06/10/2020
Life

ไมล์สโตนความสำเร็จในการพัฒนาย่านกะดีจีน-คลองสาน ของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

อธิวัฒน์ อุต้น
 


จากสะพานด้วนมาจนถึงสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ใช้เวลาเดินทางกว่า 30 ปี สถาปัตยกรรมทิ้งร้างจึงแล้วเสร็จเป็นสะพานข้ามแม่น้ำให้ผู้คนเดินได้ในวันนี้ 

“ในการก่อสร้างเราก็ดูกันอยู่ทุกวัน มันอยู่ตรงนี้ มันเป็นความหวังของชาวบ้าน” ศาสตราจารย์ ดร.พระพรหมบัณฑิต  เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พูดถึงการเกิดขึ้นของสวนลอยฟ้า 

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ทางฝั่งธนบุรี เป็นโบราณสถานที่ใครผ่านไปปากคลองตลาดหรือข้ามสะพานพุทธจะต้องมองเห็น พระบรมธาตุมหาเจดีย์สีขาวเด่นเคียงคู่ริมน้ำเจ้าพระยา นอกจากเป็นมรดกทางโบราณสถานแล้ว ยังเป็นแกนหลักสำคัญในการเชื่อมหน่วยงานราชการ เชื่อมชุมชน เชื่อมศาสนสถานในละแวก เชื่อมโรงเรียนและจากอีกหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนา เปลี่ยนแปลง ให้เกิดความยั่งยืนในย่านกะดีจีน-คลองสานเสมอมา 

หลักวิธีคิดเช่นนี้ทำให้ ในปี 2556 วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากโครงการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย และแปซิพิค (ยูเนสโก) 

มาในปี 2563 สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาที่ทอดเชื่อมระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งโครงการที่วัด ศาสนสถาน ชุมชน ราชการ โรงเรียน หน่วยงานจากรัฐและเอกชนทุกฝ่ายต่างได้มีส่วนร่วมทำให้สวนลอยฟ้าเสร็จสมบูรณ์ได้ตามที่ตั้งใจออกแบบวางแผน จนเกิดเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ข้ามสวนลอยฟ้ามาฝั่งธนบุรี เมื่อลงจากสะพาน สิ่งแรกที่จะแวะพักหลบร้อนคงหนีไม่พ้นวัดประยุรฯ ได้ทีจึงอยากพาทุกคนไปฟังทัศนะของพระพรหมบัณฑิต ต่อภาพของกะดีจีน-คลองสาน ในสายตาของพระนักพัฒนา ท่านมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างจากครั้งเก่าก่อนมาจนถึงตอนนี้ 

จากสะพานด้วนสู่สวนลอยฟ้า ท่านมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ชาวบ้านเขานำเสนอว่าอยากจะให้ปรับปรุงสะพานด้วน มันเป็นอนุสรณ์แห่งความล้มเหลวอยู่ประจานเรา เห็นอยู่ทุกวันๆ มาตั้ง 30 ปี ชาวบ้านเขาไม่ได้คิดอะไรไกล คิดแค่ว่าทำยังไงที่จะปรับเปลี่ยนตรงนี้ให้มันเป็นทัศนียภาพที่ดี

ทางวัดมองเห็นว่า ถ้ามีสะพานนี้เป็นจุดดึงดูด สามารถพัฒนาอย่างที่ออกแบบมา คนที่เดินข้ามสะพานเขาก็ต้องมาเจอวัดประยุรฯ ก่อน อยู่บนสะพานก็จะมองลงมาเห็นวัดประยุรฯ วัดของเราก็จะเป็นเหมือนรีเซปชั่นคอยต้อนรับ ใครจะมาเยี่ยมเยียนชุมชนก็จะผ่านหน้าบ้านเราก่อน 

การเกิดขึ้นของสะพานลอยฟ้ามาจากการร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ใช่ทางวัดฝ่ายเดียว ไม่ใช่ภาคเอกชนอย่างเดียว ไม่ใช่ภาคศาสนาอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ราชการอย่างเดียว เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘บวร’ คือ บ้าน วัด ราชการ โรงเรียน ร่วมมือกัน ในการก่อสร้างเราก็ดูกันอยู่ทุกวัน มันอยู่ตรงนี้ มันเป็นความหวังของชาวบ้าน เราก็อยากจะเห็นว่าเขาทำเสร็จแล้วจะหน้าตาเป็นอย่างไร ลุ้นกันนะ เพราะคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงก็คือย่านกะดีจีน คลองสาน เพราะสะพานด้วนมันอยู่ตรงนี้กับเรา อยู่ตั้งแต่เป็นหนามยอกอก เป็นภาพที่ไม่งดงาม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้เลยก็คือความสบายกายสบายใจ จากสะพานไร้ประโยชน์มันได้เปลี่ยนเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามเลย กลับกลายเป็นสิ่งที่มีค่าขึ้นมา 

ในฐานะพระผู้เป็นนักพัฒนา ท่านคิดว่า ‘สวนลอยฟ้า’ จะมีส่วนช่วยเติมเต็มอะไรให้กับย่านและชุมชนรอบๆ วัดบ้าง

ที่ได้มาชัดเจนแล้ว คือได้องค์ประกอบของสังคม จากที่เหมือนเอาถังขยะมาวางหน้าบ้าน ตอนนี้เราก็เปลี่ยนวิฤกติให้เป็นโอกาสขึ้นมาได้แล้ว ทำให้หน้าบ้านน่ามอง คำว่าหน้าบ้านคือบ้านของกะดีจีน-คลองสาน เราโยงถึงกันหมดเลย 

พอเกิดสวนลอยฟ้ามันก็วัดได้ถึงความสำเร็จของชุมชนที่เข้มแข็ง ลำพังถ้ามีแค่ชาวบ้าน เขาก็คงทำไม่สำเร็จ ต้องมีฝ่ายราชการ มีคนมาออกแบบ มีพลังทางศาสนาเข้ามาช่วยกันผลักดัน ทั้งหมดเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือที่มีพลัง แล้วก็น่าจะเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นในเมืองได้อีก 

ไม่ใช่ว่าคุณอยากจะพัฒนาอะไรก็เอาทุนเข้ามาให้แล้วก็ดำเนินการ ซึ่งมันไม่ใช่การระเบิดจากข้างใน ของเราคือตัวอย่างของการระเบิดจากข้างใน เพราะชาวบ้านรวมตัวกันมาก่อน มาบอกว่าต้องการอะไร แล้วหน่วยงานข้างนอกเข้ามาสนับสนุน แสดงความคิดเห็น คุยกันได้ตรงใจและลงตัว สิ่งที่เกิดขึ้นจนสำเร็จนี้มันก็ตอบสนองนโยบายของบ้านเมืองด้วย  

คนมาที่สวนลอยฟ้าส่วนใหญ่จะมากันตอนเย็นแน่นเลยนะ กลางวันก็ทำหน้าที่เป็นสะพานใช้เดินข้ามแม่น้ำ พอตกเย็นก็ทำหน้าที่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นที่ชมทัศนียภาพ เป็นแหล่งท่องเที่ยว กลายเป็นศูนย์รวมผู้คน ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เท่ากันหมด ทำให้วัดก็พลอยได้อานิสงค์ไปด้วย

อย่างช่วงแรกๆ ที่สวนลอยฟ้าเปิดใช้งานก็มีชาวต่างชาติเดินเข้ามาในวัด เราก็แนะนำการท่องเที่ยวให้เขา ก็เลยลองสอบถามดูว่า ผ่านมาที่วัดได้ยังไง เขาก็ตอบว่าเมื่อวานมาเดินเที่ยวบนสวนลอยฟ้า ได้เห็นเจดีย์ เห็นวัด วันรุ่งขึ้นก็เลยลองเดินเข้ามา 

ในอนาคตเราจัดระบบดีๆ ให้กับนักเที่ยวพวกเขาก็จะไม่ได้มาแค่วัด แต่ยังไปในชุมชนหรือพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ได้อีก ก็เลยมีความคิดว่าอาจจะต้องทำโบรชัวร์ ทำแผนที่ เพื่อคนที่ walk-in เข้ามาจะได้ไม่ขาดทุน มาที่หนึ่งก็จะได้อะไรหลายๆ อย่าง เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วัดก็จะต้องเตรียมพร้อมตั้งรับ เพราะว่าหากอยู่บนสวนลอยฟ้า พอมองลงมา วัดที่ใกล้ที่สุดก็คือวัดประยุรฯ เห็นเจดีย์ทั้งกลางคืนกลางวัน

อาตมามองว่าสะพานนี้มันเป็นจุดเชื่อมของสองชุมชน คือย่านกะดีจีนกับคลองสาน แล้วก็เป็นแลนด์มาร์กที่จะทำให้ชุมชนได้พัฒนาทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีวัดทำหน้าที่เป็นหน้าบ้านคอยเชื่อมต่อไปหาพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ได้ 

 ในอนาคตก็คิดว่าจะร่วมกันจดทะเบี่ยนย่านชุมชนให้เป็น Social Enterprise เพราะมองเห็นศักยภาพของชุมชนที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากมีสวนลอยฟ้าเกิดขึ้นมา คิดกันว่าจะทำเป็นวิสาหกิจเพื่อชุมชนก็น่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น พอเราลงมือจดทะเบียนแล้ววัดก็ต้องเป็นที่ปรึกษา แต่ต้องให้ชุมชนเขาบริหารจัดการเอง อาตมาคิดว่าการพัฒนาโดยให้สังคมชุมชนมามีส่วนร่วม มันก็จะก้าวกระโดดไปได้อีกหลายเท่า

ในส่วนที่สอง เราส่งเสริมให้มีการเดินและปั่นจักรยานในชุมชนอยู่แล้ว พื้นที่ทางเดินริมแม่น้ำน่าจะเป็นจุดที่เราอยากพัฒนาต่อจากสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เพราะตอนนี้มันมีทางเดินอยู่แล้วเพียงแต่ว่ามันแคบ มันไม่ใช่ที่พักผ่อนหย่อนใจ จักรยานก็สามารถปั่นมาได้ แต่ก็ต้องแย่งกับคนเดิน มันแคบมาก เราก็เลยออกแบบกันใหม่ แล้วก็เสนอของบกับกทม. ก็ทราบว่าได้ไฟเขียวแล้ว โดยจะขยายทางเดินปัจจุบันที่อยู่ริมแม่น้ำให้กินพื้นที่เข้าไปในแม่น้ำอีกนิดนึง ทำเสา ลงตอม่อ แต่ไม่ได้กินพื้นที่ขนาดรถยนต์วิ่งได้นะ เอาแค่ให้คนนั่งพักริมแม่น้ำ เป็นเฉลียงทียื่นเข้าไปในแม่น้ำ มีต้นไม้ มีเก้าอี้ให้คนนั่งสามารถมาพักผ่อนหย่อนใจได้

สิ่งที่ฝันไว้อีกอย่างก็คืออยากจะเห็นทางเลียบแม่น้ำต่อจากสะพานพุทธฯ ซึ่งตอนนี้ยังติดปัญหาอยู่หลายอย่าง เลยยังทำไม่ได้ ถ้าสมมติว่าเจรจากันได้ ไม่ต้องไปเวนคืนบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำ แต่ว่าทำสะพานย่อมๆ ให้สามารถเดินเลาะไปกับริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เดินไปดินแดง ผ่านไอคอนสยาม คิดดูสิว่าเราจะได้ทางเดินอีกไม่รู้เท่าไร ก็น่าจะเป็นทางเดินที่ยาวที่สุดในกรุงเทพมหานครเลย แล้วก็มีจุดประสงค์ที่ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ มีส่วนลอยฟ้า มี skyline

สรุปก็คือเราคิดวางแผนไปถึง โครงการฟื้นฟูกรุงเทพฯ 250 ทั้งหมดมันจะอยู่ในแผนแม่บทตรงนั้น แต่เราอยากจะเห็นทางเดินเชื่อมโยงกัน จากวัดกัลยาฯ ริมแม่น้ำ ยาวไปจนผ่านใต้สะพานพุทธฯ ตรงไปจนถึงท่าดินแดง สมมติต่อไปถึงไอคอนสยาม ก็ทำให้ตรงนี้จะมีลักษณะของการพัฒนาที่ยังอนุรักษ์ของดีๆ เดิมๆ อย่างเมืองเก่าเอาไว้ สามารถชมทัศนียภาพฝั่งแม่น้ำที่มันร่ำรวยด้วยวัฒนธรรม

พอมันมีทางเดินอย่างนี้ พระบิณฑบาตรท่านก็สัญจรได้ง่าย ไม่ใช่เฉพาะพระหรอก ต่อไปถ้าเราวางแผนดีๆ ให้เป็น walking tour มีมัคคุเทศน์น้อยที่อยู่ตามจุดต่างๆ คอยแนะนำ บรรยายเป็นภาษาไทยก็ได้ เป็นภาษาต่างประเทศก็ได้ เด็กเขาก็ชอบ พอมีมักคุเทศน์น้อยอยู่ตามจุดต่างๆ มันก็จะครบวงจรเลย  

ท่านคิดว่าการพัฒนาของเมืองกับของชุมชนจะยั่งยืนไปด้วยกันได้อย่างไร

ต้องคุยกันไง ตึกสูงเกิดได้ แต่มันต้องมีโซนของมัน อย่างสมมติว่าเราไปอยู่ย่านสุขุมวิท สาทร ความงามของ Skyline (เส้นขอบฟ้า) ที่เป็นตึกก็จะมีอยู่ ตึกสามารถสร้างสูงได้ แต่คุณต้องออกแบบให้มันรับกัน อย่าให้มันออกมาในลักษณะที่ไม่เสริมกัน 

เราไม่ได้จะขวางทางเจริญ แต่ว่าในขณะที่สร้างก็ต้องอนุรักษ์ด้วย เอื้อประโยชน์ต่อกันด้วย บางแห่งต้องกำหนดความสูงไม่ให้บดบังอะไร บางแห่งก็ต้องกำหนดสไตล์การออกแบบ บ้านเรามีผังเมืองนะ การก่อสร้างตึกสูงก็ควรจะผ่านผังเมืองที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นด้วย

อันทีสองก็คือ ต้องเริ่มมาจากข้างใน ว่าชุมชนนั้นๆ ต้องการอะไร แล้วฝ่ายราชการก็ไปรับฟัง จะบอกได้ว่าจะพัฒนาได้แค่ไหน จะมีห้างสรรพสินค้าไหม จะมีร้านสะดวกซื้อไหม พูดคุยรับฟังกัน แต่ปัญหาของชุมชนเมืองมันไปไม่ได้ขนาดนั้น เพราะว่าต่างคนต่างอยู่ มันตรงกันข้ามกับชุมชนในชนบทนะ อย่าง ชนนบทหมู่บ้านเดียวกันสามารถเป็นหูเป็นตาให้กันได้หมด รู้จักกันหัวบ้านท้ายบ้าน 

แต่พอเรามาอยู่ในเมือง บ้านติดกันยังไม่รู้จักกัน ถ้าคุณอยากจะให้มันเกิด ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมคนในเมืองให้มาร่วมมือกัน อยู่บ้านใกล้เคียงกันก็ต้องรู้จักกัน เอื้ออาทรกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่

ภาพของกะดีจีนตอนนี้เป็นไปตามภาพที่อยากให้เป็นมากน้อยแค่ไหน

มีสองอย่างคือ มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นคน สิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุทั้งหลายมันเปลี่ยนไปในทางที่ดี ก็คือมีความสะอาดมากขึ้น จัดระเบียบ มีการบูรณะซ่อมแซมโดยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม แล้วที่สำคัญก็คือมันมาจากความต้องการของชุมชน เขาต้องการอะไร เขามีส่วนร่วม 

อาตมาจะคอยสแกนเรื่องของทุนที่จะเข้ามามาก ไม่ต้องการให้มีห้างสรรพสินค้า ไม่ต้องการให้มีอะไรมากมาย ให้เขาอยู่กันอย่างนี้ ให้ชาวบ้านสามารถต่อยอดสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วในชุม เช่น ขนมฝรั่ง หรือสินค้าของทางวัดประยุรฯ นำมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เขาอยู่กันมาเป็นร้อยปี ไม่ใช่ต้องเอาทุนข้างนอกเข้ามาครอบงำหมด  

ในส่วนของคน เรามีจุดร่วมที่แข็งแรงมากๆ เพราะเราจับมือกับผู้นำทางศาสนาสำเร็จ ทั้งโบสถ์ซางตาครู้ส ทั้งสุเหร่า ตรงนี้แหละที่มันทำให้เกิดเอกภาพในชุมชน แล้วมันทำให้เรามีพลัง เวลาติดต่อราชการลำบากเขาก็มาขอให้พระไปช่วย มันเลยกลายเป็นว่าเราเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างชุมชนกับส่วนราชการ ชุมชนต่างศาสนาก็จับมือร่วมกัน ซึ่งเรื่องยากก็คือ ต้องทำยังไงไม่ให้ผลกระโยชน์ทับซ้อน เราจะต้องเป็นกรรมการกลาง ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมถึงกันหมด ทำให้การเกาะกลุ่มกันเข้มแข็งต่อไป

สรุปก็คือ เราอยากจะสร้างสังคมที่แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมาจากที่อื่น มาจากชนบท เพื่อมาทำงาน เราอยากให้เขาอยู่ได้อย่างไม่ใช่ผู้อาศัย ไม่ใช่ผู้มาอาศัยอยู่ในบ้านพัก ในโรงแรม หมดธุระแล้วคุณก็ไป แต่เราอยากทำให้คุณเป็นเจ้าของ ให้คุณมีสิทธิ มีส่วน แล้วก็มาช่วยกันพัฒนา ไม่ว่าจะมาอยู่ชั่วคราวแค่ไหนก็ตาม ทำให้เขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน และภาคภูมิใจ  

ในเมื่อคุณอยู่ที่นี่ ก็รักที่นี่ ดูแลให้มันเป็นของเราซะ พอคิดอย่างนี้มันก็จะไม่ใช่สมบัติของที่ใดที่หนึ่ง สวนลอยฟ้าก็เลยเป็นของเราทุกคน ชุมชนเขาภาคภูมิใจ เพราะเขามีส่วนร่วม แล้วเขาก็จะถนอมรักษามัน ความรู้สึกร่วมกันอย่างนี้มันเป็นทุนทางสังคมที่ดี ซึ่งกว่าจะพัฒนามาได้ใช้เวลาเป็นสิบกว่าปี เป็นสิ่งที่ได้แสดงออกมาในเชิงรูปธรรม สวนลอยฟ้าก็อาจจะเป็นไมล์สโตนของความสำเร็จในเรื่องนี้ด้วย 


Contributor