20/02/2023
Life

‘ยังธน’ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หยิบความสนุกลุกมาพัฒนาเมือง

ชยากรณ์ กำโชค
 


ภาพประกอบ: ยังธน

คนธรรมดาอย่างเราจะทําอะไรเพื่อเมืองได้บ้าง?

เชื่อว่าในช่วงเวลาที่ประเทศและบ้านเมืองเต็มไปด้วยปัญหาหลากหลายด้าน รอให้รัฐเข้ามาแก้ไข แต่เท่าไหร่ก็เหมือนว่าปัญหานั้นจะไม่ได้รับการมองเห็น หรือหยิบยกมาเป็นประเด็นสําคัญสักที จึงไม่แปลกหากคนที่รอมานานจะอยากลุกขึ้นมาแก้ไขด้วยตัวเอง หนึ่งในนั้นคือ ‘ยังธน’ การรวมกลุ่มกันของคนจากต่างสาขาอาชีพที่มีความสนใจในเรื่องเมืองและเห็นตรงกันว่าจะไม่ทนอีกต่อไป เกิดเป็นเสมือนแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้พลเมืองผู้เป็น active citizen ได้เข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตัวเองในมิติต่างๆ

เพราะเชื่อในพลังของความคิดสร้างสรรค์และการลงมือทํา พวกเขาจึงเปลี่ยนเอาประเด็นทางสังคมที่ดูเข้าถึงยากมาปรับรูปโฉมใหม่ สื่อสารและสร้างการตระหนักรู้ ผ่านกิจกรรมสนุกๆ ที่คนในชุมชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้จริง เช่น ยังธนคัพ ที่สื่อสารประเด็นเรื่องพื้นที่สาธารณะผ่านศึกลูกหนังระหว่างชุมชน และเกมท่องธน เกมออนไลน์กระตุ้นเศรษฐกิจในย่านบางกอกใหญ่ที่พวกเขากําลังพัฒนากันอยู่

กระบวนการทํางานเมืองให้ออกมาสนุกและสร้างการตระหนักรู้ให้คนในชุมชนได้จริง ต้องทําอย่างไร ตามไปคุยกับ จั่น-จิรทิพย์ เทวกุล แทน-แทนไท นามเสน บลู-รวิพล เส็นยีฮีม ฟิล์ม-ชญานนท์ เส็นยีฮีม และ ฮิน-ฐากูร ลีลาวาปะ ตัวแทนจากกลุ่มยังธน

อะไรคือกระบวนการทํางานของยังธนที่ไม่ว่าจะในโปรเจกต์ไหนๆ เราก็ยึดวิธีการนี้มาเป็นหลักในการทํางาน

แทน : น่าจะเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น แชร์ไอเดียกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ทีมยังธนกับคนในชุมชนนะ แต่ยังรวมถึงคนในทีมด้วยกันเองด้วย เพราะพอเรามีสมาชิกที่มาจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายความสนใจ มันก็ต้องประนีประนอมกันในเรื่องของความแตกต่างทางด้านความคิดด้วย

จั่น : ความหลากหลายของสมาชิกก็ทําให้เรามีองค์ความรู้อีกสารพัดเลยที่นํามาแชร์ มาใช้ในงานต่างๆ ได้ เรามองว่านี่เป็นสิ่งสําคัญของกลุ่มภาคประชาสังคม องค์กรจะไปต่อได้ถ้ามีการแชร์ความรู้กันในองค์กร อย่างเราก็มีองค์ความรู้ในเชิงการจัดการ น้องๆ ก็มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ ฟิล์มถนัดด้านดีไซน์ บลูรู้เรื่องการถ่ายวิดีโอ แทนก็มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ฮินเป็นเรื่องของการเก็บรวบรวมดาต้า เมฆ (เมฆ สายะเสวี) ก็จะมีความสามารถในด้านการเจรจา การชวนชุมชน

กระบวนการมีส่วนร่วมสําคัญอย่างไรกับการทํางานเรื่องเมือง

บลู : เพราะเมืองมันมีคนหลายคน ยิ่งเรามีคนในชุมชนมามีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับมีคนมาช่วยวางแผนงานมากเท่านั้น งานมันจะเป็นงานของเมืองจริงๆ ไม่ใช่งานของเรา กระบวนการมีส่วนร่วมมันจึงมีส่วนสําคัญที่ทําให้งานสําเร็จ เวลาเราไปทํากระบวนการมีส่วนร่วมกับแต่ละชุมชน เราจะมีวิธีการอยู่สองแบบคือมีโจทย์ไปแล้วอยากคุยกันเรื่องโจทย์ให้ลึกมากขึ้น กับอีกแบบนึงคือเรายังไม่มีโจทย์แต่เราอยากรู้ว่าเขามีโจทย์ หรือประเด็นอะไรอยากให้เราทําไหม อยากรู้ความต้องการของเขา หรือรู้มุมมองว่าเขามองชุมชน มองตัวเองอย่างไร สิ่งที่ได้มาจากการคุยสองแบบนี้จะไม่เหมือนกัน ถ้าเรามีโจทย์อยู่แล้วเราก็จะได้ข้อมูล ได้ดีเทลบางอย่างที่ลงลึก ละเอียด เป็นอินไซด์ที่เราไม่เห็น

ฟิล์ม : การได้พูดคุยกับคนในชุมชนจะทําให้การทํางานและเก็บข้อมูลง่ายและตรงมากขึ้นด้วย อย่างโปรเจกต์ล่าสุดเราเดินไปในซอยเล็ก ซอยน้อย บางอย่างเราเห็นได้ด้วยตาว่าในชุมชนมีโบสถ์เก่า เห็นว่าร้านนี้อาหารอร่อย เห็นว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง แต่บางอย่างมันก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อาจจะอยู่ในรั้วของบ้านคนนั้นคนนี้ อาจจะเป็นต้นไม้ร้อยปี หรือคนที่เคยมีความสามารถต่างๆ ที่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ในด้านต่างๆ การลงไปในพื้นที่แล้วได้คุยกับคนในชุมชนจริงๆ ให้เขามีส่วนร่วมในการแชร์ข้อมูลกับเรามันทําให้เราได้ทั้งความรู้และได้ผูกมิตรกับเขาด้วย ทําให้เรามีมุมมอง มีข้อมูลกลับมาพัฒนาโครงการที่กําลังทํา ทําให้ทํางานง่ายและงานออกมากลมมากขึ้น

ยังธนเองมีสมาชิกเยอะมาก ตัดสินใจเคาะออกมาเป็นไอเดียใด ไอเดียหนึ่งได้อย่างไร

แทน : จริงๆ เวลาจะขึ้นโปรเจกต์มาสักโปรเจกต์มันเหมือนกับงานกลุ่ม เราเริ่มจากการมองหาโจทย์ หรือพื้นที่ที่เราสนใจอยากพัฒนา อยากทําประโยชน์ แล้วถ้าใครรู้สึกว่าน่าสนุกดีนะก็กระโดดเข้ามาทํา มาจอยกันได้ เช่นในเคสของ ยังธนคัพ ที่เราจัดกีฬาแข่งบอลให้น้องๆ 6 สนามทั่วฝั่งธน มันก็ลูกทุ่งมาก เริ่มจากมีคนในทีมพูดเรื่องลานเตะบอลในพื้นที่ขึ้นมา แล้วมันก็ค่อยๆ ขยายต่อว่าถ้าเราอยากพูดถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะในฝั่งธน พูดถึงการที่คนในชุมชนควรจะมีพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ เราสามารถใช้กีฬามาเป็นตัวทลายประเด็นเรื่องที่ดูจริงจัง ให้คนมองเห็นความสนุกของมันได้ ซึ่งถ้าใครสนใจ หรือมองว่าประเด็นนี้มันสําคัญต่อเขาก็เข้ามาร่วมกันได้

ฟิล์ม : อย่างโปรเจกต์เกมที่กําลังทําอยู่ก็มาจากช่วงนึงพวกเราสนใจเล่นบอร์ดเกมกันมาก ไปนั่งเล่นบอร์ดเกมตามที่ต่างๆ นัดคนในยังธนมาเล่นบอร์ดเกมกันที่ออฟฟิศ แต่พออยู่ๆ โควิดมา ไอเดียเรื่องบอร์ดเกมมันก็เลยค่อยๆ กลายร่างไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ตกผลึกกลายเป็นเกมออนไลน์ที่สามารถเล่าเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับเมืองได้ด้วย ถ้าเกมเสร็จมันก็อาจจะช่วยสร้างการรับรู้ว่าพื้นที่ของเขตบางกอกใหญ่มันไม่ได้มีแค่วัดอรุณฯ ทําให้ชุมชนเห็นตัวเองมากขึ้น และเริ่มรู้ว่าทิศทางของชุมชนจะไปในทางไหนได้บ้าง สักวันนึงมีคนเดินเข้ามา มีผลิตภัณฑ์บางอย่าง อาจจะมีอะไรขยับให้ดีขึ้นได้

เลือกพื้นที่ในการทํากิจกรรมจากอะไร

จั่น : รูปแบบในการเลือกสถานที่จะต่างกันไปในแต่ละโปรเจกต์ อาจจะเลือกจากดาต้าที่เรามี แล้วไปสํารวจมาเสนอ พอเห็นว่าน่าสนใจเราก็ค่อยเจาะไปที่กลุ่มชุมชนว่าเขาพร้อมหรือเปล่า อย่างยังธนคัพ ทีมมีดาต้าเรื่องพื้นที่ลานสาธารณะในชุมชนอยู่เยอะอยู่แล้วก็สามารถเลือกสถานที่ได้ แต่อย่างเกมท่องธนก็เริ่มจากความสนใจของชุมชนก่อน พอเห็นว่าคนในพื้นที่สนใจ ให้คําแนะนําต่างๆ ได้เยอะ และเราก็ยังไม่เคยทําพื้นที่นี้มาก่อนเลยเป็นเหตุให้เลือกพื้นที่นี้ วิธีการมันค่อนข้างสุ่มพอสมควร

โปรเจกต์ส่วนใหญ่มักเป็นแบบ Area based ทําอีเวนต์หนึ่งแล้วจบไป มองว่าการทํางานลักษณะนี้เป็นข้อเสียหรือข้อดีอย่างไร

จั่น : เราว่ามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนั่นแหละ เรามองว่าถ้าเราทําสั้น เราก็ต้องทําบ่อยๆ มันถึงจะสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักให้คนรู้ได้ว่าคุณก็สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองได้ ซึ่งเราว่ายังธนก็ทําบ่อยนะ แต่พอเวลามันสั้น มันก็มีข้อจํากัดว่าโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นก็คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะผลักดันในเชิงนโยบาย เหมือนเราทําได้แค่กระตุ้นให้คนรับรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลงไว้ประมาณนึงแล้วก็หายไป สร้างใหม่แล้วก็หายไปมากกว่า

แทน : แต่ถึงสิ่งที่เราทําจะไม่ใช่โครงการระยะยาว หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวมากได้ แต่เรามองว่าแรงกระเพื่อมเล็กๆ นี้ก็ขยับไปสู่ประเด็นที่ใหญ่และกว้างขึ้นได้ เราเป็นเหมือนแพลตฟอร์มนึงที่พยายามเชื่อมคนที่สนใจด้านเมืองในมิติต่างๆ ค่อยๆ เชื่อมคนที่เราเจอจากงานเล็กๆ ที่เราทําให้มันเกิดเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ สิ่งนี้มันเป็นคาแรกเตอร์ของยังธนเหมือนกัน มันคือการชวนกันปากต่อปาก จนสุดท้ายก็เกิดเป็นเครือข่ายขึ้นมา

ฟิล์ม : จากตอนแรกที่เป็นคนนึงที่เห็นยังธนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในบ้าน จากที่เราไม่ได้สนใจเรื่องเมืองเลยก็กระตุ้นเราได้จริงๆ และอยากจะเข้ามาทําตรงนั้น ยังธนเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้เข้ามาออกความคิดเห็นที่จะใช้พื้นที่ใกล้บ้านของตัวเอง และพัฒนาเป็นพื้นที่ที่เขาสามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยถามจากคนที่เขาได้ใช้จริงๆ มันทําให้คนมองเราไม่ได้มองเหมือนกับเป็นหน่วยงานหน่วยงานนึง แต่เป็นเหมือนเด็ก เป็นลูกหลานที่เข้าไปคุย แล้วก็ช่วยเขาได้ เป็นกระบอกเสียงให้เขาได้ ยังธนสามารถพูดช่วยคนอื่นได้ แล้วก็พูดในทางที่ตัวเองสนใจได้

ในเมื่อไม่ได้มีสัญญาว่าจะต้องเป็นสมาชิกตลอดไป คุณมีวิธีรักษากลุ่มคนที่เข้ามาทํางานในแต่ละโปรเจกต์อย่างไรให้เขาไม่ทิ้งไปเมื่อจบโปรเจกต์

จั่น : ไม่มีเลย (หัวเราะ) ไม่มีวิธีการใดๆ เราต้องทําความเข้าใจก่อนว่าชีวิตของเด็กเจนนี้ไม่มีความแน่นอน เดี๋ยวก็ต้องหางานใหม่ เปลี่ยนงาน แต่ละคนมีเหตุปัจจัยของเขา แต่เราก็พยายามจะทํากิจกรรมภายในเครือข่าย เช่น นัดกินข้าว ไปเที่ยวบ้าง แต่เราว่าจริงๆ มันขึ้นอยู่กับความตั้งใจของแต่ละคน ถ้าเขาอยากทําอะไรเพื่อส่วนรวม หรือเห็นว่าสิ่งนี้มันตอบโจทย์เขาจริงๆ เขาก็จะยังอยู่ เราไม่ได้บังคับว่าจะอยู่หรือไป

บลู : ผมว่าเพราะเราไม่ได้บังคับใครให้มาทําด้วย ถ้าไม่สะดวก หรือมองว่าโปรเจกต์นี้เราไม่ได้มีจุดร่วมอะไรมาก ก็สามารถถอยออกมาดูภาพรวมได้ เราเริ่มต้นทํางานด้วยความสนุก เลยเป็นเสน่ห์ทําให้งานของยังธนมีความสดใหม่ สนุกสนาน ถ้าเปรียบยังธนเป็นเหมือนแพลตฟอร์มของการเรียนรู้ ความรู้ที่คุณส่งต่อไปให้คนภายนอกคืออะไร

ฟิล์ม : การสร้างความเข้าใจในเรื่องเมืองหรือการเป็นพลเมือง เราเป็นเหมือนองค์กรที่ให้โอกาส ให้การเรียนรู้ที่มันเข้าถึงชุมชนจริงๆ ให้ทุกคนเรียนรู้ ต้องบอกว่ามันมีเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษาหรือไม่ได้รับการดูแลที่ดีเท่าที่ควรอยู่จริง ต่อให้จะอยู่ข้างๆ ไอคอนสยามก็ตาม เรามองว่าคนเราควรได้รับรู้หรือเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม ความรู้เรื่องเมือง คุณค่าของชุมชน หรือความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมหรือศาสนา มันไม่ควรอยู่แค่ในห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษา เราเลยเป็นเหมือนแพลตฟอร์มการทํากิจกรรมให้คนมามีส่วนร่วมกัน อย่างน้อยก็ทําให้เด็กได้ทํากิจกรรมจริงๆ โดยที่เขาไม่ต้องอายว่าฉันไม่ได้เรียนหนังสือ ฉันไม่รู้นั่น ไม่รู้นี่ ให้โอกาสมันเข้าไปถึงชุมชนเผื่อจะเป็นการจุดประกายความคิดบางอย่างของเด็ก หรือกระทั่งผู้ใหญ่เองก็ตาม

แทน : นอกจากกิจกรรมที่เราลงไปทํากับชุมชน ยังธนมีส่วนของหน้าเพจด้วย ลักษณะของเนื้อหาเราแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ หนึ่งคือการบอกให้คนรู้ว่าเราทํางานอะไรกันอยู่ เผยแพร่ผลงานที่เราทํา สองคือการเล่าเรื่องที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับงานของเรา แต่เราเห็นว่ามันน่าสนใจ และอยากให้เรื่องนี้กระจายไปสู่วงกว้าง เพื่อกระตุ้นความรู้สึกหรือปลุกความตระหนักรู้ของคน เหมือนเราเป็นเพื่อนที่มาเล่าเรื่องน่าสนใจให้ฟัง ไม่ได้ทรีตว่าเราเป็นสถาบันที่สื่อสารเรื่องนี้โดยตรง เราแค่ทํางานแล้วเอามาแชร์ให้ฟังว่ามันเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้นมา และถ้าเขาสนใจก็สามารถไปตาม เรียนรู้เพิ่มเติม หรืออาจจะมาทํางานกับเราก็ได้

ยังธนมีส่วนร่วมในการพัฒนา “สวนสานธารณะ” เขตคลองสาน หัวใจของการพัฒนาสวนชุมชนในมุมมองของยังธนเป็นอย่างไร

ฮิน : ยังธนได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ทํางานร่วมกับ UDDC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) และ WePark! ในเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกําหนดทิศทางการใช้พื้นที่สาธารณะละแวกบ้าน และการร่วมบริหารพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งคิดว่าการร่วมออกความคิดเห็น ในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของชุมชน เป็นการเรียนรู้ของชุมชนผ่านการทํางานจริง ที่ให้ตระหนักถึงสิทธิพลเมืองว่าเรามีสิทธิมีเสียงได้ ในการกําหนดทิศทางพื้นที่สวนแถวบ้านเราเอง ซี่งอาจเป็นเรื่องใหม่สําหรับบางชุมชน

การเป็น Active citizen ตั้งกลุ่มขึ้นมาทํางานเพื่อชุมชนแบบนี้ มองว่าเป็นการสร้างภาระให้ตัวเองไหมลดทอนการทํางานของรัฐหรือไม่

จั่น : เราคิดว่าช่วยเขาทํางานมากกว่า เป็นการช่วยเขาปนความเบื่อหน่าย ใจร้อน อยากเห็นมันเกิดขึ้นจริงๆ

บลู : ผมทํางานในสายราชการด้วยเนอะ เลยค่อนข้างเข้าใจว่าบางอย่างมันเกิดขึ้นในระบบราชการไม่ได้ทันทีทันใด การที่เราทําให้เขาเห็นภาพ เห็นว่าสิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้มันเป็นไปได้ ยังไงผลลัพธ์มันก็ยังเป็นชุมชนเหมือนเดิม หรือถ้าเขาเห็นแล้วว่ามันเป็นไปได้ แล้วเขามาทําเอง ผลลัพธ์มันเกิดกับชุมชนอยู่ดี

แปลว่าถ้าย่านแข็งแรงมันจะส่งผลต่อองค์รวมระดับประเทศ

จั่น : มีผลอยู่แล้ว เพราะความเจริญจะกระจายเข้าไปสู่พื้นที่ ยิ่งมีชุมชนเข้มแข็งเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดผลดีต่อองค์รวม ทุกวันนี้ระบบเรารวมศูนย์มาก มันเลยเกิดความไม่เท่าเทียม แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ มันก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ําได้

แทน : ผมว่าย่านเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ถ้าเรามีย่านที่ดี มันก็มีศักยภาพที่จะสร้างเมืองที่ดีขึ้นมาได้

ในแต่ละโปรเจกต์สมาชิกยังธนเองได้เรียนรู้อะไรบ้าง และอะไรเป็นแรงจูงใจให้คุณยังทํางานนี้อยู่

แทน : ถ้าในแง่ปัจเจก แต่ละคนก็อาจจะได้ทักษะในการทํางานใหม่ อย่างที่บอกว่าความหลากหลายคือสิ่งที่พวกเรามี เวลาทํางานเราไม่ได้ตั้งต้นด้วยความคิดใดความคิดหนึ่งเป็นเด็ดขาด แต่เรามองว่าความหลากหลายที่มีสามารถทําให้งานนั้นมันประกอบขึ้นเป็นงานที่สําเร็จได้ แม้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นความรู้เรื่องเมืองโดยตรง แต่พอทุกคนทําให้มีส่วนเกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่แต่ละคนได้ก็อาจจะเป็นทักษะใหม่ที่ได้เรียนรู้จากเพื่อนๆ หรืออาจจะเป็นทักษะเดิมที่เก่งขึ้น

ฮิน : รางวัลของเราคือการได้เห็นตัวเองค่อยๆ เปลี่ยนไป สองคือการมีทีมที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ผมมองว่ายังธนมันเป็นเหมือนฮับที่เรามาเจอกันแล้วแชร์ความคิด ไอเดีย และเลยเถิดไปเป็นการทํางานขึ้นมาจริงๆ ได้ โดยมีคนคอยสนับสนุน สามคือมันก็พอจะมีรายได้เข้ามาบ้างเพื่อที่จะได้ไม่อึดอัดเวลาครอบครัวถาม (หัวเราะ)

จั่น : เราใสๆ เลย คือมิตรภาพที่ได้จากเครือข่าย เราทําโครงการร่วมกับเขาแล้วเขารู้สึกดีกับเรา แค่นี้ก็ฟินแล้ว อีกอย่างก็น่าจะเป็นการที่เราได้ทดลองพัฒนาวิธีการทํางานเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ทดลองไปเรื่อยๆ ว่าแบบไหนมันถึงจะเวิร์ก

ตั้งแต่มียังธนเข้ามา ทุกวันนี้ฝั่งธนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

จั่น : อาจจะดูถ่อมตัว แต่เราไม่ได้คิดว่าเราทําอะไรให้กับชุมชนมากมาย เราเป็นแค่ส่วนนึงในกลไกการขับเคลื่อนพัฒนาที่เกิดจากประชาชนขึ้นไป แต่สิ่งที่เราได้ในมุมมองของเครือข่าย ตอนนี้ถ้าเขามีเรื่องอะไร เขาจะมาถามเราก่อน สมมติว่าคนนี้จะมาทําวิจัยเรื่องนี้ ทําไงดี ช่วยเข้าไปฟังหน่อย คล้ายๆ ว่าเราเป็นที่ปรึกษาให้พี่ๆ เครือข่าย พี่ๆ ชุมชนไปโดยปริยาย สิ่งที่เราทําเขาก็น่าจะเห็นความสําคัญแหละ

แทน : ถ้าง่ายๆ คือเราก็เหมือนเป็นบอดี้ที่มีตัวตนว่าทํางานเรื่องนี้ปรากฏขึ้นมาอยู่ในชุมชน ส่วนเรื่องว่าเปลี่ยนแปลงขนาดไหนเราอาจจะตอบไม่ได้ แต่ในแง่ว่ามันเกิดบอดี้ แล้วเราได้ทํางาน ผมว่าอันนี้คือสิ่งที่แต่ละคนในทีมพอใจแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องว่าคนอื่นเขาสะท้อนยังไง หรือมันเติบโตไปยังไง อันนี้เป็นเรื่องของอนาคต แต่ถ้ามองในแง่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโปรเจกต์ที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่ามันก็เป็นผลตอบรับที่ดี ว่าเราก็มีส่วนในการสร้างความตระหนักรู้ของฝั่งธนได้ อาจจะไม่ได้ใหญ่โต แต่มันก็สามารถเชื่อมโยง หรือสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายของคนในพื้นที่

ภาพเมืองที่เราอยากเห็น เมืองในฝันเป็นแบบไหน

จั่น : เมืองที่ไม่มีความเหลื่อมล้ํา

ฟิล์ม : เมืองที่คนทุกคนได้เข้าถึงโอกาส ให้คนตัวเล็กตัวน้อย คนเดินถนนทั่วไปมีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยขึ้น

บลู : เมืองที่สามารถพูดเรื่องตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ เพราะเราคิดว่าการที่คนสามารถพูดความคิดเห็นของตัวเองออกมาได้ มันจะนําไปสู่สิ่งใหม่

แทน : อยากให้เมืองเป็นเหมือนต้นไม้ ที่โตแล้วทุกส่วนมันได้เบ่งบาน ไม่มีส่วนไหนตายระหว่างโต มันอาจจะใช้เวลาแต่ถ้าเมืองเป็นฐานรากที่ดี มันก็อาจจะทําให้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิต หรือสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้

บทสนทนากับกลุ่มสมาชิกยังธน สะท้อนให้เราเห็นว่าเมืองจะพัฒนาไปได้ดี หากคนในชุมชนได้เรียนรู้และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม เพราะชุมชนเปรียบเสมือนเป็นหน่วยย่อยของสังคมที่มีความสําคัญ และโอกาสก็เปรียบเสมือนก้าวแรกที่เป็นประตูทําให้คนในชุมชนได้สํารวจตัวตน สํารวจบ้านเมือง รู้จักกับความชอบ ความสามารถที่อาจต่อยอดไปเป็นอนาคตของตัวเอง และอาจทําให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจในละแวกบ้านให้เติบโต การทําให้ทั้งคนและชุมชนมีความเข้มแข็งจะก่อเกิดเป็นพลเมืองที่จะคอยขับเคลื่อนสังคมในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไปได้เช่นกัน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor