15/04/2020
Life

บ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม ถามและตอบ ปลอบประโลมเรื่องชีวิตกับสมบูรณ์ หอมเทียนทอง

The Urbanis
 


คุณค่าและหน้าที่ของงานศิลปะ

มันอยู่ตรงที่มันได้สร้างความหมาย 

สร้างอารมณ์ให้กับพื้นที่นั้นๆ

เรานัดเจอกันที่ JWD Art Space แกลอรี่ใหม่เอี่ยมหลังจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ปลายเดือนมีนาคมที่ดูเหมือนว่าจะร้อนกว่าทุกปี และยิ่งกว่านั้นปีนี้เป็นปีที่เรามีวิกฤตของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า อะไรๆ ก็ดุจะร้อนระอุขึ้นกว่าเดิม 

เราพบกันก่อนการเปิดนิทรรศการเดี่ยวในรอบหลายปี “Die Schöne Heimat” หรือในชื่อภาษาไทยว่า “บ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม” จะเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม คุณสมบูรณ์มารออยู่ก่อนแล้ว 

เมื่อเทียบกับคนอายุเจ็ดสิบก็ถือว่ายังดูกระฉับกระเฉงแต่ก็สุขุม เหมือนน้ำเย็นๆ ใส่น้ำแข็ง ที่ช่วยดับบรรยากาศยามร้อนแบบนี้ได้ดีนัก “แกลอรี่ที่นี่ดีนะ ผมว่าเสปซเขาดีเลย จัดงานแล้วสวย” ตามประสาของศิลปินที่สนใจเรื่องงานจัดวางและผ่านการแสดงงานในแกลอรี่มามาก ดูเขาพอใจกับการจัดวางและชื่นชมกับจังหวะจะโคนของห้องแสดงที่นี่ไม่น้อย 

หากใครยังไม่รู้จักสมบูรณ์ หอมเทียนทอง เรื่องย่อๆ ของเขาก็คือ เขาเป็นศิลปินไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในยุโรป หลังจบการศึกษาที่ The Academy of Fine Arts ที่มิวนิค ประเทศเยอรมนี เขาทำงานศิลปะในยุโรปอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980-2000 เขามีโอกาสได้แสดงงานเดี่ยวหลายต่อหลายครั้งทั้งในเยอรมนีและอีกหลายประเทศในยุโรป เรียกว่าตั้งแต่สมัยยังเรียนไม่จบก็มีภัณฑารักษ์และเจ้าของแกลอรี่ชวนเขาไปแสดงงาน  

สมบูรณ์ใช้ชีวิตในมิวนิคตั้งแต่อายุ 24 ปี กระทั่งตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยเมื่ออายุย่างเข้า 49 ปี ตลอดชีวิตการทำงาน ส่วนหนึ่งเขามีโอกาสได้ทำงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการค้นหาความหมายของเมือง ศิลปะและผู้คน เขาเคยได้รับเชิญจากเอกอัครราชฑูตโปรตุเกส ให้เดินทางไปใช้ชีวิตที่นั่นเพื่อนำมาตีความ สร้างงานศิลปะที่สื่อถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศในการฉลองครบรอบ 504 ปีของความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกสเมื่อปี 2558 และเมื่อสองปีก่อน สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ได้รับเชิญเป็นตัวแทนของศิลปินไทยไปจัดแสดงงานที่ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 57 เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งครั้งนั้นงานจัดแสดงของเขาก็ได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในห้าของงานแสดงที่ดีที่สุดที่ควรไปดู    

เรานั่งกินกาแฟกันในห้องด้านในสุด ด้านหลังเป็นรูปพอร์ตเทรตขนาดใหญ่ของตัวเขาเอง เหมือนเป็นร่างทรงของเขาที่จ้องมองลงมายังโซฟาที่เรานั่งอยู่    

ราวกับว่าภาพนั้นอยากมีส่วนร่วมในวงสนทนา ที่กำลังเริ่มเล่าถึงความหลัง ความหวังและเรื่องราวอีกมากมายที่เรากำลังเริ่มสนทนากัน 

ตอนอยู่ที่เยอรมนี ผู้คนที่นั่นให้ความสำคัญกับการสร้างงานศิลปะมากน้อยแค่ไหน

คนให้ความสนใจมาก ศิลปะเป็นรากทางวัฒนธรรมของยุโรปอยู่แล้ว จะเห็นว่าเมืองใหญ่ๆ แต่ละเมืองจะมีอัตลักษณ์ทางศิลปะของตัวเอง มีศิลปินดังๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้แต่ละเมือง พิพิธภัณฑ์ที่นั่นก็ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่คนเข้าไปพักผ่อนหาความรู้ หารากเหง้าของตัวเอง มีศิลปะในอดีตซึ่งเยาวชนมีโอกาสได้รู้จักอดีตของเขา ถือเป็นเรื่องที่ดีมากของเมือง ผมคิดว่าจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ต่างจากความเป็นวัดของบ้านเรา เพียงแต่การบอกเล่า ยุโรปเขาคลี่คลายมาเป็นเรื่องของปุถุชนคนทั่วไป ต่างกับศิลปะของเราที่โดยมากศิลปะยังเกาะเกี่ยวอยู่กับการรับใช้ศักดินา อดีตของเราไม่มีใครกล่าวถึงศิลปินในฐานะที่เป็นปัจเจกเท่าไหร่ คือทำงานไปก็ไม่มีใครรู้จักชื่อ อาจรู้จักอยู่ไม่กี่คนอย่าง ท่านขรัวอินโข่ง 

แต่สำหรับผม ผมเห็นว่าศิลปินนิรนามเหล่านั้นเขาไม่ได้หายไปไหน เวลาผมเดินเข้าไปในวัด เห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เราสัมผัสได้ว่าผู้สร้างต้องมีความเข้าใจทางด้านสุนทรียะสูงมาก แม้ศิลปินเหล่านั้นไม่มีใครรู้จักแต่คุณค่าก็สิงอยู่ในตัวงานให้เราได้เรียนรู้จนถึงปัจจุบันอันนี้เป็นความรู้สึกนามธรรมนะ ผมรู้สึกว่าศิลปินเหล่านั้นยังอยู่และยิ่งใหญ่มาก ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร

ผมคิดว่าลึกๆ แล้วคนทำงานศิลปะแม้แต่ศิลปินในอดีตของบ้านเรา มันมีความคิดเป็นสากล เพียงแต่ว่าสังคมที่เขาอยู่อาศัยมันเป็นรูปแบบนั้น ท่านทั้งหลายเหล่านั้นอาจไม่ได้ถือสากับสิ่งรอบตัว แต่สิ่งที่ท่านสนใจคือการแสดงความสามารถของท่านออกมา เป็นลักษณะแบบปิดทองหลังพระทว่าคุณค่าไม่ได้หายไป

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าสมัยเด็ก ชีวิตไม่ได้มีโอกาสมากเท่าไหร่ ที่บ้านไม่ได้มีฐานะ ไม่ต้องคิดไกลไปถึงเรื่องศิลปะแต่ที่มาถึงตอนนี้ เหมือนส่วนหนึ่งเราหามันจนเจอว่าเราชอบอะไร 

คือเด็กๆ เราไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น ดีที่สุดคือหนังสือการ์ตูน ครอบครัวผมก็เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ พูดง่ายๆ คือไม่ได้มีการศึกษายิ่งไม่มีโอกาสได้เห็นโลกกว้าง ก็เป็นการเสียโอกาส แต่ก็ไม่ได้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ที่ผมรู้ว่า สิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ผมมาคือ ผมพบว่าผมชอบเขียนรูป อยากเขียนรูปให้สวยๆ อยากเรียนรู้เรื่องพวกนี้มากกว่านี้ไม่เคยคิดเลย จนมีอยู่วันหนึ่งหลังจากจบมัธยมแล้วสอบเข้าเรียนโรงเรียนเพาะช่างได้ มีโอกาสเจอกับศิลปินคนหนึ่งที่ถือว่าเป็นโชคดีที่ไม่น่าเป็นไปได้นั่นคือจ่าง แซ่ตั้ง 

  จ่างน่าจะอยู่ใกล้ๆ กับบ้านที่ผมอยู่ แต่เราไม่เคยเจอกัน เพียงแต่ว่าครอบครัวคุณแม่เขาเคยอยู่ละแวกบ้านเดียวกัน ก็เลยรู้จักกัน อยู่มาวันหนึ่งแม่เลยพาไปหาจ่าง พอเข้าไปในบ้าน ผมเห็นแต่รูปที่เราดูไม่รู้เรื่องเต็มไปหมด ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในใจคือ เรารู้สึกว่าในความไม่รู้เรื่อง มันน่าสนใจ ทำไมเขาทำแบบนี้ มันมีความหมายยังไง ผมไม่ได้ปฏิเสธความรู้สึกสงสัยนี้ ก็เลยเรียนกับจ่าง ถ้าตอนนั้นคิดแบบสามัญ ก็คงบอกว่าไม่เห็นมีฝีมืออะไรเลย ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ไม่เห็นมีอะไรสวยแต่เราคิดอีกแบบว่าเขาน่าจะมีอะไรที่น่าสนใจนะ อันนั้นนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดโลกทัศน์ของเด็กหนุ่มที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับศิลปะ

ได้อะไรจากตอนที่เราทำงานกับคุณจ่างมาบ้าง

ผมอยู่กับจ่าง 5 ปี อยากจะพูดว่าเวลาที่เราต้องฝึกอะไรสักอย่าง อย่างนักเขียนเราก็ต้องไปเจอพวกที่เขาเป็นนักเขียนจริงๆ ถ้าเราอยากเป็นศิลปิน เราต้องเรียนรู้จากคนที่เขาทำงานศิลปะ บุคคลเหล่านี้เขาช่วยเยาวชนได้มาก เพราะเราสามารถเรียนลัด เขาสอนจากประสบการณ์ตรง เป็นเรื่องโชคดีที่เราได้เจอคนแบบนี้ แต่แค่นี้ไม่พอ มันขึ้นอยู่กับตัวเองด้วยว่าตั้งใจหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ตั้งใจ ไม่เอาจริงเอาจัง จะเจอครูดีขนาดไหนก็ไม่มีวันที่จะเป็นอะไรได้

70 ปีที่ทำงานศิลปะมา คิดว่าบทบาทของสังคม หรือเมือง มีผลกับศิลปไหมครับ

ลึกๆ น่าจะมี ผมยกตัวอย่างว่า พอเมืองเปลี่ยน ศิลปะก็เปลี่ยน อย่างเยาวชนในกรุงเทพฯ ที่เกิดมาในยุคนี้ เขาไม่สามารถเข้าใจหรือรู้จักกรุงเทพฯ ได้เหมือนตอนที่ผมอายุเท่าเขา หรือแบบเมื่อก่อน ไม่มีโอกาสเห็นเมืองไทยสักเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมืองสมัยก่อนสร้างสิ่งปลูกสร้างแบบหนึ่ง อย่างวัดตั้งอยู่ตรงนี้ สิ่งนั้นตั้งอยู่ตรงนี้ ทุกๆ อย่างในเมือง มันมีสเปซแบบหนึ่ง แต่สเปซนี้หลังจากผ่านไป 30 ปีแม้วัดจะอยู่ที่เดิมแต่รอบๆ มันมีสิ่งใหม่ หรือสำหรับผมมันอาจเป็นสิ่งแปลกปลอมก็ว่าได้  มันแออัดและถาโถมเข้ามาสู้เมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดสเปซในแบบที่ผมเข้าใจมันหายไปเลย เพราะฉะนั้นความเป็นผังเมืองที่เป็นของเดิมที่ผมรู้สึกว่ามันลงตัวงดงาม มันก็หายไป เด็กที่เกิดมาภายหลังก็ต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันไม่ได้สร้างความสุข สุนทรียภาพก็จะเปลี่ยนไป

ในเยอรมนีให้ความสำคัญกับเรื่องสเปซของเมืองมากน้อยแค่ไหน

เขาให้ความสำคัญมาก มีการอนุรักษ์ผังเมืองเก่าอย่างเคร่งครัด เขาจะกำหนดพื้นที่เลยว่านี่เป็นโซนที่สร้างสิ่งใหม่ได้กับโซนที่ห้ามสร้างอย่างเด็ดขาด โซนเมืองเก่ากว่าจะสร้างอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง ต้องผ่านการถกเถียงกันเยอะมาก เขาไม่ยอมให้สร้างกันง่ายๆ ส่วนหนึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องของการรักษาประวัติศาสตร์ของเมือง แต่ที่เมืองไทยนี่เหมือนเราทำลายประวัติศาสตร์ตัวเอง ตึกเก่าอยากรื้อก็รื้อ อยากเปลี่ยนหน้าตาย่านไหนก็เปลี่ยนเลย สำหรับผมนี่เป็นเรื่องน่าสลดใจนะเพราะเหมือนเราทำลายรากเหง้าตัวเอง แม้แต่สุสานในกรุงเทพฯ ก็ยังรื้อเลย อย่างเดียวที่เราไม่รื้อคือวัด ทำให้เรารู้เลยว่าเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เรื่องสำคัญที่สุดของเราไม่ใช่สุนทรียะของแต่เมืองนี้หลายๆ อย่างขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ 

เปรียบเทียบความตื่นตัวของแวดวงศิลปะในเยอรมนีกับไทย ปัจจุบันมันเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

มันคงเทียบกันยากนะ เพราะยุโรปวางรากฐานเรื่องศิลปะมาอย่างยาวนาน และเข้มแข็งมาก ยกตัวอย่างข้าราชการในกระทรวงวัฒนธรรมจะไม่มีการโยกย้ายตำแหน่งกันง่ายๆ นะ เขาจะเชิญผู้มีความสามารถที่เหมาะกับงานนั้นๆ มาบริหาร

ไม่เกี่ยวกับการเมือง

มันเป็นเรื่องการเมืองแหละ แต่เป็นการเมืองที่มีสติปัญญา เขาใช้คนที่ถูกกับงานและมีประโยชน์ คนที่เข้ามาส่วนมากเป็นคนที่มีศักยภาพสูง หมดรุ่นนี้ไปรุ่นใหม่ก็มา ซึ่งมีการต่อยอดสิ่งที่ทำตลอดเวลา ฉะนั้นทุกอย่างเขาถึงได้เข้มแข็ง ที่เมืองไทยโมเดลแบบนี้เป็นไปไม่ได้เลย ส่วนคนที่มาเป็นเจ้ากระทรวงไม่ได้เข้าใจงานที่ทำ ถามว่าจะให้มาวางแผนที่โน่นนี่นั่น พูดตรงๆ ว่าเสียดายงบประมาณ ฉะนั้นถ้าให้เปรียบเทียบก็ต้องบอกว่าอย่าเปรียบเทียบเลย

ตอนที่คุณอยู่ในมิวนิก งานศิลปะต่างที่อยู่ใน public space มีอะไรที่มันโดดเด่น หรือรู้สึกว่ามันกินใจคนเอเชียอย่างเรามองไปแล้วรู้สึกว่ามันกระทบใจเราไหม 

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญเลยที่ทำให้ศิลปะในยุโรป ไม่ใช่แค่ในเยอรมนีน่าสนใจคือ ความมีรากของเขา มันมีความจริงแท้ของผู้สร้างสรรคือแต่ละคนมันมีที่มาที่ไป ศิลปะที่ออกมามันสัมพันธ์กันไปหมดกับรากประวัติศาสตร์ มีความลุ่มลึก ซึ่งนั่นผมว่าเป็นเสน่ห์ของศิลปิน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครเหนือกว่าใคร เพราะคนเอเชียอย่างเราก็มีมุมมองอีกแบบ เวลาเราสร้างงานมันก็มีความลุ่มลึกแบบหนึ่งอยู่ในตัว ในรากเหง้าของเรา ก็เอาความเข้าใจแบบนี้แหละมาทำงาน ฝรั่งใันกลืนเราไม่ได้หรอก เพราะปรัชญาตะวันออกกับตะวันตกมันคนละแบบ สัญชาตญาณมนุษย์มันไม่เหมือนกัน แต่ความหมายของสุนทรียะมันเหมือนๆ กันนะ มันเป็นความรู้สึกสากล อย่างความรัก เรารู้จักความรักเหมือนกัน รู้จักความมีชีวิตชีวาเหมือนกัน แต่แสดงออกแตกต่างกันเพราะรากฐานเรามาไม่เหมือนกัน 

มีศิลปินคนไหนที่คุณชื่นชอบผลงานใครเป็นพิเศษ

ผมชื่นชมโจเซฟ บอยซ์(Joseph Beuys ศิลปินชาวเยอรมัน เขามีชื่อเสียงอย่างมากในศิลปะหลากหลายแขนงทั้งจิตกรรม ประติมากรรม ศิลปะงานจัดวาง กราฟิก ดีไซน์ จัดอยู่ในกลุ่มศิลปิน Neo-Dada ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจในช่วง 50 หลังของศตวรรษที่ 20 เขาเสียชีวิตในปี 1986 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเมื่ออายุได้ 64 ปี)  เป็นศิลปินนักจัดวางที่มีหัวก้าวหน้ามาก และมันเห็นเลยว่าสิ่งที่เขาแสดงออกมันมาจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งของตัวเขาเองและไม่หยุดที่จะค้นคว้าอะไรใหม่ๆ ด้วย 

ทำไมถึงสนใจงาน installation เป็นพิเศษทั้งๆ ที่โตมากับการวาดลายเส้น 

เป็นเรื่องของความชอบส่วนตัว เป็นธรรมชาติมากกว่า เพราะจริงๆ installation ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษ อย่างร้านก๋วยเตี๋ยวก็ใช่ สายไฟระโยงระยางที่เราเห็นในกรุงเทพฯ นี่ก็ใช่ มันคือ installation หมดเลย อย่าคิดว่าเป็นอะไรที่พิสดาร ที่ผมสนใจเพราะสมัยก่อนมีแต่การทำงานประติมากรรม ทำเป็นตัวๆ เราก็คิดนอกกรอบว่าไม่ ต้องเอามาเป็นตัวๆ แบบนั้น มันก็มีเรื่องราวได้เหมือนกัน มันคือการจัดการพื้นที่ Space&time แบบหนึ่ง ซึ่งงานแบบจัดวางจะว่าไปมันเกี่ยวกับพื้นที่ที่คนอยู่ ที่คนได้เห็น งานศิลปะต้องส่งผลกระทบกับจิตใจไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง อย่างของผม ผมมุ่งหวังให้คนเกิดความสงบ เวลาเอาไปตั้งที่ไหน ผมก็อยากให้เขารู้สึกได้ถึงความสงบนิ่ง หน้าที่ของงานศิลปะมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่มันสร้างความหมาย สร้างอารมณ์ให้กับพื้นที่นั้นๆ

มาตรฐานของการสร้างสรรงานศิลปะของไทยเราเป็นอย่างไร 

มันมีหลากหลายขึ้นนะ แต่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมให้มากหน่อย การทำงานศิลปะมันเหมือนกับผู้ที่จะเป็นนักดนตรี เราจะเป็นนักดนตรีที่เก่งกาจไม่ได้หรอกถ้าไม่รู้รากเหง้าของมันว่าคืออะไร ผมมองว่าตรงนี้คือจุดอ่อนของศิลปินไทย ผมคิดว่าถ้าเราต้องการสร้างงงานที่ดี เราก็ต้องสนใจ ใส่ใจกับมันให้มาก มองให้ลึก อันนี้เป็นความเห็นของเราเอง ไม่อย่างนั้นเราสู้คนอื่นเขาไม่ได้ 

ยกตัวอย่าง ตอนที่ผมไปแสดงงานในฐานะตัวแทนประเทศไทยที่ Venice Biennale เมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปเป็นตัวแทยประเทศ  ไทยเราได้พาวิเลียนพื้นที่แสดงงานที่ไม่สมบูรณ์เลย คือเป็นเหมือนร้านอาหาร พื้นที่ไม่สง่างาม ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ เขาลงทุนเช่าพื้นที่จัดแสดงงานอย่างดี มีพื้นที่แสดงงานโอ่โถง เสริมภาพลักษณ์ของประเทศ แต่ของไทยเราตรงข้าม ไทยเราเลือกเช่าพื้นที่ๆ ที่อยู่ใกล้กับที่ชุมชน คนจะต้องผ่านมาทางนี้ พูดง่ายๆ คือ เลือกทราฟฟิกดีไว้ก่อน แต่มันไม่เหมาะกับการแสดงงานศิลปะ 

แต่นี่คือโจทย์ของศิลปิน เราก็ต้องแก้ปัญหาว่า หากเราจะต้องทำที่ๆ ที่มันห่วยที่สุดให้คนเข้ามาดูงานศิลปะ แล้วลืมมันไปเลยว่ามันห่วย เราจะทำยังไง 

ซึ่งสำหรับเรา ก็ถือว่าพอใจ งานตอนนั้นชื่อ “Krung Thep Bangkok” ยกเอาเรื่องราวของกรุงเทพฯ ไปนำเสนอ เป็นเรื่องแบบบ้านๆ เข้าไปจัดการกับสถานที่  พอฝรั่งเดินเข้ามา มันคาดไม่ถึงว่าเข้าไปข้างในแล้วจะเจอแบบนี้ ว่ามันสวย ท้ายสุดงานของเราได้รับการโหวตว่าเป็นหนึ่งในห้าของงานที่ดีที่สุดที่ต้องไปดูในงานครั้งนั้น ซึ่งก็ถือว่า เออ เรารอดแล้ว แต่มันก็สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างของความเป็นไทย ความเป็นกรุงเทพฯ ในแง่หนึ่งเหมือนกัน 

พูดถึงนิทรรศการครั้งนี้ แนวคิดของบ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม” (Die Schöne Heimat) มันมาจากไหน 

Die Schöne Heimat มันเป็นภาษาเยอรมัน ชื่อภาษไทย ด๊อกเตอร์เจตน์-เจตนา นาควัชระไหม แกเป็นคนแปลภาษาไทยให้ แกเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาวรรณกรรมของเยอรมัน Die Schöne Heimat จริงๆ หมายความว่าบ้านเกิดที่งดงาม ง่ายๆ คือเป็นการรวบยอดงานของศิลปินคนหนึ่งที่เขาเคยใช้ชีวิตในสองแห่งที่เรียกว่าบ้านเหมือนกัน โดยเอางานจากช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตมาแสดง จะเห็นเลยว่าตั้งแต่อายุ 20 กว่าจนอายุ 70  ปีการทำงานศิลปะของเราเคลื่อนไหวตลอดเวลา

ความหมายของบ้านของคุณเป็นอย่างไร 

พูดง่ายๆ ว่าส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องส่วนตัวของผม ผมมีภรรยาสองครั้ง ครั้งหนึ่งที่เยอรมัน อีกครั้งคือตอนที่กลับมาอยู่ที่เชียงคาน ภรรยาคนเยอรมันผมเจอตอนเราเป็นนักศึกษาด้วยกัน ได้ใช้ชีวิตด้วยกันเป็นเวลา 12 ปี เป็นช่วงที่เราสร้างตัวเป็นอาร์ทิสต์ มันเป็นอะไรที่เธอเสียสละยิ่งกว่าเรา เหมือนกับชีวิตที่คนเขาพูดว่าชีวิตที่ไม่สามารถทำได้ดีได้ทุกอย่าง อาจจะได้อย่างและต้องเสียอีกอย่าง 

ตอนที่ผมสร้างตัว เธอต้องลำบากลำบนกับเราเยอะแยะเลย เราไม่ใช่คนมีฐานะ ก็ต้องไปทำงานเพื่อให้มีรายได้มา เพื่อที่จะมาสร้างงาน บางทีทำงานห้าวัน เสาร์ อาทิตย์เธอยากให้อยู่บ้าน จะได้ดูแลครอบครัว แต่เราก็อยากไปสตูดิโอ อยากทำงาน เพราะทั้งสัปดาห์ไม่ได้ทำเลย บางทีเป็นเดือนเลยไม่ได้ทำ มันก็เลยแบบว่าเราทำหน้าที่ของความเป็นพ่อ เป็นสามีได้ไม่สมบูรณ์แบบ ถ้าเลือกครอบครัวก็ไม่ได้ทำงานศิลปะ จนในที่สุดผ่านมาสิบสองปีเธอก็บอกว่า “ฉันพอกับเธอแล้ว” 

พูดตอนนี้ก็ดูเหมือนขำ แต่สำหรับผมตอนนั้นมันไม่ขำนะ ตอนนั้นก็อายุ 40 กว่าแล้ว หลังจากที่ไม่คาดฝันว่าเธอทิ้งเรา มันทำให้เราไม่มีความสุข ตอนนั้นเราเริ่มมีชื่อเสียงแล้ว ก็ถามตัวเองว่าแล้วความดังช่วยอะไรมึง ได้บ้าง ช่วยไม่ได้เลย มันไม่มีความสุข ต้องแก้ไขชีวิตตัวเองใหม่ หาวิธีอยู่กับตัวเอง ใช้ชีวิตใหม่ ศิลปะก็ต้องเดินต่อไป ระหว่างที่ใช้ชีวิตใหม่ ไอ้กระบวนการ การใช้ชีวิตใหม่ก็เข้ามาอยู่ในตัวงานของเราด้วย เราต้องปรับตัว ความคิดทางศิลปะก็เปลี่ยนไปด้วย จนในที่สุดก็ตั้งหลักได้

  จนมาถึงช่วงหนึ่ง ที่เราเริ่มคิดแล้ว คงต้องกลับเมืองไทย สิ่งต่างๆ ในยุโรปกำลังจบ ที่รู้สึกว่ามันจบเพราะจุดมุ่งหมายทางศิลปะที่เรามาที่นี่ กับความเป็นจริงมันเป็นคนละจุดกัน คือมันเริ่มกลายเป็นเรื่องธุรกิจมากเกินไป กลายเป็นว่าเราต้องทำอะไรเป็นไปตามขบวนการทางศิลปะที่นั่น เขาไปทางไหนเราก็ต้องไปทางนั้น เราคิดว่าเป้านหมายของการมาใช้ชีวิตที่นี่ เราไม่ได้มาเพื่อทธุรกิจ หรือทำตามที่คนสั่งเรา ณ ตอนนั้นงานของเราก็ไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว งานมันอยู่ตัวแล้ว และการที่กลับมาเมืองไทยก็ไม่ได้คิดว่าจะมาโด่งดัง เราต้องการกลับมาใช้ชีวิตใหม่มากกว่า ก็เลยไปเลือกพื้นที่หนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครไป คือ ริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงคาน ไปอย่ในชนบทที่ไม่ใช่บ้านเกิด ไม่ใช่ที่ๆ คุ้นเคย ไปหาชีวิตใหม่ ไปสร้างบ้านหลังใหม่อยู่ตรงนั้น ผมกลับมาตอนอายุประมาณ 49 ปี ซึ่งคิดว่าเป็นโมงยามที่เหมาะ เพราะแก่กว่านี้ก็อาจจะลำบากแล้ว ก็วางแผนมาอย่างดี  

แต่พอมาเจอสถานที่จริง มันเจอทั้งความเหงา ความโดดเดี่ยว ทุกอย่างเลย เหมือนนับหนึ่งใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะแสวงหาอะไร คุณต้องกล้าที่จะตัดสินใจสักอย่าง 

นี่เป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมผมจนเป็นอย่างทุกวันนี้ จากจุดที่เรียกว่าไม่มีอะไรเลย แต่ความไม่มีอะไรนี่แหละที่สอนเราว่า ถ้าอยากมีประสบการณ์ในชีวิตอะไรสักอย่าง ไม่ใช่นึกขึ้นมาแล้วมันจะเกิดขึ้นได้ บางเรื่องมันต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต เพียงแต่ว่าเรื่องส่วนตัวของศิลปินบางทีไม่ต้องมีใครรู้เห็นหรอก ให้เขามองผ่านงาน ในแง่หนึ่งศิลปะเป็นเรื่องของการตีความส่วนตัว ฉะนั้นเรื่องส่วนตัวของศิลปินคุณไม่ต้องรู้ก็ได้ ศิลปินจะเปิดโอกาสให้คุณตีความผ่านงานของเขาเอง 

ทุกวันนี้คุณยังทำงานอยู่

ผมไม่ได้คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นงาน คิดว่ามันเป็นชีวิตของเราที่เราน่าจะเกิดมาเพื่อพวกสิ่งเหล่านี้ ศิลปะเป็นที่ให้เราได้แสดงออก มันเป็นภาษาที่ผมพูดได้ชัดเจนที่สุด ผมทมันำได้ตลอดชีวิต การไม่ทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทุกอย่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเรา 

ชีวิตที่เชียงคาน ต่างจากมิวนิคมากไหนครับ

ผมเลือกเชียงคานเพราะตอนนั้นมันเป็นอำเภอที่ไม่มีใครสนใจ เมืองมันเงียบสงบมาก หกโมงเย็นทุกบ้านปิดประตูกันหมดแล้ว แต่ผมโอเคเพราะรู้อยู่แล้วว่าการที่เราจากเมืองใหญ่มาอย่างมิวนิค เราก็มองหาความสงบแบบนี้…แต่ตอนนี้ก็เริ่มไม่ค่อยสงบ(หัวเราะ)   

คุณเคยพูดว่าสิ่งที่คุณกลัวที่สุดคือ กลัวตัวเองเกิดมาแล้วไม่มีค่า ไม่ได้ทำอะไรไว้ให้กับโลกใบนี้ ทุกวันนี้คุณยังกลัวอยู่ไหม 

ผมว่าโลกไม่ได้ต้องการจากเราหรอก มันอาจเป็นประโยชน์กับมนุษย์ด้วยกันเองมากกว่า เคยมีคนทำงานศิลปะบางคน เคยคุยกันเขาบอกว่า เขากลัวจะขายรูปไม่ได้ เราบอกเขาไปว่า “นายไม่ควรกลัว นายควรกลัวมากกว่าว่านายเกิดมาแล้วไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเลย” มนุษย์เนี่ยนะมีโอกาสเกิดขึ้นมาบนโลกได้รู้จักโลก ซึ่งมันช่างโชคดี ฉะนั้นเราจะทำยังไงที่เราจะได้รู้จักกับสิ่งที่เป็นความจริงแท้ในใจนอกเหนือจากแค่เกิดมาทำมาหากินเพื่อให้เอาตัวรอดให้ได้ ผมว่าชีวิตมันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้นและ เช่นว่า คุณได้ส่งต่อความคิดอะไรบางอย่างให้คนรุ่นหลังบ้างไหมให้เขาได้คิดต่อ  


Contributor