16/08/2023
Environment

มหานครและสรรพสัตว์ในเมือง

รุจิเรข ผูกพันธ์
 


คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การกลายเป็นเมืองและความเป็นเมืองสมัยใหม่ของเมืองต่างๆ ทั่วโลก มีส่วนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบและนิเวศวิทยาของพืชและสัตว์ที่เคยอยู่อาศัย หรืออาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมืองหรือการขยายตัวของเมือง (urban sprawl)

กรุงเทพฯ  ในอดีตเคยมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย เช่น โขลงช้างป่า แรด จระเข้ สมัน และมีนกขนาดใหญ่อย่าง กระเรียนพันธุ์ไทยและอีแร้ง และอีกมากมาย ก่อนที่เมืองจะมีการเติบโตลุกล้ำพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ทำให้สัตว์เหล่านี้ ลดจำนวนลง บ้างก็สูญพันธุ์ไป เหลือให้เราได้พบเห็นอยู่เพียงไม่กี่ชนิด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสัตว์ป่าจะหายไปจากพื้นที่เมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองยังคงเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายและซับซ้อน มีความวุ่นวายของกิจกรรมและผู้คน และในมุมหนึ่งก็ยังมีโลกของสรรพสัตว์ (ที่หลงเหลืออยู่) ที่มีบทบาทหลากหลาย ทั้งในเชิงของการเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศเมือง ตัวชี้วัดความสกปรกและการจัดการสุขาภิบาลเมือง รวมไปถึงการเป็นเพื่อนของมนุษย์เมืองที่โดดเดี่ยว

สรรพสัตว์ในเมืองกับบทบาทการเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศเมือง

จากตัวอย่างผลตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองของกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนพื้นที่ธรรมชาติของเมืองร้อยละ 19.7 ของพื้นที่ทั้งหมดของเมือง ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เมืองพบจำนวนชนิดพันธุ์นก 32 ชนิดพันธุ์ และสัดส่วนพื้นที่ธรรมชาติที่ได้รับการคุ้มครองอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของพื้นที่ทั้งหมดของเมือง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นตัวที่จะช่วยดึงดูดเหล่าสัตว์ในเมือง

ในเมืองใหญ่ที่มองไปทางไหนก็เจอแต่อาคาร บ้านเรือน สัตว์บางชนิดนั้นถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดว่าระบบนิเวศบริเวณนั้นมีความสมดุล หรืออุดมสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน อย่างแมลงชีปะขาวนั้นชอบอยู่ในบริเวณที่มีน้ำสะอาด พอถึงช่วงผสมพันธุ์จะบินออกมา เวลาเราขับรถไปบริเวณที่มีแหล่งน้ำสะอาดก็จะเจอชีปะขาวชนติดอยู่เต็มกระจกรถ แต่หากกระจกรถสะอาด แสดงให้เห็นว่าแหล่งน้ำบริเวณนั้นกำลังมีปัญหา เช่นเดียวกันประชากรแมลงปอ และผีเสื้อ

นอกจากนี้ หลายๆคนอาจจะไม่ค่อยรู้ว่า ในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ อย่างบางขุนเทียนนั้น ยังคงมีนากตามธรรมชาติอาศัยอยู่ ซึ่งนากเหล่านี้ เป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศที่ดี ในการสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่โดยรอบยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีคุณภาพน้ำที่ดี และมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

Free photo asian smallclawed otter in the nature habitat

ในทางกลับกัน นอกเหนือจากการเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศที่ดีแล้ว สรรพสัตว์บางชนิดยังเป็นตัวชี้วัดความสกปรกและการจัดการสุขาภิบาลเมือง รวมถึงยังสามารถเป็นพาหะนำโรคต่างๆ มาสู่คนได้หลายชนิดอีกด้วย เชื่อว่าหลายๆท่านน่าจะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับแมลงสาบ หรือหนูท่อ ที่แค่เดินอยู่ริมถนนเราก็สามารถทักทายกับสัตว์พวกนี้ได้แล้ว อย่างไรก็ตามการมีอยู่ของสัตว์ประเภทนี้ ไม่ได้เพียงสะท้อนแค่ปัญหาของเมือง เช่น ความสกปรก การจัดการขยะ หรือการจัดการน้ำเน่าเสียเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมความไม่มีระเบียบวินัยของคนเมือง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้พบเจอกับสัตว์เหล่านี้ในเมืองต่อไป

ความสัมพันธ์ของสัตว์และมนุษย์เมืองที่โดดเดี่ยว

หนึ่งในเทรนด์ที่เป็นกระแสมากๆในปัจจุบัน คือ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเทรนด์ที่เรียกว่า Pet Humanization หรือการที่เจ้าของไม่ได้มองสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงแค่สัตว์ แต่รักและดูแลเอาใจใส่เหมือนกับลูก โดยจากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยสำคัญหลากหลายปัจจัย ที่ทำให้ผู้คนหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว สัตว์ฟันแทะประเภทต่างๆ รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงประเภท exotic ทั้งจากที่คนเป็นโสดมากขึ้น จากค่านิยมความเป็นครอบครัวที่เปลี่ยนไป ที่คู่รักตัดสินใจไม่มีลูก จากแนวโน้มสังคมสูงวัย รวมไปถึงจากการกักตัวอยู่บ้านของผู้คน จากการระบาดของโรคโควิด – 19

ทั้งนี้ จากการศึกษา พบว่า การที่ผู้คนเติบโตมาแล้วไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ รอบตัวหรือพื้นที่ธรรมชาตินั้น ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพกาย และสุขภาพจิต การมีสัตว์เลี้ยงจึงเป็นหนึ่งในวิธีช่วยลดความรู้สึกวิตกกังวล เป็นเพื่อนยามเหงา ช่วยพัฒนาจิตใจ ช่วยลดภาวะซึมเศร้าและพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อสาร เนื่องจากการอยู่กับสิ่งมีชีวิตจะช่วยเพิ่มระดับออกซิโทซิน ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการผ่อนคลาย การศึกษายังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าเด็กที่โตมากับสัตว์เลี้ยงจะมีความเห็นอกเห็นใจและมีความสามารถในการโต้ตอบที่ดีกว่า

Free photo cat sitting on a bench

สุดท้ายนี้การสร้างเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อความสมดุลของมนุษย์และสัตว์ในเมือง เราสามารถสร้างพื้นที่ธรรมชาติในป่าคอนกรีตให้มากขึ้นผ่านพื้นที่ ถนน บ้าน โรงเรียน และที่ทำงานของเรา เช่น หลังคาสีเขียว ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่านกและแมลง ถ้าเรารวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน เราสามารถสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อสัตว์ ที่จะช่วยส่งเสริมระบบนิเวศเมืองที่หลากหลายต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

https://www.animalsaroundtheglobe.com/animals-in-cities/

https://kids.frontiersin.org/articles/10.3389/frym.2021.566272


Contributor