06/07/2022
Insight
เมื่อเจียงใหม่เฮาต้องก๋านขนส่งสาธารณะ: “บ่ายเดือนพฤษภาที่ฝนตกหนักในวันเปิดภาคเรียน”
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
กลายเป็นเรื่องสยอง 1 บรรทัดที่ชาวเชียงใหม่สัมผัสถึงบรรยากาศรถติดยืดยาวในวันเปิดเรียนวันแรกที่ฝนโปรยปรายลงมา กับสภาพจราจรที่เลวร้ายนานหลายชั่วโมง
“รถติดในเมืองเชียงใหม่” กลายเป็นความปกติใหม่ของเมือง เป็นภาพจำของทั้งคนอยู่และคนเที่ยว ยิ่งในช่วงเปิดภาคเรียนของน้อง ๆ นักเรียน ประกอบกับการเป็นช่วงฤดูฝนตกที่มีฝนกระหน่ำลงมา ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ลดลง ผู้คนต้องระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ ก็คงต้องเจอกับสภาพปัญหาการจราจรที่ติดขัดขั้นสุด โดยเฉพาะบริเวณแยกรินคำ ถนนเส้นซุปเปอร์ไฮเวย์ขาออก เชื่อมไปยังเเยกศาลเด็ก และเส้นถนนแก้วนวรัฐ
แต่ทำไมต้องเป็น “แยกศาลเด็กและถนนแก้วนวรัฐ” ที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติด ติดจนกลายเป็นจุดเช็คอินยอดนิยมน่าขำขัน อมยิ้ม แบบเป็นตลกร้าย พอ ๆ กับ แยกประชานุกุล หรือ แยกเเคราย ในมหานครกรุงเทพฯ
ความจริงคำถามนี้ คงง่ายมาก ๆ หากคนเป็นคนเชียงใหม่หรืออยู่อาศัยในเมืองเชียงใหม่ นั่นเป็นเพราะเส้นทางแยกศาลเด็กเชื่อมกับถนนเเก้วนวรัฐนี้ ถือเป็น “ถนนรัศมี” ที่ทำหน้าที่นำผู้คนเข้าออกเมืองที่สำคัญเส้นทางหนึ่ง ที่ถูกใช้เป็นเส้นทางการเดินทางจากบ้านที่พักอาศัยบริเวณชานเมืองและอำเภอใกล้เคียงเข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ผ่านเส้นทางสะพานเนาวรัฐ-ถนนท่าแพ และอีกหนึ่งความสำคัญของถนนเเก้วนวรัฐ คือ เป็นเส้นทางของจุดหมายปลายทางของการเดินทางไปโรงเรียนชั้นนำในเชียงใหม่หลายแห่งที่ตั้งอยู่บนถนนเส้นนี้
บทความนี้ทีมงาน The UrbanIs จะพาทุกท่านไปสำรวจประเด็นหาการเดินทาง การจราจรที่ติดขัด และการเรียกร้องระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ พร้อมจำลองการวิเคราะห์ว่า หากเมืองเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะจริง ๆ จะครอบคลุมไปถึงตรงไหนกันบ้าง
“บ่ายเดือนพฤษภาที่ฝนตกหนักในวันเปิดภาคเรียน”
หากดูการกระจุกตัวของโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองเชียงใหม่จะพบว่า กระจุกอยู่บริเวณพื้นที่ในเขตเมืองเก่าและโซนตะวันออกของเมือง นั่นคือ
อันดับ 1 ถนนแก้วนวรัฐ จำนวนนักเรียนกว่า 12,500 คน ประกอบด้วย โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนปรินสรอย เเยลส์วิทยาฝ่ายประฐมและมัฐยม
อันดับ 2 ภายในคูเมืองเชียงใหม่ จำนวนนักเรียนรวมกว่า 12,000 คน อาทิ โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
อันดับ 3 ถนนมหิดล: จำนวนนักเรียนรวมกว่า 7,000 คน ประกอบด้วย โรงเรียนวารีเชียงใหม่ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม และโรงเรียนกาวิละ
อันดับ 4 ช้างคลาน-ถนนเจริญประเทศ: จำนวนนักเรียนรวมกว่า 6,000 คน ประกอบด้วย โรงเรียนเรยีนาวิทยาลัย โรงเรียนพหฤทัยเชียงใหม่ และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประฐม
อันดับ 5 ถนนช้างเผือก: จำนวนักเรียนกว่า 4,000 คน ประกอบด้วย โรงเรียนเทพบดินทร์วิทยาเชียงใหม่ และโรงเรียนโกวิทธำรง เชียงใหม่
เห็นแบบนี้แล้วคงไม่แปลกใจที่ถนนที่กล่าวถึงไปนั้น มักมีการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน และเป็นถนนที่ติดอันดับ “ถนนรถติด” มากที่สุดของเมืองเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ยกมานี้เป็นเพียงปริมาณความต้องการในการเดินทางในวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้น นั่นคือ การเดินทางไปโรงเรียน (Home Base School) แต่แท้จริงแล้วในเมืองมีความต้องการในการเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลายและมีปริมาณการสัญจรมหาศาลในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้ยิ่งสะท้อนความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการเดินทางของผู้คนในเมืองที่ต้องก้าวข้ามและมุ่งแก้เพียงปัญหารถติด หากแต่ต้องอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้านหรือสัญจรของผู้คน (สิ่งของ) ให้มีประสิทธิภาพต่างหาก
บทความนี้ทีมงาน The UrbanIs จะพาทุกท่านไปสำรวจประเด็นหาการเดินทาง การจราจรที่ติดขัด และการเรียกร้องระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ พร้อมจำลองการวิเคราะห์ว่า หากเมืองเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะจริง ๆ จะครอบคลุมไปถึงตรงไหนกันบ้าง
ว่าด้วยเชียงใหม่เมืองรถเครื่อง/เมืองรถยนต์
สาเหตุอีกประการของปัญหาจราจรติดขัดในเมืองเชียงใหม่ คือ ความนิยมในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล/จักรยานยนต์ และการขาดแคลนระบบขนส่งสาธาณณะที่มีประสิทธิภาพ (อันเป็นเหตุและผลที่เป็นไก่กับไข่ควบคู่กันมา)
เพราะทุกระยะทางจากบ้านถึงสถานที่ต่างๆ ของคนเชียงใหม่ เป็นระยะมอเตอร์ไชค์ (หรือไม่ก็เป็นระยะรถยนต์) ที่สามารถขับ/ขี่ไปถึง ดังนั้น ไม่ว่าจะ 100 หรือ 800 เมตร หรือ 20-60 กิโลเมตร มอเตอร์ไชค์ (หรือรถยนต์) ก็จะเป็นทางเลือกแรกเสมอของการเดินทางในเมืองเชียงใหม่
จากสัดส่วนยานยนต์จดทะเบียนก็เป็นที่แน่ชัดว่า คนเชียงใหม่นิยมใช้จักรยานยนต์มากกว่ารูปแบบการสัญจรประเภทอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 55% รองลงมาคือรถยนต์ 42% และอื่นๆ 3% ซึ่งรวมระบบขนส่งสาธารณะ รถสี่ล้อแดง และการเดิน สอดคล้องกับจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากจักรยานยนต์มี มากกว่า 40 คัน/วัน และรถยนต์ 1 ราย/วัน สะท้อนถึงความปลอดภัยในการใช้รถและถนนที่ค่อนข้างต่ำ
ประกอบกับการมีสัดส่วนของถนนน้อยเพียง 5% ของพื้นที่เมือง อาจจะไม่สร้างปัญหาให้กับเมืองมากนัก หากไม่ตามมาด้วย ปริมาณการสัญจรที่คับคั่งจนระบบถนนไม่สามารถกระจายการเดินทางได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณการใช้ยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับสัดส่วนถนนที่คงที่มานานพอสมควร ในปี 2562 มียานยนต์จดทะเบียนสะสมกว่า 1.5 ล้านคัน เป็นรถยนต์ประมาณ 650,000 คันและรถจักรยานยนต์ประมาณ 850,000 คัน ซึ่งนั่นก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ เมืองเชียงใหม่เผชิญสภาพการจราจรที่คับคั่งในปัจจุบัน
นอกจากจะมีการจราจรที่ติดขัดแล้ว เชียงใหม่เป็นเมืองอันตรายสำหรับการสัญจรพอสมควร โดยจากภาพจะเห็นว่ามีระดับอุบัติเหตุเกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ แปรผันตามเส้นทางที่มีปริมาณการสัญจรในเส้นทางนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนถนนเส้นเลียบคลองชลประธาน ถนนสุเทพ(ย่านหลัง มช.) ถนนบำรุงเมือง(บริเวณหน้า รร.วัฒโนทัยพายัพ) และถนนหัสดิเสวี (ย่านสันติธรรม) เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ #10ข้อเท็จจริงเมืองเชียงใหม่ เมืองขับได้ขี่ดี VS เมืองเดินได้เดินดี
#ทำไมเมืองรองในประเทศไทยไม่มีขนส่งสาธารณะ
#ขนส่งสาธารณะเมืองเชียงใหม่_อยู่ที่ไหน
ก่อนที่จะไปกล่าวโทษว่าคนเชียงใหม่ไม่นิยมใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เราต้องย้อนกลับมาดูก่อนว่า “เมืองมีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการหรือไม่”
ประเทศไทยมีเมืองเล็กใหญ่มากมายกว่า 8,000 แห่ง แต่ทำไมมีรถไฟฟ้าให้บริการแค่เมืองเดียว นี่เป็นคำถามที่รอคำตอบมากว่า 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่รถไฟฟ้าสายแรกในประเทศไทยเริ่มให้บริการต้องบอกว่าเชียงใหม่(เคย)มีขนส่งสาธารณะนั่นคือ “รถเมล์” แต่หายไปแล้ว
“รถเมล์ของเราหายไป” กลายเป็นกระเเสกระตุ้นเรื่องระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ในช่วงเดือนที่ผ่านมาที่มีการประกาศตามหาระบบขนส่งมวลชนทั่วเมืองเชียงใหม่ เป็นอีกครั้งที่เรื่องขนส่งสาธารณะกลับมาเป็นประเด็นเรียกร้องและกล่าวถึงของคนเมืองเชียงใหม่
ไม่นานมานี้หากจำได้เมืองเชียงใหม่ได้เปิดตัว “Chiang Mai RTC City Bus” แต่ได้งดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 รวมถึงรถเมล์ขาว (วนซ้าย-วนขวา) ของเทศบาลนครเชียงใหม่ ก็ได้หยุดให้บริการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เช่นกัน
แล้ว “รถแดง” หรือรถสี่ล้อแดง ล่ะ… ถือเป็นขนส่งสาธารณะหรือไม่
หากพิจารณาตามหลักการด้านการขนส่งมวลชน ซึ่งได้ให้คำนิยามว่า “การขนส่งมวลชน” คือ การขนส่งสาธารณะในเมือง ที่ให้บริการขนย้ายผู้โดยสารครั้งละจำนวนมาก ๆ ไปในแนวทางที่กำหนดขึ้น “มีตารางการให้บริการที่แน่นอน มีเส้นทางที่แน่นอน” ดังนั้นหากพิจารณาเช่นนี้แล้ว รถแดง ไม่อาจนับว่าเป็นระบบขนส่งสาธารณะอย่างเต็มตัว เพราะเป็นไปในลักษณะของการเดินทางตามความต้องการของผู้ใช้ ไม่มีจุดจอดแน่นอน ไม่มีเส้นทางที่แน่นอน เป็นการกำหนดเส้นทางตามความต้องการของผู้ใช้ (หรือบางครั้งก็อาจจะตามใจผู้ขับ) ในลักษณะเช่นเดียวกับ รถเเท๊กซี่ ซึ่งอาจตีความเป็นการให้บริการกึ่งสาธาณณะได้
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงเรื่องระบบขนส่งสาธารณะเมืองเชียงใหม่ ทุกคนคงต้องนึกถึง “รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่” และถือว่าเป็นมหากาพย์ของการเรียกร้องเรื่องขนส่งมวลชนของเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน
ตั้งแต่ปี 2537 ที่มีการเสนอให้มีการดำเนินการศึกษาโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แต่ในขณะนั้นมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ความรับผิดชอบการดำเนินงาน โดยมีการจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งมุ่งความสำคัญไปที่การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ เรื่องนี้จึงเงียบหายไป
ต่อมาในปี 2548 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้ดำเนินการศึกษาถึงขั้นการออกแบบรายละเอียด แต่หลังดำเนินการเสร็จสิ้นก็เกิดรัฐประหาร ทำให้นโยบายของรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โครงการนี้จึงไม่ได้ผลักดันต่อ
ในปี 2557 ได้มีการดำเนินการยกร่างใหม่โดย สำนักงานพัฒนาพิงคนคร องค์การมหาชน การดำเนินการยังไม่ได้คืบหน้ามากนักและยุติลงเมื่อ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข. ศึกษาเพื่อจัดทำระบบขนส่งมวลชนสาธารณะสำหรับเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2559 (และในปี 2562 มีพระราชกฤษฎีกายุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร องค์การมหาชน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการถ่ายโอนภารกิจหน้าที่ไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่น ๆ )
ในปี 2559 สนข. ได้ศึกษาและนำเสนอแผนแม่บทรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit: LRT) จำนวน 3 เส้นทาง และระบบขนส่งเสริม (Feeder System) ที่เป็นรถเมล์สาธาณณะจำนวน 7 เส้นทาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ สายสีแดง เป็นสายแรก โดย รฟม. ได้รับมอบให้ศึกษารายละเอียดรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)
#หากเมืองเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะ
ลองนึกเอาว่าหากเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธาณระ ทั้งรถไฟฟ้ารางเบาและระบบขนส่งเสริม ที่เป็นรถเมล์ หน้าตาเมืองเชียงใหม่จะเป็นอย่างไร
ทีมงาน The UrbanIs จึงได้ลองจำลองข้อมูลจากแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และวิเคราะห์ระดับศักยภาพการเข้าถึงและการให้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ พบว่า พื้นที่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของเมืองจะได้รับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และเป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองที่ มิตรกับการใช้ระบบขนส่งสาธรณะและการเดินเท้า รวมถึงรูปแบบการสัญจรที่ไม่ใช้เครื่องยนต์อื่น ๆ
#เราต้องการเมืองที่เป็นมิตรกับขนส่งสาธารณะและการเดินเท้า
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมือง เพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0