21/10/2022
Insight

อ่านเมืองร้อยเอ็ดด้วยข้อมูล: ฟื้นใจเมืองร้อยเอ็ดด้วยเมืองเดินได้เมืองเดินดี

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


เมืองร้อยเอ็ด เคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “สาเกตนคร” หรือ เมืองร้อยเอ็ดประตู อันเนื่องมาจากเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรื่องโดยที่มีเมืองขึ้นจํานวนมาก ชื่อของเมืองร้อยเอ็ดนั้นได้มาจากเป็นเมืองที่มีประตูล้อมรอบเป็นกําแพง การตั้งชื่อเมืองให้มีความใหญ่เกินเพื่อให้เป็นสิริมงคล ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการตั้งชื่อเมืองโบราณ

ในบทความนี้ทีมงาน TheUrbanis จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักเมืองร้อยเอ็ดด้วยการเล่าเรื่องผ่านข้อมูล ว่าเหตุใดเมืองร้อยเอ็ดจึงมีศักยภาพเป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ซึ่งบทความนี้เป็นผลการศึกษาบางส่วนจากโครงการ ฟื้นใจเมืองร้อยเอ็ดด้วยเมืองเดินได้เมืองเดินดี ภายใต้ชุดโครงการห้องปฎิบัติการเมืองเดินได้เมืองเดินดีประเทศไทย (Good Walk Lab Thailand)

เมืองเก่าที่ถูกออกแบบและวางผังมาแต่โบราณ

เมืองเก่าร้อยเอ็ดมีลักษณะโดดเด่นคือเป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบซึ่งยังคงหลงเหลือร่องรอยอย่างชัดเจนในปัจจุบัน ทำให้สามารถจะกำหนดขอบเขตของวัฒนธรรมในสมัยโบราณได้ไม่ยากนัก สัญนิษฐานว่าภายในเมืองเก่าอาจมีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต ตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ และน่าจะมีการใช้พื้นที่นี้มากขึ้นในช่วงสมัยทวารวดี ซึ่งอาจมีการขุดคูน้ำคันดินขึ้น เพื่อประโยชน์ในการจัดการน้ำและการอุปโภค-บริโภค ร่องรอยหลักฐานของศิลปะทวารวดีนั้น พบกระจายอยู่ตามวัดหลายแห่ง คือ ใบเสมาหินทราย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสาน กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 หรือราว ปี พ.ศ. 1100 – 1500
.
เมืองร้อยเอ็ด มีกำแพงเมือง–คูเมือง ลักษณะเป็นคูน้ำคันดินในผังรูปสี่เหลี่ยมมุมมนล้อมรอบ ขนาด 1,700 x 1,800 เมตร โดยคูเมืองอยู่ด้านนอก และด้านในมีคันดินก่อสูงเป็นกำแพงเมือง อย่างไรก็ตาม ชุมชนที่เคยอยู่อาศัยแถบนี้คงทิ้งร้างไปในช่วงที่อารยธรรมขอมโบราณแพร่ขยายเข้ามาราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 และเมืองก็ถูกทิ้งร้างไปยาวนานจนกระทั่งมีการกลับเข้ามาใช้งานพื้นที่นี้อีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2200 เป็นต้นม

จากโครงสร้างเมืองรูปมุมมน เกือบจะตั้งฉาก และทิศทางของถนนสายหลักที่เชื่อมไปยังรอบทิศทาง เชื่อมไปยังประตูเมืองดั้งเดิมทั้ง 11 ประตู ทำให้โครงข่ายถนนภายในเมืองร้อยเอ็ดค่อนข้างเป็นไปในรูปกริดขนาดประมาณ 200 x 200 เมตร ในภาพรวมถือว่าเป็นโครงข่ายถนนของเมืองที่ช่วยสร้างขีดความสามารถในการเชื่อมต่อภายในเมืองได้เป็นอย่างดี หากแต่ปัจจุบันยังมีโครงข่ายเส้นทางบริเวณรอบคูเมืองด้านในที่ยังไม่สามารถเชื่อมทะลุถึงกันได้โดยตลอด ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเมืองในการเพิ่มโครงข่ายเส้นทางการเชื่อมต่อของเมือง

ส่งผลให้เมืองร้อยเอ็ด มีบล๊อกถนนขนาดเล็กภายในเมืองที่เอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อและเข้าถึงที่ดี และหากพิจารณาความหนาแน่นของโครงข่ายถนนต่อสัดส่วนพื้นที่เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด พบว่า มีส่วนส่วนถนนต่อพื้นที่เมืองประมาณ 7% และพบว่า มีความหนาแน่นที่สุดบริเวณภายในเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ด

ย่านเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตในระยะเดิน

ด้วยความที่ภายในพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ดมีบล๊อกถนนขนาดเล็ก มีโครงข่ายที่เชื่อมต่อกันอย่างดี ทำให้ตำแหน่งของสถานที่ต่าง ๆ ภายในเมืองสามรถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างสะดวก ตั้งแต่พื้นที่เศรษบกิจ พื้นที่มรดกวัมนธรรม สถานที่ราชการ และอาคารที่พักอาศัย กลายเป็นพื้นที่การใช้ชีวิตของเมืองที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ในระยะเดินเท้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาของเมืองที่ประกอบไปด้วยวัดที่สำคัญอยู่มากมาย อาทิ วัดบูรพาภิราม ถือเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทย วัดเหนือ ที่ถือได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น

นอกจากนี้ ลักษณะพิเศษของเมืองร้อยเอ็ดคือการมีศูนย์กลางเมืองที่เป็นพื้นที่ศูนย์รวมกิจกรรม และความหลากหลายของการใช้งานชีวิตเมืองอย่าง บึงพลาญชัย และ หอโหวต 101 ซึ่งเป็นหอสูงชมเมืองซึ่งมีความสูง 101 เมตร โดยนักท่องเที่ยวสามารถชมความงดงาม ความมีเสนห์ของเมืองร้อยเอ็ด ได้รอบทิศ แบบ 360 องศา ส่วนพื้นที่อาคารชั้นที่ 35 เป็นพื้นที่ประดิษฐานพระพุทธมิ่งเมืองมงคล พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ดอีกด้วย

ร้อยเอ็ดเมืองสีเขียวสร้างสรรค์

ความโดเด่นของเมืองร้อยเอ็โอีกประการคือการเป็นเมืองสีเขียว เมืองที่ใช้พื้นที่สาธารณะสีเขียวเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเมืองรวบรวมกิจกรรม ผู้คนและวิถีชีวิตบริเวณใจกลางเมืองเก่าหากพิจารณาสัดส่วนพื้นที่สีเขียวยั่งยืน ซึ่งหมายถึงพื้นที่สีเขียวเพื่อระบบนิเวศน์และพื้นที่สวนสาธาณระต่าง ๆ จะพบว่า เมืองร้อยเอ็ดมีพื้นที่สีเขียวกว่า 22 ตารางเมตร/คน

ด้วยความพยายามของเมืองและเทศบาล ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะของเมือง จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาและปรุงปรุงพื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ประโยชน์สาธารณะอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบหอโหวต 101 พื้นที่รวมกว่า 17 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ลานกิจกรรม สวนสาธารณะ พื้นที่เอนกประโยชน์ของเมือง เชื่อมต่อกับพื้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ร้อยเอ็ด เนื้อที่กว่า 123 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดในการปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบคูเมืองด้านใน และพื้นที่สระแก้ว ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของเมืองอีกด้วย

หอโหวต 101 ดึงดูดเศรษฐกิจรอบบึงพลาญชัย

หลังจากที่หอโหวต 101 เปิดให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้ขึ้นชมทัศนียภาพของเมืองแบบ 360 องศา ตั้งแต่ปลายปี 2563 นอกจากจะกลายเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ของเมืองแล้ว การพัฒนาพื้นที่หอโหวตซึ่งเชื่อมต่อกับบึงพลาญชัย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นใจเมืองร้อยเอ็ด นำมาซึ่งความคึกคัก ของผู้คนที่เข้ามาใช้งานพื้นที่ รวมถึงความคึกคักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ ต่าง ๆ

โดยเฉพาะร้านค้าร้านอาหาร และค่าเฟ่ ต่าง ๆ ที่เปิดรับกับการพัฒนาในระดับเมืองในพื้นที่โดยรอบอย่างเห็นได้ชัด จากการรวบรวมข้อมูลจำนวนร้านคาเฟ่ในเมืองเก่าร้อยเอ็ด เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 2 ช่วงเวลา นั่นคือ ก่อนการพัฒนาพื้นที่บริเวณหอโหวต กับปัจจุบัน จะพบว่า แต่เดิมในช่วงปี 2558 กลุ่มธุรกิจร้านค้าคาเฟ่เหล่านี้มีจำนวนรวมประมาณ 40 กว่าร้านค้า และกระจุกตัวบริเวณพื้นที่ย่านเศรษฐกิจรองบนถนนสันตุสุข เป็นส่วนมาก เมื่อเปรัยบเทียบกับข้อมูลล่าสุดในปี 2564 พบว่า จำนวนร้านค้าคาเฟ่ในเขตเมืองเก่าเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เป็นกว่า 90 ร้านค้า และมีการกระจุกตัวโดยรอบพื้นที่หอโหวตและบึงพลาญชัย อย่างเห็นได้ชั

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความหนาแน่นและความพลุกพล่านของกิจกรรมการใช้ชีวิตในเมือง ช่วยส่งเสริมให้เกิดการรักษาและเติบโตของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในเมือง ทำให้ย่านนี้กลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลา่งเมืองอย่างแท้จริงทั้งการเป็นพื้นที่ศูนย์รวมกิจกรรมและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของผู้คนในพื้นที่ต่อไป

คนร้อยเอ็ดเดินไกลเเค่ไหน

เเม้ว่าสาธารณูปการ สถานที่ต่าง ๆในเมืองจะกระจายในระยะที่เดินถึงซึ่งสอดคล้องกับระยะเดินเท้าที่พึงพอใจของชาวร้อยเอ็ด แต่กิจกรรมการเดินที่เกิดขึ้นยังกระจุกตัวอยู่บางบริเวณเท่านั้น นั่นคือพื้นที่โดยรอบบึงพลาญชัยเท่านั้น

จากการสำรวจพฤติกรรมและความพึงพอใจในการเดินในเมืองร้อยเอ็โ พบว่า ผู้คนยีนดีที่จะเดินในระยะทางประมาณ 300 เมตรเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับ ผลการสำรวจรูปแบบพฤติกรรมการเดินทางเคลื่อนในเมืองร้อยเอ็โ พบว่า ส่วนใหญ่กว่า 56% ใช้การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล รองลงมาคือ รถจักรยานยนต์ กว่า 40% และที่เหลือคือรูปแบบการเดินและจักรยาน

เเม้ว่าลักษณะโครงสร้างสัณฐานของเมืองจะเอื้อต่อการส่งเสริมการเดินทางด้วยการเดินเท้าและจักรยานในเมืองหากแต่ ความต้องการในการเดินในเมืองนั้น ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ประกอบด้วย อาทิ ความสะดวกสบายในการเดินเท้า ความปลอดภัย และความรื่นรมย์ ตลอดสองข้างทาง นี่จึงเป็นที่มาของ “โครงการฟื้นใจเมืองร้อยเอ็ดด้วยเมืองเดินได้-เมืองเดินดี” เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองให้เอื้อต่อกิจกรรมการเดินเท้า อันจะยังประโยชน์ทั้งในด้านสุขภาพของผู้คนในเมืองให้เกิดกิจกรรมทางกายที่เพิ่มสูงขึ้น กระตึ้นเศรษฐกิจฐานรากให้แทรกซึมและทั่วถึงในระยะเดินเท้าทั่วเมือง การมีระบบนิเวศเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สู่การฟื้นใจเมืองร้อยเอ็ด ด้วยเมืองเดินได้-เมืองเดินดี

ด้วยโอกาสและทิศทางของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดในปัจจุบัน หากสามารถยกระดับศักยภาพและสร้างจุดเด่นในการเป็นเมืองเก่าที่ยังคงมีชีวิต มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่โดดเด่น ให้สามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดให้เดินได้-เดินดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาของทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

จากการวิเคราะห์ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดินเท้า หรือ คะแนนเมืองเดินได้ (GoodWalk Score) พบว่า ในพื้นที่เมืองร้อยเอ็ด (เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด) กว่า 50% จัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่เดินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณโดยรอบ เขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด และตลอดแนวถนนผดุงพาณิช ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจดั้งเดิมของเมือง และบริเวณโดยรอบบึงพลาญชัยและหอโหวดร้อยเอ็ด ซึ่งถือเป็นบริเวณใจเมืองร้อยเอ็ด นอกจากนี้พื้นที่ย่านเดินได้ยังกระจายตัวตามแนวถนนแจ้งสนิท ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญของเมืองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าคะแนนเมืองเดินได้ของเมืองร้อยเอ็ดจัดว่าอยู่ในระดับดี เมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ของประเทศไทย เนื่องด้วยขนาดของเมืองซึ่งอยู่ในระยะเดินเท้า และภายในเขตเมืองเก่ามีรูปแบบโครงข่ายเส้นทางในรูปแบบกริด หากแต่ยังต้องการการเชื่อมต่อและสร้างโครงข่ายภายนอกเมืองเก่าให้สมบูรณ์เพื่อสร้างความพลุกพล่านทั้งกิจกรรมและเศรษฐกิจของพื้นที่เมืองร้อยเอ็ด นอกจากนี้ในด้านคุณภาพการเดินเท้า พบว่า ส่วนใหญ่สภาพถนนและทางเท้าของเมืองอยู่ในระดับที่สมบูรณ์ หากแต่มีบางพื้นที่ที่อาจต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงของโครงข่ายทางเท้า โครงข่ายการท่องเที่ยว และโครงข่ายเศรษฐกิจเมือง เศรษฐกิจท้องถิ่นเข้าด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนและกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเมืองต่อไป

ผลการศึกษาศักยภาพการเดินเท้าของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า พื้นที่เมืองร้อยเอ็ดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณพื้นที่รอบบึงพลาญชัย หอโหวดร้อยเอ็ด และบริเวณโดยรอบ เมืองเก่า ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่ใจเมืองร้อยเอ็ด” เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยการเดินเท้าและมีศักยภาพอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนและยกระดับปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเดินเท้า ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นและการท่องเที่ยวให้กับเมือง แต่อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาในปัจจุบันที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวต้องเผชิญอยู่คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพของถนนและทางเท้าที่ยังดีไม่พอ รวมถึงสภาพปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ตลอดจนช่วงฤดูกาลของการท่องเที่ยว ทั้งนี้อาจจะด้วยข้อจำกัดบางประการของระบบขนส่งมวลชนเมืองที่ยังต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานอันจะช่วยส่งเสริม “วิถีการเดินเท้า” ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในเมืองต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการห้องปฏิบัติการเมืองเดินได้-เมืองเดินดีร้อยเอ็ด ดำเนินการโดย เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UddC-CEUS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท พี-เนอ เออร์เบิ้น อาร์คิเต็ค จำกัด (P-NUR) มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor