25/01/2022
Insight
บ้านสาว คนไร้บ้าน และแรงงานรายวันในย่านเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ เป็นวงกว้างไม่เฉพาะในประเด็นด้านสาธารณะสุขเท่านั้น สิ่งที่ตามมาคือการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหรือเศรษฐกิจของเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยภายนอกพื้นที่/การบริโภคการจับจ่ายภายนอกพื้นที่ อย่างภาคบริการ/การท่องเที่ยว ซึ่งเมืองเชียงใหม่เองก็เป็นเช่นนั้น
จากผลการสำรวจย่านเศรษฐกิจล้มลุกเมืองเชียงใหม่ที่ทีมงาน The Urbanis และ UddC Urban Insight ได้ทำการสำรวจในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเผยแพร่ผ่านบทความ “ย่านเศรษฐกิจล้มลุก เมืองเชียงใหม่” ซึ่งได้ระบุปรากฏการผลกระทบของ โควิด-19 ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ ทั้ง 7 แห่งนั้น
บทความนี้เราจะพาท่านผู้อ่านไปเจาะลึกในประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ของเมืองเชียงใหม่ นอกจากความเป็นย่านเศรษฐกิจของเมืองที่เป็นศูนย์รวมธุรกิจร้านค้า การเงิน การบริการ ความจริงแล้ว ในย่านเศรษฐกิจเหล่านี้กลับมีอีกหนึ่งองค์ประกอบของเมืองที่ปะปนและแฝงอยู่ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจศูนย์กลางเมือง นั่นคือกลุ่มคนเปราะบางที่อยู่ในเมือง ซึ่งการมีอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ คล้ายๆ ว่าเป็นกลุ่มคนที่คนทั่วไป หรือแม้กระทั่ง การที่ “เมือง” เลือกที่จะมองไม่เห็น ตลอดจนนโยบายการพัฒนาการขับเคลื่อนเมืองบางอย่าง อาจยังมองไม่ครอบคลุมพวกเขาเหล่านี้
ผ่านการวิเคราะห์และบอกเล่าเรื่องราวผ่านความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่ของกลุ่มคนเปราะบาง ผ่านโครงสร้างการใช้งานพื้นที่เศรษฐกิจของเมือง ของ 3 กลุ่มคนเปราะบางผ่าน 3 บริบทย่านเชิงพื้นที่ นั่นคือ ย่านบ้านสาว ย่านคนไร้บ้าน และย่านแรงงานรายวัน ผ่านการวิชวลในเชิงพื้นที่ส่วนต่างๆของเมืองในฐานะเป็นแหล่งพำนักพักอาศัย ย่านกิจกรรมการค้าที่มีความหลากมิติของเมือง ทั้งเพื่อยืนยันการมีอยู่ของกลุ่มเปราะบางในเมืองเหล่านี้ อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์และเสนอแนะในเชิงการจัดการพื้นที่การจัดการเมืองต่อไป
Skid row และ CBDs
ย่านของคนสิ้นหวัง (Skidrow) เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ CBD (คำนี้ใช้เรียกครั้งแรกในอเมริกาเหนือ) ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าอาจจะดูดราม่าและเศร้าเกินไปเสียหน่อย ย่านนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับแหล่งเสื่อมโทรมหรือย่านชุมชนแออัดที่ใช้กันในบ้านเรา ปรกติจะอยู่ระหว่างเขต CBDs ส่วนแกนและส่วนขอบของพื้นที่ศูนย์กลางเมือง
คำว่า Skid row อาจได้มาจากคำว่า Skid road ในเมือง Seattle บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถนนสายนี้เคยมีการลากจูงไม้ซุงไปยังท่าเรือ ย่าน Skid row เป็นปัญหาในสังคมเมืองขนาดใหญ่ของอเมริกาเหนือ ซึ่งพยายามรื้อฟื้นและปรับปรุงสภาพเขตเมืองให้ดีขึ้น
สำหรับความสำคัญของย่าน Skid Row นี้ ถือเป็นสวรรค์ของบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของโซนในเมืองที่ถูกละทิ้งและไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ในย่านนี้มีลักษณะโครงสร้างและการใช้ที่ดินที่พิเศษ เช่น ประกอบด้วยตึกเก่าๆ ที่เสื่อมคุณภาพหรืออยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ร้านขายหนังสือผู้ใหญ่ (ร้านขายหนังสือประเภทลามก ปลุกใจ) โรงแรมชั้นสองหรือชั้นสามที่มีค่าเช่าราคาถูก โรงรับจำนำ บาร์ โรงภาพยนต์ชั้นสองราคาถูก ร้านบริการซ่อมต่างๆ เช่น ร้านซ่อมรองเท้า ร้านซ่อมนาฬิกา ร้านขายเสื้อผ้าคุณภาพต่ำ หรือร้านเสื้อผ้ามือสอง ร้านรองเท้าเก่า ร้านขายอาวุธปืน มีด
ดังนั้น ย่าน Skid row ในที่นี้จึงเป็นพื้นที่ในเมืองซึ่งเป็นที่พักอาศัยของคนจรจัด คนไร้บ้าน อาจจะหมายรวมถึงย่านสลัม เนื่องจากเป็นย่านที่ทรุดโทรมและมีสภาพ มีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ไม่ดีนัก อาจพบการขายยาเสพติด การขายบริการทางเพศเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ ดังนั้นในบทความนี้ เราจะเรียกกลุ่มย่านนี้โดยรวมว่าเป็น ย่านของกลุ่มคนเปราะบางของเมือง
บ้านสาว คนไร้บ้าน และแรงงานรายวัน ในเมืองเชียงใหม่

ความเกี่ยวข้องระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจกลางเมือง กับย่านของกลุ่มคนเปราะบางในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในที่นี้ทางผู้เขียนจะยกมา 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านสาว กลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มแรงงานรายวัน ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มต่างแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ย่าน CBD ของเมือง บางครั้งอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เมือง เลือกที่จะมองไม่เห็น หรือบางทีที่ร้ายกว่านั้นคือ เราเลือกที่จะมองไม่เห็นพวกเขาเหล่านี้
เป็นปรกติของเมืองขนาดใหญ่ ที่เป็นพื้นที่หมายตาของการย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อเข้ามาทำงาน มาหาโอกาสในเมือง เพราะมีงานที่หลากหลาย มีโอกาสมากกว่าในพื้นที่ชนบท เมืองเชียงใหม่ ก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นเมืองแห่งโอกาสของกลุ่มคนด้อยโอกาส คนที่อยากเข้ามาหางานทำ ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยการเป็นเมืองศูนย์กลางการค้า การเดินทาง ศูนย์กลางการบริหารของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จึงทำให้เมืองเชียงใหม่ต้องเปิดรับการเข้ามาของกลุ่มประชากรแฝงเหล่านี้เพื่อเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ ในเมือง
จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ และข้อมูลเชิงประจักษ์จากการสำรวจภาคสนามในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ พบว่า ในพื้นที่ละเเวกของย่านเศรษฐกิจเมืองที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ (อ่านเพิ่มเติม บทความ ย่านเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ อยู่ที่ไหน?) ปรากฏถิ่นที่อยู่อาศัย ที่พำนัก ที่ดำเนินกิจการของทั้ง 3 กลุ่มเปราะบางที่กล่าวไปข้างต้น
ย่านบ้านสาว

ย่านบ้านสาว หรือรู้จักกันทั่วไปในชื่อย่าน “Red Light District” อาจมีหลายชื่อในคำแปลภาษาไทย ทั้ง ย่านแสงสีแดง / ย่านโคมแดง หรือ ย่านความสุข เป็นส่วนหนึ่ง ของเขตเมือง ซึ่งมีการกระจุกตัวของ การค้าประเวณี และ ธุรกิจที่มุ่งเน้นทางเพศ เช่น ร้านขายบริการทางเพศ , คลับเปลื้องผ้า และ โรงภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ ในกรณีส่วนใหญ่ย่านโคมแดงจะเกี่ยวข้องกับ การค้าประเวณีข้างถนน ของผู้หญิงเป็นพิเศษแม้ว่าในบางเมืองพื้นที่เหล่านี้ อาจตรงกับช่องว่างของการค้าประเวณีชาย และสถานที่สำหรับเกย์ พื้นที่ในเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกได้รับชื่อเสียงระดับนานาชาติในฐานะย่านโคมแดง (ที่มา https://isecosmetic.com/wiki/Red-light_district) อาทิ ย่านโคมแดง ในอัมเตอร์ดัมส์ เป็นต้น และไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ในกรุงเทพ หรือในพื้นที่เมืองหลัก/เมืองท่องเที่ยวอย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต ก็ปรากฏการมีอยู่ของย่านเหล่านี้ทั้งที่แบบเห็นยอมรับได้หรืออาจแฝงตัวอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมือง
ในหนังสือ กรุงเทพฯ ยามราตรี อธิบายการเกิดขึ้นของย่าน หรือธุรกิจประเภทนี้ว่า มาพร้อมกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านในยามค่ำคืน ส่วนหนึ่งปรากฏออกมาเป็นกิจการประเภท “โรงโสเภณี” หรือ “โรงบ่อนเบี้ย” (วีระยุทธ ปีสาลี, 2557) สำหรับในเชียงใหม่ เรามักรู้จักกันในชื่อของ “ย่านบ้านสาว” ซึ่งปรากฏในหนังสือ แนวทางการพัฒนาความเป็นย่านหลากมิติของเมืองเชียงใหม่ (ปราณอม ตันสุขานันท์ และวิทยาดวงธิมา, 2556) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของย่านที่มีความหลากหลายของเมือง ย่านบ้านสาวของเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ คือ ย่านกำแพงดิน ย่านสันติธรรม ย่านลอยเคราะห์ และย่านต้นโพธิ์ (บริเวณแจ่งศรีภูมิ)
ย่านกำแพงดิน รู้กันทั่วไปว่าเป็นชื่อเรียกย่านซ่องโสเภณีราคาถูกของเมืองเชียงใหม่ที่มีมานานก่อน พ.ศ. 2500 สืบทุกวันนี้ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึง ที่เรียกชื่อว่า“กำแพงดิน” เพราะเป็นบริเวณมีกำแพงเมืองเชียงใหม่ก่อคันดินเป็นแนวเนินลักษณะดั้งเดิมเก่าแก่ตั้งแต่ยุคแรกสถาปนาเมื่อ พ.ศ. 1839 โดยพญามังราย ส่วนตำนานบ้านสาวที่กำแพงดิน ถือเป็นแหล่งคณิกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ส่วนหนึ่งของกำแพงดิน ถูกเจาะเป็นช่องและสร้างบ้านอยู่อาศัย บ้านส่วนหนึ่งปรับเป็นบ้านและห้องสำหรับบริการทางเพศ บ้านสาวย่านกำแพงดินยุคแรกนั้น เริ่มมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง คือประมาณปี พ.ศ.2489 คนรุ่นเก่าๆ บอกว่า “บ้านสาว” ของกำแพงดินยุคแรกมีเฉพาะด้านใกล้สี่แยกกำแพงดิน คือ เลี้ยวซ้ายจากถนนท่าแพ สมัยนั้นมีโรงหนังตงก๊ก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงหนังศรีวิศาล ด้านหลังโรงหนังศรีวิศาลมี “บ้านสาว” อยู่ประมาณ 20 หลัง เป็นที่นิยมเที่ยวกันมากของนักเที่ยว “บ้านสาว” ดังกล่าวมีเฉพาะด้านที่เป็นกำแพงดินเรื่อยไปจนเกือบถึงหน้าวัดช่างฆ้อง โดยมีบ้านเป็นหลังๆ ด้านในกำแพงดิน โดยแต่ละบ้านเจาะกำแพงดินเป็นประตูทางเข้าบ้าน ราคาค่าบริการขณะนั้น 3 บาทและ 5 บาท ต่อมา “บ้านสาว” ย่านนี้ก็เลิกกิจการไป คาดว่าหลังจากโรงหนังศรีวิศาลเลิกแล้ว และ “บ้านสาว” เปลี่ยนไปอยู่ย่านตรงข้ามโรงแรมแม่ปิงในปัจจุบันแทน
ช่วงที่ “บ้านสาว” ย่านกำแพงดินเฟื่องฟู ประมาณหลังปี พ.ศ.2500 เล็กน้อย ว่ากันว่ามีบ้านสาวประมาณถึง 100 บ้าน แยกเป็นย่านกำแพงดินด้านเหนือ คือ ที่บริเวณพื้นที่เดิมของโรงแรมแม่ปิงและฝั่งตรงข้ามประมาณ 50 บ้าน และย่านกำแพงดินด้านใต้ ประมาณ 50 บ้าน “บ้านสาว” ย่านกำแพงดิน เกิดขึ้นและหนาแน่นเมื่อประมาณหลังปี พ.ศ.2504 และสิ้นสุดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 (เพจหมู่เฮาจาวเหนือ)
ย่านสันติธรรม ที่ว่ากันว่าเมื่อมีการปราบปรามบริเวณริมคลองแม่ข่า (กำแพงดิน) มากขึ้นทำให้กิจการบ้านสาวย้ายมาอยู่ในย่านนี้แทน ส่วนย่าน ย่านลอยเคราะห์ และ
ย่านต้นโพธิ์ ก็ถือเป้นย่านบ้านสาวที่เติบโตและขยายตัวจากย่านกำแพงดินในยุคเฟื่องฟู
ปัจจุบัน แม้ว่ากิจการบ้านสาวจะหายไปแล้ว (หรือคงอยู่แบบลับๆ) แต่กิจการประเภทนี้ยังคงมีให้เห็น ให้ทราบกัน หากแต่จะอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพราะเป็นกิจการที่ผิดกฎหมาย หรือกิจกรรมของเหล่าให้บริการทางเพศ/บริการเริงรมย์นี้อาจแฝงไปกับกิจการอื่นๆ อาทิ ร้านคาราโอเกะ อาบอบนวด หรือการเตร็ดเตร่อยู่ในพื้นที่สาธารณะอันเป็นที่ทราบกันของผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว
ย่านคนไร้บ้าน

นอกจากย่านบ้านสาวที่แฝงตัวอยู่ในย่าน CBDs ของเมืองแล้ว อีกกลุ่มคนที่อาศัยพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนเหลือของย่าน CBDs คือ กลุ่มคนไร้บ้านในเมือง ซึ่งถือเป็นกลุ่มประชากรที่ประสบกับสภาวะเปราะบางที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมือง การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านมิได้สัมพันธ์กับประเด็นการเข้าถึงที่อยู่อาศัยหรือการสูญเสียที่อยู่อาศัยอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังสัมพันธ์กับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ประสิทธิภาพและความครอบคลุมของนโยบายสวัสดิการ และการเลือกปฏิบัติในมิติต่างๆ (อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, 2564)
แม้ว่าประเด็นคนไร้บ้านในเมืองจะถูกพูดถึงและเป็นที่รู้จักกันมาอย่างดี ทั้งจากบทเรียนของเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก และงานการศึกษาเรื่องคนไร้บ้านในยุคเเรกของประเทศไทย คืองานเขียน “โลกของคนไร้บ้าน” ของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา ผ่านผลงานหนังสือซึ่งปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ดีเด่น จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในปี 2546 ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการมีอยู่ของคนไร้บ้านในเมือง แต่ทว่าต้องทิ้งเวลากว่า 20 ปี หลังจากนั้นถึงมีการสำรวจการมีอยู่ของคนไร้บ้านอย่างจริงจังในระดับประเทศ ผ่านการสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศ ใน พ.ศ.2562 ซึ่งพบว่า มีคนไร้บ้านจำนวนทั้งหมด 7,195 คน จำแนกเป็นคนไร้บ้านทั้งในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักคนไร้บ้านแบบเปิดของทั้งภาคประชาสังคมและภาครัฐ จำนวนทั้งสิ้น 2,719 คน (38%) และคนไร้บ้านในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ ทั้ง 11 แห่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 4,476 คน (62%)
กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด (ประมาณร้อยละ 38) รองลงมา คือ นครราชสีมา (ร้อยละ 5) เชียงใหม่ (ร้อยละ 4) สงขลา (ร้อยละ 4) ชลบุรี (ร้อยละ 3) และ ขอนแก่น (ร้อยละ 3) (อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และ นพพรรณ พรหมศรี, 2563) นี่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและการมีอยู่ของกลุ่มคนไร้บ้านในเมือง ยิ่งหลังช่วงสถานการณ์ Covid-19 มีรายงานการสำรวจและการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เป็นผลพวงจากพิษโควิด-19 ที่กระทบกับการมีงานทำ และภาวะเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของผู้คน
สำหรับเมืองเชียงใหม่ ผลการแจงนับคนไร้บ้าน ใน พ.ศ.2562 จำนวน 109 คน หรือคิดเป็น 4% ของคนไร้บ้านทั่วประเทศ ประกอบกับการศึกษาเรื่อง “วิถีชีวิตและสังคมคู่ขนานของคนไร้บ้าน” ล่าสุดใน พ.ศ.2563 (พิมพกานต์ อ๊อดต่อกัน, 2564) สะท้อนให้เห็นถึงการกระจายตัวของกลุ่มคนไร้บ้านซึ่งจากการสำรวจกลุ่มคนไร้บ้านแบบสุ่มจำนวน 50 คน ทั้งนี้ จากข้อมูลการกระจายตัวของคนไร้บ้าน (ณ การสำรวจ) พบว่ามีความเกี่ยวข้องของตำแหน่งแห่งที่ของคนไร้บ้านกับย่านเศรษฐกิจเมือง โดยเฉพาะศูนย์กลางเศรษฐกิจ และย่านตลาดการค้าของเมือง ได้แก่ ย่านท่าแพ ย่านประตูเชียงใหม่ ย่านช้างเผือก ย่านตลาดเมืองใหม่ ย่านกาดหลวง และในย่านเมืองเก่า
นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไร้บ้านที่ทำการสำรวจในครั้งนี้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพิษเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงของการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบกับภาคเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ (อ่านเพิ่มเติมบทความ ย่านเศรษฐกิจล้มลุกเมืองเชียงใหม่) และส่วนใหญ่คนไร้บ้านเป็นวัยกลางคน-สูงอายุ ที่บางส่วนไม่มีรายได้ ประทังชีวิตด้วยการรับของบริจาค การให้ทานจากนักท่องเที่ยวและคนอยู่อาศัยโดยรอบ
แม้ว่าปัจจุบัน เมืองเชียงใหม่จะมีศูนย์ฟื้นฟูศักยภาพคนไร้บ้าน บ้านเตื่อมฝัน ซึ่งสามารถรองรับคนไร้บ้านกว่า 60 คน หากแต่ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านอีกจำนวนหนึ่ง ยังเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ในพื้นที่ซอกหลืบของเมืองของย่านเศรษฐกิจเมือง ด้วยข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ทั้งจากความสามารถในการรองรับ เงื่อนไขของศูนย์ฟื้นฟู และข้อจำกัดภายในตัวของคนไร้บ้านเอง
ย่านแรงงานรายวัน

อีกหนึ่งกลุ่มคนเปราะบางในเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจเมือง นั่นคือ กลุ่มแรงงานรายวัน ทั้งที่เป็นแรงงานก่อสร้าง งานบ้าน หรืองานบริการเมืองเล็กๆ น้อยๆ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เรียกว่า แรงงานนอกระบบ จากข้อมูลสถิติเเรงงานปี 2564 ระบุว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนแรงงานรวมกว่า 1 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบเพียง 38 % และที่เหลืออีก 62% เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ
นอกจากนี้จากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์เศรษฐกิจ และความเป็นเมืองศูนย์กลางในระดับภาค ทำให้เมืองเชียงใหม่เป็นอีกจุดหมายปลายทางของกลุ่มแรงงานที่เข้ามาใช้แรงงานแบบรายวันในเมืองเชียงใหม่ ข้อมูลจากคณะทำงานเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ (เชียงใหม่) ระบุว่า เเรงงานรายวันในภาคเหนือยังคงเป็นที่นิยมกันมาก ทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร หากพิจารณาในระดับเมืองเชียงใหม่ จะพบความเป็นย่านที่มีการกระจุกตัวของกลุ่มแรงงานรายวันอย่างชัดเจน คือ ย่านศรีภูมิ บริเวณถนนอัษฎาธร (ถนนที่เชื่อมบริเวณแยกแจ่งศรีภูมิ เชื่อมไปยังย่านตลาดคำเที่ยง) โดยทั่วไปลักษณะของการจ้างงาน เป็นงานจ้างเหมาเก็บผลผลิต ,งานใช้แรง ขนของ ถ้าเป็นงานก่อสร้างที่ต้องใช้แรงงาน บรรดาผู้รับเหมา หรือนายจ้างจะมีแรงงานประจำ โดยช่างฝีมือประเภท ก่ออิฐ ,ฉาบปูน, ทาสี เป็นต้น (เชียงใหม่นิวส์, 2562)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเมืองเชียงใหม่โดย กลุ่มเชียงใหม่ทรัสต์ ChiangmaiTrust และภาคประชาชนร่วมกันสร้างกิจกรรมแบ่งปันอาหาร หรือ ครัวกลาง เพื่อแจกจ่ายอาคารแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่พบว่าการดูแลปัญหาในเมืองนี้ต้องการการดูแลมากกว่าสภาวะขาดแคลนอาหารได้ขยายขอบข่ายของการดำเนินงานสู่เรื่องของการสร้างงานในเมืองขึ้นผ่าน โครงการ “ครัวงาน” ด้วยความร่วมมือของภาคประชาสังคม เขียว สวย หอม Greenery.Beauty.Scent และกลุ่ม อสม.ของชุมชน ทำให้เกิดการออกแบบกิจกรรมการสร้างงานเพื่อกระจายรายได้หมุนเวียนในชุมชน
โดยให้แรงงานที่ว่างงาน มาทำงานจากการประกาศและหางานในเมือง รวมไปถึงการสร้างวงจรของเศรษฐกิจในระดับชุมชนท้องถิ่น การพึ่งพาตัวเองของชุมชน โดยใช้พื้นที่ชุมชนทานตะวัน-แจ่งหัวลิน เป็นพื้นที่ทดลอง ซึ่งชุมชนแห่งนี้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผ่านมา แต่ด้วยต้นทุนของหัวหน้าชุมชน และการจัดการของกลุ่ม อสม.ในชุมชน ทำให้เกิดการพัฒนาความช่วยเหลือเป็นการสร้างสวนผักชุมชน ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของที่ดินขนาด 300 ตารางเมตรเพื่อให้คนในชุมชนและผู้ใช้แรงงานในชุมชน พัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าไปสู่การเป็นสวนพืชผักเพื่อใช้เพาะปลูกพืชผักสำหรับการทำอาหาร ซึ่งทำให้เกิดการพึ่งพาตัวเองในชุมชน รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มในการจับคู่ความต้องการแรงงานรายวันและกลุ่มของคนจนเมืองที่ตกงานหรือต้องการงานทำ (เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ, 2564)
กิจกรรม/โครงการ ครัวงาน คงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในเมืองเกี่ยวกับการจัดการและการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานรายวันหรือกลุ่มคนจนเมืองในเมืองเชียงใหม่ หากแต่ยังคงต้องมีการจัดการและความต้องการความช่วยเหลือในการจัดการทั้งในเชิงพื้นที่และความช่วยเหลือในประเด็นแรงงานภาคบริการเมืองดังกล่าวจากหน่วยงานภาครัฐและเมืองอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น
โปรดติดตามบทความของเมืองเชียงใหม่อื่นๆ ได้จากการสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมือง เพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0