30/06/2023
Environment
เปลี่ยนพื้นที่รก “ร้าง” ให้เป็นพื้นที่ “เล่น” แห่งใหม่ของย่าน
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
เปลี่ยนพื้นที่รก “ร้าง” ให้เป็นพื้นที่ “เล่น” แห่งใหม่ของย่าน
ช่วงชีวิตวัยเด็ก ในยุค 80-90 ภารกิจของเราคือ การเล่น และการได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน ออกไปวิ่งเล่น ปั่นจักรยาน คือ สิ่งที่คุ้นชินและเห็นได้บ่อยครั้ง “พื้นที่เล่นอย่างไม่เป็นทางการ” เช่น ลานวัด ลานว่างกลางชุมชน สวนหลังบ้านของใครสักคน แทรกตัวอยู่ตามชุมชนและย่าน มาถึงตอนนี้พื้นที่เล่นเหล่านั้น ค่อยๆ เลือนหายไป พร้อม ๆ กับวิถีชีวิตวัยเด็กที่เปลี่ยนไป อยู่กับตัวเองมากขึ้น ออกนอกบ้านน้อยลง ท่องโลกกว้างผ่านโลกอินเตอร์เนต และเล่นเกมส์ออนไลน์ เปลี่ยนแก๊งโดดหนังยางในวันวานเป็นตี้ ROV ในวันนี้
ชีวิตในเมืองกับการเล่นที่เปลี่ยนไป: จากแก๊งโดดหนังยาง ถึงตี้ ROV
ที่มาภาพ: MI PHAM
การเล่น ถือเป็นกิจกรรมทางสังคมของเด็ก และถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญของการใช้ชีวิตในสังคม ย่าน หรือชุมชน สำหรับเด็ก ช่วงชีวิตที่ได้มีโอกาสออกไปเล่นนอกบ้าน กับเหล่าเพื่อนๆ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข สนุกสนาน และเป็นตัวเองที่สุด แต่นั่น น่าจะเป็นภาพจำของการเล่นเมื่อ 30-40 ที่แล้ว
ปัจจุบันนี้การเล่นเปลี่ยนไป พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และเทคโนโลยีที่ทำให้การเล่นของเด็กเปลี่ยนไป จากการเล่นบนลานโล่ง สนามหญ้า เปลี่ยนเป็นการเล่นบนสกรีนมือถือ หน้าจอเเท็บเล็ต หรือจอคอมพิวเตอร์
ภาพจำของชาวแก๊งโดดหนังยาง เล่นไล่แป๊ะ (แป๊ะแข็ง) คงไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว กลายเป็นแก๊งเพื่อนเล่นเกมส์ออนไลน์ไปหมดแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี และความทันสมัยมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือ “พื้นที่เล่น” ในเมืองค่อย ๆ หายไป
หรือหากเลือกได้ การมีที่เล่นสำหรับลูก ๆ หรือหลาน ๆ ในช่วงวัยเด็กนี้อาจต้องเเลกมากับค่าบริการที่แพงหูฉีก ผ่านการเลือกโรงเรียน หรือสถานศึกษาที่มีพื้นที่เล่นคุณภาพสำหรับเด็ก หรือต้องเสียค่ารายปีสำหรับพื้นที่เล่นนอกบ้าน เพราะเมืองอย่างกรุงเทพฯ นี้มี “พื้นที่เล่นสาธารณะ” น้อยเสียเหลือเกินที่สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างจริงจัง
เมืองใหญ่ขึ้น แต่พื้นที่เล่น (สาธารณะ) เล็กลง
เมื่อเมืองใหญ่ขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายและซับซ้อนขึ้น ผู้คนมากขึ้น ความหนาแน่นและแออัดของการใช้ประโยชน์ที่ดินก็มีสูงขึ้น พื้นที่ว่างหลายที่ถูกสร้างและเปลี่ยนเป็นอาคารสำนักงาน อาคารชุดที่อยู่อาศัย แต่ในทางกลับกันพื้นที่สาธารณะกลับเติบโตได้ช้ากว่าการเติบโตของจำนวนประชากร ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จำนวนพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เล่น หรือสวนสาธารณะ เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร ก็ยิ่งน้อยลงไป เมื่อความต้องการมีสูงขึ้น แต่การได้มาซึ่งที่ดินสาธารณะหรือการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ให้เป็นการใช้งานสาธารณะเกิดขึ้นได้ยากและเป็นไปได้ช้า
ความไม่สมดุลของพื้นที่สาธารณะและจำนวนประชากรเมืองนี้ นำมาซึ่งปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองที่ต้องเผชิญ ดังนั้น ความพยายามในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ พื้นที่สวน พื้นที่ลาน หรือพื้นที่เล่นสาธารณะ จึงกลายเป็นหมุดหมายและตัวชีวัด “คุณภาพชีวิตของเมืองน่าอยู่” ที่กรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายเอาไว้ ตามแผนยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร 20 ปี ผลจากการดำเนินงานทั้งการสร้างกลไก และขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ ผ่านนโยบายสวน 15 นาที และต้นไม้ล้านต้น ดูกำลังเป็นที่จับตามองและมีตัวอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
ยุทธศาสตร์ เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เป็น พื้นที่เล่น โดยชาวย่าน เพื่อชาวย่าน
หนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้กับเมือง กรุงเทพฯ คือ พื้นที่บริเวณสวนสานธารณะ เขตคลองสานที่มีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่รกร้างและพื้นที่ทิ้งขยะ “อย่างไม่เป็นทางการ” ของชุมชน กลายเป็นสวนสาธารณะชุมชนที่เป็นทั้ง พื้นที่ให้เด็กๆ ได้มาวิ่งเล่น พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือพื้นที่กิจกรรมของชุมชน
การเปลี่ยนแปลงพื้นที่แห่งนี้ เริ่มต้นมาจากแผนยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร 20 ปี ด้านที่ 2 มหานครสีเขียวสะดวกสบาย ที่มุ่งหวังให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวกระจายทั่วทุกพื้นที่ โดยมีการใช้มาตรการทางภาษี มาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ภาคประชาชนและภาคเอกชน เปลี่ยนพื้นที่ว่างที่ตนเองมีมาพื้นพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะแทน
ด้วยเหตนี้ พื้นที่บริเวณสวนสานธารณะ จึงกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เอกชนยกให้กับกทม. เพื่อทำสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 10 ปี แทนการปล่อยให้พื้นที่รกร้างและกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะ ซึ่งอาจนำไปสู่การปัญหาด้านสุขภาวะของคนในบริเวณรอบในอนาคต
ในเวลาต่อมา (ปี 2020) กทม. ได้มีการร่วมมือกับกลุ่ม we!park และภาคีครือข่าย ในการเข้ามาพัฒนาพื้นที่รกร้างนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนภายในย่าน โดยทาง we!park และภาคีครือข่ายได้มีการเริ่มต้นจัดกิจกรรมกระตุ้นพื้นที่ “สวนสานธารณะ” แห่งนี้ ให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ชุมชนจะใช้ประโยชน์แก่ชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง เช่น งาน ‘สวนสานธารณะ : KLONGSAN POP-UP PARK 2020 สานฝัน สานอดีต สู่อนาคต’ ที่ภายในงานมีกิจกรรมมากมายที่เปิดโอกาสให้คนภายในย่านและภายนอกย่านได้เข้ามาร่วมทำความรู้จักย่านนี้ให้มากขึ้น เช่นกิจกรรมเดินเมืองเชื่อมย่าน (city walk) กิจกรรมเดินตามหาพื้นที่สีเขียวในย่านคลองสาน กิจกรรมบอกเล่าย่านผ่านภาพเก่าจากผู้คนในชุมชน กิจกรรมชมภาพยนต์ในสวน กิจกรรมดนตรีจากศิลปินท้องถิ่น กิจกรรมเตะฟุตบอลยังธนคัพ และเวทีเสวนาการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสู่อนาคต
ในปีที่ผ่านมา (ปี 2022) UDDC ก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพัฒนาพื้นที่สวนสานธารณะผ่านกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมมหาลัยในย่าน หลักสูตรการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ ร่วมกับ we!park ยังธน และ IDDC มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งเป็นกิจกรรมเวิร์คช็อป เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจและกระบวนการในการจัดการพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วมจากชุมชนและทุกภาคส่วน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการพื้นที่สาธารณะที่คงสภาพดีได้ในระยะยาว ตอบโจทย์ผู้ใช้งานชุมชน และมีรูปแบบการร่วมบริหารจัดการด้วยชุมชนและสาธารณะ จนท้านที่สุดได้ข้อสรุปมาว่าชุมชนมีความต้องการให้สวนสานธารณะเป็นพื้นที่กิจกรรมของชุมชน มีกิจกรรมทำ Street Art บริเวณกำแพง และมีการจัดการขยะเกิดขึ้น
จากการบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่เกิดขึ้น ได้นำมาสู่การสร้างกิจกรรมภายในพื้นที่สวนสานฯ ในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลศิลป์ในซอย กิจกรรมกราฟฟิตี้คอมมูนิตี้ กิจกรรมเพ้นท์กำแพงจากภาพจำชุมชนและจินตนาการของเหล่าเด็กๆ เยาวชนและคนในชุมชน กิจกรรมสเตชั่นการจัดการขยะ และกิจกรรมรุกขกรสอนรุกขกรรม
ในท้ายที่สุดกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เปิดโอกาสในคนชุมชนตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ได้เข้ามามีส่วนในการการขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่สาธารณะภายในย่านของตนเอง และมันได้มีมาซึ่งรูปแบบพื้นที่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้จริง
“สวนสานธารณะ” พื้นที่เล่นแห่งใหม่ของย่านคลองสาน
ตอนนี้พื้นที่สวนสานธารณะ ได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ที่ก่อนหน้านี้พวกเราสามารถวิ่งเล่นได้แค่บริเวณรอบๆ หรือในจุดที่ดูไม่ค่อยอันตรายนักในพื้นที่นี้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์