09/04/2021
Life

ทางเท้าแบบไหนถูกใจหลวงพี่ สนทนากับ พระมหาใจ เขมจิตฺโต ว่าด้วยเสียงสะท้อนจากผู้สัมผัสเมืองด้วยเท้าเปล่า

นรวิชญ์ นิธิปัญญา อวิกา สุปินะ
 


เรื่อง : นรวิชญ์ นิธิปัญญา, อวิกา สุปินะ ภาพ : ชยากรณ์ กำโชค

ก่อนฟ้าสว่างบนถนนจักรพงษ์ หน้าวัดชนะสงคราม เป็นเวลาและจุดนัดพบของเรากับ พระมหาใจ เขมจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ซึ่งกรุณาให้เราเดินติดตามขณะบิณฑบาต พร้อมกับคณะภิกษุ-สามเณร ไปตามเส้นทางย่านถนนข้าวสารและตลาดบางลำพู

ภาพที่เรามองเห็น คือ ภิกษุ-สามเณรทุกรูปเดินเรียงแถวอุ้มบาตรด้วยอาการสำรวม และเดินด้วยเท้าเปล่า

หากจะอนุมานว่าสงฆ์คือคนเมืองที่ใกล้ชิดกับทางเท้าและเมืองมากที่สุด คงไม่ผิดนัก

นี่เป็นที่มาของบนสนทนาว่าด้วยทางเท้าและเมือง และโครงการฟื้นฟูทางเท้าย่านรัตนโกสินทร์ 33 เส้นทาง กับพระมหาใจ ในฐานะ “ผู้สัมผัสเมืองด้วยเท้าเปล่า”

การบิณฑบาตกับทางเดินเท้าที่เปลี่ยนไป          

ตอนเช้านี่เดินลำบากมาก ทั้งพระสงฆ์ สามเณร ต้องเดินหลบร้านที่ตั้งอยู่บนทางเท้า ซึ่งเป็นร้านที่ตั้งอยู่มานานแล้ว   พระภิกษุสงฆ์ และสามเณร ต้องคอยเดินหลบสิ่งกีดขวาง หรือบางครั้งต้องเดินหลบลงถนน หนักไปกว่านั้น คือ พระอาจารย์ไม่สามารถเดินทางเท้ารอบวัดได้แล้ว เพราะว่าด้วยผังเมืองทำให้วัดชนะสงครามแทบไม่มีทางเท้า เพราะทางเท้ากลายเป็นร้านค้ามากมาย

พอมีโควิด-19 ร้านค้าทยอยลดลง แต่ยังคงมีอุปกรณ์ของร้านค้าหลงเหลืออยู่ ถึงแม้จะแยกจากทางเท้าชัดเจน แต่พระก็ไม่สามารถเดินได้อยู่ดี เพราะพื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามในการเดินบิณฑบาต

กล่าวได้ว่า “พระห้ามเดินในพื้นที่อโคจร” เพราะพื้นที่รอบวัดถูกพัฒนาให้การเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะหน้าวัดตรงข้ามถนนข้าวสาร เพราะฉะนั้นทางเท้ารอบวัดจึงไม่สามารถเดินบิณฑบาตได้เหมือนแต่เดิมแล้ว

เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่สามารถเดินบิณฑบาตโดยรอบวัดได้เลย พระมีทางออกในการบิณฑบาตเส้นทางเดียว คือเส้นทางเดินบริเวณหน้าวัดทอดยาวไปถึงโรงแรมเวียงใต้ มีร้านค้าเป็นแหล่งใส่บาตรขนาดใหญ่ เสร็จแล้วกลับวัดเลยใช้เวลาประมาณ 30 นาที เพราะมีกิจกรรมต่อที่วัด คือ พระเณรต้องทำวัตร เวลา 07.45 น. เพราะฉะนั้นต้องวางแผนเพื่อให้พระเณรฉันและทำวัตรทันเวลา และสามเณรต้องเข้าเรียน 08.30 น.

ที่กล่าวมาเป็นเส้นทางประจำของพระอาจารย์เดิมออกบิณฑบาตข้างวัด ในปัจจุบันออกพื้นที่หน้าวัด เนื่องจากข้างวัดกลายเป็นพื้นที่ไร้ทางเท้า ตอนนี้บริเวณหน้าวัดกลายเป็นเส้นทางประจำ และด้วยโควิด-19 ทำให้ร้านค้าหน้าวัดที่ตั้งบนทางเท้าลดลงมาก ซึ่งตามปกติแล้วแทบจะไม่มีทางเดินเท้าให้เดินเลย  

พื้นที่ทางเดินเท้า แหล่งท่องเที่ยวกับการเผยแผ่ธรรม     

พระอาจารย์มองว่าเมื่อก่อนทางเดินเท้ามันอาจเอื้อต่อการใช้งานของผู้คน แต่ในปัจจุบันพอมีแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น จากพื้นที่ “ข้าวสาร” ในอดีตพระอาจารย์เดินบิณฑบาตได้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ที่พระเณรไม่ควรเดิน ด้วยความเป็นพื้นที่อโคจร ปัจจุบันนี้เราไม่กล้าเดินไปในพื้นที่ข้าวสาร มันทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งที่พระเณรไม่ควรเดิน เพราะเมื่อพระเดินในพื้นที่กลายเป็นว่าถูกมองว่ามันไม่ดี ทั้งที่อดีตมีคนใส่บาตรเป็นเรื่องปกติ ถึงแม้ปัจจุบันมีคนอยากใส่บาตรก็ตาม แต่ด้วยการปรับพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มันก็ทำให้พระลำบากที่จะเดินมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องเลี่ยงมาถนนเส้นหน้าวัดชนะสงครามแทนในการบิณฑบาต เพื่อความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และสังคม      

ความสำคัญของทางเดินเท้าในมุมมองพระอาจารย์        

เมืองที่เจริญแล้วทางเท้าถือว่าเป็นทางสาธารณะที่สามารถเชื่อมโยงคนกับสถานที่เหล่านั้นได้ มีการจัดสรรร้านค้าให้อยู่อย่างเป็นระเบียบในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม แต่ในความเป็นจริงมันขัดกับหลักบริหารสาธารณร่วมกัน ยิ่งหากทัศนคติไม่ตรงกัน การบริหารจัดการย่อมมีความยากลำบาก และเห็นได้ชัดจากทางเดินเท้าในปัจจุบัน

ทางเดินเท้าย่อมมีความสำคัญมากในแง่ที่ว่า ทุกคนควรมีส่วนร่วมตั้งแต่ความเห็นหรือสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้ในทุกคน ทุกกลุ่ม เพราะทางเดินเท้ามันเป็นสาธารณะ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และทางเท้าที่มีความสวยงามย่อมบ่งบอกถึงสภาพจิตใจ การศึกษา ระดับการพัฒนาการวางผังเมือง รวมถึงวิธีการบริหารของผู้บริหาร มันสะท้อนถึงทุกกลุ่ม สะท้อนถึงคนขายของเป็นอย่างไร สะท้อนถึงผู้บริหารว่าเป็นอย่างไร รวมถึงคนที่มาใช้พื้นที่ทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร และมีความรับผิดชอบร่วมกันบ้างไหม

นั่นหมายความว่า “ทางเท้า” เป็นตัวสะท้อนทัศนคติของคนทุกกลุ่มว่ามีทัศนคติบวกหรือลบ สะท้อนถึงวุฒิภาวะของบุคคลผ่านการเดินบนทางเท้า     

ทัศนะของพระอาจารย์ต่อโครงการการปรับปรุงทางเท้ารัตนโกสินทร์       

ประเด็นเรื่องของผังเมืองและทางเท้าเป็นเรื่องของผู้ออกแบบ แต่สำหรับพระอาจารย์มองว่าขอแค่ให้ทางเท้าสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ก็พอ มีความปลอดภัย สะอาด มีความเป็นธรรมชาติ หากขาดธรรมชาติพื้นที่นั้นก็จะกลายเป็นเมืองคอนกรีต

ในอดีตพระอาจารย์เคยมีโอกาสไปต่างประเทศ พระอาจารย์รู้สึกว่าทางเท้าสามารถกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ รวมถึงเป็นทางจักรยานได้อีกต่างหาก เป็นทางเท้าที่มิใช่แค่ทางเท้า

แต่ด้วยในพื้นที่กรุงเทพมหานครเหมือนไม่ได้มีการวางผังเมืองไว้ก่อน ถนนกับทางเท้ามันปนกันไปหมด หากจะมีการปรับปรุงต้องเริ่มจากการทำทางเท้าให้มันชัดเจน ทำให้มันเป็นทางเท้าสำหรับคนเดินได้อย่างแท้จริง เป็นทางเท้าสำหรับทุกคน มิใช่ของใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ควรมีการปรับปรุงทางเท้าให้เอื้อต่อการเดิน เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่ม

ธรรมชาติของคนไทย เรามีความเอื้อเฟื้อกันอยู่แล้ว หากทางเท้ามีการส่งเสริมเป็นทางเท้าที่สะดวกกับผู้พิการ เอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม มันจะกลายเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับคนไทย เป็นภาพลักษณ์ที่ดี และมีการขยายผลในโครงการต่อ ๆ ไป กลับกันถ้าหากมีภาพพระเณรเหยียบเศษแก้ว ทางเท้าเดินแล้วไม่ปลอดภัย คนพิการไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทางเท้าได้ หรือร้านค้ากีดขวางทางเดินเท้า เดินแล้วต้องคอยหลบสิ่งกีดขวาง

มันก็กลายเป็นภาพจำที่ชัดเจนว่า ทางเท้าไม่เอื้อต่อการเดินได้อย่างแท้จริง ซึ่งในหลายประเทศเขามีกฎระเบียบของทางเท้า ถ้าทางเดินเท้าเป็นเส้นตรง เราสามารถเดินได้ไกลมาก เรียกได้ว่าถ่ายภาพทางเท้ายังมีความสวยงาม

ความคาดหวังต่อการปรับปรุงทางเท้าในอนาคต          

ในการปรับปรุงทางเท้ามันสะท้อนกลับไปหาเรื่องเดิมเหมือนที่พระอาจารย์ได้กล่าวมาแล้ว โดยส่วนตัวพระอาจารย์มองว่า หากมีการปรับปรุงพื้นที่ทางเท้าแล้วมันจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นในการปรับปรุงและพัฒนาทางเท้าในอนาคตเราจะทำอย่างไรให้ทางเท้าเป็นทางเท้าอย่างแท้จริง เดินได้อย่างปลอดภัย เป็นทางเท้าที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่ม ไม่ต้องคอยหลบสิ่งกีดขวางใด ๆ สามารถเดินสลับไปมาได้ และมีธรรมชาติที่ลงตัว เป็นทางเท้าที่ประกอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว “เดินแล้วมีความสุข” เพื่อให้มนุษย์เมืองอย่างเรามีความคุ้นชินกับความเป็นธรรมชาติ

จากบทสัมภาษณ์จะเห็นได้ว่า พระสงฆ์และสามเณรเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของการใช้ทางเท้า เพราะทุก ๆ เช้าต้องมีการเดินบิณฑบาต ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ สามเณร กล่าวได้ว่าทางเท้านอกจากจะเป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนในสังคมแล้ว ทางเท้ายังเป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีความสำคัญในการเชื่อมโยงบุคคล สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งหากมีการพัฒนาปรับปรุงทางเท้าให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นทางเท้าที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่มในสังคม เดินได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข ย่อมทำให้การพัฒนาเมืองเกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริงในอนาคต


Contributor