02/03/2022
Life
‘ปลายทางคือเราอยากอยู่ในประเทศที่มีระบบที่ดี’ อวัช รัตนปิณฑะ และคำถามของเขาในฐานะพลเมือง
ชยากรณ์ กำโชค
สำนึกในหน้าที่พลเมืองคือเนื้อหาที่เราร่ำเรียนกันมาตั้งแต่ประถมศึกษา แต่เคยสงสัยไหมว่า เราได้พึงตระหนัก ใช้สิทธิและทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดีอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง?
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาเชิงโครงสร้าง และเรื่องช่วยบั่นทอนคุณภาพชีวิตในเมืองที่เราพบเจออยู่ทุกวัน คงไม่แปลกหากเราเริ่มตั้งคำถามว่าในฐานะพลเมืองหนึ่งคนของประเทศไทย เราทำอะไรได้บ้างเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราเอง แต่เป็นเพื่อสังคมทั้งหมด
อัด-อวัช รัตนปิณฑะ หนึ่งนักแสดงหนุ่มรุ่นใหม่ที่เราเห็นเขาออกมาแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม และอธิบายต่อปรากฏการณ์สังคมที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางคนรอบข้างที่บอกว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง เสียงของอวัชจึงยิ่งดังและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้ตระหนักในสิทธิพลเมืองที่เรามีกันอยู่ในตัวทุกคนไม่น้อย
ถ้าใครติดตามอวัช เขายังมีโปรเจกต์ส่วนตัวที่สื่อสารเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเลในเพจ Save Thailay และเร็วๆ นี้เขาเพิ่งไปร่วมโปรเจกต์ให้ความรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับขยะทะเลกับเครือข่ายคนรักทะเล Sustainable Ocean Alliance Thailand (SOA Thailand) เป็นอีกพาร์ทหนึ่งที่เขาตั้งใจและจริงจังกับมันไม่แพ้งานในวงการบันเทิง
ระหว่างที่คุยกัน อวัชย้ำตลอดว่าการที่เขาออกมาพูดและตั้งคำถามกับปรากฎการณ์ผิดปกติในสังคม ไม่ใช่ในฐานะคนผู้มีชื่อเสียง แต่คือการใช้สิทธิในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ปกติโดยไม่มีพริวิเลจใดเหนือกว่ากัน
ชวนอ่านบทสนทนาระหว่างเรากับอวัชข้างล่างนี้ แล้วมาทำให้เมืองที่ทุกคนใช้สิทธิพลเมืองอย่างเต็มที่ไม่ใช่แค่ภาพมายา
จุดเริ่มต้นของการสื่อสารสาธารณะในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมคืออะไร
จุดเริ่มต้นเกิดจากผมชอบเที่ยวธรรมชาติอยู่แล้วและชอบดำน้ำมากๆ ทุกครั้งที่ไปทะเลเราจะได้พลังอะไรกลับมาเสมอ ผมก็เที่ยวแบบนี้มาตลอดโดยไม่ได้คิดเลยว่าผลกระทบที่มีต่อทะเลมีมากขึ้น หลังเรียนจบ ช่วงนั้นเราก็ไปดำน้ำบ่อยขึ้น เริ่มเห็นข่าวเยอะขึ้นและเจอขยะที่หาดกับตัวเองมากขึ้นด้วย ก็เริ่มกระตุกเราว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยทำอะไรตอบแทนธรรมชาติเลย เราเอาแต่ take จากเขาอย่างเดียว
ตอนนั้นผมเริ่มคิดจากว่าเราควรพูดประเด็นไหนที่คนธรรมดาสามารถทำได้เลย เรามีคนติดตามอยู่ประมาณหนึ่ง อย่างน้อยถ้าเราได้พูดเรื่องนี้ออกไปในแพลตฟอร์มของเรา ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งให้คนเริ่มหันมาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผมรู้สึกว่ามีอีกหลายคนที่ยังไม่เห็นปัญหาหรือยังไม่รู้เรื่องนี้ เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มทำเพจ ‘Save Thailay’ ขึ้นมา เราเองก็ไม่มีความรู้เชิงวิชาการและไม่สามารถเปลี่ยนอะไรยิ่งใหญ่ได้ แต่แค่สื่อสารสิ่งที่เราเห็นและรับรู้ออกมาอย่างย่อยง่ายที่สุด เพื่อให้คนทั่วไปเขาเกิดความรู้สึกร่วม เกิด awareness หรือเกิดการตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้น
มีช่วงหนึ่งผมไปเรียนหลักสูตรการอนุรักษ์ทางทะเล (Conservation Diver) ที่เกาะเต่า เพราะเราอยากเข้าใจตรงนี้มากขึ้น สิ่งที่เราได้คือเราไปเจอคนที่อยากเปลี่ยนแปลงหรือดูแลทะเลให้ดีขึ้นเหมือนกัน ผมเห็นว่ามีอีกหลายคนที่สนใจตรงนี้แต่เขาอาจจะไม่มีเสียงที่ดังมากพอ ผมได้คุยกับหลายๆ คน ทุกคนทำงานนี้ด้วยใจจริงๆ ถึงเขาไม่ได้เงินแต่เขาก็ยังเลือกที่จะทำเพราะมันคือแพสชันของเขา ผมก็เลยรู้ว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มักไม่ได้รับการสนับสนุนมันเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐบาล การเมือง ด้วย แต่จะไปเปลี่ยนแปลงทันทีเลยก็ยากมาก ผมเลยคิดว่าจะทำยังไงให้เรื่องตรงนี้สื่อสารไปสู่คนมากขึ้น ก็ยิ่งอยากทำต่อ เราจะพยายามช่วยพูดถึงต้นตอของปัญหาจริงๆ ด้วย แต่มันไม่ได้แก้ได้ภายใน 1-2 วันแล้วจบ มันใช้เวลามากๆ เพราะงั้นสิ่งที่เราทำคือทำควบคู่กันไป เราเห็นปัญหาอะไรตรงหน้าที่ทุกคนสามารถร่วมกันแก้ไขได้เลย หรือร่วมทำอะไรสักอย่างด้วยกันได้
การเรียนรัฐศาสตร์ช่วยเปลี่ยนแปลงหรือหล่อหลอมความคิดเรื่องสังคม การเมือง หรือหน้าที่พลเมืองในตัวอัดอย่างไรบ้าง
ช่วงที่ผมเรียนที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้อินอะไรมาก แต่พอเริ่มขึ้นปี 2 เราได้รับ vibe หลายๆ อย่างจากคนในคณะ จากอาจารย์ พอเรามาอยู่ตรงนี้มันรายล้อมไปด้วยเรื่องการเมืองอยู่ดีไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่สนใจก็ตาม แล้วอยู่ดีๆ เชื้อนี้ก็จุดติดขึ้นมาโดยอัตโนมัติตอนช่วงเลือกตั้ง (ปี 2562) ที่มันพีคๆ เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองเหมือนกัน อยู่ๆ เราก็สนใจมาก อินมาก โดยที่ไม่รู้ตัวด้วย
แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว เชื้อพวกนี้อาจจะมีอยู่ในตัวผมตั้งแต่เด็กเพียงแต่ไม่ได้สำรวจมัน เราเป็นคนแคร์คนอยู่แล้ว ทุกครั้งที่เดินไปตามถนนหรือนั่งรถผ่านแล้วเห็นคนที่เขาขาดโอกาส ขอทาน คุณยาย คุณตาที่ไม่มีคนดูแล เราจะชอบถามพ่อกับแม่ตลอดว่าทำยังไงดี เราไม่ชอบเห็นภาพแบบนี้ เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเรามาตลอดว่าเราสังเกตเห็นความเหลื่อมล้ำแบบนี้ พอเราโตก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น การเรียนรัฐศาสตร์ก็ช่วยให้เราเห็นโครงสร้างสังคม รู้ต้นตอของปัญหาว่ามันคืออะไร เลยเป็นจุดที่ทำให้เราสนใจตรงนี้มากขึ้น และเราก็เริ่มลงไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานอกเหนือจากที่เรียนว่ามันเกิดอะไรขึ้น ค่อยๆ ไต่ไปจนเข้าใจคอนเซปต์ทั้งหมด
ช่วงแรกที่อัดออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง ประชาธิปไตย หรือปัญหาต่างๆ ในเมือง กังวลอะไรไหมเกี่ยวกับหน้าที่การงานในวงการบันเทิงของตัวเอง
ที่ผ่านมา สังคมที่เราโตมาทำให้การเมืองเป็นเรื่องที่อย่าไปสนใจ เราก็อยู่แบบนั้นกันมาเรื่อยๆ แต่วันนี้ด้วยสภาพสังคมต่างๆ เราสังเกตเห็นความผิดปกติในระบบที่เกิดขึ้น เราจะปล่อยให้ความผิดปกติมันเกิดต่อหน้าโดยไม่พูดถึงก็ไม่ได้ เลยเป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งเราก็ตั้งคำถามมาตลอดว่าทำไมถึงพูดไม่ได้ ทำไมต้องเป็นแค่ฝ่ายเดียวที่พูดได้ พอเรามีความเห็นต่างก็จะถูกตัดสินทันที ทั้งที่เราก็ทำความเข้าใจมันมาแล้วในระดับหนึ่งและเชื่อว่ามันเป็นความคิดเห็นที่ไม่ได้ทำร้ายใคร สิ่งที่เราโพสต์ก็เป็นความจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ
เอาจริงๆ ผมไม่ได้คิดเยอะมาก ตอนนั้นเราเห็นแต่ปัญหา ซึ่งบางปัญหาก็กระทบมาถึงชีวิตเราด้วย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการเดินทาง ผมเป็นคนเดินทางด้วยรถสาธารณะอยู่แล้ว เราไม่ขับรถและเราไม่ได้อยากขับรถด้วย เราชอบเดิน ชอบนั่งรถไฟฟ้า วันหนึ่งเราเห็นปัญหาว่าภาษีที่จ่ายไปมันไม่ได้ถูกพัฒนา และนับวันค่าโดยสารก็ยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ เทียบกับรายได้ขั้นต่ำมันยิ่งไม่เมคเซนส์เลยในการจะอยู่ประเทศนี้ ณ ตอนนั้นผมแค่คิดว่าเราอยากออกมาพูดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราแค่อยากพูดเพราะเราอยากให้ประเทศมันดีขึ้นน่ะ อยากให้รู้สึกว่าการพูดตรงนี้มันเป็นเรื่องปกติได้ และถามว่าทำไมเราถึงกล้าพูดเพราะเราอยากแชร์ความเห็นนี้อยู่แล้ว มันเลยทำให้เราได้เปิดรับฟังความเห็นจากทุกๆ ฝ่ายมากขึ้น มีคนเริ่มมาคุยกับผมเยอะขึ้นว่าทำไมถึงกล้า มีคนเข้ามาขอคำปรึกษา ถึงท้ายที่สุดแล้ว มันก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวเราก่อนด้วย
ในนัยหนึ่ง การที่อัดเริ่มออกมาแสดงความเห็นก็เท่ากับชวนให้คนอื่นออกมาพูดเรื่องนี้มากขึ้น ตระหนักในสิทธิพลเมืองของตัวเองมากขึ้นเหมือนกัน เรามองตัวเองในฐานะ influencer ด้านนี้ด้วยรึเปล่า
ถ้าเริ่มแรกเลย ผมไม่ได้มองว่าผมเป็น Influencer หรือศิลปินอะไรเลยนะ ผมไม่ได้ภูมิใจกับการมีพริวิเลจขนาดนั้นในการมีคนติดตาม โอเค มันดีแหละ แต่เราพูดเพราะเราเป็นประชาชนคนหนึ่ง มนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ประเทศนี้ สุดท้ายเราไม่ได้อยากมีสเตตัสเป็นศิลปิน ดารา นักแสดงไปตลอด สุดท้ายปลายทางของชีวิตคือเราอยากอยู่ในประเทศที่ระบบมันดี แต่พอเราพูดไปเรื่อยๆ มันก็พ่วงมาด้วยการที่มีคนติดตาม ก็มีคนฟังมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนทั่วไปแต่เป็นคนในวงการด้วย เขาชอบมาบอกว่านับถือผม ซึ่งผมคิดว่าไม่ต้องนับถือผมหรอก เราทำเพราะเราคิดว่ามันต้องเป็นแบบนั้น แต่ก็เหมือนเรากำลังใช้เสียงของเราให้เกิดประโยชน์จริงๆ ให้คนรอบข้างรู้ว่า เฮ้ย! มันก็พูดได้นี่หว่า ทุกคนแค่กลัวกรอบทางสังคมที่เขาครอบมาว่าจะเกิดผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ซึ่งถามว่ามันมีไหม ก็มีผลจริงๆ แต่ผมคิดว่าถ้าเราไม่พูดวันนี้ แล้วเมื่อไหร่มันจะเริ่มต้นไปสู่การเปลี่ยนแปลง
คิดยังไงเวลาเราออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แล้วบางคนชอบพูดว่า ‘ให้เริ่มเปลี่ยนจากตัวเองก่อน’ สิ่งนี้สะท้อนเรื่องความเข้าใจในสิทธิของพลเมืองในประเทศไทยอย่างไร
ผมว่าด้วยสภาพสังคมไทยที่สอนว่าไม่ควรไปยุ่งเรื่องการเมืองมันฝังรากลึกมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว ทุกคนคิดว่าการเมืองคืออีกเรื่องหนึ่งของชีวิต หน้าที่พลเมืองที่เราต้องทำคือควรจะทำมาหากินด้วยตัวเอง ไม่ต้องสนใจหรอกว่าใครจะปกครองประเทศ ใครจะเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ ก็ใช้ชีวิตของคุณ ทำมาหากินหาไป นี่คือสิ่งที่สังคมฝังประชาชนให้คิดอย่างนี้มาตลอด
แต่วันนี้ที่เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาตระหนักเรื่องสิทธิพลเมืองกันเยอะขึ้นเพราะเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่คือระบบที่แตกต่างกันทั่วโลก เราเห็นการเปรียบเทียบจากประเทศที่มีระบบการเมืองที่ดีแล้วเป็นยังไง สิทธิของพลเมืองในประเทศนั้นแตกต่างจากที่เรามียังไง ทำให้ทุกอย่างมันเกิดคำถามขึ้นมา
ผมเลยรู้สึกว่าเวลาที่คนบอกว่าทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ก็ใช่ แต่การเริ่มต้นนั้นต้องเริ่มจากเรามีระบบที่ดีก่อน เราต้องมีปัจจัยสี่ที่มาซัพพอร์ตเราที่ดีก่อน สิ่งนี้ก็ย้อนกลับไปว่าคุณต้องมองเห็นปัญหาก่อนว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลมีหน้าที่อะไร รัฐบาลมีหน้าที่ปกครองประชาชน ดูแลความเรียบร้อย คุณภาพชีวิตของประชาชน แล้วค่อยตั้งคำถามไปว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้มันดีหรือยัง ทำให้คุณมีคุณภาพชีวิตดีหรือยัง ถ้าคุณบอกว่าทุกอย่างเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง แต่คุณยังต้องตื่นตีห้าไปทำงานถึงห้าทุ่มแล้วก็วนลูปชีวิตอย่างนี้นี่คือดีแล้วใช่ไหม
สิ่งที่จำเป็นคือหลังจากนี้ ทุกคนควรจะต้องรู้ว่าในฐานะที่เราเสียภาษีไปตั้งเท่าไหรไม่รู้ต่อปี สิ่งที่เราควรจะได้คือ ระบบการศึกษา สาธารณสุข การเดินทาง การกินอยู่ที่ดี แม้ผมจะรู้สึกว่ามันอาจจะเปลี่ยนยากเพราะสังคมไทยเราเติบโตมาโดยเราไม่ได้สอนให้คนเข้าใจสิทธิตัวเองจริงๆ แต่ไหนแต่ไร ถึงแม้เราจะมีวิชาหน้าที่พลเมืองก็ตาม แต่เขาไม่ได้สอนให้เราเข้าใจเลย แต่ในวันนี้ที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วในสังคมก็เป็นเรื่องที่ดี เรากำลังค่อยๆ ช่วยกันทำให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วเรามีสิทธิได้อะไรบ้างในฐานะพลเมือง
ถ้าไม่ต้องคิดว่าเป็นไปได้ไหมหรือจะใช้เวลานานเท่าไหร่ ในอนาคตอยากเห็นกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยเติบโตในทิศทางไหนที่ตอบโจทย์ความต้องการพลเมืองจริงๆ
ผมว่าปัจจุบันรากของปัญหาคือการศึกษา ตอนนี้โรงเรียนดีๆ มันมีไม่กี่แห่งและกระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ในอนาคตถ้าเราให้คุณค่ากับระบบการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษามากขึ้น กระจายโรงเรียนต่างๆ ให้มีคุณภาพการศึกษาใกล้เคียงกันที่สุดเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ และควรเป็นสิ่งที่ทุกคน afford ได้หรือได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ นี่คืออย่างแรกที่ผมอยากเห็นเลยเพราะผมรู้สึกว่าทุกคนควรได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ ในทางหนึ่งมันก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วยเหมือนกัน อีกเรื่องที่คิดว่าสำคัญคือระบบสาธารณสุข การจะได้รับการดูแลสาธารณสุขที่ดีจริงๆ ก็ต้องมีตังค์เหมือนกัน ทั้งที่สิ่งนี้ควรจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ตอนนี้เหมือนกับว่าถ้าไม่มีตังค์ก็ต้องรอ ลุ้นเอาว่าจะอยู่หรือไป มันไม่มีความแน่นอนเลย
อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ผมว่าสำคัญมากๆ ปัจจุบันถ้าจะเดินทางในกรุงเทพฯ ก็ต้องขับรถยนต์ใช่ไหมครับ ไม่งั้นก็มอเตอร์ไซค์เพราะเร็ว แล้วถามว่ารถเมล์ รถไฟฟ้า ถูกออกแบบมาให้ใครใช้ ด้วยคุณภาพ สภาพถนนหรือผังเมือง มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทุกอย่างเชื่อมต่อกัน ถ้าคุณอยากเดินทางโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาก็ต้องขับรถยนต์และต้องมีตังค์จ่ายค่าทางด่วนอีกซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะจ่ายได้ พื้นฐานคือรถสาธารณะควรออกแบบมาให้ทุกคนได้ใช้จริงๆ ในราคาที่เหมาะสมด้วย เราต้องมาคำนวณกับรายได้ขั้นต่ำของประชากรหมู่มากด้วยว่าทำยังไงให้เขาสามารถใช้บริการได้โดยมีเงินไปทำสิ่งอื่นๆ หรือมีเงินไปเลี้ยงครอบครัวด้วยได้ อันนี้เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญ
เวลาผมไปเที่ยวต่างประเทศก็เห็นความแตกต่างของสิ่งเหล่านี้มากๆ แล้วกลับมาดูประเทศไทย เราเห็นว่าไม่มีอะไรที่เอื้อต่อประชาชนเลย เป็นประเทศที่ถ้าคุณไม่มีตังค์ คุณก็จะใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากและไม่มีความสุขเลย ผมเลยรู้สึกว่าถ้ากรุงเทพฯ หรือประเทศไทยแก้สิ่งหลักๆ เหล่านี้ได้ อาจจะช่วยให้หลายๆ คนลืมตาอ้าปากได้หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เรื่องที่ยกมาเป็นเรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องแก้ตั้งแต่เชิงโครงสร้างทั้งหมด แล้วในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง สิ่งที่เราสามารถทำได้เลยเพื่อเรียกร้องจากรัฐให้ได้คืออะไร
ผมว่าเราก็เรียกร้องกันอยู่ทุกวันเลยครับ การที่เราออกมาประท้วง ออกมาส่งเสียงก็คือการเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาด้วย แต่สิ่งนี้มันยากตรงที่เขายังไม่รับฟังหรือไม่ได้ take มันจริงจัง ยกตัวอย่างเรื่องค่าโดยสารที่ขึ้นราคา เขาก็เห็นอยู่กับตาว่ามันเป็นปัญหายังไง แต่ถ้าเขาไม่รับฟัง มันก็ทำอะไรไม่ได้ อันนี้เป็นความน่าเศร้าของการเป็นประชาชนในประเทศนี้เหมือนกัน ที่เรามีปัญหา เรารู้กันอยู่ และเราพูดแล้วด้วย แต่มันถูก ignore เป็นความเจ็บปวดและความรู้สึกแย่ที่เราเกิดมาเป็นประชาชนในประเทศนี้ ผมรู้สึกว่าประชาชนทุกคนเขาส่งเสียงเต็มที่แล้วอ่ะ ทุกคนพูดแล้ว ผมเลยไม่รู้ว่ายังมีทางไหนที่ประชาชนคนธรรมดาทำได้อีก ม๊อบก็ไปแล้ว ประท้วงก็เริ่มแล้ว เข้าชื่อเสนอกฎหมายก็ทำแล้ว ประชาชนตอนนี้ทุกคน active มากๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแม้แต่กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยนะครับ แต่สุดท้ายก็กลับไปที่ต้นตอของปัญหาว่ารัฐบาลไม่ได้ take action หรือไม่ได้มาเพื่อดูแลประชาชนจริงๆ เขามาเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง ก็เศร้าครับ
งั้นในวันนี้ที่เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม เริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาลมากขึ้นแล้ว อัดมองว่าเรามีความหวังมากน้อยแค่ไหนที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง
ผมว่าในอนาคตเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอนครับ ผมเชื่ออย่างนั้น และมันกำลังดำเนินไปสู่สิ่งนั้นแหละครับ แค่ตอนนี้ยังมีอุปสรรคหรือการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยที่ต้องใช้เวลาอยู่ แต่คนรุ่นใหม่ทุกคนเขาไม่ได้เกิดมาเป็นแค่ Citizen of Thailand แต่เราคือ Global Citizen แล้ว เขาเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองไม่ใช่อย่างที่เราเคยเรียนมา นี่คือการสร้างฐานประชากรรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วด้วย และจะเกิดขึ้นหลังจากนี้อีก แค่รอวันเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่นจริงๆ ให้เวลาทำงานขงอมัน และสิ่งที่เราทำอยู่ก็ทำกันต่อไป สื่อสารกันต่อไป พูดกันต่อไป ให้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องปกติมากๆ ในสังคม
ระหว่างที่เรารอให้เวลาทำงาน จะทำยังไงให้เรายังคงมีความหวังต่อไปได้ว่ามันจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นแน่นอน
นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดที่ทุกคนกำลังเจอ คือเรื่องการรักษาพลังแห่งความหวังไว้ครับ เพราะการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ใช้เวลาอยู่แล้ว และสิ่งที่มันลดทอนความหวังของเราก็มีให้เห็นทุกวัน
ผมมีวิธีการของผมคือการบาลานซ์ตัวเองกับสภาพสังคม ในช่วงหนึ่ง เราทุกคนก็ลุยเต็มที่ อยู่กับมันเยอะมากๆ บางทีเราคาดหวังว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันเร็ว แต่ถ้าเราถอยออกมา เราจะรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังต่อสู้อยู่คือรากที่ฝังลึกมากๆ เราจึงต้องเชื่อว่าเราเป็นทีมเดียวกันที่ทุกคนมีฟังก์ชั่นที่ต่างกันได้ อาจจะมีแนวหน้าที่เขาขับเคลื่อนเป็นหลักและช่วยดึงคนที่หมดหวังว่ายังมีคนที่ลุยแบบนี้อยู่ แต่ช่วงที่เราถอยออกมาก็ยังมีเวย์ที่เรายังทำได้อีกที่ไม่ใช่ไปอยู่ข้างหน้าอย่างเดียว ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องทำเหมือนกันหมด เราสามารถทำในเส้นทางของตัวเองที่เรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ สุดท้ายเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียวนะครับ เพียงแต่ทุกคนสู้ในบริบทที่แตกต่างกัน ในแต่ละช่วงเวลาแค่นั้นเอง
การที่เราจะรักษาความหวังนี้ไว้ เราต้องรู้จักตัวเองด้วยเหมือนกันว่าถึงจุดนี้เราต้องแปะมือล่ะ และเดี๋ยวจะมีคนที่คิดเหมือนเรานี่แหละมารับช่วงต่อ และเราก็ไปเยียวยาตัวเอง ถ้าเราโอเคแล้วเราก็กลับมาใหม่ สิ่งนี้จะช่วยให้เรารักษาความหวังและอุดมการณ์การต่อสู้ของเราได้ในระยะยาวมากขึ้น
บทสนทนากับอวัช ย้ำเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการเริ่มตั้งคำถามกับปัญหาของบ้านเมือง ทำความเข้าใจกับสิทธิพลเมืองที่พึงมี และพยายามหาคำตอบกับปรากฏการณ์สังคมตรงหน้าด้วยกระบวนการประชาธิปไตย นี่คือสิทธิและหน้าที่ที่พลเมืองอย่างเราทุกคนทำได้อย่างปกติและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มีบทบาทหรือความถนัดแบบไหน เราทุกคนคือประชากรของสังคมและประชากรโลกที่ร่วมกับขับเคลื่อนเมืองให้ดีขึ้นได้ ด้วยความหวังที่เรามีอยู่ในตัว
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS