11/04/2022
Life

‘รัฐต้องเชื่อมและเชื่อในภาคประชาสังคม’ – คุยกับ ครูแอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์ แห่งกลุ่มคลองเตยดีจัง กับสายตาที่มองเห็นศักยภาพของพลเมือง

ชยากรณ์ กำโชค
 


ถึงจะไม่อยากฉายภาพซ้ำ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนคลองเตยคือหนึ่งในชุมชนที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพมหานครได้ชัดเจน ท่ามกลางความเจริญของย่านธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า และคอนโดมิเนียมสวยหรู ในรั้วข้างเคียงกันนั้นคือแหล่งอยู่อาศัยและทำกินของประชาชนคนจนเมืองกว่าหนึ่งแสนคน ที่พวกเขาต้องต่อสู้กับปัญหาการไล่รื้อที่ดิน ยาเสพติด การศึกษา และความยากจนที่มีมาอย่างยาวนาน

ไม่แปลกหากคลองเตยจะเป็นชุมชนที่มีอาสาสมัคร มูลนิธิไปจนถึงภาคเอกชนเข้ามาลงมือปรับเปลี่ยนช่วยเหลือให้ชุมชนอยู่ดีกินดีขึ้น แต่ความพิเศษของชุมชนคลองเตยคือพวกเขาไม่ได้มองตัวเองเป็นผู้รับ แต่ยังเป็นพลเมืองที่มีจิตสำนึกประชาธิปไตยรวมกลุ่มต่อสู้สิทธิที่ควรได้จากรัฐอย่างเข้มแข็ง และยังเป็นต้นแบบโมเดลการจัดการวิกฤตโควิด-19 ที่ริเริ่มจากคนในชุมชนกันเองโดยไม่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐและส่วนกลาง

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้ความคิดริเริ่มของอาสาสมัครกลุ่ม ‘คลองเตยดีจัง’ จากกลุ่มอาสาสมัครที่ทำกิจกรรมสอนดนตรี ศิลปะ และจัดเทศกาลสร้างสรรค์ให้ชุมชนคลองเตยครึกครื้น ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในชุมชน เพื่อร่วมต่อสู้วิกฤติโรคระบาดไปด้วยกัน

พลังพลเมืองสำคัญอย่างไรในการต่อสู้กับหลุมปัญหาความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพมหานคร ที่ยิ่งเห็นลึกชัดเจนมากขึ้นในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา เราชวน แอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครคลองเตยดีจัง มาเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เธอทำและความเชื่อมั่นในพลังของคนธรรมดา

ที่เธอบอกว่าไม่ได้มีอยู่แค่ในคลองเตย แต่ไม่ว่าจะชุมชนไหนๆ ก็มีเหมือนกัน

จุดเริ่มต้นของกลุ่มอาสาสมัคร ‘คลองเตยดีจัง’ เป็นมาอย่างไร และมีการพัฒนาอย่างไรบ้างช่วงที่ผ่านมา

กลุ่มเราเริ่มมาประมาณ 9 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2556 ตอนแรกก็รวมตัวจากกลุ่มเพื่อนๆ กันเอง รับบริจาคเครื่องดนตรีแล้วไปสอนให้เด็ก จากนั้นก็พัฒนากิจกรรมเรื่อยๆ จนมาจัดเป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะ ‘คลองเตยดีจัง’ พอเราคลุกคลีกับเด็กๆ ในชุมชนมากขึ้นก็เริ่มเห็นปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาครอบครัว การออกจากระบบการศึกษากลางคัน ความยากจน เราเลยพยายามออกแบบกิจกรรมหรือโปรเจกต์เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย ทำให้เราเริ่มเซ็ตเป็นองค์กรจริงจังภายใต้การดูแลของมูลนิธิ มีเจ้าหน้าที่ประจำที่เข้ามาสอนเด็กๆ อย่างต่อเนื่องและออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสม

ก่อนหน้านี้มีแผนที่จะจดทะเบียนเป็นโรงเรียนด้วย เพราะคิดว่าปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรในชุมชน และเป็นช่องว่างที่อยากไปจัดการแก้ไข แต่ช่วงสองปีที่ผ่านมา เราปรับหน้างานมารับมือกับสถานการณ์โควิดอย่างเดียว เพราะพอคลองเตยเป็นพื้นที่แรกๆ ที่เกิดการระบาดในชุมชน และมันกระทบไปยังปัญหาอื่นๆ ในชุมชนด้วย

ช่วงหลังๆ กิจกรรมที่กลุ่มทำมักเป็นการจัดกิจกรรมที่ดึงความร่วมมือจากเด็ก ผู้ปกครอง และคนในชุมชนคลองเตย มีกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างไรให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมหรือไว้ใจกัน

กิจกรรมที่เราทำช่วงแรกเป็นแค่การดึงเด็กๆ มาใช้เวลาว่างร่วมกัน อย่างจัดงานวันเด็ก ให้ของขวัญกัน หรือกินข้าวเที่ยงเพื่อลดค่าใช้จ่าย ผู้ปกครองก็ยังไม่มั่นใจว่าที่เราทำๆ จะมีประโยชน์กับเด็กมากแค่ไหน แต่หลังจากทำไปเรื่อยๆ เราเห็นว่ามีเด็กหลายคนที่เขารอดพ้นจากปัญหา ไม่เข้าสู่วงการยาเสพติดหรือไปเป็นเด็กแว้นเพราะจริงๆ สิ่งที่เราทำคือการสร้างพื้นที่รวมกลุ่มในอีกรูปแบบหนึ่ง ให้พวกเขามาทำกิจกรรมร่วมกัน พอเขาเริ่มมีพื้นที่ เขาก็เห็นว่ามันมีทางเลือกอื่นๆ อีกในชุมชน เด็กหลายคนที่อยู่กับเรามา ตอนนี้เขาก็ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ผู้ปกครองพอเห็นว่าเด็กๆ มีการเปลี่ยนแปลง เขาก็เข้าใจงานของเรามากขึ้น

คนจะมองว่าคนในชุมชนคลองเตยเขาชินกับการเป็นผู้ได้รับบริจาคเพราะมีคนเข้าไปบริจาคเยอะ แต่เราพยายามพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ และชุมชนมากกว่าที่จะใช้ปมความน่าสงสาร ความเป็นชุมชนแออัดเพื่อจะรับโอกาส แม้ในเชิงปริมาณจะไม่ได้เยอะนะ เด็กโตที่อยู่กับเราตอนนี้ก็ 10-20 คน แต่อย่างช่วงสถานการณ์โควิด เด็กๆ อายุแค่ 17-18 ก็เป็นอาสาสมัครตรวจโควิดเองเลย เป็นคนคอยประสานงาน ส่งเคส เราก็เห็นว่าศักยภาพที่เราสั่งสมมา พอถึงเวลาที่ต้องจัดการใดๆ ก็เห็นผลชัดเจนว่าพวกเขามีประสิทธิภาพในการทำงาน ชุมชนก็ค่อนข้างยอมรับเพราะว่าผลจากการทำงานของเรากลับมาช่วยเหลือชุมชนเอง อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาพิสูจน์ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพวกเขาผ่านการทำกิจกรรมแค่ 1-2 ครั้งแล้วบอกว่ามันเวิร์ค

คุณค่าแบบไหนที่ทำให้เด็กๆ ในชุมชนเขาอยากกลับมาทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนของพวกเขาต่อ

ช่วงที่เขาย่างเข้าสู่วัยรุ่นเขาจะเผชิญกับโลกความจริงว่าครอบครัวยากจน เด็กทุกคนต้องรับภาระของครอบครัว อายุ 17-18 ก็ต้องทำงานแล้ว แทบจะไม่ได้เรียนหนังสือหรือไม่ได้มีทางเลือกอะไรมาก พอตัวเองต้องทำงาน เด็กบางคนที่ยังสามารถมาทำกิจกรรมได้เพราะเขาเห็นว่าศักยภาพตัวเองมันมีคุณค่าต่อการกลับมาช่วยเหลือชุมชน จากที่เขาเคยเป็นผู้รับโอกาสมาตลอด แล้ววันหนึ่งมีโอกาสเป็นคนที่ให้คนอื่น ช่วยเหลือคนอื่น เราเชื่อว่าคุณค่าจากการเป็นผู้ให้มันมีคุณค่ามากกว่า และคุณค่าแบบนี้เด็กหลายคนเขาต้องการ

เล่าให้ฟังหน่อยว่าโมเดลความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในชุมชนคลองเตย ที่ทางกลุ่มเป็นตัวตั้งตัวตีเริ่มต้นดึงพลังของคนในชุมชนมาใช้มีกระบวนการทำงานยังไงบ้าง

ตอนนั้นมันเริ่มจากสถานการณ์ในชุมชนรุนแรงขึ้นมาก เราเลยต้องหาวิธีจัดการปัญหา เช่น เจอผู้ติดเชื้อแล้วจะต้องไปที่ไหน คนตกงานจะทำยังไง คนกักตัวไม่มีข้าวกินจะทำยังไง อาสาสมัครเราทำงานร่วมกับชุมชนอยู่แล้วและค่อนข้างคุ้นเคยกับพื้นที่ดี เราคิดจากปัญหาก่อนเลยเกิดเป็นโมเดลว่าจะจัดการโควิดโดยใช้ทรัพยากรและอาสาสมัครจากภายนอกมาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การประสานงานทีมแพทย์เพื่อตรวจเชิงรุก ประสานนักเทคนิคการแพทย์เข้ามาสอนวิธีการตรวจแบบ ATK ตั้งแต่แรกๆ ระดมทุนทำระบบครัวกลางแจกจ่ายอาหารไปยังชุมชน ให้คนตกงานมาช่วยแพ็คถุงยังชีพ มาทำครัว หรือถ้าเกิดมีผู้ติดเชื้อในบ้าน ไปโรงพยาบาลไม่ได้และค่าออกซิเจนต่ำ ก็ทำทีมปฐมพยาบาลขึ้นมาโดยเวิร์คช็อปให้แกนนำชุมชนเราพบว่าจริงๆ ชุมชนเองมีศักยภาพในการจัดการใดๆ อยู่แล้ว ขาดเพียงแค่ทรัพยากรและการเทรนนิ่ง

แอ๋มคิดว่าทุกชุมชนมีศักยภาพหมดแหละ แต่ปัญหาคือรัฐไม่ค่อยไว้วางใจภาคประชาสังคมหรือประชาชนเท่าไหร่ เขาใช้วิธีจัดการแบบมีคำสั่งลงมาแต่ข้างล่างปฏิบัติตามไม่ได้ และหน่วยงานรัฐเล็กเกินไปที่จะรับมือในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้เราก็เลยทำก่อนภายใต้การแก้ปัญหาตรงหน้าและมนุษยธรรม ซึ่งตอนที่เราทำเราก็ผิดระบบหมดเลย คลองเตยน่าจะเป็นที่แรกที่เราเปิดศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation Center) พอเปิดเราก็ถูกร้องเรียนว่าผิดกฎหมาย ทำแบบนี้ไม่ได้ หรือการตรวจด้วย ATK เราตรวจมาตั้งแต่ก่อนรัฐจะประกาศอีก รัฐมาตอบโจทย์ทีหลังหมดเลย รัฐตอบโจทย์ตามระบบ แต่ไม่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหา ณ ขณะนั้น

ถ้ารัฐดึงความร่วมมือมาจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจแก้ปัญหาตามสถานการณ์ก่อน ไม่ใช่แก้ปัญหาตามนโยบายเพียงอย่างเดียว จริงๆ มันจัดการได้ เพราะนโยบายมักมาตามหลังสถานการณ์ ซึ่งคนในพื้นที่เขาจะรับรู้สถานการณ์ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการควรจะต้องมีอิสระในระดับหนึ่งที่จะแก้ปัญหา และข้างบนต้องมีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาได้เร็วกว่านี้ คนตายจะไม่เยอะขนาดนี้ อันนี้ก็เป็นปัญหาความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และรัฐก็ยังไม่มีกลไกในการทำเรื่องนี้มากพอ ประชาชนไม่ได้เรียกร้องให้รัฐต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ด้วยข้อจำกัดเรื่องคน ทรัพยากร หรือเงินที่อาจจะมีจำกัดด้วยซ้ำ รัฐน่าจะต้องประเมินว่ารัฐไม่มีศักยภาพมากพอ และปรับตัวเองเป็นศูนย์กลางในการดึงความช่วยเหลือจากภาคอื่น ซึ่งทุกคนเต็มใจที่จะช่วยอยู่แล้ว ภาคประชาสังคมเองก็สามารถทำระบบนี้ด้วยกันได้

ปัจจัยอะไรที่ทำให้ชาวคลองเตยสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่แข็งแรงขนาดนี้ และสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

แอ๋มคิดว่าลักษณะของคลองเตยยังเป็นชุมชนเมืองผสมชนบท เป็นชุมชนในกรุงเทพฯ ที่คนยังรู้จักกัน มีผู้นำที่จัดประชุมอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากมีหลายประเด็นที่คนในคลองเตยต้องต่อสู้ร่วมกัน อย่างเรื่องการไล่รื้อที่ดินร่วมกัน ความยากจน ทำให้มีการรวมกลุ่มอยู่เรื่อยๆ มีความสัมพันธ์ร่วมกันแม้จะเป็นไปในเชิงขัดแย้งหรือทะเลาะกันบ้าง แต่ก็ไม่เหมือนที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ที่แต่ละคนอยู่กันอย่างเป็นปัจเจก ต่างคนไม่รู้จักว่าห้องข้างๆ คือใคร อย่างสมมติเกิดติดโควิดขึ้นมา เราก็ยังดูแลกันอยู่ ฝากย่าฝากยายฝากลูกหลานกับเพื่อนบ้านได้ อันนี้ก็เป็นปัจจัยความสำเร็จหนึ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อใจกันในชุมชน

อีกส่วนหนึ่งคือภาคประชาสังคมในคลองเตยค่อนข้างแข็งแรง มีมูลนิธิ อาสาสมัคร รวมถึงกลุ่ม NGO ที่เข้ามาสนับสนุนเยอะ และมีนักการเมืองที่ชาวคลองเตยพึ่งได้และเขาก็ยังสนับสนุนคนในชุมชนค่อนข้างดี คลองเตยเป็นพื้นที่สีแดง มีปัญหาทั้งความยากจน ยาเสพติด เรื่องที่ดิน ทำให้ภาคประชาสังคมในคลองเตยมีการรวมตัวกันแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่มูลนิธิดวงประทีปที่เป็นตัวหลัก มีสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยที่รวมกันตัวขับเคลื่อนเรื่องไล่รื้อ หรือองค์กรเล็กๆ แบบพวกเขาก็มีค่อนข้างเยอะ มาทำกิจกรรมดนตรี ศิลปะ ทำงานกับเด็ก ซึ่งเราก็ทำงานร่วมกับวัด โรงเรียน และก็เริ่มทำงานกับเขตด้วยช่วงหลังมานี้ 

จริงๆ ในคลองเตยเราแทบจะอาศัยองค์กรภายนอกน้อยมาก เราใช้กลไกในชุมชนหมดเลย อาศัยการประชุมวางแผนร่วมกัน รับรู้กันว่าแต่ละทีมถนัดเรื่องอะไรก็แบ่งหน้าที่กัน กลไกแบบนี้ทำให้คลองเตยทำงานได้เร็ว แอ๋มคิดว่านี่อาจเป็นโมเดลหนึ่งที่ชุมชนอื่นอาจจะยังทำไม่ได้ เพราะภาคประชาสังคมในพื้นที่ไม่แข็งแรง

ภาครัฐท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานครหรือสำนักงานเขต เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในคลองเตยยังไงบ้าง

แอ๋มคิดว่าเขตเขาก็ทำงานตามระบบเขานะ มีนโยบายลงมา เช่น เข้ามาฉีดวัคซีน หรือลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็ก ดูแลผู้สูงอายุเท่าไหร่ ซึ่งชาวบ้านเขาก็เข้าไปรับสิทธิตามที่มี แต่ไม่ได้มาประชุมกันเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอะไรจากรัฐ นอกจากนี้ก็มีภาคธุรกิจเข้ามาบ้าง แต่ส่วนใหญ่เขาจะมองเป็นเรื่อง CSR เช่นการบริจาคหรือการพัฒนาในเชิงระบบโครงสร้าง ถนน รถไฟฟ้า

ปัญหาคือบ้านเรายังไม่ได้ลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์เท่าไหร่ เพราะมันไม่ค่อยเห็นผลจากการจะลงุทนพัฒนาคนต่อหนึ่งหัวว่ามันเวิร์คหรือไม่เวิร์ค สมมติให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดี ปีหนึ่งค่าใช้จ่ายอาจจะต้องเป็นแสนๆ เทียบเท่ากับค่าเทอมมาตรฐานของโรงเรียนเอกชนหรือเปล่า แต่สำหรับเด็กที่เติบโตมาอย่างเหลื่อมล้ำ เขายินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้รึเปล่า อันนี้เป็นโจทย์ว่ารัฐมองการพัฒนามนุษย์ยังไง มันยังเห็นไม่ชัด การพัฒนาคนมันไม่เห็นเป็นสิ่งของสิ่งปลูกสร้างที่เห็นชัด ถ่ายรูปสวย

ชุมชนคลองเตยอาจเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าสำนึกพลเมืองค่อนข้างแข็งแรง มีการรวมกลุ่มต่อสู้เรียกร้องจากรัฐชัดเจน กระบวนการแบบนี้ควรเกิดในชุมชนอื่นๆ ด้วยไหมและมีปัจจัยอะไรที่จะทำให้เกิดขึ้นได้

ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐก่อน (หัวเราะ) ที่เราทำกันมันเล็กน้อยมากจนไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนอะไรได้แค่ไหน ประชากรทั้งเขตเป็นแสนคน เราทำได้แค่ 0.01% รึเปล่าไม่รู้ถ้านับเป็นเชิงคุณภาพนะ แต่ทำได้น้อยของเราคือใช้พลังงานที่สุดในชีวิตแล้ว ทั้งทรัพยากร เงิน คน ถ้าเราจะเปลี่ยนทั้งระบบ ก็ต้องเปลี่ยนที่โครงสร้างรัฐ มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีคนเข้าไปทำงานร่วมกันกับรัฐ และมีผู้นำที่เก่งๆ เพื่อเข้าไปจัดการปัญหาในรัฐให้ได้ ไม่งั้นยังไงเราก็ไม่มีทางแก้ปัญหาในระดับรากได้ ส่วนภาคประชาสังคมข้างล่าง เราก็ทำงานกันไป สร้างโมเดล สร้างตัวอย่างวิธีการแนวทาง

หรือรัฐต้องทำตัวเองให้เล็ก เป็นแค่หน่วยบริหารจัดการแล้วเชื่อมงานเข้ากับคนอื่นๆ คือทำหน้าที่ซัพพอร์ตและเชื่อมโยงองค์กรต่างๆ ไม่ต้องเป็นคนทำงานเอง รัฐอาจมองว่าตัวเองทำไม่ได้หรอก ต้องแบกรับต้องทำหลายอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วคุณไม่ต้องทำทุกอย่างก็ได้นะ รัฐเป็นแค่หน่วยกลางที่เชื่อมทรัพยากรก็ได้ เพียงแค่รัฐต้องเปิดกว่านี้ มีอิสระมากพอในการตัดสินใจใดๆ ไม่ใช่ทำแค่ตามนโยบายหรือระเบียบต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่เขามีอิสระในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตัวเองโดยไม่ถูกจำกัดหรือจัดการ รัฐอาจจะเป็นแค่นั้นก็ได้ คือเป็นหน่วยกลางเหมือนเรา จริงๆ กลุ่มพวกเราก็เป็นแค่แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงชุมชนเข้ากับหน่วยงานต่างๆ เราก็มีกันอยู่ 4 คน ไม่ได้เป็นคนทำเองทั้งหมด แต่เรา matching ทรัพยากรให้เข้าไปทำงานช่วยชุมชน รัฐก็อาจจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้เล็กแล้วทำตัวเองเป็นหน่วยเชื่อมคนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนแทน

พลเมืองต้องมีจิตสำนึกและทำงานร่วมกับรัฐยังไง เผื่อผลักดันให้ไปสู่สังคมที่ดีขึ้นได้

อย่างพวกเราเองเนี่ยก็ทำงานตามเจตนารมณ์ ตามความรู้สึกและสิ่งที่ควรจะเป็น เราต้องเชื่อมั่นว่าตัวเรามีศักยภาพมากพอที่จะแก้ปัญหาได้ บางครั้งก็อาจต้องทำให้ภาครัฐเห็นก่อนว่าสิ่งที่เราทำช่วยแก้ปัญหายังไง เราอาจจะบ่นรัฐได้แหละว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือลงมือทำให้เห็นตัวอย่างว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัด แต่ถ้าเราผ่านกระบวนการทดลองทำแล้ว เราก็สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ได้

ตัวพลเมืองเองทุกคนต้องเชื่อมั่นว่าเราทำได้และต้องไว้วางใจกันในชุมชน ในสถานการณ์วิกฤติอาจจะต้องไม่กร่นด่ากัน ต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน และเราอาจจะต้องฟังรัฐด้วย โดยเฉพาะคนในระดับปฏิบัติการว่าเขาเผชิญอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของรัฐเขาไม่ได้ผิด เราเห็นว่าหลายคนตั้งใจทำงานมาก เขาก็เป็นมนุษย์คนนึงที่อยากแก้ปัญหาเหมือนกัน แต่ด้วยระบบและบทลงโทษมันมีอะไรหลายอย่างที่เขาต้องเซฟตัวเองหรือไม่ทำอะไรนอกเหนือจากคำสั่ง แต่ถ้าเราเห็นว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและมันช่วยเหลือรัฐนะ ไม่ได้เป็นข้อขัดแย้งกับรัฐ เราก็ทำได้เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับชุมชน แอ๋มคิดว่าอาจจะต้องมีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ในการทำงานร่วมกัน เริ่มเปลี่ยนจากระดับล่างก่อน แล้วค่อยไปกระทุ้งระดับบนอีกทีว่าเขาเห็นสิ่งนี้ไหม ซึ่งจริงๆ เขาก็เห็นนะ การที่ภาครัฐมายกให้การทำงานของเราเป็นโมเดลก็แสดงว่าเขาเห็นแหละว่าเราสำคัญ

ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและประชาชนในชุมชนคลองเตยท่ามกลางวิกฤติ ปัญหา และความท้าทายให้แก้ไข น่าจะพอทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าพลเมืองเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเข้าไปเชื่อมประสานการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างรัฐกับประชาชน บวกกับความเชื่อมั่นว่าเราทุกคนคือพลเมืองที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง คือตัวแปรที่เราหวังว่าจะทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ หดแคบลงเรื่อยๆ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor