20/06/2023
Insight
ปทุมวัน ปทุมWALK: เข้าใจ 5 พฤติกรรมการเดินชาวปทุมวัน
ณัฐชนน ปราบพล
ปทุมวัน เขตที่เปรียบเสมือนหัวใจอีกดวงหนึ่งของกรุงเทพฯ ด้วยการเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการคมนาคมที่สำคัญ เป็นแหล่งรวมย่านพาณิชยกรรมและพักผ่อนหย่อนใจที่พร้อมรองรับผู้คนทุกเพศทุกวัย เป็นศูนย์กลางแหล่งงานที่สำคัญจากการเป็นที่ตั้งของสำนักงานจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเมืองจากการเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาและสถานที่ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ อีกทั้งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนที่หลากหลาย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลย่านเดินได้ของโครงการเมืองเดินได้-เดินดี (Goodwalk) พบว่า ปทุมวันเป็นเขตที่มีค่าดัชนีเมืองเดินได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของกรุงเทพฯ หมายถึง คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ สามารถเข้าถึงสาธารณูปการในชีวิตประจำวันได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพารถยนต์ แล้วเมืองเดินได้นี้ มีคนเดินมากแค่ไหน บทความนี้จะพาทุกท่านมาพบกับ 5 พฤติกรรมการเดินชาวปทุมวัน จากการลงพื้นที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 200 คน ทั้งผู้อยู่อาศัย คนสัญจรผ่านไปมา นิสิต/นักศึกษา และคนทำงาน
Fact ที่ 1: ชาวปทุมวันเดินไกลกว่าค่าเฉลี่ย
ผลการสำรวจพฤติกรรมการเดินจากโครงการเมืองเดินได้-เดินดี พบว่า ระยะทางเฉลี่ยที่คนกรุงเทพฯ เต็มใจที่จะเดินในแต่ละครับ คือ ประมาณ 800 เมตร แต่สำหรับเขตปทุมวันคนส่วนใหญ่เดินไกลกว่านั้น โดยมีระยะทางเฉลี่ยอยู่ที่ 925 เมตร หรือไกลกว่าระยะทางเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ 15% และสามารถจำแนกคนเดินได้เป็น 3 กลุ่ม ตามระยะทาง คือ
คนเดินสั้น คือ คนเดินไม่เกิน 400 เมตร มีสัดส่วน 14%
คนเดินธรรมดา คือ คนที่มีระยะทางการเดินในแต่ละครั้งมากกว่า 400 เมตร แต่ไม่เกิน 800 เมตร หรือไม่เกินค่าเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ มีส่วน 29%
คนเดินไกล คือ คนที่มีระยะทางการเดินในแต่ละครั้งมากกว่า 800 เมตร หรือไกลกว่าค่าเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ มีสัดส่วนมากถึง 57% และ 40% เดินไกลกว่า 1,200 เมตร
Fact ที่ 2: เดินเพื่อไปต่อ
คนเดินเท้าในเขตปทุมวันมากถึง 90% ใช้การเดินเป็นส่วนหนึ่งของการสัญจร นั่นคือ การเดินเพื่อเปลี่ยนถ่ายการสัญจรทางรถ ทางราง และทางเรือ ซึ่งพฤติกรรมการเดินเช่นนี้ สอดคล้องกับบริบทของเขตปทุมวันที่เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมือง โดยเฉพาะ สถานี BTS สยาม ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระบบราง เรือคลองแสนแสบ และระบบรถหลากหลายประเภททั้ง รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถ Shuttle Bus หรือแม้กระทั่งวินมอเตอร์ไซค์
Fact ที่ 3: ระบบ Feeder มีผลต่อระยะการเดิน (ไกล)
คนเดินเท้าส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า การมีระบบขนส่งสาธารณะรอง (feeder) ที่ดีและครอบคลุม จะทำให้ผู้คนเลือกใช้การเดินเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางมากขึ้น และส่งผลให้ระยะการเดินเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ระบบขนส่งสาธารณะรองที่ชาวปทุมวันให้ความสำคัญสูงสุด คือ รถโดยสารประจำทาง รถตู้ จักรยาน และสกู๊ตเตอร์ ซึ่งต้องมีจุดให้บริการ รวมถึงความถี่ที่สอดรับกับเส้นทางและสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่สำหรับการเดินทางสัญจรของเขตปทุมวัน
Fact ที่ 4: ยิ่งแก่ ยิ่งเดินใกล้
ชาวปทุมวันช่วงวัย 16 – 23 ปี หรือกลุ่มนักเรียน นิสิต/นักศึกษา เป็นวัยที่เดินไกลที่สุด มีระยะการเดินเฉลี่ยต่อครั้งอยู่ที่ 950 เมตร รองลงมาคือ กลุ่มคนทำงาน ช่วงอายุ 24 – 35 ปี มีระยะเดินเฉลี่ยที่ 880 เมตร และผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะเดินสั้นที่สุด คือ เฉลี่ยต่ำกว่า 850 เมตร
หากพิจารณาความสัมพันธ์นี้ ก็อาจคาดการณ์ถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ระยะทางในแต่ละช่วงอายุแตกต่างกัน เช่น ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า มักมีกำลัง เรี่ยวแรงที่จะเดินมากกว่าผู้อายุมากกว่า หรือในมิติของวิถีชีวิตและกำลังจ่ายของคนแต่ละช่วงวัย เช่น วิถีชีวิตของกลุ่มวัยทำงานหรือผู้สูงวัย อาจไม่มีกิจกรรมที่จำเป็นต้องเดินเท้าในระยะทางที่ไกลกว่า หรืออาจเป็นเพราะกลุ่มคนวัยนี้ส่วนใหญ่มักมีรายได้และกำลังจ่ายที่สูงกว่าวัยเรียน และอาจใช้เงินแก้ปัญหาในการเดินทาง แทนการเดินไปยังจุดหมาย
Fact ที่ 5: ยิ่งบ้านไกลงาน ยิ่งเดินน้อย
ด้วยบริบทของเขตปทุมวันที่เป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ของเมือง ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจึงจำเป็นต้องเดินทางเข้ามายังพื้นที่แห่งนี้ โดยผู้ที่ทำงานหรือเรียนอยู่ในเขตปทุมวัน มักพักอาศัยอยู่ห่างจากที่ทำงานหรือสถานศึกษาไม่เกิน 3.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ยิ่งผู้บ้านหรือที่พักอาศัยอยู่ไกลจากที่ทำงานมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีระยะการเดินที่สั้นลงเท่านั้น เนื่องด้วย อาจใช้วิธีการเดินทางทางรูปแบบอื่นแทนการเดินเท้า เช่น การใช้รถส่วนตัว หรือขนส่งสาธารณะ
เดินได้ เดินจริง และยังเดินไม่ดี
แม้ว่าชาวปทุมวัน จะเดินเยอะกว่าค่าเฉลี่ยของชาวกรุงเทพฯ แต่ก็ยังพบปัญหาหรือปัจจัยที่ทำให้ผู้คนไม่อยากเดิน โดยแบ่งปัญหาออกเป็น 3 ด้าน ได้ดังนี้
ความไม่สะดวก – 27% มีความเห็นว่า ทางเท้ายังขาดโครงสร้างบังแดดและฝนที่เพียงพอ
ความไม่ปลอดภัย – 26% มีความเห็นว่า ทางข้ามหลายแห่งไม่มีสัญญาณไฟสำหรับคนข้าม
ความไม่น่าเดิน – 56% มีความเห็นว่า ทางเท้าร้อน ขาดความร่มรื่น และสกปรก
นอกจากปัญหาอุปสรรคต่อการเดินแล้ว ชาวปทุมวันยังได้ร่วมเสนอแนะถึงสิ่งที่ควรปรับปรุง เพื่อให้ย่านนี้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินมากยิ่งขึ้น โดย 24% เห็นว่าควรเพิ่มจุดทางข้ามหรือสัญญาณไฟข้ามถนน รองลงมาคือ ลดจุดอับสายตาหรือเพิ่มกล้องวงจนปิด และเพิ่มไฟส่องสว่าง อย่างละ 12% ตามมาด้วย การขยายทางเท้า จัดการสิ่งกีดขวาง และเพิ่มโครงสร้างบังแดดและฝน อย่างละ 11%
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มาภาพปก Kath Barcinas