กมาก ทำให้เขายังคงเดินไปทำงาน ขี่จักรยานไปทำงานได้เหมือนเดิม และชุมชนก็ยังเหมือนเดิม เป็นนโยบายที่ค่อนข้างสำคัญที่จะทำให้เราไม่ต้องไปแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง
จริงๆ ในญี่ปุ่นมีนโยบายที่อาจจะไม่เหมือนกันโดยตรง แต่คิดว่าน่าจะเอามาปรับใช้ได้ ก็คือ หากจะมีการเปลี่ยนชุมชนเดิมแล้ว พัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นตึกสูงขึ้นมา สิ่งที่เขาทำก็คือ ไม่ใช่แค่นายทุนซื้อที่แล้วก็ให้คนเคยได้อยู่ที่ดินนั้นออกไป แต่ว่าจะให้คนที่เป็นเจ้าของที่ตรงนั้น ได้สิทธิสามารถอยู่อาศัยในคอนโดที่สร้างขึ้นใหม่บนที่ดินตรงนั้นได้ และบางรายสามารถเลือกได้ก่อนเลยว่าอยากอยู่ชั้นไหน
สิ่งที่เป็นผลตามมาจากการใช้วิธีการนี้คือ คนที่เคยอยู่ในชุมชนนั้นมาก่อนจะเป็นคนที่เริ่มสร้างความสัมพันธ์ต่างๆ ในชุมชนแนวตั้งที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพราะมีความผูกพันธ์กับละแวกนั้นและมักมีความตั้งใจที่ดีที่จะทำให้ชุมชนของตนน่าอยู่ เขาก็อาจจะได้เป็นประธานคณะกรรมการคอนโด ทำหน้าที่ดูแลละแวกที่เขาอยู่ให้ดีเหมือนเดิมและดีกว่าเดิม แนวทางนี้อาจเอามาปรับใช้กับประเทศไทยได้ แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน
สุดท้ายคือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยที่ต้องอยู่ห้องที่เล็กมากในเมือง โดยการพัฒนาคุณภาพพื้นที่นอกบ้าน การพัฒนาพื้นที่สาธารณะต่างๆ พื้นที่ข้างนอกที่มีคุณภาพดีเหล่านี้ ก็จะช่วยให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้มากขึ้น
จะเห็นได้ว่ามีรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในเส้นทางสายชานเมือง แสดงว่าคอนโดจะมีมากขึ้น และการกระจายแหล่งงานจะมีมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้ทิศทางของการอยู่อาศัยในเมืองก็จะมีการกระจายออกไปนอกเมืองมากขึ้นด้วยหรือไม่
จริงๆ เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันได้พอสมควร แน่นอนเราเห็นชัดว่าชานเมืองมีคอนโดเยอะขึ้น เหตุผลหนึ่งเพราะว่าคอนโดในเมืองแพงเกินไป คนทำงานบางส่วนเลยเลือกไปอยู่คอนโดชานเมือง
แต่ว่างานจะตามไปด้วยมากน้อยขนาดไหนก็เป็นสิ่งที่มีการดีเบตกันค่อนข้างเยอะ แน่นอนว่าพอมีคอนโดเกิดขึ้นก็จะมีร้านอาหาร ร้านขายสินค้าสำหรับคนที่ใช้ชีวิตในคอนโดก็จริง แต่เรามองว่ากว่ามันจะฟอร์มตัวใหญ่ขึ้นจนเป็นสิ่งที่เรียกว่าแหล่งงานได้คงใช้เวลานานมากหรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย แล้วถ้าถามว่าจะเป็นแหล่งงานที่มีแรงดึงดูดมากพอที่จะชนะแหล่งงานกลางเมืองได้เลยหรือเปล่า ก็คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ยาก
เพราะยังไงกลางเมืองก็มีระบบนิเวศในการทำธุรกิจ การประกอบอาชีพที่สมบูรณ์กว่า หลากหลายกว่า จึงคิดว่าแหล่งงานใหญ่ก็จะยังอยู่กลางเมืองกรุงเทพฯ เช่นในปัจจุบัน
ส่วนทิศทางการอยู่อาศัยจะกระจายออกไปนอกเมืองหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่า ราคาที่ดินและอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ จะโตเร็วแค่ไหน และการพัฒนาระบบคมนาคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าราคาที่อยู่อาศัยในเมืองยังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ แบบในปัจจุบัน ก็มีโอกาสที่คนจะกระจายไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น
เรื่องสุขภาพของคนเมืองในคอนโด หรือว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ต้องเจอ หลัง Covid-19 ผ่านไป จะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
หลายๆ คนบอกว่าโควิดไม่ได้ทำให้ระบบอะไรพัง แต่มันเป็นเหมือนเป็นสิ่งที่เปิดแผลของระบบที่พังอยู่แล้วให้เห็นชัดขึ้น เราว่าโควิดไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตก่อนหน้ากับหลังโควิดเปลี่ยนไปสำหรับการอาศัยในคอนโด แต่เราทำให้เราเห็นชัดขึ้นว่าคุณภาพของห้องคอนโดมันดีหรือไม่ดีต่อการอยู่อาศัยขนาดไหน วิกฤตนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ใครหลายๆ คนได้ทดลองอยู่ในคอนโดหนึ่งสัปดาห์ติดกันโดยไม่ได้ออกไปไหนเลย นอกจากเดินไปรับของจากบริการเดลิเวอรี่ หลายคนอาจจะเพิ่งรู้ตัวว่าคอนโดตัวเองอยู่แล้วอึดอัดเพราะการระบายอากาศไม่ดี หรืออาจจะพึ่งรู้ว่าห้องที่อยู่มันตัดขาดจากโลกภายนอกเหลือเกิน
เรื่องสุขภาพคนน่าจะคิดมากขึ้นว่าที่อยู่อาศัยที่มีในปัจจุบันสามารถส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเขาได้มากขนาดไหน คอนโดในปัจจุบันอาจมีที่ออกกำลังกาย มีสระว่ายน้ำ แต่ว่าก็อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบปิด หลายคนอาจรู้สึกว่าอยู่คนเดียวในห้อง ไม่เจอใคร มีความเป็นส่วนตัวดี แต่พอมันมีโควิดเกิดขึ้นมาแล้วเราต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมงในห้อง แล้วฟิตเนสกับสระว่ายน้ำก็ใช้ไม่ได้ เราว่าคนอาจจะเริ่มเห็นแล้วว่า ห้องในคอนโดจริงๆ ไม่ควรจะปิดจากโลกภายนอกมากขนาดนั้น ไม่ควรมองเห็นแค่ท้องฟ้ากับวิวไกลๆ คนอาจจะโหยหาอะไรที่เป็น outdoor มากขึ้น เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ทางสังคมส่งผลต่อสุขภาพมากขึ้น
อีกอย่างหนึ่งคือ เราจะมองเห็นความสำคัญของอากาศที่สะอาดในบ้านมากขึ้น คนน่าจะกังวลมากขึ้นเมื่อต้องอยู่ในระบบปิดที่ไม่ระบายอากาศ ในอนาคตคนอาจจะเลือกคอนโดจากการไปเปิดหน้าต่างทุกบานแล้วดูว่ามีลมถ่ายเทมั้ย ไม่เปิดแอร์แต่เปิดรับอากาศข้างนอกเป็นหลักจะร้อนมั้ย นอกจากนี้ ผู้คนอาจจะมองเห็นว่าห้างอาจจะไม่ใช่พื้นที่สาธารณะที่น่าไปใช้งานเท่าที่ผ่านมา การเดินห้างอาจน่ากังวลกว่าการที่เราได้ไปวิ่งในส่วนสาธารณะ สิ่งนี้ก็อาจทำให้คนเริ่มตระหนักว่าจริงๆ แล้วเมืองอาจจะต้องมีพื้นที่พักผ่อนดีๆ ที่เป็น open-air เป็นพื้นที่ข้างนอกมากขึ้น
เรื่องสุขภาพจิตเองก็เช่นกัน การอยู่ในห้องที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมปิดเป็นระยะเวลานานสามารถสร้างความเครียดให้กับคนได้ เป็นเรื่องสุขภาพที่คนทั่วไปจะเริ่มเห็นชัดยิ่งขึ้น ก็จะเริ่มมองว่าคอนโดอาจจะไม่เหมาะ ถ้าในอนาคตต้องหาคอนโดใหม่ ก็อาจจะหาคอนโดที่มันมีคอนเน็กชั่นกับถนนกับห้องฝั่งตรงข้าม ห้องที่อยู่ในชั้นเตี้ยอาจได้รับความนิยมมากขึ้นก็เป็นไปได้

อีกเรื่องที่ทำให้เราเห็นได้ชัดจากโควิด คือการที่เด็กต้องเล่นและโตในคอนโดออกไปข้างนอกไม่ได้ น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ดีกับสุขภาพของลูกสักเท่าไหร่ ในอนาคต คนอาจเลือกคอนโดที่ออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขภาพของเด็กมากขึ้น เป็นไปได้ว่าในอนาคต เด็กจะมีโอกาสได้ออกนอกบ้าน ออกนอกคอนโดน้อยลงกว่าเดิม คอนโดน่าจะจำเป็นต้องมีที่ให้แม่ทำอาหารให้ลูกกินได้ มีที่ที่ให้ลูกไปวิ่งเล่นกลางสนามหญ้า กลางดินกลางทรายได้อย่างปลอดภัย โดยที่เด็กไม่ต้องอุดอู้อยู่ในบ้าน เราว่าคนจะเริ่มมองเห็นความสำคัญกับการออกแบบคอนโดเพื่อสมาชิกครอครัวตัวน้อยเหล่านี้มากขึ้น เพราะคงไม่มีพ่อแม่ที่ซื้อคอนโดแล้วอยากเห็นลูกนั่งซึมๆ อยู่ในห้องแอร์ เล่นไอแพด กินขนมกรุบกรอบไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
ในอนาคต ถ้าคนจะเลือกที่อยู่อาศัย น่าจะต้องมีปัจจัยเรื่องเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ มีตัวอย่างหนึ่ง จากประเทศสเปน ที่เมื่อเริ่มปลดล็อกดาวน์เขาให้เด็กออกมาเล่นนอกบ้านได้ก่อนสิ่งใดเลย เพราะเขามองว่าเด็กเป็นกลุ่มสำคัญที่ควรจะมีสุขภาพที่ดี และควรจะถูกปลดปล่อยจากห้องเล็กๆ เพราะการให้เด็กอยู่ในพื้นที่ปิด อยู่ในบ้านตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อพัฒนาการและการเติบโตของเด็ก
อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนแก่ เราว่าคนแก่อาจจะเป็นคนกลุ่มที่ลำบากที่สุดจากโควิด เพราะว่าเขาเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ก็ต้องอยู่ในบ้านให้ได้มากที่สุด เดิมทีผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านก็จะมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นซึมเศร้า เหงา โดดเดี่ยว ค่อนข้างสูง พอมันเกิดสถานการณ์ขึ้น สมาชิกในครอบครัวอื่นๆ ก็น่าจะเริ่มได้รับประสบการณ์เดียวกัน แล้วก็ได้ทำความเข้าใจสุขภาวะ สุขภาพจิตของผู้อยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกันได้มากขึ้น เริ่มเห็นใจพวกเขามากยิ่งขึ้น ซึ่งการให้อยู่ที่บ้าน สำหรับพวกเขามันอาจไม่โอเคที่ต้องถูกกักอยู่ในห้อง 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นคนก็อาจจะเริ่มมองว่า อาจจะดีถ้าในอนาคตคนแก่ที่อยู่ในบ้าน สามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้บ้างในบางวัน มีที่ที่ปลอดภัย มีรถเมล์ที่ปลอดภัยให้ขึ้นไปหาเพื่อนได้
ปมด้านสุขภาพที่มีต่อกลุ่มคนต่างๆ ในคอนโดเหล่านี้ ได้โผล่ขึ้นมาให้เห็นชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่จะทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยในอนาคตตอบโจทย์พื้นฐานด้านสุขภาพเหล่านี้ได้ดีขึ้น การมองเห็นปัญหาร่วมกันน่าจะทำให้เราทุกคนพยายามช่วยกันหาทางออกให้กับมันมากขึ้น
ตอนนี้อาจารย์อยู่บ้านหรืออยู่คอนโด
ตอนนี้ work from home ค่ะ กลับมาสอนออนไลน์ จริงๆ กลับมาอยู่บ้านทำให้รู้เลยว่าตอนอยู่คอนโดคุณภาพชีวิตไม่ค่อยโอเคเท่าไร การอยู่คอนโด อย่างแรกเลยคือค่าครองชีพสูง เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว อยู่คอนโดเราทำอาหารไม่ได้ ค่าครองชีพก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก แล้วเราก็รู้สึกว่าไม่มี connection กับใครเลย พอเดินผ่านพี่ยามก็ขึ้นลิฟต์ไปแล้ว ถ้าไม่บังเอิญเจอใครในลิฟต์ก็จะรู้สึกเหมือนอยู่ในตึกร้างประมาณนึง คือเราไม่รู้เลยว่าห้องที่เราเดินผ่านห้องไหนมีคนหรือไม่มีคน มันทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยประมาณนึง เคยคิดว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมาแล้วตะโกนขอความช่วยเหลือจะมีใครได้ยินเราไหม
สมัยตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราเลือกอยู่อพาต์เมนต์ชั้นเตี้ยๆ ติดถนน ทุกเช้าเราก็จะเห็นเด็กเดินไปโรงเรียน เห็นคนนั้นคนนี้ เราเลือกอยู่ในซอยชุมชนอยู่อาศัย ถึงจะอยู่คนเดียวก็จริง แต่รู้สึกว่าเรายัง connect กับคนภายนอกได้อยู่ผ่านการมองไปนอกหน้าต่างนี่แหละ แต่คอนโดที่อยู่ตอนนี้มันไม่มีความรู้สึกตรงนั้นเลย ซึ่งเราว่ามันทำให้เกิดความเครียดได้ประมาณนึงเหมือนกัน
การอยู่กรุงเทพฯ สำหรับเราคือมีข้อดีตรงที่เดินทางไปทำงานสะดวก แล้วก็มันมีร้านอร่อยต่างๆ ที่เราชอบ มีสถานที่ที่เราสนใจหลากหลาย ไปมิวเซียม ไปดูอิเวนต์ต่างๆ ในเมืองมันก็ทำได้ง่าย แต่หากเรามองเฉพาะที่ความเป็นบ้าน มันไม่ค่อยน่าอยู่เลย ถ้าเมื่อไหร่มหาวิทยาลัยเปิดแล้วมี work from home สองวัน ไปมหาวิทยาลัยสามวัน ดีไม่ดีเราก็อาจจะเลือกขับรถไปแทน เพราะเรารู้สึกว่าคุณภาพชีวิตตอนที่อยู่บ้านมันดีกว่ามากจริงๆ