09/06/2023
Insight

4 ความท้าทายสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่ของกรุงเทพมหานคร

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ธนพร โอวาทวรวรัญญู
 


เมืองมีความซับซ้อน หลากหลาย เป็นพื้นที่แห่งโอกาสและความเหลื่อมล้ำ กรุงเทพมหานครเองก็เป็นเช่นนั้น เป็นเมือง VUCA ที่รายล้อมไปด้วยความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) ดังนั้น การเข้าใจเมืองจึงไม่ควรมองเพียงมิติทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีแว่นกรองหรือมุมมองที่หลากหลาย ทั้งมิติกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่จะช่วยสร้างการขับเคลื่อนเมืองให้เกิดการพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มีลักษณะเป็น “เมืองโตเดี่ยว” เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ มีสัดส่วนของเศรษฐกิจร้อยละ 36.3 ของ GDP ทั้งประเทศ เต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลายรวมกว่า 9 ล้านคน มีกิจกรรมที่ซับซ้อน ผู้คนที่หลากหลายนำมาซึ่งกิจกรรมการใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายตามมา ทั้งย่านการอยู่อาศัย ย่านพาณิชยกรรม ย่านประวัติศาสตร์ ที่กระจายตัวและผสมผสานกันอยู่ทั่วเป็น อีกทั้ง เป็นเมืองที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทั้งระบบขนส่งมวลชน โครงการขนาดใหญ่ พื้นที่สวน พื้นที่นันทนาการ และอีกมากมาย ตลอดจนเป็นเมืองที่มีความวุ่นวายและชีวิตชีวาทั้งกลางวันและกลางคืน จึงทำให้กรุงเทพฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นหมุดหมายของการเดินทางท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก เป็นเมืองที่เหมาะแก่การ Workation แต่ทว่า เมืองหลวงแห่งนี้เป็นเมืองที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ทำงาน และใช้ชีวิต หรือไม่

4 ความท้าทายของกรุงเทพมหานคร

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีกิจกรรมและการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมีผู้คนที่หลากหลายหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยและใช้ชีวิต การพัฒนาเมืองน่าอยู่จึงเป็นอีกโจทย์สำคัญของการพัฒนาเมืองนี้ ให้เมืองที่เป็นพื้นที่แห่งโอกาสและความเหลื่อมล้ำนี้ มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น จากการศึกษา UddC พบ 4 ความท้าทายด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่จะเป็นโจทย์ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย (1) พื้นที่สีเขียว (2) พื้นที่การเดิน (3) พื้นที่สุขภาวะ และ (4) พื้นที่การเรียนรู้ ซึ่งวันนี้ The Urbanis จะพาทุกคนมาดูข้อมูลความท้าทายในแต่ละด้านกัน

อันดับที่ 1 พื้นที่สีเขียว

พื้นที่สีเขียวในเมืองมีส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาวะแก่คนเมือง ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความสามารถในการรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ ได้ เมืองต่าง ๆ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอ มีคุณภาพที่ดีและสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยคนทุกกลุ่มจากพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของเมือง การพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองยังเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงการที่ประชาชนควรได้รับการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถเข้าถึงบริการพื้นที่สีเขียวของเมือง อย่างเท่าเทียมกัน

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีมาตรฐานพื้นที่สีเขียวของเมืองขั้นต่ำ 9 ตารางเมตรต่อคน และมาตรฐานอุดมคติอยู่ที่ 50 ตารางเมตรต่อคน โดยพื้นที่สีเขียวของเมืองที่นำมาคำนวณนั้น ต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้ และเสนอว่าในระดับย่าน ควรมีพื้นที่สีเขียวกระจายตัวอยู่ในระยะการเดินเท้า 300–500 เมตร ในขณะที่กรุงเทพฯ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นเมืองที่พื้นที่สีเขียวสาธารณะยังกระจายไม่ทั่วถึงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การขาดแคลนพื้นที่สีเขียวได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังและความเจ็บปวดอันดับต้นจากความเห็นของประชาชน

จากเว็บไซต์ของกทม. กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว ซึ่งใช้คำว่า “พื้นที่สวนสาธารณะ” ทั้งสิ้น 8,922 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 26,329 ไร่ โดยพื้นที่สีเขียวที่นำมาคำนวณนั้นประกอบด้วยพื้นที่สวนสาธารณะ 7 ประเภทคือ สวนระดับเมือง สวนระดับย่าน สวนชุมชน สวนหมู่บ้าน สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนเฉพาะทางและสวนถนน เมื่อนำมาเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรแล้ว คิดเป็นพื้นที่สีเขียว 7.6 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งยังต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก

นอกจากนี้ หากพิจารณาควบคู่กับระยะทางในการเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะ จะพบว่า ระยะทางการเข้าถึงเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ ในการเข้าถึงสวนสาธารณะอยู่ที่ 4.5 กิโลเมตรหรือ 50-60 นาที ทำให้การเดินทางไปสวนสาธารณะของคนกรุงเทพฯ ต้องพึ่งพารถยนต์เป็นหลัก ส่งผลต่อการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการเดินทาง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจึงเป็นความท้าทายสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

อันดับที่ 2 พื้นที่การเดิน

ภาพรวมของพื้นที่มหานครกรุงเทพมีสภาพแวดล้อมกายภาพที่ส่งเสริมการเดินเท้าหรือพื้นที่เมืองเดินได้ในระดับที่ต่ำมากคิดเป็นร้อยละ 4 เของพื้นที่ทั้งหมด โดยพื้นที่เมืองเดินได้กว่าร้อยละ 78 กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามศูนย์กลางพาณิชยกรรมของเมืองในจังหวัดปริมณฑล ในส่วนย่านพาณิชยกรรมเมืองเก่า ย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ย่านศูนย์กลางชุมชนชานเมือง และพื้นที่บริเวณแนวระบบขนส่งมวลชนทางรางและพื้นที่รอบสถานีของกรุงเทพมหานคร จัดเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเมืองเดินได้ ซึ่งมีศักยภาพสูงในการฟื้นฟูสู่ย่านกระชับที่น่าอยู่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและการเดินเท้าของผู้คนในชีวิตประจำวัน พื้นที่เหล่านี้จัดเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สมควรได้รับการศึกษาเชิงลึกในประเด็นคุณภาพของสภาพแวดล้อมการเดินเท้าเพื่อดำเนินการฟื้นฟูเมืองให้ผู้คนเดินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และน่าเดินต่อไป

ส่วนพื้นที่ขอบของเมืองเดินได้ ได้แก่ พื้นที่ศูนย์กลางชุมชนเมืองปริมณฑล และพื้นที่เมืองชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร มีค่าคะแนนการเดินเท้าที่ต่ำ แนวทางการฟื้นฟูพื้นที่เมืองเหล่านี้คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งรอง และสาธารณูปการของเมือง เพื่อให้มีศักยภาพในการพัฒนาสู่พื้นที่เมืองเดินได้

อันดับที่ 3 พื้นที่สุขภาวะ

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ความเสี่ยงในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้คนในเมือง อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่กรุงเทพ แต่เมืองต่าง ๆ ทั่วโลก กำลังกลายเป็นสังคมที่มีประชากรสูงวัยมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับกรุงเทพ มีสัดส่วนประชากรสูงวัยกว่าร้อยละ 23 และพื้นที่ที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุดคือในเขตเมืองชั้นใน ดังนั้น เมื่อสังคมกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 สถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ จึงมีบทบาทในเมืองและชุมชนเพิ่มขึ้น

หากเราศึกษาพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เราจะพบว่า ตำแหน่งของสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ บนแผนที่ จะไปกระจุกตัวอยู่ตามพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีความหนาแน่นสูงเสียมาก ส่วนย่านชานเมืองมีการกระจายตัวออกมา จากการวิเคราะห์ข้อมูลกายภาพและเศรษฐสังคมของเมืองในด้านบริการสาธารณสุข พบว่า มีพื้นที่หลายส่วนของเมืองกรุงเทพที่มีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ทั่วถึงและทันท่วงที โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณชานเมือง

อันดับที่ 4 พื้นที่การเรียนรู้

กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ยังมีข้อจำกัดด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เท่าเทียม แม้ว่ากรุงเทพจะเป็นแหล่งรวมสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีความหนาแน่นที่สุดของประเทศ อุดมไปด้วยสภาพแวดล้อมเมืองเพื่อการเรียนรู้ที่รอการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมกว่า 2,500 แห่ง ทั้งสาธารณูปการในระบบการศึกษา สาธารณูปการที่ให้บริการและเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของผู้คนในเมือง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนสามัญ และมหาวิทยาลัย สาธารณูปการสนับสนุนการเรียนรู้ ตามอัธยาศัย เป็นรากฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ร้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่

พร้อมด้วยสาธารณูปการศักยภาพเพื่อการเรียนรู้ สาธารณูปการที่ช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และศักยภาพของแต่ละบุคคลอันจะสามารถพัฒนาตนสู่การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตได้แก่ สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว สนามเด็กเล่น อาคารสำนักงาน สถาบันศาสนา หากแต่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองชั้นในเท่านั้น

สาธารณูปการที่ส่งเสริมการเรียนรู้เหล่านี้กำลังรอการพัฒนา ปรับปรุง และปรับเปลี่ยนการใช้งานที่เหมาะกับยุคสมัยที่การเรียนรู้ไม่จำกัดเพียงในสถานศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่พื้นที่เมืองทั้งหมดคือสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ของผู้คนที่อยู่ในเมือง ให้เกิดความเท่าเทียมและทั่วถึงมากขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ ความท้าทายในการพัฒนาเมืองทั้ง 4 ประเด็นที่กล่าวมาเป็นโจทย์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองนาอยู่ ซึ่งมีความจำเป็นจำต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้ การดำเนินงาน และความร่วมมือ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐส่วนกลาง ภาครัฐส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคพลเมือง ที่องคาพยพนี้จะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ ภายใต้ความความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือได้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor