11/05/2022
Insight

“พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้” ของย่านพระโขนง-บางนา อยู่ที่ไหน? ย่านศักยภาพ แต่ขาดการรับรู้และเข้าถึง

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของย่านและเมือง ถือเป็นโจทย์สำคัญอีกโจทย์หนึ่งในการพัฒนาย่าน เมือง และประเทศ ที่จำเป็นจะต้องพัฒนาทั้งในด้านปริมาณ จำนวนและการกระจาย รวมถึงด้านคุณภาพของแต่ละพื้นที่ ที่จะช่วยสร้างรากฐานให้กับชาวย่านและชาวเมือง สามารถตอบรับกับความต้องการของสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สร้างโอกาสใหม่ ๆ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ

หากมองที่ย่านพระโขนง-บางนา จะเห็นได้ว่า ย่านนี้มีพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้อยู่ถึง 324 แห่ง เข้าถึงได้ในระยะทางเฉลี่ยประมาณ 350 เมตร และบริเวณที่ห่างไกลจากพื้นที่สิ่งเสริมการเรียนรู้ของย่านมากที่สุด มีระยะการเข้าถึงประมาณ 4 กิโลเมตร โดยสามารถแบ่งพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ 2 ประเภทหลัก คือ

1. การเรียนรู้ในระบบหรือสถานศึกษา คือ การเรียนรู้ตามหลักสูตรการเรียนการสอนที่จัดขึ้นโดยสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย เป็นต้น ย่านพระโขนง-บางนา มีพื้นที่ประเภทนี้จำนวน 116 แห่ง เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 37 แห่ง โรงเรียนทั่วไป 63 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ 8 แห่ง และสถาบันอาชีวะศึกษา 8 แห่ง เข้าถึงได้ในระยะทางเฉลี่ยประมาณ 450 เมตร และบริเวณที่ห่างไกลจากสถานศึกษาภายในย่านมากที่สุด มีระยะการเข้าถึงประมาณ 4.5 กิโลเมตร

แม้จะมีโรงเรียนนานาชาติมากเป็นอันดับต้น ๆ ของกรุงเทพฯ จนเรียกได้ว่าเป็นถิ่นโรงเรียนนานาชาติอีกแห่งหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไปก็คือ ย่านนี้ไม่มีมหาวิทยาลัย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นและขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยวิทยาการขั้นสูง

2. การเรียนรู้นอกระบบ คือ การเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาตามหลักสูตรในโรงเรียนก็ได้ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ อุทยาน และศาสนสถาน เป็นต้น ย่านพระโขนง-บางนา มีพื้นที่ประเภทนี้จำนวน 208 แห่ง เป็นร้านหนังสือ 112 แห่ง ห้องสมุด 6 แห่ง พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ 6 แห่ง และศาสนสถาน 84 แห่ง เข้าถึงได้ในระยะทางเฉลี่ยประมาณ 400 เมตร และบริเวณที่ห่างไกลจากแหล่งการเรียนรู้นอกระบบของย่านมากที่สุด มีระยะการเข้าถึงประมาณ 4 กิโลเมตร

แม้ว่าย่านจะยังพอมีพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้อยู่บ้างแล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือ โครงข่ายการสัญจร ที่ภายในย่านที่ส่วนใหญ่เป็นซอยลึกและตัน ทำให้เข้าถึงพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ยากทั้งในแง่ของการเดินทางไปถึงและการมองเห็น รวมทั้งขาดการรับรู้ในสาธารณะ ทำให้คนทั่วไปหรือแม้กระทั่งในย่านเอง อาจจะคาดไม่ถึงว่า พื้นที่เรียนรู้ที่มีศักยภาพในย่านพระโขนง-บางนา อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม ย่านพระโขนง-บางนา ยังมีโอกาสในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมและพื้นที่การเรียนรู้ จากการเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเอกชน และบริษัท start-up หลายแห่ง รวมทั้งชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนของตน ถือเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาย่านให้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ จากการร่วมกันพัฒนาคุณภาพของพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้เดิมหรือการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้แห่งใหม่ของย่าน ซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ช่วยทำให้ย่านดีขึ้นได้ แม้ว่าย่านนี้จะไม่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ก็ตาม

แม้ว่าย่านจะยังพอมีพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้อยู่บ้างแล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือ โครงข่ายการสัญจร ที่ภายในย่านที่ส่วนใหญ่เป็นซอยลึกและตัน ทำให้เข้าถึงพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ยากทั้งในแง่ของการเดินทางไปถึงและการมองเห็น รวมทั้งขาดการรับรู้ในสาธารณะ ทำให้คนทั่วไปหรือแม้กระทั่งในย่านเอง อาจจะคาดไม่ถึงว่า พื้นที่เรียนรู้ที่มีศักยภาพในย่านพระโขนง-บางนา อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม ย่านพระโขนง-บางนา ยังมีโอกาสในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมและพื้นที่การเรียนรู้ จากการเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเอกชน และบริษัท start-up หลายแห่ง รวมทั้งชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนของตน ถือเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาย่านให้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ จากการร่วมกันพัฒนาคุณภาพของพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้เดิมหรือการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้แห่งใหม่ของย่าน ซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ช่วยทำให้ย่านดีขึ้นได้ แม้ว่าย่านนี้จะไม่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ก็ตาม

โครงการนี้เป็นโครงการศึกษาและออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับ สตูดิโอการฟื้นฟูย่าน ภาคผังเมือง จุฬาฯ


Contributor