17/03/2020
Environment

คืน “คน” ให้เมือง

The Urbanis
 


มายาคติหนึ่งเกี่ยวกับเมืองในสังคมไทยคือการสร้างภาพให้เมืองเป็นคู่ตรงกันข้ามกับชนบท

เมืองเท่ากับความวุ่นวาย, อันตราย, เห็นแก่ตัว, เร่งรีบ, ผู้คนแปลกแยกต่อกัน, ป่าคอนกรีต, แห้งแล้ง ฯลฯ

ชนบทเท่ากับ ความร่มรื่นเขียวขจี ความอุดมสมบูรณ์ ท้องนาเขียวชอุ่ม ผู้คนใสซื่อ เป็นมิตร ไม่รีบร้อน ไม่แก่งแย่ง ฯลฯ

ด้วยมายาคตินี้ทำให้คนมองว่าเมืองคือพื้นที่ที่ทำลาย “ความดีงาม” ตามธรรมชาติของมนุษย์ เมืองทำให้คนดีๆ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เมืองทำให้ผู้หญิงดีๆ จากชนบท เสียผู้เสียคน

ถ้ามายาคตินี้ไม่ถูกทุบทิ้ง เมืองจะเท่ากับความเลวร้าย เป็นผู้ร้ายโดยกมลสันดาน และหากเราเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ในเมือง เพราะเราต้องทำงาน เพราะเราหลงแสงสีความสะดวกสบาย เพราะเราต้องสมถะ เราก็ต้องยอมขายวิญญาณของเราไปแล้วจำนนต่อความเลวร้ายของเมืองในทุกมิติ  เราต้องกลายเป็นคนเย็นชา ไม่รู้หนาว เราต้องกลายเป็นผีป่าคอนกรีตแล้งนำใจ และห่อหุ้มตัวเองด้วยสุนทรียศาสตร์จอมปลอมของเมือง เช่น การอยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา วันหยุดเดินห้าง และไม่อาจจินตนาการได้ว่า เราสามารถเรียกร้องความเป็นธรรมชาติใดๆ ถ้าเราเลือกอยู่ใน “เมือง”

แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมืองไม่ใช่คู่ตรงกันข้ามกับชนบทในแง่ของ “ศีลธรรม” และ “ธรรมชาติ”  สิ่งที่ทำให้เกิดความเป็น “เมือง” ขึ้นมาอาจหมายถึงทำเลแห่งการเป็นเมืองท่าค้าขาย  อาจเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจมาแต่เก่าก่อน บางเมืองกลายเป็น “เมือง” ขึ้นมาเพราะเกิดเส้นทางการคมนาคมใหม่ๆ เช่น ทางรถไฟ บางเมืองกลายเป็น “เมือง” ขึ้นมาเพราะมีมหาวิทยาลัย หรือมีศูนย์ราชการ  และอีกหลายเหตุผลที่ทำให้เมืองเมืองหนึ่งกลายเป็น “เมือง” ซึ่งในบรรดาทุกเหตุผลนั้น ไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้เมืองต้องกลายเป็นสถานที่ที่ขาดไร้ซึ่ง “น้ำใจ” หรือ “ธรรมชาติ” ตามมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมา

ใครๆก็รู้ว่าเมืองอย่างเบอร์ลินนั้นมี “ป่า” ใหญ่มากอยู่กลางเมือง. เมืองที่ฉันรู้จักดีอย่างเกียวโต ก็เป็นเมืองที่เขียวขจีตลอดเวลา ป่า ต้นไม้ ความเขียว การเดินทางด้วยเท้าและการปั่นจักรยานเป็นวิถีชีวิตประจำวันอันแสนปกติ ประเทศใกล้ๆ เราอย่างสิงคโปร์ก็เป็น “เมือง” ที่อุดมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ร่มรื่นไปทั้งเมือง

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการออกแบบ และ วางผังเมืองบนความเชื่อว่า “เมือง” ไม่จำเป็นต้องเป็น “ป่าคอนกรีต” ที่สำคัญ เราสามารถอยู่ในเมืองที่ตึกสูงเสียดฟ้าแสนทันสมัยใหม่ได้และมี “ป่า” ในเมืองไปพร้อมๆกันได้

การเดินหรือปั่นจักรยานใต้แนวต้นไม้ร่มรื่นเจือไปด้วยกลิ่นหอมดอกไม้อ่อนๆละมุนละไปไปตลอดทางไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในเมือง และยิ่งเป็นเมือง ยิ่งทำไดีดี เพราะแนวร่มรื่นของต้นไม้และกลิ่นดอกไม้อันลอยละล่องอยู่ในอากาศนั้นไม่ใช่เรื่อง “ธรรมชาติ” แต่เป็นสิ่งที่เนรมิตจากความสามารถของนักออกแบบเมือง กับ นักออกแบบภูมิทัศน์

กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่ทำให้เราได้เดิน และ ปั่นจักรยานใต้แนวร่มไม้พร้อมสูดกลิ่นดินกลิ่นหญ้าไปด้วยได้!

จะให้ฉันพูดอีกครั้งฉันก็ยืนยันเหมือนเดิมว่า กรุงเทพฯ เป็น “เมือง” จิ๋ว ที่เหมาะที่สุดสำหรับการออกแบบให้กลายเป็นเมืองสำหรับการเดินทางด้วยการ “เดิน” และ การเดินทางด้วยจักรยาน 

เมื่อพูดแบบนี้หลายคนก็เบ้ปากบอกว่า โอ๊ย ไม่ได้หรอก เมืองไทยร้อนจะตาย ถนนก็อันตราย ออกไปปั่นมีแต่ตายลูกเดียว นักปั่นระดับโลกเอาชีวิตมาทิ้งในเมืองไทยกี่คนแล้ว

นี่ก็เป็นอีกมายาคติหนึ่งว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศ เพราะเราคนไทยมักมีภาพ “เมืองนอก” เป็นสูตรสำเร็จตามที่เห็นในภาพยนตร์ ละคร หรือ ภาพของคนที่ไปเที่ยว “เมืองนอก” 

ขึ้นชื่อว่า “เมืองนอก” เมืองหนาว เมืองที่เจริญแล้ว ในจินตนาการของคนไทยมักเป็นภาพของฤดูใบไม้ผลิ หรือไม่ก็ใบไม้ร่วง เราจึงชอบคิดว่า เหตุที่คนญี่ปุ่น คนดัชท์ คนที่ไหนๆในเมืองที่ว่าเก๋ๆเขาปั่นจักรยานกันก็เพราะอากาศมันดีไง  เพราะอากาศมันเย็นไง  แต่ในความเป็นจริงคือทุกเมืองบนโลกใบนี้ต่างก็มีเวรกรรมกับละติจูดลองติจูดเป็นของตนเองด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เมืองหนาวสี่ฤดูที่ว่าสวยในฤดูหนาวก็หนาวแทบตาย ไหนจะหิมะ ไหนจะฝน ดูอย่างญี่ปุ่นที่หน้าร้อนก็ร้อนเกือบสี่สิบองศา หน้าหนาวก็ติดลบ แถมฝนยังตกอยู่ตาปีตาชา เป็นประเทศที่ไม่มีฤดูฝน เพราะฝนเป็นอะไรที่ตกเกือบทุกวัน ตกเป็นปกติ ดังนั้นถ้านับวันอากาศดี ที่มีไม่กี่วันในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ใบไม้ร่วง – นับกันจริง วันอากาศดีๆของเมืองไทยน่าจะมีมากกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ – ดังนั้นเวรกรรมของสภาพอากาศตามภูมิศาสตร์ ไม่ใช่ข้ออ้าง หรือเหตุผลว่า เราไม่ควรเป็นเมืองจักรยาน

ถนนกรุงเทพฯ (เมืองไทย) อันตราย?

สำหรับฉันการออกแบบเมืองให้คนเดินเท้าและปั่นจักรยานได้ไม่ได้หมายถึงการให้ผู้คนตะกายไปปั่นจักรยานหรือไม่เดินบนถนนใหญ่ ซุปเปอร์ไฮเวย์ หรือถนนสายหลักที่รถยนตร์วิ่งกัน ไม่ใช่การพาจักรยานคันน้อยๆของเราไปเป้นด่านหน้าอยู่ที่สี่แยกไฟแดงใหญ่บะละฮึ่มตีคู่ไปกับรถหกล้อ ขนขนปูนต่างๆ แต่หมายถึงการสร้างถนนเส้นเล็กๆเป็น “ทางเลือก”  เพื่อเราทุกคนจะไม่ต้องขึ้นไปอยู่บนถนนสายใหญ่โดยไม่จำเป็น เช่น ฉันซึ่งอยู่คอนโดฯ ที่ซอยวิภาวดี 48  แต่การไปโรงพยาบาลวิภาวดี ซึ่งอยู่วิภาวดีซอย 52 ของฉัน จะต้องใช้วิธีขับรถเข้าซอย 44 ตีอ้อมโค้งไปวงกลมไปทางถนนงามวงศ์วาน กลับมาบนวิภาวดีอีกรอบ!!!

ลองคิดดูว่าระยะทางแค่นี้ถ้าเราเดินหรือปั่นจักรยานได้ จะลดจำนวนคนที่จะต้องขึ้นไปวิ่งบนถนวิภาวดี และงามวงศ์วานได้อีกเท่าไหร่? จะช่วยประหยัดน้ำมันได้อีกเท่าไหร่? และอาจจะรวดเร็วกว่าด้วยในกรณีที่รถติด 

นี่คือสิ่งที่ฉันบอกว่าเพียงแต่เรามีการออกแบบ “ทางเลือก” ทางที่หมายความตามตัวอักษร เช่นสองข้างทางของถนนวิภาวดีคือคลอง เพียงแต่เราสามารถทำ “ทาง” เล็กๆ กว้างไม่เกิน 1  เมตร เลียบคลองไปตลอดเส้นทาง และทางลาดเข้าออกซอยต่างๆ จากนั้นสำรวจให้ซอยทุกซอยทะลุถึงกัน เพียงเท่านั้นก็จะเกิด “ทางเลือก” ให้คนที่จะเดินทางในระยะใกล้หันไปใช้ “ทางเลือก” มากขึ้น แทนที่จะถูกบังคับให้ขึ้นไปอยู่บนถนนเส้นใหญ่ตลอดเวา เช่น ถ้่ามีทางเดิน/จักรยานเลียบคลอง ฉันก็จะปั่นจักรยานจากคอนโดฯ ออกจากซอย แล้วเลี้ยวขวาปั่นตอบนทางเลียบคลอง เพียงเท่านั้นก็จะเดินทางไปโรงพยาบาลวิภาวดีได้โดยละม่อม

ทางเลียบคลองนี้มีต้นไม้ยาวตลอดแนวอยู่แล้ว เป็นไปได้ไหมที่เราจะตัดแต่งต้นไม้ให้เป็นอุโมงค์ต้นไม้บังแดด ลดความแรงของลมฝนแก่ผู้ที่สัญจรอยู่ข้างล่าง ไม่เพียงแต่เราจะมี “ทางเลือก” การเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เห็นความเป็นไปได้ของการสัญจรระยะใกล้ด้วยการเดิน หรือการปั่นจักรยานจะหมายถึงการมอบ “มุมมอง” ใหม่ให้กับผู้คนและเมืองที่พวกเขาอยู่อาศัย

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเรานั่งในรถยนตร์ รถไฟฟ้า อยู่บนถนนสายหลักอยู่บนถนนใหญ่ เราเห็นอะไรบ้าง? เราเห็นตึก เราเห็นต้นไม้จากที่ไกล  และเราไม่เห็นผู้คน 

เพียงเรามี “ทางเลือก” สำหรับการเดินทางระยะใกล้ การเดินทางในละแวกบ้านย่านถิ่นที่เราอยู่อาศัยผ่าน “หนทาง” เลียบคลองบ้าง ทางทะลุตรอกซอกซอยเล็กๆ ซึ่งฉันอยากเรียกมันว่าการเดินทาง “หลังบ้าน” และ “ข้างบ้าน” เลี่ยงถนนสายหลักไปเรื่อยๆ เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางของเรา สิ่งที่เราจะเห็นคือ บ้านเรือน ผู้คนในระยะประชิด เราจะเห็นแม้กระทั่งว่า แต่ละบ้านปลูกต้นไม้อะไรไว้ที่บ้านเขาบ้าง 

การเดินทำให้เราเห็นต้นกะเพรา ตำลึง พริกขี้หนู เห็นสวนกุหลาบหน้าบ้านใครสักคนที่ซอมซ่อ แต่ ว้าว ทำไมเขาปลูกกุหลาบได้สวยล่ะ

การเดินและการปั่นจักรยานทำให้ฉันได้สังเกตุเห็นว่า มีซุ้มวินมอเตอร์ไซคล์บางซุ้มที่ทำสวนหย่อมธรรมชาติให้ตัวเองได้อย่างอัศจรรย์ บางวินเลือกทำศาลาใต้ซุ่มการะเวก และมีบางป้อมยามของบางยาม แอบปลูกแตงโมง ดอกดาวกระจาย พริก โหระพา พร้อมมัจักรยานเก่าคร่ำคร่าพิงอยู่ที่สวนครัวนั้น – ดูมีเรื่องราวอย่างกับนักเขียนมาเขียนเรื่องไว้ให้

การได้เห็นผู้คน ต้นไม้ ขยะ ลำลอง บ้านเรือน ร้านค้าในระยะประชิด ระยะที่แวะได้หยุด จอด ทัก ถ่ายรูปได้ทันที คือเสน่ห์ของการเดินทางด้วยการเดินและจักรยาน และความสัมพันธ์ระยะประชิดจะถักทอความสัมพันธ์ของผู้คนกับเมืองแบบใหม่เป็นมโนทัศน์คนละแบบคนละชุดกับเมืองที่กักขังคนไว้ในรถยนตร์และไม่ยอมให้เราได้รู้จักกัน ไม่ยอมให้เราได้รู้จักเมือง

การเดินและการปั่นจักรยานจะบังคับให้เมืองต้องมีพื้นที่สีเขียว 

การเดินและการปั่นจักรยานจะทำให้ตรอกและซอยมีชีวิตชีวา และปลอดภัยขึ้นโดยอัตโนมัติ

การเดินและการปั่นจักรยานจะบังคับให้นักออกแบบภูมิทัศน์เมืองออกแบบเมืองตอบสนองต่อชาวเมืองที่พากันออกมาใช้ชีวิตบนถนนเล็กๆ ริมคูคลองมากขึ้น

การเดินและการปั่นจักรยานในเมืองจะคืนความเป็น “คน” ให้กับเมืองและกับเรา และมันต้องเป็นไปได้


Contributor