23/04/2020
Life

Big Data ที่ดี คือทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหาภัยพิบัติ คุยกับ ผศ. ดร. ทวิดา กมลเวชช ในวันที่ไวรัสป่วนเมือง

อธิวัฒน์ อุต้น
 


จนถึงตอนนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วเกือบสองแสนชีวิต ภัยพิบัติครั้งนี้ส่งผลกระทบให้โลกทั้งโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นภัยพิบัติหน้าใหม่ที่ทั้งโลกกำลังหาวิธีการรับมือ เป็นภัยพิบัติที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 

สำหรับประเทศไทย ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดชนิดนี้กำลังเข้าสู่จำนวนครึ่งร้อย หากเทียบตัวเลขกับนานาประเทศแล้ว ประเทศไทยมีตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมรับมือที่ดี 

แต่ทว่าเสียงบ่นระงมถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐยื่นมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนนั้นดูจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ทำได้ไม่ทั่วถึง ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องการสื่อสารสั่งการ หรือกระทั่งการปิดเมืองที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ตลอดจนการวิ่งไล่ตามหลังปัญหาเสมอมาของการจัดการแบบประเทศไทย

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ร้อนๆ ที่ยังหาบทสรุปไม่ได้ จึงมีเรื่องให้ต้องเปลี่ยนแปลงกันวันต่อวัน 

ส่วนวันนี้คุยกับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ  ทบทวนว่าที่ผานมาเราพลาดอะไรกันไป แล้วต่อไปเราจะแก้ไขอะไรได้บ้าง 

นัดพบครั้งนี้ไม่ต้องใส่หน้ากากเข้าหากันเพราะเราต่างต้อง social distancing และ physical distancing หยุดเชื้อ เพื่อชาติ…  

งานภัยพิบัติในประเทศไทยไม่เคยได้รับความสำคัญในลำดับแรกๆ เพราะอะไร

หนึ่ง เราโฟกัสกับการพัฒนาเรื่องอื่นอยู่ อย่างที่สองเราเจอภัยแรงๆ ที่ทำให้เสียหายน้อยครั้ง มันเลยเกิดอาการที่ไม่ได้ใส่ใจกับปัญหามากหนัก จนมาถึงสาเหตุที่ 3 ระดับความรู้ในเรื่องนี้ของประเทศมันไปให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่ความผิด การเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติในแบบคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ในแบบคำอธิบายทางวิศวกรรม ทางกายภาพหรือทางเครื่องไม้เครื่องมือนั้นง่ายกว่าอยู่แล้ว เพราะจับต้องได้มากกว่า 

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่ทำให้ประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่บอกไม่ได้ว่าผลของมันคืออะไร คำว่าผลของมันคืออะไร ลองนึกถึงว่า ถ้าอยากให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็ทำได้ด้วย การมอบเงินให้คนไปจับจ่ายในชิมชอปใช้ ตัวเลขเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จะมองเห็นได้ อยากจะซื้อยุทโธปกรณ์จะเห็นได้เป็นชิ้นๆ สมมติสร้างตึกแบบเดียวกันอาจจะสั่นสะเทือนได้ง่ายและไม่แข็งแรง สร้างอีกแบบหนึ่งให้แข็งแรงมากที่สุดและทนได้ คำถามคือแล้วเมื่อไหร่แผ่นดินจะสะเทือน ก็ในเมื่อตึกแบบเดิมก็ใช้การได้ดีอยู่แล้ว ก็จะมีเหตุทำให้ชะลอ ดังนั้นตั้งแต่หลังสึนามิเป็นต้นมา บางเรื่องดีขึ้น ความรู้เริ่มมาทัน เราเริ่มรับความรู้จากประเทศอื่นๆ อาเซียนเริ่มขยับตัว ประเทศเริ่มโดนปัญหาหนัก คนเริ่มให้ความสนใจ ขณะเดียวกันภัยพิบัติก็ทำให้เรารู้ว่าการไม่เตรียมพร้อมอะไรเลยมันทำไม่ได้อีกต่อไป  

น้ำท่วมปี 2554 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คืออุทกภัยเปลือยความไม่พร้อมและการรับรู้ของประเทศไทยสูงมาก ก็คือ เปลือยให้เห็นเลยว่า ไหนบอกว่าเรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ต้องเจอบ่อยแต่ทำไมถึงรับมือไม่ได้ ตรงจุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ภัยพิบัติถึงให้ความสำคัญในแง่ของบริหารจัดการและสังคมศาสตร์มากขึ้น ถูกให้ความสำคัญในแง่ของการเมืองมากขึ้น ตั้งปี 2554 เป็นต้นมา แต่ถามว่าภาครัฐมีการปรับตัวตามแรงเหวี่ยงของปัญหาที่มีเพิ่มขึ้นไหม ต้องบอกว่าภาครัฐยังไม่ได้ปรับตัวตาม 

รัฐไม่ปรับตัวตาม หนักไปกว่านั้นคือการวิ่งไล่ตามปัญหา

ใช่ เราวิ่งไล่ตามหลังปัญหา ตอนเกิดโรคระบาดเราวิ่งไล่ตามหลัง เราเพิ่งจะมาลุกขึ้นอยากจะวิ่งไปดักหน้าปัญหาในไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ถามว่าทำไม คือแบบนี้ แต่ก่อนเราวิ่งช้ามาก เราก็เหมือนวิ่งทันปัญหา ตอนนี้ก็ดูเหมือนวิ่งทันแล้ว ถามว่าที่เราวิ่งตามหลังปัญหาจะไปด่ารัฐได้เลยไหม ต้องยอมรับกันก่อนว่า ครั้งแรกที่เกิดโรคระบาดนี้เราต่างโง่กันทั้งโลก ไม่ได้โง่แค่ประเทศเราประเทศเดียว 

ครั้งแรกที่โควิดเข้ามา เรามองมันและตอบสนองในฐานะเสมือนว่าเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ แต่เราไม่รู้จักมันดีพูดกันตรงๆ ตรงนี้ไปว่าใครไม่ได้เลย เพราะความไม่รู้มันรุนแรงมาก และเมื่อเราไม่รู้ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องวิ่งตามหลังอยู่แล้ว ด้วยความเชื่อมั่นของเราคือการตรวจวัดอุณหภูมินั้นจะเวิร์ก แต่มันก็เป็นจุดที่พลาด เพราะมันไม่ใช่ทุกคนที่แสดงอาการเลย ถ้าหากมีระยะการฟักตัวของเชื้อ ดังนั้นในระยะแรกที่นักท่องเที่ยวเข้ามา ถามว่าเรากักตัวรวดเดียวไปสิบสี่วันเลยได้ไหม มันไม่ได้ทำเพราะเราไม่รู้จักระยะฟักตัวของมัน และเราก็ไม่คิดจะทำเพราะมันมีความเสียหายต่อการท่องเที่ยวมากเกินไป มันก็ทำไม่ได้อีก ถามว่าพอรู้แล้วทำไมทำไม่ได้ ก็เพราะกว่าเราจะรู้จักลักษณะของโรคจริงๆ คนป่วยก็เดินทางเข้ามาตั้งนานแล้ว กว่าที่เราจะรู้ว่าควรจะต้องทำยังไงก็ล่วงเลยเข้าไปสู่อาทิตย์ที่สามของเดือนมกราคมแล้ว กว่าเราจะรู้ว่าเป็นโรคติดต่อแล้วนะ เราต้องจัดการสกรีนคนจากอู่ฮั่น หรือคนจากประเทศอื่นๆ แต่การสกรีนของเราก็ไม่พออีก เพราะเราตรวจแค่อุณหภูมิแล้วก็ปล่อยไป ไม่ได้มีการวางระบบกำกับและติดตาม

และปัญหาของบ้านเราที่ฝังรากลึกมานาน คือเรื่องข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ไม่สามารถเอาข้อมูลมาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเลยไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวเขามาจากไหน ไปอยู่ที่ไหนมา พบเจอกับอะไรมาบ้าง เพราะฉะนั้นเราไม่ได้รู้ว่าเขาเสี่ยงแค่ไหน เราบอกได้แค่ว่า เขามาจากเมืองที่มีการระบาด แล้วคนนี้จะไปไหนต่อเราก็ไม่รู้อีก วันๆ หนึ่งจะไปไหนบ้าง ก็ไม่รู้อีก เป็นเรื่องยากต่อการจัดการ 

พูดง่ายๆ เราตามหลังด้วยความไม่รู้ประเด็นที่หนึ่ง เราตามหลังด้วยความคิดว่า เราน่าจะจัดการได้ เราคาดไม่ถึงว่ามันจะระบาดได้เร็ว แรง และมีระยะฟักตัวนาน สองเรื่องนี้ว่ากันไม่ได้จริงๆ ความไม่รู้ทำให้การคาดการณ์ทำได้ต่ำกว่าปกติ อันนี้ไม่โทษกัน เพราะโทษกันไม่ได้

แต่ประเด็นต่อมาคือ การที่เราไม่สามารถเชื่อมโยงเข้าถึงข้อมูลได้  ทำให้เราไม่รู้และไปไม่รอด หรือต่อให้รู้ก็ยังไปไม่รอดอยู่ดี ถามว่าไปไม่รอดในแง่ไหน ก็ตรงที่เรามัวแต่เกรงใจกันอยู่ ไม่กักตัวและยังปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้อยู่ ดังนั้นการตัดสินใจแบบเกรงใจตรงนี้ ทำให้เราอ่อน ถามว่าถ้าพูดมาแบบนี้แล้วจะต้องจัดการยังไง 

ต้องจัดการยังไง

ถ้าลองย้อนกลับไปเดือนกุมภาพันธ์ เราทำไม่ได้จริงๆ ใช่ไหม หรือเพราะการขอกักกันนั้นไม่สามารถหาเหตุผลอะไรมารองรับได้ แต่ทาง WHO ก็ประกาศแล้วว่าเป็น health emergency แม้จะลังเลระหว่าง โรคระบาด (Epidemic) กับ การระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) มันยังไม่แน่ชัดเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นจีน ไต้หวัน เกาหลี มีตัวอย่างให้เห็นทั้งหมดแล้วไม่ใช่เหรอ ทำไมเราถึงไม่มีเหตุผลในการขอกักกันและสกรีน

ตอนนั้นถ้าเราลดเที่ยวบินจากอู่ฮั่นหรือจากประเทศจีน ด้วยการดูว่าคนที่มาจากเมืองจีนที่มีอัตราการติดแล้ว เรากักตัว 14 วันเลย ต่อให้คุณไม่อยากปิดประเทศแต่คุณต้องกักตัว แล้วพวกที่มาเที่ยวบินเดียวกันแต่อาจไม่ได้มาจากประเทศนั้นเรากักอาทิตย์หนึ่งได้ไหม ส่วนที่มาจากประเทศทางยุโรปที่เริ่มมีคนติด เรากักสัก 3 วันได้ไหม ส่วนพวกที่ไม่รู้อะไรเลยแต่อาจจะใช้สนามบินเดียวกัน เรากัก 24 ชั่วโมงได้ไหม 

ถามว่ากักตัวไปเพื่ออะไร จำพวกกักตัว 14 วันก็อธิบายไปว่า กักเพื่อความมั่นคงของประเทศ พวก 7 วัน 5 วัน เรากักเพราะคุณอาจจะปนเปื้อน ดังนั้นเราขอรอดูอาการสักพักพร้อมกับทำข้อมูลประวัติการเดินทางและเป้าหมายที่จะเดินทางไป ส่วนพวก 24 ชั่วโมง บอกเลยว่าเสียเวลากับเราแค่วันเดียว ขอจดข้อมูลหน่อยว่าคุณไปไหนมา แล้วเดี๋ยวเราจะทำข้อมูลของคนในเที่ยวบินทั้งหมดด้วย แล้วเดี๋ยวคุณจะไปไหนคุณบอกเราไว้หน่อย หากมีใครคนใดคนหนึ่งป่วยภายหลังจากการกักกันนี้ จะได้สามารถให้ข้อมูลและติดตามตัวแต่ละคนได้ ทำไมเขาจะไม่อยากให้ข้อมูล เสียเวลาแค่ 24 ชั่วโมงเพื่อจัดการ คิดว่าทุกคนก็ยินดี เราวางมาตรการหลายอย่างอ่อนเกินไปด้วยหลายเหตุผลในการตัดสินใจของเรา ด้วยความที่เราไม่รู้ในตอนแรก และพอมารู้ในตอนหลังการประเมินสถานการณ์ก็ยังต่ำ เพราะเราไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ ดังนั้นอาจารย์คิดว่ามันวิ่งไล่ตามห่างมาก 

แก้ไขด้วยการปิดกรุงเทพฯ

อยู่ดีๆ กรุงเทพฯ นึกอยากจะปิดสถานที่ ปิดอาชีพ ก็ปิด คำถามคือถ้าไม่ปิดจะให้ทำยังไง เป็นเขตสีแดงขนาดนั้น  ตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่มาก ซึ่งอาจารย์เลือกที่จะแก้ด้วยการปิดกิจกรรมของเมืองอย่างที่ กทม เลือก แต่มันมีวิธีในการดำเนินการนะ คือถ้าคุณล็อกกรุงเทพและปริมณฑล ต้องระวังการคืนถิ่น อย่าคิดว่าคนจะไม่ไปจังหวัดอื่น การปิดกั้นจำกัดการเข้าออกไม่ใช่การล็อคดาวน์ อันนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน สิ่งที่กทม.ทำก็ไม่ใช่การล็อคดาวน์ เป็นเพียงการจำกัดกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เป็นกิจกรรมเสี่ยง การจะจำกัดการเข้าออกและห้ามการดำเนินกิจกรรมใน กทม.แล้วก็ไม่ใช่ไปเปิดให้นักท่องเที่ยวลงภูเก็ตนะ คือเมื่อจำกัดการเข้าออกและกิจกรรมที่กำลังเป็นปัญหา ก็ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่อื่นๆ หากแต่การล็อคที่ว่า มันไม่ใช่คาถาวิเศษ ไอ้เจ็บแต่จบทีเดียวนี่มันต้องมีการออกแบบวางมาตรการรองรับ 

แต่ทำแบบนั้นกับกรุงเทพฯ ทำไม่ได้ ที่อู่ฮั่นทำได้เพราะไม่ใช่ปักกิ่งหรือเซียงไฮ้ แต่กทม.ไม่ควรที่อยู่ดีๆ ลุกขึ้นประกาศ 12.23 น. แล้วก็เกิดประเด็นการสื่อสารที่ขัดแย้งกับศูนย์กลางปฏิบัติการของรัฐบาล ผ่านไปสักสามชั่วโมง 15.00 น. ค่อยออกมาชี้แจงว่า เราเข้าใจผิด สับสน แล้วก็สั่งปิดตอนเที่ยงคืน จากบ่ายสามยันเที่ยงคืนเป็นเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมง ใครเขาทำกันแบบนี้ 

เราชอบแซวกรุงเทพว่า เช้ามีคนสิบล้านเย็นมีคนหกล้านห้า ก็คือคนจากจังหวัดใกล้เคียงหรือปริมณฑลเข้ามาทำงานใน กทม. ดังนั้นในความจริงข้อนี้ กรุงเทพฯ ควรที่จะรู้ว่าตัวเองมีจำนวนประชากรจริงๆ ไม่ถึงหกล้านห้าแน่นอน เพราะสามล้านห้าคือคนจากปริมณฑล กรุงเทพก็มีทะเบียนราษฏร์อยู่กับมือ แล้วถามว่า หกล้านห้าเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพตั้งเท่าไหร่ กทม. ไม่รู้จริงๆ เหรอ ในการลุกขึ้นมาปิดอะไรหลายๆ อย่าง ที่สำคัญปิดวันเสาร์อีก ไม่ให้เวลาได้เตรียมตัว จะปิดก็ปิดได้แต่คุณต้องทำมาตรการการคัดกรองคนที่จะส่งสารออกไป ซึ่งในส่วนของตรงนี้นั้นไม่ได้ทำ แล้วเวลาปิดคุณทยอยปิดสิ เพื่อให้คนทยอยออก ส่วนมากเขาจะนิยมทำกันคือ 48 ชั่วโมง 

ที่ที่แย่ที่สุดอย่างสนามมวย โรงหนัง ผับบาร์ อาบอบนวด ในสถานที่ที่คนต้องไปใช้บริการให้ปิดไปก่อน เพราะพวกนี้เสี่ยงสูงสุด กรองออกไป แล้วพออีก 24 ชั่วโมง ทยอยปิดห้างสรรพสินค้าบางส่วน แต่แจ้งข้อมูลให้เขารับรู้ก่อน ก็จะเกิดช่วงปรับตัว แต่ช่วงนี้ก็มีสิ่งที่ต้องระวัง เพราะว่า 48 ชั่วโมงยังมีการติดเชื้อได้อยู่ ดังนั้น 48 ชั่วโมงต้องทำ Social Ditrancing คือไปลดมาตรการอื่นๆ มาชน แต่ว่าเราไม่ได้คิดไว้ 

มหาวิทยาลัยหรืออาชีวะ ประกาศให้สอนออนไลน์ไปตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม นั้นหมายถึง มีเด็กจำนวนหนึ่งทยอยออกไปที่สถานนีขนส่งอยู่แล้ว กทม. ทำไมไม่ไปจัดการกรองที่สถานนีตั้งแต่ นักศึกษาออกไป ถ้าออกไปช่วยกรอง ระบบข้อมูลก็จะยังอยู่ นักศึกษาหรือประชาชนที่ทยอยกลับบ้านก็จะมีระบบกรอง แล้วมันจะทำให้ปลายทางในส่วนของพื้นที่ต่างๆ มีเวลาเตรียมพร้อมรับมือ 

และยังมีเวลาในการบอกประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เขตชายแดนลาว ชายแดนเมียนมาร์ ชายแดนมาเลเซีย มีเวลาบอกให้เขารับรู้ว่า เรามีข้อมูลประวัติสำหรับแรงงานบ้านเขาที่เข้ามาทำงานในไทย ขออย่างเดียวคือมารอรับ อำนวยความสะดวกให้ผ่านด่านได้เร็วๆ จะได้เปิดประตูด่านกว้างๆ มาช่วยทำข้อมูลและขออีกอย่างคือ ถ้าประชาชนของยูที่กลับไปแล้วป่วยติดโรคระบาดให้บอกไอด้วยนะ คือทำไมไม่ทำแบบนี้ 

พูดง่ายๆ อาจารย์เอาเวลา 48 ชั่วโมงมาซื้อเวลาเพื่อตั้งหลัก ไม่ใช่ประชุมเสร็จแล้วประกาศเลย ถามว่าทำทันเหรอ เพราะเชื่อว่ารัฐไทยไม่เคยทำอะไรทัน กทม. จึงกลายเป็นโซนสีแดงกระจายไปทั่วประเทศ ครั้งนี้เป็นโรคระบาด แล้วภัยติดตัวคน ดังนั้นถ้าจังหวัดมีโอกาสจำกัดพื้นที่ จังหวัดก็จะมี self sustain ได้โดยไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง แต่ปัญหาคือ กทม. ไปอันล็อกมันซะ

จึงหยิบ พรก. ฉุกเฉินมาใช้แก้ไขสถานการณ์

พรก. ฉุกเฉินถามว่าเกินกว่าเหตุไหม จริงๆ เกินกว่าเหตุ แต่อาจารย์อธิบายแบบนี้ ถ้าหาก พรบ. ควบคุมโรคที่ใช้กันในระยะเริ่มต้นนั้น สามารถใช้ได้เท่า พรก. ฉุกเฉิน เพราะจริงๆ สามารถใช้ได้เสมอกันหากการบริหารจัดการของรัฐเป็นระบบกว่านี้ คำว่า พรก. ฉุกเฉินเกินกว่าเหตุ ตอบด้วยสองมิติ 

มิติที่หนึ่ง พรก. ฉุกเฉินเกินกว่าเหตุในมุมมองของพวกเรา เป็นเพราะพวกเราคุ้นชินกับการใช้พรก. ฉุกเฉิน เวลาเกิดความไม่สงบทางการเมือง การก่อการร้าย เลยทำให้รู้สึกว่า พรก. ฉุกเฉิน จำกัดสิทธิ์ให้เรารู้สึกว่ามันอึดอัด เรามองว่ามันไม่ดี เรามองมันไม่ดีในทางจิตวิทยา ที่สำคัญที่สุด โดยส่วนใหญ่ ภัยที่เป็นผู้ก่อการร้ายหรือการเมืองใดๆ ก็ตาม หากมีการก่อการร้ายใน 48 ชั่วโมงคุณอาจจัดการปัญหาได้ แล้วคุณก็ยกเลิกถอด พรก. ออก ดังนั้นการใช้ พรก.ฉุกเฉินโดยนัยยะจะไม่ใช้ในระยะเวลานานเกินไปนัก ประชาชนจึงไม่เห็นด้วยกับการประกาศสถานการณ์ที่เกินกว่าเหตุ

ส่วนอันที่สองมันถึงกับต้องใช้ พรก. เลยเหรอ ในเมื่อก็มี พรบ. ซึ่งสองสิ่งนี้ไม่เหมือนกันเลยนะ เพราะอะไร คนที่คิดว่า พรก. มันจำกัดสิทธิ์ แล้วมันก็เกินเหตุเกินไป นั่นคือมองในมุมของคนที่ไม่ชอบ พรก. อยู่แล้ว แต่คนที่มองว่าใช้ พรก.ทำไม ในเมื่อ พรบ.ควบคุมโรค ก็ให้อำนาจผู้ว่าราชการจัดการได้เบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกัน 

มีเรื่องเดียวเลยคือ นายกเป็นคนมอบอำนาจทั้งหมด ดังนั้นนี่คือเรื่องของการเมือง พรบ.นายกก็สั่งได้โดยตรง เพียงแต่ประธานจะเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขโดยอำนาจ ดังนั้นเอาจริงๆ นายกคุมรัฐมนตรีสาธารณสุขได้อยู่แล้ว โดยวิถีปฏิบัติ ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร ดังนั้นสำหรับอาจารย์ จึงพูดว่า หาก พรบ. ควบคุมโรคใช้ได้เต็มประสิทธิภาพของมัน พรก. ฉุนเฉิน แทบจะไม่จำเป็น อีกอย่าง การใช้พรก.ฉุกเฉินทำให้นายกรัฐมนตรีเลือกคนปฏิบัติงานได้ อันนี้หากจะมองว่าเป็นการนำเอาผู้บริหารบางคนออกจากฉากทัศน์การจัดการ ก็ไม่ใช่จะมองไม่ได้

ถามว่าทำไม พรบ. ใช้ไม่ได้ ดูสิ สนามบินไม่ปิด ปิดไม่ได้ การท่าอาจจะอยากปิดแต่รัฐบาลไม่ปิด กทม. ไม่เอา กทม. ไม่ทำอะไร แล้วอยู่ดีๆ กทม. สั่งปิดเมือง ปริมณทลสั่งปิด คนท่วมไปจังหวัดอื่น จังหวัดอื่นก็ยังไม่พร้อมกับการรับมือ เรามีปัญหาเรื่องการประสานงาน ต่างคนต่างทำ ตั้งแต่ภาวะปกติจนถึงภาวะวิกฤติ ทางด้านการแพทย์ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะว่าทางด้านการแพทย์เขาใช้ พรบ. ควบคุมโรคจนคุ้นชิน แต่สิ่งที่เขามีปัญหาหลักๆ คือ เขามีปัญหาเรื่องทรัพยากรไม่พอ แล้วภายใต้ พรบ. ควบคุมโรค เขาไม่สามารถ recruit ทรัพยากรได้อย่างเบ็ดเสร็จ 

ดังนั้นประเด็นของอาจารย์คือ พรบ. ควบคุมโรค ทำให้คนไปไม่ถูก ถามว่าทำไมไปไม่ถูก พูดกันตรงๆ ก็คือมีกี่จังหวัดที่เตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้ เพราะประเทศนี้นิสัยเสียอย่างหนึ่ง พรบ. เป็นชื่อของกรมไหน ก็เป็น พรบ. ของกรมนั้น กรมอื่นไม่สนใจ การบริหารวิกฤติมันไม่ใช่มานั่งทำตอนวิกฤติเกิดนะ การบริหารวิกฤติมันต้องทำมาก่อนวิกฤติเกิด 

มาตรการของรัฐที่ดูเหมือนไม่ได้สร้างความชัดเจนให้กับประชาชน 

อาจารย์ว่า อันนี้มีปัญหา 2 แง่ เอาปัญหาข้อง่ายก่อน เวลาเราประกาศมาตรการอะไรต่างๆ แล้วมันดูเหมือนไม่ชัดเนี่ย อาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องของการสื่อสาร 

เอาแบบง่ายก่อนนะคะ ก็คือคนสื่อสารออกไป ไม่เลือกสื่อสารให้มันชัดเจนตามช่วงเวลาของมัน เช่น วันแรกเลยที่นายกมาทำพลาด คนรอนายกพูดตั้งนาน นายกไม่พูดอะไรเลย 5 นาที 7 นาทีก็แล้ว แล้วมาตรการที่ชัดเจน ที่ออกมาบอกว่าจะประกาศมาตรการทั้งหลายแหล่ ถามว่าสิ่งที่ชัดเจนอยู่ที่ไหน สิ่งที่ชัดเจนอยู่ที่อาจารย์วิษณุพูด อาจารย์วิษณุพูด 1 ชั่วโมง 29 นาที ประชาชนที่ไหนจะมีเวลาฟังนานขนาดนั้น  ไม่มีใครมานั่งจดอยู่หน้าจอหรอก แต่สาระเยอะมาก อย่างอาจารย์จะฟังเพราะทำงานเกี่ยวข้องกันโดยตรง

จริงๆ มาตรการไม่ได้ไม่มีรายละเอียดนะคะ เพียงแต่ว่ามันอยู่ผิดที่ มันสื่อผิดแบบ แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้เข้าใจได้ มันไม่เชิญชวนให้ทำ แล้วคนโกรธอยู่แล้วด้วย อารมณ์ของสังคมมันเป็นอีกแบบหนึ่ง อันนี้แบบที่หนึ่งนะ

ส่วนอันที่สองอาจารย์คิดว่าเกิดจากการที่อีหลักอีเหลื่อ คืออยากจะใช้มาตรการที่เข้ม แต่ก็ไม่กล้าเข้มมากเพราะกลัวผลกระทบ เลยทำให้มาตรการออกมาในแบบกว้างๆ ถนอมๆ นิดๆ หน่อยๆ หงายหลังไปก็ไม่เจ็บมาก อันนี้พูดแบบนี้ เข้าใจได้ว่ามาตรการทำไมดูหน่อมแน้ม ทำให้ดูไม่เด็ดขาด ไม่ชัดเจน ความหน่อมแน้มก็เนื่องจากกังวลผลกระทบจากเศรษฐกิจและประชาชนหลายกลุ่มจะได้รับผลกระทบ อันนี้เขากังวลแล้วนะคะมันถึงได้ออกมาประหลาดๆ ไม่ค่อยชัดในบางมาตรการ 

ปกติเวลาประกาศว่าจะเลือกทำอะไร ต้องออกแบบมาตรการเอาไว้แล้วเรียบร้อย เอาให้ชัด ดังนั้นหมายความว่า บางการกระทำต้องบอกเขาเลยว่าคุณจะช่วยพยุงเขาอย่างไรที่จะไม่เหลื่อมล้ำ อาจารย์คิดว่ามันเกิดจากความคิดที่ไม่ well-designed การไม่ well-designed เกิดขึ้นจากการที่ส่วนหนึ่งยังไม่มีมุมมองจากเรื่องนี้ที่ครบทุกด้าน กับอย่างที่สองคืออาจจะมีการต่อรองที่เราไม่รู้ทางการเมืองและผลกระทบ ที่ทำให้มันอาจจะยื้อกันไปยื้อกันมา การสื่อสารมาตรการเป็นเพียงเรื่องหน้าบ้านค่ะ เรื่องที่ควรต้องทำให้ดีและชัดเจนครบถ้วน คือการออกแบบมาตรการที่มีความรอบคอบที่สุดเท่าที่ฉากทัศน์ที่เราวิเคราะห์ไว้จะเอื้ออำนวย

เยียวยาด้วยการให้เงิน 5,000 บาท 

การจ่าย 5,000 บาท อาจารย์คิดว่า การช่วยเหลือจุนเจือเงินนั้นทำได้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะมันมีคนที่เดือดร้อนจริงๆ แต่อาจารย์คิดว่าการยื่น 5,000 บาทรวดเดียวหมดเลย ทำให้เกณฑ์ที่รัฐตั้งไว้แบบนี้มันส่งผลให้ระบบมันรับไม่ได้ในแง่ของการบริหารจัดการมันจึงกระทบความเชื่อมั่น กลายเป็นว่าเงินเยียวยานั้นไม่ดี

เงิน 5,000 บาท ได้กี่คนไม่รู้ล่ะ ได้ทันที ใช้ทันที รูปมันจะออกมาอีกแบบ มันจะมีคนรู้สึกชื่นชม มันจะมีการกระตุ้น แต่การให้เงินแบบนี้มันก็เป็นการให้เงินแบบกินอยู่ใช่ไหมคะ ดังนั้นการจะให้เงินอย่างเดียว มันก็จะทำให้ส่วนที่เหลือ คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบไม่มีทางได้ แต่ถามว่า ให้ทุกคนได้หรือไม่ มันก็จะเจอปัญหาหนึ่งอีก 

อาจารย์คิดว่าการให้ ให้ได้ แต่การให้ของรัฐ อาจารย์คิดว่าพวกเขาคิดจากส่วนที่มันไม่รอบคอบพอ ถามว่าแก้ได้ไหม แก้ไม่ได้ อาจารย์แก้ไม่ได้ด้วยเหตุผลว่า big data ของประเทศไทยนี้ใช้ไม่ได้ ไม่เป็นระบบ ข้อมูลไม่มีคุณภาพ และไม่ถูกจัดให้สามารถใช้ช่วยในการตัดสินใจได้ คือตัว data มันไม่ได้ช่วยให้เราทำ segment ได้ ดังนั้นการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นการดัดแปลงให้เหมาะสม เหมือนซื้อกางเกงมายาวเกินไปก็ไปพับขาขึ้นหน่อย พูดง่ายๆ คือการจ่ายเพื่อเยียวยาจ่ายได้หลายรูปแบบ ไปที่คนแต่ละ segment ให้รู้สึกว่าได้เท่าๆ กัน แต่ไม่ได้เท่ากัน คือมีความยุติธรรมในการให้ อันนี้รัฐไทยทำยากมาก

ด้วยความที่เราไม่พร้อมมาตั้งแต่แรก เมื่อเราไม่พร้อมมาตั้งแต่แรก big data เราไม่มีสำหรับใช้ในภัยพิบัติ คือ big data เราอาจจะมีสำหรับการจ่ายเงินชิมชอปใช้คนจน แต่ถึงเวลาเราจะมาจ่าย จะมาดูว่า เขาต้องเป็นคนจนที่มีเงื่อนไขจากการได้รับผลกระทบ เพราะเงื่อนไขผลกระทบเลยไม่รู้จะไปเก็บที่ไหนมา ถูกไหม สาธารณสุขตอนนี้ก็หัวหมุนอยู่ ในการจะรักษา การตรวจโรค จะให้ท้องถิ่นไปช่วย ท้องถิ่นก็งูๆ ปลาๆ เคยทำไหมก็ไม่เคย ก็คือไม่พร้อม

หนึ่งไม่พร้อม สองไม่เตรียม สามวิ่งไล่ปัญหาอยู่ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น สังคมมันจะมีความเหลื่อมล้ำอยู่ก่อนหน้า สังคมใดก็ตามที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ก่อนหน้า จะไม่สามารถแก้วิกฤติได้โดยไม่เหลื่อมล้ำ มันผูกกันอย่างนี้เลย เพราะฉะนั้น ไม่มีวิธีการแก้ได้โดยง่ายที่จะทำให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำ

ด้วยเหตุผลที่ว่า ในหลักการของการจัดการภัยพิบัติ เราจะช่วยคนที่เปราะบางก่อน ดังนั้น ในสังคมหนึ่งๆ ควรจะมีคนเปราะบางน้อยกว่าคนไม่เปราะบาง ไม่อย่างนั้นสังคมมันก็แย่เกิน เราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา คนเปราะบางมันไม่ควรจะเยอะกว่าคนที่พอจะช่วยเหลือเจือจุนตัวเองได้ ดังนั้นเพื่อให้ช่วยเหลือคนที่เปราะบางก่อน คนที่เหลือที่ได้รับผลกระทบ ที่ยังไม่ถูกช่วย เข้าใจหรือเปล่าว่าตัวเองต้องอยู่ให้ได้ก่อนนะ เดี๋ยวความช่วยเหลือจะมาถึงเราในลำดับต่อไป ให้เขาช่วยคนกลุ่มเปราะบางไปก่อน 

ถามว่าเรามีวินัยในลักษณะที่ว่า หากเรายังไม่เดือดร้อน เราจะไม่รับเอาความช่วยเหลือนั้นได้ไหม อันนี้เราสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ดังนั้นมันจะทำให้รัฐกังวลกับเรื่องการที่ความช่วยเหลือจะไปถึงผู้ที่เปราะบางที่สุดจริง อาจารย์ถึงได้บอกว่า การจ่ายถ้วนหน้า อาจารย์ว่า ประเทศไทยทำได้ยาก 

การจ่ายเงินช่วยเหลือนั้น หากคิดในมุมที่ว่าทุกคนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น การแจกจ่ายจะต้องครอบคลุมแต่ละกลุ่มมากกว่านี้ นั่นหมายความว่าต้องมีการจัดกลุ่มผู้ได้รับมากกว่านี้ หากการจ่ายเงินพยุงตามระบบจะทำให้มีแต่ผู้ที่อยู่ในระบบเท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือ นักศึกษาที่เรียนหนังสืออยู่นั้น เป็นผู้ที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง แต่ในขณะเดียวกันทั้งเด็กและผู้ปกครองได้รับผลกระทบ เรากำลังพูดถึงประชาชนทั่วไป ในขณะที่กลุ่มนอกระบบบางส่วนเราต้องมีการพยุงด้วยเงินยังชีพเหล่านี้ หรือแม้แต่คนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ กลุ่มเหล่านี้จะมีการดูแลในรูปการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ทั้งในลักษณะที่อยู่อาศัยเพื่อให้ social distancing เกิดได้ และเพิ่มเบี้ยให้ได้บ้าง หรือแม้แต่มาตรการเพื่อพยุงเจ้าของกิจการขนาดกลางและเล็ก เพื่อให้ได้คงการจ้างงานแรงงานบางลักษณะไว้ หากทำแบบนี้ จำนวนเม็ดเงินอาจมากกว่าการหว่านแจก 5,000 บาทอยู่พอสมควร แต่ความเดือดร้อนจะได้รับการบรรเทาโดยถ้วนหน้าและเหมาะสมกับความต้องการมากกว่า

รัฐช่วยไม่ได้ ดูแลตัวเองด้วยการบริจาค

การระดมทุนเพื่อบริจาคไม่ใช่วิธีการแก้ไข แต่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความกรุณาสูงมาก คือ มีอะไรเราช่วยเหลือกัน แล้วเงินที่ได้จากการบริจาค มันใช้ง่ายกว่าเงินภาครัฐ ดังนั้นถ้ามองว่ามันเป็นตัวเสริมให้มันไปเกื้อหนุนความจำกัดจำเขี่ยในการเยียวยาของรัฐ ให้มันดีขึ้นและเร็วขึ้น ก็ไม่ได้แปลกอะไรถ้ามันจะดี สมมติว่าเราต้องดูแลคนเป็นแสนเนี่ย งบประมาณจากรัฐบาลที่ส่งไป จะอย่างไรเสียมันก็จะเป็นการเยียวยาช่วยเหลือชดเชย กว่าจะเบิกได้ ถ้าช้า เอาเงินบริจาคมาจัดสรรก่อน พยุงไว้ก่อน 

ตรงนี้ที่มันเป็นแบบนี้ก็เพราะว่า ยังไงระเบียบราชการก็ยังเป็นระเบียบราชการ ต่อให้ระเบียบราชการดีแค่ไหน มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน มันก็จะมีช่วงหน่วง มันจะต้องมีเรื่องการตรวจสอบ เพราะมันไม่ใช่เงินของใครก็ได้ นี่มันเป็นเงินภาษี เป็นเงินรัฐ มันต้องมีระบบระเบียบของมัน ตราบใดที่เรายังไม่ทำให้ระบบระเบียบการใช้เงินเยียวยามันดีกว่านี้ไม่ได้ มันก็จะมีเงินอื่นที่รวดเร็วกว่าเสมอ แต่ก็ไม่ได้ดีมากนะคะ เพราะการใช้เงินบริจาคเหล่านี้เราไม่มีระบบระเบียบอะไรเลย ก็ไม่อยากพูดแบบนี้นะ แต่ว่าการรับผิดชอบต่อเงินที่ใช้ไป มันต้องมี เพราะมันก็ครอบแค่บางจุด ใช่ไหม

อาจารย์พูดเหมือนเดิมนะ มีเงินบริจาคไว้สนับสนุนส่งเสริม อาจารย์ say yes ในแง่ของการที่ภาวะเร่งด่วนมันช้าไม่ได้ หรือ พอเงินราชการออกปุ๊บ เราต้องแชร์ ต้องช่วยทุกคนให้เท่ากันหมด แต่ด้วยความเหลื่อมล้ำเดิม ทุนก้อนนี้มันอาจจะให้แบบที่ไม่ต้องเท่ากันได้ ถูกไหม ระเบียบราชการต้องให้แบบนี้ ถ้าจะให้เหมาะกว่า 

แต่ในขณะเดียวกัน segment บาง segment ก็อาจจะสามารถดึงจากเงินบริจาคไปช่วยได้ ที่พูดทั้งหมดนี้ เงินบริจาคมีได้ แต่การจัดสรรก็ต้องเป็นการจัดสรรที่มาประสานกับเงินรัฐ ว่าเงินรัฐถูกใช้ไปอย่างไรแล้ว ข้อดีข้อเสียของสองข้อนี้มันเกื้อหนุนกันในวิธีการแก้ปัญหา ถ้าจะทำแบบนี้สู้รัฐเอาเงินไปทุ่มเพื่อวางมาตรการบางอย่างให้การลดการระบาดน้อยลง เพื่อให้บริหารงบช่วยเหลือใช้ก่อนดีกว่า ลงทุนทำให้ปัญหาต่างๆ น้อยลง เกิดไฟป่าน้อยลง ลงทุนทำให้มันเกิดน้ำท่วมที่ไม่เสียหายมาก ลงทุนทางด้านการแพทย์ การทำ distancing ให้เอื้อต่อการดำรงชีพ อย่าลืมว่าในที่สุด social distancing และ physical distancing จะเป็น new normal ที่เราต้องการให้มีความเป็นสถาบัน ดังนั้นรัฐอาจต้องเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ช่วยเกื้อกูลให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้ชีวิตในแบบที่มี distancing สามารถทำได้ หน้ากากและน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ 

เพราะในท้ายที่สุด สภาพที่เราขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า เจ้าหน้าที่สามารถไปเตือนคนที่ยืนไออยู่ในที่สาธารณะแบบไม่ใส่หน้ากากก็ไม่แน่ว่าจะทำได้ ดังนั้นมันก็ลงทุนไปในขั้นตอนของความพยายามป้องกัน ลดผลกระทบ และสร้างค่านิยมใหม่อย่างนี้ดีกว่าไหม หรือการแก้ไขระเบียบบางอย่างที่มันจำกัดจำเขี่ยในทุกๆ ขั้นตอน ตามขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ลดสิ่งที่จะเกิดให้เกิดน้อย หรือว่าเกิดผลกระทบไม่มาก มันจะช่วยให้ตอนแก้ไขไม่ยากมาก การเยียวยาตอนหลังมันก็จะใช้เงินน้อยลง 

ฉะนั้นเราต้องช่วยตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง แต่ทีนี้เนื่องจากว่า เราอยู่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำมันสูง ภาวะการช่วยตัวเองมันไม่เท่ากันจริงๆ มันทำได้ยากจริงๆ อันนี้เหมือนงูกินหาง ถึงได้บอกว่า เงินบริจาคหากรัฐนำมาบริหารจัดการเป็นระบบได้ จะมีประโยชน์ เหมือนที่พื้นที่ต่างๆ เมืองต่างๆ พยายามจัดระบบการบริจาค ทั้งในประเภทของการบริจาคเป็นของยังชีพ ให้สามารถถึงกลุ่มที่ต้องการภายใต้ระเบียบ social distancing หรือการจัดการให้มีระบบกองทุนช่วยเหลือของจังหวัด ที่มีระบบการนำไปใช้และการรายงานการใช้ที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ 

ประชาชนต้องทนเอา

อาจารย์ตอบกลับข้างเลยนะ ในภาวะความเสี่ยงภัยพิบัตินั้น คนแรกที่เผชิญหน้ากับวิกฤติจะไม่ใช่รัฐ เราในฐานะประชาชนต้องได้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ในหลายๆ ครั้งเราต้องยอมรับว่าเราเองต้องดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน เท่าที่ความสามารถของเราจะมี หากเกิดเรื่องทุกครั้งเราต้องร้องให้รัฐช่วยทุกครั้ง วันหนึ่งอาจมีคนที่เปราะบางกว่าเรา ต้องการมากกว่าเรา เราก็ต้องอดทนรออยู่ดี ภาครัฐมีหน้าที่ดูแลและพัฒนาให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข แก้ไขความเหลื่อมล้ำให้ไม่เป็นปัจจัยเร่งของวิกฤติในวิกฤติ แต่มันมีการดูแลตัวเองบางอย่างที่ลดความเหลื่อมล้ำได้นิดนึง เช่น คนที่มีอาชีพขายของไปวันๆ เข็นรถเข็นไปในแดด อย่างนี้ ในภาวะที่ร้อนมากก็อาจจะต้องนอนให้พอนะ มีหมวกใส่ซะหน่อยถ้าพอไหว พักได้ก็พัก กระติกน้ำเตรียมออกไปจากบ้าน อย่างนี้ คือพูดกันง่ายๆ ก็คือเข้าใจศักยภาพตัวเองต่อความเสี่ยงระยะต่างๆ สักนิดหนึ่ง หากเตรียมช่วยเหลือตัวเองขนาดนี้ รัฐต้องมีทีมในการดูแล สื่อสารภาวะเสี่ยง และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือด้วยกลไกต่างๆ

ขอภาคประชาชนสักนิดหนึ่งว่ามีใจคิดถึงความเสี่ยง ถ้าประชาชนทำได้นะ การจัดสรรของรัฐตาม segment ต่างๆ ต้องละเอียดยิบ พูดง่ายๆ นะ โห้ ป้าคนเมื่อกี้ทนเดินได้ยังไงน่ะ ไถรถออกไปเนี่ย อปท. การท่องเที่ยวตามจุดท่องเที่ยวทั้งหลายแหล่ หรือ รพ.สต. มีจุดเติมน้ำให้ไหม อันนี้ก็น่าจะช่วยได้ เพราะป้าพวกนี้ถ่อไปตามโรงเรียน อปท. ขอนั่งพักสักครู่ ขอน้ำ อะไรอย่างนี้ได้ไหม มันดูแลกันได้ อันนี้แบบซอฟต์มากเลยนะ ไม่มีอะไรยากเลย อาศัยวิธีคิดในการบริการสาธารณะและการเกื้อกูลกันของภาคส่วนต่างๆ

ในขณะเดียวกัน เดินๆ อยู่ ล้มปึ้งลงไป ลมแดดกิน อาจารย์อยู่ญี่ปุ่นตอนก่อนโควิดปีนึง แล้วตอนร้อนๆ มันร้อนมากเลยนะ เราเห็นคนแก่ที่เดินๆ อยู่ กำลังจะไปขึ้นรถไฟฟ้าหรืออะไรเนี่ย ร่วงลงไปเป็นแบบไม้ร่วงเลย ร่วงปุ๊บ เห้ย หมอมาแล้วว่ะ เรายังไม่รู้จะทำยังไงดี หมอมาแล้ว อันนี้เป็นพิเศษเลย คือช่วงหน้าร้อนจะมี mobile unit เดินอยู่ในชุมชน แล้วเขามีการวิเคราะห์แล้ว คนแก่เนี่ยเดินร้อนๆ เข้าไปในรถไฟฟ้า แล้วรถไฟฟ้าจะทำให้เย็น แล้วเขาจะเป็นลม พอมันออกมา ปรับตัวไม่ได้ ก็ป่วย พูดง่ายๆ คือเขาใช้ data ด้วย เอามาวิเคราะห์แล้วจัดเตรียมมาตรการไว้ 

ดังนั้นอาจารย์คิดว่า ไม่ได้ให้ทนแบบไม่มีที่สิ้นสุด แต่ระหว่างการทนนี้ การทนเอาเนี่ย ขอให้ทำตัวเองให้แข็งแรงเท่าที่ศักยภาพตัวเองจะทำได้ ขอให้พยายามหาความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเองให้พอจะพึ่งตัวเองได้ไหวในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ขอทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน รัฐต้อง speed up มาก ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงรายพื้นที่ ราย segment ของประชาชน แล้วจัดให้มีมาตรการพิเศษบางช่วงให้มีภัยบางอย่างเรารับมือได้ ไม่ใช่ภัยทุกอย่างแม่งน่ากลัวโคตรๆ ไม่ใช่ 

จะมีจังหวัดที่อยู่ในโซนเขียวเหลือง ประชาชนช่วยนิด รัฐช่วยหน่อย พยุงกันไปได้ ไม่ต้องทำอะไรมาก มันมีความเสี่ยงบางประเภท อยู่โซนช่วงแดง ประชาชนช่วยได้นิดเดียว รัฐต้องทำเยอะมาก รัฐก็ต้องทำ ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องทำซะหน่อย แต่มันก็ต้องเกิดจากการที่รัฐทำงานเชิงรุก ท้องถิ่นก็ต้องวิเคราะห์หน่อย พื้นที่ตัวเองเป็นยัไง คนของตัวเองเป็นยังไง ใช้มาตรการแบบไหน ก็ต้องปลดล็อกจากส่วนกลางด้วย

exit strategy ทางออกที่ต้องพร้อมเผชิญปัญหา

การลุกขึ้นคิด exit strategy วันนี้เลยถามว่า เป็นการไปดักหน้าไหม ไม่ใช่การดักหน้า การคิดได้ว่าวันนี้ต้องเริ่มออกแบบ exit strategy ถือว่าทัน จังหวะนี้สงครามยังไม่จบ จะเริ่มคิดถึงเรื่อง exit strategy ถือว่าทัน แต่ยังไม่ถือว่าดักหน้าทันแล้ว แต่ใน exit strategy ต้องคิดด้วยว่า สมมติวันที่ 30 เมษายน จะเริ่มปลดล็อกนั่นหมายความว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ทุกอย่างต้องมีการออกแบบการจัดการไว้รอเต็มกำลังแล้ว และคิดดักหน้าไว้เลยว่า หาก exit แล้วไม่เข้มงวด มีรูรั่วอันเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งจากประชาชนและการจัดการภัครัฐ เราจะมีมาตรการตอบโต้ทันทีได้เช่นไร เพื่อบรรเทาความรุนแรงนั้นๆ ให้ไม่เกิดวิกฤติรอบใหม่อีก 

คำว่าดักหน้าของอาจารย์คือ ผ่าน 15 วัน 18 วันต่อจากนี้ไป แล้ววันที่ 1 จะ exit ทุกจังหวัดจะ exit เหมือนกันได้หมดไหม แล้วถ้า exit แบบค่อยๆ exit ตามเงื่อนไขของผู้ป่วยระดับต่างๆ ทำได้จริงไหม จังหวัดที่มีด่าน มีเคสป่วยน้อย ควรจะปล่อยได้แล้ว แต่ที่เคยมีด่านจะเอายังไงตรงพื้นที่ด่าน เพราะเมื่อไรที่คุณบอกว่าคุณปลดล็อกนะ ประชาชนเข้าแน่ แรงงานกลับแน่

แล้วแรงงานที่ไปอยู่จังหวัดนั้น ที่ไปจาก กทม. ถ้าสมมติ กทม. ยังไม่เปิด แต่จังหวัดนั้นเปิด เขาจะพยายามกลับมา ถูกไหม เพราะเขารู้สึกว่ามันเปิดแล้ว จะมาทำมาหากิน ก็ไม่ได้ แล้วถ้าเกิดเขามาทำมาหากินไม่ได้ มันจะเกิดปัญหาอาชญากรรมหรือความรุนแรงตรงนั้นไหม เราก็ไม่รู้ แล้วถ้าเขาพยายามกลับมา มารับจ้างเล็กๆ น้อยๆ แอบรับจ้าง พยายามดั้นด้นมาหาอีก เขาก็อาจจะเป็นการนำความเสี่ยงกลับมาอีก หรือเขาจะมาติดจากที่นี่แล้วกลับบ้านไปแพร่เชื้อได้ สมมติว่ามาหางานสองสามวันหาไม่ได้แล้วก็กลับบ้าน พูดง่ายๆ คือต้องจัดการกับ neighbor mobility ทั้งในแง่ local sustain กับการที่จะกลับมา 

ดังนั้นสำหรับอาจารย์ วันนี้ทันแล้ว แต่ถ้าจะให้ดี ต้องคิดสองเรื่อง เรื่องแรก โรคมันไม่ไปไหนหรอก จากวันที่ออก พรก. มาเข้าวันที่ 14 วันที่ 21 มันอาจจะทิ่มหัวลงจริงๆ เพราะเราทำ Social distancing กันหนักมาก แต่การทิ่มหัวลงนี้ ยังมีโอกาสกระพือขึ้นมาใหม่ ดังนั้นมาตรการตรงนั้นต้องมีการดักรอหน้าไว้เลยว่าจะทำอย่างไร 

สอง exit strategy ต้องคิดเรื่องของหัวเมืองต่างๆ ที่มีความไม่เท่าเทียมกัน คนที่ไม่เท่าเทียมกันแต่ละ segment จะกลับมาอย่างไร แล้วแต่ละคนจะ interact กันอย่างไร แล้วมันจะวางมาตรการกันอย่างไร อันนี้ต้องคิดต่อ 

คราวนี้จะเป็นจังหวะช่วงชิงการกลับมาเป็นเมืองหลักในการพยุงภาพรวมของประเทศได้หรือไม่ การท่องเที่ยวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้เขตเมืองรองและเมืองเล็กได้ก่อนไหม การรื้อฟื้นอาชีพและดึงดูดทุนเข้าสู่พื้นที่ ไปพร้อมๆ กับการวางมาตรการการจัดการของรัฐในการช่วยเกื้อกูล social distancing ในขณะที่ทำการเสริมการแพทย์และสาธารณสุขให้พร้อมในพื้นที่เลย จะเป็นระบบที่พร้อมอย่างมีประสิทธิภาพต่อความเสี่ยงสูงมาก

ปัญหาที่แก้ไม่ได้

ถ้าขอพรได้ข้อหนึ่งจะขออะไร จะขอให้ความเหลื่อมล้ำของประเทศเหลือแคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะมันเป็นเรื่องเดียวที่อาจารย์คิดว่ามันรอการจัดการแบบค่อยเป็นค่อยไปในภาวะวิกฤติไม่ได้ พูดง่ายๆ คือการจัดการภัย คนมันจะแข็งแรงได้ มาจากการไขว่คว้าหาข้อมูล เตรียมตัวเองให้ดี อันนี้มันให้การศึกษา มันช่วยกันได้ แต่ไอ้ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความไม่มีจะกิน ความด้อยกว่า อันนี้ไม่รู้จะช่วยยังไง ฉันทำไม่ได้

อย่างวันก่อนดูรายการที่เรียกบริจาคเงิน น้ำตาไหลพราก อยู่ๆ ใจอ่อนขึ้นมา คือยายเข็นรถขายของ หลานหยุดเรียนมาช่วยขาย ผักมันเหี่ยวแล้ว คือไม่มีใครซื้อแล้วอะเรื่องของเรื่อง แล้วก็ร้อน ไม่มีอะไรกิน แล้วตาก็ป่วยอยู่บ้าน ลูกหลานทิ้งไปไหนแล้วก็ไม่รู้ แล้วอาจารย์จะไปบอกให้เขาเข้าใจว่าป้าเดินตากแดดไม่ไหวหรอก ป้าเอาน้ำออกจากบ้านไปซักกระติกไหม เอาที่ไหวอย่าเดินทั้งวัน เข้าร่มก็ขายไม่ได้ พอเดินตากแดดผักก็เหี่ยว ใครจะซื้อ คือ เราจะให้คนพวกนี้รู้ตัวยังไง อาจารย์ทำไม่ได้ถ้าความเหลื่อมล้ำมันยังเป็นตัวดึงอยู่อย่างนี้ 

ในกำลังของอาจารย์ อาจารย์จะสื่อสารยังไง จะเอาความรู้ไปให้ได้แค่ไหน จะช่วยได้แค่ไหน มันก็ทำไม่ได้ อันนี้ถ้าขอพรได้ ไม่ได้ขอให้ความเหลื่อมล้ำหมดไป อาจารย์ยังเชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำมันยังทำให้มีรสชาติอยู่บ้าง มันควรมีในระดับที่ไม่มีคนเดือดร้อนและให้คนที่มีมากกว่าเกื้อกูลสังคมอย่างมีคุณภาพ แต่ให้ความเหลื่อมล้ำแคบลง พูดง่ายๆ คนรวยไม่ต้องรวยมากแล้ว ขอให้คนจนมันต้องกระเสือกกระสนน้อยกว่านี้หน่อยได้ไหม ถ้าขอได้

สมมติถ้าต้องเป็นนายก อาจารย์จะทำอะไร

อาจารย์จะสั่งให้ทุกหน่วยงานที่ต้องบริการภาคประชาชน ทั้งส่วนกลางและพื้นที่ ทำชุดข้อมูล segment ในการจัดการเรื่องความปลอดภัยภาคประชาชนให้เป็นชุดมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ นั่นหมายความว่า ถ้าเป็นเรื่องโควิด สาธารณสุขต้องเป็นตัวตั้ง สาธารณสุขต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจ เพื่อให้มาตรการทางการแพทย์เป็นหลัก มาตรการในการจัดการเพื่อช่วยให้การแพทย์ทำงานได้ดี 

อันดับที่สอง มาตรการทางสังคมที่รัฐต้องช่วยจัดการและต้องทำเพื่อสนับสนุนมาตรการทางการแพทย์ ดังนั้นการออกแบบข้อมูลมันจะต้องมีมาตรฐานหนึ่ง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้เสร็จ ภายในสิ้นปีนี้ ไม่เสร็จก็สั่งย้ายให้หมด อาจารย์จะเป็นคนตรวจเองด้วยเพราะอาจารย์เป็นนายก 

โจทย์มันหนักพอแล้วตอนนี้ คนน่าจะช่วยกันทำ เริ่มเห็นแล้วว่าสาธารณสุขน่าจะเป็นหน่วยงานแรกที่ทำได้แล้ว เพราะมีเงื่อนไข ดังนั้น ถ้าโรคภัยมันทำข้อมูลได้ งานสาธารณภัยอื่นๆ ก็จะทำตาม ถามว่าทำไมอาจารย์จะทำแบบนี้ เพราะหากข้อมูลมันเจ๋ง ข้อมูลมันดี big data มันใช้ได้ อาจารย์เชื่อมันในศักยภาพคนไทย คนไทยเป็นชาติที่เก่ง นักวิเคราะห์มีเยอะ นักวิชาการมีเต็มไปหมด จะทะเลาะกันก็ได้อาจารย์ไม่ว่า ถ้าข้อมูลมันเป็นมาตรฐานเดียวกัน ใครมันจะเก่งกว่าใคร ใช้โมเดลวิเคราะห์แบบไหน ถ้าข้อมูลมันตรงกันหมดแล้วมันครบ อย่างฉันเนี่ย ฉันเป็นนักวางแผน ฉันเป็นนักจัดการระบบ 

คิดแบบคนนั้น คนนี้ การรับมือกับหลากหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจารย์จะมีทางเลือกเยอะเลย เช่น แบบที่ 1 มันเหมาะกับจังหวัดนี้ก็ส่งไปโน่น เห้ยแต่แบบนี้เหมาะกับทางนี้มากกว่า ก็ใช้กับทางนี้ แล้วก็มาตรการมันจะทำงานได้ แล้วถ้าเราทำแบบนี้ได้จริงๆ การใช้อำนาจบน พรบ. ใด หรือ พรก. ใดเพื่อให้เกิดการใช้มาตรการแบบฟันฉับลงไป มันจะมีเหตุผลและมีข้อมูลรับรอง คนตัดสินใจก็จะมั่นใจ คุณตัดสินใดได้เร็วขึ้น คนยอมรับได้ง่ายขึ้น แล้วเวลามันจะพลาด มันก็พลาดเพราะที่สุดแล้วข้อมูลมันอาจจะทำให้เราอาจจะตัดสินใจแบบนั้น สถานการณ์มันพลิกผันจริงๆ แต่เราเองก็ทำสุดความสามารถแล้ว ต้องให้มันตอบแบบนี้ได้ ไม่ใช่ทุกครั้ง ต้องมากังวลอยู่กับจะทำอะไรยังไงหรือจะตัดสินใจยังไง 

แล้วถ้าข้อมูลมันพร้อม การออกแบบบริการสาธารณะหรือการออกแบบการพัฒนาพื้นที่ใดๆ ก็จะเหมาะกับเขาจริงๆ เหมาะกับความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่เขาเกิดขึ้นจริงๆ มันจะเหมาะสมกับเขาได้ง่ายขึ้น แล้วจะเป็นไปได้แบบเดียวกัน การได้นั้นจะเสมอกัน จะทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้รับการเกื้อหนุนบ้าง อยู่บนกำลังของเขาเองบ้าง อาจารย์ว่าสังคมมันจะไม่ใช่แค่พัฒนาขึ้น ความเหลื่อมล้ำมันจะเริ่มแคบลง มันจะทำให้คนมีความสุขในการเห็นคนอื่นมีความสุขที่ไม่เท่ากับเราได้ง่ายขึ้น 

บทความ “Big Data ที่ดี คือทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหาภัยพิบัติ คุยกับ ผศ. ดร. ทวิดา กมลเวชช ในวันที่ไวรัสป่วนเมือง” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor