24/01/2023
Life

คุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงเมืองที่เริ่มจาก “ความร่วมมือของคนหลายกลุ่ม” กับ ตุลย์ ปิ่นแก้ว

ชยากรณ์ กำโชค
 


การเดินทางมาบรรจบกันระหว่างหลายสิ่งหลายอย่างในพื้นที่เขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ข้าวของ สื่อ เงินทุน และความคิดต่างๆ อย่างหลากหลายรูปแบบนั้น มาพร้อมกับความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และน่าค้นหา แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็มักจะมาพร้อมกับความไม่ปลอดภัย และที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐ และองค์กรอิสระทั้งในและระหว่างประเทศ จะมาช่วยกันหาแนวทางในการแก้ไข แต่จนแล้วจนรอด ความไม่ปลอดภัยในเมืองก็ยังมีให้เห็นและถูกนำเสนอผ่านหน้าสื่ออยู่เสมอ

ในเมื่อมีผู้คนและองค์กรจำนวนหนึ่ง ที่มาพร้อมกับความสามารถที่หลากหลาย และต้องการทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม แต่ยังไม่ทันได้รู้จักกันมากพอนั้น ด้วยเหตุนี้ “ตุลย์ ปิ่นแก้ว” ในฐานะผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ของ SideKick จึงให้ความสนใจมาทำหน้าที่เป็น “คนตรงกลาง” ที่จะเข้ามาช่วยและอยู่เหลือหลังให้กับภาคส่วนต่างๆ

SideKick กับบทบาทในฐานะ “คนตรงกลาง”

“เราทำหน้าที่เหมือนเป็นคนตรงกลาง ที่คอยช่วยองค์กรเหล่านี้ ที่เขาเก่งเรื่องงานวิชาการอยู่แล้ว เก่งเรื่องงานภาคสนาม จะทำอย่างไรให้งานของเขาสื่อสารกับประชาชน แล้วก็สร้างการมีส่วนร่วมให้ง่ายขึ้น เข้าถึงคน อีกส่วนนึ่งก็คือการทำงานเรื่องของการวางแผนนโยบาย ช่วยในเรื่องของ ถ้าเราจะสื่อสารประเด็นทางสังคมไปสู่ผู้กำหนดนโยบาย จะทำอย่างไงให้สามารถเข้าใจได้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อันนี้คือหน้าที่หลักของ SideKick”

“หัวใจหลักกการคิดของเราเลยก็คือ Human-Centered Design ก็คือเราจะมองในเรื่องของคน แล้วก็ users ว่าทำอย่างไร ให้แคมเปญต่างๆ ที่ดูซับซ้อนยากๆ เขาไปอยู่ใกล้คนมากที่สุด ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมได้ง่ายกับโครงการต่างๆ”

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีหน่วยงาน ที่เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน ส่วนใหญ่ที่มีก็จะเป็น agency ที่เป็นฝั่งโฆษณาหรือฝั่งการตลาด หรือไม่ก็เป็นงานในเชิงวิชาการไปเลย ทาง SideKick พยายามนำสองส่วนนี้มารวมกัน ประกอบกับประสบการณ์ของตัวเองด้วยที่เคยเป็นทั้งสื่อ ทำงานรณรงค์ และองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้เห็นช่องว่างที่ว่า ยังมีโครงการอีกเยอะมาก ที่สามารถประสานหลายภาคส่วนให้มาช่วยกันได้ สามารถทำให้เข้าใจง่าย แต่ว่าประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สื่อสารได้ง่ายขึ้น เพื่อให้คนส่วนใหญ่ที่อาจจะไม่ใช่นักรณรงค์ แต่เป็นประชาชนที่สนใจให้สามารถมาร่วมกับเราได้”

คน เมือง และความปลอดภัยในเมือง

การสร้างความปลอดภัยในเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของ “ผู้คน” และแนวทางการวาง “นโยบาย” ของหน่วยงานรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าประเด็นที่ว่า ยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไหร่นัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงช้าๆ และไม่ได้สร้างผลกระทบแบบทันทีทันใด ในขณะที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องแสนยาก แต่ทีมงาน SideKick มองว่าเป็นอะไรที่ท้าทายและน่าสนใจ จนนำมาสู่โครงการต่างๆ ตามมา เช่น ปักหมุดจุดเผือก, Migrants and Music และ Platform ระบาย

โดยแต่ละโครงการ SideKick จะให้ความสนใจไปในประเด็นเรื่องความปลอดภัย เริ่มจากการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมของผู้หญิง ผ่านการผลักดันแคมเปญสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยว่า ทุกคนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะปลอดภัยได้อย่างไรโดยเฉพาะผู้หญิง โดยโครงการดังกล่าวนี้ ได้ช่วยประสานให้หลายภาคส่วน มาช่วยกันรณรงค์ และผลักดันเป็นนโยบายเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ การติดตั้งกล้องวงจรปิด การฝึกพนักงานที่เป็นพนักงานโดยสาร และพนักงานบนรถต่างๆ เพื่อให้เข้าใจเรื่องของการสังเกตจุดอันตรายต่างๆ

ปักหมุดจุดเผือก : ประสานเครือข่าย และผลักดันสู่นโยบาย

“ลักษณะของการรณรงค์มีหลายส่วน แต่จะทำอย่างไรให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นถึงปัญหาได้ ส่วนหนึ่งจะนำเสนอในเชิงวิชาการ เชิงสถิติ และเชิงข้อมูลงานวิจัย แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การนำเสนอเสียงของคนธรรมดา เช่น จัดกิจกรรมให้ผู้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และเราก็สามารถขยายเครือข่ายให้ออกไปถึงคนที่สนใจได้ประมาณ 200-300 คน กลุ่มทีมเผือกหลายร้อยคนเป็นกลุ่มที่ต่อเนื่อง โดยสิ่งสำคัญที่เราทำคือ การเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เสนอ และข้อเสนอของพวกเขาได้ถูกนำไปใช้”

“จุดสำคัญอีกประการคือ ความสามารถในการพาเครือข่ายไปคุยร่วมกับฝ่ายนโยบาย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือว่ากระทรวงมหาดไทยโดยตรง จนนำไปสู่การเปลี่ยนนโยบายเรื่องการขนส่งสาธารณะได้ และปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการนำแอปพลิเคชันที่ได้ร่วมทำกับ NECTEC (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) ไปใช้ เพื่อให้เทศกิจดูว่าจุดใดเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตราย เขาสามารถที่จะปักหมุดไปได้ เพื่อที่จะใช้ในการปรับปรุงพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ”

“เพราะนโยบายเป็นไมล์สโตนสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้คนมีส่วนร่วม และมาเป็นเครือข่ายร่วมกันนั้น ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนนโยบายบางอย่างได้จริงๆ”

Migrants and Music: เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้มีส่วนร่วม และต่อยอดสู่โครงการอื่น

โครงการ Migrants and Music เป็นโครงการที่ทำกับแรงงานข้ามชาติ คือ ไทย กัมพูชา ลาว และเมียนมา เป็นการนำเสนอการสื่อสารในรูปแบบใหม่ ที่ช่วยให้แรงงานเข้าใจปัญหา ภายหลังจากการที่เราใช้เวลาอยู่กับแรงงานค่อนข้างมาก และเข้าใจพวกเขาระดับหนึ่ง จนสามารถที่จะผลิตสื่อสำหรับพูดคุยและสื่อสารกับเขาได้

“ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐจะได้จัดทำสื่อเพื่อสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ เช่น ทำวิดีโอ ทำ orientation แจกโปรชัวร์ ทำสติกเกอร์ต่างๆ แต่แรงงานกลับไม่ได้ใช้ ตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญว่า เราทำอย่างไรให้แรงงานเข้ามาใช้เครื่องมือต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐมี ทังนี้ การที่จะทำได้ เราก็ต้องเข้าใจเขา ว่าเขาเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเรียนรู้ตัวเองเช่นกันว่าเราไม่ได้ถนัดการทำเพลง EDM เราก็เลยไปทำ partner กับ DJ จังหวัดน่าน มาทำเพลงในแบบที่แรงงานเข้าใจ ทำออกมาเป็น 4 ภาษา จากนั้นก็ทำ graphic design รูปแบบ สี กระทั่งสีที่เขาชอบว่าเป็นอย่างไร คือทำทุกๆ อย่างในแบบที่กลุ่มแรงงานชอบ เพื่อให้พวกเขามาสนใจ”

“เราพบว่าจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้เขาชอบเพลง ชอบดนตรีแนวไหน แล้วเราก็ผลิตเพลงออกมาเป็น EDM dance music เพื่อให้เข้าถึงสายด่วน เราให้แรงงานมาเข้าห้องอัดและมาทำเพลงร่วมด้วย จากนั้น ก็สังเกตการตอบสนองของแรงงานที่มีต่อสื่อ ด้วยการเอาเพลงไปทดสอบตามบ้านแรงงานต่างๆ เราเอาลำโพงเล็กๆ ไปในร้านขายของชำตามชุมชน แล้วก็เห็นปฏิกิริยาว่าพวกเขาสนใจและชอบ มีการแจกปากกา แจกกระดาษสำหรับจดเนื้อที่เราสื่อสารไปในเพลงกันเต็มไปหมด เพราะพวกเขาไม่เคยได้ยินและไม่เคยเห็น content เป็นภาษาเขามาก่อน”

“ตรงจุดนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า แรงงานกลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavior change) เป็นการเปลี่ยนตัวตนของบุคคล ในลักษณะที่ว่า พวกเขาอยากจะเข้าถึงข้อมูลมากของตนเอง ให้มีความเชื่อมโยงไปสู่สังคม และคนรอบข้างมากขึ้น”

“ผลลัพธ์ก็คือว่าหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ไปใช้ เพราะสามารถเข้าถึงคนได้ จากนั้นก็มาดูว่าเราจะใช้วิธีแบบนี้ เพื่อที่จะนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ที่เขาจะมีอีกลักษณะวัฒนธรรมที่แต่ต่างไปจากลาว กัมพูชา และเมียนมา ก็จะเป็นเพลงอีกแบบหนึ่ง ความชอบแบบหนึ่ง คือเราจะสามารถนำรูปแบบนี้ไปใช้ในรูปแบบอื่นๆ ได้ไหม แนวคิดนี้นำไปต่อยอดเป็นโปรเจกต์อื่นๆ ได้หรือเปล่า เช่น กิจกรรม อีเวนต์อื่นๆ เช่น จัดแข่งขันเต้น เอาเพลงนั้น มาใช้เพื่อเอาไปเผยแพร่ในระดับชุมชน”

Platform ระบาย : ผู้บริการเข้าถึงข้อมูล และผู้ใช้เข้าถึงการช่วยเหลือมากขึ้น

มีจุดเริ่มต้นมาจาก เราจะใช้การสื่อสารหรือเครื่องมืออย่างไรในการช่วยบุคคลที่ประสบกับเหตุการณ์หรือความรุนแรง ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือในช่วงเวลาใดหรือที่ไหนก็ได้ หรือสามารถสื่อสารในช่วงเวลาที่เขารู้สึกสบายใจ เราจึงพัฒนา Platform ระบาย ขึ้นมา

“ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเพื่อใช้ platform ได้หลายแบบ เช่น เสพเฉยๆ ก็ได้ หรือจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกดไลก์ คอมเมนต์ หรือเข้าถึงคำแนะนำจากนักจิตวิทยาในช่วงที่พวกเขารู้สึกพร้อมและสบายใจที่จะรับการช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ ก็ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์หรือความรุนแรง นำไปสู่การให้ความช่วยเหลือที่มากขึ้น เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้ามารับข้อมูล โดยไม่ต้องเป็นแบบ face-to-face ทุกครั้ง”

“ส่วนโปรเจกต์หลังๆ จะทำในต่างประเทศเยอะ เช่น storytelling ในเมียนมา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนของไทยก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยมีเป้าหมายในการช่วยผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรง ให้มีพื้นที่ระบาย ให้พวกเขาได้อธิบายได้พูด และได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจ ผ่านการสนทนาแบบ peer-to-peer ก็คือให้คุยกับคนที่เจอเหตุการณ์เดียวกันมาพูดคุยปรับทุกข์กัน ขณะเดียวกัน ก็มีนักจิตวิทยาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้คำแนะนำ โดยที่ผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”

สิ่งสำคัญคือทำให้เห็น “คน”

SideKick กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 และช่วงเวลาที่ได้ทำโครงการและแคมเปญ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เมือง สิ่งแวดล้อม แรงงาน ไปจนถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนคือ “ผู้ใช้” เป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด

“ทำให้หันมามองว่า users สำคัญยังไง ประชาชนในฐานะผู้ใช้ หรือคนที่เราจะสื่อสารด้วยนั้น ถ้าจะคุยกับพวกเขาจะต้องทำอย่างไร บางแคมเปญอาจจะวางแผน แล้วก็ทำได้ในระยะยาว ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดูว่าเป็นโครงการที่วางไปจนถึงระดับนโยบายหรือไม่ เราสามารถรณรงค์ แล้วก็รวมคน เราแค่มาช่วยให้เขาเห็นมิติบางอย่างเกี่ยวกับคนมากขึ้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”

“ที่ผ่านมา เราพยายามเสนอให้เห็นว่ามีผู้หญิงในเมืองบางคนตกอยู่ในสภาวะไม่ปลอดภัย เช่น นำเสนอสถิติที่ว่ามีผู้หญิงประมาณร้อยละ 50-80 เคยเจอเหตุการณ์คุกคามรูปแบบต่างๆ ในเมือง ในระบบขนส่ง หรือในระดับครอบครัว แม้ในเรื่องของครอบครัวจะเยอะ แต่ในพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องที่เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขได้ เราก็เข้ามาแก้ไขในส่วนนี้”

“จริงๆ แล้ว ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องความปลอดภัยที่ว่านี้เกิดขึ้นในเมืองต่างๆ ทั่วโลกไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในไทย เพราะฉะนั้น การที่จะออกนโยบายให้เห็นความเท่าเทียมของทุกคน หรือว่าการที่จะมีผู้หญิงมีส่วนร่วมด้วยในการออกนโยบาย เป็นสิ่งที่หลายองค์กรและหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญ และสิ่งที่ต้องพยายามทำก็คือการที่จะทำให้เกิด dialogue ระหว่างกัน ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เกิด positive engagement ก็คือการคุยกันในเชิงสร้างสรรค์ ว่าจะทำอย่างไร ให้มีพื้นที่หรือเวทีที่จะคุยกันได้”

“ฝั่งนโยบายจะทำอย่างไรเขาถึงจะรับฟังปัญหาของคนที่กำลังเผชิญอยู่ ฝั่งเราจะทำอย่างไรให้เขาฟังเรา ส่วนฝั่งประชาชน จะทำอย่างไรที่จะนำเสนอให้เขาเข้าใจ เพราะในฝั่งนโยบายเองก็ต้องเข้าใจว่ามีหลายประเด็น หลายมิติที่เขาต้องให้ความสนใจ แต่เราจะทำอย่างไรให้เกิด dialogue แบบนี้ได้”

“ฝั่งรัฐเรื่องของการเข้าใจถึงเรื่องสิทธิต่างๆ ส่วนฝั่งของคนที่พูดให้ตัวเองเสียงดังขึ้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา เราจะต้องทำต่อไปว่าจะให้ทั้งสองฝั่งสื่อสารกันมากขึ้น สำหรับประเทศไทย ในส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ยังไม่เห็นชัดเจน”

“ที่ผ่านมา SideKick ก็เคยทำ workshop และจัด training ให้หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคุยเรื่องนโยบายภายในหน่วยงานของตัวเอง และจะมีวิธีการอย่างไรในการอธิบายปัญหาให้หัวหน้าเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ดังนั้น เรื่องของการสื่อสาร จังหวะเวลา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น และมีส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง”

“เมื่อเทียบกับปี 2008-2010 ยังเป็นการสื่อสารทางเดียวอยู่ ฝั่งหนึ่งพูด อีกคนหนึ่งฟัง แต่พอปัจจุบัน social media เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น การสื่อสารสองทาง คนหนึ่งพูด อีกคนก็อยากจะพูดด้วย และบอกว่าตัวเองก็มีสิ่งที่ต้องการจะพูดเช่นกัน เกิดความชัดเจนมากขึ้น และมีเครื่องมือออกมามากมาย ทั้งนี้ ทาง SideKick ก็เติบโตมาพร้อมกับ social media กับแนวคิดที่ว่าการสื่อสารสองทางมีความสำคัญมากขึ้น”

“คนเมือง” กับ “สำนึกความเป็นพลเมือง”

เรื่องเมืองกับความสำนึกความเป็นพลเมืองของผู้คน มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นรอบตัว เป็นการพาตัวเองไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมและบุคคลอื่น เป็นการมองเห็นคนอื่นอย่างอื่นมากกว่าตนเอง และเอาเรื่องราวรอบข้างมาขบคิดใส่ใจ

“ถ้าในมุมมอง SideKick ก็คือมี empathy มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นการหันไปมองคนรอบข้าง มองว่ามีใครอยู่ตรงนี้ไหม อาจจะดูเล็กน้อยและเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตาม หากเราให้ความสนใจ พูดถึงอย่างต่อเนื่อง และรวมตัวคนที่คิดเห็นเหมือนกันได้เยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือออฟไลน์นั้น ก็สามารถก่อให้เกิดพลังที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านใดด้านหนึ่งได้”

“การจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องอาศัยความต่อเนื่อง จะต้องมีองค์กร กลุ่มคนที่มี passion หรือมีคนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่าง SideKick เราอยู่ behind the scenes แต่เราจะสามารถที่จะไปต่อเนื่องได้ ต้องการทั้งงบประมาณและคนที่มีความสนใจร่วมกัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามตลอดว่า เราจะทำอย่างไร ให้กลุ่มคนที่เห็นปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่ตนเองพึงได้รับ (community mobilization) เพราะเรื่องที่ว่านี้ ยังเป็นประเด็นยากและค่อนข้างใหม่ในเมืองไทย”

“ก่อนหน้านี้ คนเมืองมีบทบาทหลักในฐานะ consumer โดยที่ไม่ได้มีแนวคิดทางด้านการเมือง แต่ปัจจุบัน คนเมืองมีบทบาททางด้านประเด็นทางสังคมมากค่อนข้างมาก พวกเขาติดตามประเด็นที่ตนเองสนใจอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น คนเมืองได้เปลี่ยนจาก consumer อย่างเดียวมาเป็น ethical consumer คือเป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจสังคมมากขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ คนเมืองจึงสามารถถามหาความถูกต้อง และความยุติธรรมจากแบรนด์ต่างๆ ได้ ผ่านการรวมตัวกันและส่งเสียงออกไปว่าการกระทำแบบใดไม่ถูกต้อง”

“ถ้าคนเมืองสามารถพาตัวเองมาเชื่อมกับประเด็นที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศได้ ในฐานะที่คนเมืองเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงสื่อและใช้สื่อมากที่สุด ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้”

ประเด็นเรื่อง “ความปลอดภัยในเมือง” เป็นประเด็นที่สำคัญ ถึงแม้ว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างก็พยายามแก้ไขปัญหาที่ว่านี้มาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่ปลอดภัยในเมือง ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการที่ผู้เกี่ยวข้องทำงานแบบแยกส่วน จึงทำให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาขาดความต่อเนื่อง ติดๆ ขัดๆ และเกิดความล้าช้า ด้วยเหตุผลที่ว่านี้ บทบาทของ “คนตรงกลาง” จึงทวีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบทบาทที่ว่านี้ ทำหน้าที่ในการประสานการดำเนินงาน ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย

ขณะเดียวกัน การเพิ่มการสื่อสารก็ได้เปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ ได้มีพื้นที่ในการแบ่งปันความคิด ความเห็น และความต้องการระหว่างกันเกี่ยวกับความปลอดภัยในเมืองมากขึ้น
“ความปลอดภัยในเมือง” ไม่เคยเป็นเรื่องใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กลับเป็นเรื่องสาธารณะและทุกคนควรที่จะได้รับการเชื้อเชิญให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และถึงแม้ว่า การแก้ไขหรือพัฒนาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเมืองจะดูเป็นเรื่องใหญ่ และจำเป็นต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราต้องมอบกำลังใจให้แก่กัน แล้ววันหนึ่งเมืองของเราจะค่อยๆ น่าอยู่มากขึ้นเรื่อย ๆ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor