12/11/2019
Environment

Bangkok Green Bridge สีเขียวเชื่อมย่าน สะพานเชื่อมเมือง

ธนพร โอวาทวรวรัญญู ปรีชญา นวราช
 


ปรีชญา นวราช / ธนพร โอวาทวรวรัญญู / ประภวิษณุ์ อินทร์ตุ่น / Noe Leblon 

ป่าสีเขียวในรั้วเหล็ก

ถ้าพูดถึงพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ  ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของเมืองชั้นใน คงไม่มีใครไม่นึกถึง “สวนลุมพินี”  สวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศขนาด 360 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางย่านศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District-CBD) ของเขตปทุมวัน รอบล้อมด้วยถนนสายสำคัญ ได้แก่ ถนนพระรามที่ 4 ถนนราชดำริ ถนนวิทยุ และถนนสารสิน สวนลุมพินีเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนเมืองใช้งานอย่างคึกคัก ทั้งเพื่อดูแลสุขภาพหลังเลิกงาน เป็นสถานที่ฝึกซ้อมวิ่งมาราธอน เป็นบึงใหญ่สำหรับถีบเรือเป็ด ไปจนถึงเป็นลานรำไทเก๊กและเต้นลีลาศของอดีตวัยโจ๋ยุค 60-70  ฯลฯ

คงไม่ผิดถ้าจะให้สวนลุมพินีมีฐานะเป็น “พื้นที่ทางสังคม” อีกหนึ่งตำแหน่ง

ถัดจากสวนลุมพินีในระยะไม่เกิน 1.5 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกหรือไปทางย่านคลองเตย จะพบสวนสาธารณะขนาดใหญ่อีกแห่ง นั่นคือ “สวนเบญจกิติ” สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ติดกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขนาบข้างหนึ่งด้วยถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย แม้มีขนาดย่อมกว่าสวนลุมพินีเกือบ 3 เท่า หรือประมาณ 130 ไร่ หากถูกใช้งานในฐานะพื้นที่เสริมสร้างสุขภาวะไม่แตกต่างกัน 

เนื้อความข้างต้นก็ฟังดูสวยหรูชวนฝัน ไม่มีแง่มุมที่ส่อให้เห็นถึงปัญหาใดๆ คล้ายเป็นชีวิตในฝันของคนเมืองที่รายละเอียดด้วยสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง จึงต้องขออภัยผู้อ่านบทความ ณ ที่นี่ หากคำถามชวนคิดข้อต่อไปจะทำให้ความฝันของคุณดับลง

เราเดินทางไปสวนสาธารณะกันอย่างไร 

จากการสำรวจบุคลิกลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย หรือ Persona ในกลุ่มตัวอย่าง เพื่อนำรูปแบบของการใช้ชีวิตของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว มาอนุมานกลุ่มคนส่วนใหญ่ พบว่า คนกรุงเทพฯ มักขับรถยนต์ส่วนตัวหรือโดยสารพาหนะอย่างใดอย่างหนึ่งไปจอดไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แล้วต่อขนส่งระบบรางหรือนั่งวินมอเตอร์ไซค์ (พาหนะคู่ทุกข์คู่ยาก) ไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ

คำถามต่อมาจึงเกิดขึ้น

หากวัตถุประสงค์หลักของการเดินทางคือเพื่อไปออกกำลังกาย ณ สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง เหตุใดเราไม่เริ่มการออกกำลังกายของเราตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้านหรือที่ทำงานเลยล่ะ? 

ปัญหาของเรื่องนี้คืออะไร ทำไมเราถึงทำเช่นนั้นไม่ได้ มันคือทางเลือกที่เป็นอุดมคติเกินไป หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองแล้ว จะสามารถทำให้การทำเช่นนี้เป็นจริงขึ้นมาได้? 

โครงสร้างพื้นฐานของเมืองหรือที่เรารู้จักกันในบทบาทของถนนหนทาง เอื้ออำนวยต่อการเดินทางไปสวนสาธารณะหรือไม่? 

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสร้างโครงข่ายการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวชิ้นต่างๆ ในกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นโครงข่ายสีเขียว (Green Infrastructure) ที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงภายในรั้วเหล็กของสวนสาธารณะ?

ของขวัญจาก กทม. และ สัญญาณที่ดีของคนกรุงฯ

หลายคนอาจไม่เคยทราบว่า ระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ มีโครงการเส้นทางจักรยานลอยฟ้าเชื่อมต่ออยู่แล้ว เป็นสะพานสีเขียวเชื่อมต่อจากประตูสวนลุมพินี ทางออก สน.ลุมพินี และไปสิ้นสุดบริเวณด้านหลังโรงงานยาสูบ ตลอดเส้นทางของ “สะพานเขียว” ตัดตรงผ่านพื้นที่ที่มีความซับซ้อนในเชิงมิติทางเศรษฐกิจและสังคม 

จากบริเวณใจกลางแหล่งสำนักงานและพาณิชยกรรมที่เต็มไปด้วยกลุ่มนักธุรกิจและคนทำงาน เข้าสู่ย่านที่อยู่อาศัยหลากหลายระดับตั้งแต่บริเวณซอยร่วมฤดี สู่ย่านชุมชนร่วมฤดี หลังโบสถ์มหาไถ่ ในละแวกใกล้เคียงกับมัสยิดอินโดนีเซีย ตัดผ่านข้ามทางด่วนเฉลิมมหานครแล้วเริ่มเข้าสู่บรรยากาศแห่งความสงบของธรรมชาติอีกครั้งบริเวณด้านหลังของโรงงานยาสูบ

 “สะพานเขียว” ได้อำนวยความสะดวกและทำหน้าที่เชื่อมเส้นทางเดินและจักรยานผ่านหลังคาบ้านเรือนนับร้อย ผ่านคลองสำคัญ ศาสนสถานรวมถึงชุมชนที่มีคุณค่าเก่าแก่มากมาย โดยมีลักษณะเป็นทางเชื่อมยกระดับคอนกรีตร้อนที่มีการใช้งานอยากพลุกพล่านเพียงช่วงเวลาเช้าตรู่และยามเย็น แต่แทบไร้การใช้งานในช่วงกลางวัน เนื่องจากความร้อนระอุของเมือง ไร้ซึ่งร่มเงาหรือโครงสร้างกันแดดกันฝน แถมยังเป็นเส้นทางเสี่ยงอันตราย เนื่องจากแสงไฟที่ริบหรี่และมีทางเข้าออกเพียง 6 จุด ในระยะห่างกัน จึงยากต่อการหลีกภัย เส้นทางแห่งนี้จึงสามารถพลิกตัวเป็นกับดักโจรได้โดยง่าย!  

ความหลากหลายของคนเมืองบนเส้นทางสาธารณะ

แน่นอนว่าเมืองเป็นพื้นที่ที่รวมความหลากหลายของผู้คนเอาไว้ กรุงเทพมหานครก็เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมืองชั้นในและย่านธุรกิจของเมือง ที่มักจะเป็นแหล่งที่มีการกระจุกตัวของความหลากหลายสูง ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงในเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม พื้นที่สาธารณะของเมืองก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดให้กลุ่มคนที่หลากหลายสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตคนเมือง 

แม้เป็นเส้นทางสาธารณะที่ได้รับความนิยมจากคนเมืองหลากหลายกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย หมุนเวียนใช้งานอยู่เสมอ  และถูกใช้งานผสมผสานหลากหลายรูปแบบอย่างลงตัว เช่น เป็นเส้นทางเดินลัดของนักธุรกิจและผู้ใช้แรงงานจากที่พักอาศัยไปที่ทำงาน หรือเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ของเด็กๆ ในชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวลึกลับของนักท่องเที่ยว  แต่ยังมีเสียงสะท้อนว่า เส้นทางแห่งนี้ยังไม่ปลอดภัย สะดวกสบาย และมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร

เส้นแบ่งความเป็นสาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคลที่เลือนลาง

อย่างที่บอกว่า ทางเดินลอยฟ้าแห่งนี้พาดผ่านชุมชนนับร้อยหลังคาเรือน ในลักษณะที่แนบสนิทกัน ผู้สัญจรสามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนบุคคลของชุมชนได้ผ่านสายตา จึงกล่าวได้ว่า เส้นทางแห่งนี้ได้ทำให้เส้นแบ่งความเป็นพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนบุคคลเลือนลางไป แน่นอนย่อมส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวชุมชน  บางบ้านก็ต้องปิดหน้าต่างเพื่อไม่เห็นคนที่ผ่านมาเห็นพื้นที่ส่วนบุคคลด้านใน บ้างต้องติดลูกกรงลวดหนามที่ทำให้ลดถอนความสวยงามของบ้านลง บางบ้านก็ต้องหาแผ่นสังกะสีมากั้นไม่ให้มองเห็นอันเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการขวางทิศทางลม 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ใช้พื้นที่เป็นประจำคือชาวชุมชนมากกว่ากลุ่มขาจร  พฤติกรรมที่พบเห็นได้ชัดจากการใช้งานพื้นที่คือ ชาวชุมชนมักสร้างพื้นที่เฉพาะตัวและอาณาเขตครอบครองของตนเองขึ้น แม้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตา แต่รับรู้ได้จากการแสดงออกเมื่อมีบุคคลอื่นรุกล้ำเข้ามา อาทิ กลุ่มเด็กๆ ในชุมชนมักจะมารวมกลุ่มกันบริเวณที่มีที่นั่งบนเส้นทางเพื่อพบปะและเล่มเกมกัน แต่ถ้ามีบุคคลอื่นนั่งลงในบริเวณนั้นด้วย ก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองบางอย่างขึ้น 

จะเห็นได้ว่า ระยะห่างของความเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึงอาณาเขตครอบครองตามกลุ่มสังคมนั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการออกแบบพื้นที่สาธารณะของเมืองที่เป็นแหล่งรวมทุกความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

โครงข่ายสีเขียวที่ไม่ใช่เพียงการปลูกต้นไม้และแต่งหน้าทาปาก

ดังนั้น ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จึงได้ศึกษาสำรวจพื้นที่ทางจักรยานลอยฟ้า ที่สามารถเป็นได้มากกว่าทางเดินยกระดับ แต่ยังสามารถใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาและสร้างการเชื่อมต่อที่ปลายทาง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลายยิ่งขึ้น  โดยกระบวนการออกแบบให้ความสำคัญกับบริบทสภาพแวดล้อมของพื้นที่  ที่สามารถสร้างให้เกิดประสบการณ์และกิจกรรมที่หลากหลาย ด้วยการออกแบบทางภูมิทัศน์และการออกแบบอุปกรณ์ตกแต่ง และโครงสร้างกันแดดกันฝน 

ส่วนการประดับประดาพืชพรรณต้องเป็นมากกว่าความสวยงาม เช่น ตอบรับกับความต้องการและรูปแบบวิถีชีวิตของกลุ่มคนโดยรอบ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับเนื้อเมืองโดยรอบอย่างไร้รอยต่อ ขณะเดียวกัน พื้นที่ชั้นลอยและชั้นล่างของโครงสร้างจะต้องใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพและเอื้ออำนวยต่อการเดินขึ้นลงทุกกลุ่มทุกวัย

ในมิติเศรษฐกิจ ทางจักรยานลายฟ้าต้องได้รับการออกแบบเป็นทางแห่งโอกาสที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่ และสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจชุมชน และสุดท้ายในมิติของสังคม ทางนี้จะสร้างให้เกิดพื้นที่ทางสังคมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของคนภายในและระหว่างพื้นที่ 

จึงกล่าวได้ว่าการออกแบบพื้นที่ทางเดินสาธารณะที่ดีแห่งหนึ่ง จำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบในบทบาทของการเป็นโครงสร้างหนึ่งของเมือง ที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์มิติเมืองอื่นๆ ไม่ใช่เพียงแค่การแต่งหน้าทาปากเพียงให้สวยงามเท่านั้น โครงการออกแบบจึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง


Contributor