30/05/2022
Insight
เศรษฐกิจใหม่ เปลี่ยนเมือง ขับเคลื่อนโลก
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
ระบบเศรษฐกิจของเมือง ถือเป็นหนึ่งตัวชี้วัดระดับความเจริญและการเติบโตของเมืองได้ โดยดูจากระบบเศรษฐกิจของเมืองว่ามีฐานเศรษฐกิจในประเภทไหน เช่นเดียวกับการพิจารณาโครงสร้างและจำนวนประชากร ดังนั้น วิธีการทำความเข้าใจเศรษฐกิจของเมืองหรือม้องถิ่น จะทำให้เราสามารถเข้าใจเมือง เข้าใจเมือง เข้าใจย่านของเรามากขึ้น
โดยทั่วไป นักผังเมืองหรือนักวางแผน ในการเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจของเมือง เราจะดูจาก ข้อมูลการจ้างงาน หรือรายได้ ซึ่งจำแนกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือกิจกรรมการผลิต ที่แยกออกเป็นหลายสาขา หรือที่รู้จักกันดี อย่างข้อมูล ผลิตภัณฑ์มวลรวม ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า สภาพัฒน์ ซึ่งจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามประเภทฐานอุตสาหกรรม รวมทั้งหมด 16 สาขา
นอกจากนี้ หากพิจารณาในเชิงทำเลที่ตั้ง เราสามารถพิจารณาจากขนาดและจำนวนนิติบุคคล ซึ่งขึ้นทะเบียนธุรกิจ ซึ่งแยกประเภทในรูปแบบเดียวกันนี้ ปัจจุบันการจัดประเภทธุรกิจนิติบุคคล จำนวน 21 หมวดใหญ่ (จากเดิมกำหนดไว้ที่ 17 หมวดตามประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม)
บทความนี้ ทีมงาน The UrbanIs และ เพจ ร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา จะพาทุกท่านสำรวจเศรษฐกิจมหานครกรุงเทพและย่านพระโขนง-บางนา กันว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกันบ้าง
FIRE STEM TAMI
3 กลุ่มเศรษฐกิจชั้นแนวหน้า อยู่ที่ไหนของ มหานครกรุงเทพ
ทางทีม TheUrbanIs ได้รวบรวมข้อมูลตำแหน่งของธุรกิจชั้นแนวหน้าทั้ง 3 กลุ่มคือ FIRE STEM และ TAMI ซึ่งจดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์การกระจุกตัวและความหนาแน่นในเชิงตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจเหล่านี้ว่าอยู่ตรงไหนกันบ้าง
หากพิจารณาในแผนที่นี้ เราจะพบว่าพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ทั้ง 3 ประเภทมากที่สุด คงหนีไม่พ้น
พื้นที่ย่านเศรษฐกิจศูนย์กลางเมือง (CBD) ในย่านสาทร-สีลม ระเบียงเศรษฐกิจถนนพระรามที่ 1 – ราชประสงค์ ระเบียงเศรษฐกิจถนนพระรามที่ 4 – กล้วยน้ำไท และย่านเศรษฐกิจอโศก-พระรามที่ 9
พื้นที่พาณิชยกรรมดั้งเดิม ในย่านเยาวราช-ตลาดน้อย ระเบียงเศรษฐกิจดั้งเดิมย่านเจริญกรุง-บางรัก และพื้นที่พาณิชยกรรมฝั่งธน-วงเวียนใหญ่
นอกจากนี้ในพื้นที่เมืองชั้นกลาง ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายกับพื้นที่เมืองชั้นในมีการกระจุกตัวของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญคือระเบียงเศรษฐกิจสุขุมวิทใต้ หรือ ย่านพระโขนง-บางนา ซึ่งเชื่อมพื้นที่บริเวณแนวแกนถนนพระรามที่ 4 และพระรามที่ 1 ตามแนวเส้นทางถนนสุขุมวิทและแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อเชื่อมไปยังพื้นที่เมืองปากน้ำสมุทรปราการ
กลุ่มเศรษฐกิจ FIRE
นั่นคือ กลุ่มเศรษฐกิจยุคหลังสมัยใหม่ การเข้ามาของระบบการเงินที่เริ่มซับซ้อน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือประเภทอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้คือ ธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร (Finance) ธุรกิจประกันภัย (Insurance) การลงทุนและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Real estate)
กลุ่มเศรษฐกิจ FIRE ถือเป็นธุรกิจขั้นสูงของเมือง และเป็นตัวชี้วัดพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมือง หากมีการกระจุกตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทนี้ สำหรับในมหานครกรุงเทพ ปัจจุบันกลุ่มเศรษฐกิจ FIRE ยังคงมีความสำคัญเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เเม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงโครงสร้างและรูปแบบธุรกิจไปบ้างก็ตาม ดังที่ปรากฏการเป็นย่านเศรษฐกิจของมหานครกรุงเทพ ซึ่งมีกลุ่มบริษัท สำนักงานใหญ่/สาขา ของธุรกิจประเภทการเงินการธนาคาร กลุ่ม BIG4 ของธุรกิจบัญชี/การลงทุน ในพื้นที่ย่านสีลม-สาทร เป็นต้น
กลุ่มเศรษฐกิจ STEM
ทันสมัยขึ้นมาหน่อย สำหรับน้อง ๆ นักศึกษาในรุ่นปัจจุบัน คงคุ้นเคยกับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ STEM คำว่า “สะเต็ม” หรือ “STEM” เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษของศาสตร์ 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หมายถึงองค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้งสี่ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
ถูกใช้ ครั้งแรกโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (the National Science Foundation: NSF) ซึ่งใช้คำนี้เพื่ออ้างถึงโครงการหรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตามสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้นิยามที่ชัดเจนของคำว่า STEM มีผลให้มีการใช้และให้ความหมายของคำนี้แตกต่างกันไป (Hanover Research, 2011, p.5) เช่น มีการใช้คำว่า STEM ในการอ้างอิงถึงกลุ่มอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และถูกนำมาปรับใช้กับระบบการศึกษาที่เรียกว่า “สะเต็มศึกษา” นั่นเอง
แต่นอกจากที่จะเอากลุ่ม STEM นี้ไปผูกกับระบบการศึกษาแล้ว ยังเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่ได้รับความสนใจและผลักดันจากนโยบายรัฐบาลในหลายยุคหลายสมัย ในการใช้เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเมืองในช่วงหลังทศวรรษ 2010 อาทิ กลุ่มวิศวกรรมดาวเทียม วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิทยาศาสตร์ข้อมูล เกษตรกรรมยุคใหม่/ไฮเทค วิศวกรรมระบบราง รวมถึงระบบอาชีวอนามัยสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
กลุ่มเศรษฐกิจ TAMI
กลุ่มเศรษฐกิจน้องใหม่ ซึ่งเข้ามามีบทบาทสูงมากในโลกยุคหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) กลุ่มเศรษฐกิจ TAMI คืออักษรย่อของกลุ่มธุรกิจประเภท เทคโนโลยี (Technology) การโฆษณา (Advertizing) สื่อ (Media) และข้อมูลข่าวสาร (Information) ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะ กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในรูปแบบกลุ่มสตาร์ทอัพ และ SMEs จนสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจขนาดเล็กที่กลายเป็น ยูนิคอร์น ในเเวดวงกลุ่มสตาร์ทอัพในด้านนี้
ในบ้านเราอาจจะเคยผ่านหู ผ่านตา และรู้จักในชื่อ “เศรษฐกิจดิจิทัล” (DIgital Economy) ทั้งนี้แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ดูเหมือนจะทำให้โลกหมุนช้าลง เพราะต้องจำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้าย หรือการพบเจอกัน แต่ในโลกของดิจิทัลนั้น ทุกอย่างกลับหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม และไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ดิจิทัลก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว ตั้งแต่การใช้งาน Social Media การซื้อขายสินค้า เล่นเกม ดูหนัง สั่งอาหาร ท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งการศึกษา
เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy เป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การขนส่ง การขาย และการบริการ ทั้งนี้จากรายงานการวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน (e-Conomy SEA 2020) โดย Google, Temasek and Bain & Company ซึ่งได้ศึกษาพฤติกรรมในโลกอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์นั้น ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2020 นี้ เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนจะเติบโตมีมูลค่าเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเติบโตถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 และในไทยก็มีแนวโน้มที่เติบโตด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ได้แบ่งอุตสาหกรรมดิจิทัลย่อย ๆ ออกเป็น 5 ประเภทคือ อุตสาหกรรมซอฟต์เเวร์และบริการซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า โดยผลการสำรวจในปี 2561-2562 ที่ผ่านมาพบว่ามีการขยายตัวกว่า 1.61%
พระโขนง-บางนา
ย่านเศรษฐกิจสุขุมวิทใต้กำลังมาแรง
สุขุมวิทใต้ เป็น 1 ใน 4 พื้นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร หากพิจารณาทั้งโซนกรุงเทพใต้และสมุทรปราการ มีประชากรกลางวันกลางคืนรวมกว่า 2 ล้านคน สำหรับในพื้นที่สุขุมวิทใต้มีประชากรที่อยู่อาศัยและเดินทางสัญจรเข้ามาในพื้นที่กว่า 4 แสนคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มชนชั้นกลางระดับกลาง-ล่าง
.
นอกจากการเป็นทำเลที่ดีต่อการอยู่อาศัยแล้ว สุขุมวิทใต้ ยังเป็น 1 ใน 5 ย่านที่กำลังจะเติบโตเป็นย่านเศรษฐกิจรองในอนาคตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเชื่อมต่อกับแนว ระเบียงศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ของ กรุงเทพมหานคร (Bangkok New CBD Axis) บริเวณย่านสาทร – สีลม พระราม 1 – พระราม 4 พระรามเก้า – ลาดพร้าว (CBD ชานเมือง 6 แห่ง ประกอบด้วย สุขุมวิทใต้ รามอินทรา มีนบุรี สะพานใหม่ ปิ่นเกล้า และพระรามที่ 2)
.
ผลการวิเคราะห์ทางพื้นที่เชิงลึก (Spatial insight) ซึ่งรวบรวมการกระจายตัวของกลุ่มธุรกิจซึ่งเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจของการเกิดนวัตกรรมในมหานครกรุงเทพ พบว่า นอกจากกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ CDB ตามที่เราทราบกันแล้วนั้น ซึ่งสอดคล้องกับการกำหนดพื้นที่นวัตกรรมที่ส่งเสริมและกำลังพัฒนาของ NIA จำนวน 6 ย่าน ประกอบด้วย ย่านรัตนโกสิทร์ โยธี ปทุมวัน คลองสาน กล้วยน้ำไท และลาดกระบัง
.
ผลการวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ศักยภาพและโอกาสใหม่ของการขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมอื่นๆ อีกในพื้นที่ มหานครกรุงเทพ ซึ่งระเบียงนี้หากพิจารณาประกอบกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตามกรอบการวิเคราะห์ความเป็นย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ พบว่า พื้นที่ศักยภาพใหม่นี้คือบริเวณแนวระเบียงใหม่ทางด้านตะวันออก ซึ่งเชื่อมตั้งแต่ศูนย์กลางเศรษฐกิจรองบางซื่อ ลงมาตามถนนรัชดา อโศก และถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นที่ตั้งของย่าน พระโขนง-บางนา
.
ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันในศักยภาพทางพื้นที่ของย่านนี้ในการผลักดันและขับเคลื่อนไปสู่ย่านนวัตกรรมต่อไป หากแต่การเป็นย่านนวัตกรรมนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากอาศัยเพียงการมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาตามยถากรรมในปัจจุบันเท่านั้น แต่กำลังรอคอยการพลิกฟื้นต้นทุนทางเศรษฐกิจ และความเป็นย่านน่าอยู่ จากการประสานความร่วมมือทั้งจากนโยบายของภาครัฐ ท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคม และภาคเอกชนในพื้นที่
.
ทั้งนี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา ผ่านทางกิจกรรมของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และ เพจร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา
กลุ่มเศรษฐกิจนวัตกรรม
อุตสาหกรรมใหม่ของเมืองและประเทศ
จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงฐานเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัย สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและโครงสร้างของเมือง รวมถึงการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กลไกการขับเคลื่อนหรือพัฒนาการที่เกิดขึ้นของกลุ่มเศรษฐกิจแต่ละประเภทนั้นจะเกิดขึ้นด้วยกลไกตลาดและอุปสงค์ อุปทานที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัย หากแต่ยังมีความต้องการสร้างระบบนิเวศน์ของระบบเศรษฐกิจของเมืองและประเทศที่เปรียบเสมือนสภาพแวดล้อมที่ดี ที่คอยส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่และกลุ่มเศรษฐกิจชั้นแนวหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างการมีงานทำ รายได้ที่สูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาเมืองและพัฒนาประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตามหากพูดถึงเรื่องของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมือง หรือการพัฒนาประเทศมักเกี่ยวข้องและต้องพิจารณามิติทางเศรษฐกิจของเมืองและประเทศนั้น ๆ หากพิจารณาตามการแบ่งกลุ่มประเทศตามระดับการพัฒนาซึ่ง World Economic Forum (WEF) ได้จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยปัจจัยการผลิต (Factor-driven) กลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven) และกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรม(Innovation-driven) ซึ่งมักเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ปัจจุบัน ประเทศไทย และหมายรวมถึงมหานครกรุงเทพ ถูกจัดอยู่ระหว่างกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ดังที่เราทราบกันมาอย่างยาวนานว่าเรา “ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง” และทุกคนต่างกล่าวถึง “นวัตกรรม” ที่จะกลายมาเป็นกุญแจสำคัญสู่การเติบโตในระยะยาวของเมืองและประเทศ
นวัตกรรม ไม่เพียงเป็นการประดิษฐ์ของใหม่แต่เพียงเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึง การใช้องค์ความรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่หรือพัฒนาสิ่งเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งอาจอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ กระบวนการ รูปแบบองค์กร หรือการตลาดก็ได้ ซึ่งเราจะได้รู้จักเรื่อง เศรษฐกิจนวัตกรรม ในบทความถัดไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
และโครงการศึกษาและออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับ สตูดิโอการฟื้นฟูย่าน ภาคผังเมือง จุฬาฯ