30/06/2023
Insight

วัด ละลายพื้นที่แช่แข็งทางศาสนาสู่การพัฒนาพื้นที่สาธารณะเมือง

กฤษฎา ชมภูพาน ณัฐชนน ปราบพล
 


ศาสนสถานมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นศูนย์กลางของชุมชน ตลอดจนเป็นพื้นที่ทางสังคมของคนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน หากมองบริบทของกรุงเทพมหานครจะพบว่า มีศาสนาสถาน ในรูปแบบของ “วัด” มากถึง 461 แห่ง วันนี้ The Urbanis จึงอยากชวนทุกท่านให้ลองคิดดูว่าหากมีการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ของวัดบางส่วนให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เพื่อรองรับกิจกรรมทางเลือกสำหรับคน ทุกเพศ ทุกวัยในชุมชน เมืองของเราจะเป็นอย่างไร?

วัด: โอกาสในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสาธารณะ

หากพูดถึง pain point ของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน คิดว่าการขาดแคลนพื้นที่สีเขียวสาธารณะใกล้บ้าน ที่ผู้คนสามารถเข้าไปเดินเล่น ออกกำลังกาย หรือพักผ่อนหย่อนใจ คงเป็นหนึ่งในนั้น โดยจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2566 กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 7.63 ตร.ม./คน ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุไว้ที่ 9 ตร.ม./คน นอกจากนี้ หากดูจากแผนที่แสดงตำแหน่งสวนสาธารณะด้านล่าง จะเห็นได้ว่าบางเขตของกรุงเทพมหานครนั้นไม่มีสวนสาธารณะเลย และมีระยะการเข้าถึงอยู่ที่ 4.5 กิโลเมตรซึ่งถือว่าเป็นระยะที่คนไม่สามารถเดินไปได้

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลของวัดที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบริเวณเขตเมืองชั้นในนั้นมีการกระจุกตัวของวัดอยู่มาก ทั้งนี้ หากมีแนวคิดหรือแนวทางในการพัฒนาพื้นที่บางส่วนของวัด ซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะอยู่แล้ว ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมร่วมกันของทุกภาคส่วน ก็อาจจะเป็นโอกาสในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสาธารณะในระดับชุมชนได้

วัดบันดาลใจ

แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันอาศรมศิลป์ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ บริษัทชูใจกะกัลยาณมิตร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการวัดบันดาลใจ มีที่จุดมุ่งหมายในการพลิกฟื้นความเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านกายภาพและจิตวิญญาณให้กับวัดทั่วประเทศ ผ่านกระบวนการออกแบบพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ การวางแผนการบริหารจัดการวัด และการส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาอย่างสมสมัย โดยในปัจจุบัน มีวัดที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 50 แห่ง และเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในวัดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะขอยกตัวอย่างบางส่วนดังนี้

วัดนางชีโชติการาม

วัดที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนเก่า ในพื้นที่วัดมีความสงบร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ อีกทั้งยังมีประเพณีเก่าแก่ คือ ประเพณีชักพระ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่ด้วยความเจริญที่มีมากขึ้นส่งผลให้พื้นที่โดยรอบวัดมีคอนโดมีเนียมมากถึง 6 แห่ง วัดจึงมีการวางแผนเพื่อรองรับความเจริญที่เพิ่มขึ้น โดยการปรับทางสัญจรและพื้นที่ใช้งานภายในวัด เพิ่มสาธารณูปโภคเพื่อรองรับกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก เช่น ประเพณีชักพระ การเข้าค่ายปฏิบัติธรรม และคงความสงบร่มรื่นของพื้นที่สีเขียวภายในวัด

ที่มาภาพ: โครงการวัดบันดาลใจ สถาบันอาศรมศิลป์

วัดสุทธิวราราม

ที่มาภาพ: โครงการวัดบันดาลใจ สถาบันอาศรมศิลป์

อีกหนึ่งวัดที่มีความน่าสนใจคือ วัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร ข้อมูลจากโครงการวัดบันดาลใจ ของสถาบันอาศรมศิลป์ อธิบายว่าวัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นย่านธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว ที่มีการขยายตัวสูงและโดยรอบไม่มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอต่อชุมชน บริเวณโดยรอบยังขาดพื้นที่สีเขียว และวัดมีการใช้งานหลักเป็นเพียงแค่สถานที่ในการจัดพิธีศพเท่านั้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่จอดรถโดยรอบวัดให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มความสงบร่มรื่น เปลี่ยนพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งานบนอาคารสวดศพให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ร่วมสมัย ที่เปิดให้เป็นพื้นที่พักผ่อนทั้งทางกายและจิตใจให้ผู้คนได้เข้ามาใช้งาน

สุสานวัดดอน

กรณีตัวอย่างสุดท้ายคือ สุสานวัดดอน หรือสุสานแต้จิ๋ว สุสานขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ที่มีการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่บางส่วนเป็นสวนสุขภาพ สำหรับการพักผ่อนและออกกำลังกายของคนในชุมชนโดยรอบ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น เทศกาลดนตรีในสวน ของกรุงเทพมหานคร

พื้นที่แช่แข็งทางศาสนาสู่การพัฒนาเมือง

จากกรณีศึกษาเห็นได้ว่าหากพื้นที่วัด หรือศาสนาสถาน ถูกปรับเปลี่ยนให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางกายภาพได้อย่างคุ้มค่าแล้ว ยังสามารถส่งเสริมการกลับมารวมกลุ่มกิจกรรมของคนในชุมชนเมืองในพื้นที่ทางศาสนา ทำให้พื้นที่ทางศาสนากลับมามีบทบาทในการเป็นศูนย์รวมจิตใจอีกครั้ง ส่งเสริมสุขภาวะของคนเมือง ช่วยกระตุ้นการออกจากบ้านเพื่อมาพักผ่อนหย่อนใจของคนเมือง และทำให้พื้นที่ทางศาสนาสามารถคงอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองได้อย่างยั่งยืน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

วัดนางชีโชติการาม จ.กรุงเทพฯ : วัดเก่าอันสงบร่มรื่นกลางชุมชนที่คงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ที่ยังคงมีประเพณีในอดีตและเป็นที่หลีกเร้นจากวิถีชีวิตแบบคนกรุง

วัดสุทธิวราราม จ.กรุงเทพฯ : วัดคู่โรงเรียนแหล่งเรียนรู้อันร่มรื่นกลางเมืองกรุง ที่พักผ่อนทางจิตวิญญาณ ของนักเรียน นักท่องเที่ยว และชุมชน

‘โครงการกรุงเทพเมืองสีเขียว 2030’: กรณีศึกษาของการกระจายภารกิจสู่การจัดการพื้นที่สาธารณะระดับละแวกบ้านบนที่ดินเอกชน


Contributor