12/06/2023
Life

เมื่อประสบการณ์ตกรถ กลายมาเป็นไอเดียพัฒนาขนส่งสาธารณะ กับ ‘อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์’ ผู้ก่อตั้ง ViaBus

ชยากรณ์ กำโชค
 


คุณเคยใช้เวลารอรถเมล์นานที่สุดกี่ชั่วโมง?

ไม่แปลกหากจะใช้คําว่า ‘ชั่วโมง’ เพราะใครเดินทางโดยรถเมล์เป็นประจําคงรู้ซึ้งถึงการรอแสนเนิ่นนาน โดยเฉพาะการรอแบบไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมา ที่อาจทําให้ผู้ใช้รถเมล์ตกอยู่ในสถานการณ์ต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง ยอมแพ้เปลี่ยนไปใช้ขนส่งสาธารณะอื่น หรือปักหลักรอจนถึงที่สุดดี

แม้ปัจจุบันกรุงเทพฯ จะมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต แต่รถเมล์ยังคงเป็นขนส่งสาธารณะพื้นฐานที่มีผู้ใช้ราว 5 แสนคนต่อวัน ปัญหารถเมล์มาช้าจึงกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนจํานวนมาก และเกี่ยวเนื่องกับปัญหาจราจรติดขัดที่แก้ไม่ได้อย่างยากลําบาก ซึ่งถ้าหากจะมีวิธีไหนสามารถช่วยได้ การรู้พิกัดรถเมล์อาจทําให้ทุกคนสามารถวางแผนการเดินทางได้สะดวกขึ้น แนวคิดนี้เป็นที่มาของ ‘ViaBus’ แอปพลิเคชันนําทางและติดตามระบบขนส่งสาธารณะแบบเรียลไทม์รายแรกของไทย ที่เพิ่งได้รับรางวัล Forbes 30 under 30 Asia-2021 จากนิตยสารฟอร์บ (Forbes) โดยมีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อน 3 คน ที่ลุกขึ้นมาตั้งคําถามว่าพวกเขาจะใช้ความรู้ของตัวเองพัฒนาการใช้ขนส่งสาธารณะอย่างไรได้บ้าง

วันนี้ The Urbanis ชวน ‘อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์’ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชัน ViaBus มาพูดคุยถึงประสบการณ์เปลี่ยนความเจ็บใจในการตกรถเมล์มาเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะรอรถอย่างมีความหวัง และเมื่อ Open data และเทคโนโลยีเป็นเทรนด์หนึ่งในการพัฒนาเมืองของโลก อินทัชที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้มีมุมมองอย่างไร เป็นไปได้ไหมที่ทุกคนในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีจะร่วมขับเคลื่อนเมืองไปพร้อมกัน

ประสบการณ์ตกรถ จุดประกายแนวคิด

ขณะยังเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อินทัชเจอประสบการณ์ตกรถเมล์ที่ให้บริการรอบมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันแรกของการเรียน แต่นั่นกลับเป็นแรงผลักดันให้เขาชวนเพื่อนอีกสองคน คือ ธนัทเศรษฐ์ หอวัฒนพันธ์ และ ธนิษฐ์ ซึ้งหทัยพร มาร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘CU Pop Bus’ และขยับจากติดตามรถเมล์เฉพาะในมหาวิทยาลัย เป็นติดตามรถเมล์ทั่วกรุงเทพฯ ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันคู่ใจของคนใช้รถเมล์อย่าง ‘ViaBus’

“Viabus เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ตอนผมเข้ามาศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันแรกที่จะเข้ามหาวิทยาลัยผมตกรถ POP (CU POP BUS) เห็นรถจอดอยู่นะ และตัวเองกําลังเดินมาจากสะพานลอย แต่เดินไปไม่ทัน ผมจึงรู้สึกว่าถ้าสมมติเรารู้ว่าเมื่อไหร่รถจะมาคงดี ผมก็เลยร่วมมือกับเพื่อนๆ พัฒนาตัวแอปพลิเคชันชื่อ ‘CU POP BUS’ ขึ้นมา สําหรับเอาไว้ติดตามรถ POP ภายในจุฬาฯ โดยได้รับการสนับสนุนจาก CU Innovation Hub”

“เดิมทีกะว่าจะเอามาไว้ใช้เอง เพราะไม่อยากตกรถแล้ว แต่กลายเป็นว่ามีคนใช้งานเยอะมาก และได้รับคําขอบคุณจากหลายๆ ฝ่าย ไม่เฉพาะนิสิต มีทั้งบุคลากร และคนทั่วไปด้วย มีป้าคนหนึ่งที่เขาจะมาขายผักทุกวันศุกร์ในจุฬาฯ เขาก็ฝากมาขอบคุณว่า หลังใช้แอปฯ CU POP BUS ที่ลูกลงให้ชีวิตเขาดีขึ้น เราเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้ที่เราสร้างขึ้นมาตอบโจทย์หลายคน ไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มเดียว แต่เป็นภาพรวมเลย และด้วยความที่ผมเป็นคนที่ใช้ขนส่งสาธารณะเป็นประจํามาตั้งแต่เด็ก รถเมล์ รถตู้ เรือ รถไฟฟ้า ผมเคยขึ้นมาหมด ผมจึงเห็นว่าขนส่งสาธารณะในไทยมีปัญหาคล้ายกัน และเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้ไหม ผมเลยเอาไอเดียนี้มาเป็นแรงบันดาลใจ จึงเกิดมาเป็นแอปพลิเคชัน Viabus ที่ทํางานร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งทาง ขสมก. เองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตั้งแต่การทดสอบระบบที่เราใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี กว่าจะเปิดตัวออกมาเป็นแอปพลิเคชัน ตรงนี้มองว่าเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างทางภาครัฐที่ให้โอกาสผมเข้าไปทดสอบ ไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหานี้เพื่อตอบโจทย์ตัวเองและคนรอบตัวด้วย”

เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ มีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายนอกจากเรื่อง ‘มาช้า’ ซึ่งสําหรับอินทัชนั้น เขามองว่าปัญหาหลักที่สําคัญมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ การเข้าถึง และความน่าเชื่อถือในการเข้าใช้บริการ

“การเข้าถึงก็คือ คนรู้ว่าต้องเดินทางอย่างไร ขึ้นตรงไหน ซึ่งเมื่อก่อนผมเคยอยากไปเซ็นทรัลปิ่นเกล้าแต่ไม่รู้ว่าจะต้องขึ้นรถเมล์สายอะไร เลยต้องสุ่มคนถามคนที่ป้ายรถเมล์เอาว่าเขาพอจะรู้หรือเปล่า เพราะบางครั้งเราก็อ่านป้ายที่ติดอยู่ข้างรถไม่ทัน อีกปัญหาคือเราคาดเดาเวลาไม่ค่อยได้ ไม่สามารถทราบได้เลยว่ารถจะเข้ามาเมื่อไหร่ และไม่สามารถที่จะกะเวลาทั้งหมดในการเดินทางได้”

บริการไปให้ไกลมากกว่าจุดตั้งต้น

แอปพลิเคชัน Viabus เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2561 ขณะนั้นยังคงให้บริการติดตามเฉพาะรถเมล์ภายในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่วันนี้พวกเขาได้เชื่อมโยงทุกขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบเข้าไว้ด้วยกันภายในแอปเดียว และให้บริการครอบคลุมกว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศ

“ในตอนแรก Viabus มุ่งเป้าติดตามรถเมล์อย่างเดียว แต่พอใช้งานจริงสิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ใช้งานฟีดแบ็กมาว่า การเดินทางวันหนึ่งของเขาไม่ได้ประกอบไปด้วยรถเมล์อย่างเดียวนะ มีการเดินทางยิบย่อยต่างๆ อีก เช่น เขาอาจจะนั่งรถตู้มาเพื่อต่อรถเมล์ หรือนั่งรถเมล์ต่อ BTS หรือนั่งเรือมาต่อรถเมล์ มันมีการเดินทางหลายต่อ เราเลยมองว่าถ้าเราทําเฉพาะรถเมล์คงไม่ตอบโจทย์ของระบบขนส่งสาธารณะโดยรวม เราจึงพัฒนา Viabus ให้เป็นรูปแบบ multimodal transportation รองรับทั้งระบบที่มีรถ ราง เรือ เรียกว่าในตัว Viabus นั้นมีให้บริการตั้งแต่รถเมล์ รถสองแถว รถตู้ แอร์พอร์ตบัส มินิบัส และรถข้ามจังหวัดอยู่ในแอปพลิเคชันเดียวเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เพราะตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน เรามองว่าอยากให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด”

“ความท้าทายที่สุดคือ การทําให้คนหลายกลุ่ม หลายพื้นที่พึงพอใจในการใช้งานแอปพลิเคชัน เพราะเดิมทีเราอยู่แค่เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็จะเป็นคนประเภทหนึ่งมีลักษณะการใช้งานเทคโนโลยีแบบหนึ่ง พอเราเริ่มไปที่ต่างจังหวัด ลักษณะการใช้งานของผู้ใช้งานในแต่ละจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน ความยากของเราคือทําอย่างไรให้ทุกคนใช้แล้วรู้สึกตอบโจทย์ ไม่ยุ่งยากเกินไปในการใช้งาน นี่เป็นจุดที่ค่อนข้างท้าทายเวลาเราขยายไปทําในพื้นที่ต่างๆ”

“สิ่งที่เราสร้างอิมแพคแก่ระบบขนส่งสาธารณะ อย่างแรกคือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารที่มาขึ้นรถหรือผู้ที่อยากจะมาใช้บริการ เพราะตั้งแต่แอปฯ Viabus ถือกําเนิดขึ้นมา เราก็ได้รับเสียงจากผู้ใช้งานหลายท่านว่าเขาสามารถกะเวลาได้ดีขึ้น เดินทางได้ง่ายขึ้น บางทีวันเสาร์อาทิตย์ เดิมทีต้องขับรถออกไปและเสียค่าที่จอด เขาก็หันมาขึ้นรถเมล์แทน เมื่อบริการของเราช่วยให้ผู้คนหันมาใช้งานมากขึ้น ก็ช่วยให้ผู้ประกอบได้ประโยชน์ด้วย ทั้ง eco-system ก็มีผลเชิงบวกมากขึ้น”

“โจทย์ต่อไปของ Viabus สิ่งที่เราพยายามจะทําแน่ๆ คือให้ผู้โดยสารเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เราทํามาตลอดตั้งแต่วันแรก อย่างที่สองเราพยายามจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เกิด Full loop คือเราอยากจะพัฒนาร่วมกับทั้งผู้ประกอบการและผู้โดยสารให้ได้ประโยชน์จากทาง Viabus ทั้งสองฝ่าย ซึ่งเรามีการเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ กับเราด้วย บางทีอาจเป็นฟีเจอร์เฉพาะที่ไม่ได้อยู่ใน Viabus แต่เอาไว้สําหรับผู้ประกอบการเลย เราก็ค่อนข้างเปิดในตรงนี้ ถ้าผู้ประกอบการสนใจก็มาเข้าร่วมได้

เมื่อข้อมูลและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือพัฒนาเมือง

ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงการพัฒนาเมือง เทรนด์หนึ่งที่ได้รับความสนใจคือการนําข้อมูลและเทคโนโลยีมาเปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่มากขึ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเมืองอัจฉริยะ หรือไม่ได้เป็นเทคโนโลยีล้ําๆ แต่เพียงแค่ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารเมืองให้ตรงจุดมากขึ้นตามปัญหาต่างๆ ที่ข้อมูลแสดงออกมา ประเด็นนี้อินทัชให้ความเห็นว่า

“ผมจบทางด้านวิศวะมา ผมจึงมองเทคโนโลยีเป็นเหมือนกลไกที่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ส่วนข้อมูลเปรียบเสมือนข้อมูลเชิงลึก เป็น Insight ให้เรารู้ว่ามีประเด็นตรงไหน อะไรเป็นเรื่องสําคัญหรือมีปัญหาอยู่ ตรงไหนควรจะแก้อย่างแรก ตรงไหนคือต้นตอของปัญหาทั้งหมด ถามว่าเทคโนโลยีและข้อมูลช่วยอะไรได้ คําตอบก็คือข้อมูลช่วยทําให้เรารู้ว่าเราควรจะเริ่มจากอะไรก่อน และควรแก้ไขปัญหาอะไร แม้กระทั่งทําให้เรารู้ถึงการมีอยู่ของปัญหานั้น ถ้าเราปราศจากข้อมูลเราก็ไม่รู้ว่าควรทําอย่างไร หรือมีปัญหาอะไรอยู่ ส่วนเทคโนโลยีนั้น หนึ่ง-เป็นตัวขับเคลื่อนให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอง-สามารถเอาประกอบกับข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาได้ง่ายและอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งจะอํานวยความสะดวกให้ผู้คนได้รับผลประโยชน์จากการแก้ไขปัญหาด้วย และโดยองค์รวมจะทําให้การแก้ปัญหาต่างๆ ในเมืองเป็นไปอย่างถูกจุด ยั่งยืน และมีความมั่นคงมากขึ้น”

“ปัจจุบัน Open data ในไทย มีทั้งข้อมูลที่ดีและข้อมูลที่ไม่ดี แต่ผมก็เห็นการพัฒนามากขึ้น ที่ผมเคยเจอก็มี Open data ที่เป็นส่วนข้อมูลที่ดีอยู่ บางทีเขา Process มาให้หมดแล้ว เราเอามาใช้ได้เลย การทํา Open data ค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรทั้งเรื่องของระบบและการบริหารต่างๆ แต่ถ้าถามว่า Open data เราเพอร์เฟกต์หรือยังนั้น อาจจะตอบยากนิดหนึ่ง เราพัฒนามากขึ้นในการเข้าถึงและเอาข้อมูลมาใช้ได้จริง หลายส่วนมีการเปิดเผยข้อมูล โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้เลยค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ซึ่งทาง Viabus เองก็มีการใช้ Open data อยู่บางส่วนด้วย เช่น สถิติเป็นอย่างไร การใช้งานเป็นอย่างไรบ้างในเซคเตอร์ต่างๆ เพื่อที่เราจะเอามาศึกษาว่าเราจะเอาข้อมูลนี้มาทําประโยชน์อะไรได้บ้าง”

สํานึกพลเมืองในรูปแบบผู้เริ่มและผู้ร่วม

การลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ระบบขนส่งสาธารณะของอินทัชอาจสามารถเรียกได้ว่าเป็นสํานึกพลเมืองในรูปแบบหนึ่งที่ไม่นิ่งเฉยต่อปัญหา และช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่คนหมู่มาก

“ตั้งแต่จุดแรกที่ทํามากับเพื่อนนั้น ถามว่าผมมีสํานึกพลเมืองมากน้อยแค่ไหน เดิมทีเรามีความอยากจะพัฒนาสิ่งที่เราเข้าถึงได้และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ให้ดีขึ้น เพราะถ้าเราเข้าถึงยาก หลายคนเขาจะไม่เป็นเหมือนเราเหรอ ในเมื่อนี่คือขนส่งสาธารณะที่ทุกคนใช้ เราเลยมองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สร้างแล้วอาจจะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวมได้ และเป็นสิ่งที่ทําแล้วเราก็มีความสุขด้วย เวลาเห็นคนใช้แอปพลิเคชัน เขาสามารถกะเวลาได้ และเอาเวลาที่เหลือนั้นไปทําอย่างอื่นแทน เราก็รู้สึกแฮปปี้ที่ช่วยให้เขาประหยัดเวลาได้มากขึ้น วางแผนได้ง่ายขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตรงนี้เป็นแรงผลักดันที่ทําให้ผมทําสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ ด้วย เพราะเรารู้สึกชื่นใจที่เราพัฒนาสิ่งที่คนอื่นได้รับประโยชน์”

“ถ้าพูดในภาพรวมคนเราก็คงมีการปฏิบัติต่อปัญหาหลายแบบ ไม่จําเป็นที่เราจะต้องเป็นคนริเริ่มเสมอไป เราสามารถจะเข้าร่วมสิ่งที่คนอื่นริเริ่มได้ เพราะอย่าลืมว่าการที่จะสร้างอิมแพคให้เกิดกับสังคมได้ หรือการจะสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ในวงกว้าง ต้องมีทั้งผู้ที่ริเริ่มและผู้เข้าร่วม คอยทําหน้าที่ช่วยพัฒนา ไม่ว่าจะช่วยเข้ามาใช้หรือช่วยเข้ามาออกความคิดเห็น พวกนี้ผมมองว่าเป็นส่วนร่วมในการทําให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในสังคมหรือในเมืองมากขึ้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครอยากจะเป็นคนทําในรูปแบบไหน แต่เราต้องมีทั้งสองฝั่ง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทําให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น”

“สิ่งที่ผมได้เห็นอย่างแรกก็คือ การสร้างอิมแพคหรือการสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา สิ่งสําคัญที่สุดคือการต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย และหลายฝ่ายเองก็ค่อนข้างเปิดกว้างในการร่วมพัฒนา อาจเพราะด้วยความเป็นยุคดิจิทัลด้วย ทําให้พวกเขาสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านการแสดงความเห็นได้”

เพียงฟีดแบ็กเมืองก็ดีขึ้นได้

ทุกคนต่างเจอปัญหาในการใช้ขนส่งสาธารณะแบบเดียวกัน และการลงมือช่วยแก้ไขปัญหา ไม่จําเป็นต้องสร้างเทคโนโลยีหรือโปรเจกต์ยิ่งใหญ่เสมอไป เพียงแค่แสดงความคิดเห็นออกมา เสียงนั้นอาจต่อยอดกลายเป็นชิ้นงานที่ช่วยพัฒนาเมืองได้มากกว่าที่คิด

“สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชอบที่สุดตั้งแต่ผมทําแอปฯ มาคือ การที่เราได้ลงไปสัมผัสผู้เข้าใช้งานแอปพลิเคชัน และได้รับฟีดแบ็กว่าตรงนี้ดี ตรงนี้ไม่ดี ตรงนี้ควรจะพัฒนาอะไรบ้าง แม้กระทั่งว่า Viabus เราควรจะไปติดตามสายไหนเพิ่มขึ้น อันไหนที่ยังขาดไป ซึ่งผู้ใช้งานก็คือประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการนี่แหละ พวกเขาจึงมีส่วนช่วยพัฒนาและมีส่วนทําให้เกิดผลดีต่อเมืองมากขึ้น”

“ต้องบอกว่าฟีดแบ็กนี่มีมาทุกวันเลย (หัวเราะ) มีตั้งแต่เรื่องการให้บริการ เรื่องอยากจะให้เพิ่มเติมส่วนไหน ส่วนไหนใช้ยาก หรือแม้กระทั่งบางทีเราอยากเข้าถึงผู้ใช้ เราก็นัดผู้ใช้มาคุยเลย เราทําระดับนั้นเพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้มากที่สุด และฟีเจอร์ใน Viabus เกือบทั้งหมด 99% มาจากฟีดแบ็ก จะไม่มีฟีเจอร์ไหนที่เกิดขึ้นโดยไม่มีฟีดแบ็ก อย่างมีคนบอกว่าอยากให้มีฟีเจอร์แจ้งเตือน เราก็ทําระบบแจ้งเตือน อยากให้ติดตามสายนี้มากขึ้น เราก็พยายามจะเอารถเมล์แต่ละสายเข้ามาให้มากขึ้น มีคนบอกว่าอยากจะให้ดูง่าย ดูได้หลายรูปแบบการเดินทาง เราก็ใส่ฟีเจอร์นี้เข้าไป อยากจะให้รองรับทั้งการขนส่งหลายๆ แบบ ไม่เฉพาะระบบขนส่งสาธารณะ เราก็ทําขึ้นมา ซึ่งผู้ใช้งานอาจจะแบ่งได้สองกลุ่ม คือ ผู้รับบริการหรือผู้โดยสาร อีกฝั่งที่ขาดไม่ได้ก็คือผู้ให้บริการเอง ที่จะมีฟีดแบ็กอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากเราอยากทําให้ eco system นี้ดีขึ้น เราก็รับฟังจากทั้งสองฝั่งมาพัฒนา”

สุดท้ายเมืองที่น่าอยู่สําหรับอินทัช ไม่จําเป็นต้องเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีสุดยอด แต่ต้องสามารถตอบโจทย์ของทุกคนในเมืองได้

“เมืองที่ตอบโจทย์คนทุกคนนั้น หมายความว่าการใช้งานพื้นฐานสามารถใช้งาน ได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นด้านไหนก็ตาม สามารถเข้าถึงได้ง่าย และที่สําคัญคือเราไม่รู้สึกแปลกแยกจากวัฒนธรรมในเมือง เรารู้สึกว่าอยู่ในเมืองแล้วรีแลกซ์ สะดวกสบาย ง่ายในบริบทของการใช้ชีวิต”

ใครจะคาดคิดว่าการตกรถเมล์ของเด็กหนุ่มเมื่อหลายปีก่อน วันนี้จะช่วยให้คนทํางานกะดึกไม่ต้องเสี่ยงกับการนั่งรอรถเมล์ที่ป้ายเปลี่ยวๆ คนเดียว ช่วยให้คนใช้รถส่วนตัวเปลี่ยนใจมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ และช่วยลดเวลารอไปได้กว่า 7,700 ล้านนาที หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ทําให้ผู้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แถมผู้ใช้บริการก็มีส่วนในการสร้างให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor