25/03/2022
Life
‘พลเมืองส่งเสียงให้รัฐได้ยินได้’ ผศ.ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ กับสวนเจริญประเทศ พื้นที่สีเขียวกลางเมืองเชียงใหม่จากพลังของประชาชน
ชยากรณ์ กำโชค
เสียงของประชาชนจะส่งไปถึงรัฐบาล และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงไหม? นี่อาจเป็นคำถามที่พลเมืองอย่างเราสงสัยเมื่อต้องเรียกร้องอะไรบางอย่างจากรัฐ และหลายครั้ง เรามักคิดว่าประชาชนคนธรรมดาจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้
แต่การเกิดขึ้นของ ‘สวนเจริญประเทศ’ สวนสาธารณะกลางเมืองแห่งแรกที่เกิดจากพลังประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำกับเราว่าเสียงของประชาชนมีความหมายมากกว่าที่คิด และนำไปสู่ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจนน่าเล่าต่อ
พื้นที่สีเขียวขนาด 9 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวานี้ เกิดขึ้นจากการรวมพลังกันของประชาชนและภาคประชาสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ ที่คัดค้านการนำพื้นที่ไปสร้างเป็นบ้านพัก 900 ยูนิตสำหรับข้าราชการรายได้น้อยของกรมธนารักษ์
สองเหตุผลหลักๆ ที่ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงบนถนนเจริญประเทศคัดค้านคือ ถนนเส้นนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียน 4 แห่งในเชียงใหม่ที่เดิมทีก็มีการจราจรติดขัดมากจนชาวเมืองอยากจะเลี่ยงอยู่แล้ว และ สอง นอกจากจะเป็นชุมชมบ้านเรือนที่อยู่ร่วมกับศาสนสถานของทุกศาสนา ที่ดินนี้คือปอดแห่งสุดท้ายกลางเมืองเชียงใหม่ที่ถ้าเปลี่ยนไปเป็นคอนโดมิเนียม ชาวเมืองก็คงไม่มีสวนที่คอยฟอกอากาศดีๆ ให้อีก
เบื้องหลังกระบวนการต่อสู้เพื่อสวนเจริญประเทศนั้นน่าสนใจยิ่งตรงที่มันคือการทำงานร่วมกันของประชาชนชาวเชียงใหม่ ภาคประชาสังคมกว่า 30 หน่วยงาน รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐบาลเอง เรื่องน่าทึ่งคือกระบวนการตั้งแต่เริ่มเจรจากับภาครัฐ ค้นคว้าข้อมูลเพื่อคัดค้าน ทำกิจกรรมรณรงค์ เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนจนกรมธนารักษ์ยอมยุติโครงการก่อสร้างเกิดขึ้นภายใน 10 วันเท่านั้น สิ่งนี้สะท้อนได้ว่าจิตสำนึกพลเมืองของชาวเชียงใหม่นั้นแข็งแกร่งจนน่าเอาอย่าง
The Urbanis ชวน ผศ.ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยในขณะนั้น ผู้เป็นตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่ทำงานโครงการนี้ มาเล่าให้ฟังถึงกระบวนการรักษาผืนดินกลางเมืองและเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะกลางเมืองของชาวเชียงใหม่ เพื่อหาคำตอบว่าอะไรทำให้เสียงของพลเมืองถูกได้ยิน
ที่มาที่ไปและกระบวนการต่อสู้ของประชาชนชาวเชียงใหม่และภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดสวนเจริญประเทศ เป็นมาอย่างไร
เหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 โดยวันที่ 4 สิงหาคม 2559 กรมธนารักษ์ประกาศผลผู้ชนะประมูลการก่อสร้างบ้านธนารักษ์ประชารักษ์ เดิมพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สีน้ำเงิน ตามกฎหมายคือให้ใช้ประโยชน์สำหรับกิจการภาครัฐเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ เลยเป็นพื้นที่ที่สงวนไว้ไม่มีใครใช้งานอะไร แต่แน่นอนว่ามันเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกรมธนารักษ์อยู่แล้วเพราะอยู่กลางเมืองเลย พอทราบข่าว ประชาชนแถวนั้นก็ตกใจเพราะไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน เราอยู่กันแบบนี้ก็หนาแน่นพอสมควรแล้ว จะมีที่อยู่อาศัยมาอีก 900 ยูนิต ซึ่งหมายถึงอีก 900 ครอบครัว ชุมชนก็ค่อนข้างกังวลใจ แต่การคัดค้านตรงนั้น ทุกคนไม่ได้คัดค้านที่ภาครัฐจะมีสวัสดิการให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่เราคัดค้านการเลือกพื้นที่ ที่ดินในเชียงใหม่ของกรมธนารักษ์มีเยอะแยะที่ไกลจากชุมชน ทำไมต้องมาเลือกตรงนี้ นี่คือเหตุผล
ในฐานะที่อาจารย์เป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนเรยีนาฯ ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก โรงเรียนเรยีนาฯ อยู่ติดกับพื้นที่เลย เราก็ต้องเป็นที่พึ่งให้โรงเรียน บวกกับเราก็เป็นนักวิชาการ เลยตัดสินใจนำเรื่องนี้มาให้กระแสสังคมรับทราบ พอวันที่ 5 สิงหาคม 2559 อาจารย์กับทีมผู้บริหารโรงเรียนและนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนต่างๆ ก็เข้าไปหากรมธนารักษ์ ซึ่งเขาก็ต้องยืนยันในสิ่งที่เขาตัดสินใจแล้ว เป็นโจทย์ยากเหมือนกันที่จะต่อสู้กับภาครัฐ แต่เชื่อว่าภาครัฐก็รับฟัง เพราะยังไม่ได้ลงเสาเข็ม ยังไม่ได้เซ็นสัญญา และที่สำคัญยังไม่ได้ทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตรงนี้เป็นจุดที่เราชี้ให้เห็นได้ว่าต้องประเมินผลกระทบกับคนในชุมชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักก่อน ตอนนั้นกลุ่มที่ต้องดึงมาเลยคือ คนในชุมชนที่เดือดร้อนตรงนั้น ซึ่งไม่มีใครเห็นด้วยกับโครงการเลย ทุกคนบอกว่าเป็นห่วงเด็ก ลูกหลานจะอยู่ยังไง เพราะโรงเรียนตรงนี้ถือเป็นโรงเรียนดังในเชียงใหม่ เราจึงมีผู้ร่วมอุดมการณ์เยอะมากที่เห็นด้วยกับการคัดค้าน
คิดว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ประชาชนและภาคพลเมืองรวมตัวกันคัดค้านโครงการนี้ได้สำเร็จ
Key success ที่สำคัญเลยคือเราต่อสู้ด้วยเหตุผล นำเสนอด้วยความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ไม่ใช้อารมณ์ในการคัดค้าน ข้อเท็จจริงสำคัญมากในการคัดค้านโครงการอะไรกับใคร เราก็หันไปหาเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน เราขอจำนวนนักเรียน มีคนไปนับจำนวนรถยนต์ที่วิ่งผ่านถนนเส้นนี้ในแต่ละช่วงเวลา นำเสนอให้เห็นความเดือดร้อนของนักเรียนที่เป็นลูกหลานคนเชียงใหม่ เรายังได้ความร่วมมือจากหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาลัยเชียงใหม่ (FORRU) นำเครื่องมือวัดค่าตัวเลขต่างๆ เพื่อจะบอกว่าทำไมเราควรเก็บพื้นที่ป่าในเมืองตรงนี้ไว้ให้คนเชียงใหม่ ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ก็ได้เชิญทีมหมอหม่อง (นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์) เข้าไปสำรวจในพื้นที่ว่ามีนกอะไรบ้าง ให้เห็นว่าที่นี่มีทั้งสัตว์ ต้นไม้ อยู่ด้วยกันเป็นระบบนิเวศมานานแล้ว
หลังจากนั้นเราก็เริ่มเปิดเพจเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อเพจเป็นเชิงบวกว่า ‘ร่วมสร้างสรรค์มหัศจรรย์กลางเมือง’ เราพยายามไม่สื่อสารทางลบแต่เบื้องหลังก็คือการคัดค้านนั่นแหละ เราเปิดให้ประชาชนลงรายชื่อด้วย เราได้ชื่อคนเชียงใหม่กว่า 5,000 ชื่อในเวลาแค่ 1-2 วัน ก็โชคดีอีกที่ศิษย์เก่าโรงเรียนต่างๆ ตรงนั้นมีหลายคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ทำงานสื่อมวลชนก็มี สื่อก็ลงมาเล่นในมุมว่าอยากเก็บพื้นที่เหล่านี้ไว้ให้เด็กๆ
ส่วนโลกออฟไลน์ เราพิมพ์ไวนิลเขียนว่าขอผืนป่าเหล่านี้เก็บไว้ให้เด็กๆ แล้วก็ขอแจกบ้านเรือนต่างๆ ให้ช่วยติดป้ายตั้งแต่ต้นจนสุดปลายถนน ทุกคนยินดีที่จะติดป้ายให้หมดเลย อีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจารย์คิดว่าภาพมันสื่อไปคือโรงเรียนชวนเด็กๆ มาวาดป้ายผ้า เขียนว่า ‘ขออากาศดีๆ’ ‘ขอต้นไม้เก็บไว้’ เป็นการสื่อสารเชิงบวก น่ารักมาก และเด็กๆ ก็ออกมาเดินบนถนน ให้สัมภาษณ์ว่าหนูอยากให้เก็บพื้นที่ตรงนี้ไว้ อันนี้เป็นการเคลื่อนไหวในโลกออฟไลน์
สุดท้ายเราก็ไปที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปยื่นจดหมาย ยื่นรายชื่อทั้งหมด ซึ่งภาครัฐก็รับฟังรับเรื่องไว้ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเร็วมากเพียงแค่ภายใน 10 วัน แต่ 10 วันนี้ทุกคนทำงานหนักมากนะ ไม่ได้นอน นั่งค้นคว้าข้อมูล สื่อก็ประโคมข่าวให้เราผ่านทุกช่องทางที่เป็นไปได้ อาจารย์เชื่อว่าเสียงสะท้อนแบบสุภาพ มีเหตุผลของทุกคน รวมทั้งภาพเด็กๆ ที่ชูป้าย ทำให้กรมธนารักษ์ฟังเสียงพวกเรา แล้วพอวันที่ 15 สิงหาคม 2559 กรมธนารักษ์ก็ประกาศยุติโครงการการก่อสร้างตรงนี้
ทำไมชาวเชียงใหม่ถึงตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นสวนสาธารณะกลางเมือง สถานการณ์พื้นที่สีเขียวในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร
ความคิดเราคือถ้าพื้นที่นี้ยังคงไม่ถูกทำอะไร มันก็จะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกรมธนารักษ์อยู่ เวลาทำแผนประจำปี ก็ต้องมาทบทวนว่าพื้นที่ไหนก่อให้เกิดรายได้ แน่นอนว่าพื้นที่นี้แพงที่สุดแล้ว เราก็เลยคิดกันว่าต้องทำให้เกิดอะไรสักอย่างไม่ใช่ปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งขั้นตอนนี้ยากกว่าตอนคัดค้านอีก
โชคดีที่เราทำแบบสำรวจตอนที่คัดค้านด้วย และคนเชียงใหม่แทบจะ 100% เลยตอบว่าอยากให้พื้นที่นี้เป็นสวนสาธารณะ เพราะคนเชียงใหม่ไม่มีสวนสาธารณะกลางเมืองแบบกรุงเทพฯ จะมีก็แค่เล็กๆ อย่างสวนสาธารณะหนองบวกหาด สวนสุขภาพบ้านเด่น ปัจจัยคือในเมืองเชียงใหม่ไม่มีพื้นที่ว่างแล้ว ก็มีผืนเดียวผืนสุดท้าย ถึงแม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนแถวนั้นได้ ก็เลยคิดว่าควรทำเป็นสวนสาธารณะ ขั้นตอนนี้ไม่ง่ายเพราะยังไงพื้นที่นี้ก็ยังเป็นของกรมธนารักษ์ ด้วยความโชคดี กรมธนารักษ์ยอมมอบพื้นที่นี้คืนให้คนเชียงใหม่ เพราะตัวเขาไม่ได้มีงบประมาณการสร้างสวนสาธารณะ ไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์ของเขา ดังนั้นแล้วเราก็มาคิดกันว่าใครจะเป็นต้นเรื่อง ผู้ว่าฯ จังหวัดเชียงใหม่ในตอนนั้นคือ ท่านปวิณ ชำนิประศาสน์ ก็แนะนำให้เราไปเสนอโปรเจกต์กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ (ทสจ.) พันธกิจเขาคือสร้างพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว ซึ่งทาง ทสจ. ก็รับเรื่องการของบประมาณการสร้างสวนสาธารณะให้ แต่เขาเองไม่ได้ตั้งงบประมาณในการออกแบบไว้ ความยากกว่านั้นคือแล้วใครจะเป็นผู้ออกแบบสวน
สุดท้ายอย่างที่บอกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองไม่ใหญ่ เครือข่ายก็รู้จักกันหมด เราเลยต้องระดมทุนเพื่อเขียนแบบสวนก่อน ทางอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย ขณะนั้นท่านเป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็มาช่วยในโครงการนี้ด้วย มันเป็นสวนของคนเชียงใหม่ ต่อสู้มาด้วยพลังคนเชียงใหม่ เราต้องประกวดแบบเพื่อให้คนเชียงใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เชิญสถาปนิก อาจารย์เก่งๆ อย่างอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร มาเป็นกรรมการให้ เรามีคอนเซปต์ว่าในเมื่อเราคัดค้านสิ่งปลูกสร้างในผืนดินนี้ สวนนี้ต้องมีสิ่งปลูกสร้างน้อยที่สุด ต้องคงพื้นที่สีเขียวเยอะที่สุด จนได้แบบที่ดีที่สุดที่กรรมการเห็นชอบคือ บริษัท แปลงกาย จำกัด ซึ่งเขาคิดค่าออกแบบเพียงแค่ 280,000 บาท แต่เงินจำนวนนั้นเราก็ไม่มีอยู่ดี อาจารย์ก็ต้องเป็นคนออกหน้า ประกาศทางโซเชียลมีเดียเลยว่าขอเชิญชวนชาวเชียงใหม่ร่วมกันลงขัน ถ้าอยากเห็นพื้นที่นี้เป็นสวนสาธารณะ ไม่น่าเชื่อว่าแค่ 4 วัน เราได้เงินบริจาคมา 540,000 บาท ทุกคนโอนมาโดยที่ไม่มีคำถามจนเราต้องบอกว่าเรามีเงินเพียงพอแล้วในการออกแบบสวนแห่งนี้ ทางแปลงกายก็ออกแบบมาให้เสร็จและยื่นแบบให้ทสจ. นอกจากนี้ยังนำเงินอีก 100,000 บาทจากที่ประชาชนบริจาคมาเป็นค่าขยายเขตไฟฟ้า และจังหวะดี โชคดีมากที่ได้งบประมาณสร้างมา 14 ล้านบาท ก็ถือว่าเป็นสวนที่สร้างจากเงินคนเชียงใหม่แท้ๆ เลย
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลกับภาคประชาชนในเชียงใหม่ มีการทำงานสอดคล้องกันอย่างไร อย่างกรณีสวนเจริญประเทศ ก็มีกระบวนการที่ต้องทำงานกับหน่วยงานรัฐบาลเยอะเหมือนกัน
ที่เชียงใหม่ เรามีสภาพลเมือง เป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านหรือชุมชนที่จะพูดคุยกัน 1-2 เดือนครั้ง อาจารย์เองก็มีส่วนร่วมเปิดสภาที่ผ่านมา อย่างกรณีต้นยางนาที่เพิ่งล้มที่อำเภอสารภี ก็มีสภาพลเมืองที่คอยพูดคุยเรื่องนี้เหมือนกัน ซึ่งคนเชียงใหม่สามารถขอเปิดสภาพลเมืองได้ เราใช้กลไกตรงนี้ในการรับฟังปัญหา สร้างการพูดคุยกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน อาจารย์เพิ่งมีส่วนร่วมในการประเมินผลสภาพลเมืองไปก็คิดว่าเป็นเวทีที่ดีมากสำหรับคนเชียงใหม่ แต่แน่นอน บางทีเราก็ทราบข้อจำกัดของภาครัฐเหมือนกันว่าเขามักจะติดเรื่องงบประมาณ อะไรที่ไม่ตั้งงบไว้ก็ไม่สามารถโยกย้ายให้ประชาชนได้ แต่ถามว่าเชียงใหม่มีกลไกตรงนี้ไหม ก็มี มีสภาพลเมือง สภาเมืองสีเขียว เขาเชิญภาครัฐมาตลอด แค่ภาครัฐมาเพื่อรับฟังปัญหา ประชาชนก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว การแก้ได้ไม่ได้มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
สวนเจริญประเทศก็มีบริบทการมีส่วนร่วมจากเทศบาลนครเชียงใหม่ เพราะพอสร้างมาแล้ว ความยากขั้นต่อไปคือการบำรุงรักษา จะเห็นว่าพื้นที่สีเขียวหลายแห่งสร้างมาเยอะแยะแล้วก็ถูกทิ้งให้รกร้าง กลายเป็นซากอะไรสักอย่าง ต้นไม้ต้องฟูมฟักรักษาให้ดี แล้วใครจะมารับช่วงต่อ พันธกิจของเทศบาลนครเชียงใหม่คือการดูแลสวนสาธารณะ เทศบาลก็มาช่วยเราว่าเขาเป็นคนรับมอบพื้นที่นี้เองและขอเป็นคนใช้พื้นที่นี้ต่อจาก ทสจ. ได้ยินแล้วก็วางใจได้ว่าสวนจะไม่ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า แต่ก็ยังมีเงินของประชาชนในบัญชีประมาณแสนกว่าบาทที่ระดมทุนเพื่อเขียนแบบสวนเจริญประเทศ ก็ยังเก็บไว้ก่อน หากสวนนี้ต้องการอะไรในอนาคตก็จะใช้ตรงนี้ หรือหากในระยะยาว ประเมินว่าคงไม่ใช้แล้วก็จะบริจาคเข้ามูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์ก็เป็นกรรมการมูลนิธิเพื่อทำโครงการต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควันของเชียงใหม่ เป็นอีกมูลนิธิที่เกิดจากคนเชียงใหม่
อาจารย์ย้ำความสำคัญของภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ค่อนข้างมาก อยากทราบว่าทำไมเชียงใหม่ถึงมีกลุ่มประชาสังคมมากมายหลายกลุ่ม มีปัจจัยอะไรทำให้เกิดขึ้น
คนเชียงใหม่ส่วนใหญ่มีต้นตระกูล วัฒนธรรมอยู่ที่นี่ ไม่ได้ย้ายถิ่นฐานมา ทุกคนเลยมีความรักหวงแหนที่นี่ เชียงใหม่เป็นเมืองสงบ อากาศดี เศรษฐกิจดี มีมหาวิทยาลัย เราอยู่ด้วยความสุขสบายไม่น้อยหน้าคนกรุงเทพฯ เด็กเชียงใหม่เองก็อยากเรียนที่ มช. ไม่อยากย้าย ถ้าเราไม่อยากย้าย เราก็ต้องดูแลบ้านเราไง อาจารย์เองก็เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิดและไม่เคยคิดอยากจะไปอยู่ที่อื่น เชื่อว่าคนเชียงใหม่รักเชียงใหม่ ก็ต้องช่วยกันดูแล ทำเพื่อบ้านตัวเอง ถ้าเราไม่ลุกฮือขึ้นมาใครจะมาช่วยเรา
งานภาคประชาสังคมทั้งหมดที่ทำไม่มีใครได้อะไรนะ พลังกายที่เราต้องเจียดเวลาจากงานของเราไปทำงานประชาสังคมก็เป็นความเสียสละ และไม่ใช่แค่อาจารย์คนเดียว มีคนแบบนี้อีกเยอะแยะมากมายเลยในเชียงใหม่ อย่างมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ไม่มีใครได้อะไรนะ แต่ก็ต้องมาประชุมและต้องออกไปหาเงินทำกิจกรรมอีก ซึ่งพอเราได้คุยกับคนที่มีพลังบวกดีๆ เราก็มีพลังบวกตาม เวลาเจอคนอื่น เขาก็ทำงานหนักกว่าเราอีก อย่าง เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม ต้องเข้าป่า เขายังทำงานหนักเลย สะท้อนให้เห็นว่าคนเชียงใหม่มีคนเสียสละแบบนี้เยอะมากจริงๆ เวลาไปประชุมเครือข่าย เราเห็นว่าในเมื่อเราอุตส่าห์ร่ำเรียนมาขนาดนี้ เราจะไม่ช่วยเหรอ มันเป็นการส่งต่อพลังบวกไปเรื่อยๆ เลยเป็นทุกคนก็ช่วยกัน แต่ถามว่าทุกงานประสบความสำเร็จหมดไหม มันไม่หมดหรอก
คนภายนอกอาจมองว่าชาวเชียงใหม่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ในฐานะคนเคยผลักดันให้เกิดสวนเจริญประเทศขึ้นได้จริง อะไรเป็นแรงจูงใจให้ชาวเชียงใหม่และภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันจนสำเร็จ
ถ้าเป็นโครงการของเอกชน มันก็เป็นสิทธิในพื้นที่ของเขา ถ้าไม่ผิดกฎหมายและนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ดีต่อชุมชนรอบข้าง ก็เชื่อว่าคนเชียงใหม่ก็ไม่คัดค้านนะ ถ้าสร้างตามกฎหมายเลย ทำ EIA ถูกต้อง เราก็ยังเห็นคอนโดฯ เกิดขึ้นมากมายในเชียงใหม่ แต่โครงการนี้ เราคัดค้านชัดเจนเพราะมันเป็นพื้นที่ของรัฐ อาจารย์คิดว่านักลงทุนก็ยังสามารถมองเชียงใหม่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุนได้ ในเมื่อการลงทุนในพื้นที่ก็ต้องทำให้เกิดการจ้างงานหรือแสดงให้เห็นว่าจะดูแลชุมชนโดยรอบพื้นที่อย่างไรกรณีที่จะสร้างเมกะโปรเจกต์ต่างๆ คนเชียงใหม่เองก็อยากเห็นที่นี่เป็นเมืองเศรษฐกิจเหมือนกันนะ อาจจะไม่ถึงขั้นฟู่ฟ่า แต่ถ้ามีโปรเจกต์ดีๆ ที่มาสร้างงานให้กับคนเชียงใหม่ก็ยินดี ถ้าไม่ผิดคนเชียงใหม่ก็ไม่คัดค้านหรอก
หลายๆ โปรเจกต์ที่ประชาชนหรือภาคประชาสังคมร้องเรียนต่อรัฐยังไม่ประสบความสำเร็จ คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การทำงานกับภาครัฐบาลยังเป็นเรื่องยากอยู่
อย่างแรกคือความต่อเนื่องของผู้บริหารหน่วยงานราชการ มีการโยกย้ายบ่อยแม้กระทั่งระดับผู้ว่าฯ บางโครงการกำลังจะไปได้ล่ะ อ้าว! เปลี่ยนผู้ว่า เปลี่ยนผู้บริหารหน่วยงานตามวาระ บางทีมันกลางคันและทำให้โครงการมันสะดุด
สองคืองบประมาณ อย่างที่เรารู้ว่าการจะใช้งบของราชการไม่เหมือนเอกชน เอกชนถ้ามีโครงการอะไรที่จะทำกำไรได้ เขาทำได้เลยทันที แต่ภาครัฐไม่ได้ คำตอบแรกเลยคือไม่ได้ตั้งงบไว้ แล้วงบประมาณต้องตั้งล่วงหน้าด้วยนะ อันนี้คือความล้มเหลวของระบบราชการ การปรับงบก็เป็นเรื่องยาก ถามว่าปรับได้ไหม ปรับได้ แต่ต้องชี้แจงนู่นนี่นั่น โลกมันเปลี่ยนไวมาก อย่างกรณีสวนเจริญประเทศที่ภาครัฐไม่มีงบประมาณในการออกแบบสวน ถ้าเราไม่สามารถหาแบบมาให้ก็จบ แต่เราสู้ไม่ถอยเพราะสู้มาขนาดนี้แล้ว เราต้องหาเงินมาให้ได้ แต่เราก็เข้าใจภาครัฐเพราะก็โดนจำกัดด้วยพันธกิจที่ตั้งไว้แล้วว่าจะทำอะไรในปีนั้น เดี๋ยวตัวชี้วัดเขาไม่ได้ อยู่ดีๆ จะเอาภาระสร้างสวนไปให้อีก ก็รับไม่ได้ อาจารย์คิดว่าสองปัจจัยนี้เป็นหลักที่ทำให้โครงการต่างๆ ตะกุกตะกัก อาจจะไม่ใช่ไม่สำเร็จนะ แต่มันไม่ราบรื่น เพราะฉะนั้น ประชาชน ภาคประชาสังคมเองก็ต้องช่วยกัน จะทิ้งภาระให้ภาครัฐหมดก็คงไม่ได้ ก็ยังต้องพึ่งกลไกประมาณนี้บ้าง
จากกรณีสวนเจริญประเทศ ทำให้เห็นพลังของภาคพลเมืองมากน้อยแค่ไหนในการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาล เพื่อพัฒนาเมืองที่เราอาศัยอยู่
สิ่งที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้คนเชียงใหม่เยอะเลยว่าจริงๆ แล้วรัฐฟังเสียงประชาชนนะ เพียงแต่ว่าต้องส่งเสียงให้ได้ยิน และการจะทำให้พลเมืองมีจิตสำนึกได้ ต้องเห็นภาพสุดท้ายร่วมกันก่อนว่าเราอยากจะให้เมืองไปทางไหน และที่สำคัญคือเรามีคนเก่งเยอะมาก เชียงใหม่มีนักวิชาการเก่งๆ เยอะมากแล้วทุกคนดึงความเชี่ยวชาญของตัวเองออกมา เสียงเลยมีพลังมาก และทำให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็น เขาก็มองผู้ใหญ่อยู่เหมือนกันนะว่าผู้ใหญ่จะมีแนวทางในการรวมพลังกันอย่างไร
หลายคนอาจจะบอกว่าต้องเปิดศึกกับรัฐ แต่อาจารย์คิดอีกด้านนึงว่าเราต้องเป็นพันธมิตรกัน พลังพลเมืองเองไม่สามารถทำอะไรได้นะถ้าเราไม่มีงบประมาณ และภาครัฐเองก็ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้เพียงแค่เพราะมีเงินนะ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ภาครัฐก็ไปไม่เป็นเช่นเดียวกัน
ตั้งแต่ตอนทำโครงการสวนเจริญประเทศทำให้เราต้องรู้จักตั้งแต่ผู้ว่าฯ โยธาธิการจังหวัด ทสจ. เทศบาล เรารู้สึกว่าทุกคนมีความเก่งมีความดีของตัวเอง ภาครัฐอยากฟังเสียงประชาชน เพียงแต่ว่ามันอาจไม่มีโอกาสได้ฟังกัน เราเชื่อว่าทุกคนทำหน้าที่ตามพันธกิจของเขาและก็อยากฟังประชาชนนั่นแหละ ประชาชนไม่ชอบและอยากได้อะไร ช่วยเรียกร้องกันหน่อย ถ้าไม่เหลือกำลังเขาก็หามาให้ ในยุคนี้ไม่มีใครสามารถทำงานได้เบ็ดเสร็จภายใต้องค์กรเดียวหรอก ทุกอย่างต้องเป็นเครือข่ายกันไปหมด
ความสำเร็จของการรวมตัวกันของพลเมืองคือการส่งเสียงให้ภาครัฐได้ยิน แต่เสียงจะถูกได้ยินก็ต้องเป็นเสียงที่มีคุณภาพ ไม่ใช่อะไรก็ไม่เอา ไม่ได้ แต่ต้องบอกว่าไม่ได้เพราะอะไร เราอยากให้เกิดสิ่งนี้แต่จะไม่ช่วยภาครัฐเลยก็ไม่ได้ ในเมื่อคนเชียงใหม่เรียกร้องอยากให้เกิดสวน ก็ต้องเหนื่อยเหมือนกัน ต้องช่วยกันทั้งสองฝ่ายถึงจะทำให้เกิดกลไกตรงนี้ได้ สรุปได้ว่าสวนเจริญประเทศเป็นสวนมหาชนจริงๆ เลยก็ว่าได้ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่เสร็จสิ้น เพราะเกิดขึ้นจากพลังประชาชนและพลังของภาครัฐ หากไม่มีเงินก่อสร้าง 14 ล้านบาทก็ไม่ได้ ถ้าไม่มีกรมธนารักษ์มอบพื้นที่ให้ก็ไม่เกิด ไม่มีประชาชนบริจาคค่าออกแบบ ค่าขยายเขตไฟฟ้า ไม่มีเทศบาลมารับช่วงต่อในการดูแล สวนก็ไม่เกิดเหมือนกัน
วันนี้ สวนเจริญประเทศของชาวเชียงใหม่ ไม่เพียงทำให้เราเห็นความสำคัญของพลังประชาชนคนธรรมดาที่รวมตัวกันในนามภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่ยังฉายภาพให้เห็นกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างมีระบบ อาจเรียกได้ว่าการเจอกันครึ่งทางระหว่างประชาชนกับรัฐ และความไว้เนื้อเชื่อใจกันในบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน คือกุญแจความสำเร็จที่ไขประตูผืนดินป่ารกร้างที่เป็นปอดแห่งสุดท้ายของจังหวัดเชียงใหม่ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะเพื่อชาวเชียงใหม่ทุกคน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
และโครงการสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมือง เพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #Khonthai4_0 #UOECNX #UDDC_CEUS