02/02/2022
Insight

เชียงใหม่สรรค์สร้างย่านสร้างสรรค์

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


เมืองเชียงใหม่เป็นสมาชิก 1 ใน 38 เมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นที่บ้านถึง 9 สาขา คือ งานผ้า งานไม้ งานเครื่องเงิน งานเครื่องโลหะ งานเครื่องปั้นดินเผา งานกระดาษ งานเครื่องเขิน งานเครื่องจักสาน และงานสบู่/น้ำมัน/เครื่องหอม และมีหน่วยงานการศึกษาและรัฐบาลท้องถิ่นให้การสนับสนุน มีความพร้อมในการเป็นเมืองสร้างสรรค์กว่า 80% นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2563 เมืองเชียงใหม่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองหัตถศิลป์โลก (World Craft City) จากสภาหัตถศิลป์โลก (World Craft Council) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การนิยามความเป็นย่านสร้างสรรค์นี้ ยังถูกกล่าวถึงจากหลายบริบทและรวมถึงการพิจารณาศักยภาพในด้านอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การพิจารณาถึงองค์ประกอบการเป็นย่านสร้างสรรค์ ซึ่งต้องประกอบด้วย วัฒนธรรม กิจกรรม ผู้คน และเมือง ลงไปจนถึงการพิจารณาคุณภาพขององค์ประกอบย่านสร้างสรรค์ ซึ่งกล่าวถึงความมีชีวิตชีวาทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ เป็นต้น

ในบทความนี้ เราจะพาท่านผู้อ่านมาสำรวจเมืองเชียงใหม่ในฐานการเป็นเมืองสร้างสรรค์ โดยพิจารณาตามกรอบการแบ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ (1) มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (2) ศิลปะ (3) สื่อ และ (4) งานสร้างสรรค์และออกแบบ โดยพิจารณาจากข้อมูลธุรกิจการค้า และพื้นที่กิจกรรมที่ส่งเสริมการเป็นย่านสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ แล้วทำการสร้างเป็นโครงข่ายธุรกิจและพื้นที่สร้างสรรค์ในระยะเดินเท้าในเมืองเชียงใหม่ ให้เห็นถึงการกระจายตัวและความเข้มข้นของธุรกิจ กิจกรรมสร้างสรรค์ในระยะเดินเท้ากัน

อะไรเรียกว่าย่านสร้างสรรค์

แนวคิดเรื่อง “เมืองสร้างสรรค์” หรือ Creative City เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2531 ในประเทศออสเตรเลีย โดย David Yencken นักธุรกิจผู้หลงใหลในการอนุรักษ์แหล่งมรดกชาวอังกฤษที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย แนวคิดเมืองสร้างสรรค์นี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ด้านการวางผังเมือง อันเน้นย้ำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ระหว่างเมือง ประชาชนผู้อยู่อาศัย และสร้างประสบการณ์ความพึงพอใจของสถานที่นั้นๆ

ต่อมาแนวคิดนี้ได้ถูกศึกษาและพัฒนาโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และสหภาพยุโรป (EU) โดยในปี พ.ศ. 2547 ยูเนสโกได้ก่อตั้ง เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ หรือ The UNESCO Creative Cities Network (UCCN) มีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและร่วมกันสร้างกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ซึ่งแบ่งสาขาเมืองสร้างสรรค์ออกเป็น 7 ด้าน คือ
เมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature)
เมืองแห่งภาพยนตร์ (CIty of Film)
เมืองแห่งดนตรี (City of Music)
เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Arts)
เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design)
เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (City of Media art)
เมืองแห่งวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy)

สำหรับประเทศไทย มีการกล่าวถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จำแนกอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ “มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ศิลปะ สื่อ และงานสร้างสรรค์และออกแบบ” โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และในปี พ.ศ. 2548 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” หรือ TCDC ซึ่งปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็น “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)” หรือ CEA อันกลายมาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, 2021)

เชียงใหม่เป็นย่านสร้างสรรค์

เมืองเชียงใหม่เองถูกประกาศเป็นสมาชิก 1 ใน 38 เมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นที่บ้านถึง 9 สาขา คือ งานผ้า งานไม้ งานเครื่องเงิน งานเครื่องโลหะ งานเครื่องปั้นดินเผา งานกระดาษ งานเครื่องเขิน งานเครื่องจักสาน และงานสบู่/น้ำมัน/เครื่องหอม ซึ่งมีหน่วยงานการศึกษาและรัฐบาลท้องถิ่นให้การสนับสนุน มีความพร้อมในการเป็นเมืองสร้างสรรค์กว่า 80% นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2563 เมืองเชียงใหม่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองหัตถศิลป์โลก (World Craft City) จากสภาหัตถศิลป์โลก (World Craft Council) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การนิยามความเป็นย่านสร้างสรรค์นี้ ยังถูกกล่าวถึงจากหลายบริบทและรวมถึงการพิจารณาศักยภาพในด้านอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การพิจารณาถึงองค์ประกอบการเป็นย่านสร้างสรรค์ ซึ่งต้องประกอบด้วย วัฒนธรรม กิจกรรม ผู้คน และเมือง ลงไปจนถึงการพิจารณาคุณภาพขององค์ประกอบย่านสร้างสรรค์ ซึ่งกล่าวถึงความมีชีวิตชีวาทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ เป็นต้น

โครงข่ายธุรกิจและพื้นที่สร้างสรรค์ในระยะเดินเท้า

นอกจากการมีองค์ประกอบของความเป็นย่านสร้างสรรค์แล้ว เราพบว่า อีกประการสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดความมีชีวิตชีวาและการต่อยอดพัฒนาย่านสร้างสรรค์ รวมถึงการดึงดูดแรงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือกลุ่ม Creative Worker ได้นั้น การพัฒนาย่านเดินได้เดินดี (Walkable District) มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมและสนับสนุน สอดคล้องกับคุณภาพขององค์ประกอบด้านการมีสภาพแวดล้อมของเมืองที่เอื้อให้เกิดย่านสร้างสรรค์ขึ้นได้

ในบทความนี้ เราจึงจะพาท่านผู้อ่านมาสำรวจเมืองเชียงใหม่ในฐานการเป็นเมืองสร้างสรรค์ โดยพิจารณาตามกรอบการแบ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ (1) มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (2) ศิลปะ (3) สื่อ และ (4) งานสร้างสรรค์และออกแบบ โดยพิจารณาจากข้อมูลธุรกิจการค้า และพื้นที่กิจกรรมที่ส่งเสริมการเป็นย่านสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ แล้วทำการสร้างเป็นโครงข่ายธุรกิจและพื้นที่สร้างสรรค์ในระยะเดินเท้า พบว่า

การกระจายตัวของโครงข่ายธุรกิจและพื้นที่สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่นั้น ส่วนใหญ่กว่า 70% ซ้อนทับกับพื้นที่ย่านเดินได้เดินดี (อ่านเพิ่มเติม เจียงใหม่เมืองเตียวได้ และ 10 ข้อเท็จจริงเมืองเชียงใหม่) นั่นพอจะอนุมานได้ว่า พื้นที่ดำเนินกิจกรรมหรือธุรกิจสร้างสรรค์นั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่เดินได้ และมีความสัมพันธ์ในเชิงส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ หากพิจารณาในเชิงการกระจุกตัวของพื้นที่และความเข้มข้นของโครงข่ายธุรกิจ/พื้นที่สร้างสรรค์ในระยะเดินเท้าจะพบว่า กระจุกตัวหนาแน่นบริเวณเดียวกันกับย่านเศรษฐกิจเมือง ซึ่งคงไม่น่าแปลกใจ แต่กลับยิ่งตอกย้ำว่า เศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ นั้นขับเคลื่อนด้วยกลุ่มธุรกิจและกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างแท้จริง สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่านที่มีความโดดเด่นและมีความเข้มข้นสูงได้ประมาณ 4 ย่าน คือ

ย่านวิชยานนท์ ท่าแพ ช้างม่อย ช้างคลาน ตลาดต้นลำไย
ย่านภายในกำแพงเมืองฝั่งตะวันออก (สี่แยกกลางเวียง ถนนราชดำเนิน ถนนราชภาคินัย แจ่งศรีภูมิ)
ย่านช้างเผือก สันติธรรม
ย่านห้วยแก้ว นิมมานเหมินท์

นอกจากนี้จะพบว่า โครงข่ายธุรกิจและพื้นที่สร้างสรรค์ ยังมีการกระจายตัวออกนอกพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่และเชื่อมโยงไปยังพื้นที่โดยรอบอีกด้วย อาทิ ย่านอาเขต-ทุ่งโฮเต็ล ย่านหนองหอย ย่านบวกครก-สันกำแพง เป็นต้น

ย่านมรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติ

กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทที่ 1 คือ มรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติ ถือว่าเป็นกลุ่มที่เมืองเชียงใหม่มีความโดดเด่นมากที่สุด มีจำนวนของธุรกิจ และพื้นที่สร้างสรรค์ด้านนี้มากที่สุด ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกัน งานฝีมือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ การแพทย์แผนไทย และอาหารไทย

จะพบการกระจุกตัวและความเข้มข้นของโครงข่ายธุรกิจและพื้นที่สร้างสรรค์ในระยะเดินเท้า ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของย่านเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ เช่นเดียวกับผลการวิเคราะห์ในภาพรวมของเมือง ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มากที่สุด แต่ศูนย์กลางสำคัญอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กล่าวคือ มีศูนย์กลางอยู่ที่ ย่านช้างคลาน ย่านภายในกำแพงเมืองฝั่งตะวันออก และย่านห้วยแก้ว-นิมมานเหมินท์

ย่านศิลปะ

กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทที่ 2 คือ กลุ่มศิลปะ ซึ่งประกอบด้วยกิจการ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแสดง และทัศนศิลป์ รวมถึงพื้นที่ของเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดง จัดจำหน่าย อาทิ พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ เป็นต้น แม้จะไม่ได้มีโครงข่ายที่เข้มข้นและกระจายมากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นศูนย์กลางของย่านศิลปะและทัศนศิลป์ภายในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมี 3 ศูนย์กลาง คือ บริเวณกลางเวียง (สี่แยกกลางเวียง-ช่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์) ย่านท่าแพ-ช้างม่อย และย่านนิมมานเหมินท์

ย่านสื่อ

กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทที่ 3 คือ กลุ่มสื่อ ประกอบด้วยธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการภาพยนตร์ การพิมพ์ การกระจายเสียง และดนตรี กระจุกตัวบริเวณ ย่านคูเมือง ย่านช้างเผือก-สันติธรรม และย่านนิมมานเหมินท์

ย่านงานสร้างสรรค์และการออกแบบ

กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทสุดท้าย คือ กลุ่มงานสร้างสรรค์และการออกแบบ ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจ อุตสาหกรรม และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ แฟชั่น สถาปัตยกรรม การโฆษณา และซอฟต์เเวร์ มีการกระจายตัวอยู่บริเวณ 4 ศูนย์กลางคือ ย่านช้องม่อย-ท่าแพ-กาดหลวง ย่านวัวลาย-ประตูเชียงใหม่ ย่านช้างเผือก-สันติธรรม และย่านนิมมานเหมินท์

โปรดติดตามบทความของเมืองเชียงใหม่อื่นๆ ได้จากการสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมือง เพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0


Contributor