19/07/2023
Environment

คุยเรื่องการออกแบบสวนเพลินพระโขนง กับ คุณสมเกียรติ โชควิจิตรกุล ภูมิสถาปนิก จาก LANDSCAPE COLLABORATION

ศุภกร มาเม้า
 


ชวนรู้จักพื้นที่สวนเพลินพระโขนง

พื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ริมถนนสุขุมวิท ขนาด 2 ไร่ ใกล้สถานี BTS บางจากเพียง 180 เมตร ที่รอการพัฒนา กำลังจะมีการปรับปรุงให้กลายเป็น “สวนเพลินพระโขนง” พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ที่จะช่วยเพิ่มค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวของเขตพระโขนง
ยกระดับคุณภาพชีวิต และตอบรับความต้องการของชาวชุมชนและผู้คนที่เข้ามาทำงานในย่าน

กว่าจะมาเป็นเพลินพระโขนง

ชาวย่านและสำนักงานเขตพระโขนงได้พยายามขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ว่างนี้ให้กลายเป็นลานกีฬาและสวนสาธารณะกว่า 15 ปีที่ผ่านมา จนปลายปี 2565 ทางกรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ

ขณะนี้ UDDC ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพระโขนง ทีมภูมิสถาปนิกจาก LANDSCAPE COLLABORATION และภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมร่วมกับชาวพระโขนง-บางนา เพื่อออกแบบให้พื้นที่นี้สอดคล้องกับความต้องการของชาวย่านพระโขนง-บางนา และชาวเมืองที่สัญจรผ่าน

“โจทย์” สำคัญของการออกแบบสวนเพลินพระโขนง

UDDC x LANDSCAPE COLLABORATION และภาคีเครือข่าย ได้รับโจทย์จากชาวย่านที่ต้องการพัฒนาให้พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่สีเขียวที่สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่นันทนาการพื้นที่ลานกีฬา และพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน โดยให้คำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัย การปรับปรุงระบบระบายน้ำ และป้องกันมลภาวะ ฝุ่นควันจากท้องถนนเป็นหลัก พร้อมทั้ง 2 ความท้าทายสำคัญสำหรับการออกแบบสวนเพลินพระโขนง ดังนี้

 (1) สภาพอากาศ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นคอนกรีต ส่งผลให้มีความร้อนสะสมในพื้นที่ อีกทั้งอยู่บริเวณด้านหลังอาคารพาณิชย์ ทำให้มีกระแสลมไหลผ่านพื้นที่เบาบาง รวมถึงย่านพระโขนง-บางนาเป็นย่านที่มีอุณหภูมิสูงสุดในกทม. (ไทยรัฐ, 2556) การออกแบบในพื้นที่นี้ต้องคำนึงถึงการใช้พื้นที่สีเขียวช่วยปรับอุณหภูมิให้พื้นที่มีความเย็นสบายมากยิ่งขึ้น

(2) การวางระบบภายในสวน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ดาดแข็ง การปรับสภาพพื้นที่เป็นสวนสีเขียวจึงเป็นเรื่องยาก รวมถึงการจัดการเรื่องระบบระบายน้ำ สำหรับการป้องกันน้ำท่วมในกรณีฝนตก และจัดวางระบบสาธารณูปโภค เพื่อให้สวนเพลินพระโขนงเป็นพื้นที่สวนที่ชาวย่านสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แนวคิดการออกแบบสวนเพลินพระโขนง

คุณสมเกียรติ โชควิจิตรกุล ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักงานออกแบบ LANDSCAPE COLLABORATION เล่าว่า การวิเคราะห์และออกแบบพื้นที่สวนเพลินพระโขนง เริ่มต้นจากการรับฟังความต้องการของชาวย่านผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม โดยส่วนใหญ่ต้องการพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย แต่การสร้างลานกีฬาเพียงอย่างเดียว อาจทำให้พื้นที่ถูกใช้งานได้เพียงเฉพาะกลุ่ม การออกแบบต้องเหมาะสมกับชาวย่านในทุกกลุ่ม โจทย์สำคัญจึงพยายามหาสมดุลระหว่างพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อนและพื้นที่จัดกิจกรรมนันทนาการ

ได้ข้อสรุปว่าควรแบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่สีเขียวร้อยละ 60 และพื้นที่ทำกิจกรรมร้อยละ 40 โดยมีสนามกีฬาสำหรับการออกกำลังกาย และมีพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อน ทั้งนี้พื้นที่สวนเพลินพระโขนงเป็นพื้นที่เข้าถึงง่ายและเป็นจุดที่ชาวย่านสามารถรวมตัวทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การจัดลานดนตรี การจัดตลาดชุมชน เป็นต้น การออกแบบสวนเพลินพระโขนงจึงต้องแบ่งสัดส่วนพื้นที่ที่มีทั้งสนามกีฬา สนามหญ้า และลานอเนกประสงค์ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของชาวย่านให้มากที่สุด

การออกแบบสนามกีฬาให้เหมาะสมกับการใช้งานในหลายรูปแบบ ลักษณะของสนามกีฬาอเนกประสงค์ใช้แนวคิด Multi court คือการใช้สีแบ่งพื้นที่ของสนามกีฬา เพื่อให้สามารถใช้งานได้กับกีฬาหลายประเภท โดยจัดตารางเวลาสำหรับการใช้สนาม อาทิ ช่วงเช้าเป็นสนามบาสเกตบอล และในช่วงบ่ายเป็นสนามฟุตบอล เป็นต้น รวมถึงการออกแบบพื้นที่นั่งและสนามหญ้าสำหรับการพักผ่อน อีกทั้งการปลูกต้นไม้วางตามแนวรั้วทำให้สวนมีความเย็นสบาย เหมาะสำหรับการกางเต็นท์ได้ตลอดแนว เพื่อให้พื้นที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุด

เนื่องจากพื้นที่สวนอยู่ติดถนนจึงต้องวางระยะเข้ามาเล็กน้อย พร้อมทั้งปลูกต้นไม้บริเวณด้านหน้าให้เป็นบัฟเฟอร์ หรือ เกราะป้องกันฝุ่นและเสียงรบกวนจากการสัญจรบนท้องถนน เพื่อให้ผู้ใช้งานสวนรู้สึกสงบสามารถนำอาหารมานั่งรับประทานร่วมกันได้ รวมถึงการออกแบบสวนให้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง สามารถมองเห็นพื้นที่ได้จากด้านนอก เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่เข้ามาใช้งาน นี่คือแนวคิดของการออกแบบสวนเพลินพระโขนง

ขณะนี้สวนเพลินพระโขนงอยู่ในระหว่างการปรับแบบก่อสร้าง เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของชาวย่านมากที่สุด รวมถึงการดำเนินจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาสวนเพลินพระโขนงต่อไป

จากความร่วมมือของชาวย่านสู่การสร้างสวนเพลินพระโขนง โดยสวนนี้เป็นหนึ่งในสามพื้นที่ Sandbox สำหรับการพัฒนาสวน 15 นาที ของย่านพระโขนง-บางนา รายละเอียดและแนวคิดของสวนในอีกสองพื้นที่จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ทาง The Urbanis และ เฟซบุ๊กของ UddC

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ในเมืองกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

และโครงการการขยายผลและต่อยอดการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมทางกายของประเทศไทย: ห้องปฏิบัติการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ระยะที่ 2 [Good Walk Lab 2] ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor