08/05/2020
Life

Back to (home-based) school : ในวันที่กลับไปโรงเรียนไม่ได้ คุยกับ อรรถพล อนันตวรสกุล

นาริฐา โภไคยอนันต์
 


เหลือเวลาอีกไม่เกิน 60 วันตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการในการเปิดภาคเรียนประจำปี 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

หลังจากที่เด็กนักเรียนได้หยุดเรียนตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ณ ตอนนี้การเรียนออนไลน์และการเรียนทางไกลถูกพูดถึงเป็นวงกว้างและเป็นหนทางแก้ปัญหาจากการเว้ยระยะห่าง แต่จริงๆ แล้วสถานการณ์การศึกษาเปรียบเหมือนคลื่นใต้น้ำที่กำลังรอการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน

การเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อจะเป็นอย่างไร รูปแบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนที่จะเข้าถึงเด็กทุกคน วิกฤตที่รออยู่จะเป็นโอกาสในการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาไทยเลยหรือไม่

วันนี้เรามาชวน ผศ.ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนพูดคุยว่าด้วยเรื่อง การปรับตัวระบบการศึกษาหลังจากสถานการณ์โรคระบาด

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อาจารย์ ตั้งมา 12 ปีแล้ว ภารกิจหลักตอนนี้

ทำหน้าที่ติดตามการศึกษาทั่วโลกว่ามีการเคลื่อนไหวยังไงบ้างที่การศึกษาจะมีส่วนในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและคุณภาพการศึกษาสำหรับทุกคนอย่างผู้ใหญ่จะสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้พลเมืองโลกเป็นอย่างไร เน้นการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ Quality Education For All

การศึกษาในประเทศไทยอยู่จุดไหน

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ การตัดสินใจมีความยืดหยุ่นน้อย ในด้านการศึกษาก็เช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้เรื่องความมั่นคงทางการเมืองมีส่วนสำคัญอย่างมาก อย่างเช่น ในอินโดนีเซีย มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ทำให้นโยบายด้านการศึกษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยตรงกันข้าม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการศึกษาในประเทศไทยมีความไม่ต่อเนื่องสูงเปลี่ยนไปตามผู้กำหนดนโยบาย และในช่วง 5 ปีที่ผ่านจะเห็นได้ว่าขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เป็นการบริหารจัดการเชิง top down ถึงแม้ก่อนหน้านั้นจะเป็นในเชิง top down แต่ประชาชน, สื่อมวลชน, ข้าราชการ หรือ คนทำงานยังสามารถส่งเสียงและแสดงความคิดเห็นกลับไปได้ แต่ในยุคนี้ การส่งเสียงสะท้อนกลับลดน้อยลงมาก

ดังนั้น ในหลายประเด็นไม่มีการรับฟังความคิเดห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากพอ และมันเรื้อรังอยู่ในระบบการศึกษา เช่น ข้าราชการในกระทรวงคุ้นชินกับวัฒนธรรมการรับฟังคำสั่ง และยังขาดเสียงของประชาชน สังคม หรือสื่อมวลชนในการช่วยส่งเสียง อำนาจในการต่อรองยิ่งลดน้อยลง จนทำให้ข้าราชการเป็นฝ่ายตั้งรับคำสั่งอย่างเดียว วิกฤตโควิดจึงเป็นปัญหาและความท้าทายสำคัญของระบบการศึกษาไทยที่กลุ่มข้าราชการ ผู้บริหารโรงเรียน ต้องลุกขึ้นมารับมือ และตัดสินใจที่ต้องรอบคอบ คำนึงถึงความหลากหลาย 

กระทรวงศึกษาธิการมีเวลาเพียงพอในการบริหารจัดการด้านการศึกษาในช่วงโควิดหรือไม่ 

มีสัญญาณ 2 เรื่อง ผมเห็นทั้งด้านบวกและลบของการเลื่อนเปิดเทอม ที่เลื่อนไปเปิด 1 กรกฎาคม 2563 ในมุมนึงก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะเป็นการซื้อเวลาแต่อีกมุมหนึ่งเมื่อนึกถึงระบบโรงเรียนในประเทศไทย การเตรียมพร้อมทุกอย่างภายใน 15 วัน เพื่อจะเปิดตามกำหนดเดิม คือ 15 พฤษภาคม 2563 ก็คงน้อยเกินไปเพราะความกังวลหลักของเด็กที่ไปโรงเรียนคือ การที่เด็กจะมารับเชื้อและไปเป็นพาหะติดผู้สูงอายุภายในบ้าน ถ้าอย่างนั้น 2 เดือนที่เลื่อนจะเตรียมรับมือยังไง

จากที่กระทรวงฯ แถลงเมื่อ 30 เมษายน ทุกอย่างคือการสั่งการให้แต่ละโรงเรียนดำเนินงานตามนโยบาย รวบรวมข้อมูลและเขียนรายงานกลับมา หากกระทรวงยังทำงานและคิดแบบนี้จะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาแต่เป็นการนำเอาสิ่งที่กระทรวงสั่งไปทำและกลับมารายงาน แล้วอะไรที่สั่งแล้วไม่ทำไม่ต้องรายงาน เช่น การเรียนทางไกลผ่านโทรทัศน์ เรียนออนไลน์มาใช้ในการเรียน จนเกิดภาวะหน้างานต้องดิ้นรนกันเอง ไม่ต่างกับที่เคยเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลที่หมอ พยาบาลต้องมาตัดชุด เย็บหน้ากากกันเอง แต่กำลังจะไปเกิดขึ้นที่โรงเรียนเมืองไทยเพราะโรงเรียนจำนวนหนึ่งเริ่มสำรวจและรู้ว่านักเรียนเค้าไม่สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ได้ เพราะช่องว่างดิจิทัลที่กว้างมาก

แน่นอนที่โรงเรียนต่างจังหวัดมีปัญหาอยู่แล้วเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ไปไม่ถึง แต่โรงเรียนในเมืองเองก็ไม่สามรถการันตีได้ว่าเด็กจะเข้าไปเรียนในแพลตฟอร์มได้ อย่างการเรียนในระบบซิงโครไนซ์ (Synchronous) ที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เช่น โปรแกรม Zoom, Microsoft Team สัญญาณอินเตอร์เน็ตต้องดีมาก ลองคิดดูว่า ถ้าเด็กอาศัยอยู่ในคอนโด ใช้อินเตอร์เน็ตกัน 4 คนในบ้าน พ่อแม่ทำงานที่บ้าน ลูกใช้เรียน สัญญาณเน็ตที่ใช้พร้อมกันไม่เสถียรพอที่จะให้ลูกนั่งเรียนทั้งวันและโต้ตอบกับโรงเรียน ยิ่งเด็กฐานะยากจนในเมืองยังใช้ระบบเติมเงินเป็นรายครั้ง การที่จะใช้มือถือเรียนออนไลน์เป็นไปไม่ได้เลย    

ครูที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

จากการสั่งการเรื่องออกแบบวิธีการเรียน เด็ก ม.ปลายให้ดูคลิป มีรายงานให้ทำ มีออนไลน์คุยกับคุณครู หรือแม้แต่เด็กมัธยมต้นและประถมให้ดูโทรทัศน์ ทั้งในรูปแบบ On Demand อินเตอร์เน็ต ซึ่งหลายบ้านยังเข้าถึงไม่ได้เพราะไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่ทีวีดิจิทัล บางหมู่บ้านยังเข้าต่อดิจิทัลไม่ได้ การที่จะเปิดทีวีดิจิทัล 17 ช่อง เพื่อให้เด็กเรียน คำถามคือ ถ้าในครอบครัวมีลูก 4 คน แต่มีทีวีเครื่องเดียวจะทำยังไง 

Remote Learning New Normal การศึกษาไทย

การเรียนจะไม่ใช้คำว่า การเรียนออนไลน์ (Online learning) แต่เป็นการเรียนทางไกล (Remote learning) ที่รวมทั้งการเรียนออนไลน์และออฟไลน์จะถูกนำมาออกแบบให้เหมาะสมและยืดหยุ่น ที่ไม่ใช้การเรียนออนไลน์อย่างเดียวเพราะจากการทำสำรวจออนไลน์คนที่เข้าไปตอบคือเด็กที่สามารถออนไลน์ได้แล้ว แต่ถ้าจะสำรวจให้ครอบคลุม คือการไปสำรวจโรงเรียนที่แตกต่างกันซึ่งมีหลายบริบทมากๆ แล้วดูว่าเด็กในโรงเรียนจำนวนเท่าไหร่ที่เข้าไม่ถึงออนไลน์ 

หากดูจากสถานการณ์ความต้องการที่จะควบคุมการระบาด การพยายามลดการไปโรงเรียนให้น้อยที่สุดของโรงเรียนยังจำเป็น เพราะเด็กจะเป็นพาหะ ลองนึกถึงโครงสร้างประชากรต่างจังหวัดในเมืองไทย คนที่อยู่กับเด็กที่บ้านคือ ปู่ย่า ตายาย ผู้สูงอายุ เพราะพ่อแม่ไปทำงานกันหมด จะกลายเป็นเด็กเอาเชื้อมาติดเป็นอันตรายมากขึ้น อย่างสิงคโปร์ที่เปิดไปแล้วมีการระบาดอีกระลอกเค้ามีการตัดสินใจที่รวดเร็ว รีบสั่งปิดทัน หรือแม้แต่ การมี Home Based Learnig ในฐานคิดที่ว่าสิงคโปร์มีทุกอย่างพร้อม เพราะเค้ามีการทำงานด้านสื่อการเรียนการสอน คลิปการเรียนการสอน รูปแบบการสอนของคุณครู มีความยาวไม่มาก มีแนวคิดที่ให้เด็กใช้เวลาที่โรงเรียนน้อยลง มาเป็นการเรียนรู้ที่มาเจอกับเพื่อน สังคม แต่เนื้อหาทฤษฎี เรียนที่บ้านได้ สิงคโปร์ทำมาตั้งแต่ปี 2009 มีต้นทุน ทรัพยากรการศึกษาที่สนับสนุนให้เด็กเรียนที่บ้านอยู่แล้ว แค่ต้องบริหารจัดการให้ดี การดำเนินงาน home based ไม่ใช่คิดแล้วทำได้เลย 

แต่ไทยเป็นเรื่องยากเพราะประเทศไทยมีต้นทุนจำกัดมาก อย่างมากเรามีการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ซึ่งบรรยากาศแห้งแล้ง เช่น คุณครูเขียนกระดานหรือบนไวท์บอร์ดแล้วคุยกับเด็กซึ่งเทียบกันไม่ได้ เพราะเมื่อออกแบบให้เด็กเรียนเอง ช่วงความสนใจของเด็กมีแค่ 10-15 นาที แต่ตอนนี้กลายเป็น 50 นาทีที่เด็กต้องนั่งฟัง หรือเริ่มมีบางกลุ่มทำ 30 นาที แล้ว ความปกติใหม่ของการศึกษาจะขรุขระมาก อยู่ที่ว่าผู้ปกครองเชื่อมโยงกับโรงเรียนมากแค่ไหน 

โรงเรียนชายขอบ ผู้มีประสบการณ์ 

ด้วยบริบทของเด็กชายขอบหรือชาติพันธุ์จะมีความคุ้นเคยกับการเรียนทางไกล อย่างตอน ฤดูน้ำหลาก เข้าออกหมู่บ้านไม่ได้ การเรียนจะปรับเป็นคุณครูเอาชุดการเรียนรู้เป็นกล่องขึ้นไปให้อาทิตย์ละครั้ง มีชุดกิจกรรม ให้เด็กโตสอนเด็กเล็ก ค่อนข้างมีต้นทุนการเรียนทางไกลมาตลอด ทั้งคุณครูที่มีการออกแบบรายงาน แบบฝึกหัด เด็กโตก็จะช่วยสอน คุณครูจะเข้ามาเป็นช่วงๆเพราะต้องตระเวนสอนหลายหมู่บ้าน

ซึ่งนวัตกรรมแบบนี้ต้องใช้ bottom up การรับคำสั่งจากข้างบนจะไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นมาได้ ตอนนี้จะกลายเป็นว่าโรงเรียนที่อยู่ไกลจากอำนาจของส่วนกลางจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ในช่วง 8 เดือนต่อจากนี้สังคมจะเห็นวิธีการเอาตัวรอดของแต่ละโรงเรียนที่จะไม่เหมือนกันเลย 

ช่องว่างดิจิทัลสู่ช่องว่างทางการศึกษา

อย่างโรงเรียนในเมืองที่พ่อแม่มีกำลังสนับสนุน จะไปในทิศทางดิจิทัลแพลตฟอร์มแบบเต็มรูปแบบ ซื้อโปรแกรมมาใช้ หรือพัฒนาขึ้นมาเอง เพราะพ่อแม่มีกำลังทรัพย์จ่าย ในขณะเดียวกันโรงเรียนที่พ่อแม่และโรงเรียนไม่สามารถสนับสนุนได้จะเกิดความเหลื่อมล้ำ ความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นในการศึกษาจะทำให้ สังคมจะเห็นช่องว่างนี้ชัดเจนมาก หน้าที่ของสังคมคือ ต้องถมช่องว่างความเหลื่อมล้ำการศึกษา การที่คิดเพียงแค่อุปกรณ์ (Hardware) อย่าง tablet เพียงอย่างเดียวไม่ได้

การอยู่ในเมืองใหญ่ไม่ได้สะท้อนคุณภาพการศึกษาที่ดีเพราะในเมืองมีเด็กที่อยู่ในเงาเยอะมากที่การศึกษาเข้าไปไม่ถึงอย่างเด็กในชุมชนย่านคลองเตยผู้อำนวยการโรงเรียนรู้เลยว่าเด็กเค้าเรียนออนไลน์ไม่ได้ เพราะที่บ้านไม่มีอินเตอร์เน็ต มือถือที่ใช้มีฟังก์ชั่นการใช้งานเพียงแค่การส่งไลน์ เฟซบุ๊ก รับคิวงาน เพราะเด็กกลุ่มนี้ในช่วงปิดโควิดก็ไปรับทำงานพิเศษ อย่างการส่งอาหารเดลิเวอรี่ของเด็กมัธยม เพราะเค้าต้องทำงาน พ่อแม่ตกงานเป็นลูกจ้างรายวัน เกิดการที่ต้องเลือกระหว่างนั่งเรียนออนไลน์ที่บ้านกับการออกไปขี่รถส่งอาหารได้เงิน

New Normal คือการออกแบบหลักสูตร

เปลี่ยนวิธีการในการออกแบบหลักสูตรที่จะบังคับให้เด็กเรียนเหมือนกัน ต้องเป็นการยึดโยงชีวิตเด็ก เป็นผู้เรียนรู้ที่นำตนเอง (Self-directed Learner) ให้มากที่สุด การที่จะมีอันนี้ต้องมีแรงบันดาลใจ แรงกระตุ้นว่าเรียนเพื่ออะไร ถ้ายังอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาที่เด็กไม่เข้าใจว่าเรียนไปทำไม ไม่เกี่ยวกับชีวิตเค้า แต่ต้องเปลี่ยนเป็นการออกแบบหลักสูตรที่มีความหมายกับชีวิตเค้า การมอบหมายงาน ออกแบบหลักสูตรที่ยืดหยุ่นพอสมควร ตอนนี้ในรายงานนานาชาติรายงานว่าเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเยอะมากแม้แต่ในระดัมหาวิทยาลัยเพราะเด็กไปทำงานพิเศษไม่ได้

ในประเทศไทยยังไม่ได้เห็นผลกระทบการศึกษาเต็มๆ เพราะเป็นช่วงที่ปิดเทอมพอดีในขณะที่หลายประเทศเป็นตอนช่วงกลางของภาคการศึกษา ต้องปรับเปลี่ยนทุกอาทิตย์ ที่ไทยตอนนี้ยังนิ่ง มีเวลา 2 เดือน แต่ยังไม่ทำอะไร ยังมีโรงเรียนที่เชื่อว่า 1 กรกฎาคม การเรียนจะกลับไปเป็นปกติมาเจอที่โรงเรียนได้ ยังมีความคิดเรื่องว่า จะเตรียมแผนสองทำไม รัฐบาลบอกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงแล้ว เพราะฉะนั้น ความไม่แน่นนอนที่กระทบโรงเรียน และทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่สะสมเป็นต้นทุนทางปัญหาจะยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนึงหลุดจากระบบการศึกษาออกไป

ถ้าโรงเรียนเปิดใจให้เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กแตกต่างกันได้โดยยังมีเป้าหมายเหมือนกัน ยืดหยุ่นตามสมควรโดยเอาวิถีชีวิตของเด็กที่บ้านเป็นตัวตั้ง ก็ยังพอรักษาเด็กให้อยู่ในระบบการเรียนรู้ต่อไปได้

เข้าถึงได้ไม่ได้แปลว่า ‘พร้อม’ เรียนออนไลน์

จากผลสำรวจของรัฐที่ออกมาเปิดเผยว่าเด็กมัธยมปลายเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้กว่า 90% เกิดการตั้งคำถามว่า การเข้าถึงออนไลน์อย่างการเล่นเฟซบุ๊ก กับการเรียนออนไลน์ไม่เหมือนกัน การใช้โปรแกรม การดาวน์โหลดเครื่องมือ บทเรียน อย่างเด็กมหาวิทยาลัยก่อนที่มหาวิทยาลัยจะส่งซิมมือถือไปช่วยก็เกิดปัญหาเช่นกัน เด็กที่พักในหอพักมหาวิทยาลัยสามารถใช้อินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยได้ แต่เมื่อเค้าต้องกลับไปอยู่ที่บ้าน บ้านไม่มีอินเตอร์เน็ต การที่คิดว่าแค่มีมือถือก็เรียนได้แล้ว อันนี้เป็นความคิดที่ผิดมาก การเรียนออนไลน์ต้องใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต เครื่องมือการเรียนอย่างมือถือที่ต้องมีความจุพอที่ต้องดาวน์โหลดเนื้อหา อย่างใน power point ที่มีรูปภาพ ก็ต้องใช้การดาวน์โหลด ต้องมีความจุ ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ถ้าการทำงานที่ตั้งตัวเลขไว้ เช่น ชั่วโมงสอน ก็จะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริงกับโรงเรียน 

ตอนนี้สังคมยังไม่เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระบบการศึกษา ยังไม่ถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ยังคิดว่ารับมือได้ มีนโยบายแล้ว แต่อีก 2 เดือนเมื่อโรงเรียนเปิดจะเริ่มมีเสียงสะท้อนมากขึ้น โดยเฉพาะกับชนชั้นกลางที่เสียงจะดังกว่าและตอนนั้นกระทรวงจะต้องรีบแก้ไข อาจจะเป็นเรื่องตารางการสอน การทำการบ้านที่ออนไลน์ ใครจะเป็นคนช่วยทำ แต่นโยบายที่ไม่ได้ฟังเสียงคนอื่นมากพอเนี่ยจะทำให้เกิดปัญหา 

ความพร้อมที่ไม่เท่ากัน 

ตอนนี้เด็กทั้งในเมือง นอกเมือง มีความพร้อมที่ไม่เท่ากัน อย่างเด็กบนเขา หรือโรงเรียนที่พึ่งพาตนเองเป็นหลักอยู่แล้ว อาจจะพร้อมมากกว่า เพราะมีประสบการณ์ต้นทุนในปัญหาอยู่แล้ว และเด็กก็มีความคุ้นชินกับความไม่แน่นอน และปรับตัว ยืดหยุ่นได้มากกว่า

ในขณะที่เด็กในโรงเรียนใหญ่ในเมืองอาจจะปรับตัวได้ยากกว่า เพราโรงเรียนใหญ่ระดับ 3-4 พันคน ไม่ได้แปลว่าทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเท่ากัน เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองแต่เดิมมีทรัพยากรเยอะ เด็กจำนวนมาก  อาจจะคิดว่าใช้กูเกิ้ลคลาสรูม แต่เมื่อเปิดเทอมจะมีเด็กที่หลุดจากการศึกษา เพราะถ้าโรงเรียนเลือกใช้แพลตฟอร์มที่สูงมากๆ จะมีเด็กที่ต้องพยายามหาคอมพิวเตอร์มาใช้ ซึ่งเด็กชานเมืองไม่ได้การันตีเลยว่าจะมีคอมพิวเตอร์ใช้และที่บ้านแต่ละครอบครัวมีลูกกี่คนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ 

จากการสำรวจของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่ไปถามว่าที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ใช้ไหม แล้ว ตอบกลับมา เด็กอาจจะตอบตามความรับรู้ในการใช้โซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ก ก็เร็วปกติ แต่การอยู่ในห้องคำถามคือ ดาวน์โหลดได้กี่เมกะไบต์ เพราะข้อมูลที่สำรวจเนี่ยไมได้อยู่บนข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่เป็นจริง

นอกจากนี้บางครอบครัว เด็กได้รับแรงกดดัน เช่น ตัวเองนั่งเรียนออนไลน์ ในขณะที่พ่อแม่นั่งทำกับข้าวขาย แพคอาหารอยู่ข้างหลัง เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ช่วยครอบครัว กำลังนั่งเรียนอะไรก็ไม่รู้ หรืออย่างเด็กประถม มัธยมจะมีปัญหามาก ภาวะทางอารมณ์ สังคม จะเกิดปัญหามาก ด้วยวัยที่เป็นวัยรุ่น การไม่ได้เจอเพื่อน จะเป็นปัญหาหนัก เพราะอย่างเด็กประถมเป็นวัยที่ต้องได้เล่นกับเพื่อน การที่ไม่ได้เจอเพื่อนเลยจะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่เด็กอนุบาล  คุณครูก็เริ่มคิดว่า อาจจะต้องพาเด็กมาโรงเรียนก่อน เพื่อให้ทำความรู้จักกับคุณครู รู้ว่าคุณครูเป็นใคร หน้าตายังไงสร้างความสัมพันธ์และคุ้นเคยก่อน เพราะคุณครูจะฝากการบ้าน เด็กจะได้นึกภาพคุณครูก่อน แต่ก็เกิดคำถามว่า ถ้าเด็กมาโรงเรียน จะไม่ให้เด็กเล่นกันเป็นไปไ่ม่ได้เลย นี่เด็กจะเว้นระยะห่างกับเพื่อน 

Home – Based – Learning

อย่างโรงเรียนขนาดเล็กที่ทำงานด้วย มีนักเรียนอยู่ 200 คน ผู้อำนวยการนำข้อมูลมาเลยว่ามีกี่ครอบครัว นำมาประเมินว่าครอบครัวไหนเป็นพี่น้องกัน จะให้เด็กโตช่วยดูเด็กเล็ก และจะเริ่มเข้าชุมชนไปดูที่บ้านว่ามีผู้ใหญ่ดูแลไหม ดังนั้น ถ้าโรงเรียนไหนมีวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันทั้งผู้นำและคุณครูจะยังไปได้ ส่วนกลางควรปล่อยให้โรงเรียนตัดสินใจเอง ให้อิสระในการดำเนินงาน เพราะในภาวะนี้โรงเรียนก็หาทางออกอยู่แล้ว แต่ถ้ายังต้องพะวงกับภาระงาน เขียนรายงานกลับไปยังเป็นการเพิ่มภาระให้ทุกคน

พ่อแม่ไม่ได้อยู่บ้าน

อันนี้คือโจทย์ใหญ่มาก ตามปกติจะมีพ่อแม่ 3 ประการ คือ พ่อแม่ที่พร้อมอยู่กับลูก พร้อมช่วยลูกในการศึกษา จะมีความกระตือรือร้นที่จะช่วยลูก แบบที่สอง คือ พ่อแม่ที่อยากช่วยลูกแต่อาจจะช่วยไม่ได้ทั้งความต่างภาษาของพ่อแม่ หรือการบ้านที่ยาก และกลุ่มที่ 3 คือ อยากช่วยแต่ต้องไปทำงาน หลายประเทศจึงคิดระบบช่วยเหลืออย่าง Child – care Center สำหรับเด็กเล็ก ศูนย์รับเลี้ยงเด็กในชุมชน เพราะพ่อแม่ไม่สามารถหยุดอยู่บ้านได้ โรงเรียนในสิงคปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี ก็จะมีแบบนี้เช่นกัน

ดังนั้น สมมติในย่านมีอยู่ 6 โรงเรียน จะมีโรงเรียนหนึ่งที่เปิดขึ้นมาเพื่อดูแล Student – care Center ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กที่มาจะลดจำนวนลงที่ต้องมาที่นี่ คือ ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่สามารถดูแลที่บ้านได้จริงๆ พ่อแม่สามารถพาลูกมาไว้ที่นี่ แต่เด็กยังต้องเป็น Self – directed Learner เรียนด้วยตนเอง ยังมีคุณครูอยู่ด้วย เช่น ทำการบ้านครบไหม ระหว่างวันดูแล ทำงานตามที่สั่งครบไหม มันยังต้องมีหน่วยงานสนับสนุน ที่ยังไม่มีการพูดคุยกัน เพราะพ่อแม่จำนวนนึงจะเจอปัญหานี้ สมมติว่า 1 มิถุนายน พ่อแม่กลับไปทำงาน แล้ว 1 กรกฎาคม เด็กจะอยู่บ้านยังไง ถ้าต้องเรียนที่บ้าน อันนี้เป็นโจทย์ที่ต้องคุยกัน บริษัพ่อแม่จะยังให้ work from home รึป่าว ใครจะเสียสละอยู่บ้านกับลูก ถึงแม้จะมีพ่อแม่บางคนที่ทำงานจากที่บ้านได้  (work from home)  แต่พ่อแม่ก็ต้องทำงานของตัวเองในขณะที่ลูกนั่งเรียนอยู่หน้าคอม การแบ่งเวลาระหว่าง งานตัวเองและดูแลลูกก็จะเป็นปัญหา สำหรับชนชั้นกลางในเมืองที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้พร้อมแบบนี้

ตอนนี้ยังคลื่มลมสงบ เด็กยังไม่เปิดเทอม แต่ก็เริ่มมีเสียงบ่นแล้วจากพ่อแม่ที่เห็นตารางเรียนลูก เช่น นั่งดูวิดีโอ 5 ชั่วโมง นี่คือกรณีโรงเรียนเอกชนที่จะเปิดเทอม 18 พฤษภาคมนี้ เพราะพ่อแม่เอกชนเป็นผู้บริโภคที่คาดหวังการบริการของโรงเรียน 

ชุมชน คือ ต้นทุนที่สำคัญที่สุด

ตอนนี้ชุมชนถูกมองข้าม แต่จริงๆ เป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดในด้านการศึกษา เทียบกับการสาธารณสุข มี อสม. ตอนนี้เป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่สำคัญที่สุด ในการดูแลคนที่ไปเคาะประตูบ้าน แต่ประเทศไทยไม่เคยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในด้านการศึกษา มีแต่ด้านสุขภาพที่ตอนนี้คุยกับชาวบ้านเพราะชาวบ้านคุยกันรู้ถึงกันหมด แต่การศึกษาทุกอย่างดึงไปที่โรงเรียน อย่างที่กระทรวงบอกให้คุณครูเยี่ยมบ้านเด็ก ลงชุมชนทุกคน ตกลงคุณครูคนนึงต้องทำกี่อย่าง ทั้งอัพโหลดข้อมูลออนไลน์ ทำแพ็กเกจการเรียนรู้ส่งเด็ก ต้องเยี่ยมบ้านเด็ก แต่จริงๆ เรามีพลังของชุมชนอยู่ มีหลายกลุ่มที่เริ่มทำแล้ว เช่น กล้าก้าว ที่พี่ๆ ไปช่วยดูแลเด็กๆ ในชุมชน พลังชุมชนสำคัญมากแต่เราไม่มีศูนย์กลางชุมชน (Community center) จริงๆ หรืออย่างวัดก็ไม่ได้มีบทบาทนี้มานานแล้ว

แต่เด็กในชุมชนเมืองก็ยากกว่าเพราะมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยมาก อย่างเด็กในคอนโด ยังขาดพื้นที่ที่จะมีคนช่วยดูแล เพราะเมืองซับซ้อนความสัมพันธ์ห่างกัน พอไม่เคยได้ใกล้ชิดก็จะยากกว่า

การออกแบบเมือง, Community Project และ พื้นที่สาธารณะ

การออกแบบเมือง คือการออกแบบชีวิตร่วมกัน ทั้งพื้นที่ทางกายภาพที่มองเห็นและที่มองไม่เห็นแต่ก็มี

นวัตกรรมทางสังคม อย่าง Saturday school ก็เป็นระบบอาสาของหนุ่มสาวที่มาสอนวิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอนในวันธรรมดาจนเกิดพื้นที่ความรู้สึกที่ยึดโยงกันกับโรงเรียนหรือชุมชนที่ทำงานด้วย ความสัมพันธ์คนในเมืองก็ต้องมีการออกแบบ ความสัมพันธ์ด้วย 

community project เปลี่ยนจากพี่ไปสอนน้อง เป็นน้องพาพี่ออกไปดูชุมชน อย่างลงไปทำแผนที่ชุมชน ในเมืองใหญ่หลายเมืองยังขาดทั้งพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางสังคม คนที่มาจากคนละพื้นเพ มาเรียนรู้ร่วมกันในพื้นที่เดียวกันด้วยเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน เป็นนวัตกรรมมทางสังคมที่เชื่อมคนให้อยู่ด้วยกัน ตอนนี้ยังขาดการเชื่อมต่อกันที่จะยึดโยงคนไว้ด้วยกัน ทั้งๆ ที่อยู่ในพื้นที่ติดกัน พื้นที่ในเมืองเชื่อมคน

แนวคิดเรื่องการออกแบบเมืองที่สำคัญ คือ การมีพื้นที่สาธารณะร่วมกัน ในทุกประเทศผลักดันเรื่องนี้หมด พื้นที่สาธารณะทำให้คนในสังคมมาใช้ร่วมกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้พื้นหลังของแต่ละคน ต่างจากการไปห้างสรรพสินค้า การเพิ่มพื้นที่สาธารณะจะช่วยเชื่อมคนในเมืองเข้าหากัน ในหลายเมืองจะมีลานเทศบาลที่คนทุกกลุ่มสามารถไปทำกิจกรรมได้ ทั้งชมรมผู้สูงอายุ ชมรมวัฒนธรรม พื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่วิ่งเล่นของเด็ก พื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานร่วมกันได้จะช่วยเชื่อมโยงคนในสังคมเข้าหากัน

ถ้าอาจารย์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ หรือมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารอย่างเต็มที่ อาจารย์จะทำอะไรก่อน

ปัญหาโควิด – 19 ต้องการความเร่งด่วนในการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ต้องเคารพการทำงานของโรงเรียนเพราะแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน และต้องสร้างความรู้สึกร่วมกัน ทั้งจากโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง ครอบครัว สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ คุณครูที่อยู่กับเด็กจะรู้ดีที่สุดว่านักเรียนเป็นอย่างไร ความร่วมมือไม่ได้หมายถึงเพียงทุนทรัพย์ แต่หมายความถึงการร่วมสอดส่องดูแลเด็กๆ  ตอนนี้

หัวหน้า ผู้อำนวยการของแต่ละสถาบันการศึกษามีความสำคัญ จุดสำคัญอยู่ที่ผู้นำองค์กรของโรงเรียน จริงๆ ประเทศไทยมีครูที่เก่งไม่แพ้หมอ แต่ถูกทำให้ไม่เก่งด้วยการรับคำสั่งอย่างเดียว คุณครูบางคนยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ดังนั้นต้องสนับสนุนให้ผู้นำของแต่ละสถานศึกษาร่วมมือทำงานกับคุณครูและชุมชนเพราะเป็นผู้ที่รู้จักนักเรียนดีที่สุด รวมถึงการออกแบบการเรียนรู้ที่เอาผู้เรียนเป็นที่ตั้งโดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม


Contributor