19/04/2020
Environment

Trash from Home: เมื่อการอยู่บ้านผลิตขยะพลาสติกมากขึ้น

มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์
 


ปัจจุบันดิจิทัลภิวัตน์ (Digitalization) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนในทุกๆมิติ และนำมาซึ่งไลฟ์สไตล์ใหม่ๆโดยเฉพาะกับคนเมือง หนึ่งในนั้นคือการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี ซึ่งธุรกิจนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในพื้นที่เมืองใหญ่ทั่วโลก ที่ช่วยให้คนเมืองที่มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ หรือกลุ่มคนที่ไม่ต้องการออกไปเผชิญความร้อน ฝุ่น ควัน และการจราจรที่ติดขัดนอกบ้าน ได้อิ่มอร่อยกับอาหารร้านโปรดง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้ว

From food delivery to trash delivery

หลายคนคงเคยใช้บริการสั่งอาหารผ่านทางแอปพลิเคชัน แต่รู้หรือไม่ว่าใน 1 มื้อ เราสามารถสร้างขยะพลาสติกได้อย่างต่ำถึง 4 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นจาก กล่องพลาสติกใส่อาหาร ชุดช้อนส้อมพลาสติก หากมีเครื่องดื่มด้วยก็จะมีแก้ว ฝาครอบ และหลอดพลาสติก ซึ่งทั้งหมดถูกรวมมาในถุงพลาสติกอีกทีหนึ่ง

The New York Times ได้รายงานถึงวิกฤตของปัญหาขยะพลาสติกในประเทศจีนที่เกิดจากการสั่งอาหารออนไลน์ที่มากขึ้นของประชาชน มีสถิติว่าการสั่งซื้ออาหารออนไลน์นั้นก่อให้เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ประมาณ 1.6 ล้านตัน ในปี 2017 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2 ปีก่อน ที่ช่องทางการสั่งอาหารในรูปแบบนี้ยังไม่เป็นที่นิยม โดยปริมาณพลาสติกทั้งหมด ประกอบด้วย พลาสติกจากกล่องใส่อาหาร 1.2 ล้านตัน ตะเกียบ 175,000 ล้านตัน ถุงพลาสติก 164,000 ล้านตัน และช้อนพลาสติกอีก 44,000 ล้านตัน

สำหรับประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้มีพลาสติกเพียงแค่ 0.5 ล้านตันเท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน เป็นพลาสติกแบบ single-use เช่น ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก และกล่องโฟม ซึ่งเป็นผลมาจากการซื้ออาหารแบบ take away หรือ การสั่งอาหารออนไลน์

ถุงพลาสติกเพียง 1 ใบนั้นอาจจะต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 100 – 450 ปี และในปัจจุบันประเทศไทยผลิตขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตันต่อปี หมายความว่าเราจะต้องใช้เวลามากกว่า 1,000 ปีในการย่อยสลายขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นแค่ใน 1 ปี

Food delivery: ปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงวิกฤต COVID-19

จากสถานการณ์ปัจจุบันของการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่องค์กรอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นภาวการณ์ระบาดใหญ่ (pandemic)  ประเทศไทยจึงนำเอามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing มาดำเนินการ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ พื้นที่บริการหลายแห่งปิดการให้บริการ ทำให้ร้านอาหารหลายแห่งให้บริการได้แค่ในรูปแบบ take away ประกอบกับที่หลายหน่วยงานมีนโยบายในการทำงานที่บ้าน ยิ่งส่งผลให้การใช้บริการสั่งอาหารแบบเดลิเวอร์รี่เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

จากข้อมูลของกรมมลพิษ ได้ประเมินตัวเลขขยะจากการสั่งอาหารแบบเดลิเวอร์รี่ โดยเฉพาะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แน่นอนว่าในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้การอยู่บ้าน เป็นการลดโอกาสในการติดและแพร่กระจายเชื้อ การต้องออกไปตลาดหรือ supermarket เพื่อซื้อของสดมาประกอบอาหารเองก็เป็นเรื่องยาก รวมถึงในช่วงนี้ที่คนเมืองส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้านทุกวัน ส่งผลให้มีการนำวิถีชีวิตแบบออฟฟิศมาใช้ที่บ้าน บริการสั่งอาหารแบบออนไลน์จึงเป็นช่องทางหลักที่คนเมืองเลือกใช้บริการ ซึ่งขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นจากข้อจำกัดในการใช้ชีวิตดังกล่าว สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือมาตรการการใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ย่อยสลายง่าย และวิธีการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

ทิศทางการกำจัดพลาสติกของไทย

จากที่ได้กล่าวไปในข้าวต้นว่าขยะพลาสติก 1 ชิ้นอาจจะต้องใช้เวลาในการย่อยสลายถึง 450 ปี ถึงแม้ว่าจะมีวิธีในการกำจัดขยะพลาสติกในปัจจุบันจะมีหลากหลายวิธี แต่น่าเสียดายที่ขยะพลาสติกส่วนมากจะถูกกำจัดด้วยวิธีผังกลบ เนื่องจากขยะพลาสติกส่วนมากที่เกิดขึ้นเป็นพลาสติกแบบ single use และมีการปนเปื้อน ไม่คุ้มค่ากับการนำเข้ากระบวนการกลับมาใช้ใหม่ หรือแปรรูปเป็นพลังงานทางเลือกได้  

กรมควบคุมมลพิษได้ออกรายงาน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ที่มีเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติก ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายในปี 2570 โดยได้มีการศึกษาชนิดของพลาสติกที่นำกลับมาใช้ได้ และส่วนที่เป็นของเสียจะถูกกำจัดอย่างถูกวิธี ผ่านการจัดการพลาสติกด้วยการเผา

สิ่งที่น่าสนใจคือทิศทางในการจัดการพลาสติกนี้ จะสามารถรองรับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่มีการใช้บริการสั่งอาหารแบบเดลิเวอร์รี่มากขึ้น ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนจาก New normal เป็น normal ในสังคมเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือจะต้องมีการทบทวนมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบันมากขึ้น

บทความ “Trash from Home: เมื่อการอยู่บ้านผลิตขยะพลาสติกมากขึ้น” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เอกสารอ้างอิง

Raymond Zhong and Carolyn Zhang. (2019, May 28). Food Delivery Apps Are Drowning China in Plastic. From The New York Times: https://www.nytimes.com/2019/05/28/technology/china-food-delivery-trash.html

กรมควบคุมมลพิษ. (2563, Mar 5). Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573.

เรียบเรียงโดย มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์


Contributor