15/11/2019
Environment

Modern Syndrome คนป่วยในเมืองเปลี่ยน

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


เคยสังเกตตัวเองกันไหมว่า ปีๆ หนึ่ง เราป่วยบ่อยแค่ไหน?

ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ อย่างเป็นหวัดคัดจมูก แพ้ฝุ่นละออง บางคนมีปัญหาร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับบ่อยๆ เครียด วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ไปจนถึงมีอาการที่คนรุ่นนี้เป็นกันมากอย่างซึมเศร้า ไม่นับโรคที่ต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ทั้งโรคเบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

ใบวินิจฉัยของแพทย์คงลงสาเหตุว่าเพราะเราไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ หรือไม่ก็เครียดจากการงานที่รุมเร้า แต่หากวินิจฉัยให้ลึกลงไปอีกนิด ตัวการสำคัญที่ทำให้เราป่วยอาจอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เพราะเป็นสิ่งที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งวัน…เมืองของเราคือแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในทุกอณูอากาศที่เราหายใจ

หันมองรอบๆ กรุงเทพฯ เมืองอันเป็นที่รัก ปัญหาคลาสสิกอย่างการจราจรติดขัด น้ำท่วมขังรอการระบาย ทางเท้าที่แคบและเสี่ยงต่อการเดินตกท่อระบายน้ำ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์และฝุ่น PM 2.5 ที่ฟุ้งทุกฤดูหนาว คือสภาพของเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อสุขภาพของคน รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเมืองที่ไม่มีการจัดการที่ดีพอ ก็พร้อมจะทำให้เราเครียดและเกลียดเมืองนี้ขึ้นทุกวันๆ

เมื่อเมืองป่วยเช่นนี้ คนในเมืองก็ป่วยตาม

1

ประวัติศาสตร์ของการเกิดเมืองสมัยใหม่เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เมื่อการปฎิวัติอุตสาหกรรมผลักให้คนเข้ามาแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่ เกิดการกระจุกตัวของประชากร (Human Proximity) จนเมืองกลายเป็นสนามเด็กเล่นของเชื้อโรคไป

เราอาจยกภาพเมืองแห่งความป่วยไข้ สิ้นหวัง ได้จากภาพยนตร์เรื่อง Les Misérables (2012) ช่วงที่ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (1815 – 1832) ความอยุติธรรมไม่เพียงฉายผ่านอำนาจของคนบางกลุ่ม แต่เมืองเองก็ยังไม่มีพื้นที่พอให้กับคนทุกคนเมื่อฟอนทีน โสเภณีผู้ยากไร้ต้องมาป่วยตายเพราะการระบาดของวัณโรค หรือในนวนิยายเรื่อง Oliver Twist ของ ชาร์ล ดิคเก้น ก็เล่าถึงย่านสลัมกลางลอนดอนในช่วงศตวรรษที่ 19 ว่าเป็นเมืองที่ไม่สมประกอบยังไง ในช่วงนั้น อหิวาตกโรคระบาดหนักในลอนดอนถึง 4 ครั้ง จนเกิดการฟื้นฟูเมืองครั้งแรกของลอนดอน (London’s first social housing in Westminster Abbey) ทั้งออกกฎระเบียบควบคุมความสะอาด ทำระบบประปา ระบบระบายน้ำ

จะพูดว่า คนเมืองยุคใหม่เป็นหนี้ของโรคอหิวาต์ก็คงไม่ผิดนัก

การพัฒนาจากชนบทสู่สังคมเมืองไม่ได้ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อเท่านั้น

นอกจากโรคติดต่อ Ferdinand Tönnies นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันยังได้ศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันระหว่างคนในชนบท (Gemeinschaft) กับในเมืองใหญ่ (Gesellschaft) ไม่ว่าจะเรื่องของโครงสร้างเมืองที่ซับซ้อน ความรู้สึกเป็นปัจเจกของคนในเมือง ไม่มีสำนึกความเป็นกลุ่มก้อนมากเท่าชนบท พูดง่ายๆ ก็คือ แม้คนในเมืองใหญ่จะใกล้ชิดหนาแน่นระดับไหล่เบียดเสียในรถไฟฟ้า แต่ความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Meaningful Relationship) กลับแทบไม่มี

การช้อปปิ้งออนไลน์หรือสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นที่แค่จิ้มหน้าจอสมาร์ทโฟนก็มาส่งถึงประตูบ้าน ความสัมพันธ์ที่คุยผ่านหน้าจอแบบไม่ต้องได้ยินเสียง ไม่เจอหน้ากัน หรือแม้แต่ระบบ Internet of Things อัจฉริยะที่ข้าวของเครื่องใช้คล้ายจะมีชีวิตของมันเอง การพัฒนาของเมืองสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาข้องเกี่ยวเช่นนี้ไม่ได้ส่งผลให้คนขยับเขยื้อนร่างกายน้อยลงเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุของ Modern Symdrome โรคที่เกิดจากความศิวิไลซ์ของเมืองที่หลายคนเป็นโดยไม่รู้ตัว และน่ากลัวกว่าที่คิด

ความสะดวกสบายของโครงสร้างเมืองและการเดินทางภายในเมือง (Urban structure and Commuting) ทำให้คนเปลี่ยนจากการเดินหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ เปลี่ยนมาขับรถยนต์ส่วนตัวจากบ้านที่อยู่ชานเมืองสู่ใจกลางเมืองทุกวี่วัน เราติดอยู่บนถนนไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ชั่วโมง ไม่นับรวมที่ระบอบทุนนิยมบังคับให้เราตั้งหน้าตั้งตานั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ในห้องทำงานสี่เหลี่ยมบนตึกสูงตลอดวัน ในตึกออฟฟิศหรูชั้น 31 นั่งหน้าจอในห้องแอร์มากขึ้น คนในเมืองใหญ่ยังถูกสิ่งเร้ามากมายรอบตัวดึงดูด และไม่มีพื้นที่กว้างโล่งใหญ่พอให้ได้หยุดพักหายใจ

เมืองส่งผลให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไป และปฏิเสธไม่ได้ว่าเราป่วยง่ายขึ้นจากวิถีชีวิตสมัยใหม่เช่นนี้ เราอ้วนเพราะไม่มีเวลาออกกำลังกายและใส่ใจอาหารการกิน เราเครียดจากปัญหาการงานและโครงสร้างของเมืองที่ไม่สมประกอบ และเราเหงาบ่อยกว่าที่มนุษย์ยุคไหนเคยเผชิญมา

ถ้าอย่างนั้น เมืองที่ไม่ป่วยไข้จนคนในเมืองอ่อนแอตามไปด้วยควรเป็นยังไง?

2

ปัจจุบัน เมืองต่างๆ ทั่วโลกต่างเดินหน้าสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการทำให้คนในเมือง ‘เดินได้’ และ ‘เดินดี’ (Walkable City) และทำให้เมืองกระชับ (Compact City) โดยลดความสำคัญของรถยนต์ และสนับสนุนให้คนเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยการเดินเท้า ร่วมกับการใช้บริการขนส่งสาธารณะ

เป้าหมายนี้ไม่เพียงตอบโจทย์การพัฒนาเมืองในเชิงเศรษฐกิจ สังคม เท่านั้น แต่เมืองที่เราสามารถเดินไปโรงเรียน ไปทำงาน ซื้อของจากร้านค้าใกล้บ้านได้ในระยะทางที่ไม่เหนื่อย มีทางเท้าที่กว้าง ต้นไม้ร่มรื่น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้ถึง 10% เพราะแค่เดิน ก็เท่ากับการออกกำลังกายและเผาผลาญแคลอรี่ไปแล้ว ยังไม่รวมโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากมลภาวะ ฝุ่นควันรถยนต์ ที่หากส่งเสริมให้คนลดการขับรถยนต์ส่วนตัวได้ เราอาจหายใจได้สะดวกคอขึ้นไม่น้อย

แต่ใช่ว่าเมืองที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีจะเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันสั้น เมืองอย่างโคเปนเฮเกนต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปีจากการเปลี่ยนเมืองที่มีวิกฤตจราจรและมลพิษทางอากาศมาสู่เมืองน่าอยู่อันดับต้นๆ ของโลก ด้วยการลงทุนพัฒนาทางเท้า ทางจักรยานในพื้นที่เมืองชั้นใน และยกเลิกการใช้รถยนต์ในเขตเศรษฐกิจใจกลางเมือง

เมื่อบ้านและที่ทำงานอยู่ไม่ไกลกัน ย่านที่ผู้คนอาศัยอยู่มีร้านรวง สวนสาธารณะ ในระยะที่เดินถึงกันได้ไม่เหนื่อยหนัก มีระบบขนส่งสาธารณะและระบบฟีดเดอร์ที่มีคุณภาพ ราคาถูก คนก็ไม่ต้องใช้รถยนต์อีกต่อไป (Non-mororized Transportation) สิ่งนี้จะแก้ปัญหาได้ทั้งเรื่องของปัญหารถติดที่คาราคาซังในกรุงเทพฯ รวมถึงปัญหาฝุ่นควันมลพิษที่ติดค้างในอากาศมานาน

3

วันนี้หากเราเดินในกรุงเทพฯ เราคงรู้ดีว่ามันยังคงติดขัด พบปัญหาสารพัด และอาจต้องระมัดระวังตัวเองอย่างสูงเพื่อไม่ให้เดินตกท่อระบายน้ำหรือชนเข้ากับสิ่งกีดขวางกลางฟุตบาท

แต่เราอาจเข้าใจความหมายของคำว่าเมืองที่มีชีวิตชีวา

และรู้ว่าเราจะยอมให้เมืองที่เป็นบ้านของเราป่วยอย่างนี้ไม่ได้อีกต่อไป!

โดย ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล


Contributor