13/08/2020
Environment

There is no planet B : สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นแค่ตอนนี้หรือตลอดไป?

ภสรัณญา จิตต์สว่างดี
 


เต่ามะเฟืองขึ้นที่ขึ้นมาวางไข่ที่ภูเก็ตและพังงา

คุณภาพที่อากาศที่ดีขึ้น

การปล่อยก๊าซพิษที่ลดลงของโรงงานอุตสาหกรรม…

สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้เราคิดว่า การอุบัติของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดรุนแรงทั่วโลกนั้น มีส่วน ‘สร้างประโยชน์’ ให้กับสิ่งแวดล้อม

จริงหรือ…?

ย้อนกลับไปช่วงก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ อาจเพราะเราเริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมชัดเจนขึ้น ทั้งไฟป่า, น้ำท่วม, แผ่นดินไหว, น้ำแข็งละลาย, อากาศเป็นพิษ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวโลกเริ่มตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

อย่างประเทศไทยเองก็ ‘พยายาม’ ขับเคลื่อนด้วยการออกนโยบายไม่แจกถุงพลาสติกทั่วประเทศเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยติด 1 ใน 5 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยกว่ามีขยะพลาสติกในทะเลกว่า 8 ล้านตัน ในช่วงหลังๆ เราจะเห็นหลายคนเริ่มพกขวดน้ำ แก้ว หลอด กล่องข้าว ถุงผ้าไปไหนมาไหน เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ที่มักมาในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่ม แต่ไม่ทันไรเมื่อโควิด-19 แทรกแซงเข้ามาในสังคมโลก ผู้คนจึงต้องเบนเข็มไปโฟกัสที่เรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพก่อนเป็นอันดับแรก

ขยะที่มาพร้อมกับการล็อกดาวน์

การล็อกดาวน์ของหลายเมืองใหญ่ในโลกทำให้การใช้ชีวิตที่เคยปกติของมนุษย์หยุดชะงัก โรงเรียนปิด การทำงานส่วนใหญ่เปลี่ยนไปเป็น Work From Home ห้ามทานอาหารที่ร้านอาหาร งดกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เพื่อป้องกันโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อ รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

เมื่อทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่แค่ในบ้าน ทำงานในบ้าน พักผ่อนในบ้าน ทานอาหารในบ้าน สิ่งที่มารองรับพฤติกรรมปกติใหม่นี้คือ บริการขนส่งสินค้าและอาหารต่างๆ เช่น การซื้อของอุปโภคบริโภคออนไลน์ จริงอยู่ที่ว่าเรายังสามารถออกไปซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดได้ แต่หลายคนก็ไม่อยากเสี่ยงออกไปข้างนอก เห็นได้ชัดเจนตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทย ที่เติบโตขึ้นถึง 33% ภายในเวลาไม่กี่เดือนของปี 2020 ที่โควิด-19 เริ่มระบาด

ซึ่งผลกระทบที่ตามมาจากบริการขนส่งสินค้าและอาหารก็คือ ‘ขยะ’ มหาศาลจากบรรจุภัณฑ์นั่นเอง

ยกตัวอย่าง การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่หรือ take home หนึ่งครั้ง สิ่งที่เราจะได้รับอย่างน้อยที่สุดคือ อาหารที่มาในกล่องพลาสติกพร้อมฝา ช้อนและส้อมพลาสติก ที่หุ้มด้วยซองพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับบรรจุอาหาร ในหนึ่งมื้อมีขยะขั้นต่ำ 6 ชิ้น (ซึ่งอาจมีทั้งที่นำมาใช้ใหม่ได้และไม่ได้) นี่เป็นเหตุให้ในช่วงเดือนเมษายน ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 62%!

เฉลี่ยแล้วในเดือนเมษายน มีขยะพลาสติกจำนวนกว่า 3,432 ตันต่อวัน!

ซึ่งในจำนวนนั้นคิดเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร เช่น แก้วพลาสติก ขวดพลาสติก ถุงพลาสติกที่มาจากฟู้ดเดลิเวอรี่กว่า 80% ที่เราเองต่างก็รู้กันดีว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่ใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย เมื่อมีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเพราะสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ คำถามคือ หลังจากโควิด-19 จากไป เราจะจัดการกับขยะกองสูงเป็นภูเขาเหล่านี้อย่างไร?

ถึงแม้ว่าในจำนวนขยะเหล่านี้จะมีการนำมาใช้ใหม่ (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle) บ้าง แต่ข้อมูลจาก World Economic Forum แสดงให้เห็นถึงอัตราการรีไซเคิลพลาสติกในทวีปยุโรปอยู่ที่ประมาณ 30% และในสหรัฐอเมริกามีการรีไซเคิลเพียง 9% ไม่ต้องพูดถึงประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเราๆ เพราะเปอร์เซ็นต์ของการรีไซเคิลพลาสติกนั้นน้อยจนแทบจะเป็นศูนย์เลยทีเดียว จากรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2560 พบว่าในปริมาณขยะกว่า 11 ล้านตัน เข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างถูกวิธี 6.8 ล้านตัน และถูกนำไปใช้ประโยชน์อีกราว 3 ล้านตัน ขณะที่ยังมีขยะอีกกว่า 1.5 ล้านตันกำจัดไม่ถูกต้อง

สดชื่นแค่ระยะสั้น 

นอกจากปัญหาขยะที่มากขึ้นมหาศาล อีกหนึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดูเหมือนจะมีทิศทางที่ดีในช่วงล็อกดาวน์และหลอกให้เราดีใจ นั่นคือ “มลพิษทางอากาศ”

มีรายงานมากมายที่เปรียบเทียบให้เห็นว่าคุณภาพอากาศเหนือเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองในโลกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Emissions) มากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน แต่ในช่วงต้นปี 2020 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศจีนลดลงถึง 25%

นอกจากนี้มีข้อมูลจาก Carbon Brief ว่า ปกติแล้วในวันหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีน (ช่วงประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) ประเทศจีนจะมีอัตราการปล่อยมลพิษลดลง และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนสูงตามเดิมหลังจากหมดช่วงวันหยุดนั้น แต่เมื่อเปรียบเทียบต้นปี 2020 กับปีก่อนๆ พบว่า ต้นปี 2020 ที่มีการระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้ประเทศจีนต้องล็อกดาวน์เมืองเป็นเวลานาน ส่งผลให้การปล่อยมลพิษช่วงต้นปีต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านอย่างชัดเจน สอดคล้องกับรายงานจากศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (Center for Research on Energy and Clean Air : CREA) ของประเทศฟินแลนด์ที่ว่า ช่วงต้นปี 2020 จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 6% ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และกำลังการผลิตรายวันของโรงไฟฟ้าถ่านหินในจีนลดลงต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และการผลิตโลหะลดลงแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี

เช่นเดียวกับสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส ที่มีภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นถึงค่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เมืองเพราะการระบาดของโควิด-19 รวมถึงมหานครนิวยอร์กที่การปล่อยมลพิษลดลงถึง 50%

ค่าความเข้มข้น Nitrogen Dioxide ในชั้นบรรยากาศเหนืออิตาลีในปี 2019 และปี 2020 – ที่มา ESA

ต่อเนื่องไปในระดับโลก เมื่อหลายประเทศเริ่มปิดพรมแดนและสนามบิน การเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งเป็นวิธีเดินทางที่เรียกได้ว่าสร้างมลพิษทางอากาศมากที่สุดจึงต้องหยุดชะงักไป กว่า 64 สายการบินทั่วโลกหยุดให้บริการชั่วคราว และเที่ยวบินระหว่างประเทศจำนวนมากถูกยกเลิก เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้ามารวมถึงแพร่กระจายออกไป ผู้คนหยุดเดินทางและท่องเที่ยว เมื่อเที่ยวบินน้อยลง แน่นอนว่าการปล่อยมลพิษจากการบินก็จะลดลงไปตามๆ กัน 

เมื่อมองกลับมาที่กรุงเทพ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่อยู่รบกวนชาวเมืองกันมาแสนนาน ตั้งแต่ช่วงปี 2018 ลากยาวมาจนถึงปลายปี 2019 สาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM2.5 คือการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากรถยนต์ และฝุ่นละอองจากการก่อสร้างบางส่วน ทำให้กรุงเทพก็เป็นเมืองจมฝุ่นไม่แพ้เมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก จากรายงานประจำปี 2019 ของ IQAir กรุงเทพอยู่ในอันดับที่ 33 ของเมืองที่ประสบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 มากที่สุดในโลก ซึ่งในช่วงต้นปี 2020 ฝุ่นเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะเริ่มห่างหายเมื่อมีโควิด-19 แทรกเข้ามา เมื่อลองเปิดดูแอปพลิเคชันเช็คสภาพอากาศอย่าง AirVisual ช่วงนี้ก็จะเห็นสีเขียวเต็มพื้นที่กรุงเทพ แสดงให้เห็นถึงคุณภาพอากาศที่บริสุทธิ์กว่าที่เคยเป็น

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า มลพิษในอากาศลดลงไปจริงๆ ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดีในด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะตัวเลขการปล่อยมลพิษที่ลดลง รวมถึงคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นในช่วงนี้ เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ เป็นผลจากการที่คนไม่ออกไปทำงาน ไม่เดินทาง ไม่ขับรถ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกปิดชั่วคราว มาพร้อมกับเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ภาวะผู้คนตกงาน การปิดตัวของธุรกิจต่างๆ ซึ่งทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงอีกข้อที่ว่า เราไม่สามารถอาศัยในเมืองที่ถูกแช่แข็งแบบนี้ไปได้ตลอด มนุษย์ยังต้องใช้ชีวิต เรายังต้องกิน เรายังต้องใช้ นั่นเท่ากับว่ายังต้องมีคนผู้ผลิต ต้องมีแรงงาน เรายังต้องทำงานและเศรษฐกิจยังต้องขับเคลื่อน

นำไปสู่คำถามต่อมาคือ หากสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ ทุกคนออกจากบ้านไปทำงานเหมือนเดิม สภาพอากาศหรือสิ่งแวดล้อมจะยังดีอยู่ไหม?

หากมองจากสถานการณ์ปัจจุบัน แนวโน้มความเป็นไปได้ในอนาคต ก็มีโอกาสที่เราจะขับรถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น เพราะว่าเรากลัวเชื้อโรคที่อาจมากับขนส่งสาธารณะ เราจะใช้ทรัพยากรกันมากขึ้น มีการผลิตมากขึ้น (ตัวอย่างเช่น การผลิตหน้ากากอนามัย) เพราะต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัย และนั่นก็จะทำให้ปัญหาขยะและมลภาวะทางอากาศกลับไปสู่จุดเดิมที่เราเคยเผชิญกันมาทั้งชีวิต เพราะการระบาดของโควิด-19 แค่มาทำให้ทุกอย่างที่เคยดำเนินไปหยุดลง เมื่อการใช้ชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหยุดไป สภาพมลภาวะเลยหยุดตาม แต่โควิดไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนไปตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากร ไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด และไม่ได้ทำให้เราท่องเที่ยวเชิงยั่งยืน

ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ‘ตอนนี้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างไร’ แต่อยู่ที่ว่า ‘ต่อจากนี้’ เราจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรต่างหาก เมื่อเราเห็นชัดแล้วว่า การใช้ชีวิตแบบปกติเดิมของเรารบกวนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากแค่ไหน เมื่อต้องมีความปกติใหม่เข้ามาแทนที่ เราจะสามารถออกแบบการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ Sustainable ขึ้นกว่าเดิมได้หรือเปล่า

อ้างอิง
 Analysis: Coronavirus temporarily reduced China’s CO2 emissions by a quarter โดย Lauri Myllyvirta, Carbon Brief, 19 February 2020
– Has coronavirus helped the environment? โดย Martha Henriques, BBC, 23 April 2020
– 
Will Covid-19 have a lasting impact on the environment? โดย Martha Henriques, BBC, 27 March 2020 
– 
Plastic piles up in Thailand as pandemic efforts sideline pollution fight โดย Patpicha Tanakasempipat, Reuters, 11 May 2020
– 
World’s most polluted cities 2019 (PM2.5), IQ Air
– 
Will China’s crackdown on ‘foreign garbage’ force wealthy countries to recycle more of their own waste? โดย Kate O’Neill, World Economics Forum, 14 December 2017
– 
ประเทศไทย 2563: สถานการณ์ขยะในไทย, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 25 มกราคม 2020


Contributor