15/06/2020
Life

เติบโตจากการใช้ชีวิตในต่าง ‘เมือง’ : คุยกับลูกเรือในวันที่ COVID-19 ทำให้ต้องหยุดบิน

สมัชญา แซ่จั่น
 


หากนึกดูให้ดี ‘สายการบินระหว่างประเทศ’ แท้จริงแล้วคือ ‘สายการบินระหว่างเมือง’ ไฟลท์บินระหว่างไทย – อังกฤษ ส่วนใหญ่คือ การเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ – ลอนดอน เช่นเดียวกับไฟลท์บินไทย – สิงคโปร์ ย่อมไม่ใช่อะไรอื่นใดระหว่างการเชื่อมสองมหานครหลวงของทั้งสองประเทศ

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่อาชีพบนเครื่องบินเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน เพราะอาชีพนี้เปิดโอกาสให้เราได้เห็น ‘บ้าน’ และ ‘เมือง’ หลายแบบ

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบโดยตรงทุกประเทศทั่วโลก บางสายการบินถึงกับล้มละลาย เนื่องจากมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและต้องแบกรับค่าใช้จ่ายโดยไม่มีรายได้เข้ามา การปรับลดต้นทุนและใช้มาตราการฉุกเฉินอาจทำให้รอดจากสภาวะนี้ หากแต่เรายังไม่รู้ว่าเหตุการณ์แพร่ระบาดจะจบลงตรงไหน นับว่าเป็นอีกวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่อุตสาหกรรมและบุคลากรทางการบินได้เผชิญ

ในขณะที่ใครหลายคนสามารถ work from home ได้ แต่ดูเหมือนว่า โอปอล์ – ศศินันท์ บุญเฉียน ลูกเรือสายการบินแห่งหนึ่งไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ดูเผินๆ ก็ไม่มีอะไรแปลก เพราะเมื่อเครื่องบินบินไม่ได้ ลูกเรือก็ต้องหยุดงาน ทว่าโอปอล์ต้องประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ‘เมือง’ ที่ไม่ใช่ ‘บ้าน’ ของเธอ อย่างผู้อยู่อาศัย แม้จะมีทางเลือกให้เธอกลับ ‘บ้าน’ ได้แต่ก็มีหลายเหตุผลให้โอปอล์เลือกที่จะอยู่ที่นี่

น่าสนใจว่า มุมมองต่อ ‘บ้าน’ ต่อ ‘เมือง’ ของโอปอล์จะเป็นเช่นไร เมื่อต้องเปลี่ยนจากสถานะแขกมาเป็นผู้อาศัย

การทำงานร่วมกับคนสิงคโปร์ไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่นักโอปอล์เล่า

หัวหน้าเคยถามว่า “ยูรู้มั้ยว่าประเทศอะไรที่เอาใจยากที่สุด สิงคโปร์เรียนไง”

“ชาวสิงคโปร์เป็นคนขี้ฉอด มาตรฐานสูงด้วย (ขำ) รัฐบาลเลยต้องทำงานให้ดี ไม่งั้นจะโดนประชาชนเขาว่าเอา”

โอปอล์ใช้คำว่าฉอด เพื่อให้เราเห็นภาพได้อย่างตรงไปตรงมา

“ประเทศนี้เขามีแอปพลิเคชันให้วิพากษ์การทำงานของรัฐได้โดยตรงเลยนะ ชื่อว่า OneService ถ้าประชาชนสิงคโปร์เจออะไรที่อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไข เช่น เจอคนไม่ใส่แมสก์ในที่สาธารณะ ก็สามารถถ่ายรูปส่งให้รัฐบาลดูผ่านแอปนี้ได้เลย การสื่อสารมันเร็วมั้ง เลยทำให้ระบบจัดการของสิงคโปร์เร็วมาก แล้วทั้งเมืองก็มีตำรวจเดินอยู่ทุกที่ ทุกที่จริงๆ เขาเดินตรวจกันจริงจังเลย”

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์จะขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของอาเซียนไปแล้วกว่า 20,000 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับอยู่ที่ 24 รายเท่านั้น (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2563) ปัจจัยอะไรที่ทำให้สิงคโปร์สามารถรับมือกับ COVID-19 ได้อย่างไม่สาหัสจนเกินไปนัก

เล่ากิจวัตรประจำวันให้ฟังหน่อย

เพิ่งย้ายบ้าน ไปซื้อของแต่งบ้าน ซื้อของใช้ ช่วงก่อนหน้าที่จะย้ายบ้านก็จะว่างๆ ตื่นมาเล่นมือถือ ฟังเพลง คุยกับเพื่อนที่บ้าน ออกไปซุปเปอร์มาร์เก็ตบ้าง แล้วก็กลับมานอน เป็นคนไม่มีงานอดิเรก แต่มีเพื่อน ซื้อสีอะคริลิคมาวาดรูปเล่น อีกคนก็เล่นโยคะ ส่วนคนอื่นก็นอนตื่นสายๆ เอา จะได้หมดวันไวๆ

คือเป็นคนขี้เกียจมาแต่ไหนแต่ไร คิดว่าก็ดีที่ไม่ต้องทำอะไร แต่อย่างรูมเมทเค้าเป็นคนแอคทีฟมาก ก็จะบ่นว่าเป็นช่วงชีวิตที่น่าเบื่อ ไม่ชอบชีวิตแบบนี้ แต่ของเราก็เฉยๆ มีเบื่อบ้างเหงาบ้างนะ ไม่รู้จะทำอะไร แต่ก็สบายๆ

ไฟลท์สุดท้ายคือ กลับจากลอนดอนวันที่ 28 มีนาคม มีเพื่อนอีกคนที่ไม่ได้บินมา 3 เดือนแล้ว ลืมไปแล้วว่าต้องทำงานยังไง ถ้ากลับไปทำงานอีกรอบคงแบบ เอ๊ะอันนี้คืออะไร อันนั้นคืออะไร (ขำ) คือทุกคนที่บ้านตอนนี้เป็นซังกุงมาม่ากันหมดแล้ว ทำอาหาร ทำขนม โชคดีว่าสิงคโปร์วัตถุดิบจากประเทศไทยเยอะก็เลยหาซื้อได้ง่าย

อยากกลับไทยไหม

ปกติกลับไทยเฉลี่ยเดือนละครั้งแล้วแต่ตารางบิน ถ้ามีวันหยุดเยอะก็จะกลับไทยทันที ตอนนี้อยากกลับไทยมาก แต่ติดปัญหาเรื่องการจ่ายค่าบ้านทุกเดือน อยู่ที่นี่อย่างน้อยก็ยังสามารถบริหารค่าจ่ายได้ คิดถึงบ้านทุกวันแต่ต้องอดทน ส่วนจะกลับไปเมื่อไหร่ ต้องดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ก่อน

Hawker Center รัฐบาลอนุญาตให้เปิดร้านอาหารได้ปกติ แต่ห้ามนั่งรับประทาน

วันที่ต้องหยุดบินความรู้สึกเป็นยังไง เกิดอะไรขึ้นบ้าง

เราเป็นคนขี้แพนิคและมองโลกในแง่ร้ายระดับหนึ่ง ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่จีนตั้งแต่ช่วง early covid ก็มองว่าจะต้องแย่แน่ๆ เพราะว่าดูแล้วมันไม่น่าจะรักษาได้ง่ายๆ ยิ่งช่วงวันตรุษจีนจะต้องเป็นช่วงที่โรคแพร่ไปทั่วโลก เรามองว่านักท่องเที่ยวเดินทางเยอะ น่าจะควบคุมโรคได้ยาก ก็เลยเก็บเงินให้มากที่สุด เตรียมเงิน เตรียมใจ เตรียมทุกอย่าง พอเป็นคนคิดมากก็เลยมองไปถึงว่าจุดที่เลวร้ายที่สุดจะเป็นยังไง เราก็เก็บเงินไว้พอที่จะใช้ชีวิตช่วงที่ไม่มีรายได้ บางคนที่เขาคิดว่ามันคงไม่ร้ายแรงขนาดนั้น พอเกิดเรื่องขึ้นมาจริงๆ ก็ค่อนข้างจะมีปัญหา เช่น เราจะเลือกไฟลท์ในการลาหยุดได้ บางคนลาไว้เยอะมากก่อนจะเกิด COVID-19 ก็ทำให้ไม่มีรายได้จากเดือนนั้น แต่ของเราเดือนก่อนหน้าทำไฟลท์เยอะมาก ไม่มีวันหยุดเลย เพื่อที่จะกอบโกยเงินเอาไว้ก่อน

ในแง่ของสายการบินมีการจัดการอย่างไร

ขั้นแรกเลยคือค่อยๆ ลดไฟลท์ ขั้นต่อมาคือลดของบนเครื่อง ตัดการแจกน้ำ แจกขนม ตัดของที่ไม่จำเป็นออกก่อน พอลดจนสุดแล้วก็ค่อยๆ ลดเงินเดือนบุคลากร มีการถามหา volunteer without pay หาคนที่สมัครใจจริงๆ ไม่ได้บังคับ คนที่อยู่ต่อก็ให้อยู่บ้านเฉยๆ ไปก่อน มีค่ากินอยู่ให้

สายการบินเขาพยายามมากที่จะรักษาคนเอาไว้ให้ได้ แต่บางสายการบินก็ลดคนออก ให้หยุดบินกะทันหันเลย นอกจากนี้ ก็จะมีการเปลี่ยนเครื่องบินให้เป็น cargo air คือรับส่งของ ส่งอาหารระหว่างประเทศด้วย

สวัสดิการจากรัฐที่เราควรจะได้รับ

พอถามถึงตรงนี้ เสียงของโอปอล์มีความตื่นเต้นที่อยากจะเล่าขึ้นมา

อยากเกิดเป็นสิงคโปร์เรียนเลย เขาดูแลประชากรดีมาก ประชากรสิงคโปร์ได้เงินทุกคน ถ้าไปลงทะเบียนว่าได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เขาจะช่วย 500 สิงคโปร์ดอลลาร์ (ประมาณ 11,000 บาท)

คนที่เป็น PR (Permanent Residence) คือ จดทะเบียนมาอยู่ระยะยาวหรือแต่งงานอยู่ที่นี่ ได้เดือนละ 300 สิงคโปร์ดอลลาร์ (ประมาณ 7,000 บาท) ส่วนคนที่ตกงานรัฐบาลช่วย 800 สิงคโปร์ดอลลาร์เป็นเวลา 3 เดือน (ประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน) เท่าที่รู้เขาแจกทุกคนเลยนะที่เป็นประชากรของเขา ไม่ได้ selected ยุบยิบเหมือนคนไทย แต่ก็ต้องรอตามคิวเหมือนกัน คนสิงคโปร์ก็จะบ่นอยู่ดีว่าทำไมได้ช้า (ขำ)

ระบบการรับแมสก์ง่ายมาก อย่างเราเป็นผู้อาศัยในคอนโด เขาก็จะมีช่วงเวลามาให้ว่า เขตนี้คอนโดนี้รับที่ไหน คอนโดเราเอามาแจกใต้คอนโดเลย เราก็แค่รอวันที่เขามาแจก แล้วก็ลงไปรับข้างล่าง เวลาไปรับก็แค่ยิง QR code ที่บัตรประจำตัวก็รับได้เลย ไม่ต้องต่อแถวรอนาน

ไม่ว่าใครที่มาจากต่างประเทศ รัฐบาลจะตรวจ COVID-19 ให้ฟรี ที่มีคนพูดว่า “บินไปตรวจที่สิงคโปร์ดีกว่า เพราะค่าตั๋วบินไปกลับยังถูกกว่าค่าตรวจที่เมืองไทย” มันคือเรื่องจริง (ขำ) ตอนนั้นเพื่อนแอร์ด้วยกันป่วย พอไปโรงพยาบาลหมอก็จับตรวจให้ฟรีเลย ไม่ใช่แค่พลเมือง แต่ผู้อยู่อาศัยในสิงคโปร์เขาก็ตรวจ

ส่วนการกักตัวก็กักตัวในโรงแรม มันไม่ใช่โรงแรมธรรมดา แต่มันคือ Shangri-La  หรือต้อง 5 ดาว เคยอ่านสัมภาษณ์ว่าทำไมถึงเลือกโรงแรมดีขนาดนี้ เขาบอกว่า เพราะเขาเข้าใจว่าคนที่ต้องอยู่คนเดียว 14 วันก็ feel bad พอแล้ว สิงคโปร์เป็นประเทศที่ใส่ใจผู้คนมาก

ต่อแถวยาวรอเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต ต้องใช้บัตรประชาชนด้วย

เรารู้สึกว่าสิงคโปร์เชื่อนายกตัวเองมากๆ ติดตามนายกตัวเองมากๆ นายกจะออกมาแถลงอะไรเขาจ้องเลยนะ สมมุติแถลง 4 โมงเย็น ตอนบ่าย 2 คนก็จะออกไปซุปเปอร์มาร์เก็ต ไปโกยของทุกอย่างกลับมา ซึ่งยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่านายกจะแถลงอะไร เค้าเรียกว่า พฤติกรรม “กันจง” เป็นศัพท์ของที่นี่

ตอน COVID-19 ระบาดแรกๆ ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยกันเยอะ นายกก็ออกมาขอว่าถ้าไม่ป่วยก็ไม่ต้องใส่ ช่วงนั้นทำให้เห็นได้ชัดว่าคนใส่น้อยลง แต่พอเป็น second out break นายกก็ขอให้ทุกคนกลับมาใส่ แต่ให้ใส่แมสก์ผ้าแทน เพราะว่าเขาอยากเก็บแมสก์แบบ surgery mask ไว้ให้หมอพยาบาลใช้ ทุกคนก็ทำตามที่นายกบอก

เพื่อนสิงคโปร์ชอบบ่นว่า “ยูรู้มั้ยว่าพวกฉันจ่าย tax แพงมาก” เราเลยบอกว่า ถ้ายูจ่ายแพงแต่ได้สวัสดิการดีขนาดนี้ก็ยอมนะ น้ำสะอาด บรรยากาศน่าอยู่ สวนสาธารณะแบบที่ใช้งานได้จริงๆ ออกซิเจนจริงๆ แล้วก็รถบัสที่แบบใช้ได้จริงๆ รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะได้รับอะ อยากให้ที่ไทยสวัสดิการดีแบบนี้บ้างจัง มันไม่ถึงกับต้องหรูหราเทียบเท่ากับสิงคโปร์ เพราะว่าเขาเป็นประเทศเกิดใหม่ เราอาจจะฝันอยู่ แต่เราควรจะได้รับอะไรแบบนี้ ขอแค่เราเดินทางได้สะดวกๆ ก็ได้ ถ้าเป็นไปได้นะ

ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดี

ข้อเสียของประเทศนี้ ด้วยความที่ของทุกอย่างราคาแพง เช่น จะซื้อรถก็แพง ซื้อรถคือไม่ได้จ่ายแค่ค่ารถแต่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลด้วย ก็เลยเป็นเหมือนการบีบบังคับหน่อยๆ ว่า ให้คนใช้รถสาธารณะกันนะ พอเกิด COVID-19 ขึ้นมา คนก็ไม่มีทางเลือกในการเดินทาง ก็ต้องออกไปเสี่ยงติดโรค แต่ในความโชคร้ายมันมีความโชคดีของประเทศ คือ ประชาชนเขาน้อย แล้วรถสาธารณะเขาเยอะ ต่อให้เป็นช่วง prime time ก็ไม่ต้องไปเบียดในรถอะ เคยเจอคนอัดแน่นๆ ตอนขึ้นรถไฟเหมือนกันนะ แต่มันก็ไม่ถึงขนาดปลากระป๋องแบบไทย

อีกเรื่องคือ การจัดการขยะของสิงคโปร์ เขามีเกาะเอาไว้ทิ้งขยะโดยเฉพาะเลย ชื่อว่า Semakau Island คือเมืองมันเล็ก เขาต้องนั่งเรือออกไปทิ้งที่เกาะ เราก็เพิ่งรู้ตอนรูมเมทบอกให้ไปซูมดูใน map เออมันมีจริงๆ สิงคโปร์มีการจัดการเมืองที่เป็นระเบียบมาก ทางขวาของประเทศเป็นสนามบิน ตรงกลางเป็นเมือง ส่วนฝั่งซ้ายคือยังไม่ใช่พื้นที่ท่องเที่ยวและอยู่อาศัยเลยไม่ค่อยมีใครไปถึงตรงนั้น

สามารถมาออกกำลังกายที่สวนสาธารณะได้ปกติ

สิงคโปร์ขึ้นชื่อว่าเป็น Green City

ตอนที่เราย้ายเข้ามาใหม่ๆ ก็ตื่นเต้นว่าทำไมต้นไม้เขาเยอะจัง ตามทางด่วนก็มี มีการดูแลต้นไม้ดีมาก มีการจัดโซนในการปลูกต้นไม้เป็นที่เป็นทาง มีรสบัสที่มีต้นไม้ปลูกอยู่บนชั้นหลังคารถด้วย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้เห็นแล้ว สงสัยอาจจะเป็นเพราะว่าเค้าเปลี่ยนรถรุ่นใหม่ เคยคุยกับคนขับรถบัส เขาบอกว่าสิงคโปร์จะต้องเปลี่ยนรถบัสเมื่อครบอายุการใช้งาน เพื่อลดมลพิษในอากาศ

ต้นไม้ช่วยเรื่องอากาศได้เยอะมากๆ ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศร้อนชื้น เผลอๆ อากาศร้อนกว่าไทยอีก แต่ด้วยความที่เขาปลูกต้นไม้ไว้เยอะมาก มันเลยช่วยให้อากาศดีขึ้นจริงๆ คนที่เคยมาสิงคโปร์จะรู้เลยว่า ประเทศนี้อากาศร้อนแต่ไม่เหนียวตัวเพราะไม่มีฝุ่นควันและมลพิษ แต่ยังไงก็ร้อนอยู่ดี

เห็นอะไรจากการเดินทางไปทำงานทั่วโลก

รู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่คนตัวเล็กๆ บนโลกใบนี้ เรามองโลกเปลี่ยนไป มองโลกกว้างขึ้น มีอีกหลายๆ อย่างที่เราไม่รู้ มีที่ที่เรายังไม่เคยไป อยากสัมผัส อยากลองกิน เจอคนเยอะเราก็ต้องปรับตัวให้ง่ายๆ กินง่าย อยู่ง่าย หรือจากที่เคยเป็นคนคิดมาก กลัวคนอื่นจะคิดยังไง ตอนนี้ไม่เลย ฉันจะใช้ชีวิตของฉัน นี่คือการทำงาน จบไฟลท์แล้วฉันก็จบ ไม่ต้องไปแคร์ใครย้อนหลัง

หันกลับมามองประเทศตัวเอง เรามีทรัพยากร มีคนเก่งๆ เยอะมาก รักประเทศนะ อยากกลับไป แต่ปัญหาก็เยอะ เคยคิดว่าอยากกลับไทยไปพัฒนาประเทศ มันมีอะไรให้แก้เต็มไปหมด แต่มันเยอะเกิน ไม่ไหวอะ เราคนธรรมดาจะไปสู้ไหวหรอ


Contributor