28/11/2019
Environment

The Urban Green Jungle หลังคาคือสินทรัพย์ของเมือง

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


หลังคาสำคัญกับเมืองอย่างไร

เมื่อปี 2015 สำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษ เคยนำเสนอข่าวที่มีข้อมูลคลาดเคลื่อนชิ้นหนึ่ง นั่นคือข่าวรัฐสภาฝรั่งเศสผ่านกฎหมาย Green & Solar Roof  โดยกำหนดให้อาคารใหม่และอาคารพาณิชย์ต้องคลุมหลังคาด้วยพืชพรรณหรือแผ่นโซลาร์  ปรากฏว่าคนแชร์ข่าวนี้เยอะมาก (รวมทั้งฉันด้วย)

ในความเป็นจริงแล้ว Green & Solar Roof เป็นความพยายามของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศส แต่โดนตีกลับโดยวุฒิสภาให้ไปศึกษาเพิ่มเติม

Laurence Abeille ส.ส. ที่เป็นคณะทำงาน Sustainable Development and Area Management  เป็นผู้เสนอการแก้ไขกฎหมายให้เพิ่มประเด็น Green & Solar Roof นี้ เธอโต้แย้งว่า หลังคาคือโครงสร้างทิ้งร้าง (leftover assets) ของเมือง แต่ถูกปล่อยไม่ได้ใช้งานหรือใช้งานต่ำ (Under-utilized) เป็นลานคอนกรีตแห้งแล้ง ปล่อยความร้อนสู่เมืองปริมาณมหาศาล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมืองหรือ urban heat island แต่ถ้าเราปกคลุมหลังคาและอาคารด้วยพืชพรรณจะช่วยลดความร้อนที่ปล่อยออกสู่เมืองได้

มีการศึกษาของประเทศแคนาดา พบว่า Green Roof ช่วยลดอุณหภูมิได้ 1-2 องศาเซลเซียส โดยหลังคาแบบนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซับน้ำฝน ลดเสียงดัง ลดการใช้พลังงานของอาคาร เพราะดินของ Roof Garden จะทำหน้าที่เหมือนฉนวนกันความร้อนหรือดูดซับความร้อนไว้ รวมทั้งเพิ่มโอกาสสร้างความหลากหลายทางชีวภาพแก่เมือง เพราะเกิดที่อยู่ของนก ผึ้ง แมลง

การเสนอแก้ไขกฎหมายนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากนักอนุรักษ์ รวมทั้งกลุ่มพลังงานทางเลือก และกลุ่ม Smart City ด้วย

อย่างไรก็ตาม วุฒิสภาฝรั่งเศสมีความเห็นว่า ข้อเสนอนี้ยังขาดข้อมูลและการศึกษาที่เพียงพอ รวมทั้งมีข้อกังวลว่า Green & solar roof initiative อาจส่งผลกระทบกับการลงทุนและการจ้างงาน (เช่น เจ้าของอาคารหรือเจ้าของโครงการต้องแบกภาระที่เป็นค่าก่อสร้างและบำรุงรักษาที่สูงขึ้น) ตลอดจนความปลอดภัย (เช่น น้ำหนักของดินบนหลังคาที่ต้องหนาอย่างน้อย 40 เซนติเมตร บวกระบบระบายน้ำและระบบระบายอากาศ) โดยขอให้สภาผู้แทนกลับไปศึกษาเพิ่มเติม

แท้จริงแล้ว Green roof & solar roof นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ อเมริกา แคนาดา ฯลฯ ได้มีการบังคับใช้แล้วหลายปี แต่เป็น “ข้อบัญญัติระดับเมือง” หาใช่กฎหมายที่บังคับใช้ในระดับประเทศ ซึ่งถ้าฝรั่งเศสทำสำเร็จก็จะนับเป็นประเทศแรก

ประเด็นสำคัญของวุฒิสภาฝรั่งเศสอยู่ที่คำถามว่า “หลังคาเป็นเรื่องของท้องถิ่น” ที่แต่ละเมืองควรไปจัดการออกขัอบัญญัติกันเองหรือเปล่า ใช่เรื่องของรัฐสภาหรือไม่ ที่ต้องออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง  City of Paris ก็ไม่รีรอ ได้ออกนโยบาย “ธรรมชาติในเมือง” ส่งเสริมเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา Green & Solar roof  โดยมีแรงจูงใจเป็นการลดหย่อนภาษี  มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งบนหลังคา ดาดฟ้า กำแพง และ façade ของอาคารในเมืองปารีสให้ได้ 100 เฮกตาร์หรือ 1 ตารางกิโลเมตร ภายในปี 2020 

นโยบายดังกล่าวส่งผลให้เกิดโครงการใหม่ๆ รวมทั้งโครงการประกวดแบบที่ตั้งหน้าตั้งตาหุ้มอาคารด้วยสีเขียว เช่น โครงการล่าสุดที่ถูกพูดถึงกันมาก คือ Beaugrenelle ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ที่ได้ dedicate หลังคาอาคารกว่า 7,000 ตารางเมตรเป็นพื้นที่สีเขียว คาดหวังให้เป็น the urban meadow ที่อยู่อาศัยของนกในเมือง

พัฒนาการของปารีส อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เมืองในเขตร้อนอย่างกรุงเทพฯ ที่น่าจะมีศักยภาพแห่งความเขียวสูงทีเดียว

ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมเมืองเช่นกัน ดังในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่ใช้ FAR bonus เป็นมาตรการจูงใจสำหรับโครงการที่จัดเตรียมแก้มลิง กักเก็บน้ำในโครงการ รวมทั้งอาคารเขียว เป็นต้น

ในอนาคต หลังคาสีเขียวและหลังคาโซลาร์ในกรุงเทพฯ จึงอาจอยู่ไม่ไกลเกินฝัน

โดย ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

ที่มาภาพ ห้างสรรพสินค้า Beaugrenelle มาจาก www.panasia.com , www.maisonapart.com


Contributor