12/10/2021
Life
โจทย์ 4 ข้อ สู่การสร้างเมืองบนฐานความรู้ จากมุมมองจากนักสังคมศาสตร์ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)
เมื่อนิยามเมืองแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่แค่การสร้างห้องสมุดหรือการพัฒนาการศึกษาในระบบ แต่ยังหมายถึงบริบทที่เกี่ยวข้องกับผู้คนและการจัดการองค์ความรู้ของเมือง ดังนั้น มุมมองทางสังคมศาสตร์จึงเป็นมุมมองที่สำคัญของการพัฒนาเมืองบนฐานความรู้ (knowledge-based city making) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ได้รับเกียรติจาก อ.อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้านและคนจนเมือง สสส. ให้สัมภาษณ์ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) เสนอโจทย์ 4 ข้อของการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทยจากการนำองค์ความรู้ของผู้คนมาพัฒนาเมือง
โจทย์ที่ 1: การสร้าง common place and sense of common
โจทย์ใหญ่ของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ในไทยคือการมีพื้นที่ส่วนรวม ในหลายประเทศแถบยุโรปจะมีจัตุรัสตามเมืองต่าง ๆ มากมาย ผมเลยเกิดคำถามที่ว่า ที่ดินของจัตุรัสเหล่านี้นั้นเป็นของใคร ใครเป็นผู้ถือโฉนด ผมได้คำตอบว่าพื้นที่ดินของจัตุรัสนี้เป็นของเมือง ไม่ใช่ของรัฐ ซึ่งผมว่าการที่ประชาชนมีสิทธิในการถือครองทรัพย์สินส่วนกลางมันทำให้คนในเมืองเขามีความรู้สึกของพื้นที่ส่วนรวมหรือความเป็นส่วนรวมของเมือง
เมื่อกลับมามองที่ประเทศไทย พบว่าเรายังไม่มีพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งผมมองว่าเมืองแห่งการเรียนรู้จะประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งจะต้องมีการสร้าง sense of common หรือ ความรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ในที่นี้คือการสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับเมืองหรือกับผู้คนในย่านที่คุณอยู่อาศัยให้ได้เสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว องค์ความรู้ของเมืองจะไปอยู่ที่ไหน พออยู่กับภาครัฐ องค์ความรู้ก็อาจจะมีการถูกรวบรวมอยู่แค่ที่ส่วนกลาง หรือมีการจำแนกจากอำนาจรัฐว่าอะไรคือความรู้ หรืออะไรคือการเรียนรู้
โจทย์ที่ยากโจทย์หนึ่งของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ก็คือ จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนที่สามารถดึงดูดทุก ๆ คนจริง ๆ ได้อย่างไร
โจทย์ที่ 2: การสร้าง sense of neighborhood or localism
ยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ ในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ผมว่ามันมีฟังก์ชันบางอย่างที่มันน่าจะเป็นไปได้ ด้วยความที่จังหวัดเชียงใหม่มีสมาคมต่าง ๆ จำนวนมาก เชียงใหม่มี sense of localism สูง เชียงใหม่มีองค์ความรู้ มีคนที่เก็บของเก่า ๆ เก็บแผนที่เก่าของเชียงใหม่ไว้ ซึ่งเขายินดีที่จะเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ แต่มันไม่ได้มีลักษณะเป็นองค์กร แต่เป็นลักษณะของสถาบันปัจเจก เช่นพ่อเก็บลูกก็เก็บต่อ หรืออย่างในย่านเจริญกรุงก็เคยมีการพยายามสร้าง sense of neighborhood อยู่ครั้งหนึ่ง คือการมีพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีคนมาคุยมาแลกเปลี่ยนกันทุกวันหยุด แต่พออาจารย์ท่านที่เป็นเจ้าของ (อาจารย์วราพร สุรวดี) เสียชีวิต ตรงนี้มันก็ไม่ได้ไปต่อ
หรือย่านบางรัก ก็เป็นย่านที่มีทรัพยากรที่จะทำอะไรได้มากมาย ในย่านมี sense of common อยู่ประมาณหนึ่ง สำหรับคนเก่า ๆ ก่อนที่จะ gentrification คนกลุ่มนี้จะรู้จักกันเพราะใช้ชีวิตอยู่แถวนี้มานาน เป็นเพื่อนกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน แต่ปัญหาคือ แม้คนกลุ่มนี้เขาจะมีเครือข่าย แต่เขาก็ไม่ได้คิดจะเข้ามาทำอะไรร่วมกัน ตรงนี้มันก็เป็นโจทย์ที่ยากเพราะว่าเครือข่ายเหล่านี้มันกำลังจะหายไป แม้ว่าคนย่านบางรักจะมีความทรงจำต่อพื้นที่ต่าง ๆ สูง หรือ site of memory อยู่หลายที่ แต่ว่าตอนนี้ก็แทบจะถูกทำลายไปหมดแล้ว
สำหรับพื้นที่นครสวรรค์และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่โจทย์ของโครงการ ผมมองว่านครสวรรค์ดูเป็นเมืองที่น่าจะประสบความสำเร็จในแง่ทำเมืองแห่งการเรียนรู้ แต่ผมก็มองว่ายังขาด sense of localism อยู่มากซึ่งในสิ่งนี้อาจจะพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต หากมีการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคมและการหลอมหลวมคนกลุ่มต่างๆ
สำหรับในกรุงเทพฯ แม้จะมีกลุ่มประชาคมต่าง ๆ ที่ทำเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง แต่ส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มีการทำเป็นย่าน (neighborhood) แต่ทำเป็น issue-based ที่แก้ปัญหาเป็นเรื่อง ๆ หรือประเด็น ๆ นอกจากนี้เมืองไทยยังติดปัญหาเรื่องขอบเขตทางพื้นที่ที่ไม่ชัดเจนเพราะเมืองเติบโตแบบกระจาย ทำให้ลงเป็น area-based ได้ยาก
ซึ่งตรงนี้มองว่าเป็นโจทย์หลักของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ knowledge-based city นอกจากเรื่อง sense of common แล้ว ยังมีในแง่ของการจัดการความรู้ที่จะส่งต่อด้วย
นอกจากนี้ในการพัฒนาย่านหรือชุมชนยังต้องคำถึงกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง รวมถึงเรื่องของ key population และ generation gap ซึ่งคนแต่ละกลุ่มก็จะมีแนวคิดหรือการเชื่อมโยงกับย่านที่มันแตกต่างกัน บางทีเราพูดถึงย่าน แต่ก็ชวนให้กลับมาต้องคำถามว่าคือย่านของใคร ใครคือคนนิยาม
โจทย์ที่ 3: การออกแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เข้ากับสังคมมุขปาฐะ
พอย้อนมองในประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม เช่น สังคมเอเชียตะวันออก ส่วนใหญ่นั้นได้รับอิทธิพลของลัทธิพุทธมหายานกับลัทธิขงจื๊อ ซึ่งลัทธิเหล่านี้มีฐานมาจากการอ่านตำราหรือคัมภีร์ (based on text) เพราะฉะนั้นประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกมักจะมีวัฒนธรรมจดและเก็บบันทึกทุกอย่าง ในศาสนาคริสต์ก็เช่นกัน ยกตัวอย่างในยุคโรมัน-กรีก เห็นได้จากโครงสร้างพื้นฐานในเมือง เช่นห้องสมุดของเมือง ที่มีมาตั้งแต่อดีต
แต่ว่าในสังคมไทยมันมีพื้นฐานที่เป็นสังคมพุทธเถรวาทหรือให้ความสำคัญกับ มุขปาฐะและเรื่องเล่า ซึ่งมันก็จะต่างกับสังคมที่ based on text เช่น สังคมคริสต์จำนวนมากที่เขาเชื่อในการอ่านคัมภีร์การอ่านคำสอน ซึ่งมัน based on text ซึ่งต่างจากสังคมไทยที่เราเน้นเรื่องการเทศน์ การสนทนา และการเล่าเรื่องต่างๆ (ลองนึกถึงความนิยมของรายการเล่าข่าวที่ใช้วัตถุดิบจากหนังสือพิมพ์) ซึ่งลักษณะการเรียนรู้ตรงนี้มันอาจเป็นพื้นฐานที่ฝังรากอยู่ ซึ่งก็มีความท้าทายและน่าสนใจในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (learning society) หรือเมืองแห่งการเรียนรู้บนพื้นฐานของสังคมมุขปาฐะ
คำว่า เมืองแห่งการเรียนรู้ บางทีคนจะคิดถึงแต่ภาพที่ว่าจะต้องมีห้องสมุดหรือพื้นที่ลักษณะนี้ แต่ด้วยความที่สังคมเรานั้นวัฒนธรรมการอ่านหรือการเขียน (reading or writing culture) ไม่ได้เข้มข้นมาก เกิดเป็นโจทย์ที่ว่า เราจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร เราสามารถสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้บนพื้นฐานทางวัฒนธรรมการเรียนรู้อื่น นอกเหนือจากการอ่านได้หรือไม่ ผมว่าคนไทยต้องการพื้นที่ที่ทำให้ได้นั่งคุยกัน เพราะฉะนั้น เมืองแห่งการเรียนรู้มันอาจจะเกิดจากวงกินข้าว วงกาแฟก็ได้
ยกตัวอย่างบ้านญาติผู้ใหญ่ผมสมัยก่อน ทุกเย็นจะต้องมีคนมานัดคุนกัน มาเล่าโน่นเล่านี่ มีคนมาเข้ามาฟังประมาณ 10-20 คน ไม่ซ้ำหน้ากันเลย ผมก็เลยคิดว่า sense แบบนี้ คือมีลักษณะคล้ายกับ salons culture ในฝรั่งเศส เพราะแต่เดิมฝรั่งเศสก็เป็นสังคมมุขปาฐะเพราะว่าคนอ่านหนังสือกันน้อย จึงจะต้องมีคนมาอ่านหนังสือให้ฟังใน salons หรือพื้นที่ศูนย์กลางของการสนทนาทางปัญญา เช่นเดียวกับเวทีอภิปรายปัญหาสังคม
เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานมันอาจจะไม่ใช่แค่ห้องสมุดถ้าโจทย์ของสังคมเรามีลักษณะแบบนี้ ห้องสมุดอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เราลองดูก็ได้ว่าคนไทยจำนวนมากชอบฟัง talk ชอบฟังพอดแคสต์มากกว่าการอ่าน คลับเฮาส์เป็นที่นิยมมาก เพราะคนไทยชอบพูดถกกันมากกว่าเขียนดีเบต เพราะฉะนั้นเราอาจต้องมีวิธีที่จะสร้างออกแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เข้ากับลักษณะการเรียนรู้ของคนไทย
โจทย์ที่ 4: การบริหารองค์กรต่าง ๆ ในการสร้างเมืองบนฐานความรู้
ผมมองว่าเมืองไทยมีองค์กรหรือเครือข่ายพัฒนาเมืองที่เป็นภาคเอกชนและประชาชนอยู่ แต่ปัญหาคือองค์กรเหล่านั้นไม่มีทรัพยากรในการทำงาน
ซึ่งผมมองว่าในประกาศกฎหมายท้องถิ่น องค์กรท้องถิ่นสามารถตั้งงบประมาณมาอุดหนุนภาคประชาสังคมมาได้ แต่ก็ยังมีการดำเนินการอยู่ไม่มาก และมักได้รับการตั้งคำถามจากหน่วยงานส่วนกลาง บางครั้งตั้งขึ้นมาแล้วถูกตัดออกไป เราอาจจะต้องคิดถึงการขับเคลื่อนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพราะภาครัฐไทยมีความแข็งตัวมาก
ผมคิดว่าการสร้างเมืองบนฐานความรู้มันจะต้องมีการจับกลุ่ม มีการสร้างโครงข่าย ผมมองว่าคนรุ่นใหม่โหยหาอะไรแบบนี้อยู่ เพราะพวกเขามากับความคิดและมุมมองแบบใหม่ซึ่งผมว่ามันน่าสนใจ แต่เราก็ต้องมีพื้นที่ให้กับเขาด้วย แล้วปัญหาคือคนรุ่นนี้ไม่ได้ครอบครองโครงสร้างพื้นฐานของเมือง แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงมันจะเกิด generation crash ขึ้น แต่มองว่ามันมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่ดี
ภาพปกโดย Book photo created by ikaika – www.freepik.com