27/07/2022
Insight

อ่านเมืองลำพูนด้วยข้อมูล: ฟื้นใจเมืองลำพูนด้วยเมืองเดินได้เมืองเดินดี

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


เมืองลำพูน หรือที่รู้จักกันในท้องถิ่นว่า “เมืองหละปูน” เมืองขนาดเล็ก ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน รู้จักกันชื่อในนาม “นครหริภุญชัย” ซึ่งถือเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของภาคเหนือ อายุราว 1,400 ปี อาณาจักรหริภุญชัย รุ่งเรืองในยุคพุทธศตวรรษที่ 15 ในฐานะราชธานีแห่งแรกของภาคเหนือ เป็นรากฐานความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านต่ออาณาจักรล้านนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การทหาร ประเพณี วัฒนธรรม และเป็นรากฐานทางด้านภาษา โดยมีต้นแบบจากวัฒนธรรมทวารวดีทางฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองลำพูนจึงถือเป็นเมืองที่มีคุณค่าทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่ถูกสืบทอดมาอย่างยาวนาน จวบจนถึงปัจจุบัน

ในบทความนี้ทีมงาน The Urbanis จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักเมืองลำพูนด้วยการเล่าเรื่องผ่านข้อมูล ว่าเหตุใดเมืองลำพูนจึงมีศักยภาพเป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ซึ่งบทความนี้เป็นผลการศึกษาบางส่วนจากโครงการ ฟื้นใจเมืองลำพูนด้วยเมืองเดินได้เมืองเดินดี ภายใต้ชุดโครงการห้องปฎิบัติการเมืองเดินได้เมืองเดินดีประเทศไทย (Good Walk Lab Thailand)

เวียงหละปูน

ภายหลังการเติบโตของเมืองลำพูน ถูกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเข้ามาทำให้มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ประกอบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงไปยังเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคในปัจจุบัน แต่ทว่า เมืองลำพูนในฐานะ “เมืองแฝดเชียงใหม่-ลำพูน” ยังคงความมีอัตลักษณ์ของพื้นที่ วิถีชีวิตของผู้คน และวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะตัว กอปรกับเมืองเก่าลำพูน ถือเป็น 1 ใน 36 เมืองเก่า ตามแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า ระดับเมือง ซึ่งถูกจัดเป็นกลุ่มเมืองสำคัญกลุ่มที่ 1 เพราะเป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในฐานะศูนย์กลางของอาณาจักรหริภุญชัย ซึ่งเป็นรากฐานของอารยธรรมล้านช้าง ล้านนา และสิบสองปันนา (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2553) โดยได้รับการประกาศเป็นพื้นที่เมืองเก่าในปี 2554 (11 เมษายน 2554)

เมืองลำพูนมีโบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์มากมาย อีกทั้งสินค้าพื้นเมือง สินค้าทางการเกษตรที่ขึ้นชื่ออย่าง ผ้าฝ้ายทอมือ และลำไย ซึ่งถือเป็น “เมืองเก่าที่ยังคงมีชีวิต” มีการอาศัยของชุมชนใหม่ซ้อนทับกับชุมชนเดิม อย่างไรก็ตาม แม้เมืองลำพูนจะมีเอกลักษณ์และเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ แต่ทว่า การที่เมืองลำพูนตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งจากทิศทางการพัฒนาและนโยบายการพัฒนาจากส่วนกลาง รวมถึงการท่องเที่ยว ดังนั้น หากสามารถยกระดับศักยภาพและสร้างจุดเด่นในการเป็นเมืองเก่าที่ยังคงมีชีวิต มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่โดดเด่น ให้สามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองลำพูนให้เดินได้-เดินดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาของทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเทศบาลเมืองลำพูน

1 ใน 36 เมืองเก่าที่ถูกวางผังมาอย่างดี

นอกจากจะเป็น 1 ใน 36 เมืองเก่าที่ถูกขึ้นทะเบียนไว้ตามแผนแม่บทและผังเเม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า ของ สผ. นครหริภุญไชย ยังถือเป็นเมืองเก่าที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในล้านนา กว่า 1400 ปี รูปแบบเมืองเก่ามีลักษณะคล้ายรูปหอยสังข์ ติดริมแม่น้ำกวง โดยมีคูเมืองล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน มีประตูเมือง 6 ประตู ประกอบด้วย ทิศเหนือ คือ ประตูช้างสี ทิศใต้ คือ ประตูลี้ ทิศตะวันตก คือ ประตูมหาวัน และทิศตะวันออก มี 3 ประตู คือ ประตูท่านาง ประตูท่าสิงห์ และประตูท่าขาม

นอกจากรูปทรงหอยสังข์ และเส้นทางเข้าออกเมืองผ่าน 6 ประตู เเล้ว ลักษณะของโครงข่ายถนนภายในเมืองเก่ายังถูกออกแบบมาอย่างดีในรูปแบบกริดที่มีขนาดเล็ก เฉลี่ยประมาณ 125 x 125 เมตร ซึ่งถือเป็นโครงข่ายตารางกริดที่มีความละเอียดมาก ประกอบกับขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าที่มีขนาดเล็กประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร ทำให้โครงข่ายตารางกริดที่มีขนาดเล็กนี้ ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อถนน ซอยและทางเดินได้ทั่วทั้งเมือง

นอกจากขนาดของบล็อกถนนที่มีขนาดเล็กแล้ว หากพิจารณาความหนาแน่นของโครงข่ายถนนต่อพื้นที่เมืองพบว่า ในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองลำพูน มีสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองถึง 38% นั่นสะท้อนถึงศักยภาพของโครงข่ายถนนที่สามารถเชื่อมต่อและครอบคลุมพื้นที่เมืองได้เป็นอย่างดี โดยมีถนนอินทยงยศ เป็นถนนสายสำคัญของเมืองเป็นแกนเชื่อมเหนือใต้และโครงข่ายถนนรัศมีของเมืองรอบทิศทาง

หากเปรียบเทียบสัดส่วนของพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองของลำพูนกับ กรุงเทพฯ ซึ่งมีสัดส่วนพื้นที่ถนนเพียง 7% จะพบว่าห่างกันมากถึง 5 เท่า อีกด้านหนึ่งคือ แทบไม่มีซอยตันปรากฏให้เห็นในระบบโครงข่ายถนนของเมืองลำพูน

รุ่มรวยมรดกวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

แน่นอนว่า พอเป็นเมืองเก่า สิ่งที่เป็นสินทรัพย์ที่ทรวงคุณค่าของเมือง คือ เหล่ามรดกวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้มากมาย เรียกได้ว่าในทุก ๆ 100 เมตร ในการเดินเล่น หรือเดินเที่ยวในเมืองลำพูน เราจะพบกับมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่มากกว่า 100 แห่งในเมือง

โดยรอบเมืองลำพูนมีวัดวาอารามจำนวนมากกว่า 16 แห่ง ที่สามารถสร้างเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกันได้ในระยะทางไม่ถึง 500 เมตร และที่เป็นที่รู้จักกันดีและเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำพูน นั่นคือ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูนติดริมเเม่น้ำกวง (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เดินย่านเมืองเก่าลำพูน) นอกจากนี้ในเมืองยังประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ทั้งใหญ่ เล็ก กว่า 13 แห่ง อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญชัย พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน พิพิธภัณฑ์ปั้มน้ำมันสามทหาร และพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่อย่าง พิพิธภัณฑ์มิกกี้เมาส์

นอกจากนี้ในพื้นที่ภายในเขตเมืองเก่าลำพูนยังเต็มไปด้วยอาคารเก่าที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบล้านนาที่กระจายอยู่ทั่วเมืองเก่ากว่า 128 อาคาร

นี่เป็นเพียงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ที่นักท่องเที่ยวและผู้ที่ทัศนาจรสามารถเข้ามาพบเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้เมืองลำพูนยังมีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อีกมากมาย ทั้งประเพณีที่โด่งดังไปไกลระดับโลกอย่าง สลากย้อม หรือเทศกาลโคมเเสนดวง หรือแม้กระทั่งงานหัตถศิลป์อย่างผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เมืองลำพูน เป็นเมืองเก่าที่มีต้นทุนทางมรดกวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้จำนวนมาก อันเป็นสินทรัพย์ของเมืองที่น่าหลงไหล

เมืองเก่าที่ยังคงมีชีวิต

เอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างของเมืองลำพูน เเม้ว่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองเก่า หากแต่เป็นเมืองเก่าที่ยังคงมีชีวิตชีวา มีผู้คนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น มีกิจกรรมการค้า และเศรษฐกิจทั้งดั้งเดิมและรูปแบบใหม่เข้ามาปะปน ผสานผสานอย่างลงตัวในเมืองลำพูน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ประโยชน์อาคารในพื้นที่เมืองเก่าลำพูนพบว่า กว่า 50% ยังคงเป็นที่อยู่อาศัย นั่นหมายความถึงการเป็นเมืองเก่าที่ยังคงหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนเมืองลำพูน ประกอบกับการเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ และศูนย์กลางทางราชการของจังหวัด

เเม้ว่า ในแผนพัฒนาในระยะหลัง จะมีการขยายการพัฒนาเมืองลำพูนออกเป็น 3 ศูนย์ นั่นคือ พื้นที่เมืองเก่าลำพูน ที่เป็นพื้นที่กลางพื้นที่ประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจดังเดิม พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่บ้านกลาง/สันป่าฝ้าย และพื้นที่ศูนย์ราชการใหม่ศรีบัวบาน การพัฒนาเมืองที่กระจายบทบาทเช่นนี้ เป็นโอกาสอันดีในวาระของการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองเก่าลำพูนที่ดียิ่งขึ้น

เมืองลำพูนในร่มฉำฉา

อีกหนึ่งสิ่งพรีเมี่ยมของเมืองลำพูน นั่นคือ เมืองที่เต็มไปด้วยกลุ่มต้นไม้ใหญ่ทั้งแนวรอบคูเมือง และพื้นที่บริเวณริมเเม่น้ำกวง สร้างบรรยากาศที่ร่มรื่น โดยเฉพาะต้นฉำฉาขนาดใหญ่ที่สร้างร่มเงาทั่วทั้งเมือง ประกอบกับเมืองลำพูน ได้ดำเนินการนำระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินทำให้บรรยากาศการเดินภายใต้ร่มฉำฉา ภายในเมืองลำพูนถือเป็นประสบการที่แสนวิเศษสำหรับการเดินเที่ยวเล่นในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย

นอกจากนี้หากพิจารณาตัวชี้วัดด้านพื้นที่สีเขียวของเมือง จากฐานข้อมูลพื้นที่สีเขียวยั่งยืน ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึง พื้นที่สีเขียวที่มีพืชพรรณที่มีความหลากหลาย ทั้งชนิดและปริมาณ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นองค์ประกอบหลักและได้รับการดูแลบํารุงรักษาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสมดุลทางระบบนิเวศ เกิดสภาพแวดล้อมที่ ดี สวยงาม ร่มเย็น น่าอยู่ จะพบว่าภายในพื้นที่เทศบาลเมืองลำพูนมีพื้นที่สีเขียวยั่งยืนกว่า 8.8 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถือว่าอยู่ในค่ามาตรฐานที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองในประเทศไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวพื้นที่สีเขียวริมแม่นน้ำกวง ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มต้นไม้ใหญ่ ถือเป็นสินทรัพย์ของเมืองที่กำลังรอคอยการยกระดับสู่การเป็นพื้นที่สุขภาวะและพื้นที่กิจกรรมของเมืองในเวลาอันใกล้นี้ ตามแผนแม่บทการพัฒนาเมืองเก่าลำพูน

ย่านเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตเมืองลำพูน

หากกล่าวถึงพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองลำพูน ต้องกล่าวถึงถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองลำพูน นั่นคือ ถนนอินยงยศ หรือถนนเส้นเชียงใหม่ลำพูน ซึ่งเชื่อมกับถนนเส้นต้นยางจากสารภีเข้าสู่เมืองลำพูน ถนนเส้นนี้มีความสำคัญเพราะเชื่อมทั้งศูนย์กลางการเดินทางในอดีตอย่างสถานีรถไฟเมืองลำพูน ทำให้สองข้างทางของถนนอินทยงยศ เต็มไปด้วยร้านค้าทั้งเก่าและใหม่ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของเมือง อันเป็นย่านเศรษฐกิจเมืองลำพูน และเป็นที่ตั้งของตลาดหนองดอกและตลาดโต้รุ่งเมืองลำพูนนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้นตามแนวถนนลำพูน-ดอยติ ทางด้านตะวันออกของเมืองลำพูนเป็นที่ตั้งของห้างท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักกันดีของคนลำพูน นั่นคือ “ห้างเเจ่มฟ้า” หรือ แจ่มฟ้า ช้อปปิ้งมอลล์ รวมถึงกาดจตุจักรลำพูน นอกจากนี้ในบริเวณดอยรอบก็มีร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึง Co-working space

ปัจจุบัน เมืองลำพูน เริ่มมีกิจการการค้ารูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาแทรกซึมและเกิดกิจกรรมใหม่ ๆ ขึ้นนอกจากการค้าขายแบบดั้งเดิม นั่นคือ คาเฟ่และร้านกาแฟ จนกลายเป็นพื้นที่ฮิปของทั้งคนลำพูนและพื้นที่ใกล้เคียง กลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของเมืองลำพูน (ซึ่งทีมงาน The Urbanis จะพาทุกท่านไปสำรวจการเปลี่ยนแปลงและความเป็นย่านคาเฟ่ของเมืองลำพูน ในบทความฉบับถัดไป)

ทั้งนี้หากนำพื้นที่นันทนาการ เพื่อการพักผ่อนและการท่องเที่ยวทั้งวัดวาอาราม พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ จะพบว่าพื้นที่เหล่านี้สามารถเชื่อมต่อกันในระยะที่เดินถึง รวมถึงยังเป็นมิตรกับการเดินเท้าอย่างมาก

ฟื้นใจเมืองลำพูนด้วยเมืองเดินได้-เมืองเดินดี

จากศักยภาพที่กล่าวไปข้างตอนของเมืองลำพูน ทำให้เห็นแล้วว่า การขับเคลื่อนเมืองลำพูนสู่เมืองเดินได้เมืองเดินดีนั้นคือโอกาสทั้งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น กระตุ้นการท่องเที่ยว และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองลำพูน

จากการวิเคราะห์ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดินเท้า หรือ คะแนนเมืองเดินได้ (GoodWalk Score) พบว่า ในพื้นที่เมืองลำพูน (เทศบาลเมืองลำพูน) กว่า 60% จัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่เดินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณโดยรอบ เขตเมืองเก่าลำพูน และตลอดแนวถนนเชียงใหม่-ลำพูน (ถนนเจริญราษฎร์) ถนนลำพูน-ป่าซาง ถนนดอยติ-ลำพูน และถนนจามเทวี ซึ่งถือเป็นถนนแกนสำคัญของเมืองลำพูน ซึ่งเชื่อมพื้นที่เหนือ-ใต้และตะวันออก-ตะวันตกของเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าคะแนนเมืองเดินได้ของเมืองลำพูนจัดว่าอยู่ในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ของประเทศไทย เนื่องด้วยขนาดของเมืองซึ่งอยู่ในระยะเดินเท้า และภายในเขตเมืองเก่ามีรูปแบบโครงข่ายเส้นทางในรูปแบบกริด หากแต่ยังต้องการการเชื่อมต่อและสร้างโครงข่ายภายนอกเมืองเก่าให้สมบูรณ์เพื่อสร้างความพลุกพล่านทั้งกิจกรรมและเศรษฐกิจของพื้นที่เมืองลำพูน นอกจากนี้ในด้านคุณภาพการเดินเท้า พบว่า ส่วนใหญ่สภาพถนนและทางเท้าของเมืองอยู่ในระดับที่สมบูรณ์ หากแต่มีบางพื้นที่ที่อาจต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงของโครงข่ายทางเท้า โครงข่ายการท่องเที่ยว และโครงข่ายเศรษฐกิจเมือง เศรษฐกิจท้องถิ่นเข้าด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนและกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเมืองต่อไป

ผลการศึกษาศักยภาพการเดินเท้า ของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ข้างต้นชี้ให้เห็นว่าพื้นที่เมืองลำพูนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณพื้นที่เมืองเก่าและบริเวณโดยรอบ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่ใจเมืองลำพูน” เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยการเดินเท้าและมีศักยภาพอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนและยกระดับปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเดินเท้าควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นและการท่องเที่ยวให้กับเมือง แต่อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาในปัจจุบันที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวต้องเผชิญอยู่คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพของถนนและทางเท้าที่ยังไม่ดีพอ รวมถึงสภาพปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ตลอดจนช่วงฤดูกาลของการท่องเที่ยว ทั้งนี้อาจจะด้วยข้อจำกัดบางประการของระบบขนส่งมวลชนเมืองที่ยังต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานอันจะช่วยส่งเสริม “วิถีการเดินเท้า” ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในเมืองลำพูนต่อไป


Contributor