19/11/2019
Environment

รู้จักกับ Urban Forestry เมื่อต้นไม้บนตึกในเมือง คืออนาคตของโลกใบนี้

ชยากรณ์ กำโชค
 


ชยากรณ์ กำโชค

Environment

วันก่อน เพิ่งเคยได้ยินคนพูดว่า “ปลูกต้นไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เพื่อกล่าวถึงผลงานของยอดสถาปนิกและนักวางผังเมืองชาวอิตาลี “สเตฟาโน โบเอรี” ผู้มีโครงการปลูกต้นไม้นับพันต้นบนอาคารหลายแห่งทั่วโลก มีเป้าหมายพิทักษ์ดาวดวงหนึ่งที่กำลังร้อนระอุเกินกว่าจะเยียวยา 

“โลกของเรา”

สเตฟาโน โบเอรี เดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ เพื่อเป็นวิทยากรในงานสภาสถาปนิก 62 บนเวทีเขามีความเห็นต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นกับเมืองภายใต้วิกฤตด้านภูมิอากาศว่า ไม่มีใครเป็นฮีโรกู้โลกได้ นอกจากพวกเราด้วยกันเอง การสร้างพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้และคืนผืนป่าเป็นภารกิจที่ทุกคนต้องช่วยและรอไม่ได้ ความพยายามของโบเอรีที่ทำมาจริงจังและเนิ่นนานนี่เอง ทำให้ชื่อของเขาได้รับความสนใจในวงการสถาปนิกและการออกแบบเมืองทั่วโลก ในนามโครงการ Urban Forestry 

Urban Forestry คืออะไร 

ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แปล Urban Forestry เป็นคำไทยว่า การป่าไม้ในเมือง มีความหมายกว้างกว่าพื้นที่สีเขียว แต่ว่าด้วยการจัดการต้นไม้ในเมืองอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและคุณภาพชีวิตประชากรในเขตเมือง บทบาทของการป่าไม้เมืองพัฒนาแล้วจะคำนึงถึงประโยชน์ด้านการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ควบคุมมลพิษทางอากาศ เสียง และลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ด้านทัศนียภาพและเป็นพื้นที่นันทนาการ 

Bosco Verticale เป็นตัวอย่างของโครงการ Urban Forestry แห่งแรกโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เรากำลังเอ่ยถึง เป็นโครงการที่พักอาศัยขนาดสูง 2 อาคาร ของเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ที่ปลูกต้นไม้บนอาคารสูง 76 และ 100 เมตร รวมมากกว่า 900 ต้น ไม่รวมถึงพืชขนาดเล็กและไม้พุ่มอีกกว่า 20,000 ต้น ย้อนไปเมื่อปี 2015 โครงการแห่งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นในการออกแบบอาคาร ได้รับรางวัลอาคารสูงที่ดีที่สุดในโลกจาก the Council on Tall Buildings and Urban Habitat

ภาพจาก Stefano Boeri Architetti

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าโครงการ Urban Forestry โดยโบเอรีกระจายไปทั่วโลก เช่น ในเมืองหนานจิง ประเทศจีน ที่มีแผนก่อสร้างอาคารเขียวสูงกว่าอาคารแม่ที่มิลานเสียอีก ต้นไม้กว่า 1,100 ต้น 23 สายพันธุ์ท้องถิ่น จะปลกคลุมอาคารที่จะเป็นโรงแรมหรู สำนักงาน ศูนย์ประชุม พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ และปลูกไว้เพื่อเผชิญปัญหาใหญ่ของเมืองในประเทศจีนอย่างมลภาวะทางอากาศ โดยคาดว่าจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25 ตันต่อปี และผลิตก๊าซออกซิเจนประมาณ 60 กิโลกรัมต่อวัน

อันที่จริง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25 ตันต่อปี เทียบได้กับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์เพียง 5 คันเท่านั้น จะกล่าวว่าแทบไม่ก่อความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองในจีน ที่ได้ชื่อว่ามีปัญหามลพิษในอากาศสูงในระดับ “เรด อะเลิร์ต” ก็คงไม่ผิดนัก ทั้งนี้ โบเอรีเห็นด้วยกับการเปรียบเปรยดังกล่าวดังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์เดอะการ์เดียน หากอีกด้าน เขามองไปไกลกว่านั้นว่า โครงการของเขาจะเป็นโมเดลอาคารสีเขียวที่จะถูก “คัดลอก” และ “วาง” โดยคนอื่นๆ ทั่วทุกมุมเมือง

ภาพจาก Stefano Boeri Architetti

ภาวะโลกร้อน สู่ ภาวะคนล้นเมือง

ดังที่ทราบกันว่าศตวรรษที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในขณะนี้ ถูกเรียกว่าเป็น “ศตวรรษเมือง” กล่าวคือ ในปี 2030 ประชากรกว่าร้อยละ 60 ของโลกจะอาศัยในเขตเมือง และทรัพยากรโลกกว่า 3 ใน 4 จะถูกบริโภคโดยเมือง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น เพื่อตั้งรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นจากแนวโน้มดังกล่าว เมืองจำเป็นต้องมีแผนการอันเป็นรูปธรรมก่อนที่จะสายเกินไป 

Urban Forestry ของโบเอรีนอกจากจะคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ก๊าซเรือนกระจก กระทั่งการละลายของภูเขาน้ำแข็งและความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดน้อยลง แต่ยังโฟกัสไปที่ “อาคารแนวตั้ง” ที่จะช่วยลดการกระจายตัวของเนื้อเมืองและการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ ดังเช่นโครงการเคหะสถานในราคาเข้าถึงได้ (affordable housing) อย่าง Trudo Verticle Forest  ประเทศเนเธอร์แลนด์ โครงการที่อยู่อาศัย 19 ชั้น สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ(น้อย ?)

ภาพจาก Stefano Boeri Architetti

Urban Forestry กับเมืองกำลังพัฒนา 

ต่อเนื่องในประเด็นการกลายเป็นเมือง (Urbanization) จากย่อหน้าบน เมืองในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ทวีปที่เต็มไปด้วยเมืองยากจนและเมืองกำลังพัฒนา ถูกคาดการณ์ให้ได้รับผลกระทบจากภาวะการณ์ดังกล่าวสูงที่สุด 

เราจะพูดถึงเมืองกำลังพัฒนาในประเทศอียิปต์ ทวีปแอฟริกา 

ขณะนี้ รัฐบาลอียิปต์อยู่ระหว่างดำเนินการสร้างเมืองศูนย์กลางราชการ โดยย้ายจากกรุงไคโรไปยังทะเลทราย ห่างจากกรุงไคโรไปทางทิศตะวันออกราว 50  กิโลเมตร โครงการย้ายเมืองราชการสืบเนื่องจากปัญหาความแออัดของกรุงไคโร ตลอดจนสภาพการจราจรติดขัดและมลภาวะทางอากาศ

โครงการสร้างเมืองใหม่เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพอียิปต์กับกรมการเคหะแห่งชาติ ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด “ไคโรที่เขียวกว่า” (Greener Cairo) นำร่องด้วยโครงการอาคารลูกเต๋า 3 หลังที่จะปลูกต้นไม้ 350 ต้นกับอีกนับหมื่นไม้พุ่ม 100 สายพันธุ์ และแน่นอนนี่คือผลงานของโบเอรีเช่นกัน ไม่เพียงต้องการแก้ไขปัญหาประชากรขาดแคลนที่อยู่อาศัย แต่ยังมองไกลให้เมืองใหม่เป็นฐานกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และกระตุ้นความหลากหลายทางชีวภาพด้วยหลังคาเขียวทั้งเมือง

ภาพจาก Stefano Boeri Architetti

ย้อนมองกรุงเทพฯ ช่างยากเหลือเกินกับการหาพื้นที่ใหญ่ๆ สักแปลง เนรมิตเป็นสวนสาธารณะสำหรับดูดซับก๊าซเรือนกระจกเพื่อจะเอาชนะวิกฤตโลกร้อน ข้อคิดจากผลงานของโบเอรีในหลายเมืองทั่วโลก ไม่เพียงชวนให้คิดว่า อาคารสูงเป็นทางเลือกในการเผชิญความท้าทายทางสภาวะภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังชวนให้เราสำรวจโครงสร้างทิ้งร้างหรือพื้นที่ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพของเมือง  

หรือกระทั่งเหลือบมองพื้นที่ว่างหน้าบ้าน ริมระเบียง หรือบนดาดฟ้า และจินตนาการว่าหากโครงสร้างทิ้งร้าง พื้นที่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ และพื้นที่เพียงเล็กน้อยในปริมณฑลส่วนตัว ได้รับการเชื่อมร้อยต่อกัน ป่าผืนใหญ่อาจเกิดขึ้นในเมืองได้ไม่ยาก หากทุกภาคส่วนเห็นประโยชน์ร่วมกันและตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิกฤตโลกร้อนส่งสัญญาณ “ไซเรน” ในทุกวินาทีนับจากนี้ 

ดังที่สถาปนิกผู้ยึดมั่นในแนวคิด Urban Forestry ได้กล่าวไว้เมื่อเยือนกรุงเทพฯว่า 

Let’s plant together. Everywhere. Everyone. Immediately

เราต้องช่วยกันปลูกต้นไม้ ทุกที่ ทุกคน และเราต้องทำเดี๋ยวนี้ด้วย

ที่มาข้อมูล

  1. https://www.stefanoboeriarchitetti.net
  2.  https://www.stefanoboeriarchitetti.net/en/urban-forestry/ 
  3. https://www.weforum.org/agenda/2017/05/china-is-about-to-get-its-first-vertical-forest/
  4. https://www.archdaily.com/922482/stefano-boeri-proposes-vertical-forests-for-cairo 
  5. https://www.dezeen.com/2019/08/05/egypt-vertical-forest-stefano-boeri-new-administrative-capital/
  6. https://progreencenter.org/2018/01/22/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99/
  7.  https://www.stefanoboeriarchitetti.net/en/urban-forestry/ 

Contributor