23/02/2022
Life

คุยเรื่อง เมืองไม่น่าอยู่อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องอยู่รอดจากโลกร้อนด้วย

ชยากรณ์ กำโชค
 


‘เมือง’ เป็นบ้านของผู้คนนับล้านคน 

การกิน การอยู่ การใช้ ล้วนมีส่วนต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกที่นำมาสู่วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน วาระเร่งด่วนของมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘มนุษย์อาจรอดจากโควิด-19 แต่ไม่รอดจากโลกร้อน’ และโควิด-19 ฉายตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าเมืองเปราะบางได้ขนาดไหนเมื่อเจอกับวิกฤตไม่คาดฝัน

เมื่อทศวรรษหน้าบ้านของผู้คนหลายล้านคนในเขตเมืองทั่วโลกมีแนวโน้มจะจมอยู่ใต้น้ำ กรุงเทพฯ หนึ่งในเมืองติดโผ พร้อมรับมือขนาดไหนต่อประเด็นนี้ 

The Urbanis ชวน ‘พรหม’-พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมแห่ง UN Environment Programme (UNEP) และอาจารย์ด้านการพัฒนายั่งยืน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มามองประเด็นนี้ร่วมกัน พร้อมร่วมเสนอแนะหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับกรุงเทพฯ ในการพัฒนาเมืองให้ไม่เพียง ‘น่าอยู่’ แต่ต้อง ‘อยู่รอด’ ด้วย 

หลากเมืองใหญ่ สะท้อนกรุงเทพฯ

ชีวิตที่โลดแล่นไปหลายเมืองใหญ่ผ่านการเรียนปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์และการต่างประเทศ จาก King’s College London ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทด้านนโยบายพลังงานเเละสิ่งแวดล้อมต่อที่ New York University ซึ่งต่อยอดมาจากประสบการณ์ทำงานเป็นผู้ช่วย ไมค์ ฮนดะ (Mike Honda) ส.ส.รัฐแคลิฟอร์เนียขณะนั้น โดยดูแลในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทำให้พรหมสัมผัสได้ถึงนโยบายเมืองที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต 

“เราอ้างว่าประเทศไทยร้อนคนไม่อยากเดิน แต่นิวยอร์กตอนฤดูร้อนก็ร้อนเท่าไทยเลย เราจะโทษเรื่องอากาศอย่างเดียวไม่ได้หรอก มันเกี่ยวกับตัวฟุตบาทด้วย นิวยอร์กกับกรุงเทพฯ มีความคล้ายกัน น่าไปเที่ยวมาก แต่ถ้าถามว่าน่าอยู่ไหมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลเลย บางคนชอบบางคนไม่ชอบ อย่างผมชอบอยู่กรุงเทพฯ ส่วนลอนดอนเป็นเมืองทั้งน่าเที่ยวและน่าอยู่ เขามีระบบบริหารจัดการค่อนข้างดี อาจจะมีประเด็นเดียวที่ไม่น่าอยู่ คือเรื่องค่าใช้จ่ายสูง แต่เรื่องคุณภาพชีวิตลอนดอนดีจริงๆ ไม่ใช่แค่มีสวนสาธารณะ Hyde Park แต่เขามีสวนหย่อมเยอะมาก บางครั้งรัฐบาลของลอนดอนไม่ได้เป็นเจ้าของด้วย เกิดจากเอกชนร่วมกันทำ เรื่องการขับรถยนต์เขาก็มีมาตรการที่ทำให้คนไม่อยากใช้รถ เพราะมีระบบขนส่งหลัก และมีระบบนำส่งผู้โดยสาร (Feeder) เชื่อมเข้าถึงบ้านตัวเองเลย” 

“นี่เป็นอย่างหนึ่งที่กรุงเทพฯ แตกต่างจาก 3 เมือง (ลอนดอน วอชิงตัน ดี.ซี. และนิวยอร์ก)  คือผมใช้ชีวิตโดยไม่ต้องมีรถได้อย่างสะดวกสบาย ขนส่งมวลชนเขาทั่วถึง ไม่ได้บอกว่าของกรุงเทพฯ ไม่ดีนะ รถไฟฟ้ากรุงเทพฯแต่ละสายดีมาก แต่สิ่งที่กรุงเทพฯ ขาดไปจากเมืองอื่น คือ ระบบ Feeder หรือ First mile – Last mile จากบ้านไปสถานีและจากสถานีไปบ้าน ถ้าบ้านอยู่ในซอยจะไปสถานีรถไฟฟ้า อาจจะระยะทางไกล และไม่สะดวกเท่าไหร่ แต่ที่เมืองนอกคุณสามารถเดินไปได้ หรือมีระบบรถเมล์ทั่วถึงเชื่อมคุณเข้าสถานีใหญ่ บริเวณที่คนอยู่เยอะมีทำระบบ Bike Lane เชื่อมไปสถานี สถานีก็มีที่เก็บจักรยานอย่างปลอดภัย คือเขาออกแบบระบบ First mile – Last mile ได้ดีมาก และกรุงเทพฯ อาจขาดตรงนี้”

‘เมือง’ และ ‘ปัญหาโลกร้อน’ ความสัมพันธ์ที่แยกกันไม่ขาด 

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม พรหมแบ่งออกเป็น 2 มิติด้วยกัน คือ มิติสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น และมิติสิ่งแวดล้อมระดับโลก 

“มิติสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น เช่น ฝุ่น PM2.5 ที่เราคุ้นเคย เรื่องบริหารจัดการขยะ บำบัดน้ำเสียต่างๆ และกทม. มีบทบาทอย่างมาก เป็นความรับผิดชอบของ กทม. เลย แต่จริงๆ แล้วเทรนด์ของโลกตอนนี้เริ่มมองไปถึงมิติปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกแล้ว ซึ่งก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน ต้องยอมรับว่า กทม. ในฐานะองค์กรอาจจะไม่ได้หันมาส่งเสริมเรื่องนี้ขนาดนั้น เพราะมีภาระเรื่องสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นอยู่ แต่เป็นหน้าที่ของผมในฐานะคนทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อยากจะเข้ามาผลักดันให้ กทม. ส่งเสริมเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเมืองเป็นแหล่งมลพิษสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นๆ ทั่วโลก ทาง UN เขาทำแบบสำรวจมาแล้วว่าพื้นที่เมืองที่มีน้อยกว่า 2% ของพื้นผิวโลกทั้งหมด กลับใช้พลังงานมากถึง 78% กลายเป็นว่าเมืองปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 60% หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบจึงต้องมีบทบาทมาช่วยลดมลพิษตรงนี้” 

“แม้ว่าเมืองคือแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน แต่อีกมิติหนึ่งเมืองก็ยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับกระทบสูงด้วย เกิน 50% ของประชากรโลกอยู่ในพื้นที่เมือง และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต  น้ำท่วมเป็นประเด็นของกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ถ้ามีเรื่องโลกร้อนเพิ่มเข้าไปด้วยในอนาคตน้ำท่วมจะเป็นปัญหายิ่งขึ้น หรือประเด็นระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทำให้เกิดสภาวะน้ำหนุน ที่ตอนนี้มีอยู่แล้ว ในอนาคตจะยิ่งหนัก รวมถึงเรื่องคลื่นความร้อน กรุงเทพฯ จะเจออุณหภูมิที่สูงขึ้นไปอีก ประเด็นเหล่านี้ทำให้หลายประเทศอย่างอินโดนีเซีย และอียิปต์ มองถึงการย้ายเมืองหลวงด้วยซ้ำ ประเด็นสุดท้ายพื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนรายได้ต่ำเยอะ คนกลุ่มนี้เราเรียกว่าผู้เปราะบางทางด้านโลกร้อน หรือ Climate resilience การรับมือต่อโลกร้อนของเขาต่ำมาก และได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าคนที่มีฐานะ เช่น เวลามีน้ำท่วมเขาฟื้นตัวได้ยาก นี่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน เวลามีผลระทบจากโลกร้อนคนที่จะมีปัญหามากที่สุดคือ คนรายได้ต่ำในพื้นที่เมือง” 

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของทุกคน คุณจะเป็นคนรวยหรือคนจนคุณก็เจอปัญหาอากาศแย่หรือน้ำท่วมเหมือนกัน แต่ที่แย่ที่สุดคือคนรายได้ต่ำ รัฐจึงต้องเข้ามาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะรัฐมีหน้าที่ดูแลประชากรทุกคน โดยเฉพาะคนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ถึงแม้ว่าเอกชนจะมีความตื่นตัวเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เราหวังพึ่งเอกชนอย่างเดียวไม่ได้หรอก มีมาตรการที่เรียกว่า Carrot and stick ถ้าทำดีจะได้รับรางวัล ถ้าทำแย่อาจต้องโดนทำโทษ รัฐพิจารณาตรงนี้ไหม และร่วมมือกับเอกชน เพราะคุณทำคนเดียวไม่ได้ เอกชนและภาคประชาสังคมก็ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกันเป็นภาคี แต่คนที่จะมาช่วยประสานทั้งหมดคือรัฐ” 

ความตื่นตัวของ กทม. ต่อปัญหาโลกร้อน 

ที่ผ่านมา กทม. มีแผนแม่บทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการร่างฉบับใหม่ พ.ศ. 2564-2573 พรหมมองว่า ยังเขียนกว้างๆ อยู่ แต่กรอบความเข้าใจค่อนข้างชัดแล้วว่ากรุงเทพฯ มี 2 บทบาท คือ การลดมลพิษ และ การป้องกันภัย 

“บทบาทแรกการลดมลพิษ เราต้องไปดูก่อนว่ามลพิษเกิดขึ้นจากที่ไหนบ้าง ขนส่งกี่เปอร์เซ็นต์ ภาคอาคารกี่เปอร์เซ็นต์  มลพิษที่มาจากการฝังกลบขยะกี่เปอร์เซ็นต์ และเจาะจงไปเลยว่าแต่ละประเด็นคุณจะมีมาตรการอย่างไร มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Silver bullet อยู่แล้ว ที่หนึ่งมาตรการจะแก้ได้ทุกอย่าง ต้องดูว่าภาคอาคารควรทำอย่างไร กทม.จะเข้าไปช่วยสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้เอกชนปรับปรุงอาคารได้ไหม เช่น เปลี่ยนกระจกให้เป็นสองชั้น ก็จะทำให้ตัวอาคารใช้พลังงานลดลงค่อนข้างเยอะ หรือประตูเปิด-ปิด หลายตึกที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้เขาจะเน้นเลยว่าประตูเขาต้องเป็นประตูแบบหมุนที่ทำให้แอร์ไม่ออก เมื่อไม่มีความร้อนจากข้างนอกเข้ามา อุณหภูมิก็เสถียร และใช้พลังงานน้อยลง หรือหลายอาคารเขาทาหลังคาเป็นสีขาวเเพราะแสงจะสะท้อนกลับไป ทำให้ตัวอาคารไม่เก็บความร้อน นี่เป็นแนวทางการปรับปรุงอาคารให้ใช้พลังงานน้อยลง”

“ส่วนขนส่งต้องดูว่าต้นทางอยู่ที่ไหนปลายทางอยู่ที่ไหน เราจะดูเรื่องการปล่อยควันดำได้ไหม และจะลดอย่างไร อย่างที่สอง กทม. ต้องดูเรื่องการป้องกันภัย เช่น ภัยจากน้ำท่วม หรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น กทม.ทำอะไรได้บ้าง ผมมองว่าประเด็นของ Nature-based Solutions ที่ทาง UddC ศึกษาเรื่องนี้ก็เป็นแนวทางที่ควรจะผลักดัน และกทม. อาจจะต้องทำเรื่องระบบแจ้งเตือนที่สามารถแจ้งเตือนได้ว่าช่วงไหนฝนตก มีสิทธิ์น้ำท่วม หรือน้ำจะหนุนตอนไหน มันมีอยู่แล้ว  แค่ต้องทำให้ทันสมัยและดีขึ้น”

“ตอนผมทำงานเป็นผู้ช่วย ส.ส. รัฐแคลิฟอร์เนีย ประมาณช่วงประมาณปี 2012-2013 ตอนนั้นกระแส Climate change ยังอยู่ในวงแคบ อยู่ในวงวิชาการ วงของนักสิ่งแวดล้อม และพวกองค์การต่างประเทศต่างๆ พอมาวันนี้ผมรู้สึกว่าประชาชนรู้จักและเข้าใจคอนเซปต์นี้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ทุกคน ถ้ามองตอนนี้อาจจะเป็นเฉพาะกลุ่มผู้มีการศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คนส่วนมากอาจจะยังไม่ได้แคร์ด้านสิ่งแวดล้อมขนาดนั้น กทม. ก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องส่งเสริมเรื่องการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทำให้เขารู้สึกว่ามันใกล้ตัว ไม่ใช่เรื่องห่างเหิน เพราะว่าคนที่จะได้รับผลกระทบก็คือคุณ อีกอันหนึ่งที่ กทม. สามารถทำได้คือ เริ่มจากตัวเอง กทม.เป็นองค์กรที่ปล่อยมลพิษเยอะเหมือนกัน ศาลาว่าการ 2 แห่ง สำนักงานเขต 50 แห่ง โรงเรียนอีก 400 กว่าแห่ง มันคืออาคารใหญ่และใช้พลังงานเยอะ เราเริ่มจากตัวเองได้ไหม เช่น ศาลาว่าการติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟ หรือรถผู้บริหาร รถเก็บขยะ รถลดน้ำต้นไม้ เราเปลี่ยนเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้าได้ไหม ประชาชนจะเห็นว่ากทม.เริ่มปรับตัวแล้ว เขาให้ความสำคัญเรื่องนี้ นี่เป็นการสร้างการตระหนักรู้ไปในตัว และเป็นสิ่งที่กทม.ทำได้เอง เป็นอำนาจของตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่แน่นอนว่าจะมีเรื่องของต้นทุน ต้องมาคิดอีกทีว่ามีโมเดลไหนบ้างที่ทำได้” 

‘Smart city’ การพัฒนาเมืองยั่งยืน ต้องไปให้ไกลกว่าเรื่องเทคโนโลยี 

เมืองมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่ ณ เวลานี้ ‘ความยั่งยืน’ กลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ทั่วโลกยึดเป็นหมุดหมาย ความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม 

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมก็คือ ปัญหาสังคมและปัญหาทางเศรษฐกิจ เราต้องโยงกันหมด อย่าแยกกัน อย่างเรื่อง PM 2.5 มันไม่ใช่แค่ประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นสาธารณสุขด้วย เพราะเมื่อคนป่วยไปโรงพยาบาลก็คือ 1 วันที่เขาไม่ได้ค้าขาย มันจึงเป็นปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาปากท้องด้วย ยิ่งกว่านั้น ถ้ากรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่มลพิษแย่มาก นักท่องเที่ยวก็ไม่อยากมาเที่ยว ผมเคยได้ยินด้วยซ้ำว่าโครงการสร้างบ้านพักตากอากาศให้คนจีน บางอันแห่งอาจจะถูกแคนเซิลไปเพราะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อแล้วจากปัญหาเรื่องมลพิษ” 

“ถ้าเรามองว่าเป็นปัญหาเดียวกัน สามารถใช้ solution เดียวทำได้หลายเด้งได้ ทำนโยบายที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้ ตอนที่ผมอยู่นิวยอร์ก ทั้งสองปีที่ผมอยู่ ผมแทบไม่ได้เห็นตึก Empire State เลย เพราะเขากำลังปรับปรุงตึกทั้งตึกด้วยการเปลี่ยนกระจก ติดผนังใหม่หมดเพื่อลดการใช้พลังงาน เขาลงทุนไปเยอะมาก และคำนวนเลยว่าภายใน 7 ปีเขาคุ้มทุนแล้ว และแต่ละปีเขาจะจ่ายค่าพลังงานน้อยลงเรื่อยๆ ตรงนี้ช่วยทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาเศรษฐกิจในการลดค่าใช้จ่ายไปพร้อมกัน หรือพื้นที่สวน ถ้าเราทำสวนหย่อมให้ดีขึ้น และจัดระเบียบให้ดีขึ้น ก็อาจเป็นได้มากกว่าพื้นที่ออกกำลังกายตอนเช้าหรือตอนเย็น เสาร์อาทิตย์อาจจัดเป็นงานแฟร์ให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายของได้ กทม.ก็ช่วยจัดระเบียบความสะอาดอะไรต่างๆ” 

“หลายๆ เมืองทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยด้วย ชอบใช้คำว่า ‘Smart city’ และเวลาพูดถึง  Smart city คนจะพูดถึงแค่การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ ซึ่งดีแน่นอน แต่มีหลักคิดอีกอันหนึ่งที่ว่า Smart city มากกว่าเรื่องเทคโนโลยี  Smart city มีมิติของสิ่งแวดล้อมด้วยว่าทำอย่างไรให้ประชากรในเมืองนั้นอยู่บ้าน ไปทำงาน ช็อปปิ้ง กินข้าว โดยไม่ใช้รถส่วนตัว อันนี้คือ smart ของจริง เพราะว่าถ้าคุณมีเทคโนโลยีมากมายแต่คุณยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเดินทางอย่าง smart ได้ มันก็ไม่ได้ smart ขนาดนั้น ถ้าคุณอยู่ที่ออฟฟิศแต่ไปกินข้าวตอนพักเที่ยงต้องใช้รถยนต์ ทำให้ 1. เกิดปัญหารถติด 2. สองเกิดปัญหามลพิษที่ไม่จำเป็น ถ้าระยะไม่ได้ไกลและเรามีฟุตบาทที่ดี มีสกายวอล์ก เขาเลือกจะเดินได้ เราต้องดูว่าพฤติกรรมของคนเป็นอย่างไร และช่วยเรื่องให้เขาเข้าถึงได้”

“พูดเรื่องปัญหาไปเยอะ แต่สุดท้ายเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นโอกาสด้วย ไหนๆ เราจะพัฒนาก็ทำให้ได้สองเด้งเลย พยายามหานโยบายที่ช่วยเรื่องเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน อีกอันหนึ่งที่หลายเมืองเขาเริ่มมองกันก็คือ ‘งานสีเขียว’ (Green Jobs) เราจะสร้างสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้ ล้วนต้องมีคนช่วยทำสิ่งนั้น และอาจเป็นโอกาสเพิ่มรายได้ให้แก่คนตกงานหรือคนสนใจมาทำตรงนี้ในฐานะอาสาสมัคร ซึ่งในอเมริกาเขามีโครงการที่เรียกว่า Climate Corps อยู่ เอาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้านนี้ และช่วยสร้างรายได้ให้แก่พวกเขา”

ผู้ว่าฯ กทม. คือ ‘แม่บ้าน’ ปัด กวาด เช็ด ถู เพื่อคนเมือง

ปัจจุบันพรหมเป็นหนึ่งในทีมของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยดูด้านสิ่งแวดล้อมตามความเชี่ยวชาญ และจากการลงพื้นที่หลากหลายเขต ทำให้เขาเล็งเห็นความแตกต่างของปัญหา บทบาทของผู้ว่าฯ กทม. ในสายตาของพรหม จึงเปรียบเสมือน ‘แม่บ้าน’

“คนชอบพูดว่า กทม.เหมือนยักษ์ไร้กระบอง เหมือนอำนาจเยอะ แต่ถ้าดูให้ลึกอำนาจไม่ค่อยมีนะครับ คนคาดหวังให้กทม. แก้ปัญหารถติด แต่จะแก้ได้อย่างไร เพราะอำนาจจริงๆ อยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รถเมล์ก็อยู่ภายใต้ ขสมก.  กทม. มีบทบาทเป็น Facilitator ทำงานใกล้ชิดประชาชน เข้าใจปัญหา และมีหน้าที่ไปกดดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะช่วยเรื่องนี้ 

เราถึงต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.  ได้แล้ว เพราะผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเขาถูกกดดันโดยประชาชน เขามีความจำเป็นต้องไปลุยกับงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าคุณไม่ได้มีแรงกดดันจากประชาชน คุณอาจจะไม่ได้กระตือรือร้นมากนัก” 

“อีกประเด็นของกทม. คือคนจะชอบพูดว่า ผู้ว่าฯ กทม. คือพ่อบ้าน แต่ผมมองว่างานกทม. คืองานแม่บ้านมากกว่า กทม. มี 50 เขต แต่ละเขตปัญหาแตกต่างกันสุดๆ เราต้องเข้าใจว่าแต่ละเขตไม่เหมือนกัน ผมเคยไปหาเสียงที่เขตหนองจอก รถติดนะครับ แต่ไม่ได้ติดไฟเขียวไฟแดง ติดวัวกำลังเดินข้ามถนน การลงพื้นที่จึงสำคัญ เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย จากคนที่รวยที่สุดถึงคนที่รายได้ต่ำ จากบ้านที่ใหญ่มากจนถึงชุมชนแออัด ถ้าคุณไม่ลงพื้นที่เลย คุณก็ไม่รู้หรอกว่านโยบายที่จัดทำขึ้นอาจใช้ไม่ได้จริงกับเขตหรือคนในชุมชน 

“ผู้ว่าฯ ดูภาพกว้างทุกประเด็น แต่ก็ต้องกระจายอำนาจให้แต่ละเขตมีบทบาทของตัวเอง มีงบประมาณใช้ มีแนวทางในการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเขตนั้นโดยตรง และทำงานชิ้นเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละเขตให้ดี อย่างเรื่องฟุตบาทและบริหารจัดการขยะ” 

“สุดท้ายกทม. ต้องมีบทบาททำอย่างไรให้มี Inclusive ประชาชนทุกคนในเมืองได้ผลประโยชน์เท่าๆ กัน เราเห็นการลงทุนเรื่องเมกะโปรเจกต์เยอะ สวนใหญ่ในเมืองเต็มไปหมด แต่คุณจะหวังให้คนขับรถ 6 โมงเช้าจากนอกเมืองมาสวนลุมพินีหรือสวนเบญจกิติไม่ได้หรอก เราต้องส่งเสริมให้มีสวนหย่อมระดับแขวง ระดับเขต ให้คนสามารถเดินไปที่สวนจากบ้านได้ หน้าที่กทม. จึงต้องทำให้ Inclusive ที่สุด” 

“คนจะชอบพูดว่ากรุงเทพฯ เป็นสวรรค์ของคนมีตังค์ แต่ทำอย่างไรจะให้เป็นสวรรค์ของคนทุกชนชั้นด้วย ต้องเริ่มจากงานเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละ ถ้าทำฟุตบาทดี คนก็อยากจะเดิน หรือจัดระเบียบพื้นที่ค้าขายให้ดี ช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของหาบเร่แผงลอย และถ้าบริหารขยะตกค้างทั้งหมดก็ช่วยให้เมืองน่าอยู่ขึ้น ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยากนะครับ แต่มันก็คืองานของ กทม. จริงๆ” 

สำนึกพลเมือง: ประชาชนก็เปลี่ยนเมืองได้  

ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ต่างก็เป็นพลเมืองของพื้นที่ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การเปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่ผ่านการออกมาส่งเสียงมีให้เห็นมากมายในต่างประเทศ และพรหมย้ำความสำคัญประเด็นนี้ผ่านการยกตัวอย่าง The High Line  สวนสาธารณะลอยฟ้าด้านทิศตะวันตกของเมืองแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ที่มีความยาวกว่า 2.33 กิโลเมตร 

“นิวยอร์กมีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะ แต่มีสถานที่หนึ่งที่คนให้ความสนใจมากคือ The High Line  ช่วงปี 1930 มันเคยเป็นทางรถไฟเข้าเมืองนิวยอร์ก ก่อนเลิกใช้ไปในปี 1980 และมีแผนว่าจะทุบทิ้ง แต่ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า Friends of the High Line มารวมตัวกันเพื่อคุยกับผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กขณะนั้นซึ่งคือ ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) ว่าอย่างทุบทิ้งได้ไหม เพราะเป็นเอกลักษณ์ของเมือง ทางรถไฟปล่อยทิ้งไว้นาน ธรรมชาติเริ่มกลับคืนมาแล้ว เราขอเอาคนมาออกแบบเก็บความดั้งเดิม เก็บธรรมชาติเอาไว้ และทำให้เป็นทางเดินเท้าได้ไหม เพราะเขารู้ว่าถ้า High Line ถูกทุบไป คงมีเอกชนเข้ามาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย เพราะเป็นพื้นที่ริมน้ำด้วย เขาจึงมีการพูดคุยกับประชาชนที่อาศัยอยู่ละแวกนั้นเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วม มีการระดมทุน และจัดแข่งขันกันดีไซน์ แบ่งเป็นกิโลเมตรนี้คนนี้ดีไซน์ อีกกิโลเมตรอีกคนดีไซน์ และมีการร่วมมือที่ดีกับสำนักสวนของรัฐบาลเมืองนิวยอร์ก” 

“ผมรู้สึกว่านี่เป็นโครงการที่ดีมากสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน และผมเชื่อจริงๆ ว่าประชาชนมีความเก่ง ภาคเอกชนก็เก่ง กทม.มีหน้าที่ประสานงาน มีหน้าที่หาพื้นที่ หรือหาโครงการที่เปิดโอกาสให้เอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน และต้องฟังคนที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงมากที่สุด เพราะเขาคือคนที่มาใช้งาน กทม.มีหน้าที่แค่รับฟังแล้วนำไปสานต่อ แต่คนที่รู้จริง คนที่เก่งคือประชาชน คุณต้องฟังประชาชน” 

“ไม่นานมานี้ผมได้พูดคุยกับข้าราชการ กทม. คนหนึ่ง ท่านได้พูดอะไรที่ผมเห็นว่าน่าสนใจท่านบอกว่าเวลากทม. ทำโครงการ บางครั้งโครงการไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดรายละเอียดหรือมิติต่างๆ เหมือนมองว่าต้องมี Output อย่างสิ่งก่อสร้างออกมา แต่อาจจะไม่ได้มองถึง Outcome หรือผลสัมฤทธิ์ ว่าเมื่อมีสิ่งก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างนั้นคนมาใช้หรือเปล่า มีความเห็นชอบจากประชาชนหรือไม่ แผนกิจกรรมในโครงการนั้นคืออะไร และทำอย่างไรให้โครงการนั้นยั่งยืน มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ เช่น ทำแหล่งน้ำที่สวยมาก แต่ลืมคิดว่าแหล่งน้ำควรต้องมีถนนรอบแหล่งน้ำไหม ให้คนมาใช้ออกกำลังกาย มีการดูแลความสะอาด เก็บขยะในน้ำ หรือทำเรื่องน้ำเสียหรือยัง ซึ่ง Outcome เหล่านี้จะเกิดขึ้นถ้าคุณมีส่วนร่วมจากประชาชน”  

สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกรุงเทพฯ กับการผลักดันเชิงนโยบายเมือง พรหมให้ความเห็นว่า มีบางกลุ่มที่สนใจเรื่องนี้เป็นทุนเดิมอยู่ เช่น ประธานชุมชน แต่สิ่งที่อยากให้มีเพิ่มคือ การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนและมีส่วนร่วมของเสียงคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง 

“กทม.สามารถนำเขาเข้ามาในระบบได้ ผ่านการใช้ระบบดิจิทัล อย่างเมืองนอก เขาจะมีการทำ Town Hall ออนไลน์ คนก็มามีส่วนร่วมผ่านเว็บไซต์ได้ มีการตั้งคำถามว่าถ้าคุณมี 500 เหรียญสหรัฐฯ คุณอยากจะเอา 500 เหรียญสหรัฐฯ ไปลงตรงไหน ถ้าจะทำสวนก็มีดีไซน์สวนออกมาแล้วแบบ 1 2 3 คุณเลือกได้ชอบแบบไหนมากที่สุด อันไหนตอบโจทย์คุณ คุณมีส่วนช่วยในการออกแบบตรงนั้น ผมว่าสิ่งสำคัญคือต้องเอาคนรุ่นใหม่หรือคนที่ไม่ได้ความเกี่ยวข้องกับชุมชนมาทำตรงนี้เหมือนกัน และดิจิทัลมันช่วยได้จริงๆ” 

 “อีกเรื่องหนึ่งคือการระดมทุน (Crowdfunding) ถ้าประชาชนมีส่วนในการออกเงิน ไม่มากก็น้อยจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของสิ่งนั้น โมเดลหนึ่งที่ผมคิดว่าน่ารัก คือสวนสาธารณะ Hyde Park ในอังกฤษ เขาจะมีเก้าอี้และสลักชื่อของคนที่บริจาค ซึ่งทำให้เขามีความผูกพันธ์กับเก้าอี้ตัวนั้น เวลาไปกับเพื่อนก็จะพาไปดูว่า นี่เก้าอี้ของไอนะ มีชื่ออยู่ด้วย มันเหมือนมีความผูกพันและอยากทำให้เขากลับมาใช้ตลอด ซึ่งเก้าอี้ตัวหนึ่งไม่ได้จำเป็นว่าต้องเป็นบุคคลเดียวคนอื่นก็แชร์กันได้ อาจระดมทุนแบบดั้งเดิม ลงขันกัน หรือผ่านระบบออนไลน์ Crowdsourcing ว่าอยากจะทำอะไร และค่อยลงเงินกันผ่านระบบดิจิทัล” 

คำตอบของพรหมสะท้อนให้เห็นภาพรวมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมืองจะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับรัฐเป็นผู้กำหนด แต่เมื่อการพัฒนาสร้างผลกระทบมหาศาลต่อคุณภาพชีวิตของเราทุกย่างก้าว นี่อาจถึงเวลาที่ทุกคนในฐานะพลเมืองผู้ขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร จะออกแบบอนาคตเมืองที่เราต้องการร่วมกัน เพราะหากไม่ลงมือทำอะไร คนที่มีชีวิตอยู่ รวมถึงคนรุ่นต่อไปอาจตกอยู่ในอันตราย จากวิกฤตโลกร้อนที่รอเวลากลืนกินเรา

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
.

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS


Contributor