22/11/2021
Insight

เมืองเคลื่อนคนขยับ: เข้าใจการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ผ่านภาคประชาสังคมเมือง

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


การมีส่วนร่วมของผู้คนที่อยู่ในเมือง นั้นกำลังเป็นที่สนใจในกระบวนการหรือทิศทางของการพพัฒนาเมืองในปัจจุบัน เพราะเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ทถกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่จำกัดเฉพาะเหล่าผู้บริหารเมือง นักผังเมือง หรือผู้ออกแบบเมืองเท่านั้น สำหรับในประเทศไทยถือว่าในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) เป็นจุดเริ่มต้นการใช้แนวความคิดของประชาสังคมที่เน้นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมของประเทศไทย เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ นักวิชาการ และองค์กรประชาชนในท้องถิ่นโดยใช้ชื่อว่า “เวทีประชาคม” ซึ่งถือเป็นรากฐานของการพัฒนาไปสู่สังคมพลเมืองหรือประชาสังคม (civil Society) ในฐานะที่เป็นทางเลือกเพื่อหาทางออกของปัญหาทั้ง ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่าหากสังคมใดที่การรวมตัวของ ประชาคมมีความเข้มแข็ง และสามารถเข้าไปมี ส่วนร่วมในการปกครองหรือกําหนดนโยบายสําคัญๆ ของประเทศแล้วสังคมนั้นก็จะได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องยั่งยืนและตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้

ทั้งนี้ การก่อตัวและพัฒนาการของประชาสังคม อาจกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นเนื่องจากประชาชนต้องเผชิญกับปัญหา หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีความสําคัญ (critical events) และได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการดํารงชีวิต คุณภาพ สิ่งแวดล้อม ต่อชุมชน และ/หรือสังคมฯ เกิดการรวมตัว รวมกลุ่มกันเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาของตน ขณะเดียวกันความซับซ้อนของปัญหา ก็ไม่อาจดําเนินการโดยลําพังองค์กรใดองค์กรหนึ่งได้ หากแต่ต้อง รวมกลุ่ม รวมพลังกันของทุกส่วนในสังคม จึงจะแก้ปัญหาได้ เกิดเป็นภาคประชาสังคมขึ้น (ชูชัย ศุภวงศ์, 2541)

การขยายตัวของเมือง ปัญหา และประชาสังคม

เป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายและแนวทางการพัฒนาเมืองแบบกระแสหลักของประเทศไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีรากฐานมาจากระบบราชการ และการดำเนินงานโดยอำนาจรัฐเป็นต้นธารเสมอมา หากพิจารณาเมืองในภาพรวมของประเทศจะพบว่า นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว ยังมีเมืองหลักในภูมิภาคจำนวนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างมีแบบแผนชัดเจนตั้งแต่ระดับนโยบายจากแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1, 4 และ 5 ที่ระบุให้เมืองหลักในภูมิภาคต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทั้งในด้านการบริหารจัดการอำนาจรัฐอย่างรวมศูนย์ ภายในระดับภูมิภาคเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และรับบทบาทในการกระจายความเจริญไปสู่เมืองในระดับรองที่อยู่รายรอบ เมืองเชียงใหม่ คือ หนึ่งในเมืองหลักของภูมิภาคที่ได้รับบทบาทดังกล่าว และเป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้รับผลของความเปลี่ยนแปลงที่ปรับเปลี่ยนรูปโฉมของเมืองไปแทบจะทุกมิติตามกระแสการพัฒนาจากภายนอก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังชี้ให้เห็นถึงความขาดพร่องของพื้นที่และโอกาสที่จะให้แนวทางการพัฒนาเมืองในกระแสรอง หรือแนวทางการพัฒนาโดยภาคประชาสังคมได้มีที่ทางในการแสดงบทบาทที่มีนัยยะสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง

นี่จึงเป็นสภาพการณ์ของการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นและสืบทอดยาวนานมาตั้งแต่ครั้งเมื่อเชียงใหม่ถูกผนวกรวมกับสยามในฐานะหัวเมืองทางเหนือ มาจนถึงขณะเวลาปัจจุบัน ซึ่งภาคประชาสังคมเชียงใหม่ยังคงล้มลุกคลุกคลานค้นหาคำถามตอบที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเมืองของพวกเขาอยู่ผ่านแนวโน้มการทำงานที่เริ่มมีความหวังมากขึ้น (สามารถ สุวรรณรัตน์, 2558)

การเปลี่ยนแปลงเมืองกับภาคประชาสังคมเมือง

จากการพัฒนา สร้างบ้านแปงเมืองเชียงใหม่ร่วม 725 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งความหลากหลายของผู้คน กิจกรรม เกิดการปะทะสังสรรค์ระหว่างการพัฒนาสมัยใหม่ กับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ความทรงจำของย่าน และชุมชนดั้งเดิมของเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งการพัฒนาเมืองบนฐานสำนึกและมโนทัศน์ความเป็น “คนเมือง” เชียงใหม่ ส่งผลให้คนท้องถิ่นแสดงออกผ่านวิถีวัฒนธรรมอันเข้มแข็ง ตลอดจนสร้างสำนึกห่วงแหนเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่มีผลต่อการพัฒนา รูปลักษณ์ของเมือง และสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเมือง ถือเป็นประเด็นสำคัญในการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่ม และการพัฒนาเมืองที่ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้ จากรายงานการศึกษาขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองของภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งคุณลักษณะร่วมของรูปแบบประเด็น และการเคลื่อนตัวในการดำเนินงานได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การเคลื่อนไหวที่นำโดยกลุ่มชนชั้นนำของจังหวัด (พ.ศ. 2470-2530) ระยะที่ 2 การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มนักพัฒนาเอกชน (พ.ศ. 2530-2550) ระยะที่ 3 การเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน (พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน)

ระยะที่ 1 ชนชั้นนำสร้างเมือง

ระยะที่ 1 กลุ่มชนชั้นนำของจังหวัดกับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ (ก่อน พ.ศ.2530) มีการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มชนชั้นสูง และ กลุ่มทุนชั้นนำในสังคม เช่น นักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้า คหบดีผู้มีการศึกษา โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาความเจริญ สร้างโอกาสให้เมืองเชียงใหม่ จึงได้มีการผลักดันประเด็น และชักชวนคนเชียงใหม่เข้าร่วมปฏิบัติการ โดยอาศัยรูปแบบการดำเนินงานด้วยพลังเครือข่าย พร้อมกับดำเนินการตามโครงสร้างของรัฐ เพื่อให้ได้รับการยอมรับและได้งบสนับสนุนจากรัฐ เช่น การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ การเรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

ระยะที่ 2 นักวิชาการนำเมือง

ระยะที่ 2 จากกลุ่มชนชั้นนำของจังหวัด สู่กลุ่มนักวิชาการและกลุ่มนักพัฒนาเอกชน (พ.ศ. 2530-2549) ผู้มีบทบาทในการชี้นำภาคประชาสังคม และการพัฒนาเมืองในระยะนี้ คือ นักวิชาการ หรือคนในหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ที่มองเห็นปัญหา และโอกาสในการร่วมมือกันเพื่อลงมือปฏิบัติการบางอย่าง เพื่อส่งเสริมให้เมืองถูกพัฒนาในทิศทางที่เหมาะสม จึงได้มีการจัดเสวนาให้ความรู้ กิจกรรมรณรงค์ รวมถึงจัดองค์กรภาคประชาสังคมในรูปแบบชมรม กลุ่ม และมูลนิธิ เช่น การจัดตั้งศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่ เกิดเวทีสาธารณะเพื่อประชาชน การเตรียมสมโภชเมืองเชียงใหม่ 700 ปี การคัดค้านการพัฒนาโครการต่างๆของภาครัฐ การคัดค้านการขยาย super highway ทับวัดเจ็ดยอด และการคัดค้านการสร้างคอนโดฯ เป็นต้น

ระยะที่ 3 มวลประชาพาเคลื่อนเมือง

ระยะที่ 3 องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน ในประเด็นการดูแลรักษาเมือง (พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน) เป็นระยะที่คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในชุมชนขนาดเล็กจนถึงเครือข่ายขนาดใหญ่ นักวิชาการ พระสงฆ์ หรือแม้แต่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจในเรื่องการพัฒนาเมือง สามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองในประเด็นที่ตนเองสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหนที่มากขึ้นคือ การเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มการสร้างประชาคมผ่านโลกเสมือน และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นการพึ่งพาอาศัยกันมากกว่าการเรียกร้อง หรือคัดค้านดังเช่นแต่ก่อน รวมถึงมีการผสานความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรภาครัฐ และเอกชนในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่โดยภาคประชาสังคม

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมเมืองเชียงใหม่ มีหลากหลายทั้งเครือข่ายภาครัฐ เครือข่ายภาคเอกชน เครือข่ายภาคการศึกษา เครือข่ายภาคประชาสังคม และเครือข่ายพลเมือง รวมกว่า 130 กลุ่ม ซึ่งสามารถแยกประเด็นและเป้าหมายของการดำเนินงานเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ (1) กลุ่มที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และความเข้าใจเมือง พบว่ามีประมาณ 59% (2) กลุ่มที่มีเป้าหมายเพื่อศึกษาปัญหาเมือง และพัฒนาเชิงพื้นที่ ประมาณ 39% และ (3) กลุ่มที่มีเป้าหมายเพื่อการคัดค้าน เรียกร้องความไม่เหมาะสมของโครงการพัฒนาเมือง ประมาณ 2%

รูปแบบการทำงานของกลุ่มภาคประชาสังคมเชียงใหม่มีจุดแข็งและข้อดี คือ มีการใช้หลักการ และข้อมูลวิชาการในการสนับสนุน มีกระบวนการสำรวจ และประเมินพื้นที่ทำงาน ก่อนการปฏิบัติการ เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัจจุบัน ปัญหา โอกาส ศักยภาพ และความต้องการของคนในชุมชน และสามารถรวมตัวทำงานร่วมกันได้อย่างเข้มแข็ง มีการเชื่อมงานต่อกับภาครัฐ และเอกชน แต่อย่างไรก็ตามงานลักษณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจิตอาสา ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเมืองต้องการการทุ่มเทเวลา ความจริงจัง และความต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มประชาสังคมมีอุปสรรคต่อการทำงานในระดับภาพรวมของเมือง หรือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาเมืองจากภาคประชาสังคม

สำหรับกลไกภายในของภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองนั้นอาศัยฐานความสัมพันธ์ผ่านการพูดคุย ปรึกษาหารือ การวางแผน การแบ่งงาน และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน อีกทั้งผลักดันบุคคล หรือกลุ่มต่าง ๆ ที่มีศักยภาพไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมงานการพัฒนาเมืองขององค์กรในทางใดทางหนึ่งซึ่งถือเป็นโอกาส และจุดแข็งที่ขององค์กรภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสา และเริ่มเข้ามาเรียนรู้การทำงานในลักษณะนี้ ส่วนกลไกภายนอกซึ่งเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงประสานงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ใช้การพึ่งพาอาศัยเป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเมือง เพื่อเชื่อมโยงจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งแต่ละองค์กรต่างมีกลไก และวิธีการเชื่อมร้อยกลุ่มเป้าหมาย หรือพันธมิตรภายนอกด้วยตนเองแตกต่างกันไป “การขาดพื้นที่กลาง” สำหรับผู้คนต่างสถานะ ต่างความสนใจ มาร่วมทำงาน หรือ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นในภาพรวม อาจเป็นอีกหนึ่งช่องว่างของกลไกการขับเคลื่อนเมืองในปัจจุบันของเครือข่ายทางสังคมในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นทิศทางที่ดีสำหรับการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเรียนรู้ ร่วมทำงาน ร่วมตรวจสอบ ผลักดันการพัฒนา และสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม


Contributor