28/02/2020
Environment

เมืองแห่งความว่าง

วิทยากร โสวัตร
 


1

ค่ำคืนก่อนวันสุดท้ายของปี 2019 ผมนอนอยู่ข้างกองไฟริมแม่น้ำโขงในหมู่บ้านเล็กๆ ที่เก่าแก่เกินร้อยปีห่างจากตัวเมืองเขมราฐประมาณ 10 กิโลเมตร  

กองไฟให้ความอบอุ่น  ความมืดให้ความกระจ่างใสแก่ดวงดาว  ยิ่งดึกก็ยิ่งเงียบ  ความเงียบทำให้ได้ยินเสียงน้ำโขงไหลกระทบโขดหินและริมฝั่ง  จินตนาการบางอย่างทำให้ผมละสายตาจากดวงดาวบนท้องฟ้าแล้วลุกขึ้น  เดินไปริมตลิ่ง  แสงไฟจากฝั่งตรงข้ามสะท้อนน้ำระริกไหว  ดาวสุกสกาวบางดวงพริบพรายแสงบนแผ่นน้ำ  เมื่อเพ่งมองลงไปในแม่น้ำก็สัมผัสได้ถึงความสงัดในห้วงลึกสุดของจิตใจตัวเองจนสะท้านไหว  

ผมเชื่อว่าถ้า วินเซนต์  แวนโกะห์ เกิดแรงบันดาลใจที่จะวาดภาพทั้งหลายและบรรยากาศในราตรีนี้ลงในเฟรมของเขา  ผมมั่นใจว่าเขาต้องเลือกที่นี่ในคืนนี้  เพราะถ้าเป็นคืนพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันสิ้นปี  ภาพเขียนของเขาจะไม่นิ่งสงัดพอที่จะขับพลังแห่งความเงียบที่อยู่ลึกสุดในหัวใจให้เปล่งเสียงออกมาสะเทือนอารมณ์คนดูงานได้

อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะสว่าง  แม่น้ำมีละอองฝ้าสีขาวหม่นค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้น  คงเป็นไอหมอกจากแม่น้ำ  ไอหมอกนี้ทำให้น้ำในแม่น้ำและอากาศเหนือแผ่นน้ำอุ่นขึ้น

ผมมุดเข้าเต้นท์ก่อนที่ฟ้าจะสว่างไม่นาน… ตื่นมาเพราะเสียงนกและเสียงพิณจากเครื่องกระจายเสียงที่แว่วมาจากฝั่งลาวในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันสิ้นปี  เมื่อลืมตาขึ้นและปรับแสงตากับแดดเช้าได้แล้ว  ก็เห็นฝูงนกหลายพันตัวโฉบบินอยู่เหนือแม่น้ำ  ไออุ่นที่ระเหยจากแม่น้ำทำให้ฝูงแมลงขยับปีก  เรือหาปลาแหวกไอหมอกอุ่นเหนือแผ่นน้ำทำให้พวกมันแตกตื่น  และหมู่นกกินแมลงจึงโฉบเฉี่ยววาดลวดลายส่งเสียงร้องเหมือนเสียงเพลงในฤดูเก็บเกี่ยว

ผมลุกไปทำกาแฟ  แล้วนั่งลงจิบกาแฟอุ่น ๆ มองภาพหมู่นกเหล่านั้น  ย้อนนึกไปถึงเหตุแห่งการปรากฏตัวและแปรขบวนของพวกมัน  ไล่เรียงไปถึงภาพและบรรยากาศของเมื่อคืน และการมาเยือนเขมราฐปีละหลายครั้งในช่วงฤดูหนาว

แล้วอยู่ๆ ผมก็รู้สึกขึ้นมาอย่างรุนแรงว่า  ผมอยากให้มีเมืองสักเมืองถูกสร้างขึ้นบนปรัชญาแห่งความว่าง

ผมนึกถึงเรื่องราวในหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่านมานานหลายปีแล้ว  จำได้ว่าตอนที่อ่านถึงบทนั้นผมอยากรู้ขึ้นมาจริง ๆ ว่าเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วมหานครลอนดอนมีหน้าตาเป็นอย่างไร  เมื่อชาร์ลส์  ดาร์วิน  (Charles Robert Darwin FRS; 12 กุมภาพันธ์ 1809 – 19 เมษายน 1882) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection)) บอกว่า  สาวแก่ที่เลี้ยงแมวมีส่วนทำให้ลอนดอนเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดเมืองหนึ่งในโลก  เขาให้เหตุผลว่า  แมวจำนวนมากที่เลี้ยงโดยสาวแก่เหล่านี้ช่วยควบคุมจำนวนประชากรของหนู  ซึ่งเป็นผลดีแก่บรรดาผึ้งใหญ่ที่ทำรังอยู่ใต้ดิน  รังของพวกมันจึงปลอดภัยจากการรุกรานของพวกหนู  ผลที่ตามมาคือจำนวนผึ้งที่มีมาก  ย่อมหมายถึงดอกไม้จำนวนมากได้รับการผสมเกสร  ดาร์วินจึงสรุปว่าสาวโสดที่เลี้ยงแมวจำนวนมาก  ย่อมเท่ากับดอกไม้จำนวนมากในลอนดอน

2

ตอนที่ผมอ่านพบเรื่องราวนี้ในบทที่ ๘ ระหว่างหน้า ๑๑๕ – ๑๑๙ ของหนังสือเรื่อง The Wisdom of Forgiveness ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของ ทะไลลามะ และ วิกเตอร์  ชาน  และถูกแปลเป็นไทยอย่างดีในชื่อ ปัญญาญาณแห่งการอภัย  โดย สายพิณ  กุลกนกวรรณ  ฮัมดานี  สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาจัดพิมพ์ในรูปเล่มสีเขียวสวยงามเรียบง่าย  ทำให้ผมเข้าใจถึงปรัชญาที่ลึกซึ้งที่สุดของพุทธธิเบตและมหายานนั่นคือความความว่าง

ในความเห็นของทะไลลามะ  หากปราศจากบัณฑิตและผู้ปฏิบัติธรรมแห่งนาลันทา  ย่อมไม่มีพุทธธิเบตที่เรารู้จักกันในวันนี้  “คัมภีร์สำคัญทุกเล่มที่เราเรียนและท่องจนขึ้นใจ  ล้วนแต่เขียนโดยคณาจารย์แห่งนาลันทา  ดังนั้น  ชื่อของครูเหล่านี้  โดยเฉพาะนาครชุน  คุรุชาวอินเดียในศตวรรษที่สองจึงดำรงอยู่ในใจเรา…”  

จากปัญญาญาณของพระพุทธเจ้า  นาครชุนสาธกขึ้นเป็นธรรมกถาแห่งสภาวะความจริง  ที่มีฐานจากหลักธรรมเรื่องการเชื่อมโยงอิงอาศัยของสรรพสิ่ง  “หลักการแห่งการเชื่อมโยงอิงอาศัยช่วยเปิดทัศนะเราให้กว้างขึ้น”  ทะไลลามะเกริ่น  “สามารถกล่าวได้ว่า  หลักเหตุปัจจัยคือการเข้าใจสภาวะความเป็นจริง  เราต่างเข้าใจว่า  อนาคตของเราขึ้นอยู่กับสันติสุขของโลก  มุมมองเช่นนี้ช่วยบรรเทาความคับแคบในจิตใจ  ซึ่งเป็นตัวก่อเกิดการติดยึดและความเกลียดชัง  ฉันคิดว่าข้อดีที่สุดของหลักธรรมนี้  คือเป็นหลักที่อธิบายถึงกฎของธรรมชาติซึ่งประจักษ์ได้ชัดเจน  เช่นในเรื่องสิ่งแวดล้อม

การเชื่อมโยงอิงอาศัยเป็นหลักเบื้องต้นทั้งในพุทธศาสนาและนิเวศวิทยา  ต่างมีแก่นความเชื่อที่ว่าสรรพสิ่งสัมพันธ์โยงใยกันอยู่  แม้ความสัมพันธ์นั้นจะละเอียดซับซ้อนแต่ประจักษ์ได้

สำนักงานของทะไลลามะมัธยัสถ์มากในเรื่องการใช้กระดาษ  บรรดาเลขานุการส่วนพระองค์ต่างเคร่งครัดกับการใช้ซ้ำกระดาษอย่างระมัดระวัง  มิให้ขัดต่อความห่วงใยสิ่งแวดล้อมของทะไลลามะ  ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาสำนักงานส่วนพระองค์คงได้ช่วยลดการตัดไม้ไว้หลายต้น  

การมีต้นไม้จำนวนมากย่อมหมายถึงที่อยู่อันสมบูรณ์ของพืชพันธุ์และดอกไม้  โลกที่ดารดาษด้วยพันธุ์ไม้และดอกไม้ย่อมก่อภาวะปัจจัยที่ดีแก่กวี  และกวีที่มีชีวิตอยู่ในโลกเช่นนี้  ย่อมสร้างสรรค์ประพันธ์กวีได้มากบทและงดงามยิ่ง  ซึ่งคงยังผลให้ร้านหนังสือที่เน้นงานกวีได้มีงานหลากหลายไว้ขึ้นชั้น  เพราะทะไลลามะประหยัดการใช้กระดาษ  ผู้อ่านที่ชอบงานกวีทั่วโลกจึงพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย

โดยนัยนี้เราเองก็เป็นอย่างทะไลลามะและทำได้เช่นกัน

3

เขมราฐเป็นเมืองเก่าแก่คู่กันมากับอุบลราชธานีและมาขึ้นต่ออุบลราชธานีในภายหลัง  ก่อนที่เขมราฐจะมาโด่งดังเพราะเกิดมีถนนคนเดินเขมราฐ  ผมเทียวไปขับรถชมเมืองเก่าที่มีตึกและบ้านไม้เก่าแก่มากมายและลวดลายเชิงชั้นศิลปะเหนือกว่าเชียงคานแห่งนี้อยู่เนืองๆ เพียงแต่มันถูกปล่อยให้หลับใหลทรุดโทรม  

การขยายตัวของเศรษฐกิจชายแดนช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาได้ปลุกเมืองนี้ขึ้นมา  และเป็นจังหวะเวลาที่ดีที่รสนิยมของผู้คนเริ่มกลับมานิยมเมืองเก่าและของเก่า  ตึกไม้เก่าแก่  บ้านไม้เก่าแก่  จึงค่อยๆ ได้รับการซ่อมแซมบำรุงให้ฟื้นคืน  ในขณะที่ถนนคนเดินในเมืองต่างๆ เริ่มกลายพันธุ์และค่อยๆ ตายไป ถนนคนเดินเขมราฐก็ก่อเกิดขึ้นจากบทเรียนเหล่านี้และเกิดขึ้นจากคนของเมืองนี้จริงๆ 

ถนนคนเดินเขมราฐเป็นถนนคนเดินที่สะอาดที่สุด  ผู้คนที่มาออกร้านและเปิดบ้านสองข้างถนนร่วมกิจกรรมต่างยื่นมือออกมารับขยะจากนักท่องเที่ยวด้วยความเต็มใจ  ด้วยไม่ต้องการให้บ้านเมืองของเขาแปดเปื้อน  ความหยาบและความมักง่ายของนักท่องเที่ยวก็ค่อยๆ คลายลงเป็นความเกรงอกเกรงใจเป็นความละอายและกลายเป็นวัฒนธรรมการเดินถนนที่ดีงาม

ทุกๆ วันเสาร์ตั้งแต่พลบค่ำหรือที่คนพื้นถิ่นเรียกว่ายามแลงไปจนถึงสี่ทุ่ม  ใจกลางเมืองเขมราฐก็จะสว่างไสวราวงานเทศกาล   แต่เป็นเทศกาลที่มีขนาดพอดีน่ารักในแบบของคนที่นี่  แม้ว่านักท่องเที่ยวจะมากขึ้นๆ แต่เขมราฐก็ยังเป็นเขมราฐ  เป็นเมืองตื่นสายที่ยังความลำบากให้กับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นที่โหยหาอาหารเช้าและไม่เข้าใจวัฒนธรรมเมืองของเขา

และถ้าทั้งหมดนั้นเป็นบทเพลง  จังหวะและท่วงทำนองของเมืองริมแม่น้ำโขงอย่างเขมราฐที่เร้นกายอยู่ในความเงียบร้างมานานก็เป็นไปแบบนั้น  

ถ้าจะให้ดีควรออกไปจากตัวเมืองสักหน่อยหาที่พักริมโขงเพื่อค้างแรม  หลายหมู่บ้านที่ซ่อนตัวจากสายตาของโลกยังคงปลูกผักริมตลิ่งโขงที่สูงชันซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบกันมาเป็นร้อยๆ ปี  เช่นเดียวกับการทำบุญตักบาตรและความศรัทธาในพุทธศาสนา  ในขณะเดียวกันก็มีทางคนเดินริมโขงหลังหมู่บ้าน  ที่ยามเช้าๆ เราจะเห็นเงาคนลางๆ เดินออกมาจากรั้วหลังบ้าน  ฝ่าหมอกฤดูหนาวหรือไอหมอกแม่น้ำที่ระเหยขึ้นมา  เพื่อมาออกกำลังกาย  พอแสงแดดอ่อนยามเช้ามายืน  ผู้คนเหล่านั้นก็ถือแก้วชา กาแฟออกมานั่งจิบสนทนากันที่ทางเดินเลียบโขงนี้

พอตกยามแลงก็ไปเที่ยวเล่นถนนคนเดินที่น่ารัก  และพากันกลับมาก่อกองไฟขึ้นในคืนหนาว  อ่านบทกวีสั้นๆ ของท่านติช นัท ฮันห์  ให้กันฟัง

หากเธอเป็นกวี

เธอย่อมหยั่งเห็นก้อนเมฆในกระดาษแผ่นนี้

เพราะหากปราศจากเมฆ

ย่อมไม่มีฝน

หากไร้ฝน

ต้นไม้ย่อมไม่งอกงาม

และเมื่อไม่มีต้นไม้

ย่อมไม่มีกระดาษแผ่นนี้

4

เราจะสร้างเมืองหรือพัฒนาเมืองของเราขึ้นมาจากแนวคิดเชื่อมโยงสัมพันธ์หรือปรัชญาแห่งความว่างได้อย่างไรนะ ?

ผมนึกถึงข้อความตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น…

ผมหยุดโยงใยในจินตนาการจากดาร์วิน  กวี  และดอกไม้  เพื่อถามทะไลลามะว่า  “ท่านเจริญให้เกิดความเข้าใจในหลักเหตุปัจจัยอย่างถ่องแท้ได้อย่างไร”  

ใช้เวลา  ใช้เวลา”  ทรงตอบ  “ความเติบโตทางจิตวิญญาณนั้นอาศัยเวลา  ไม่เหมือนเปิดสวิตช์ไฟ  เหมือนการก่อไฟมากกว่า  ที่ต้องเริ่มประคับประคองจากเชื้อไฟเล็กๆให้ลุกติดขยายเป็นกองไฟใหญ่ขึ้น  ส่องสว่างขึ้น…”

ครับ  บางทีเราต้องสร้างเมืองจากปรัชญาปัจจยาการแห่งการเชื่อมโยงอิงอาศัยกันหรือความว่างขึ้นในจิตใจและความรู้สึกนึกคิดในคนของเราก่อน  

แล้วก็รอเวลา…


Contributor