มหานครและสรรพสัตว์ในเมือง

16/08/2023

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การกลายเป็นเมืองและความเป็นเมืองสมัยใหม่ของเมืองต่างๆ ทั่วโลก มีส่วนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบและนิเวศวิทยาของพืชและสัตว์ที่เคยอยู่อาศัย หรืออาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมืองหรือการขยายตัวของเมือง (urban sprawl) กรุงเทพฯ  ในอดีตเคยมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย เช่น โขลงช้างป่า แรด จระเข้ สมัน และมีนกขนาดใหญ่อย่าง กระเรียนพันธุ์ไทยและอีแร้ง และอีกมากมาย ก่อนที่เมืองจะมีการเติบโตลุกล้ำพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ทำให้สัตว์เหล่านี้ ลดจำนวนลง บ้างก็สูญพันธุ์ไป เหลือให้เราได้พบเห็นอยู่เพียงไม่กี่ชนิด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสัตว์ป่าจะหายไปจากพื้นที่เมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองยังคงเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายและซับซ้อน มีความวุ่นวายของกิจกรรมและผู้คน และในมุมหนึ่งก็ยังมีโลกของสรรพสัตว์ (ที่หลงเหลืออยู่) ที่มีบทบาทหลากหลาย ทั้งในเชิงของการเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศเมือง ตัวชี้วัดความสกปรกและการจัดการสุขาภิบาลเมือง รวมไปถึงการเป็นเพื่อนของมนุษย์เมืองที่โดดเดี่ยว สรรพสัตว์ในเมืองกับบทบาทการเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศเมือง จากตัวอย่างผลตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองของกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนพื้นที่ธรรมชาติของเมืองร้อยละ 19.7 ของพื้นที่ทั้งหมดของเมือง ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เมืองพบจำนวนชนิดพันธุ์นก 32 ชนิดพันธุ์ และสัดส่วนพื้นที่ธรรมชาติที่ได้รับการคุ้มครองอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของพื้นที่ทั้งหมดของเมือง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นตัวที่จะช่วยดึงดูดเหล่าสัตว์ในเมือง ในเมืองใหญ่ที่มองไปทางไหนก็เจอแต่อาคาร บ้านเรือน สัตว์บางชนิดนั้นถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดว่าระบบนิเวศบริเวณนั้นมีความสมดุล หรืออุดมสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน อย่างแมลงชีปะขาวนั้นชอบอยู่ในบริเวณที่มีน้ำสะอาด พอถึงช่วงผสมพันธุ์จะบินออกมา เวลาเราขับรถไปบริเวณที่มีแหล่งน้ำสะอาดก็จะเจอชีปะขาวชนติดอยู่เต็มกระจกรถ แต่หากกระจกรถสะอาด แสดงให้เห็นว่าแหล่งน้ำบริเวณนั้นกำลังมีปัญหา เช่นเดียวกันประชากรแมลงปอ และผีเสื้อ […]