06/10/2020
Life

ภาพย่านเก่าในโลกยุคใหม่ ผ่านสายตาของ ‘เฮียเสก’ เจ้าของตำรับขนมจีบต้มแห่งย่านกะดีจีน-คลองสาน

อรุณวตรี รัตนธารี
ภาพคุณเสก เจ้าของร้านขนมจีบต้มย่านกะดีจีน คลองสาน  


            สำหรับคนยุคนี้คงเป็นเรื่องยากจะจินตนาการถึงการอยู่อาศัยในพื้นที่สักที่นานหลายสิบปี แต่ถ้าย้อนมองกลับไป จะพบว่าในสังคมเรายังมีคน ‘อยู่ติดที่’ ในความหมายว่าทั้งผูกพันกับสถานที่และมีวิถีชีวิตสอดคล้องกับตำแหน่งแห่งที่ที่พวกเขาใช้ชีวิตมาตั้งแต่เกิด คุณเสก หรือเฮียเสก-นัทธวัฒน์ กิตติวณิชพันธุ์ ของคนย่านกะดีจีนคือหนึ่งในนั้น ด้วยเขาเติบโตในครอบครัวชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว ในบ้านไม้หลังกะทัดรัดติดกับวัดกัลยาณ์ที่เปลี่ยนด้านล่างเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดรสเด็ด ครอบครัวที่ถ่ายทอดสูตรความอร่อยให้เขาจนกลายมาเป็นอาชีพทุกวันนี้

            ปัจจุบันเฮียเสกเป็นเจ้าของกิจการ ‘ขนมจีบต้มเฮียเสก’ ขนมจีบต้มเจ้าแรกในประเทศไทย เนื่องจากสูตรที่ใช้นั้นเป็นสูตรประจำตระกูลของเขาเอง “จริงๆ มันเป็นสูตรที่ครอบครัวทำกินกันมานานแล้ว เป็นขนมจีบต้มเนื้อแน่นๆ ที่ไส้จะรสจัดจ้านหน่อย เป็นตำรับของชาวแต้จิ๋ว แต่เราก็เอามาปรับสูตรให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น พอทำกินกันในบ้านบ่อยเข้า ก็เริ่มอยากลองขาย สุดท้ายก็กลายเป็นกิจการครอบครัวมาจนวันนี้” และไม่ใช่เพียงกิจการธรรมดา แต่เรียกว่าเป็นกิจการหนึ่งที่เป็นหน้าเป็นตาของย่าน กะดีจีน-คลองสาน ก็ว่าได้ เพราะนอกจากขนมจีบต้มสูตรเฮียเสกจะโด่งดังขนาดต้องโทรสั่งจอง ขนมจีบต้มเจ้านี้ยังช่วยทำให้เรารู้จักย่านนี้ได้อย่างลึกซึ้งขึ้นด้วย

            “เมื่อก่อนย่านนี้ของกินเยอะกว่านี้มาก ยิ่งในยุคที่ยังไม่ตัดถนนจะมีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือมาขายกับข้าวกับปลาในคลองกันเต็มไปหมด บนทางเท้าก็มีคนหาบของขาย มีอาหารให้เลือกไม่หวาดไม่ไหว” เขาย้อนความหลังให้เราฟังทั้งรอยยิ้ม ก่อนเล่าประสบการณ์สมัยวัยเด็กเมื่อครั้งยังอาศัยอยู่ในบ้านไม้ใกล้วัดกัลยาณ์ให้ฟังว่า ละแวกท่าน้ำหน้าวัดกัลยาณ์เป็นแหล่ง ‘มะม่วงอร่อย’ อย่างที่บางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน “สัก 40-50 ปีก่อน ถ้าใครอยากกินมะม่วงอร่อยต้องมาแถววัดกัลยาณ์ ช่วงฤดูมะม่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์จะมีเรือล่องมาจากดำเนินสะดวก จอดขายมะม่วงบริเวณปากคลองบางหลวงกันเป็นร้อยลำ เพราะเมื่อก่อนไม่มีตลาดผักผลไม้ใหญ่ เหมือนทุกวันนี้ เป็นอันรู้กันว่าใครอยากกินมะม่วงต้องมารอซื้อแถวหน้าวัดกัลยาณ์” เฮียเสกเล่าเรื่อยๆ ระหว่างชวนให้เราชิมขนมจีบต้มตำรับประจำบ้าน ก่อนเสริมถึงบรรยากาศของย่านในวันวานให้เราฟังอย่างออกรสไม่แพ้กัน

            “คลองเป็นเหมือนเส้นเลือดฝอยของย่านก็ว่าได้ อย่างคลองบางหลวงเองสมัยก่อนกว้างขนาดเรือสามารถพายสวนกันและคลองเชื่อมชุมชนเข้าด้วยกันได้หมด บางวันก็พายจากฝั่งวัดกัลยาณ์ทะลุไปแถววัดบุพผาราม ทำให้คนในชุมชนแถบนี้รู้จักกันหมด” เฮียเสกเสริมว่าความเป็นชุมชนอาจคือความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้เอง อย่างที่ในวัยเด็กเขามีเพื่อนครบทั้ง 3 ศาสนา ที่แม้ความเชื่อหรือวิถีชีวิตต่างกัน แต่รู้สึกเป็นคนบ้านเดียวกัน

            จากภาพความทรงจำย่านผ่านสายตาของเจ้าของบ้าน เราถามเขาต่อถึงความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในฐานะคนที่เกิดและโตในพื้นที่ เขามองความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร มีความเป็นไปได้ไหนที่เขาอยากเห็นในอนาคต

            “การพัฒนาย่านมีอยู่เรื่อยๆ ซึ่งในสายตาคนข้างใน การพัฒนาเป็นเรื่องดีอยู่แล้วล่ะ ถึงจะมีความเป็นห่วงอยู่บ้าง ในเรื่องการมองภาพรวมให้ตรงกันระหว่างองค์กรศาสนา คนในย่าน และนักพัฒนา แต่ในท้ายที่สุดถ้าการพัฒนาทำให้ย่านมีชีวิตชีวามากขึ้นก็ย่อมเป็นเรื่องดี เร็วๆ นี้เราและประชาคมคนในย่านกำลังคิดอยากจัดตลาดนัดชาวย่านทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อต่อยอดให้รับกับการใช้ทางเดินลอยฟ้าบนสะพานพระปกเกล้า คิดว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนน่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง” ชายวัยกลางคนยิ้ม ก่อนย้ำชวนให้เรามาเยือนตลาดชาวย่านให้ได้ เพราะนอกจากสินค้าและอาหารจากชาวย่านแล้ว สิ่งที่เราจะได้พบคือความมีชีวิตชีวิตฉบับชาวย่าน แบบที่คนรุ่นใหม่อย่างเราอาจไม่ทันเห็นหรือสัมผัสเท่ากับเจ้าบ้านผู้ใช้ชีวิตอยู่ในย่านเก่ามาตั้งแต่เกิดคนนี้


Contributor