13/05/2020
Life
ว่าด้วยการซื้อของในเมืองเบื้องต้น คุยกับ อ.ดร. พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ ในช่วงที่การเดินทางเป็นเรื่องลำบาก
อธิวัฒน์ อุต้น
ลองนึกถึงสินค้าชิ้นล่าสุดที่คุณเพิ่งซื้อ คุณซื้อจากที่ไหน แล้วถ้าหากเป็นช่วงก่อนโควิด-19 จะระบาด ของชิ้นที่ว่า เดิมทีคุณจะซื้อจากที่ไหน
คำตอบสำหรับภาพการซื้อของในเมืองมีได้หลากหลาย ทั้งจากซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขามากมายมหาศาล ห้างสรรพสินค้าใหญ่โตมหึมา หรือใช้นิ้วสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ก็มีให้เลื่อนให้ไถกันไม่หยุด รวมถึง ตลาดนัด และอื่นๆ
แต่การมาของโควิด-19 โรคระบาดครั้งใหญ่ที่ถูกทั้งโลกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ได้เปลี่ยนภาพการซื้อของในเมืองไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ผู้คนไม่สามารถไปกินข้าวที่ร้านประจำได้ ถูกงดช็อปปิ้งในห้าง อยู่บ้านมากขึ้นกักตัวพร้อมกักตุนอาหาร และอีกหลายๆ อย่างที่ทำให้พฤติกรรมการซื้อของต้องเปลี่ยนไป
ในวันที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม อยากชวนทุกคนไปคุยกับ อ.ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยในโครงการวิจัย ‘คนเมือง 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยงานในส่วนที่อาจารย์เป็นผู้วิจัยคือ โครงการย่อยที่ 5 ซึ่งพูดถึงเรื่อง ‘อนาคตของการซื้อของในเมือง’
การมาเยือนของโควิด-19 ส่งผลให้อนาคตการซื้อของของคนเมืองในงานวิจัยนั้นเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร สมมติฐานถึงอนาคตทั้งใกล้ไกลจะเบนเข็มไปในทิศทางไหน ทุกๆ อย่างกำลังเปลี่ยน เปลี่ยนไปจากความคุ้นชิน เปลี่ยนไปในทิศทางบังคับที่ทุกคนต้องปรับตัวตาม และยังไม่รู้เลยว่า คลื่นลมของการเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ จะสงบลงได้ในวันไหน การพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ในช่วงเวลาแบบนี้
เมืองควรมีร้านสะดวกซื้อเพราะอะไร
เมืองเกิดจากตลาดแล้วก็วิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ร้านค้าจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเมืองมาตั้งแต่ต้น การค้าในเมืองในยุค 1.0 คือ ตลาดแบบ traditional มา 2.0 ก็คือ ธุรกิจแบบ modern trade ที่เริ่มเข้ามา จัดการเรื่องของสต็อกสินค้าอะไรต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น จากเดิมที่เป็นรายย่อยจำนวนมากในยุค 1.0
ผ่านมาถึงยุค 3.0 นั่นก็คือ อีคอมเมิร์ซ ซึ่งก็มาเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของของคนไปเยอะเหมือนกัน คืออยากได้อะไรก็ให้ส่งมาที่บ้าน คราวนี้มาถึงยุค 4.0 ซึ่งจากการรีวิวที่เขาพูดกันในระดับโลก จะพบว่ามันคือการบูรณาการของการค้าในยุค 1.0 ถึง 3.0 คือยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะได้คูปองส่วนลดจากช่องทางออนไลน์ จากนั้นจะต้องวิ่งไปที่ร้านค้าเพื่อไปแลกของ ร้านค้าก็จะทำแคมเปญออกมาให้ลูกค้าอีก ก็คือเรื่องของการบูรณาการเชิงการตลาดแบบนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่เราพบเจอในอีกไม่นาน หรืออาจมีการใช้งานในบางที่อยู่แล้วก็ได้
จริงๆ แล้วในประเด็นการค้า ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นผู้นำของโลก เพราะฉะนั้นโลกหมุนไปยังไง เราก็มีแนวโน้มที่จะตามเขาไป ตลาดอีคอมเมิร์ซรุ่งเรืองเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว เราก็ค่อยๆ ตามมาบูมเอาเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ แพลตฟอร์มไหนมา เราก็จะตามเทรนด์ของโลกไปเรื่อยๆ
ร้านสะดวกซื้อคือเทรนด์หนึ่งของโลก และเป็นเทรนด์ในประเทศไทยที่ถือว่ามาแรงที่สุด เพราะร้านสะดวกซื้อขยายจำนวนสาขาและเครือข่ายไปได้เยอะมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลค่าความหนาแน่นของร้านสะดวกซื้อต่อจำนวนประชากร ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้เราอยู่ในระดับกลางๆ เรามีความหนาแน่นของร้านสะดวกน้อยกว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง แต่ก็มากกว่าในมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งจีน
แน่นอนว่า การที่ร้านสะดวกซื้อขยายสาขาได้ขนาดนี้ย่อมแปลได้ว่า ความต้องการของผู้บริโภคก็เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นแปลว่าทิศทางการบริโภคของเรา กำลังมุ่งไปในทางของร้านสะดวกซื้อใช่หรือไม่ ซึ่งการซื้อของในร้านสะดวกซื้อเป็นวิถีชีวิตแบบคนเมืองซึ่งต่างกับการบริโภคในชนบท อันนี้คือประเด็นที่ทำให้เราดึงเอาร้านสะดวกซื้อมาเป็นประเด็นหนึ่งในโครงการวิจัยคนเมือง 4.0
การมีร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเต็มเมืองสะท้อนว่าเมืองนั้นเป็นอย่างไร
ถ้ามองกรุงเทพฯ เรื่องของวิถีชีวิตน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ แท้จริงเราอาจจะไม่ได้ต้องการสินค้าแบบที่ขายในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่สุด แต่ด้วยความสะดวก และมีสินค้าที่ตอบโจทย์มากกว่า เช่น อาหารสำเร็จรูป ขนมปัง หรือแม้แต่กล้วย ทำให้เราเดินเข้าร้านสะดวกซื้อโดยไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้นในกรุงเทพฯ จึงมีความชัดเจน ว่ามีความต้องการร้านค้าแบบนี้เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตที่เร่งรีบของผู้คน แต่ในต่างจังหวัดหรือเมืองขนาดกลางจะมีภาพที่ต่างกันออกไป ร้านสะดวกซื้อก็ไม่ได้ตั้งอยู่ถี่ๆ แต่ก็มีอยู่บ้าง เวลาจะไปก็ต้องตั้งใจไป เพราะวิถีชีวิตคงไม่เหมือนกัน ในต่างจังหวัดผู้คนอาจไม่ได้ต้องการอาหารจานด่วนแบบที่อุ่นไมโครเวฟแล้วกินได้ แต่ในเมืองใหญ่แบบกรุงเทพฯ เป็นลักษณะของความต้องการของที่ได้มาตรฐาน และรวดเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นการบริโภคที่เป็นวิถีชีวิตแบบเมือง
ย้อนกลับไปช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ร้านสะดวกซื้อเหมือนเป็นความเจริญที่เข้ามาถึงในแต่ละพื้นที่ สมัยก่อนในต่างจังหวัด เวลาเปิดร้านสะดวกซื้อสักร้านก็ต้องมีอีเวนต์ ต้องมีดารามาเปิดร้านด้วย แล้วลักษณะการใช้งาน ก็มีคนที่มาปักหลักอยู่ตอนกลางคืน เช่น กลุ่มของนักซิ่ง เพราะมันเปิด 24 ชั่วโมง ร้านสะดวกซื้อจึงเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญที่มาถึงต่างจังหวัดแล้ว ซึ่งมันแตกต่างจากในกรุงเทพฯ
แต่ตอนนี้ เข้าใจว่าบทบาทแบบนั้นเริ่มจะลดน้อยลงไปแล้ว เข้าใจว่ามันกลายเป็นเรื่องของความปกติมากขึ้น เพราะวิธีชีวิตของคนในชนบทก็เข้าใกล้คนเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังน่าจะพอสรุปได้ว่า มันเป็นภาพคนละภาพกันระหว่างในเมืองใหญ่และต่างจังหวัด แต่ในประเด็นนี้ เรายังไม่ได้ตรวจสอบอย่างชัดเจนเท่าไรในงานวิจัยปีแรก เพราะเราโฟกัสในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน งานในส่วนของต่างจังหวัดก็จะเป็นเนื้อหาของปีถัดไป ก็อาจจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น
ก่อนเกิดการระบาด จะเห็นว่าร้านสะดวกซื้อนั้นคือความนิยม หลังจากผ่านช่วงระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว ถึงตอนนั้นร้านสะดวกซื้อยังได้รับความนิยมอยู่หรือไม่
เรื่องนี้ไม่ค่อยแน่ใจนัก แต่หากดูจากเวลาสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ร้านสะดวกซื้อก็ยังคงอยู่ด้วยตัวของมันได้ คือคนก็เยอะอยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าจะมีเวลาเปิดปิดก็ตาม ก็คิดว่าน่าจะตอบโจทย์ประมาณหนึ่ง แต่ผู้คนพยายามจะเลี่ยงพื้นที่สาธารณะคนแน่นๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีเรื่องของนโยบายที่มาเกี่ยวข้องด้วย เพราะจำพวกห้าง ร้านอาหาร ปิดเป็นส่วนใหญ่ อาจมีร้านที่เปิดบ้าง แต่ก็จะเป็นการสั่งกลับบ้าน
จึงทำให้คนยังเข้าร้านสะดวกซื้อเยอะอยู่ บางคนต้องไปทำงานเดินออกจากรถไฟฟ้า ก็ต้องเข้าร้านสะดวกซื้อ ซื้อของอะไรที่อุ่นกับไมโครเวฟได้เพื่อหิ้วไปที่ทำงาน มันมีคำตอบลักษณะแบบนี้อยู่ประมาณหนึ่ง นอกจากความสะดวกแล้วเราก็เชื่อมั่นกับคุณภาพสินค้าตามร้านสะดวกซื้อด้วย เพราะมันต้องได้มาตรฐาน ถามว่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อนั้นดีไหม ก็คงโอเคประมาณนึง แต่ถ้าถามว่าให้กินทุกวันทำได้ไหม มันก็ไม่น่าจะโอเค
มีงานวิจัยในต่างประเทศที่บอกว่า อาหารของร้านสะดวกซื้อถ้าบริโภคจำนวนมากก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เพราะสารอาหารไม่ครบถ้วนและมีวัตถุปรุงแต่งอยู่เยอะ จึงมีคำถามว่า ในระยะยาวเราจะสามารถทนกับสิ่งที่เขาเสนอขายเรา แบบที่มีวงจำกัดได้หรือไม่ ถึงแม้มันจะได้มาตรฐานประมาณนึงก็ตาม
อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราแคร์สุขภาพขนาดไหนด้วย อย่างการบริโภคของกินที่อยู่ในโมเดิร์นเทรด อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต อย่างน้อยเราก็สามารถมั่นใจเรื่องคุณภาพของเนื้อสัตว์หรือคุณภาพอาหารที่เขาขายได้แน่ๆ แต่ว่าตอนนี้โมเดิร์นเทรดยังต้องสู้กับตลาดด้วยราคา ซึ่งมันก็จะอยู่ร่วมกันกับตลาด ผู้บริโภคก็เลือกที่จะใช้งานตามความพอใจ อย่างเช่น บ้านผมก็เลือกที่จะซื้อเนื้อสัตว์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วไปซื้อผักที่ตลาด ซึ่งมันก็ยังใช้ร่วมกันอยู่ คราวนี้ร้านสะดวกซื้อจะมาเจาะตลาดอาหารสดนี้ได้หรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไป อย่างที่ญี่ปุ่น ก็มีร้านสะดวกซื้อประเภทแบ่งผักและเนื้อสัตว์ขายเป็นปริมาณน้อยๆ ให้กับคนแก่ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเดินทางไกลแล้ว
ผมว่าหลังโควิด สถานการณ์แบบนี้ก็น่าจะไม่เปลี่ยน ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กหรือร้านสะดวกซื้อน่าจะยังอยู่ได้ เพราะมันมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน เเทรนด์ตอนนี้ ที่เริ่มเห็นคือตามชานเมืองที่จะซุปเปอร์มาร์เก็ตไปเปิดสาขาที่เล็กๆ จากเดิมที่เคยอยู่ตามห้างใหญ่ๆ ในขณะที่อนาคตของห้างสรรพสินค้ามันค่อนข้างแตกต่าง ถ้าเรามองดูเทรนด์จากทั่วโลก จะเห็นว่าความสำคัญของห้างสรรพสินค้าเริ่มลดลง เพราะว่าเราไม่ต้องการพื้นที่ขายขนาดนั้น มันกำลังถูกแปลงพื้นที่ไปทำอย่างอื่น และหลังโควิด เราคงไม่ต้องการการรวมกลุ่มเพราะมันคือความเสี่ยง จะกลายเป็นยิ่งเร่งให้ห้างสรรพสินค้าหดตัวลงเร็วขึ้น
การมีโควิดเข้ามา อันนี้ผมว่าเป็น breaking point สำหรับอนาคตของห้างสรรพสินค้าด้วยซ้ำ ผมมองว่าห้างสรรพสินค้าจะถดถอยลงอย่างรวดเร็ว แต่จะมีซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กตั้งอยู่อย่างกระจายกันมากขึ้นเพื่อจะตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานซึ่งคืออาหาร และหากนโยบายลดความแออัด ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กที่ไม่ได้ทำให้คนไปออกันจนแออัดที่ตั้งกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ น่าจะเป็นคำตอบประมาณนึงสำหรับการซื้อของในอนาคตอันใกล้นี้
ผู้คนที่ไม่ค่อยได้เดินทางเหมือนปกติ ในช่วงนี้ช่องทางการซื้อของจะไปอยู่บนช่องทางออนไลน์เสียส่วนใหญ่
ที่ในระดับโลกเขาพูดกัน ว่ากันว่าการเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์ 100% เป็นไปไม่ได้ ซึ่งออนไลน์จะมีส่วนแบ่งในตลาดได้ 50% ก็เก่งแล้ว สิ่งที่จะเหลือรอดแบบออฟไลน์ก็น่าจะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นร้านประเภทที่ตอบเหตุฉุกเฉินได้ เพราะการซื้อของออนไลน์ต้องมีการวางแผน จะส่งของต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวัน สำหรับมนุษย์อย่างเราจะต้องมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องการของอุปโภคบริโภคอะไรบางอย่าง แน่นอนว่ามันจะต้องมีทางออกสำหรับการขายของที่รองรับต่อเหตุฉุกเฉินได้ ร้านสะดวกซื้อจะตอบโจทย์ในส่วนนี้
อีกมุมนึงคือ จริงๆ แล้วมนุษย์เราต้องการเห็นสินค้าก่อนจะตัดสินใจซื้อ ช่องทางออนไลน์จะถูกใช้ในการซื้อของที่เรามั่นใจอยู่แล้ว ของที่ใช้ประจำ หรือเคยเห็นสินค้าอยู่แล้ว ถึงแม้การซื้อเสื้อผ้าออนไลน์จะต้องเสี่ยงดวงพอสมควรแต่ก็ยังเห็นภาพก่อนซื้ออยู่ดี แต่กับของกิน ผมคิดว่า มนุษย์มีความสุขกับการการเดินเลือกของ เพื่อที่จะได้เห็นสินค้าก่อนซื้อมากกว่าการซื้อออนไลน์
ทีนี้ถ้าโลกเกิดเปลี่ยนเป็นออนไลน์ 100% จะลำบากมากๆ ต่อนักการตลาด คือจะไม่สามารถทำให้คนทดลองสินค้าใหม่ได้ เพราะว่าคนไม่คุ้นชิน เพราะฉะนั้นแบรนด์ใหญ่ๆ กำลังมุ่งเป้าไปในทิศทางของการให้มี outlet ที่เป็นโชว์รูม ตั้งอยู่ในที่ต่างๆ ให้คนที่สนใจเข้าไปลองสินค้าได้ หรือ จะซื้อจากตรงนั้นก็ได้เลย แต่สินค้าอาจไม่มีตัวเลือกมากนักที่เป็นวัตถุที่วางอยู่ในร้าน อย่างรองเท้าอาจจะมีแค่ไซซ์ให้ลอง แต่ไม่ได้มีดีไซน์ทุกดีไซน์วางอยู่ในที่นั้นๆ ลองแล้วก็ให้ตัดสินใจโดยอาจมีเทคโนโลยีเข้ามาฉายภาพให้เห็นว่าเราใส่แล้วจะเป็นยังไง จากนั้นลูกค้าก็สั่งให้จัดส่งไปที่บ้าน อันนี้คือการเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์ของสินค้าหลายชิน แต่แน่นอนว่าพวกร้านขายของชำ หรือร้านค้าตามชุมชนไม่มีทางที่จะไปออนไลน์ได้ทั้งหมด มันมีข้อจำกัดอยู่ประมาณนึง
ช่องทางออนไลน์ไม่สามารถมาสร้างความเคยชินให้กับคนเมืองได้อยู่แล้ว
คนเมืองน่าจะเคยชินมากขึ้นจากสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น แต่จะเป็นแบบเต็ม 100% คิดว่ายังเป็นไปไม่ได้ มันเป็นโลกที่กระโดดข้ามจากปัจจุบันที่เดิมที สมมติว่าอาจจะมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อยู่แค่ 20% แต่อนาคตอาจจะกลายเป็น 50-60% ผมว่าน่าจะพอเป็นไปได้ในลักษณะแบบนั้น
แต่ในปัจจุบันเองก็อาจจะมีมนุษย์สุดโต่งที่สั่งสินค้าผ่านออนไลน์ทั้งหมดก็ได้ ผมเชื่อว่าน่าจะมีคนที่ไม่ออกไปไหนเลย แต่เลือกที่จะกดช้อปออนไลน์ให้ของมาส่ง อาจจะมีคนอย่างนี้มากขึ้นก็ได้
ในช่วงที่เกิดโรคระบาด การซื้อของบนออนไลน์กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ลดการเสี่ยงจากการติดเชื้อ
อันนี้ก็แน่นอนอยู่แล้ว เพราะลดการสัมผัสโดยไม่ตั้งใจเวลาที่ต้องออกไปซื้อของ แต่นอกจากการติดเชื้อแล้ว ประเด็นสำคัญตอนนี้คือการปรับตัวของผู้ขาย ตอนนี้คนเดินบนถนน ในตลาดน้อยลง ผู้ประกอบการที่อยากขายก็ต้องปรับตัว ซึ่งวิธีการแรกๆ ที่ทำได้ก็คือ การหันไปพึ่งช่องทางออนไลน์
สินค้าอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า ซื้อออนไลน์ก็ไม่ได้แปลกอะไร คนซื้อจะรอของสักพักก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งของประเภทนี้สามารถรอได้ แต่จะมีสินค้าบางประเภท ที่ยังไม่เคยได้เข้าสู่ระบบออนไลน์ หรือยังเป็นตลาดที่ออนไลน์เข้าไม่ถึง มันก็จะค่อยๆ ขยับตัวเองเข้ามา ซึ่งก็เป็นหนึ่งในทางรอดในช่วงโรคระบาดแบบนี้ เช่น พวกของดีในท้องถิ่นห่างไกล ก็เห็นเริ่มเข้ามาเยอะแล้ว
สถานการณ์แบบนี้ รายใหญ่ไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะว่าเขามีระบบกระจายสินค้ากันอยู่แล้ว แค่ต่อยอดให้มันถึงผู้บริโภคให้ได้ อย่างห้างสรรพสินค้าก็ประกาศว่าสามารถสั่งสินค้าได้ทางออนไลน์ หรือทางโทรศัพท์ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ ส่วนซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ไปถึงขั้นมี drive thru กันแล้ว สามารถโทรสั่งก็ได้ สั่งบนเว็ปก็ได้ ลงรายละเอียดเรียบร้อยก็นัดหมายไปรับของ มาถึงก็ไม่ต้องลงจากรถ จ่ายเงินได้ตรงช่องจ่ายเลย แล้วก็ได้เห็นของก่อน ถ้าไม่พอใจก็คืนสินค้ากลับไป แทบจะไม่มีการสัมผัสกัน
ดูเหมือนเป็นกลยุทธ์สำหรับการขายที่ทุกคนก็พยายามปรับตัวรับมือกับโรคระบาด
ถ้าจบโรคระบาดนี้ ถามว่าคนแฮปปี้กับการซื้อแบบ drive thru หรือเปล่า ผมคิดว่าก็ไม่แฮปปี้เท่าไหร่ เพราะว่าการเดินดูของก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง สำหรับคนที่ชอบนะ แต่ว่าสถานการณ์ที่เลือกไม่ได้หรือมีความเสี่ยงแบบนี้มันก็เป็นช่องทางนึงที่ช่วยให้เรามั่นใจว่าเราปลอดภัยแน่ๆ
สมมติจบโรคระบาดตรงนี้ ถามว่าร้านจะหดพื้นที่ขายให้เล็กลงเพื่อมาทำ drive thru ทั้งหมดเลยไหม ผมก็ยังคิดว่าไม่น่าจะใช่อีก แต่ว่าบริการ drive thru นั้นยังคงอยู่ เพียงแต่ว่าเป็นทางเลือกสำหรับคนที่จำเป็น
จริงๆ แล้ว บริการ drive thru ของซุปเปอร์มาร์เก็ตมันมีอยู่แล้วหลายๆ ที่ โดยที่ผมไม่รู้มาก่อนเหมือนกัน มันมีไว้สำหรับแม่บ้านที่ยุ่งมากๆ หรือว่าบ้านที่ต้องมีเด็กเล็กต้องเลี้ยง แล้วปลีกตัวมาซื้อของได้แป๊ปเดียว สมมติลูกนอนปุ๊ปแล้วต้องออกมาซื้อของทันที จะมาเดินช็อปปิ้งอยู่เป็นชั่วโมงก็เป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้มันถูกใช้งานมากขึ้น คือห้างก็เอาบริการที่มีอยู่แล้วที่เป็นบริการเฉพาะกลุ่ม เอามาเพิ่มช่องทางและประชาสัมพันธ์มากขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์สถานการณ์ตอนนี้
อย่างที่บอกรายใหญ่น่าจะเอาตัวรอดโดยการปรับตัวได้ เราไม่ต้องไปห่วงเขา แต่รายย่อยจะทำยังไงได้บ้าง ถ้าเรามองโดยธรรมชาตินะ ผู้ค้ารายย่อยจะถูกกลืนหายไปโดยธรรมชาติหากปรับสู่โลกออนไลน์ไม่ได้ หมายถึงสัดส่วนจะลดลงไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่ารัฐจะมีทางช่วยเหลือสำหรับรายย่อยเหล่านี้ยังไงก็เป็นสิ่งที่ต้องคิดต่อไป
จริงๆ คนก็น่าจะเบื่ออยู่นะ สถานการณ์แบบนี้ที่ไม่มีอิสระ แบบถ้าจะกินผักบุ้งแล้วก็ต้องสั่งผักบุ้งมาส่งทุกวัน ผมว่ามนุษย์มีความสร้างสรรค์ อยากเดินไปตลาด แล้วไปเจอของกินหลากหลาย เห็นของบางอย่างราคาถูก เลยคิดว่าซื้อแบบนี้มาทำอาหารดีกว่า ไม่ใช่ต้องวางแผนไปก่อนทั้งหมดว่าจะซื้ออะไรมากิน ลึกๆ แล้ว ในความเป็นมนุษย์ พวกเรายังมีความต้องการแบบนี้อยู่
เพราะความต้องการของผู้คน รถพุ่มพวงที่มีสินค้ามาให้เลือกถึงหน้าบ้านจึงกลับมามีบทบาทขึ้นในสังคมที่ทุกคนไม่สามารถเดินทางได้
อันนี้ก็เป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของประเทศไทยเหมือนกันนะ สำหรับรถพุ่มพวง ในงานวิจัยก็อ้างรายงานวิจัยของ รศ.ยุวดี ศิริ อยู่ เล่มนี้ดาวน์โหลดได้จากเวบห้องสมุดจุฬาฯ เป็นการตามเก็บข้อมูลการให้บริการของรถพุ่มพวงในกรุงเทพฯ ว่าครอบคลุมพื้นที่แบบไหนบ้าง พบว่าชานเมืองคือกลุ่มเป้าหมายใหญ่ เพราะสาธารณูปการของเมืองพวกตลาดมันพัฒนาตามการขยายตัวของเมืองไม่ทัน ทีนี้พอเกิดโรคระบาดมันจึงทำให้รถพุ่มพวงมีฟังก์ชั่นมากขึ้นอย่างที่เราเห็นตามข่าว ว่ายอดขายมันเพิ่มขึ้นมาก
แต่รถพุ่มพวงก็มีข้อจำกัด คือถามว่า มนุษย์คอนโดใช้ประโยชน์จากรถพุ่มพวงที่อาจจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้สักแค่ไหน คำตอบคือแทบจะเป็นศูนย์ หนึ่งคือรถพุ่มพวงไม่ได้ให้บริการพื้นที่ในเมือง มันมาไม่ถึงคอนโด สองคือถึงจะมาเขาก็ไม่ให้เข้าในอาณาเขตของคอนโด แล้วลูกค้าที่อยู่ในคอนโดก็รับรู้ได้ค่อนข้างยากว่ารถพุ่มพวงมา อันนี้เหมือนกันกับกลุ่มที่เป็นหมู่บ้านล้อมรั้วตามชานเมือง คือปกติรถพุ่มพวงก็เข้าไปไม่ได้อยู่แล้ว จะมีแต่แม่บ้านที่จะออกมาซื้อกันตรงปากทางหมู่บ้านในบางกรณีที่มีการนัดเวลากัน หรือติดต่อกันทางโทรศัพท์ได้
ตอนนี้ยอดขายของรถพุ่มพวงเพิ่มขึ้นจริง จากการที่คนออกจากบ้านไม่ได้ แต่ว่าถ้ารัฐสนับสนุนการเข้าถึงรถขายอาหารแบบนี้เพื่อลดความเสี่ยงของคนที่จะไปตลาด การสนับสนุนกลุ่มรถพุ่มพวง อาจจะเป็นวิธีการนึงที่ช่วยให้คนปลอดภัย และสามารถเข้าถึงอาหารได้
รถพุ่มพวงก็เหมือนรถเร่ทั่วไปครับ ที่มีปัญหาว่าถ้าไม่ใช่คนที่ซื้อประจำก็ไม่มีทางรู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน ตอนนี้ รัฐอาจเข้าไปช่วยโดยการเพิ่มระบบไอทีตรงนี้ เช่น การเอา GPS ไปติดไว้ที่รถพุ่มพวง หรือ ไปติดไว้ที่รถขายอาหารเช่นรถขายไก่ย่างอะไรแบบนี้ จะช่วยให้คนติดตามได้ มันก็จะอำนวยความสะดวกให้คนได้มากขึ้นเหมือนกัน
จริงๆ สิ่งที่มันไม่เป็นระบบมันถูกใช้มาพอสมควรแล้ว บ้านผมที่อยู่ชานเมืองเป็นหมู่บ้านเก่าไม่ได้ล้อมรั้วก็มีอะไรเข้ามาขายอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่คนในหมู่บ้านเขาทำกันอยู่แล้วคือ การขอเบอร์คนขายเอาไว้แล้วก็โทรถามเอา เช่น วันอาทิตย์อยู่บ้านอยากกินส้มตำก็โทรถามว่าคนขายอยู่ตรงไหนแล้ว จะมาถึงกี่โมง คนขายก็จะรู้ว่าข้างหน้ามีลูกค้าแน่นอนอยู่แล้ว ถ้ามีการจองก็จะเก็บของไว้ให้ แต่ของพวกนี้มันไม่เป็นระบบใหญ่ไง คือเราต้องไปคุยกับเขารู้เบอร์ของพวกเขาแล้วก็จดไว้ ซึ่งก็ถือเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง อย่างกรณีรถพุ่มพวงก็เกิดจากความจำเป็นพื้นฐานแบบนี้
สมมติว่า ถ้ารัฐต้องการลดความแออัด ก็น่าจะต้องเข้ามาช่วยลงทุนระบบ ถ้าเราบอกว่าตลาดนั้นปล่อยให้คนแออัดแบบเดิมไม่ได้แล้ว อันตรายเพราะคนติดเชื้อกันหนักมากแบบนี้ รัฐก็ควรเข้าไปช่วยเหลือตลาดในแบบที่ว่า หาคนขาย หรือหน้าใหม่ที่พร้อมจะนำรถพุ่มพวงเข้ามาสู่ระบบแล้วก็มีการแบ่งประเภทสินค้าให้ชัดเจน แล้วก็ติด GPS ให้เขา พร้อมกับสร้างระบบให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ว่า รถกำลังอยู่ตรงไหน อันนี้ก็น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกได้ถ้าเหตุการณ์ยืดเยื้อ
แล้วในระบบนั้นอาจจะมีเบอร์โทรศัพท์ของผู้ขาย คนที่ดูแผนที่ไม่เป็นก็สามารถโทรหาถามได้ว่าอยู่ตรงไหน หรือ มีอะไรที่นำมาขายบนรถบ้าง ในส่วนของพื้นที่ประเภทคอนโดหรือหมู่บ้านจัดสรรที่รถพุ่มพวงไม่สามารถเข้าไปได้ก็คงต้องใช้ collective activity ตรงนี้ของแต่ละพื้นที่จัดการกันเองเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกบ้าน จะให้มีรถพุ่มพวง รถขายสินค้าหรือรถขายอาหารเข้ามาในเวลาไหน ก็อนุญาตให้รถมาจอดหน้าคอนโด หรือพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านได้ ถ้ามีผู้อยู่อาศัยคนไหนสนใจก็สามารถมาใช้บริการได้ตามเวลาที่ตกลงกันไว้
จริงๆ รถพุ่มพวงคือโอกาสแบบหนึ่ง ว่าแต่ว่าเราจะสามารถเอาการจัดการเข้าไปได้สนับสนุนได้มากน้อยขนาดไหน ผมว่าคนพร้อมจะทำงานมันมีอยู่แล้วในประเทศไทย คือแรงงานเราไม่ได้ขาด แล้วถ้าเราสามารถยกระดับแรงงานที่ปกติขายของอยู่ในตลาด หรือทำอย่างอื่นอยู่ มาสู่การบริการตรงนี้ได้ ผมว่ามันก็คือคำตอบอย่างหนึ่งในช่วงเวลาแบบนี้ และอาจต่อยอดไปถึงธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตได้ด้วย
โมเดลรถพุ่มพวงจะพัฒนานอกจากแค่ขายสินค้าประเภทอาหารได้ไหม
จริงๆ ก็มีอยู่แล้วนะครับ เคยเห็นรถพุ่มพวงที่เป็นขายของพวกพลาสติก ของเด็กเล่นหรือพวกรองเท้ามั้ย แต่กลุ่มผู้ซื้อของแบบนี้คงไม่ใช่กลุ่มหมู่บ้านจัดสรร กลุ่มลูกค้าใหญ่อีกกลุ่มของรถพุ่มพวงก็คือ แรงงานตามโรงงานหรือแรงงานก่อสร้างตามไซต์งาน ก็คือจะมีรถพุ่มพวงบางคันที่ไปขายของตามโรงงาน โดยเฉพาะช่วงพักเที่ยง คนก็จะออกมาซื้อกัน คือคนที่ทำงานตามโรงงาน บางทีเขาไม่มีเวลาไปเดินตลาด เลิกงานก็ค่ำแล้ว ก็จะซื้อของเก็บไว้เอากลับบ้านหลังเลิกงาน
จริงๆ ในงานวิจัยของอาจารย์ยุวดี สรุปไว้ชัดเจนเลยว่า รถพุ่มพวงคือการอุดช่องโหว่ในการให้บริการสาธารณูปการของรัฐ คือตลาดมันไปไม่ทัน มันทำให้เกิดรถพุ่มพวงโดยธรรมชาติ ทำให้เราไม่พบเห็นรถพุ่มพวงบริเวณกลางเมือง หากจะมีก็ตั้งแต่บริเวณพื้นที่ชั้นกลาง แถวบางกะปิ แถวบางแค เป็นต้นไป
เพราะฉะนั้น การที่ผู้คนต้องอยู่ห่างๆ กัน ก็น่าจะเป็นโอกาส คือถ้ารัฐสนใจจริงๆ ผมว่าสามารถลงมาจัดการได้ แต่เขาอาจจะมองไม่เห็นโอกาสตรงนี้ ผมว่าคนที่จะเคลื่อนตัวไปก่อนน่าจะเป็นเอกชน คือเราน่าจะเคยเห็นข่าวรถพุ่มพวงไฮเทคของร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต มันน่าจะมาก่อนการจัดการของรัฐ รายใหญ่คงจะเปิดบริการขายของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตด้วยรถเร่เพื่อลดความเสี่ยงให้กับลูกค้า ของเขาจะมาด้วยความพร้อมกับระบบไอทีที่สามารถสั่งออเดอร์ได้ด้วย อย่างเช่น บางอย่างที่มันอาจจะไม่มีขายในรถที่ให้บริการตามปกติ ก็สามารถสั่งมาเป็นพิเศษได้ เช่น อยากได้เนื้อวากิว เขาก็จะน่าหามาให้ได้ หากมีการสั่งล่วงหน้า
แต่จริงๆ แล้วรถพุ่มพวงก็มีบริการแบบนี้อยู่นะครับ สามารถสั่งของได้เหมือนกันนะ คือมันมีของที่อาจจะไม่มีในรถตามปกติ แต่สามารถสั่งให้คนขายหามาให้ได้ เช่น อยากได้ปลากะพง ปลาเก๋า อะไรแบบนี้ สมมติจะกินพรุ่งนี้ ก็บอกรถพุ่มพวงเดี๋ยวเขาก็ไปหามาให้ได้ อาจมีค่าบริการนิดหน่อย
ยังไงก็ตามรายใหญ่ที่สายป่านยาวจะลงมาจับตรงนี้ได้เร็วกว่า คือ รัฐคงตามไม่ทัน เอกชนคงจะทำธุรกิจไปก่อนแน่ๆ ถ้าโรคระบาดยังยืดเยื้ออยู่สองปี ผมเชื่อว่าเดี๋ยวร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต้องทำรถพุ่มพวงไฮเทคของเขามาให้บริการแน่ๆ
อันนี้ก็แล้วแต่ว่าจะไปในทิศทางไหน ถ้ามันยืดเยื้อในลักษณะที่คนไม่สามารถเจอกันได้ คนต้องสแตนบายรออยู่ที่บ้าน อันนี้คือคำตอบที่น่าจะดีที่สุด แล้วก็มันประหยัดกว่า เพราะมันขนส่งไปทีเดียว ในเชิงความยั่งยืนมันก็ยั่งยืนกว่าให้ทุกคนออกมาหาซื้อของเอง แล้วก็ถูกจริตมนุษย์มากกว่าในการที่สามารถออกมาหน้าบ้านแล้วมาเลือกของเองได้บ้าง
ถ้าสมมติเอกชนเข้ามาทำ จะเกิดความไม่เสมอภาคไหม ระหว่างรถพุ่มพวงดั้งเดิมกับรถพุ่มพวงเอกชน
ก็อาจจะเกิดครับ แต่ก็คงต้องหลบกันเองสำหรับเรื่องของการตลาดกับกลุ่มเป้าหมาย คือถามว่า รถพุ่มพวงของซุปเปอร์มาร์เก็ตวิ่งไปในไซต์ก่อสร้าง มันก็คงขายได้แค่บางอย่าง บางอย่างก็ขายไม่ได้เพราะว่า margin มันสูงกว่า ตั้งแต่รถที่สร้างขึ้นมา หรือว่าสินค้าที่เขาพยายามเอาไปขายซึ่งก็เป็นสินค้ามาตรฐานห้าง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายก็อาจซื้อไม่ได้
ถึงแม้รูปแบบการให้บริการจะเป็นแบบเดียวกัน แต่ถ้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนละกลุ่มกัน ก็น่าจะแบ่งกันชัดเจน อย่าง คอนโดกลางเมือง ผมว่ารถพุ่มพวงดั้งเดิมก็ไม่กล้าเข้ามาอยู่แล้ว แต่ถ้ารถพุ่มพวงไฮเทคถูกสร้างขึ้นมาในอนาคต คอนโดก็อาจจะไม่สร้างร้านสะดวกซื้อภายในพื้นที่แล้ว แต่จะใช้การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางให้มีความเป็น marketplace มากขึ้น หรือว่าทำให้เกิดการขายสินค้าภายในพื้นที่แบบที่เป็นฟู้ดทรักหรือรถพุ่มพวงสลับกันเข้ามา แต่ต้องมีการนัดล่วงหน้ากับนิติบุคคลนะครับ โมเดลแบบนี้เริ่มมีแล้วตามหมู่บ้านชานเมืองที่ล้อมรั้ว ในขณะที่รถพุ่มพวงแบบดั้งเดิมของรายย่อยก็จะเก็บกลุ่มตลาดที่เป็น informal ที่อยู่ตามชานเมืองไปเหมือนเดิม คือทิศทางแบบนี้ทำให้ไม่น่าจะมาซ้อนทับตลาดกัน จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้คนที่ต้องอยู่บ้านเฉยๆ
ซึ่งสิ่งนี้เป็นสมมติฐานที่คิดว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ไม่ทราบเลยครับ แต่ถ้ามันยืดเยื้อเกินปีสองปี ส่วนตัวผมเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้เกิน 50% นะ ที่รายใหญ่จะลงมาเล่นในตลาดรถพุ่มพวงแบบนี้
การเกิดโรคระบาดโควิด-19 สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับอาจารย์บ้าง
ผมแฮปปี้กับการไม่ต้องเดินทาง คือมันกลายเป็นว่าได้ทบทวนอะไรหลายอย่าง บางเรื่องมันไม่จำเป็นต้องเดินทางไปก็ได้ มันสามารถพูดคุยกันออนไลน์ได้ประมาณนึง แต่เราซึ่งอยู่ในแวดวงการศึกษา ก็เป็นห่วงในระยะยาวเหมือนกันว่า คุณภาพในการประเมินผลการเรียนรู้จะเป็นยังไง คือสิ่งที่เราสอนเขาไปมันเข้าใจจริงปะวะ (หัวเราะ) ประเด็นคือว่า สอนออนไลน์แบบนี้ มันก็ยากที่จะรู้ว่านิสิตเขาฟังเราด้วยท่าทีแบบไหน ถ้าเป็นการตรวจแบบแบบสองคนย่อยๆ ผมจะพยายามให้เขาเปิดกล้องคุย คือบางทีเรื่องการสอนมันต้องดูตาด้วยว่า คนคนนี้เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า
แต่ว่าบางเรื่องมันเหนื่อยกว่าเก่า กลายเป็นว่าต้องจดจ่ออยู่กับของตรงหน้าที่อยู่บนจอตลอดเวลา ต้องจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เขาจะพูดมา แล้วต้องพยายามเข้าใจ และเดาว่าเขาคิดอะไร ข้อดีคือมันไม่ต้องเหนื่อยเดินทาง ผมว่ามันก็แลกกันอยู่ประมาณนึง
ผมค่อนข้างแฮปปี้กับการอยู่บ้านไปด้วยทำงานไปด้วย คือบ้านก็ไม่ได้แคบไม่ได้กว้าง เป็นบ้านเดี่ยว มันก็โอเคประมาณนึง แต่ถ้าสมมติว่าตอนนี้เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่คอนโด แล้วก็เดินไปเดินมาวนอยู่ในพื้นที่ 30 ตารางเมตรแทบทุกวันโดยไม่ได้ออกไปไหนก็คงไม่รอดเหมือนกัน ถึงบอกว่าโควิดเนี่ย ถ้ามันอยู่ยาว ก็น่าจะส่งผลให้ทบทวนเรื่องที่อยู่อาศัยของคนเมืองได้พอสมควร สำหรับคนที่ไม่มีทางเลือกก็น่าเป็นห่วง
ตอนนี้ที่ค่อนข้างเป็นห่วงมากๆ คือในเชิงเศรษฐกิจและสังคม คือ ผมไม่ได้รับผลกระทบ มีงานประจำ ไม่ได้ลำบากเรื่องต้องหาเงิน แล้วก็อยู่ในย่านที่สินค้าไม่ได้ขาด จะไปซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ใกล้ จะไปตลาดก็ใกล้ สามารถไปได้ใน 5 นาที แล้วสภาพพื้นที่ก็ไม่ได้เสี่ยงอะไรมาก ก็ยังโอเคอยู่ แต่ก็เป็นห่วงคนด้อยโอกาสในสังคม หรือคนที่มีทางเลือกน้อย ประเด็นเศรษฐกิจตกต่ำในระยะยาวบวกกับปัญหาสังคมน่าจะตามมาแน่ๆ ซึ่งคนพวกนี้คงได้รับผลกระทบเชิงลบโดยตรง
แล้วสิ่งที่เดือดร้อนสำหรับอาจารย์คืออะไร
(นิ่งคิดนาน) นึกไม่ออก (หัวเราะ) อาจจะเป็นเรื่องของการเดินทางที่ลำบากมั้ง เรายังไม่สามารถมั่นใจได้นะว่า เราจะสามารถใช้ขนส่งมวลชนได้อย่างปลอดภัยหรือเปล่า ทั้งที่จริงมันก็ว่างมากๆ เพราะคนเดินทางน้อยลง อย่างเมื่อวานไปธุระ ที่บ้านก็ไม่ให้ไปเองเพราะเป็นห่วง คือสังคมเราก็ยังไม่มั่นใจว่าเราจะอยู่กับโรคนี้ยังไง คราวนี้ถ้าเกิดมันมีความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ว่า ป้องกันตัวเองยังไงแล้วจะปลอดภัยมันก็น่าจะดีขึ้น พอเรารู้จักโรคนี้ดีขึ้น มันก็คงจะเห็นคำตอบได้มากขึ้นว่าเราจะใช้ชีวิตยังไงในสถานการณ์ที่ต้องอยู่กับโรคระบาดไปอีกระยะ
สำหรับการใช้ชีวิตส่วนตัวผมไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ เพราะด้วยวิถีชีวิตตอนนี้ที่อยู่ชานเมือง ก็ยังมีความห่างกันของผู้คนพอสมควร เย็นๆ ผมก็ยังไปวิ่งอยู่แถวๆ บ้าน คนก็วิ่งห่างๆ กัน ก็ไม่ได้มีอะไรน่ากลัว แต่มันก็ย้อนกลับไปที่เดิม ที่บอกว่าถ้าคุณอยู่ในชุมชนแออัดโดยที่เลือกไม่ได้มันก็อันตรายกว่า ป้องกันแค่ไหนก็อาจจะไม่พอ หรือการไปเยี่ยมพ่อแม่หรือญาติสูงอายุ เราก็จะทำได้ยากขึ้น เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเรามีเชื้ออยู่ในตัวรึเปล่า ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบนี้ก็คงจะเปลี่ยนไปพอสมควร
อีกสิ่งนึงคือ พออยู่บ้านนานๆ จะรู้สึกว่า productivity ต่ำ จริงๆ เราก็ทำงานของเราไป เวลาสอนก็สอน แต่รู้สึกว่าเส้นแบ่งระหว่างเรื่องการใช้ชีวิตในบ้านกับเรื่องของงานมันหายไปทำให้มันเป็นอย่างนั้น เลยพยายามปรับตัว เช่น ตื่นขึ้นมาวันไหนถ้ามีสอนก็อาจต้องแต่งตัวดีขึ้นมานิดนึง เพื่อให้มันเป็นบรรยากาศของการทำงาน ก็พอจะช่วยได้เล็กน้อย แต่พอเที่ยงก็เข้าครัวไปทำกับข้าวอีก พอเส้นแบ่งตรงนี้มันหายไป การจดจ่อมันก็ทำได้ยากขึ้น ในทางกลับกัน เนื่องจากเราจะนัดคุยงานกันเวลาไหนก็ได้เพราะทุกคนอยู่ที่บ้าน บางทีจัดเวลากันไม่ลงตัวต้องนัดออนไลน์กันตอนดึกๆ ก็กลายเป็นเรื่องปกติไปซะอย่างนั้น