25/01/2021
Life

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด: มองเมืองผ่านมุมเศรษฐศาสตร์ และการสร้างมูลค่าจากเมืองแห่งการเรียนรู้

The Urbanis
 


เรื่อง : สหธร เพชรวิโรจน์ชัย ภาพปก : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) / นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

“ตราบใดที่ยังมองว่าข้าวคือข้าว เราก็ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เมืองก็เช่นกัน ถ้าเรามองเมืองคือเมืองเหมือนกัน มันก็ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้”

นี่คือคำพูดส่วนหนึ่งของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเมืองแห่งการเรียนรู้ ในฐานะที่เขาเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และเป็นทั้งคุณพ่อที่สนใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน

เพราะทุกวันนี้การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป แต่ได้ขยับขยายออกมาสู่นอกห้องเรียนอย่างเมืองที่เราอาศัยอยู่ สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้สำหรับทุกคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจต่อไป

แล้วกระบวกการเรียนรู้สำคัญกับเมืองอย่างไร? มีกลไกลอะไรบ้างที่เราสามารถเปลี่ยนเมืองธรรมดาให้กลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้? เมืองในประเทศไทยพร้อมไหมกับการเปลี่ยนแปลง? ลองฟังความคิดเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ที่สามารถเข้ามาช่วยออกแบบเมืองให้เกิดมูลค่าได้จากบทสัมภาษณ์นี้

อาจารย์เริ่มสนใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่ตอนไหน

จริงๆ สนใจเรื่องการศึกษามานานแล้วเพราะเราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่นอกเหนือจากหน้าที่การงาน บทบาทสำคัญก็คือการเป็นพ่อครับ เพราะเวลาเป็นอาจารย์ เราจะเห็นการเรียนรู้แค่ในห้องเรียน แต่เวลาเราเป็นพ่อ เราจะเห็นการเรียนรู้ในอีกมุมว่า ลูกสามารถเรียนรู้ได้ในบางโอกาสซึ่งเราไม่คิดว่ามันคือการเรียนรู้ด้วยซ้ำ เช่น การดูนก การเล่นเกม การออกแบบเกม หรือการแต่งกลอน สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนถูกจำกัดไปหน่อย ผมก็เลยนำสิ่งที่ได้จากลูกมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน ให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น

ภาพโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) / นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

แนวคิดหนึ่งของอาจารย์คือการปลดล็อกการศึกษาไทยจากห้องเรียนมาสู่สาธารณะ แนวคิดนี้คืออะไร

จริงๆ มันอยู่ที่ “ความหมาย”​ ครับ เราทำยังไงให้การเรียนรู้มีความหมายต่อเขาและมีความหมายต่อคนอื่น เราก็ต้องทำให้การเรียนรู้เกิดการเชื่อมโยง ยกตัวอย่าง ลูกสาวผมเรียนอนุบาลที่เดนมาร์กซึ่งเขาไม่ได้สอนการเขียนหนังสือเลยนะ แต่เด็กๆ สามารถเขียนได้จากการสอนกันเอง และสิ่งแรกที่เด็กเขียนได้นั้นก็คือชื่อตัวเองหรือชื่อเพื่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อเขา

แต่ถ้าในระดับมหาวิทยาลัยที่ผมกำลังสอนอยู่นั้น เราจะทำยังไงให้เกิดการเชื่อมโยงกับนอกห้องเรียน ยกตัวอย่าง เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีประเด็นเรื่องไขมันทรานส์ เราก็ลงพื้นที่เข้าไปคุยกับพ่อค้าแม่ค้ารอบๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่าจะปรับตัวอย่างไร นักศึกษาก็เข้าไปเก็บข้อมูลต้นทุน เก็บข้อมูลราคา แล้วก็มาอภิปรายกันในกลุ่ม หลังจากนั้นก็นำความรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนออกไปเผยแพร่สู่นอกชั้นเรียนผ่านการเขียนบทความ ขณะเดียวกันก็เอาคอมเมนต์ของคนนอกกลับมาในชั้นเรียนอีกครั้ง

เหมือนกับแนวคิดที่ว่า “การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด” ​หรือ “การเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา” ไหม

ใช่ครับ การศึกษานอกห้องเรียนควรได้รับความสนใจมากกว่านี้ ส่วนตัวเชื่อแนวคิดอยู่แล้ว เพราะผมเห็นมาจากลูกในลักษณะที่ยังเป็นส่วนหนึ่งในระบบการศึกษา แล้วก็เห็นว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนมีผลต่อเขาเยอะ ยิ่งพอมีลูกชายคนที่สอง เขาก็เลือกไม่เข้าห้องเรียนมาตั้งแต่ ม.1 ถึงตอนนี้ก็ประมาณ 4 ปีแล้วครับ ทำให้เห็นเลยว่ามีการเรียนรู้อยู่ในโลกทั่วไป ซึ่งเขาสามารถเรียนรู้ได้เยอะมากๆ เพียงแต่ว่าเราจะชวนให้เกิดกระบวนการคิดและการคุยกันยังไง

ผมขอยกตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์ที่เขาเรียนอยู่ ลูกชายผมเรียนแคลคูลัสด้วยการโยงเข้ากับอัตราการติดเชื้อของโควิด-19 ที่มีรายงานออกมา หรือการเรียนตรีโกณมิติด้วยการโยงกับเชือกชักรอกที่ใช้สรงน้ำเจดีย์พระธาตุ สิ่งเหล่านี้เขาค้นตาม YouTube บวกกับข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต บวกกับการวิเคราะห์เอง ซึ่งเขามีความสุขที่ได้เรียนรู้เอง ไม่ใช่การถูกสั่งให้ทำการบ้านมาส่งพรุ่งนี้ ลูกจึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมคิดว่า เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่จริงๆ

ความช่างสังเกต ความอยากเรียนรู้เหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่สนใจใครรู้หรือเปล่า เพราะบางคนอาจมองไม่เห็นว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าสามารถทำให้เกิดเรียนรู้อะไรได้

แต่คนอื่นสามารถสงสัยในเรื่องอื่นได้ครับ เช่น เวลาเห็นการสรงน้ำพระธาตุ เขาอาจจะสงสัยส่วนประกอบของน้ำ หรืออาจจะสนใจความสวยงามของเจดีย์ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องสงสัยแบบเดียวกัน ฉะนั้นปัญหาไม่ใช่อยู่ที่เขาสงสัยอะไร ปัญหาคือเขาสงสัยแล้วจะทำยังไงต่อ ผมคิดว่าเมืองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้คนเกิดความสงสัย ซึ่งหลายๆ คนก็ทำอยู่นะ แต่สิ่งที่ขาดคือ อะไรคือกระบวนการที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดประโยชน์ต่อไปต่างหาก

ภาพโดย Big Trees

ถ้าเมืองเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความสงสัย แล้วอะไรคือสิ่งที่จะทำให้คนเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างจริงจังบ้าง

ส่วนตัวผมคิดว่าคนรุ่นใหม่มีความรู้สึกต่อเมืองที่เปลี่ยนไปนะ สิ่งสำคัญคือคำว่า living เพราะคนรุ่นผมจะมองเห็นเมืองเป็นเพียงแค่ทางผ่าน เราออกจากบ้านมาทำงาน ผ่านเมือง และกลับบ้าน อย่างมากก็ซื้อของ กินข้าวกับเพื่อนเท่านั้น ผมไม่สามารถจำลองความรู้สึก living ที่เกิดขึ้นได้เลย

แต่ว่ารุ่นลูกผมเขาไปไหนมาไหนจะรู้สึกถึง sense of living ผมใช้คำว่า living เพราะชอบคำนี้ในความหมายที่ว่า เราไม่ใช่แค่องค์ประกอบ แต่เป็นคำที่บ่งบอกความรู้สึกว่าเราใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นจริงๆ เช่น การนั่งทำงานใน co-working space ที่สามารถ living และ playing ได้ ต่างจากคนรุ่นผมที่แค่ทำงานในออฟฟิศแล้วกลับบ้าน มันเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนไป

จริงๆ แล้วเรามีความรู้เรื่องเมืองเยอะนะครับ แต่เราไม่เคยมีความรู้สึกกับเมืองเท่าไหร่ ความรู้สึกนั่นแหละจะเป็นตัวบอกให้เราใช้ความรู้กับเรื่องนั้นๆ ซึ่งความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการอยู่ในเมืองแบบเดิมกำลังมีมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

อาจารย์คิดว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงมีความรู้สึกกับเมืองมากกว่าคนรุ่นก่อน

ผมว่ามาจาก 2 สาเหตุ คือคนรุ่นผมกระบวนการผลิตถูกแยกจากกัน แต่คนรุ่นใหม่กระบวนการผลิตมันหลอมรวมกันทุกอย่าง เช่น คนรุ่นผมจะคิดว่า การตอบ Facebook เป็นการอู้งานหรือเปล่า พื้นที่โล่งๆ เป็นการปล่อยให้เสียประโยชน์หรือเปล่า แต่คนรุ่นใหม่เขาสามารถคิดงานได้จากการคุยเล่นก็ได้ อย่างล่าสุดผมพาลูกชายที่เป็นนักออกแบบเกมไปประชุมวิทยาการ มีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดเรื่องแม่น้ำโขง ผมไม่คิดว่าลูกชายจะสนใจ แต่เขากลับสนใจมากกระทั่งไปขอสไลด์มา ผมก็ถามว่า “ทำไมสนใจ” เขาก็ตอบว่า “น่าทำเกมมากเลย” (หัวเราะ) ถึงแม้ชีวิตเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแม่น้ำโขงเลย แต่เขาคิดจากมุมชีวิตการทำงานที่มีลักษณะเป็น Network of opportunity มากขึ้น

สมัยก่อนเราทำงานแบบ direct คุณมีนายจ้างที่เขาจะสั่งคุณว่าต้องทำอะไร แต่สมัยนี้ไม่ใช่ ทุกอย่างเป็น Network of opportunity ถ้าคุณเจอสิ่งที่ใช่ มันก็จะใช่ไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่จะทำให้เกิด Network of opportunity เลยมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือเมืองนั่นเอง

อีกหนึ่งสาเหตุก็คือการรับรู้เรื่องต่างประเทศหรือสังคมอื่นในประเทศ เช่น ลูกผมประทับใจวิธีการเล่าเรื่องเมืองลำปางที่มีการแบ่งยุคชัดเจน แต่พอเขาไปเมืองเก่าสงขลาวิธีเล่ากลับไม่โอเคในสายตาเขาเท่าไหร่ ถ้ามันมี systematize หรือการทำให้เป็นระบบก็จะทำให้การเล่าเรื่องเมืองชัดเจนขึ้น

ทุกเมืองต้องเอาใจใส่ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ วางแผนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ grand narrative และต้องมี micro narrative ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บางพื้นที่ คนบางคน หรือแม้กระทั่งต้นไม้บางต้น เราก็ต้องหาสร้าง narrative ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกันทุกเมือง

ดร.เดชรัต กับ บุตรชาย ภาพโดย Big Trees

ในฐานะอาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ ความรู้เรื่องเมืองจะทำให้เมืองพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง

มันจะละเอียดขึ้นในแต่ละคน เช่น เวลาเราไปเที่ยวลำปาง ถ้าไม่มีคนให้ความรู้กับเรา เราอาจจะใช้เวลาผ่านลำปางภายในเวลา15 นาที แต่พอเมืองนั้นมีความรู้ขึ้นมา ก็จะทำให้เราอยู่กับเมืองนั้นนานขึ้น ถ้าพูดในภาษาเศรษฐศาสตร์จะใช้คำว่า sophistication

ยกตัวอย่างกาแฟ ย้อนกลับไปสัก 30-40 ปีที่แล้ว กาแฟไม่มี sophisticate เลย คุณซื้อแก้วละ 10-20 บาทเอง แต่พอมันมี sophistication มันไม่ใช่กาแฟอย่างเดียวแล้ว มันมีเรื่องการหลอด การเลือกใช้แก้ว หรือสายพันธุ์กาแฟ มูลค่าของกาแฟก็เพิ่มขึ้น มันก็เหมือนเวลาผมไปคุยกับเกษตรกรแล้วเขาก็บอกว่า “ข้าวที่ไหนก็เหมือนกันนั่นแหละ” บางทีผมก็ต้องชวนเขาทานข้าวเพื่อแยกสายพันธุ์ให้ออก

ตราบใดที่ยังมองว่าข้าวคือข้าว เราก็ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เมืองก็เช่นกัน ถ้าเรามองเมืองคือเมืองเหมือนกัน มันก็ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ ในการอกกแบบเมืองจึงต้องมีนักเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยในการสร้าง sophisticate ซึ่งแต่ละเมืองก็จะมี sophistication ที่ไม่เหมือนกัน

อะไรคือตัวชี้วัดว่า เมืองนั้นๆ สามารถพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้

ตัวชี้วัดที่สำคัญมากก็คือ “เวลา” น่าเสียดายที่เราไม่ได้พัฒนาการเก็บข้อมูลผ่านตัวชี้วัดเรื่องเวลามากนัก เช่น ตอนนี้เราใช้เวลาอยู่ในเมืองตรงไหนบ้าง ถ้าเกิดเราอยู่ในที่ทำงานและอยู่ที่บ้าน แสดงว่าเมืองไม่ได้มีฟังก์ชันอะไรมากมาย หรือถ้าเราใช้เวลาอยู่บนถนนมากกว่า แสดงว่าฟังก์ชั่นเมืองก็ยิ่งติดลบ ทีนี้จะต้องทำยังไงให้เราใช้เวลาในเมืองมากขึ้น เช่น ใช้เวลาในสวนสาธารณะ ห้องสมุด หรือพิพิธภัณฑ์มากกว่า

หากละเอียดกว่านี้อีกเราอาจระบุได้ว่า เวลาที่คนใช้ไปในเมืองนั้นเขาไปกับใคร แล้วไปเจอใคร ถ้าทำดีๆ เราจะสามารถตอบได้ว่า ผู้คนใช้เวลากับเมืองอย่างไร

มีกลไกอะไรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้

เราต้องมีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของสาธารณะอย่างเดียวนะ อาจจะเป็นของเอกชนหรือชุมชนก็ได้ แต่เราจะทำยังไงให้เกิดการลงทุนให้เกิดพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ในทางกลับกันถ้าเป็นพื้นที่เอกชน เราอาจจะลดภาษีที่ดินเวลาเปลี่ยนพื้นที่การค้าให้เป็นพื้นที่สาธารณะก็ได้ ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็น incentive หรือแรงจูงใจในการปรับปรุงพื้นที่

ต่อมาคือการทำ story ผ่านผังเมืองเฉพาะ ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ทำหรือทำกันแต่สาธารณูปโภค ไม่ได้ทำแนว story เท่าไหร่ ซึ่ง sense of living กับพื้นที่นั้นๆ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความผูกพัน เช่น ไปวิ่งบ่อยๆ แต่มันจะเกิดเร็วขึ้นและมี sophisticate มากขึ้น เมื่อพื้นที่นั้นมี story ว่าเราจะผูกโยงเรื่องต่างๆ กับเมืองยังไง อย่างไรก็ตามบางพื้นที่อาจไม่มี story เชิงประวัติศาสตร์ที่แข็งแรงนัก เราก็อาจทำเป็น story เชิงสุขภาพ เชิงท่องเที่ยว หรือการผจญภัยก็ได้

ส่วนสุดท้ายก็คือ กระบวนการสร้างการเรียนรู้ เช่น พื้นที่นี้ก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง เราสามารถโยงกับความรู้กับอะไรได้บ้าง สิ่งเหล่านี้เรายังขาดอยู่ เหมือนที่ลูกชายผมคิดเรื่องตรีโกณมิติจากพระธาตุ เสร็จแล้วเขาจะส่งองค์ความรู้นั้นไปยังพระธาตุได้ยังไง คล้ายๆ กับการรีวิวอาหารที่เจ้าของร้านสามารถอ่านรีวิวจากแอปพลิเคชั่นได้ แต่เมืองยังไม่มีการต่อยอดเชิงความรู้ที่เกิดขึ้นจากพื้นที่นั้นๆ อย่างจริงจัง

เมืองต่างๆ ในประเทศไทยพร้อมกับการทำตรงนี้ไหม

ผมว่าเมืองไทยทำแล้วครับ เพียงแต่ว่ายังมีปัญหาสัก 2-3 เรื่อง หนึ่งคือกรอบความคิดเรื่องการบริโภค (consumption) ยังแคบอยู่ คนยังเข้าใจเฉพาะพาร์ทของการจ่ายเงิน เช่น พอใจกับการซื้อเสื้อของฝาก แต่เวลาเราอินกับพื้นที่หนึ่ง เราอินกับเรื่องอื่นๆ ด้วย เราบริโภคเรื่องราวเยอะมากๆ ไม่ใช่แค่การซื้อของอย่างเดียว

ขณะที่พาร์ทผู้ผลิตก็มีปัญหาเหมือนกัน คือความรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองจะเล่ามันยาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะบอกว่าซอยของเราไม่เหมือนซอย ถ้าต้นทางยังเล่าติดขัด การเล่าต่อก็จะติดขัด ภาวะต้นทางจึงเป็นเรื่องยากที่จะบ่มเพาะให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับเขา ฉะนั้นผมคิดว่าต้นทางเราต้องสร้างความมั่นใจ ส่วนปลายทางก็ต้องทำให้เก่งขึ้นครับ

นักเศรษฐศาสตร์เราจะต้องเข้าไปศึกษาตรงนี้ และเข้าไปคุยกับผู้กำหนดนโยบายให้ได้ว่า การทำแบบนี้จะเพิ่มมูลค่าเท่าไหร่จากการลงทุนเท่าไหร่ แล้วถ้าเราทำได้ เราจะมีคนที่เข้าไปคุยอีก 77 จังหวัด รวมไปถึงผู้ว่ากรุงเทพฯ หรือนายกเมืองพัทยาด้วย เราอาจไม่ต้องเริ่มจากทั้งเมืองก็ได้ อาจจะสักจุดหนึ่งแล้วค่อยๆ ขยายต่อไป เช่น แค่ถนนเส้นเดียวก็พอ

ผมคิดว่าเมืองมีอะไรได้เรียนรู้และน่าทำเยอะมาก เรามี potential มากๆ แต่ว่าเราทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้น้อยเกินไป


Contributor