19/06/2020
Environment
ลีลาวดีอยู่นี่ : อยู่ที่เชิงสะพานสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
ธรกมล เรียงวงศ์
เวลาพูดถึงท่าช้างวังหลวง หนึ่งในภาพจำของหลายๆคน น่าจะเป็นแนวต้นลีลาวดีที่เรียงรายอยู่หน้าตึกแถวเก่ายุคนีโอคลาสสิก
ต้นลีลาวดีที่เคยอยู่ในลานท่าช้างวังหลวงมีจำนวน 29 ต้น ให้ร่มเงาและประดับประดาบริเวณลานหลังท่าเรือให้สวยงาม เป็นการต้อนรับผู้มาเยือนมาแล้วกว่า 22 ปี ต้องหมายเหตุว่าต้นลีลาวดีชุดนี้ไม่ใช่ลีลาวดีที่เราเห็นทั่วๆ ไป คือดอกสีขาวๆ ใหญ่ๆ แต่เป็นพันธุ์เพชรเขาวัง สายพันธุ์เดียวกันกับที่พระนครคีรี หรือเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี ทำให้รูปทรงของต้นจะมีความสวยงาม ดอกจะเล็กกระจุ๋มกระจิ๋ม มีสีเหลืองครีม
ต้นลีลาวดีเหล่านี้ปลูกโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพระนคร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพฤกษศาสตร์เมื่อปี 2541 ผ่านเวลาไปแม้ต้นลีลาวดีจะเติบโตผลิดอก แต่ด้วยพื้นที่ที่ปลูกเป็นลานคอนกรีตที่ร้อนจัด รากต้นไม้ถูกจำกัดไว้ในกรอบกล่องสี่เหลี่ยมคอนกรีตใต้ดิน ทำให้ต้นลีลาวดีเหล่านี้ไม่เติบโตเท่าที่ควร ประกอบกับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดหน้าพระลานและถนนมหาราช กรุงเทพมหานครจึงได้ตัดสินใจขุดล้อมต้นลีลาวดีทั้งหมดไปที่เชิงสะพานสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาฝั่งเขตพระนคร เพื่อให้ต้นไม้ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นั่นคือสวนสาธารณะที่กว้างกว่า 8 ไร่และมีดินให้รากแผ่หยั่งลึก
การขุดล้อมและการดูแล
ว่าที่ร้อยตรีฤทธิพันธ์ นันทศุภกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตพระนคร ท่านที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในเขต รวมทั้งอยู่ในเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่การปลูก ขุดล้อมเพื่อย้าย และการปลูกใหม่ลงในเชิงสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
ว่าที่ร้อยตรีฤทธิพันธ์เล่าให้เราฟังถึงวิธีการขุดล้อมที่ต้องทำอย่างระมัดระวังที่สุด เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบภารกิจในการขุดล้อมและย้ายได้รับการอบรมจากทีมรุกขกรของกลุ่ม Big Trees จนมีความเชี่ยวชาญ
เริ่มต้นจากตัดเตียนยอดข้างบนเพื่อลดการคลายน้ำ และตัดรากแขนงก่อน 2 – 3 วัน ก่อนล้อมย้าย เมื่อย้ายไปปลูกในบริเวณเชิงสวนลอยฟ้าที่มีระบบนิเวศน์ที่ดี มีพื้นที่ที่เป็นดินกว่า 8 ไร่ มีต้นไม้เก่าที่เติบโตอยู่แล้วหลากหลายชนิดจึงทำให้ลีลาวดีทั้ง 29 ต้น สามารถฟื้นตัวและเติบโตร่าเริงได้อย่างเต็มที่ ตอนนี้ก็แค่ 1 เดือนที่ย้ายมา ก็ออกดอกแล้ว
ต้นลีลาวดีจึงกลายเป็นสมาชิกใหม่ในสวนเชิงสะพานสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา พื้นที่สีเขียวที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเติมเต็มผ่านกิจกรรมปลูกสะพาน ในวันที่ 11 มิ.ย. 2563 และเป็นประตูสู่สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ที่รอให้ทุกท่านมาเยี่ยมชม
กิจกรรมปลูกสะพาน (Plant the Bridge) ภารกิจหาเพื่อนให้ลีลาวดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ติดตามผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างสวนลอยฟ้าช่วงเดือนที่แล้วนั้น เกิดสะดุดตากับสมาชิกใหม่ลีลาวดี 29 ต้น จนกลายเป็นที่มาของกิจกรรม Plant the Bridge
“วันนั้น ได้ติดตามผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครมาดูงานก่อสร้าง มากับคุณกชกร วรอาคม LANDPROCESS หัวหน้าทีมภูมิสถาปัตยกรรมของสวนลอยฟ้า ก็สะดุดตากับต้นลั่นทม สะดุดกับทรงต้นที่สวยมาก และดอกเล็กๆแหลมๆกระจุ๋มกระจิ๋ม ก็คุยกันว่า มันยังไง ทำไมเราไม่เคยสังเกตเห็น ทีมงานของเขตพระนครจึงเล่าให้ฟังว่า นี่คือลีลาวดีจากหน้าพระลานไง ก็ดีใจที่ทุกต้นดูสดชื่นงามดี บางต้นออกดอกแล้วด้วย”
“ในช่วงเดือนพฤษภาคม มีคนถามดิฉันมาหลายคน ทั้งเพื่อนๆที่เห็นข่าวสวนลอยฟ้า ทั้งบริษัทเอกชนรายใหญ่รายย่อย ก็ส่งข้อความอนุโมทนากับกรุงเทพมหานครว่าผลักดันโครงการดีๆจนสำเร็จลงได้ รวมทั้งถามว่ามีอะไรให้ช่วยได้บ้าง อยากมีส่วนร่วมกับโครงการสวนลอยฟ้า ดิฉันจึงหารือกับคุณกชกรว่า เราน่าจะจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ เพื่อหาเพื่อนให้ลีลาวดี 29 ต้นนี้ รวมทั้งเพื่อช่วยกรุงเทพมหานครเพิ่มจำนวนต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้ชาวย่านในแถบนี้ รวมทั้งประชาชนได้มีส่วนร่วมในโครงการสวนลอยฟ้านี้”
“ว่าแล้วจึงได้ทำเรื่องขออนุญาตไปยังกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครอนุญาตและให้การสนับสนุนเต็มที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ อะไรต่างๆมากมาย รวมทั้งจากสำนักงานเขตพระนครและเขตคลองสาน จึงเป็นที่มาของกิจกรรมระดมทุนเพื่อปลูกต้นไม้ให้สวนลอยฟ้าที่จัดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา”
“พวกเราดีใจมาก มีผู้หลั่งไหลบริจาคเข้ามาถึง 596,718.01 บาท ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้นำไปใช้เป็นค่าต้นไม้ ค่าดำเนินการ ค่าจัดทำป้าย ซึ่งเป็นการ Top-up จากแบบมาตรฐานที่ออกแบบไว้แล้ว โดยคณะผู้จัดงานไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เสื้อกิจกรรมก็ไม่ทำ สิ้นเปลือง เงินทุกบาททุกสตางค์เอามาเป็นค่าต้นไม้ ค่าป้ายหมด”
“ตอนนี้ ลีลาวดี 29 ต้นก็เหมือนจะอยู่ดีมีสุขกับบ้านใหม่เชิงสวนลอยฟ้า ฝั่งพระนคร มีเพื่อนใหม่เป็นต้นหว้าและต้นปีบ รอสักพักให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโต พื้นที่ตรงนี้จะเขียวครึ้มมากๆ สมกับเป็นสวยลอยฟ้าข้ามแม่น้ำที่สร้างเสร็จเป็นแห่งแรกของโลก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล ทิ้งท้าย
ชวนทุกท่านมาเยี่ยมลีลาวดี 29 ต้นในบ้านใหม่ที่สวนลอยฟ้าเจ้าพระยานะคะ
หมายเหตุ : กิจกรรม PLANT THE BRIDGE ปลูกสะพาน 11 มิ.ย. 2563
ผู้สนับสนุนหลัก ได้แก่ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร / จักรพงษ์วิลล่า / สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊ค / บริษัท สยามพิวรรธน์ จ้ากัด / TCP Group / บริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด / บริษัท ไนน์ทีนธ แลนด์สเคป จำกัด / บริษัท วี-เอฟ ไล้ท์ติ้ง จำกัด /บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จ้ากัด (มหาชน)
ผู้สนับสนุนรายบุคคล ได้แก่ คุณหญิงอิสริยาภรณ์ ปัญจมานนท์ นายกสมาคม สโมสรไลออนอาภาภิรมย์ / คุณสุชาดา เจริญพิภพ สโมสรไลออนอาภาภิรมย์ / คุณเป๊ก ผลิตโชค อานยบุตร และกลุ่มแฟนคลับ / คุณสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล ICONSIAM / คุณธาตรี ลิขนะพิชิตกุล ICONSIAM / ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และครอบครัวพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน ชุมชนกุฎีจีน ย่านกะดีจีน / รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาฯ และ คุณศักรพัฒน์ อนุรักษ์ภราดรHealthy City Lab / ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล และครอบครัว / Professor J.BOURGON ศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส / อาจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ / ผศ.ดร.จรรยาพร จุลตามระ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) / คุณชินาภรณ์ มีฉัยยา ศิษย์เก่า ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยภิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) / ศิษย์เก่าอัสสัมชัญ รุ่น 89 (หลุยส์อ้าลา) พลเรือเอก ประพฤติพร อักษรมัต คุณศิรทรงวิทย์ จิรธนาโภคิน คุณปกายศักดิ์ สวัสดิสิงห์ คุณสุเมธ กองพัฒนากูลและภรรยา คุณมนตรี เกรียงวัฒนา คุณชุติมา ตันฤดี และ คุณวัลลภ ตันฤดี / คุณรบิล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา / คุณชวัติ ชูเทศะ / คุณธนัคร จุนชยะ / คุณนิพนธ์ ชีพชน / คุณกุศล แย้มสอาด / คุณธนา รัตนอุบลชัย / คุณเมธี นวราช / คุณสมชาย คุลีเมฆิน / คุณบุญศรี คุลีเมฆินคุณ / คุณชูกฤดิ์ ชูเทศะ / คุณวรรณี บุญยสิริวัฒน์ / คุณภัทริน จิรัฐิติวณิชย์ /คุณพิชฎา ปุณณมากุล /นิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัน รุ่น Stu76 (สตูเจ็ดหก) คุณธนวัฒน์ อ้นเจ๊ก คุณสิปปะ อิงคภากร คุณวิศัลยา ถุงทอง คุณสุธิพงษ์ บุษบงค์ คุณปรีชญา นวราช และ คุณวรนันท์ ทองอยู่ / นิสิตเก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 45 คุณชยากรณ์ กำโชค คุณอมลรดา เหรียญตระกูล คุณภัชชภณ ภคเสถียร คุณศิริชัย ลีเลิศยุทธ์ คุณพิมพัณณ์ เลาหบุตร คุณณัชภัค โกมลโชคทวี คุณวสุธร ปิยารมณ์ คุณณิชา โตเร็ว คุณพรพรหม ลิขิตโฆษิตกุล และ คุณปัณฑิตา ชูจิตงามวงศ์ /คุณวิไลวรรณ เตชะไพบูลย์ / คุณสุชาติ ด.ญ.ลลนา และ ด.ญ.นภาภัสร์ จุลละทรัพย์
หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านบุคลากร สถานที่ และการอำนวยความสะดวก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร / กรมทางหลวงชนบท / การทางพิเศษแห่งประเทศไทย / สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร / สำนักงานเขตพระนคร / สำนักงานเขตคลองสาน / สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง
คณะทำงาน ได้แก่ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาฯ (UddC-CEUS) / บริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด / บริษัท เอ็นเจ็ดเอ จำกัด / ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง มจธ. (LRIC) / บริษัท กราฟฟิค 49 จำกัด / สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) / บริษัท ไนน์ทีนธ แลนด์สเคป จำกัด / The Cloud