09/06/2023
Insight

ถ้ากรุงเทพฯ อยากเขียว จะเขียวได้แค่ไหน

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ธนพร โอวาทวรวรัญญู
 


กรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ที่พบเจอกับภัยพิบัติอยู่เป็นประจำ เช่น ฝุ่นควัน PM2.5 น้ำรอระบาย ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง ตลอดจนปัญหาสุขภาพของคนเมือง ในทางกลับกัน กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียว ซึ่งมีบทบาทช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้ทุเลาลงในปริมาณน้อยกว่ามาตรฐาน ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองกลายเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้น ๆ ในการพัฒนาเมือง ที่ทุกคนให้ความสนใจหรืออาจจะอยากมีส่วนร่วม แต่เราเคยลองจินตนาการดูไหมว่า กรุงเทพที่กำลังทำให้ตัวเองเขียวขึ้นนั้น จะเขียวได้มากแค่ไหน?

เขียวน้อย เขียวไกล แต่เขียวได้เท่าลอนดอน

ปัจจุบัน พื้นที่สีเขียวสาธารณะในกรุงเทพมหานครถูกแบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สวนระดับเมือง สวนระดับย่าน สวนหมู่บ้าน สวนชุมชน สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนถนน และสวนเฉพาะทาง (เช่น สวนบริเวณอนุสาวรีย์) ซึ่งส่วนใหญ่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เป็นผู้ดูแล พื้นที่สีเขียวสาธารณะทั้งหมดนี้ มีพื้นที่รวม 42 ตารางกิโลเมตร เพียงแค้ 2.7% ของพื้นที่กรุงเทพฯ หรือเทียบเท่าพื้นที่เขตบางเขน และเมื่อพิจารณาจากขนาดต่อประชากร พบว่ากรุงเทพฯ นั้น มีพื้นที่สีเขียว 7.7 ตารางเมตรต่อคน และเข้าถึงได้ในระยะทางเฉลี่ยประมาณ 4.5 กิโลเมตร หรือหากจะเดินไป จะต้องใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง แต่นี่ยังไม่นับรวมประชากรแฝงที่มีมากถึง 30% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานไว้ว่า เมืองต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน และเข้าถึงได้ด้วยการเดินประมาณ 15 นาที แสดงว่า ณ ตอนนี้ พื้นที่สีเขียวสาธารณะของกรุงเทพฯ ยังต่ำกว่ามาตรฐานทั้งในด้านปริมาณและระยะทาง

เมื่อทราบสถานการณ์ปัจจุบันแล้วว่า เราเป็นเมืองที่เขียวน้อย แต่จะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เราขอแบ่งเป็นเขียว 3 ระดับ ดังนี้

ถ้ากรุงเทพฯ อยากเขียวให้ได้ตามมาตรฐาน สิ่งที่จะต้องทำเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว คือ การนำพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่โล่งตามประกาศผังเมืองรวม รวมกับพื้นที่สวน 7 ประเภทของกทม. ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่อคนอยู่ที่ 8.9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งจะใกล้เคียงมาตรฐานพื้นที่สีเขียวตาม WHO ทันที

หากนำพื้นที่ประเภทสถานที่ราชการ วัด สนามกอล์ฟ และพื้นที่เขตทหาร มาปรับเป็นพื้นที่สีเขียว รวมกับพื้นที่สีเขียวสาธารณะตามข้อ 1 จะทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 13.4 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดพื้นที่สีเขียวต่อคนของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

และถ้านำพื้นที่ 2 ฝั่งของถนนสายประธาน ถนนหลัก ถนนรอง และปรับพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารขนาดใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียว รวมกับพื้นที่สีเขียวในข้อ 1 และ 2 จะทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 24.5 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดพื้นที่สีเขียวต่อประชากรของกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทันที

ถึงตอนนี้ จะเห็นแล้วว่าจริง ๆ แล้ว กรุงเทพมหานครยังมีพื้นที่ศักยภาพอีกมากมายเพื่อปรับปรุงเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะของเมือง แต่แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเพิ่มจากเดิมกว่า 3 เท่า แต่นั่นเป็นเพียงปริมาณ เพราะในมิติของการเข้าถึงนั้น ยังมีระยะทางเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 กิโลเมตร หรือเดินประมาณ 30 นาที

แฮคกรุงเทพ เพื่อไปให้ถึงเป้า

เพื่อให้ตอบโจทย์การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้สอดคล้องกับโจทย์การพัฒนาเมือง 15 นาที ซึ่ง ณ ที่นี่หมายถึง ชาวกรุงเทพฯ ต้องสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวสาธารณะในละแวกบ้านได้ ด้วยการเดินเป็นเวลา 15 นาที หรือระยะทางประมาณ 500 – 800 เมตร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนกิจกรรม Greener Bangkok Hackathon (GBH 2022) กรุงเทพฯ สู่เมืองที่เขียวกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอไอเดียในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมือง ซึ่งสามารถสรุปข้อเสนอได้ทั้งสิ้น 66 ข้อเสนอ จากผู้ร่วมกิจกรรม 90 ทีม สรุปได้ 2 ประเภทหลัก คือ กลุ่มที่ดินรัฐ 11 ประเภท และกลุ่มที่ดินเอกชน 10 ประเภท

หากลองนำแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่กล่าวไปก่อนหน้า มารวมกับข้อเสนอการพัฒนาพื้นที่สีเขียวจากกิจกรรม GBH 2022 โดยพิจารณาจากการนำแปลงที่ดินของรัฐมาพัฒนาก่อนเป็นลำดับแรก ผลลัพธ์ที่ได้คือ กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 20.2 ตารางเมตรต่อคน และเมื่อนำพื้นที่ของเอกชนมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวตามข้อเสนอในลำดับถัดไป จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียว 24.5 ตารางเมตรต่อคน และเราสามารถเดินถึงได้ในเวลา 15 นาที หรือระยะทางประมาณ 800 – 1,000 เมตร

จากเมืองเขียวรั้งท้าย สู่เมืองเขียว 15 นาที

ข้อเสนอทั้งหมดข้างต้นนี้ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากรุงเทพฯ ยังมีความหวังและยังมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกหนึ่งในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่มากขึ้น แต่การจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากเดิม 3 เท่า จาก 7.6 เป็น 24.5 ตารางเมตรต่อคน และลดระยะการเข้าถึงลงกว่า 4 เท่า จาก 4.5 กิโลเมตร เหลือเพียงไม่เกิน 1 กิโลเมตร ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ภาครัฐอาจมีบทบาทสำคัญจากการเป็นผู้ถือครองแปลงที่ดินขนาดใหญ่จำนวนมาก และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายหรือมาตรการทั้งทางผังเมือง ทางกฎหมาย และทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อจูงใจให้เอกชนหรือบุคคลทั่วไป มองเห็นความคุ้มค่าจากการนำพื้นที่ของตนที่อาจจะยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือบุคคลทั่วไป ก็อาจจะมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการหรือดูแลพื้นที่ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะของเมือง เกิดความยั่งยืน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คนไทย 4.0 และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มาข้อมูล

SPACE AND THE CITY


Contributor