22/01/2020
Environment
เมืองปรสิต VS ป่าผืนยักษ์ วิกฤตโลกร้อนที่เมืองเลือกได้
The Urbanis
กัญรัตน์ โภคัยอนันต์
คุณเคยคิดบ้างไหม – ว่ามนุษย์อาจเป็นปรสิตของโลก
ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เจ้าของรางวัล Explore Awards 2019 จากนิตยสาร Nation Geography เคยยกตัวอย่างเปรียบมนุษย์เป็น “ปรสิต” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยบอกว่ามนุษย์เมืองที่ใช้พื้นที่ (Land) เพียง 3 % ของโลกใบนี้ กลับบริโภคทรัพยากร (Resource consumption) ถึง 75% โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Global GHG emission) กว่า 60-80 %
นั่นไม่ผิดอะไรกับการเป็นปรสิตเลย
จากตัวเลขข้างต้นการเปรียบเปรยมนุษย์เป็นปรสิต คงไม่ผิดนัก จะต่างเพียงว่ามนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยลูกด้วยนมแต่ปรสิตเป็นสัตว์เซลล์เดียวที่มีลักษณะการใช้ชีวิตอาศัยผู้อื่นหรือเซลล์ชนิดอื่นเป็นที่พักอาศัยและแหล่งอาหารแถมบางครั้งยังทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์นั้นหรือเซลล์ภายในจนเจ็บป่วยหรือถึงกับเสียชีวิต
เหมือนมนุษย์ที่กำลังใช้ทรัพยากรและทำให้ทุกอย่างเสื่อมโทรมลงเป็นความย้อนแย้งที่ตลกร้ายดังที่ Jane Goodall นักชีววิทยาและนักอนุรักษ์ชื่อดังที่พูดถึงมนุษย์ว่า “การใช้พลังงานฟอสซิลอย่างไม่คิด การทำลายป่าไม้ การสร้างมลภาวะในมหาสมุทร เป็นไปได้อย่างไรที่สิ่งมีชิวิตที่เฉลียวฉลาดที่สุดที่เคยปรากฏขึ้นมาบนโลก กลับกำลังทำลายบ้านหลังสุดท้ายของตัวเอง”
ดร. สรณรัชฎ์ได้อธิบายถึงโจทย์ท้าทายใหญ่ของมนุษย์เมือง คือ สถานการณ์เมืองที่มีคนเยอะมากขึ้นแต่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดโดยที่มนุษย์ทุกคนมีความอยากสบายเท่ากัน วิกฤตปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น
ไม่เพียงแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่องค์กรระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่าง World Economic Forum ยังผลิตวิดีโอสั้นเรื่อง “Nature’s Emergency” ที่รวบรวมสัมภาษณ์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง นักธุรกิจ ต่างตอกย้ำในประเด็นเดียวกันว่า มนุษย์ต้องคิดเรื่องการพัฒนากันใหม่ ธรรมชาติต้องได้รับการคุ้มครอง ผู้บริโภคต้องเป็นคนกำหนดทิศทางของความยั่งยืน ระบบเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ที่จำเป็นต้องได้รับการปฏิวัติ ไม่เพียงแต่ความสำคัญของธรรมชาติที่จะส่งผลต่อระบบเศรฐกิจ แต่ทุกๆด้านของมนุษย์เองก็เช่นกัน
David Attenborough นักสื่อสารธรรมชาติระดับตำนานแห่ง BBC กล่าวว่า “ภายในทศวรรษนี้ เรากำลังจะผ่านจุดเปลี่ยน (tipping point) ที่สำคัญหลายอย่างจนเกินที่จะเยียวยา”
ความสูญเสียของระบบนิเวศตามที่ Cristiana Pasca Palmer เลขาธิการอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพยกตัวอย่าง “ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970s สัตว์มีกระดูกสันหลังสูญพันธุ์ไปแล้ว 60% ในส่วนของแมลง สูญพันธุ์ไปแล้ว 80% เมื่อเราสูญเสียชนิดพันธุ์ต่างๆมากมายขนาดนี้ สิ่งที่ตามมาคือการสูญเสียศักยภาพของระบบนิเวศธรรมชาติซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสมดุลและให้บริการแก่การอยู่รอดของมนุษย์ในหลายรูปแบบ”
จากปรากฎการณ์ที่พบเห็นตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ของผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ถึงเวลาที่มนุษย์เมืองจะลงมือเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตและทิศทางการพัฒนาเมืองอย่างที่เคยเป็นมา
มหานครโลกฝั่งยุโรปอย่าง “ลอนดอน” ได้ลงมือปฏิวัติกรอบการพัฒนาเมืองแบบเดิมๆ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จอย่างสูงนั่นก็คือ การเปลี่ยนลอนดอนให้เป็น London National Park City โดยมีหลักการที่ว่า “ Make London : Greener Healthier and Wilder” การออกแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองโดยทำงานร่วมกับพลเมือง นักท่องเที่ยวและฝ่ายต่างๆเพื่อให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตข้างนอกอาคารได้อย่างรื่นรมย์
คำกล่างนี้คงไม่เกินจริงเกินไปเพราะลอนดอนมีประชากรมนุษย์กว่า 8.6 ล้านคน โดยยังคงเป็นบ้านของเหล่าต้นไม้กว่า 8.3 ล้านต้น และ 14,000 สายพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ
เป้าหมายของลอนดอน เมืองอุทยานแห่งชาติ คือ สร้างความเขียวมากขึ้นกว่าในปัจจุบันโดยการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ การปกป้องระบบโครงข่ายพื้นที่สีเขียว การเชื่อมอาคารและพื้นที่สาธารณะ (Public space) การสร้างพื้นที่ซึ่งอุดมด้วยพืชและสัตว์ป่าโดยเด็กทุกคนสามาถเข้ามาสำรวจ เล่น และเรียนรู้ได้ พลเมืองทุกคนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวคุณภาพสูง มีอากาศและน้ำที่สะอาดจนคนเลือกที่จะเดินทางด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานมากขึ้น
เส้นทางความสำเร็จของเมืองอุทยานแห่งชาตินี้เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 เมื่อมูลนิธิอุทยานแห่งชาติของอังกฤษมีการจัด public forum และการสำรวจความคิดเห็นของพลเมืองพบว่า กว่า 90 % เห็นด้วยกับแนวคิดการปรับปรุงลอนดอนให้กลับมามีระบบนิเวศป่าในเมือง โดยเริ่มมีการเคลื่อนไหวของพลเมืองต่อนักการเมืองท้องถิ่น
(ที่มา : https://www.forbes.com,2019)
โดยในปี ค.ศ. 2016 ผู้สมัครเข้าชิงนายกเทศมนตรีต่างรับเป็นนโยบาย และดำเนินการรณรงค์จนได้แนวร่วมจากนักการเมืองจากทุกพรรคกว่า 1,000 คน ในปี ค.ศ. 2017 และประกาศธงการเป็น National Park City ภายในปีค.ศ. 2019 โดยได้เปิด crowd-funding เพื่อจัดพิมพ์คู่มือให้กับทุกฝ่าย และเมื่อ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศ International Charter for National Park Cities (NPC) โดย National Park City Foundation (NPCF) ร่วมกับ World Urban Parks และ Salzburg Global Seminar ร่วมลงนามเพื่อสร้างเป้าการเปลี่ยนเมืองให้เป็น อุทยานเมือง อย่างน้อยอีก 25 แห่งภายในปี ค.ศ. 2025
(ที่มา : http://www.nationalparkcity.london,2019)
พื้นที่สีเขียวคือ ‘สิ่งที่ต้องมี’ ไม่ใช่แค่ ‘แค่มีก็ดี’ (need to have not nice to have) คือแนวคิดที่ National Park City Foundation (NPCF) นำมาเป็นหัวเรือของการพัฒนาลอนดอนและตอนนี้กำลังเป็นประเด็นท้าทายนักออกแบบผังเมืองและบทบาทมนุษย์เมืองผู้เป็นปรสิตของโลกใบนี้อยู่
วิกฤตของโลกตอนนี้คือ“วิกฤติด้านความหลากหลายทางชีวภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกี่ยวโยงกับวิกฤติการณ์โลกหลายด้านที่เรากำลังเผชิญอยู่ การย้ายถิ่นฐาน ผู้อพยพจากสภาวะโลกร้อน วิกฤติทางการเมือง หรือแม้แต่วิกฤติทางศีลธรรม” ดังที่ Cristiana Pasca Palmer เลขาธิการอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กล่าวไว้
(ที่มา : www.wtag.com,2019)
จะเห็นได้ว่าด้วยระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปีที่เปลี่ยนลอนดอนให้กลายเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติลอนดอนสามารถพลิกฟื้น สร้างและขยายพื้นที่สีเขียวมากกว่า 40,000 ไร่ หรือคิดเป็น 40% ของพื้นที่เมือ การสร้าง wet land สามารถนำความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณกลับมา
การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถทำได้จริงเพียงแค่มนุษย์โฮโมเซเปียนส์อย่างพวกเราร่วมมือกัน และถึงแม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ มนุษย์เราคงไม่สามารถย้อนกลับไปทำให้โลกอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติเหมือนเดิมได้อีกแล้ว มนุษย์เดินทางกันมาไกลกว่าที่จะวบกลับแล้ว
แต่ถึงอย่างไรก็ตามในความพิกลพิการนี้ หากพวกเราไม่ยอมประนีประนอมกับการพัฒนาเมืองที่ผิดรูปผิดร่าง การผลิตและบริโภค รวมถึงระบบต่างๆที่คอยทำลายสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ดังที่ Jane Doodall ทิ้งท้ายว่า“เราขโมยอนาคตของลูกหลานของเรา และเราก็ยังทำอยู่ เราต้องหันมาร่วมมือกันตั้งแต่บัดนี้” Jane Goodall
“Now or Never เราเลือกได้ว่าจะเป็นปัญหาหรือทางออก”
ที่มา
http://www.nationalparkcity.london/get-more-involved/get-more-involved-2/charter