09/03/2022
Life

‘สื่อกับการเปลี่ยนความคิดพลเมือง’ ปริพนธ์ นำพบสันติ นักเล่าเรื่องเมืองที่เชื่อว่าเราคือผลผลิตของเมืองที่อาศัยอยู่

ชยากรณ์ กำโชค
 


ในโลกปัจจุบัน ไม่เพียงแค่ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ๆ ได้ไม่รู้จบ ทั้งจากการอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือข่าวสารต่างๆ ผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์เท่านั้น ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าใครก็สามารถผันตัวเองจากการเป็นผู้รับสาร เป็น ‘สื่อ’ ได้เองผ่านเทคโนโลยีที่อยู่ในมือ

หากไม่นับช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 การเดินทางออกไปเปิดหูเปิดตายังประเทศต่างๆ ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่หลายคนเลือกออกไปมองโลกกว้าง การได้เห็นบ้านเมืองที่เจริญแล้วทั้งทางกายภาพและผู้คน ยังช่วยให้เราหันกลับมาตั้งคำถามถึงปัญหาที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน

โบ๊ท-ปริพนธ์ นำพบสันติ คือชายหนุ่มที่เลือกทำอย่างนั้น เขาเดินทางไปญี่ปุ่นหลายต่อหลายครั้ง แต่ท่ามกลางนักท่องเที่ยวไทยที่ชื่นชมซากุระ ภูเขาไฟฟูจิ หรือคาเฟ่ฮิปเก๋ ปริพนธ์กลับมีสายตามองเห็น ‘การออกแบบเมือง’ ที่ซ่อนอยู่ในทุกซอกมุมและถนนหนทางของญี่ปุ่น เขานำกลับมาเล่าผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว JapanPespective ตั้งแต่ปี 2558 และเฟซบุ๊กเพจ ญี่ปุ่นแบบโบ๊ทโบ๊ท ก่อนที่จะขยายต่อมาเป็นหนังสือ Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง ให้เราได้อ่านกันเมื่อปีที่แล้ว

โบ๊ทเล่าเรื่องการพัฒนาเมืองของญี่ปุ่นไว้อย่างเข้าใจง่ายและสนุกมาก ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นอย่างการออกแบบฟุตบาท ทางม้าลาย การคัดแยกขยะ ไปจนถึงประเด็นใหญ่ๆ ที่ชาวญี่ปุ่นร่วมใจกันต่อสู้ทวงคืนสิทธิของพลเมืองอย่างปัญหามลพิษในเมืองและอากาศสะอาด กระบวนการพัฒนาเมืองของญี่ปุ่นจึงสอดประสานไปพร้อมกับการสร้างจิตสำนึกพลเมืองอย่างแยกไม่ออก เป็นจุดเริ่มต้นให้เราอยากชวนเขามาคุยกัน ในฐานะสื่อคนหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวการออกแบบเมืองอย่างเข้าใจและใส่ใจในสิทธิของพลเมือง

เพราะเขาก็คือพลเมืองคนหนึ่งที่อยากเห็นสังคมไทยขับเคลื่อนไปสู่เมืองที่ดีเช่นกัน

เริ่มมีสายตามองเห็นการออกแบบเมืองของญี่ปุ่นเมื่อไหร่ เป็นความสนใจส่วนตัวแต่แรกเลยหรือเปล่า

ต้องบอกว่าผมไม่ได้เรียนมาทางด้านเมืองเลย ช่วงแรกที่ไปญี่ปุ่น เราก็เป็นนักท่องเที่ยวธรรมดาๆ แต่จำได้ว่าเหตุการณ์ที่จุดประกายครั้งแรกก็ตอนที่ไปซัปโปโร เราเดินอยู่บนฟุตบาทข้างถนนตอนเช้า อยู่ๆ ก็ตรัสรู้ แว้บขึ้นมาได้ถึงความสุขระหว่างที่เดินแค่นั้นเลย หลังจากนั้นเราก็เลยเริ่มสังเกตอะไรมากขึ้น แรกๆ ก็แค่ถ่ายรูปเก็บไว้ปกติ

หลังจากนั้น 2-3 ปีต่อมาก็เริ่มทำเพจ JapanPerspective เราก็คิดว่าจะสร้างคอนเทนต์ยังไงให้แตกต่าง ตอนนั้นส่วนมากเพจอื่นๆ จะเล่าถึงญี่ปุ่นแค่ในมุมท่องเที่ยว เราเลยคิดว่าเรานำเสนอเรื่อง urban design ของญี่ปุ่นดีกว่า เพราะมันมีอะไรให้พูดแต่ว่าคนยังไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไหร่ ก็ต้องเริ่มกลับมาดูรูปภาพและศึกษามากขึ้นๆ เรื่องที่เล่าในเพจก็เลยมาจากประสบการณ์และการสังเกตของตัวเอง ส่วนข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ กฎหมาย ส่วนมากเราก็จะอ่านจากเปเปอร์วิชาการ แล้วค่อยย่อยสรุป หยิบที่มันเกี่ยวข้องสำคัญมาเล่า

โบ๊ทมองความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับจิตสำนึกพลเมืองอย่างไร เมืองน่าอยู่ขึ้นเพราะชาวญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย หรือเป็นเพราะเมืองช่วยกำหนดสำนึกพลเมืองของคนญี่ปุ่นให้เป็นแบบนี้ สองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันแบบไหน

จริงๆ ผมเชื่อว่าเราเป็นผลผลิตของเมืองที่อยู่เหมือนกัน ทั้งความคิด ทัศนคติ การมองโลก พฤติกรรม อย่างชาวญี่ปุ่นเขาก็เป็นคนเหมือนเรา ไม่ได้ต่างหรือดีกว่ากัน แต่ว่าเขาเกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อม กฎระเบียบแบบนั้น มันก็หล่อหลอมพฤติกรรมชาวญี่ปุ่นให้ไปในทางหนึ่ง ดูอย่างนักศึกษาไทยหรือคนไทยที่ไปอยู่ญี่ปุ่นหลายๆ ปี สุดท้ายเขาก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมญี่ปุ่นให้ได้ พอเราไปอยู่สังคมไหน ก็ต้องทำตามกฎระเบียบของที่นั่น

เรามองว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องเลียนแบบพฤติกรรมคนอื่น สมมติเราเดินไปตามฟุตบาทที่ญี่ปุ่น มันสะอาดเหลือเกิน ไม่เห็นใครทิ้งขยะทิ้งๆ ขว้างๆ เลย หรือเราก็ไม่เห็นคนญี่ปุ่นที่เดินไปสูบบุหรี่ไป พอเราเห็นอย่างนั้นเราก็ไม่ทำ เพราะถ้าทำ เราจะกลายเป็นคนส่วนน้อยหรือแปลกแยกไปเลย ผมเลยมองว่าการออกแบบเมือง บวกกับกฎหมาย คอย shape ระเบียบวินัยและพฤติกรรมของคนเราในเมืองอยู่ สามสิ่งนี้ต้องควบคู่ไปด้วยกัน

พอยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยได้ไหม

ตัวอย่างเช่นเราจะสังเกตว่าถ้าเป็นในเขตเมือง คนญี่ปุ่นจะขับรถไม่เร็วมาก ไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เบื้องหลังคือการออกแบบผังเมืองญี่ปุ่นที่เขามีสี่แยกเยอะ และไม่มีไฟจราจรแบบมีตัวเลขนับถอยหลัง การไม่มีตัวเลขบอกก็เท่ากับบังคับคุณไปในตัวว่าคุณห้ามขับเกินความเร็วที่กำหนดนะ เพราะถ้าเราขับเร็วเกิน บางทีอาจจะเบรกไม่ทันและกลายเป็นฝ่าไฟแดง แล้วกฎหมายที่ญี่ปุ่น ถ้าเกิดเราขับรถฝ่าไฟแดง ก็จับจริง เขายังลงทุนในเทคโนโลยีกล้องตรวจจับที่เห็นทะเบียนรถชัดเจน และในเชิงโครงสร้าง หน่วยงานต่างๆ ที่ญี่ปุ่นก็ทำงานประสานกัน ถ้าเราฝ่าไฟแดง มีใบสั่งส่งมาที่บ้าน เราอาจจะไม่สามารถต่อใบขับขี่ได้เพราะว่าเรายังไม่ได้จ่ายค่าปรับตรงนี้ จะเห็นว่าทุกส่วนเขาลิงก์กันหมด

หรือเรื่องทางม้าลายที่เพิ่งเป็นกระแสไปในสังคมไทย เราจะเห็นว่าทางม้าลายที่ญี่ปุ่นทั้งกว้างขวาง สีก็ชัด สีที่เขาทายังผสมสารที่ช่วยสะท้อนไฟหน้ารถในเวลากลางคืนได้อีก มีเส้นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดในซอยเพื่อบอกว่าขับไปจะถึงทางม้าลายแล้ว เส้นทึบให้รถหยุดก่อนถึงทางม้าลายก็มีระยะห่างพอสมควร หรือแม้แต่ทางม้าลายในซอยเล็กๆ ก็มีไฟส่องสว่างให้เห็น จะเห็นว่าการออกแบบของญี่ปุ่นมีส่วนช่วยให้คนขับหยุดรถได้มากขึ้น

นอกจากกฎหมายและการออกแบบเมืองที่ดีแล้ว สื่อมวลชนของญี่ปุ่นเองมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจเรื่องการออกแบบและพัฒนาเมืองให้ประชาชนมากน้อยแค่ไหน

ตอบในมุมของผู้รับสาร ผมคิดว่าสื่อมวลชนญี่ปุ่นมีส่วนช่วยได้มากเลยนะครับ เขาจะทำผ่านคอนเทนต์ในชีวิตประจำวันที่จับต้องได้หรือเกี่ยวข้องกับคน อาจจะเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย อย่างที่เห็นล่าสุด มีเพจข่าวญี่ปุ่นพาไปดูวิธีการทุบตึกที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟว่าทำยังไงให้ลดมลภาวะทางเสียงมากที่สุดเพื่อไม่ให้รบกวนสภาพแวดล้อม วิธีที่เขาใช้คือใช้เครนยกรถแบคโฮไปที่ชั้นบนแล้วค่อยๆ ทุบตึกลงมา ตัวรถยังเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่มีกลไกทุบตึกให้เบาที่สุด เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่สื่อญี่ปุ่นนำเสนอเรื่องมลภาวะทางเสียง หรือมีรายการทีวีไปสาธิตให้เด็กประถม เด็กมัธยมต้น ดูความเสียหายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ถ้ารถยนต์ชนจักรยาน ความรู้สึกจะเป็นยังไง ถ้ารถยนต์ชนคนที่ความเร็วต่างๆ กัน ให้ความเสียหายแตกต่างกันอย่างไร

จะเห็นว่าสื่อมวลชนช่วยให้สังคมเห็นภาพและตระหนักเรื่องพวกนี้ เพราะถึงแม้เราจะอาศัยอยู่ในเมืองทุกวัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้หรือติดตามเรื่องการพัฒนาเมือง

ในหนังสือของโบ๊ท มีตอนหนึ่งที่พูดถึงการต่อสู้เรื่องมลพิษทางอากาศของชาวญี่ปุ่นด้วย ตอนนั้นสื่อมวลชนญี่ปุ่นได้ช่วยนำเสนอข่าวเรื่องนี้แค่ไหน เขาให้ความสำคัญกับเสียงของพลเมืองมากน้อยอย่างไร

ใช่ๆ อย่างเรื่องอากาศเป็นพิษ สื่อก็ตามติดกระแสหรือคอยจี้ หาข้อเท็จจริงมานำเสนอ ผมสังเกตว่า สื่อญี่ปุ่นถ้าทำข่าว เขาจะทำตั้งแต่ต้นน้ำหรือสาเหตุ ไปจนถึงปลายน้ำคือผลลัพธ์ว่าเป็นยังไง ไม่ได้นำเสนอแค่เฉพาะกระแสสั้นๆ แล้วจบ เขาคิดวิเคราะห์เนื้อหาหลายขั้นตอนในการนำเสนอ สมมติประเด็นทางม้าลาย ที่ญี่ปุ่นจะพูดถึงในเชิงวิศวกรรม การออกแบบทางม้าลายต้องทำยังไง มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุให้รถไม่จอดและจะแก้ปัญหายังไง สื่อมวลชนเขาจะลงลึกไปถึงต้นตอของปัญหา คิดวิเคราะห์ในองค์รวมมากกว่านำเสนอข่าวเฉยๆ

กลับมาที่ประเทศไทย เราอยากเห็นสื่อไทยทำหน้าที่ช่วยสร้างจิตสำนึกพลเมืองมากขึ้นอย่างไร เราสามารถเอาบทเรียนจากญี่ปุ่นมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

สมมติเป็นประเด็นเรื่องทางม้าลาย อย่างแรก เราอาจจะต้องก้าวข้ามชุดความคิดเดิมๆ ว่าทางม้าลายเป็นเรื่องของจิตสำนึกหรือน้ำใจคนขับที่ต้องหยุดให้ เราต้องตั้งคำถามว่าชุดความคิดพวกนี้มันไม่ถูกต้องรึเปล่า สื่อควรทำคอนเทนต์เชิงลึกมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แต่ที่พูดนี้ก็ไม่ได้เหมารวมนะครับ เราก็พอเห็นสื่อไทยหลายเจ้าที่ทำข้อมูลว่าทางม้าลายควรออกแบบยังไงให้เป็นตามหลัก Universal Design พูดเรื่องการจำกัดความเร็ว หรือประเด็นเชิงกฎหมาย บทลงโทษว่าควรจะปรับแพงขึ้นไหมเพื่อให้คนกลัว เราจะเห็นว่ามันสามารถพูดถึงได้หลายประเด็นมากๆ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเนื้อหาเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการรีเสิร์ชด้วย กว่าที่คนทำคอนเทนต์จะทำออกมาให้คนเข้าใจได้ง่าย ทำให้ส่วนใหญ่ข่าวที่เราเห็นจะเน้นให้เป็นไวรัล ซึ่งก็ถือว่าสร้างกระแสได้ดี แต่เราก็อยากเห็นข่าวในเชิงลึกเช่นกัน

ในฐานะคนที่บอกเล่าเรื่องราวการออกแบบเมืองที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งผ่านเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ โบ๊ทคิดว่าเราจะมีส่วนช่วยสร้างจิตสำนึกพลเมืองให้ดีขึ้นยังไง มีความตั้งใจยังไงกับเรื่องนี้

ตัวผมเองคิดว่าสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการสร้างอิทธิพลในการเปลี่ยนความคิดคนครับ เพราะเราไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่จะเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง แต่เราช่วยนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับคนได้ ยกตัวอย่างที่ทำเพจ JapanPerspective มา ก็มีหลายคนทักมาขอบคุณว่าได้ความรู้เอาไปใช้ในวิชาชีพตัวเอง มีคนหนึ่งเขาเป็นตำรวจจราจร เขาก็บอกว่าเขาได้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเส้นประนำทางตรงทางโค้ง ซึ่งญี่ปุ่นจะมีแทบทุกแยกเป็นปกติ เขาก็บอกว่าจะนำไปใช้ หรืออีกคนเป็นวิศวกร เขามาอ่านเรื่องเส้นทึบที่ให้รถหยุดก่อนถึงทางม้าลายที่ญี่ปุ่นซึ่งทำให้คนข้ามมองเห็นรถได้ไกลขึ้น หรืออีกคนเป็นดีไซน์เนอร์ ก็มาได้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องระบบป้ายบอกทาง เราในฐานะสื่อที่ส่งสารไปถึงคนหลายสาขาวิชาชีพ คิดว่าก็น่าจะช่วยได้บ้าง

หงุดหงิดใจไหมเวลาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ แล้วเรามองเห็นปัญหา แต่ไม่สามารถแก้อะไรเป็นรูปธรรมได้ ในฐานะพลเมืองกรุงเทพฯ คนหนึ่ง เราสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง

ผมว่าได้นะ ถ้ามองในระดับบุคคลก็เริ่มจากพฤติกรรมที่เราทำได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถทำได้ทันทีเลยนะ อย่างตัวอย่างที่เราคุยกันเรื่องทางม้าลาย ถ้าคุณเป็นคนขับรถ ต่อแต่นี้ไป ขับไปคุณก็ต้องระมัดระวังทางม้าลายมากขึ้นล่ะ ขับตาม speed limit จอดเบรกสนิทให้คนข้าม เป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนได้ทันทีแม้ว่าการออกแบบที่มีอาจจะยังแย่อยู่ และยุคนี้เราทุกคนเป็นสื่อได้อยู่แล้ว อาจจะเปิดเพจ เปิดช่องยูทูปบอกเล่าปัญหา หรือถ้าเราไม่อยากลงมือเปิดเองก็มีหลายช่องทางที่ให้ความช่วยเหลือ อย่างเพจ ‘เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์’ ที่ผมรู้จัก เราอาจจะถ่ายรูปปัญหาต่างๆ ส่งไปให้เขา ก็ได้เหมือนกัน

แต่ประชาชนธรรมดาทำคอนเทนต์แค่ไหน สุดท้ายแล้วจะเกิดอิมแพกต์จริงๆ ก็อยู่ที่ว่าคนรับสารเป็นใคร เราส่งสารไปถึงตัวเขาไหม และเขามีศักยภาพในการต่อยอดได้น้อยแค่ไหน ผมดีใจมากๆ ที่เมื่อเดือนที่แล้ว คุณชัชชาติเขาเพิ่งอ่านหนังสือผมแล้วชอบมากและโปรโมตลงเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา เลยคิดว่าสมมติในอนาคต ถ้าเขาได้เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จริง ก็อาจจะนำข้อมูลในหนังสือไปประยุกต์ในการพัฒนาปรับปรุงเมืองก็ได้ 

อย่างที่บอกไปว่าในการเปลี่ยนแปลงมันมี 3 ขาใช่ไหมครับ การออกแบบเมือง กฎหมาย และระเบียบวินัยของตัวเราเองด้วยเช่นกันที่จะต้องมีควบคู่กันไป สำคัญที่สุดคือเราเปลี่ยนที่ความคิดคนก่อน แล้วถ้าจะเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างให้เป็นรูปธรรมจริงๆ ต้องมีภาคส่วนที่มี authority เข้าไป 

ยุคสมัยที่เราทุกคนเป็นสื่อได้ บทสนทนากับปริพนธ์วันนี้ช่วยย้ำว่าคงดีไม่น้อย หากเราใช้สื่อทำหน้าที่บอกเล่า ส่งต่อ และร่วมกันกระทุ้งให้เกิดการพัฒนาจิตสำนึกพลเมืองจากตัวเรา ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ เพราะการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อยจากเสียงของเราเอง คือสิ่งที่สะท้อนว่าพลังและจิตสำนึกของพลเมืองสำคัญเพียงใดต่อการได้อยู่ในเมืองที่ออกแบบมาอย่างใส่ใจจริงๆ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS


Contributor