15/01/2021
Economy

ช็องเซลีเซ vs รัตนโกสินทร์ เมื่อทิศทางการพัฒนาถนนสำคัญของเมือง มุ่งสู่การ “เดินได้ เดินดี เดินร่ม เดินเย็น” และ หวังให้คนรักเมืองมากขึ้น

ชยากรณ์ กำโชค
 


หลังเข้าศักราชใหม่ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ แอนน์ ฮิดาลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีส เจ้าของนโยบาย “ปารีส 15 นาที” ที่ทำให้ผู้สนใจด้านเมืองพูดถึงกันทั่วโลกเมื่อปี 2020 ว่าจะออกแบบเมืองโดยให้ชาวปารีเซียงสามารถเดินและปั่นจักรยาน ไปยังจุดหมายการเดินทางสำคัญในชีวิตประจำวันโดยใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที 

ล่าสุด นางฮิดาลโก ได้ประกาศเมกะโปรเจกต์ Champs-élysées Revamp โดยทุ่มงบประมาณกว่ 305 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 9,000 ล้านบาท ออกแบบถนนซ็องเซลีเซระยะทางประมาณ 2.3 กิโลเมตร ที่ได้ชื่อว่าเป็นถนนที่มีชื่อเสียงและสวยที่สุดในโลกเส้นหนึ่ง ให้กลายเป็นสวนและพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่พิเศษกลางกรุงปารีส โดยมีเป้าหมายลดขนาดพื้นผิวจราจรของรถยนต์ เพิ่มขนาดทางเดินเท้า-เส้นทางจักรยาน และเพิ่มต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียว ไม่เพียงต้องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเมือง หากเป้าหมายของโปรเจ็กต์ยังหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง ผ่านร้านค้าขนาดเล็กที่จะเพิ่มขึ้นตลอดแนวถนน

Rendering courtesy PCA-Stream

Feargus O’Sullivan นักเขียนประจำ Bloomberg Citylab เขียนว่า แม้ถนนช็องเซลีเซจะมีชื่อเสียงระดับโลก แต่สำหรับชาวเมืองปารีสเอง ถนนสายสำคัญเส้นนี้กลับไม่เป็นที่รักของคนเมืองเท่าไหร่นัก เนื่องจากขนาดที่ใหญ่ มีสภาพการจราจรติดขัด ก่อมลพิษมหาศาล และมีราคาเช่าสูง ผลสำรวจเมื่อปี 2019 พบว่า ชาวเมืองปารีสกว่า 30% ไม่เห็นด้วยกับสมญานามที่ว่า ช็องเซลีเซคือถนนที่สวยที่สุดในโลก และพบว่า ช็องเซลีเซเป็นย่านแห่งการท่องเที่ยวกับช็อปปิ้งมากกว่าใช้ชีวิตจริงๆ ดังนั้น โจทย์ของการปรับปรุงถนนเส้นนี้คือการออกแบบที่ดึงดูดให้ผู้อาศัยจริงๆ หันมาใช้ชีวิตประจำวันให้มากขึ้นในย่านช็องเซลีเซ เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ใช้ชีวิตสาธารณะ หรือแม้กระทั่งอุดหนุนร้านค้าของผู้ประกอบการเล็กๆ ในเมืองปารีส 

Rendering courtesy PCA-Stream

หากพูดถึง “ถนนช็องเซลีเซ” เชื่อว่าคนไทยหลายคนคิดถึง “ถนนราชดำเนิน” ด้วยเป็นถนนสายสำคัญของเมือง ที่มีสภาพทางกายภาพงดงามเป็นที่เชิดหน้าชูตา บรรจุเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองและประเทศ และเป็นโลเคชัญจัดกิจกรรมสำคัญระดับชาติ เรียกได้ว่าไม่เพียงเป็นพื้นผิวจราจร แต่เป็นแลนด์มาร์กอีกด้วย

ชวนให้คิดถึงเมกะโปรเจกต์ของกรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นบนย่านสำคัญด้านการท่องเที่ยวเช่นกันอย่าง “ย่านรัตนโกสินทร์” คุณไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. ประกาศเดินหน้าโครงการทางเท้ารัตนโกสินทร์เมื่อปลายปี 2020 โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 517 ล้านบาทปรับปรุงถนน 30 เส้น โดยจำเริ่มนำร่องก่อน 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 2.7 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับถนนข้าวสารที่ได้รับการปรับปรุงก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมร ถนนจักรพงศ์ และถนนราชินี ทั้งนี้ มีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และปรับปรุงให้ถนนเป็นมิตรกับคนใช้งานมากยิ่งขึ้นด้วยหลักการ Uiversal Design โดยคำนึงถึงการใช้งานของคนพิการ-คนสูงอายุ พร้อมเพิ่มปริมาณต้นไม้ภายใต้ข้อจำกัดด้านขนาดทางเท้า และนำสาธารณูปการลงใต้ดิน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และหัวหน้าโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) ในฐานะหัวหน้าทีมออกแบบโครงการ กล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างส่งเสริมการเดินเท้าแม้เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องที่ดำเนินการยากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากมีหน่วยงานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางเท้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในเชิงเทคนิควิศวกรรม แผน และงบประมาณ โดยมีสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นร่มใหญ่ของโครงการ  ด้าน UddC-CEUS ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.  จับมือกับภาคีสถาปนิกและนักออกแบบ  ประกอบด้วย ATOM DESIGN, Landscape Collaboration และ OPEN BOX ดำเนินการด้านการออกแบบกายภาพ และประสานภาคีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้โครงการเป็นไปตามเป้าหมายของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้ใช้งานทุกคน

“แผนการปรับปรุงทางเท้าเกาะรัตนโกสินทร์โดยสำนักการโยธา  ให้ผู้ใช้งานสามารถเดินสะดวก เดินปลอดภัย และน่าเดิน สอดคล้องกับหลักการ Universal Design ถือเป็นหนึ่งในข่าวดีที่สุดสำหรับคนเมืองในปีนี้ การเดินสำรวจเส้นทางนำร่องเกาะรัตนโกสินทร์ร่วมกับตัวแทนผู้พิการ ได้รับข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อทีมออกแบบหลายหน่วย ซึ่งได้ประสานความร่วมมือระหว่างภาคีสถาปนิกและนักออกแบบหลายหน่วยงาน ที่ตั้งใจเดินหน้าโครงการนี้เพื่อประโยชน์ของเมืองและสาธารณะ” ผู้อำนวยการ UddC-CEUS กล่าว

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ภาคีสถาปนิกและนักออกแบบ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เกาะรัตนโกสินทร์ นำตัวแทนกลุ่มผู้มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว ทดลองใช้ทางเดินเท้าและสาธารณูปการบริเวณพื้นที่นำร่อง 4 เส้นทาง ได้ข้อเสนอจาก คุณศุภวัฒน์ เสมอภาค เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการต่างประเทศ องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (DAIAP) ว่าตนเองได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อการปรับปรุงทางเท้าบ่อยครั้ง แต่การทำงานด้านปรับปรุงทางเท้าก่อนหน้านี้ มีลักษณะต่างคนต่างทำโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะส่วน ผลจากการปรับปรุงจึงยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ดังนั้น โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งมีสำนักการโยธา กทม. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก พร้อมบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการเริ่มต้นโครงการ พร้อมกันนี้การได้สำรวจพื้นที่พร้อมผู้บริหารและทีมนักออกแบบ ทำให้ตัวแทนผู้พิการได้สะท้อนข้อเสนอแนะได้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้แนวทางการออกแบบสอดคล้องกับความต้องการมากที่สุด

ที่มาข้อมูล 

A Green Transformation for the ‘World’s Most Beautiful Avenue’

เนรมิตทางเท้าเกาะรัตนโกสินทร์ โฉมใหม่ปี’64นำร่อง4เส้นทาง


Contributor