14/09/2021
Life

เป็นอยู่ เรียนรู้ และมีสุขอย่างคนญี่ปุ่น : ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับสังคมแห่งความรู้ กับ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

การพัฒนาเมืองบนฐานความรู้เป็นสิ่งที่กำลังส่อเค้าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน องค์ความรู้ ภูมิปัญญาจากชุมชนหลายแห่งกำลังถูกรวบรวม เพื่อสร้างขึ้นเป็นโครงข่ายที่สนับสนุนการเรียนรู้นอกระบบ  แต่กระนั้น สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งใหม่นักในประเทศญี่ปุ่น ที่แนวคิดของ Living Museum แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการรู้จักวิถีชีวิตของท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ เป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมมาหลายทศวรรษ

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ The Urbanis ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเก่าในสาขา Urban Engineering จากมหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวะ และความเป็นมาของการสร้างและพัฒนาสังคมเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นรากฐานของความเจริญทางวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นๆ อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

รากฐานจากเอโดะ: เพราะการเรียนรู้อยู่คู่สังคมมานานแล้ว

ก่อนที่เราจะพูดถึงนโยบายการจัดการเมืองในโลกปัจจุบัน เราต้องเข้าใจบริบทของสังคมเมืองในประเทศญี่ปุ่นเสียก่อน ความเป็นเมืองในญี่ปุ่นเริ่มเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ในเมืองเอโดะ ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมืองแห่งนี้รวมผู้คนมากมายเข้ามาอยู่เป็นสังคมใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การรวมกลุ่มทางสังคมนี้ เช่นเดียวกับมหานครสมัยใหม่ในโลกปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น และเกิดความมั่งคั่งที่มากขึ้นเช่นกัน   

ปัญหาและความมั่งคั่งในเอโดะนี้เอง ที่ขับเคลื่อนความสงสัยใคร่รู้ของสังคมญี่ปุ่น เป็นรากฐานของการส่งเสริมการเรียนรู้มาจนถึงทุกวันนี้ 2 ประการด้วยกัน คือ ความมั่นคงทางสังคมและอิสระทางการแข่งขัน กล่าวคือ  ภายหลังจากที่รัฐบาลโชกุนตระกูลโทคุกาวะได้สร้างความสงบสุขภายหลังจากการชนะสงครามและสร้างกรุงโตเกียวให้มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน  ผู้คนเริ่มใช้เวลาเพื่อการแข่งขันบนทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อผลักดันให้เกิดความทะเยอทะยานและความภาคภูมิในธุรกิจของตนมาก มีความอยากที่จะส่งต่อภูมิปัญญาให้มีต่อไปอย่างยั่งยืน จนกำเนิดเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้มาอย่างยาวนานแล้ว และความมั่งคั่งที่มีเป็นรากฐานของการสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาใหม่ๆ ที่ทรงคุณค่าในหลายด้าน

เรียกได้ว่าเศรษฐกิจที่แข่งขันกันสูงในตลาดเสรีนั้นยังอยู่คู่สังคมญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า SME เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ และเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนักในประเทศไทย เพราะรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากการแข่งขันอย่างเสรีเหมือนที่ญี่ปุ่น  

ความรู้มีอยู่รอบตัว: เพราะสื่อเพียบพร้อม การเรียนรู้ด้วยตนเองจึงไม่ยากเกินจริง

อีกสิ่งหนึ่งที่มีบทบาททำให้การศึกษา อ่าน และค้นคว้าเป็นสิ่งปกติในสังคมญี่ปุ่น คือความเพียบพร้อมของแหล่งข้อมูล ถึงขั้นเป็นที่กล่าวกันว่า “ถึงแม้คนญี่ปุ่นจะไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเก่งนัก แต่พวกเขาก็สามารถเข้าถึงความรู้ทุกอย่างได้จากภาษาของตน” รากฐานของการนำเข้าข้อมูลเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ Rangaku หรือ ศาสตร์ของดัตช์ ที่หลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่นในช่วงแห่งความสงบระหว่างปิดประเทศ ที่เกิดพร้อมๆ กับการพัฒนาทางวรรณกรรมและศิลปะครั้งใหญ่

ศาสตร์ของดัตช์กลายเป็นองค์ความรู้สำคัญแห่งยุค ผู้คนร่วมสมัยมากมายที่รู้หนังสือให้ความสนใจกับการศึกษาใหม่ๆ นี้ เกิดเป็นความต้องการ ที่ทำให้เกิดการแปลเอกสารจากต่างประเทศมากมายเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นสามารถเข้าใจได้ กลายเป็นการสร้างความปกติใหม่ในสังคม ที่ยังส่งผลมาถึงทุกวันนี้ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์กล่าวว่าหนังสือจำพวก Textbook ในปัจจุบันยังถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วก็มีเยอะกว่าอย่างชัดเจน ลบกำแพงทางภาษาออกไปจากโครงข่ายของการศึกษาด้วยตนเอง

หากมองในแง่มุมหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นได้สร้างและพัฒนาคลังข้อมูลของตัวเองมาไว้เนิ่นนานแล้ว ก่อนที่โลกจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลเสียอีก

เพราะเรามั่นคงเราจึงกล้า: ประกันทางสังคมที่หนุนคนให้ตามฝัน

เมื่อขยับมามองสภาวะสังคมของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ก็ยังมีสิ่งน่าสนใจอยู่อีกประการหนึ่ง คือ ความมีอิสระเสรีในการประกอบอาชีพ และความไม่ผูกติดคุณค่าไว้กับอาชีพใดๆ ลักษณะดังนี้ค่อนข้างสวนทางกับกระแสค่านิยมในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้อยู่พอสมควร

แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นเองเคยวัดความสำเร็จในชีวิตจากการเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จจากอาชีพอิสระทั้งในด้านศิลปะ การทำอาหาร ดนตรี ช่างฝีมือ ฯลฯ  สาเหตุสำคัญของความสำเร็จไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นจากตลาดบริโภคขนาดใหญ่ภายในประเทศเท่านั้น  สวัสดิการทางสังคมยังช่วยสร้างความมั่นใจให้หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกงานตามความฝันได้อย่างกล้าหาญ

“ต่อให้คุณไม่มีรายได้มาก มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าประกันสังคมที่ช่วยให้ชีวิตของคุณอยู่ได้อย่างปกติสุข  อาจจะไม่หรูหรา แต่ก็ได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพเพียงพอทัดเทียมคนอื่น”

ด้วยเหตุนี้ หากได้ริเริ่มทำสิ่งใดแล้ว ถ้าประสบความสำเร็จก็ถือว่าดีเยี่ยม แต่ถึงล้มเหลวก็ไม่ได้ “เจ็บ” จนเกินจะรับไหว เพราะยังมีการคุ้มครองจากรัฐอยู่ ไม่ว่าอาชีพเหล่านั้นจะอยู่ในกระแสหลักเพียงใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ค่านิยมในสังคมญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกได้เข้าสู่ช่วงอิ่มตัว เป้าหมายสูงสุดของผู้คนไม่ใช่การทำงานที่มั่นคงในบริษัทใหญ่เพื่อความมั่งคั่งสูงสุดอีกต่อไป ในทำนองเดียวกันนั้นภาครัฐเองก็เข้าใจถึงสภาวะตรงนี้ และได้หันไปมุ่งเน้นในการสร้าง “ความปกติสุข” ให้กับพลเมืองทุกคนตลอดชีวิต เพื่อรองรับกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย

เพราะเมืองเป็นของคนเมือง ไม่ใช่ของข้าราชการจากส่วนกลางอย่างที่เราเคยชิน

หากมองผ่านมุมมองของการจัดการผังเมือง การจัดการเมืองในญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นของชุมชนเมืองนั้นๆ อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมีส่วนช่วยรัฐบาลท้องถิ่นเกิดความพยายามในการพัฒนาท้องถิ่นของตน เพื่อสร้างรายได้สำหรับการพัฒนาเมืองและการดูแลประชาชน  หน้าที่ของรัฐบาลกลางที่เกี่ยวกับการจัดการเมืองมักจะเป็นเพียงแค่การกำหนดแนวทางและกรอบการพัฒนาของเมืองในแต่ละช่วงเท่านั้น แต่การออกนโยบาย หรือทำโครงการต่างๆ มักเป็นหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นทั้งหมด  สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีความพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์และการแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ในการนำทรัพยากรและองค์ความรู้ในท้องถิ่นออกมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อจุดเด่นและสร้างอัตลักษณ์ในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและการดึงดูดประชากรกับเมืองอื่นๆ ภายในประเทศ

ความสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านี้เป็นการดำเนินการที่ต้องอาศัยการดึงเอาความรู้จากบุคลากรในพื้นที่ออกมาใช้ ต่างจากการดำเนินงานเป็นกิจวัตรหรือทำงานเอกสารเพื่อรับรองอำนาจจากส่วนกลาง ซึ่งแทบจะไม่ได้เกิดการนำองค์ความรู้มาใช้เลย

ถึงแม้การจัดการเมืองจะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นของตนเองเป็นส่วนใหญ่ ทิศทางที่กำหนดไว้โดย รัฐบาลกลางชิ้นหนึ่งที่สำคัญคือ Judenken หรือย่านพื้นที่อนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในเมือง ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่จะอนุรักษ์ความเป็นชุมชน ให้อยู่คู่กับชุมชนทั่วประเทศได้ ทิศทางนี้กำหนดขึ้นภายใต้แนวคิดของการสร้าง Living Museum หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ผู้คนภาคภูมิ และได้รู้จักกับตัวเอง

ไม่ว่าเป็นนโยบายที่ออกมาจากส่วนไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้คนในพื้นที่จะได้มีส่วนร่วม ได้ทราบข้อมูล และได้แสดงความเห็นเสมอ ซึ่งประเด็นนี้ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์มองว่าเป็นสิ่งที่เป็นปกติอยู่แล้วในโลกเสรี เหล่านี้จะบังคับให้ภาครัฐต้องอธิบาย แสดงหลักการและเหตุผล นำเสนอต่อชุมชนให้ได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้หน่วยงานที่ทำการศึกษาในเชิงลึกจะได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน เพื่อให้การทำโครงการทุกๆ อย่างเป็นไปอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

สิ่งปกติของโลกเสรีเหล่านี้ เมื่อประกอบเข้ากับพื้นฐานที่เพียบพร้อมของสังคมญี่ปุ่นแล้ว จึงสรรสร้างสังคมประเทศญี่ปุ่นให้ก้าวหน้าทางภูมิปัญญา และเกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่ขยายวัฒนธรรมของประเทศให้ยิ่งใหญ่และเป็นแบบอย่างที่ควรค่าแก่การเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนาคตเมืองแห่งการเรียนรู้ (The Future of Learning City) ได้รับทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) / หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) / ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ป่าสาละ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor