06/08/2020
Life

เพราะแฟชั่นสัมพันธ์กับเมือง : คุยกับ ‘อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี’ ถึงมิติหลากหลายของเมืองและแฟชั่นที่ยั่งยืน

ภสรัณญา จิตต์สว่างดี
 


เสื้อผ้าคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์เราขาดไม่ได้

และสำหรับบางคนเสื้อผ้าไม่ใช่แค่เพียงเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้แสดงออกซึ่งตัวตน เอกลักษณ์บางอย่าง รวมถึงจุดยืนทางสังคมและการเมือง

ดังนั้น ‘แฟชั่น’ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกคน ซึ่งไม่ต่างอะไรจาก ‘ความเป็นเมือง’ เลย เพราะมนุษย์เราต่างมีปฏิสัมพันธ์กับเมืองตลอดเวลา ความสัมพันธ์ของ ‘คน’ ‘แฟชั่น’ และ ‘เมือง’ จึงเกี่ยวโยงกันไปโดยปริยาย หลายครั้งที่เมืองและแฟชั่นส่งผลซึ่งและกัน และกระทบไปยังผู้คน โดยที่เราอาจจะรู้สึกหรือไม่รู้สึก

เราจึงชวน ‘อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี’ ที่ปัจจุบันทำงานร่วมกับกลุ่ม “Fashion Revolution Thailand” ซึ่งเป็นเครือข่ายเคลื่อนไหวเพื่อแฟชั่นที่เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งมีมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก มาพูดคุยถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เมือง’ กับ ‘แฟชั่น’

และด้วยความที่อุ้งทำงานเกี่ยวกับแฟชั่นยั่งยืน หรือ Sustainable Fashion เราจึงถือโอกาสพูดคุยเรื่องนี้ไปด้วย เพราะอีกเทรนด์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Mega Trend ที่ส่งผลไปยังทุกบริบทของสังคมโลกคือเรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืนนั่นเอง คนเมืองต่างหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และแน่นอนว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเองด้วยเช่นกัน

เมื่อได้ยินคำว่า Sustainable Fashion สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่ (รวมถึงตัวเราเองด้วย) มักจะนึกถึงคือเรื่อง ‘การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม’ แต่อุ้งบอกกับเราว่าจริงๆ แล้ว ความยั่งยืนหรือ sustainability มันหมายรวมถึง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมด้วย

ในฐานะคนเมืองและในฐานะผู้บริโภค แฟชั่นและความเป็นเมืองสัมพันธ์กันอย่างไร และแฟชั่นจะสามารถยั่งยืนได้อย่างไร ล้วนเป็นคำถามที่เราเองก็อยากรู้คำตอบ…

แฟชั่นกับเมืองเกี่ยวข้องและส่งผลถึงกันอย่างไร

แฟชั่นกับเมืองมันส่งผลซึ่งกันและกันอยู่แล้ว มันอาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนขนาดนั้น คือผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของเมือง แล้วผู้คนใช้ชีวิตแบบที่ปฏิสัมพันธ์กันและปฏิสัมพันธ์กับเมืองตลอดเวลา แล้วแฟชั่นมันก็เป็นพาร์ทใหญ่ของการใช้ชีวิตของคนเมือง พอเมืองมันพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน อย่างกรุงเทพตอนนี้เรารู้สึกว่ามันมีพื้นที่สาธารณะน้อย ถ้าเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน หรือยุคที่พ่อแม่เราเป็นวัยรุ่น ที่มันมีพื้นที่สาธารณะ อย่างสยามสแควร์หรือพื้นที่หน้าสยามเซ็นเตอร์ มันแทบจะเป็นเหมือน street runway เลย คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาจะแต่งตัว มาเดินกันแถวนั้น เป็นที่ที่ทำให้คนได้มาเจอกัน มีแมวมองที่มาเล็งหานายแบบนางแบบหน้าใหม่ๆ จำได้เลยว่าตอนเด็กๆ เราจะเดินสยามสแควร์ตอนไปเรียนพิเศษ มันก็จะมีคนไปถ่ายรูปสตรีทสไตล์ตามสยาม ความรู้สึกแบบนั้นมันไม่มีแล้ว เรารู้สึกว่าพื้นที่ commons หรือเป็นสาธารณะ มาอยู่บนออนไลน์หมด มันมีผลต่อกัน ความเป็น individual หรือการแสดงออกทางตัวตนมันเลยไปอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตหมดเลยสำหรับคนไทย 

จากประสบการณ์ตรงที่อยู่กรุงเทพ คือตอนนี้มันเป็นเมืองที่เดินไม่ได้ เวลาแต่งตัวแล้วเราก็ไม่รู้จะไปเดินที่ไหน นอกจากห้างหรือไปออฟฟิศ ดังนั้นการแต่งตัวมันเลยไม่สนุก เพราะมันคือการแต่งตัวไปทำงาน เราว่าที่ที่หนึ่งที่เราเดินได้เยอะสุดเลยคือ สกายวอล์ก ที่เชื่อมตั้งแต่หอศิลป์ไปจนถึงชิดลม แล้วมันกำลังจะต่อไปถึงถนนวิทยุ คือมันเดินได้หมดเลย เพราะตอนเราทำงานเราเดินเส้นนั้นบ่อย คือรู้สึกว่านั่นเป็นที่เดียวที่เราเดินได้ แต่มันก็แต่งตัวไม่สนุก เพราะมันไม่ใช่การเดินเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ มันคือเดินไปทำงาน เลยรู้สึกว่าคิดถึงบรรยากาศของการที่แต่งตัวเพื่อไปเดินในที่สาธารณะ คือจริงๆ เราก็ยังแต่งตัวและเป็นตัวเองกันได้นะ เพียงแต่ว่าพื้นที่ในการแสดงออกมันเปลี่ยนไปจากเดิม เปลี่ยนจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ ซึ่งเราไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี แต่ว่ามันอาจจะขาดปฏิสัมพันธ์กันในเมืองไป

ในขณะที่เมืองอย่างลอนดอน นิวยอร์ก หรือเบอร์ลิน มันมีพื้นที่สาธารณะ มันมีการวางผังเมืองที่เดินได้ เป็นเมืองเดินได้ ปั่นจักรยานได้ ทำให้คนเราเห็นกันและกัน มันมีความหลากหลายมาก แต่อย่างในไทยพอเป็นออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ของคนก็จะมาในรูปแบบของการกดไลก์ คอมเมนต์ การไม่มีพื้นที่เราว่ามันทำให้ความหลากหลายลดลง คือเราว่าแฟชั่นมันคือการแสดงออกตัวตน และมันคือแฟนตาซีหนึ่ง มันคือสไตล์ และมันต้องการพื้นที่ของเมืองที่เป็นมิตรต่อการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง

ผังเมืองและวัฒนธรรมของเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่ค่อยเห็นคนแต่งตัวในกรุงเทพ

จริงๆ ที่ยังเห็นเยอะอยู่ก็คือพวก street style เนอะ เราก็เห็นตามพวกสุขุมวิท ทองหล่อ เอกมัย ที่มีคนกลุ่มนี้อยู่ แต่พื้นที่ที่คนไปเจอกันมันก็จะเป็นคาเฟ่ หรือ The Commons ตรงทองหล่อ ซึ่งมันก็จะเป็น community mall หรือห้างอยู่ดี คือมันไม่ใช่สแควร์ คือถ้ามันเป็นอย่างจัตุรัสในยุโรปนี่เราเดินหนึ่งรอบคือเจอคนแต่งตัวเท่ๆ เยอะมาก แล้วมัน inspire ซึ่งกันและกันแบบ โห คนนี้เท่จังวะ หรือเมืองนอกมันจะมีพื้นที่แบบ underground คือพื้นที่แสดงตัวตนของกลุ่ม subculture ทั้งหลาย เด็กสเก็ตต่างๆ เขาก็จะแต่งตัวไปเจอกัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นความเป็นเมือง ทุกคนย่อมหาพื้นที่แสดงออก เพียงแต่ว่าแต่ละกลุ่มจะใช้พื้นที่ตรงไหน เราเลยคิดว่าพื้นที่เหล่านี้มันสำคัญ

แต่ไม่ใช่เฉพาะความเป็นเมืองเชิงกายภาพ แต่วัฒนธรรมของความเป็นเมืองที่เปิดรับความแตกต่างที่หลากหลายด้วย เรารู้สึกว่าคนจะแต่งตัวสนุกขึ้น เมื่ออยู่ในเมืองที่เปิดกว้าง ยิ่งมีความหลากหลายสูง คนในเมืองก็จะยิ่งแต่งตัวสนุก อย่างนิวยอร์กที่มีความหลากหลายสูงมาก ทั้งชนชั้นและเชื้อชาติ ความเป็น individual มันก็จะชัดขึ้น เพราะเราก็ต้องการแสดงออกถึง culture ของเรา ในขณะที่เมืองที่ค่อนข้างจะ mono มันก็จะจืดๆ หน่อย 

เรานึกถึงตอนเช้าเวลานั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน น้อยคนมากที่จะแต่งตัวแหวกหรือแต่งตัวสนุก คนที่เขาแต่งตัวอาจจะไม่ได้ใช้รถไฟฟ้าด้วยส่วนหนึ่ง มันอาจจะไม่ไกลถึงขั้นเป็นความเหลื่อมล้ำ แต่คือเมืองมัน shape พฤติกรรมและความสุขของคนในเมือง ว่าเราจะสามารถเป็นตัวเอง สามารถเปิดกว้าง หรือทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง เพราะการแต่งตัวมันก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่เราจะไปทำ ถ้าเมืองมันเอื้อแค่ให้เราเดินทางจากบ้านไปออฟฟิศ แล้วก็เดินห้าง แล้วก็กลับบ้าน มันก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรที่ทำให้เราจะรู้สึกอยากแต่งตัว แบบเย็นนี้จะไปไหนดีหลังเลิกงาน เอ้า ไม่มี ก็มีแค่เข้าห้าง กลับบ้าน แค่นี้ คือมันไม่สนุก ในขณะที่ในยุโรปจะมีสถานที่ให้ไปเยอะมากหลังเลิกงาน เช่น สวนสาธารณะ, บาร์แบบ outdoor, สแควร์, พิพิธภัณฑ์, art gallery, คาเฟ่ ฯลฯ แล้วจริงๆ เรื่องอากาศก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งเหมือนกันนะ ที่ทำให้คนไม่จอยกับการแต่งตัว 

อีกอย่างคือค่านิยมการยอมรับความแตกต่าง ที่เมืองนอกเขาจะไม่มาถามเรื่องการแต่งตัวกันเลยนะ แบบใส่อย่างนี้ไม่ร้อนเหรอ อะไรแบบนี้จะไม่มีเลย เราเคยเกือบใส่ชุดนอนไปมหาวิทยาลัยก็ไม่มีใครว่า ทุกคนไม่ได้มาตัดสินกันที่การแต่งตัว จะใส่อะไรก็ใส่แค่นั้นเอง แต่เราชอบมากเวลาเห็นคนที่กล้าแต่งตัวมากๆ ในกรุงเทพ แบบที่เห็นแล้วรู้สึกว่าโดดเด่นขึ้นมาเลย เราว่ามัน bold ดีมากเลย เพราะเรารู้สึกว่าถ้าคนยิ่ง insecure ก็จะยิ่งไม่กล้าแสดงออกถึงตัวตน

เมืองที่ดีจะเอื้อให้แฟชั่นเฟื่องฟู

เรายกตัวอย่างเมืองที่เราชอบมาก คือ เบอร์ลิน ปีที่แล้วเราไปอยู่ที่นั่นมา 5 สัปดาห์ คืออยากไปมานานแล้วเพราะรู้ว่าเบอร์ลินมันเท่ มันมี sub culture มีดนตรี ศิลปะ แฟชั่น เราเลยลองไปเรียน short course ตอนซัมเมอร์ พอไปอยู่ก็พบว่าเบอร์ลินมีผังเมืองที่ดีมาก ทั้งเดินได้ มีพื้นที่สีเขียว ทุกคนสามารถปั่นจักรยานไปไหนมาไหนได้ และขนส่งสาธารณะมันก็เชื่อมกันหมด แล้วมันคิดมาแล้วแบบมีวงเวียนใหญ่สุดอยู่รอบนอก แล้วข้างในมันก็เชื่อมกันหมดเลย จากเหนือสุดลงใต้สุดของเมืองคือใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ด้วยระบบขนส่งที่ดีมาก พวกบ้านเดี่ยวบ้านคนมีฐานะก็จะอยู่รอบนอก ซึ่งตรงนั้นก็จะมีทั้งพาร์ค ทะเลสาบ คือแทบไม่ต้องออกไปต่างจังหวัดเลย เพราะมันมี environment แบบนั้นอยู่ในเมือง ที่สามารถเดินทางถึงได้ในครึ่งชั่วโมง

สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อแฟชั่นคือ คนเมืองเบอร์ลินมีอิสระมากที่จะแต่งตัว ไม่ว่าจะขึ้นรถไฟ ขึ้นใต้ดิน หรือรถสาธารณะอื่นๆ มันมีความหลากหลาย มันไม่ใช่แฟชั่นในรูปแบบที่ต้องตามเทรนด์นะ ไม่ใช่แค่เทรนด์เสื้อผ้าด้วย มันคือเทรนด์การใช้ชีวิตเลย เช่น บางคนลุคเป็น tech guy ที่ทำงานในบริษัทสตาร์ทอัป เป็นแบบนี้เลย มันมีความหลากหลายของตัวละคร ซึ่งเรารู้สึกว่านั่นคือแฟชั่นสมัยใหม่ คือเมื่อก่อนเราจะคิดว่าแฟชั่นเทรนด์จะมีหนึ่งอย่าง จากบนสู่ล่างแล้วกระจายไปเหมือนๆ กัน แต่ด้วยความที่คำว่าแฟชั่นเทรนด์เองมันก็แยกย่อยมากๆ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะรับอะไรไปใช้ เรารู้สึกว่าเมืองที่ดีมันควรจะมีเทรนด์ที่หลากหลาย 

อีกอย่างที่ชอบมากๆ ในเบอร์ลินนะ พอเมืองมันเข้าถึงกันได้ ร้านค้าเล็กๆ มันเปิดได้ ไม่ว่าจะเปิดอยู่ตรงซอกหลืบขนาดนั้นมันก็ไปถึงได้ แล้วมันมีลูกค้าจริงๆ คือถ้าเป็นเมืองที่ไม่กระจาย แฟชั่นเทรนด์ก็จะรวมศูนย์กันอยู่ไม่กี่แห่ง มันก็จะมีการกระจุกตัวของเทรนด์ แต่เมืองที่มันเดินได้และทั่วถึงทั้งหมด ก็จะมีความหลากหลายของเทรนด์ ร้านค้าเล็กๆ ก็จะเปิดได้ อยู่ได้ อันนี้คือเรื่องการเข้าถึง

แล้วแต่ละ district ของเมืองมันมีการ zoning ไว้ เช่น ตรงนี้เป็นโซนออฟฟิศ ก็จะมีตึกสูงๆ ตรงนี้เป็นย่านวัฒนธรรม มีมิวเซียม ตรงนี้เป็นย่านฮิปสเตอร์ ซึ่งคนเมืองเขาก็มีความผูกพันกับ district ของตัวเองมาก เขาภูมิใจมากกับพื้นที่ของตัวเอง เพราะแต่ละที่มันจะมี vibe ที่โดดเด่นไม่เหมือนกัน แล้วก็จะมีแผนที่เหมือนเป็น cultural guide ของแต่ละ district มันก็จะวางอยู่แทบทุกที่ เปิดมาก็เป็นแผนที่ของย่านนั้น มีสถานที่ปักหมุดไว้เลยทั้งร้านอาหาร, คาเฟ่, natural wine bar, ร้านแฟชั่นยั่งยืน คือเราเองที่ไปแค่ไม่กี่วันยังรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเลย ด้วยความ inclusive ตรงนี้ มันมี directory ทำให้เรารู้หมดเลยว่าในซอกหลืบนี้มันมีร้านนี้อยู่ที่เราอยากไปดู แล้วเบอร์ลินเป็นเมืองเดียวด้วยนะที่เป็นแบบนี้ เมืองอื่นๆ ในเยอรมันก็ยังไม่ใช่แบบนี้ ซึ่งเราว่าเมืองแบบนี้แหละที่มันเอื้อให้แฟชั่นยั่งยืนเกิด 

ส่วนอีกเมืองที่เรารู้สึกว่าเมืองมีผลมากต่อการแต่งตัวของคน คือโคเปนเฮเกน คือคนเดนมาร์กจะชอบอะไรที่เรียบง่ายอยู่แล้ว ความ simple, minimal แต่ด้วยความที่การเดินทางในเมืองมันเอื้อให้คนปั่นจักรยานกับเดิน แทบไม่มีคนใช้รถส่วนตัวเลย ดังนั้นลุคแฟชั่นของทุกคนคือลุคที่ปั่นจักรยานได้ คือเท่มาก แบบผู้หญิงจะใส่กางเกงยีนส์ มันเหมือนเป็น basic style ของที่นู่นเลยนะ เสื้อยืดสีขาว กางเกงยีนส์ แจ็คเก็ต สูท แว่นตาดำ แล้วพอคนได้ปั่นจักรยาน มันก็จะเห็นกันและกัน เชื่อมโยงกัน ปั่นจักรยานมาเจอข้างๆ กัน แล้วมันก็จะเกิดปฏิสัมพันธ์กัน เรารู้สึกว่ามันเป็นเมืองที่มีสไตล์ชัดเจนมาก คือไม่ใช่แค่ตัวเมือง แต่ะสะท้อนไปถึงความสุข หรือการแสดงออกของคนในเมืองทั้งหมด 

แล้วกรุงเทพกับแฟชั่นล่ะ?

บ้านเรามันเป็นแบบรวมศูนย์ และรวบร้านค้าทั้งหมดไปอยู่ในห้าง คืออย่าง high street ที่เมืองนอกมันจะไม่ได้มีแค่ที่เดียวในกลางเมือง แต่มันจะมีทุกเขต ทำให้ทุกอย่างไม่กระจุกตัวในกลางเมือง เวลาเราจะซื้อของจะอะไรก็ไม่ได้ต้องเดินทางเข้าในเมือง แต่ในไทยก็จะเป็นเซ็นทรัลสาขาต่างๆ ก็คือเป็นห้างอยู่ดี เราคิดว่าไทยมี culture เป็นห้างเป็นหลัก เราไม่แน่ใจนะว่ามันฟอร์มขึ้นมาจากอะไร จริงๆ เราไม่รู้ว่าเป็นเพราะเมืองร้อนหรือเปล่า เลยต้องมีห้างเพื่อให้คนเข้าไปอยู่ในห้าง หรือว่ามีห้างขึ้นมาก่อนแล้วมันก็เย็นดีคนเลยชอบเดินห้าง

ย่านที่เราชอบในกรุงเทพคือย่านเมืองเก่า แถวเยาวราช เจริญกรุง มันคือย่านที่รุ่นพ่อแม่โตมา แล้วในยุคที่ยังไม่มีห้าง ตรงนั้นคือ high street ที่แท้จริง พวกห้างแถวตึกแถวที่เป็นร้านค้า ทุกวันนี้เรายังชอบไปเดินแถวนั้นอยู่เลย ถ้ามีเพื่อนที่เป็นนักท่องเที่ยวมาไทยเราก็จะพาไปเดินแถวนั้น เพราะว่ามันเห็นวิถีชีวิต เราว่าเมืองที่ดีต้องเห็นวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งกลางเมืองนี่มันเหมือนทำมารองรับการช็อปปิ้งอย่างเดียว แต่มองไม่เห็นวิถีชีวิตเลย พอไปอยู่ในย่านเมืองเก่านี่เหมือนเห็นแฟชั่นมากกว่าอีกนะ มัน authentic วิถีชีวิตและการแสดงออกของเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเราก็เริ่มเห็นความเจริญแผ่เข้าไป ย่านศิลปิน มี gallery ตรงเจริญกรุงอะไรพวกนี้

เราคิดว่าเมืองที่มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมจะเอื้อให้แฟชั่นเฟื่องฟู อย่างห้างนี่ไม่ถือว่าเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม แต่อย่างตลาดน้อย, มิวเซียมสยาม, TCDC หรืออารีย์มันยังมีสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่ทางวัฒนธรรมอยู่ มันมีตลาด มีพิพิธภัณฑ์ แกลอรี่ ซึ่งไอคำว่าวัฒนธรรมในเมืองไทยนี่มันหายากจัง ส่วนที่ที่น่าเดินและเดินได้ในกรุงเทพคืออารีย์และเอกมัย อารีย์มีความ open นะ และอารีย์ก็เหมือนเป็น district หนึ่งเลย

จริงๆ กรุงเทพถ้าเป็นแบบโซลจะดีมากนะ โซลเป็นเมืองที่น่าสนใจ เป็นเมืองที่มีสตรีทและมีความเป็นย่าน ที่แต่ละโซนก็จะไม่เหมือนกัน ส่วนกรุงเทพนี่เหมือนมีแค่สยามสแควร์อันเดียวแล้วก็กลายเป็นห้างเต็มไปหมด คือสยามเมื่อก่อนมันน่าสนใจมากนะ ในฐานะสแควร์จริงๆ แต่ตอนนี้มันเริ่มกลายเป็นอะไรไม่รู้ไปแล้ว ซึ่งอากาศก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเหมือนกัน แล้วก็เรื่องนายทุน คือน่าจะเกี่ยวกับเรื่องการให้ค่าทางเศรษฐกิจกับพื้นที่หนึ่ง คือต้องสูงที่สุด ต้องได้มูลค่าให้มากที่สุดจากพื้นที่ตรงนี้ แล้วก็อาจจะเกี่ยวกับกฎหมายของเมืองด้วย การแบ่ง zoning อะไรพวกนี้ อย่างเมืองไทยมีการแบ่ง zoning ตรงเขตเมืองเก่า แต่อย่างเบอร์ลินนี่แทบไม่มีตึกสูงเลย มีแค่โซนเดียวที่เป็นตึกสูง คือเขา utilize ตึกเก่าให้มากที่สุด ไม่ค่อยให้สร้างตึกใหม่ที่จะมาบดบังสภาพแวดล้อมเก่าๆ 

คิดว่าแฟชั่นเทรนด์ส่งผลกับการชีวิตของคนเมืองยังไงบ้าง

ส่งผลนะ เราว่าแฟชั่นมันเป็นการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกยุคเลย อาจจะไม่ใช่แค่เมือง แต่หมายถึงทั้งหมดเลย เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความพัฒนาทางเทคโนโลยี มันจะมาสะท้อนที่แฟชั่นหมดทั้งหมด อย่างเช่น ยุค 60’s หลังสงครามโลกแล้วการค้าเฟื่องฟู มีอุตสาหกรรม มีร้านค้าแบบ high street เปิดเป็นครั้งแรก คือถนนที่มีร้านค้าเยอะๆ นั่นแหละ ทำให้คนได้มีพื้นที่ที่จะแต่งตัวออกไปเดิน ส่วน Trend มันก็เกี่ยวข้องกับการค้าและธุรกิจ ถ้าเทรนด์อะไรมาเราก็จะเห็นเทรนด์นั้นซ้ำๆ อย่างเวลาทำงานเกี่ยวกับเทรนด์ มันก็จะมีนักวิจัยเทรนด์ เรียกว่า Coolhunting ถ้าเราออกไปเดินในเมืองแล้วเห็นคนแต่งตัวคล้ายๆ กัน 5-10 คนในหนึ่งวัน อันนั้นจะเริ่มเกิด pattern แล้วว่านี่คือเทรนด์ที่กำลังจะมา คือเทรนด์มันไม่ได้มาให้เห็นชัดเป็นก้อนๆ ขนาดนั้นเหมือนตามแม็กกาซีนว่า เทรนด์นี้มาแล้วนะ เทรนด์นั้นมาแล้วนะ แต่มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว และแทรกซึมเข้าไป เพราะเวลาเรารับเทรนด์มาเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองรับมา แต่มันจะซึมเข้าไปในจิตใต้สำนึก เมื่อเราเห็นรูปนี้บ่อยๆ เห็นในร้านค้า ในหนังสือ อะไรแบบนี้

ซึ่งแน่นอนเทรนด์มันเกิดจากแนวโน้มผู้บริโภค เป็นแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิด เมืองที่มันเปิดกว้าง หรือเมืองที่มันเอื้อให้เราเห็นพฤติกรรมที่คนต้องการแสดงออก วัฒนธรรมก็จะลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว มันจะไม่มีการมาบอกว่าอันนั้นผิดอันนี้ผิด ความเป็นเมืองมันจะเอื้อให้คนก้าวหน้าได้ไว แล้วแฟชั่นมันคือความนำสมัยคือความก้าวหน้า ยิ่งเมืองที่มันเปิดกว้างและพัฒนา เราว่าแฟชั่นมันก็จะเฟื่องฟูตาม

เราว่าประเด็นคือ อย่างที่บอกว่าแฟชั่นเทรนด์ในอดีตมันถูกกำหนดโดยคนกลุ่มเดียว แล้วก็ออกสู่รันเวย์ แม็กกาซีน ร้านค้า เป็นทอดๆ แต่ปัจจุบันเทรนด์มันไม่ได้เกิดจาก top down แต่มันเกิดจากผู้คน มันเกิดจากสตรีท เดี๋ยวนี้แบรนด์เขาก็สังเกตจาก influencer หรือ early adopter ในเมือง คนที่เป็นผู้บริโภคหัวก้าวหน้า สังเกตุผ่านอินสตาแกรมอะไรพวกนี้ เหมือนเทรนด์มันก็ไปอยู่บนอินสตาแกรมแทน ซึ่งถ้าเราดูอินสตาแกรมของ trend setter คนยุโรป คนญี่ปุ่น คนโคเปนเฮเกน หรือคนนิวยอร์กนะ ภาพของเขาคือการถ่ายกับเมือง เช่น วันนี้ไปสตรีทเส้นนี้แต่งตัวด้วยลุคนี้ คนเดนมาร์กปั่นจักรยานด้วยลุคนี้ เรารู้สึกว่ากับไปเชื่อมกับที่พูดไปคือกิจกรรมที่เขาทำได้ในเมือง

พูดถึง sustain fashion ส่วนตัวเราก็ตระหนักถึงเรื่องนี้น้อยเหมือนกัน เรายังซื้อเสื้อผ้า และไม่ได้คำนึงถึงขั้นตอนการผลิต, วัสดุ, ผ้าบางชนิด ที่มันสร้างขยะและมลพิษให้โลกมหาศาล อยากให้เล่าถึง sustainability ในทางแฟชั่นว่ามันสำคัญยังไง

คำนิยามของคำว่า sustainability หรือความยั่งยืน มันคือการพัฒนาในปัจจุบันโดยไม่เบียดเบียนทรัพยากรในอนาคต ต้องคำนึงถึงอนาคตหรือคน next generation แต่ว่าอัตราเร่งที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นตอนนี้มันไม่ได้คิดถึงอะไรพวกนั้นเลย มันคือการถลุง มันคือการใช้ทรัพยากรอย่างเดียว เราอ่านเจอมาว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นใช้น้ำมากเป็นอันดับ 2 ของทุกอุตสาหกรรมบนโลกในการย้อมสี แล้วก็สร้างขยะเยอะมาก เรื่องสิ่งแวดล้อมอีกข้อคืออุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 10% ของโลก คือ 1 ใน 10 ของคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกมาจากอุตสาหกรรมเดียว ซึ่งเกิดจากการผลิตที่เกิดจำนวน และในมุมของแรงงาน อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสจะเกิด Modern Slavery หรือแรงงานทาสยุคใหม่ เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งถามว่ามันผิดที่ผู้บริโภคไหม เราว่ามันเกี่ยวกับทั้งระบบ และไม่ได้คิดว่าคนซื้อจะต้องมาแบกความรับผิดชอบขนาดนั้น

ถามว่าสำคัญยังไง มันมีรายงานที่บอกประมาณว่า ถ้าอัตราเร่งมันยังอยู่ในระดับนี้ไปเรื่อยๆ ในอีกไม่กี่สิบปี อุตสาหกรรมแฟชั่นจะทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่า 2 องศา หรือทำให้พลาสติกในทะเลมากขึ้น เพราะกว่า 60% ของเสื้อผ้าคือพลาสติก โพลีเอสเตอร์มันคือชนิดเดียวกันกับพลาสติก มันย่อยสลายยาก เราจะเห็นว่าความไม่ยั่งยืนทั้งหลายมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้ต่อไปโดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยน โลกใบเดียวจะไม่พอ ทรัพยากรจะไม่พอต่อจำนวนประชากร

ถ้าพูดถึงเรื่อง sustain ส่วนมากคนจะนึกถึงเรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ว่าจริงๆ แล้ว เราว่า social sustainability นี่แหละที่เป็นจุดที่เป็นรากฐาน เพราะว่าถ้ายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มันก็ไม่ยั่งยืนหรอก อย่าง zero-waste มันก็ไม่ได้ทำกันได้ทุกคน เพราะชีวิตบางคนก็ไม่มีทางเลือก

แล้วเราคิดว่า sustain fashion มันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและช่วยให้คุณภาพชีวิตของแรงงานที่อยู่ใน supply chain ดีขึ้น เพราะ sustainable มันรวมถึงหลายมุมเนอะ ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ถ้าแบรนด์ที่คำนึงถึง social sustainability ก็มีโอกาสที่จะทำให้แรงงานหรือคนที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ความยากคือเราในฐานะผู้ซื้อ เราแทบจะไม่รู้เลยว่าต้นตอที่มา วัสดุ คุณภาพชีวิตของคนทำที่อยู่ข้างหลังบ้านเป็นยังไง ถ้าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความโปร่งใสหรือการดูแลคนในห่วงโซ่ มันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

หมายความว่า sustainable fashion คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมด้วย

คืออุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากๆ จ้างงานคนเป็นล้านๆ คนและมีมูลค่ามากกว่าล้านล้านเหรียญทั่วโลก และแฟชั่นมันเป็นเครื่องมือด้วยตัวมันเอง เป็นเครื่องมือการแสดงออกจุดยืน การเมือง วัฒนธรรม ความเชื่อ ทุกอย่างเลย แต่ปัจจุบันพลังเหล่านั้นของแฟชั่นมันถูกลดให้เหลือแค่เป็นการบริโภค ในขณะที่ sustainable fashion มันกำลังดึงพลังเหล่านี้ของแฟชั่นให้กลับมา เหมือนมัน empower คนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้ อย่างที่บอกว่าคำว่า sustainability มันรวมถึงหลายอย่างไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แต่มันยังมีมุมของสังคมและเศรษฐกิจด้วย คือมันต้องไปด้วยกันทั้งสามอย่าง ถ้าสนใจแค่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียวแต่ไม่จ้างงานใครเลย มันก็ไม่ยั่งยืนนะ ดังนั้นมันต้องสัมพันธ์กัน

ซึ่งตอนนี้ agenda ของ CEO หรือพวกแบรนด์ใหญ่ๆ luxury brand ก็เป็นเรื่องนี้กันหมดแล้ว เพราะว่าคนมันตระหนักแล้ว โดยเฉพาะในยุคโควิด เหมือนมันเป็นกุญแจที่ทำให้เราเห็นปัญหาที่มันมีอยู่แล้วใน supply chain ของแฟชั่นที่มันไม่ยั่งยืน พอเกิดโควิดปุ๊บ chain ของแฟชั่นมันไม่ยืดหยุ่น คือสมมติปิดห้างในยุโรปในอเมริกาหนึ่งครั้ง แบรนด์ขายไม่ได้ ยกเลิกออเดอร์ซึ่งก็คือตัดฉับเลย แล้วคนที่อยู่ปลายสุดต้องตกงาน ที่อินเดียคนงานก็เดินกลับบ้านกันเป็นล้านๆ คน มันกระทบต่อๆ มาจนถึงคนในประเทศโลกที่สามเลย แล้วแฟชั่นยั่งยืนมันคือการพยายามทำให้ความสัมพันธ์ทั้งหมดนี้มันแฟร์ขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น

เมืองและผู้บริโภคก็เป็นส่วนสำคัญ

เมืองก็มีส่วน อย่างตอนอยู่เบอร์ลินเราได้ไปสัมภาษณ์เจ้าของ sustainable brand มา 7 คน คือทุกคนมีเปิด shop เล็กๆ อยู่ แล้วไม่ใช่เป็นแค่ร้านขาย แต่หลังบ้านมันคือสตูดิโอเลย เหมือนร้านเบเกอรี่ที่ผลิตตรงนั้นและขายตรงนั้นเลย ซึ่งเรารู้สึกว่ามันดีมาก เราได้เห็นและได้คุยกับคนทำจริงๆ ทำให้รู้สึกว่า เออ เมืองที่ดีมันเป็นอย่างนี้นี่เอง มันเอื้อให้ธุรกิจเล็กๆ เฟื่องฟู นักออกแบบหน้าใหม่ๆ แบรนด์แฟชั่นยั่งยืนที่เป็นแบรนด์เล็กๆ ก็อยู่ได้ แล้วคนเมืองก็สนับสนุนด้วย เพราะว่าเขาเข้าถึงได้ ทุกอย่างไม่ได้กระจุกตัวอยู่ตรงกลางเมือง

แต่พูดถึงแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนนี่มันก็มีหลายระดับเหมือนกันนะ บางแบรนด์ที่เคลมว่าตัวเองยั่งยืนก็ต้องดูว่ามันยั่งยืนยังไง ในมุมไหน และมันต้องอาศัยการตรวจสอบของผู้บริโภค มันจำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคที่เข้ามารวมกันเป็น collective voice เพื่อตั้งคำถามถึงสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิทธิผู้บริโภคในการรับรู้เรื่องราวพวกนี้ด้วย มันจะไม่ทำให้เราเป็นแค่เหยื่อหรือเป็นแค่ผู้บริโภคที่รอรับอะไรก็ตามที่ออกมาจากระบบ แต่เราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้วย อย่าง Fashion Revolution เองก็ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะเลย โดยใช้ Digital Hashtag เป็นเครื่องมือ ที่เมืองนอกเขาลงถนนกันได้ ก็จะทำเป็น street walk ทำแคมเปญกัน ซึ่งในไทยนี่ไม่มีทาง มันก็ขึ้นอยู่กับความเป็นเมืองอีก

ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราจะได้ตระหนักและเข้าใจในสิทธิของตัวเอง ว่าเราเอาเงินเราไปสนับสนุนหรือแลกมาซึ่งสิ่งที่มันดี คือสำหรับเราการดีกับเราบางทีมันอาจจะคือความสวยงาม แต่มันเต็มไปด้วยสารเคมีที่จะเข้าไปในผิวหนังเรา ซึ่ง sustainable fashion มันก็จะช่วยเราตรวจสอบระบบนี้ทั้งหมดเลย

พอความยั่งยืนกำลังเป็นกระแส ก็เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่า Greenwashing มันคืออะไร

ตัวอย่างเช่น แบรนด์รองเท้าหนังแบรนด์หนึ่ง บอกว่าเป็น vegan, plant based, cruelty-free ไม่ทำร้ายสัตว์ รู้สึก sustain ไหม แล้วทีนี้พอเราเข้าไปหาวัสดุที่เขาใช้ เจอว่าเขาใช้ PVC รู้สึกยังไง มันก็คือพลาสติก แต่ดันมาขายเราว่าเป็น vegan leather อะไรแบบนี้ มันจะชอบมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น นี่คือตัวอย่างที่เราเคยเจอกับตัวเลยนะ คือเขามาพรีเซนท์ว่า แบรนด์เขา sustain เป็น vegan หรือทางด้าน ethical เขาบอกเลยว่าผลิตในโรงงานที่มีการดูแลแรงงานอย่างดี โอเค ตรงนั้นมันก็ดี แต่เราว่ามันไม่โอเคตรงที่เขาโฆษณาแบบทำให้คน misleading อธิบายก่อนว่าเราว่าการใช้ PVC ไม่ผิดนะ แต่ว่าคุณต้องพูดให้ชัดเจนว่าใช้วัสดุอะไร หรือแบบผ้าที่ย้อมสีเคมี ทอด้วยเครื่องมันก็ไม่ผิดเลย แค่คุณต้องบอกความจริงแล้วให้ผู้บริโภคตัดสินใจเอง

แล้วเดี๋ยวนี้มันจะมีความคิดแบบ sustainability เป็นสิ่งของที่ซื้อหาได้ กลายเป็น marketing word เช่น I buy sustainable fashion เท่ากับว่าฉันเป็นผู้บริโภคยั่งยืน เหมือนคนเอาคำว่า sustain มาใช้ขายของมากขึ้น แต่จริงๆ มันก็ไม่ก็ไม่ได้ไม่ดีนะ แต่มันทำให้เกิด mindset และเกิดเป็นเรื่องชนชั้น ว่าเป็น elite เท่านั้นที่จะซื้อความยั่งยืนได้ เพราะมันแพงมาก แล้วคนทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานะก็อาจจะคิดว่า เราไม่ได้มีเงินซื้อตรงนั้นแสดงว่าเราก็เป็นผู้บริโภคยั่งยืนไม่ได้น่ะสิ แต่จริงๆ คือที่ไม่ซื้อหรือคนที่ใช้ซ้ำนั่นแหละคือยั่งยืนที่สุด ความยั่งยืนจริงๆ คือการทีคุณไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ หรือแลกเปลี่ยน swap เสื้อผ้ากัน การซ่อมเสื้อผ้า อะไรแบบนี้คือยั่งยืนกว่าอีก

เหมือนกับการพูดว่าคนที่ sustain จะต้องมีกระติกน้ำหลายใบ ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณสามารถใช้ขวดใบเดียว เป็นขวดพลาสติกยังได้เลย แล้วใช้ซ้ำ ใช้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องซื้อใหม่ ก็ sustain เหมือนกัน เรารู้สึกว่าคำว่ายั่งยืนไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องซื้อ

ซึ่ง greenwashing ก็ชอบเป็นเรื่องของ marketing นั่นแหละ มักจะเล่นกับความไม่รู้จริงของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคต้องยิ่งศึกษา จริงๆ ประเด็นของ sustain คือต้องลด แต่ greenwashing ส่วนใหญ่จะชอบไปขายเรื่อง recycle แต่จริงๆ ขั้นแรกของความยั่งยืนคือ reduce แต่เขาไม่ค่อยพูดกัน เพราะมันจะทำให้ไม่เกิดการซื้อ มันคืออำนาจนิยมแหละ ตลาด นายทุน ต่างๆ

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้บริโภคคือ Sustainability Literacy หรือความรู้เท่าทันเกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เราไม่ถูก greenwashing คืออย่าเชื่อคำที่เป็น marketing jargon หรือ marketing word ที่เราเห็นเสมอไป หรือถ้าเราใส่ใจเรื่องนี้จริงๆ ก็ควรจะถามผู้ขายเลยว่ามันเป็นยังไงกันแน่

จริงๆ มันมีแอปพลิเคชันที่ดีมาก ชื่อว่า “Good On You” มันจะเป็นแอปฯ ที่มีคอนเทนต์สอนเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืนของแฟชั่น เราสามารถเสิร์ชแบรนด์ที่เป็น global brand ได้ เช่น เราเสิร์ชแบรนด์ COS อยากรู้ว่าแบรนด์นี้ยั่งยืนไหม แล้วเขาก็จะให้คะแนน review มาให้เราว่าแบรนด์นี้เป็นยังไง จะมีเรตติ้งเป็นหลอดเลยเรื่อง Labour, Environment, Animal ว่าคะแนนความยั่งยืนแต่ละส่วนมากน้อยแค่ไหน ของ COS นี่ในส่วนของ Labour ถือว่าทำได้ดี แต่เรื่อง Environment กับ Animal เพิ่งเริ่มต้น เราก็มาอ่านรายละเอียดได้เลย จริงๆ แค่อ่านในคอนเทนต์ของเขาก็รู้ได้เลยว่ามันมีอะไรแบบนี้ด้วยเกี่ยวกับแฟชั่นยั่งยืน

และเราคิดว่า sustain สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้คุณค่า อย่างคนที่ตั้งใจทำ sustainable fashion brand มันจะเริ่มต้นตั้งแต่ mindset เลยนะ คือต้องการให้มันเกิดผลดี มันจะไม่เหมือนการ greenwashing ที่ไม่ได้ทำขึ้นมาด้วย mindset นั้นแต่เอามาขายด้วย mindset นั้น ซึ่งมันสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างคุณค่าของชุดความคิดนั้น ที่มันให้ค่ากับสิ่งแวดล้อม กับคน กับสังคม ในขณะที่อีกชุดความคิดหนึ่งจะให้ค่ากับการสร้างกำไรสูงสุด คือมันต่างกัน

sustain ไม่ใช่ว่าไม่อยากได้กำไรนะ แต่มันเป็นกำไรที่มาจากการคำนึงถึงหลายๆ อย่าง เป็นกำไรที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนใครมา คือไม่ต้องถึงกับต้องดีกับทุกคนนะ แต่อย่างน้อยที่สุดคือการซื่อสัตย์กับผู้บริโภค ยกตัวอย่าง เราจะซื้อเสื้อผ้าแบรนด์ไทยในไอจี แล้วเขาบอกว่าเป็นผ้าฝ้ายใยธรรมชาติ มันไม่ได้แปลว่าสิ่งนี้ sustain เพราะผ้าฝ้ายใยธรรมชาติมันคือ ใยที่มาจากธรรมชาติ แต่มันอาจจะทำจากโรงงานที่เต็มไปด้วยสารเคมีก็ได้ ดังนั้น เราจะชวนให้คนที่ซื้อเสื้อผ้าตั้งคำถาม ถามว่าอันนี้เป็นผ้าอะไรคะ ทอด้วยสีเคมีหรือสีธรรมชาติ อะไรพวกนี้ คือถามไปเลย แล้วคนขายหรือเจ้าของแบรนด์เขาใส่ใจเรื่องนี้จริงๆ เขาจะไม่พยายามปกปิด แล้วสุดท้ายผู้บริโภคก็จะเลือกเองว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ

คนกำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง sustainability มากขึ้น

เราเพิ่งอ่านมาว่าในกูเกิล การเสิร์ชคำว่า sustainable พุ่งสูงขึ้น 4,500% ในสามเดือนที่ผ่านมาหลังจากมีโควิด ดีใจมากนะ จริงๆ เราว่ามันลดยากมากนะเรื่องขยะพลาสติก คืออย่าง packaging ที่ไม่เป็นอันตรายนี่น่าจะมีแล้วแหละ อาจจะแค่ยังไม่ถูกเอามาใช้ หรือไม่ก็ต้องมี innovation ที่สามารถกำจัดมันได้แบบสะอาดจริงๆ โดยที่ไม่ได้ปล่อยให้มันย่อยสลายเองแบบใช้เวลาร้อยๆ ปี หรือเผาแล้วกลายเป็นมลพิษ ซึ่งสิ่งที่จะเป็น key เราว่ามันคือ พลังงานสะอาด ตอนนี้มันมาแล้ว แต่ว่ายังติดปัญหาทางการเมืองอยู่ ด้วยความที่ตอนนี้อุตสาหกรรมน้ำมันมันเป็นเหมือนแกนหลักของโลก ตราบใดที่อุตสาหกรรมนี้ยังมีอำนาจอยู่ เทคโนโลยีหรือพลังงานสะอาดมันก็จะโตได้ยาก

เราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ชุมชนนิเวศวิถี (Ecovillages) เราชอบมาก เขาพูดถึงแนวคิดของความยั่งยืนของทางตะวันตกกับตะวันออก บอกว่าทางโลกตะวันตก มันคือการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มันคือ Green Technology ที่มีราคาแพงและไฮเทค ใช้วัสดุสำเร็จรูป ประสิทธิภาพสูง เช่น Solar Panel หรืออะไรแบบนี้ ซึ่งทำจาก mindset ของ technocrat หรือคนที่คิดว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง คือไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะ มัน green จริง แต่กว่ามันจะมาเป็นสิ่งนี้ เช่น รถ Prius มัน green จริงๆ นะ แต่กว่ามันจะมาเป็นรถนี้ได้หนึ่งคัน ก็คือคุณใช้พลังงานสูงมากในการผลิต ขนส่ง ฯลฯ ใช้ทรัพยากรไปเยอะมาก นี่คือความคิดของความไฮเทคว่ามันจะต้องสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่

แต่การแก้ปัญหาของทางตะวันออกหรือในประเทศกำลังพัฒนา ความ Eco มันจะไม่ใช่ Green Technology แต่มันจะเป็น Natural Technology ซึ่งเป็น low-tech แต่ใช้ภูมิปัญญา ใช้วัสดุดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น แทนที่จะใช้ Prius ก็มาใช้รถมือสองที่มันมีอยู่แล้ว หรืออย่างการสร้างบ้าน แทนที่จะสร้างแบบ glass house ติด Solar Panel ก็คือสร้างบ้านไม้ไผ่หรือบ้านจากภูมิปัญญาที่เอื้อต่อพื้นที่ไหม ซึ่งถ้าแต่ละพื้นที่กลับไปสู่ภูมิปัญญาของแต่ละพื้นที่มันจะ green ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจมาก เพราะคิดว่าประเทศเรามันไม่น่าจะเป็น hi-tech หรือ green-tech ได้ แต่คนจำนวนมากก็อยู่ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถผสมผสานความดั้งเดิมกับความใหม่เข้าด้วยกัน มันน่าจะดีกว่าการพยายามรอให้เกิดเทคโนโลยีจ๋าๆ เพื่อเอามันมาแก้ไข

พูดถึง Fashion Revolution ทำงานเกี่ยวกับอะไร

ภาพรวมคือ Fashion Revolution เป็นเครือข่ายเคลื่อนไหวเพื่อแฟชั่นที่เป็นธรรมและยั่งยืน ทำงานในระดับโลก มีมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ในไทยก็จะมีอุ้งกับพี่ลูกแก้ว (ภัสสร์วี โคะดากะ) ที่ทำแบรนด์ Folkcharm มาทำ Fashion Revolution ในไทยด้วยกัน เราเริ่มตั้งแต่ปี 2018 ที่มีการจัดกิจกรรม เสวนา ฉายสารคดี discuss ภาพยนตร์กัน ช่วงแรกๆ ก็จะมีเฉพาะเจ้าของแบรนด์ ผู้ประกอบการสังคม หรือคนที่สนใจเรื่องสังคมอยู่แล้วมาเข้าร่วม

โดยที่ผ่านมาเราทำงานกันเป็นกลุ่มอาสาสมัครประมาณ 6-7 คนที่มาช่วย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่หลากหลาย ตั้งแต่นักออกแบบ ผู้ประกอบการสังคม นักสื่อสารเขียนคอนเทนต์ นักการเงินก็มี ก็คือเหมือนพอเราจัดกิจกรรมมาปีที่สอง ก็มีคนที่มาร่วมกิจกรรมแล้วชอบ เขาก็มาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ก็เหมือนเป็น community ใหม่ เพราะเราไม่ได้เป้าหมายว่ามันจะต้องเป็นการค้าด้วย

พอมันเริ่มผ่านมาสักพักเราก็เริ่มขยายฐานเป็นผู้บริโภคมาเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ พอปีแรกจบไป คนได้เริ่มรู้ถึง concept ของเราแล้ว เราได้คำถามเยอะมากๆ จากผู้บริโภค ประมาณว่า เข้าใจนะว่า fast fashion มันไม่ดี แต่ว่า sustain มันแพง เข้าถึงไม่ได้ เราก็เลยมีความตั้งใจว่าในปีที่สอง เราจะทำกิจกรรมที่ทำให้คนเห็นว่า sustain มันไม่ได้จำเป็นต้องไปซื้อของแพง อย่างปีที่แล้วเราก็ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าระหว่างผู้บริโภค จัดเวิร์คช็อปงานคราฟต์ เวิร์คช็อป mindful consumption คือพยายามพาคนมาสะท้อนการบริโภคของตัวเอง 

แล้วก็เริ่มพาคนเมืองไปเชื่อมโยงกับแม่ๆ ในชุมชน เพื่อพาคนเมืองไปดูต้นตอการผลิต เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่ากว่าจะมาเป็นเสื้อผ้านี่มันต้องผ่านอะไรมาบ้าง ทำให้คนได้เห็นเรื่อง local knowledge ที่มันแบบ Artisan อ่ะ ซึ่งมันเป็นแกนใหญ่มากใน slow fashion คือส่วนที่ตรงข้ามกับ fast fashion เนอะ คือ slow fashion ในที่นี้ไม่แปลว่าต้องช้ามาก คือมันจะมีตั้งแต่ Artisan ที่ช้ามาก ไปจนถึงการแลกเสื้อผ้า ที่ทำให้เราได้ของใหม่อย่างรวดเร็ว แต่มันเป็น fast slow คือตอนเราพาคนเมืองไปดูการทำฝ้าย ก่อนหน้านี้เขาอาจจะมีคำถามว่า sustain fashion มันคืออะไร มันดียังไง แต่พอเขาได้ไปเห็นเองคือเขาเข้าใจเลย

แล้วสิ่งที่ Fashion Revolution กำลังขับเคลื่อนอยู่ในตอนนี้

ปีที่แล้วที่แลกเสื้อผ้านี่เราชอบมากนะ แต่น่าจะไม่ได้จัดไปอีกนานเพราะมีโควิดเข้ามา มันก็ดูอันตราย และโควิดมันทำให้ความกลัวเสื้อผ้ามือสองมากกว่าเดิมอีก ก็เลยอยากหันคนจากเสื้อผ้าจำนวนมาก มาเป็นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดีกว่า เป็นมุมของ well-being มากกว่า

ปีนี้เราเห็นแล้วว่ามันมีตลาดที่สนใจ คือแต่เดิมเรามีฐานผู้บริโภคและมีฐานผู้ผลิต แต่เรายังไม่เคยพาสองกลุ่มนี้มาเจอกัน เลยกำลังพัฒนาไอเดียกันอยู่ว่าเราจะทำยังไง ให้มันเป็นนวัตกรรมสังคมที่สร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนคุณค่าหรือมูลค่ากัน เพราะอย่างผู้บริโภคเองก็จะมีปัญหาว่าควรจะซื้ออะไร จะเลือกยังไง ส่วนผู้ผลิตก็จะมีปัญหาว่าเข้าไม่ถึงผู้บริโภค เพราะเขาไม่ได้ทำตลาดเก่ง หรือไม่อยู่ในออนไลน์ เราก็จะไปทำงานหลังบ้าน ไปเป็นตัวกลางสร้างเครือข่าย

ประกอบกับการที่โควิดเข้ามา เราว่ามันเป็นโอกาสที่ดี เพราะคนเริ่มตั้งคำถามกับวิถีชีวิตมากขึ้น แล้วผู้ผลิตเองก็ไม่มีงาน โดนเลิกจ้าง อยู่บ้านเฉยๆ เงิน 5,000 ก็ไม่ได้ รายได้หายไปเลย ปกติคนกลุ่มนี้เขาจะมีรายได้จากการออกแฟร์ หรือการขายตลาดออฟไลน์ แต่เขายังไม่เข้าถึงตลาดออนไลน์ของผู้บริโภค พอเจอโควิดปุ๊บทุกอย่างมันหยุดเลย เราเลยอยากทำโปรเจ็คนี้ให้มันเกิดการแลกเปลี่ยนที่ยั่งยืนได้ โดยไม่ต้องรองานโอท็อปอะไรแบบนี้

คิดว่าแนวโน้มของผู้บริโภคในด้านแฟชั่นจะเป็นอย่างไรในอนาคต

เราว่าโควิดมันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โควิดมันคือคลื่นระลอกแรก แต่ระลอกต่อมามันคือ Economic Recession ภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง ซึ่งอันนี้มีผลแน่นอนต่อผู้บริโภค ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่ใน survival mode ที่ต้องคิดหน้าคิดหลัง ไม่จ่ายเงินพร่ำเพรื่อ ไม่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแล้ว มันจะมีการ reduce ในทุกมิติ คนจะคิดถึงความเป็น local มากขึ้น สนับสนุน local กันมากขึ้น พึ่งพาตัวเองมากขึ้น เหมือนที่เราเห็นกันว่าคนหันมาปลูกผัก ทำอาหารกินเอง เหมือนคนเห็นความสำคัญว่าเราต้องทำเองได้ด้วยนะ

แล้วก็ mentality อีกอันที่จะเกิดในช่วงเดียวกัน เราว่ามันคือเรื่อง health and well-being เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยมันจะเป็นคุณค่าหลักเลยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ตัวแฟชั่นเองเดิมทีที่เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ ความฟุ่มเฟือย ถ้าในอนาคตผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง well-being หรือเรื่อง sustain เขาก็จะต้องหันมาทางนี้ด้วย เราว่าผู้บริโภคจะมีนิยามใหม่ว่าชีวิตที่ดีเป็นยังไง อยู่ในโหมดที่ไม่ประมาทมากยิ่งขึ้น

ส่วนแนวโน้มผู้บริโภคอีกฝั่งที่ไม่ใช่ survival mode คือคนที่มีเงิน หรือรอใช้เงินอยู่ เราว่าสถานการณ์ตอนนี้อาจจะทำให้เขาเป็นไปในทิศทาง revenge of consumption คือแบบเก็บกด อยากใช้เงินอะไรแบบนี้ก็เป็นไปได้

ถ้ามองในระดับโลก เราคิดว่าแนวโน้มหลังจากนี้คนอาจจะคิดถึงความยั่งยืนมากขึ้น คือมันมีตัวเลขผลสำรวจของยุโรปกับอเมริกาออกมาว่า ผู้คนจะซื้อสินค้าหรือบริโภคอย่างยั่งยืนมากขึ้นหลังจากหมดโควิด เหมือนโควิดมันมาเป็นตัวเตือนว่าคุณต้องนึกถึงระยะยาวนะ

คือภาพรวมมันก็จะเกิดผู้บริโภคหลากหลายแบบแหละ แต่เรื่องที่เราอยากให้เกิดคือ localization การกลับมาสู่ความเป็นท้องถิ่นมันจะทำให้เกิดความยืดหยุ่น และทำให้เราพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ โดยที่ไม่ได้ต้องพึ่งพาการส่งออกอย่างเดียว เราคิดจากที่เห็นตอนนี้นะ พวกตลาดออนไลน์อย่าง จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส มันคือการสะท้อนเรื่องนี้จริงๆ ว่าคนหันมาให้ความสำคัญกับ local และหันมาสนับสนุนกันเองมากขึ้น


Contributor